ติ่งตั่ง
ติ่งตั่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Getonia floribunda Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Calycopteris floribunda (Roxb.) Lam. ex Poir.) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)[1],[2]
สมุนไพรติ่งตั่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดอกโรค (เลย), งวงชุม (ขอนแก่น), มันเครือ (นครราชสีมา), ดวงสุ่ม (อุบลราชธานี), เถาวัลย์นวล (ราชบุรี), มันแดง (กาญจนบุรี), ประโยค ดอกประโยค (ตราด), งวงสุ่มขาว เมี่ยงชะนวนไฟ สังขยาขาว (พิษณุโลก, สงขลา), ตะกรูด (นครศรีธรรมราช), กรูด (สุราษฎร์ธานี), ติ่งตั่งตัวผู้ (ภาคเหนือ), งวงสุ่ม ฮวงสุ่ม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ข้าวตอกแตก (ภาคกลาง), หน่วยสุด (ภาคใต้), เครือตีนตั่ง (คนเมือง), เครืองวงสุ่ม, เถาวัลย์ชนวน, ตะกรุด, สะแกวัลย์, หมันเครือ เป็นต้น[1],[2],[3],[4]
ลักษณะของติ่งตั่ง
- ต้นติ่งตั่ง จัดเป็นไม้พุ่มเลื้อยขนาดใหญ่หรือไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็งขนาดใหญ่ สูงได้ประมาณ 1-5 เมตร เปลือกเป็นสีน้ำตาลมีขนปกคลุม ตามกิ่งอ่อนเป็นสันสี่เหลี่ยม มีขนสีน้ำตาลแกมแดงขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ตอนกิ่ง และปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท ชอบแสงแดดจัด น้ำปานกลาง มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย จีนตอนใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาคตามป่าเบญจพรรณและตามป่าดิบแล้งทั่วไป[1],[2],[4]
- ใบติ่งตั่ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามหรือกึ่งตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบสอบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบมีลักษณะเป็นคลื่น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-17 เซนติเมตร หลังใบด้านบนมีขนนุ่มหนาแน่นเมื่อยังอ่อนอยู่ ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแกมเหลืองขึ้นหนาแน่น[1],[2]
- ดอกติ่งตั่ง ออกดอกเป็นช่อขนาดใหญ่แบบแยกแขนง โดยจะออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีจำนวนมาก ดอกย่อยเป็นสีเขียวแกมเหลือง มีกลีบรองดอก 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายเป็นรูปถ้วย มี 5 แฉก ข้างในมีขน ส่วนกลีบดอกไม่มี ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน เรียงกันเป็น 2 วง วงละ 5 อัน ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2]
- ผลติ่งตั่ง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงรีหรือรูปกระสวย มีสันยาว 5 สัน ที่ปลายมีกลีบรองดอกที่เจริญเป็นปีก 5 ปีก ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1],[2]
สรรพคุณของติ่งตั่ง
- ใบมีรสเฝื่อน มีสรรพคุณเป็นยาเจริญอาหาร (ใบ)[1],[4],[5]
- ใบใช้เป็นยารักษาไข้ป่า ไข้มาลาเรีย (ใบ)[5],[6]
- รากใช้เป็นยาแก้พิษไข้เด็ก (ราก)[5]
- เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ (เปลือกต้น)[5]
- เนื้อไม้เป็นยาแก้เบื่อเมา แก้พิษสุราเรื้อรัง (เนื้อไม้)[1],[2],[5]
- ใช้เป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่น (ใบ)[1],[4],[5]
- ใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง แก้บิด (ใบ)[5],[6]
- ใช้เป็นยาระบายท้อง (ใบ)[5]
- ใบใช้เป็นยาขับพยาธิ (ใบ)[1],[4],[5]
- ใช้เป็นยาแก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (เปลือกต้น)[5]
- ช่วยแก้ปัสสาวะดำหรือปัสสาวะเป็นเลือด (เนื้อไม้)[5]
- ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากติ่งตั่งนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้กามโรค (ราก)[2],[6]
- ตำรายาพื้นบ้านของจังหวัดนครราชสีมาจะใช้ใบติ่งตั่งเป็นยารักษาแผลเรื้อรัง ด้วยการนำใบมาตำให้ละเอียดผสมกับเนยทาแผล (ใบ)[2],[5]
- ใบใช้เป็นยาแก้แมลงพิษกัดต่อย (ใบ)[5] ส่วนรากใช้เป็นยาแก้พิษงู (ราก)[6]
- ตำรับยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ลำต้นและรากติ่งตั่ง ผสมกับลำต้นเปล้าลมต้น ลำต้นเปล้าลมเครือ ลำต้นบอระเพ็ด ลำต้นรางแดง ลำต้นแหนเครือ และลำต้นหนาด นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ลำต้นและราก)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของติ่งตั่ง
- ดอกติ่งตั่งมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ซึ่งมีฤทธิ์ต้านเนื้องอก[2]
ประโยชน์ของติ่งตั่ง
- ลำต้นสามารถนำมาใช้ทำเป็นเครื่องจักสานได้[2]
- เครือติ่งตั่งมีเนื้อไม้เหนียว สามารถนำมาใช้ทำขอบกระบวยวิดน้ำสำหรับตักน้ำรดน้ำผักหรือขอบเครื่องจักสาน ทำด้ามมีด เครื่องใช้สอย[3],[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ติ่งตั่ง”. หน้า 98.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “งวงสุ่ม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com. [15 ธ.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ติ่งตั่ง, ข้าวตองแตก”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [15 ธ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ติ่งตั่ง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [15 ธ.ค. 2014].
- หนังสือพืชพื้นเมือง : ป่าชุมชนบ้านทุ่งยาวจังหวัดลำพูน. (ทรรศนีย์ พัฒนเสรี, ชูจิตร อนันตโชค). “ติ่งตั่ง”. หน้า 23.
- สงขลาพอร์ทัล. (เวสท์สงขลา). “ข้าวตอกแตก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.songkhlaportal.com. [15 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Dinesh Valke, cpmkutty, Shubhada Nikharge, Lalithamba)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)