ต้นแดง
แดง หรือ ต้นแดง ชื่อสามัญ Iron wood, Irul, Jamba, Pyinkado
ต้นแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia xylocarpa (Roxb.) Willd., Inga xylocarpa (Roxb.) DC., Mimosa xylocarpa Roxb., Xylia dolabriformis Benth.) และอีกชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Xylia xylocarpa var. kerrii (Craib & Hutch.) I.C.Nielsen (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Xylia kerrii Craib & Hutch.) ทั้งสองชนิดเป็นพรรณไม้ที่จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)[1]
สมุนไพรแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แดง (ทั่วไป), จะลาน จาลาน ตะกร้อม สะกรอม (จันทบุรี), เพ้ย (ตาก), ปราน (สุรินทร์), ไปร (ศรีษะเกษ), กร้อม (นครราชสีมา), ผ้าน (เชียงใหม่), คว้าย (เชียงใหม่, กาญจนบุรี), ไคว เพร่ (แพร่, แม่ฮ่องสอน), เพ้ย (กะเหรี่ยง-ตาก) เป็นต้น[1],[2]
ชนิดของไม้แดง
ไม้แดงมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ซึ่งจะมีลักษณะที่คล้ายคลึงกัน โดยชนิดแรกจะมีขนาดใหญ่ มักขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ส่วนอีกชนิดเป็นขนาดย่อมมักขึ้นตามป่าเต็งรัง โดยแบ่งออกเป็นดังนี้[1]
- ไม้แดงชนิด Xylia xylocarpa (Roxb.) Taub ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ มักขึ้นตามป่าชื้นและป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือและภาคใต้อย่างน้อยไปจนถึงสุราษฎร์ธานี โดยใบมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนปลายเกสรตัวผู้จะมีต่อม[1]
- ไม้แดงชนิด Xylia kerrii Craib & Hutch. ชนิดนี้มีขนาดย่อม มักขึ้นตามป่าเต็งรัง หรือขึ้นอยู่ประปรายทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และจะพบได้มากตามป่าสัก โดยลักษณะของท้องใบจะเป็นขน ส่วนปลายเกสรตัวผู้จะไม่มีต่อม[1]
แหล่งที่พบต้นแดง
ไม้แดงเป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยและมีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศอีกชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันการปลูกไม้แดงนั้นมีน้อยมาก และยังไม่ได้รับความสนใจที่จะปลูกมากนัก เพราะให้ผลตอบแทนช้าเมื่อเปรียบเทียบกับไม้โตเร็วชนิดอื่น ๆ[4]
ตามธรรมชาติแล้วจะพบไม้แดงได้ทั่วไปตามป่าเบญจพรรณแล้งและชื้นและป่าเต็งรัง ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และทางภาคใต้ ตอนเหนือของสุราษฎร์ธานี โดยมีรายงานว่าไม้แดงนี้มีขึ้นทั้งบนที่ราบและบนเขา แต่พื้นที่บนเขาต้นแดงจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูเขาที่มีความลาดชันน้อยและในหุบเขาที่มีการระบายน้ำได้ดี และจะขึ้นได้ดีที่สุดในดินร่วนปนทรายที่มีทั้งความชื้นและการระบายน้ำที่ดี ซึ่งโดยปกติจะขึ้นอยู่ในป่าผสมผลัดใบสูงและต่ำ ป่าดงดิบ ป่าแดง หรือป่าแพะ รวมไปถึงป่าละเมาะในเขตแห้งแล้งด้วย ทั้งนี้ถ้าหากพบขึ้นบนพื้นที่ดินลึกหรือดินมีความอุดมสมบูรณ์ ต้นแดงจะมีลำต้นเปลาตรง แต่ถ้าขึ้นบนพื้นที่ดินตื้นหรือมีหินก้อน ต้นจะแตกกิ่งก้านต่ำและมีพุ่มใบมาก[1]
ลักษณะของต้นแดง
- ต้นแดง จัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร และบางครั้งอาจสูงได้ถึง 30-37 เมตร ลำต้นแดงค่อนข้างเปลาตรงหรือเป็นปุ่มปม ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดรูปทรงกลมหรือเก้งก้างไม่ค่อยแน่นอน มีสีเขียวอมแดง เปลือกต้นเรียบสีเทาอมแดง มีตกสะเก็ดออกเป็นแผ่นกลมบาง ๆ รอบลำต้น และเมื่อสับเปลือกทิ้งไว้จะได้ชันที่มีสีแดง ส่วนยอดอ่อนมีขนสีเหลืองปกคลุมอยู่ การเพาะต้นแดง วิธีที่นิยมกันก็คือการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด เพราะสามารถจะผลิตกล้าได้เป็นจำนวนมาก ส่วนวิธีอื่น ๆ นั้นยังไม่ได้มีการนำมาใช้กัน[1]
- ไม้แดง เนื้อไม้มีสีแดงเรื่อ ๆ หรือเป็นสีน้ำตาลอมแดง มีเสี้ยนเป็นลูกคลื่นหรือมักสน เนื้อไม้ละเอียดพอประมาณ มีความแข็งแรง เหนียว และทนทานมาก สามารถเลื่อยไสกบ ตบแต่งได้เรียบร้อย ขัดชักเงาได้ดี โดยมีความถ่วงจำเพาะประมาณ 1.18 และเนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 1,030 กิโลกรัม มีความทนทานตามธรรมชาติตั้งแต่ 10-18 ปี ส่วนการอาบน้ำยาไม้ทำได้ยาก (ชั้นสี่)[1]
- ใบต้นแดง ออกเป็นช่อแบบขนนกสองชั้น ช่อใบยาวประมาณ 10-22 เซนติเมตร ส่วนก้านใบยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร ในแต่ละช่อใบจะมีใบย่อยประมาณ 4-5 คู่ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน แผ่นใบมักเบี้ยวและมีขนาดไม่เท่ากัน มีความกว้างประมาณ 3-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 7-20 เซนติเมตร ปลายใบแหลมมน ส่วนฐานใบมักเบี้ยว ใบแก่จะไม่มีขนปกคลุม หรืออาจมีบ้างประปรายด้านท้องใบเล็กน้อย ส่วนก้านใบย่อยจะยาวประมาณ 2-4 มิลลิเมตร[1]
- ดอกต้นแดง ดอกมีสีเหลืองขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ขึ้นอัดกันแน่นเป็นช่อกลมเดี่ยว ๆ หรือแตกกิ่งก้าน หรือขึ้นเป็นกลุ่ม ในแต่ละช่อดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.4 เซนติเมตร ส่วนก้านช่อดอกยาวประมาณ 2-5 เซนติเมตร มีขนขึ้นปกคลุมประปราย ส่วนกลีบรองกลีบดอกจะเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ตรงปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ มีขนสีเหลืองขึ้นปกคลุม กลีบดอก 5 กลีบ ติดกันเล็กน้อยที่บริเวณฐาน และมีเกสรตัวผู้ 10 ก้าน แยกออกจากกันอย่างอิสระยื่นยาวออกมานอกดอก โดยดอกต้นแดงนี้จะออกดอกพร้อมกับใบอ่อนในช่วงเดือนกุมภาพันธุ์และอาจถึงเดือนมีนาคม[1]
- ผลต้นแดง หรือ ฝักต้นแดง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนแข็ง ลักษณะเป็นรูปขอบขนานเรียวและโค้งงอที่ส่วนปลาย ฝักมีความยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ผิวฝักเรียบมีสีน้ำตาลอมเทา ไม่มีขนขึ้นปกคลุมและไม่มีก้าน เมื่อฝักแก่จะแตกออกเป็น 2 ซีก และเปลือกของฝักที่แตกมักจะม้วนบิดงอ ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดจำนวนหลายเมล็ด ประมาณ 6-10 เมล็ด โดยฝักจะแก่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม[1],[4]
- เมล็ดต้นแดง เมล็ดมีลักษณะแบนเรียวแหลม ยาวรีหรือเกือบกลม เมล็ดมีสีน้ำตาลเป็นมัน มีความกว้างประมาณ 0.35-0.5 นิ้วและยาวประมาณ 0.4-0.7 นิ้ว เปลือกหุ้มเมล็ดแข็งพอประมาณ หากเมล็ดมีความสมบูรณ์ดีจะงอกได้ทันที แม้จะเก็บไว้ในระยะ 1 ปี ก็ยังคงงอกได้ดีเช่นเดิม[1]
สรรพคุณของต้นแดง
- เปลือกมีรสฝาด ช่วยสมานธาตุ (เปลือก)[1]
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ดอก)[1],[3]
- แก่นบำรุงโลหิต (แก่น)[3]
- แก่นนำมาใช้ผสมยาแก้ซางโลหิต (แก่น)[1],[3]
- ช่วยแก้โรคกษัย (แก่น)[1],[3]
- ช่วยแก้พิษโลหิต ช่วยดับพิษ แก้ไข้กาฬ (แก่น)[1]
- ดอกนำมาใช้ผสมเป็นยาแก้ไข้ (ดอก)[1],[3]
- แก่นช่วยแก้ไข้ท้องเสีย (แก่น)[3]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก)[3]
- ช่วยแก้อาการปวดอักเสบของฝีชนิดต่าง ๆ (แก่น)[1]
ประโยชน์ของต้นแดง
- สามารถนำมาปลูกเพื่อใช้ตกแต่งบริเวณอาคารสถานที่ได้ โดยนำมาปลูกเป็นกลุ่มในสวนสาธารณะหรือในที่โล่งแจ้ง[1]
- การปลูกต้นแดงมีประโยชน์ทางด้านนิเวศน์ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ช่วยปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม ช่วยชะลอการพังทลายของหน้าดินโดยเฉพาะดินร่วน ดินทราย เนื่องจากไม้แดงมีระบบรากลึกและแผ่กว้าง นอกจากนี้ยังเหมาะในการนำมาปลูกเพื่อปรับปรุงสภาพป่าเสื่อมโทรม วนเกษตร ในป่าชุมชนดั้งเดิมและป่าปลูกใหม่[1]
- เมล็ดสามารถนำมารับประทานได้[1],[4]
- ไม้แดงเป็นไม้ที่ค่อนข้างแข็งแรง มีความทนทานต่อการกระแทกสูง เพรียงและปลวกไม่ค่อยทำลาย และเป็นไม้ที่ทนไฟในตัว การใช้ประโยชน์จากไม้แดงจึงนิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ใช้ทำเสาบ้าน รอดตง ขื่อ ไม้ปาร์เก้ กระดานพื้น ฝา ฯลฯ หรือจะนำมาทำเรือข้างกระดาน เรือสำเภา เรือใบ ทำสะพาน ทำหมอนรางรถไฟ ใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ทำหูกและกระสวย ด้ามหอก ไม้คาน ไม้สำหรับกลึง ทำคันไถ คราด ครก สาก กระเดื่อง ทำส่วนต่าง ๆ ของเกวียน ทำลูกหีบ ฟันสีขาว ฯลฯ หรือนำมาใช้ในงานแกะสลัก ทำเครื่องเรือนและไม้บุผนังให้มีความสวยงาม[1]
- ไม้แดงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการทำเป็นถ่านและไม้ฟืนได้ดี เพราะไม้แดงมีกิ่งก้านมากพอสมควร โดยถ่านจากไม้นั้นจะให้ค่าความร้อนสูงถึง 7,384 แคลอรีต่อกรัม[1],[4]
เอกสารอ้างอิง
- กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [28 พ.ย. 2013].
- ๑๐๘ พรรณไม้ไทย. “ต้นแดง ต้นไม้ประจำจังหวัดตาก“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.panmai.com. [28 พ.ย. 2013].
- โรงเรียนเขาทรายทับคล้อพิทยา อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร. “ต้นแดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: khtpschool.ning.com. [28 พ.ย. 2013].
- กรมป่าไม้. “ไม้แดง“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.forest.go.th. [28 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Shubhada Nikharge)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)