ถั่วดํา สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วดำ 40 ข้อ !

ถั่วดํา สรรพคุณและประโยชน์ของถั่วดำ 40 ข้อ !

ถั่วดํา

ถั่วดำ ชื่อสามัญ Vigna mungo, Black gram, Black lentil[1], Catjung, Cow pea[3], Black matpe, Urd[5] 

ถั่วดำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Vigna mungo (L.) Hepper (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Phaseolus mungo L.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)[1],[5]

ถั่วดํา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วนา ถั่วไร่ ถั่วมะแป ถั่วซั่ง มะถิม[3] ถั่วเขียวผิวดำ ถั่วแขก[5]เป็นต้น

หมายเหตุ : ถั่วดำที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพืชคนละชนิดกันกับ “ต้นถั่วดำ” ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bruguiera parviflora (Roxb.) Wight & Arn. ex Griff และจัดอยู่ในวงศ์โกงกาง (RHIZOPHORACEAE)

จากข้อมูลของคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ถั่วดํา ก็คือ “ถั่วเขียวผิวดำ” ที่เดิมใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phaseolus mungo L. และต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Vigna mungo (L.) Hepper สรุปแล้วถั่วดำก็คือถั่วเขียวชนิดหนึ่งนั่นเอง[4]

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าถั่วดำมีถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย หรือในพม่า เนื่องจากมีหลักฐานที่ระบุว่ามีศูนย์กลางแหล่งกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียและเอเชียกลาง และภายหลังได้แพร่กระจายไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ประเทศไทย พม่า มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ตลอดจนถึงทวีปอเมริกา แอฟริกา และออสเตรเลีย[5]

ลักษณะของถั่วดำ

ลักษณะถั่วดำและถั่วเขียวโดยรวมแล้วจะคล้ายกัน ๆ โดยรากถั่วดำมีระบบรากแก้ว

  • ต้นถั่วดำ จัดเป็นพืชล้มลุก มีลำต้นตั้งตรงเป็นพุ่ม มีความสูงประมาณ 30-100 เซนติเมตร บางสายพันธุ์มีลำต้นแบบกึ่งเลื้อย ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือใบเลี้ยงจะค่อนข้างเป็นเหลี่ยม และมีขนปกคลุมอยู่ทั่วไป[5]

ต้นถั่วดำ

ลักษณะถั่วดำ

  • ใบถั่วดำ ใบจริงคู่แรกจะเป็นใบเดี่ยวอยู่ตรงข้ามกัน และใบจริงในลำดับต่อไปจะเกิดแบบสลับอยู่บนลำต้น แต่ละใบประกอย จะมีใบย่อย 3 ใบ มีขนาดเล็ก สีเขียวเข้ม และหนา เป็นรูปไข่ (ใบย่อยมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยถั่วเขียว) ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-20 เซนติเมตร ที่ฐานของก้านใบจะมีหูใบอยู่ 2 อัน ส่วนก้านใบย่อยจะสั้น ใบย่อยใบกลางมีหูใบย่อย 2 อัน ส่วนใบย่อย 2 ใบล่าง จะมีหูใบย่อยอยู่ข้างละอัน และใบมีขนปกคลุมยาวและหนาแน่นอยู่ทั่วไป[5]

ใบถั่วดำ

  • ดอกถั่วดำ ออกดอกเป็นช่อ มีก้านดอกยาวและดอกเกิดเป็นกลุ่มที่ปลาย ในหนึ่งช่อจะมีดอกประมาณ 5-6 ดอก โดยดอกจะเกิดตามมุมใบ ก้านช่อดอกยาวประมาณ 18 เซนติเมตร ส่วนดอกย่อยมีขนาดเล็ก สีเหลืองหรือสีเขียวอ่อน มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-1.75 เซนติเมตรดอก มีกลีบ 5 กลีบ โดยมีกลีบใหญ่ 1 กลีบ กลีบข้าง 2 กลีบ และกลีบหุ้มเกสร 2 กลีบ โดยกลีบหุ้มเกสรจะมีลักษณะม้วนเป็นเกลียว ปลายมีลักษณะคล้ายปากแตร ดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียในดอกเดียวกัน[5]

ดอกถั่วดำ

  • ฝักถั่วดำ ฝักมีลักษณะเป็นทรงกระบอกยาว ฝักสั้นตรง ฝักเมื่อแก่อาจมีสีขาวนวล น้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ปลูก ในฝักจะมีเมล็ดอยู่ไม่เกิน 8 เมล็ด[5]

ฝักถั่วดำ

  • เมล็ดถั่วดำ หรือ ลูกถั่วดำ มีลักษณะค่อนข้างเป็นทรงกระบอก ปลายตัดเป็นเหลี่ยม มีตาสีขาวคล้ายรอยแผลเป็นเล็กน้อยอยู่ทางด้านเว้าของเมล็ดถั่ว เมล็ดมีสีดำและด้าน โดยเมล็ดถั่วดำ 100 เมล็ดจะหนักประมาณ 1.5-4 กรัม[5]

เมล็ดถั่วดำ

สรรพคุณของถั่วดำ

  1. ถั่วดำมีรสหวาน ช่วยบำรุงโลหิต[2]
  2. ช่วยบำรุงสายตา[2]
  3. ช่วยขจัดพิษในร่างกาย[2]
  4. ช่วยขับเหงื่อ[2]
  5. ช่วยแก้อาการร้อนใน[2]
  6. ช่วยรักษาดีซ่าน[2]
  7. ถั่วดำมีสารที่ช่วยบรรเทาอาการปวดลำไส้เล็ก[2]
  8. ช่วยขับลมในกระเพาะ[2]
  9. ช่วยขับของเหลวในร่างกาย[2]
  10. ช่วยบำรุงไต ป้องกันไตเสื่อม[2]
  11. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ[2]
  12. ช่วยแก้อาการเหน็บชา[2]
  13. ช่วยแก้อาการปวดเอว[2]

ประโยชน์ของถั่วดำ

  1. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย[8]
  2. ช่วยบำรุงหัวใจ[8]
  3. ถั่วดำอุดมไปด้วยแคลเซียมซึ่งช่วยบำรุงกระดูกและฟัน ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง[8]
  4. นอกจากถั่วดำจะให้โปรตีนแล้ว ยังอุดมไปด้วยไฟเบอร์หรือเส้นใยซึ่งช่วยในการขับถ่ายและป้องกันอาการท้องผูก[8]
  5. ถั่วดำมีคุณสมบัติในการช่วยลดความอ้วนได้ เนื่องจากในถั่วดำมีสัดส่วนของโปรตีนถึง 40% และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว 20% โดยอุดมไปด้วยสารลดความอ้วนและสารที่ช่วยกำจัดสารพิษ[6]
  6. ช่วยควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากเส้นใยที่มีมากในถั่วจะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นานขึ้นและทำให้ร่างกายมีพลังงานสม่ำเสมอ[8]
  7. ในถั่วดำมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สามารถช่วยป้องกันโรคมะเร็ง รวมไปถึงโรคต่าง ๆ ในผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ถึงร้อยละ 40 และมะเร็งลำไส้ตรงได้ถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันมะเร็งในกระเพาะอาหารได้ด้วย ซึ่งจากงานวิจัยระบุว่าผู้ที่รับประทานบ่อย ๆ จะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานถึงร้อยละ 30 รวมไปถึงฤทธิ์ในการป้องกันมะเร็งปอดได้ถึงร้อยละ 50[6]
  8. ถั่วดำมีสารไอโซฟลาโวนส์ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันเซลล์เจริญเติบโตผิดปกติ จากปัญหาการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติจนกลายเป็นโรคอ้วน และยังช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมาก อันมีสาเหตุมาจากการหลั่งฮอร์โมนแอนโดรเจนหรือฮอร์โมนเพศชาย มากเกินไปได้[6]
  9. ถั่วดำมีสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส ซึ่งช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งได้ ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และยังส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย[8]
  10. ช่วยยับยั้งโรคเบาหวาน เนื่องจากเส้นใยในถั่วดำเป็นเส้นใยชนิดละลายน้ำ จึงช่วยลดความเร็วของการดูดซึมกลูโคสให้ดูดซึมในร่างกายช้าลง จึงสามารถยับยั้งโรคเบาหวานได้[6]
  11. ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้สมดุล[8]
  12. ช่วยป้องกันและรักษาโรคโลหิตจาง เนื่องจากถั่วดำอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 วิตามินบี 9 หรือกรดโฟลิก และเบตาแคโรทีน แถมยังมีธาตุเหล็กที่สูงกว่าเนื้อสัตว์ถึง 4 เท่า มันจึงมีประโยชน์โดยตรงต่อผู้เป็นโรคโลหิตจางอย่างมาก[6]
  13. ถั่วดำอุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยบำรุงโลหิต และเป็นส่วนหนึ่งของสารในเม็ดเลือดแดงที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย จึงช่วยป้องกันภาวะขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการอ่อนเพลีย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง สมองไม่ดี หรือคิดอะไรไม่ค่อยออก ฯลฯ[8]
  14. ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและช่วยลดคอเลสเตอรอล เนื่องจากถั่วดำอุดมไปด้วยวิตามินอีและโพแทสเซียมที่ช่วยลดความดันโลหิต ด้วยการขยายเส้นโลหิตให้กว้างมากขึ้น ทั้งยังมีแคลเซียมที่ช่วยทำให้กล้ามเนื้อของเส้นเลือดเกิดความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย[6]
  15. ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งจากผลการวิจัยระบุว่าผู้ที่รับประทานถั่วดำในปริมาณมากกว่าจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่รับประทานถั่วดำน้อยกว่าหรือไม่รับประทานเลย[7]
  16. ล้างพิษด้วยถั่วดำ ถั่วดําช่วยล้างพิษในร่างกาย เนื่องจากถั่วดำมีสารฟลาโวนอยด์ ซึ่งเป็นถั่วที่มีสารล้างพิษที่มีปริมาณสูงสุด และยังมีสารสำคัญอย่างแอนโทไซยานินที่เป็นสารล้างพิษที่ดี โดยเมื่อเทียบกับผลไม้อย่างส้มแล้ว พบว่าถั่วดำจะมีปริมาณของสารล้างพิษมากกว่าส้มถึง 10 เท่า ! แต่การทำให้ถั่วดำสุกจะสูญเสียสารล้างพิษไปบ้าง แต่ก็ยังสามารถช่วยล้างพิษในร่างกายได้อย่างประสิทธิภาพ[7]
  17. การรับประทานถั่วดำเป็นประจำช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพผิว ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิว ช่วยทำให้ผิวหน้ากระจ่างใส ช่วยเพิ่มความกระชับ ทำให้ผิวหน้าดูมีชีวิตชีวา อีกทั้งยังช่วยลดเลือนรอยแดงจากสิว ป้องกันการเกิดกระบนผิว เพราะอุดมไปด้วยวิตามินอี และสารแอนโทไซนานินที่ช่วยเพิ่มการทำงานของคอลลาเจน[6]
  18. มีคำกล่าวว่าการรับประทานถั่วจะช่วยทำให้ฉลาดขึ้น ซึ่งก็ใกล้เคียงกับความจริง เนื่องจากมีสารเลซิตินที่ช่วยบำรุงสมอง ช่วยในการทำงานของสมอง จึงมีผลดีต่อผู้ที่ต้องใช้ความจำ และสำหรับคนชราก็สามารถช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย[6]
  19. ถั่วดำยังเป็นแหล่งสำคัญของธาตุโบรอน (Boron) ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการส่งกระแสประสาทของสมอง ทำให้ช่วยสมองทำงานได้ฉับไวขึ้น[8]
  20. ช่วยแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับ ด้วยการนึ่งถั่วแล้วใส่ไว้ในหมอน ขณะที่ยังอุ่น ๆ ก็จะช่วยแก้อาการนอนไม่หลับได้[6]
  21. ถั่วดำเป็นแหล่งอาหารจากธรรมชาติที่มีโฟเลตสูง มีความสำคัญอย่างมากสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วยป้องกันการพิการแต่กำเนิดของทารกได้ นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็กที่ช่วยลดอาการอ่อนเพลียของสตรีขณะตั้งครรภ์ได้อีกด้วย[8]
  22. เมล็ดถั่วดำมีคุณค่าทางอาหารที่สูงใกล้เคียงพอ ๆ กับเมล็ดถั่วเขียว[5]
  23. ถั่วดำสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย แต่น้อยกว่าถั่วเขียว เช่น ในญี่ปุ่นจะนำไปใช้เพื่อเพาะถั่วงอกเป็นหลัก ส่วนอินเดียนิยมนำไปทำถั่วซีก ตลอดจนใช้บริโภคทั้งเมล็ด ด้วยการใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารจำพวกซุปหรือแกงต่าง ๆ หรือใช้ในอาหารประเภทหมัก ส่วนในบ้านเราจะใช้ทำถั่วงอกเป็นหลักและทำแป้ง เป็นต้น[5]
  24. ถั่วดำอุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคโรทีน วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย[2]
  25. เปลือกหุ้มเมล็ดมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งสามารถนำมาใช้แต่งสีขนมต่าง ๆ ได้ เช่น ขนมถั่วแปป แป้งจี่ เป็นต้น ด้วยการนำเมล็ดถั่วดำมาล้างให้สะอาด แล้วนำไปต้มเคี่ยวกับน้ำแล้วจะได้น้ำที่มีสีม่วง[3]
  26. เมล็ดถั่วดำเมื่อนำมาบดกับแป้งใช้ทำเป็นขนมได้ เช่น ขนมลูกชุบ ขนมเปี๊ยะ เป็นต้น[3]
  27. ถั่วดำเป็นพืชทนแล้ง สามารถปลูกได้ในดินแทบทุกชนิด มักนิยมใช้ปลูกเป็นพืชรองในปลายฤดูฝนตามหลังพืชหลัก เช่น ถั่วเหลืองหรือข้าวโพด โดยเป็นพืชที่มีบทบาทในด้านเศรษฐกิจของประเทศเช่นเดียวกับถั่วเขียว[5]

ข้อควรรู้ ! : ถั่วดำมีสารพิวรีน (Purine) ระดับปานกลาง ผู้ป่วยโรคเกาต์ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด เนื่องจากสารดังกล่าวอาจเป็นตัวกระตุ้นทำให้อาการข้ออักเสบกำเริบขึ้นได้ และการรับประทานถั่วที่ดี ควรรับประทานสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง[8]

คุณค่าทางโภชนาการของถั่วดำ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 1,445 กิโลจูลถั่วดํา
  • คาร์โบไฮเดรต 62-65%
  • แป้ง 40-43%
  • น้ำตาล 4-5%
  • เส้นใย 3.5-4.5%
  • ไขมัน 1-2%
  • ความชื้น 11-14%
  • ทริปโตเฟน (Tryptophan) 630%
  • เมไธโอนีน (Methionine) 90%
  • ซิสทีน (Cystine) 60%
  • วาลีน (Valine) 370%

ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำ“. นางนันทวรรณ สโรบล (นักวิชาการเกษตร)[5]

เอกสารอ้างอิง
  1. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: en.wikipedia.org/wiki/Vigna_mungo.  [23 ต.ค. 2013].
  2. ชีวจิต.  อ้างอิงใน: นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 208 (1 มิ.ย. 2550).  “มหัศจรรย์พลังของถั่ว“.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.cheewajit.com.  [23 ต.ค. 2013].
  3. ไทยเกษตรศาสตร์.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com.  [23 ต.ค. 2013].
  4. คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.  “บทปฏิบัติการเรื่องถั่วเขียว“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.natres.psu.ac.th.  [23 ต.ค. 2013].
  5. หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ด้านการเกษตร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  อ้างอิงใน: สถาบันวิจัยพืชไร่ กรมวิชาการเกษตร.  “ถั่วเขียวผิวมันและถั่วเขียวผิวดำ“.  นางนันทวรรณ สโรบล (นักวิชาการเกษตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ag-ebook.lib.ku.ac.th.  [23 ต.ค. 2013].
  6. กรุงเทพธุรกิจ.  “ถั่วดำ…หุ่นดีฉบับเกาหลี“.  (วันที่ 5 พฤษภาคม 2555).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com.  [20 ต.ค. 2013].
  7. ASTV ผู้จัดการออนไลน์.  “ล้างพิษด้วยถั่วดำ“.  (11 มีนาคม 2551).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.manager.co.th.  [20 ต.ค. 2013].
  8. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihealth.or.th.  [20 ต.ค. 2013].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by madlyinlovewithlife,dinesh_valke, hardworkinghippy, Bhupendra Nirajan, Parivartan Foundation)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด