ตำลึง สรรพคุณและประโยชน์ของตำลึง 44 ข้อ !

ตำลึง สรรพคุณและประโยชน์ของตำลึง 44 ข้อ !

ตำลึง

ตำลึง ชื่อสามัญ Ivy gourd

ตำลึง ชื่อวิทยาศาสตร์ Coccinia grandis (L.) Voigt (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cephalandra indica (Wight & Arn.) Naudin) จัดอยู่ในวงศ์แตง (CUCURBITACEAE)

ตำลึง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตำลึง, สี่บาท (ภาคกลาง), ผักแคบ (ภาคเหนือ), ผักตำนิน (ภาคอีสาน), แคเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น

ต้นตำลึงจัดเป็นไม้เลื้อย โคนใบมีลักษณะเหมือนรูปหัวใจ มีมือเกาะที่ยื่นออกมาจากที่ข้อ ดอกมีทั้งดอกเดี่ยวและดอกคู่ กลีบดอกมีสีขาว และดอกมีลักษณะคล้ายรูประฆัง

ตำลึง ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด โดยใบและยอดอ่อนของตำลึง 100 กรัม จะให้พลังงานกับร่างกาย 35 กิโลแคลอรี, โปรตีน, ใยอาหาร 1 กรัม, เบตาแคโรทีน วิตามินเอ 18,608 IU, วิตามินบี 1 0.17 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 1.2 มิลลิกรัม, วิตามินซี 34 มิลลิกรัม, ธาตุแคลเซียม 126 มิลลิกรัม, ธาตุฟอสฟอรัส 30 กรัม, ธาตุเหล็ก 4.6 มิลลิกรัม เป็นต้น

มีงานวิจัยหลายงานที่ชี้ว่า ตำลึงช่วยรักษาโรคเบาหวานได้จริง โดยมีผลในการช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด !

สรรพคุณของตำลึง

  1. ประโยชน์ของตำลึงช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันความเสื่อมความเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย
  2. ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย
  3. ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง
  4. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร
  5. ช่วยรักษาโรคเบาหวาน ด้วยการใช้เถาแก่ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำหรือจะใช้น้ำคั้นจากผลดิบ นำมาดื่มวันละ 2 รอบ เช้า,เย็น จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มระดับอินซูลิน
  6. ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง (ใบ, น้ำคั้นตำลึง)
  7. ช่วยป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด จึงช่วยป้องกันการเกิดอัมพาตด้วย
  8. ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง (แคลเซียม)
  9. ช่วยบำรุงและรักษาสายตา (วิตามินเอ)
  10. ช่วยบำรุงเลือด (ใบ)
  11. ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต (ใบ)
  12. ช่วยป้องกันและรักษาโรคหลอดเลือดแข็ง ตีบตัน และแตกได้
  13. ช่วยบำรุงน้ำนมแม่ (ใบ)
  14. ช่วยป้องกันการเกิดโรคเลือดออกตามไรฟัน (วิตามินซี)
  15. ใช้ดับพิษร้อน แก้ไข้ตัวร้อน (ใบ)
  16. ช่วยลดไข้ (ราก)
  17. ช่วยแก้อาเจียน (ราก)
  18. แก้อาการวิงเวียนศีรษะ ด้วยการใช้เถาตำลึงชงกับน้ำดื่ม (เถา)
  19. ใช้แก้อาการตาแดง เจ็บตา (ใบ)
  20. ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม และยังช่วยป้องกันการเสื่อมของศูนย์จอตาได้อีกด้วย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องนั่งอยู่หน้าคอมพ์นาน ๆ และมีอาการสายตาอ่อนล้า
  1. แก้อาการตาแดง ตาฟาง ตาช้ำ ตาแฉะ พิษอักเสบในตา ด้วยการใช้เถาตำลึง นำน้ำต้มจากเถามาหยอดตา (เถา)
  2. ช่วยแก้อาการตาช้ำแดง ด้วยการตัดเถาเป็นท่อนยาว 2 นิ้วนำมาคลึงพอช้ำแล้วเป่า จะเกิดฟองใช้หยอดตา (เถา)
  3. แก้อาการตาฝ้า (ราก)
  4. แก้อาการผิดสำแดงเพราะกินของแสลง โดยใช้เถาตำลึงตัดเป็นท่อนยาว 1 คืบ (จำนวน 3-4 ท่อน) นำไปใส่ในหม้อดินสุมไฟด้วยฟางจนไหม้เป็นขี้เถ้า นำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำซาวข้าวดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา (เถา)
  5. ช่วยลดอาการท้องอืดท้องเฟ้อ จุกเสียดแน่นท้อง ด้วยการรับประทานใบตำลึงสด ๆ (ใบ)
  6. ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย ช่วยระบายท้อง (เปลือกราก, หัว)
  7. ช่วยขับสารพิษในลำไส้ (ใบ)
  8. ช่วยป้องกันอาการท้องผูก (ใบ)
  9. ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้ใบตำลึงนำมาตำแล้วทาบริเวณที่คัน (ใบ, ดอก)
  10. ช่วยลดอาการคันและการอักเสบเนื่องจากพืชมีพิษหรือถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น หมามุ่ย ถูกตัวบุ้ง ยุงกัด ใบตำแย แพ้ละอองข้าว พิษคูน พิษกาฬ เป็นต้น ด้วยการใช้ใบสด 1 กำ นำมาตำให้ละเอียดผสมกับน้ำ แล้วคั้นเอาน้ำมาทาบริเวณดังกล่าวจนกว่าจะหายดี (ใบ)
  11. ช่วยแก้ฝีแดง (ใบ)
  12. ช่วยดับพิษฝี (ใบ)
  13. แก้อักเสบ ด้วยการใช้น้ำจากเถาทาบริเวณที่เป็น (เถา)
  14. ช่วยดับพิษต่าง ๆ (เถา, ราก)
  15. ใช้รักษาแผลอักเสบ ด้วยการใช้ใบสดหรือรากสด นำมาตำแล้วพอกบริเวณแผล (ใบ, ราก)
  16. ช่วยบรรเทาอาการปวดแสบปวดร้อน (ใบ)
  17. ช่วยแก้หิด ด้วยการใช้เมล็ดตำผสมน้ำมันมะพร้าวแล้วนำมาทาบริเวณที่เป็น (เมล็ด)
  18. แก้งูสวัด เริม ด้วยการใช้ใบสดประมาณ 2 กำมือ (ล้างให้สะอาด) นำมาผสมกับพิมเสนหรือดินสอพอง 1 ใน 4 ส่วน แล้วนำมาพอกบริเวณที่เป็น (ใบ)
  19. ช่วยป้องกันการเป็นตะคริว (ใบ)

ประโยชน์ของตำลึง

  1. ช่วยกำจัดกลิ่นตัว กลิ่นเต่า ด้วยการใช้ต้นตำลึง (ทั้งเถาและใบ) นำมาตำผสมกับปูนแดงแล้วทาบริเวณรักแร้
  2. ใช้ทำทรีตเม้นต์ทำให้ผิวหน้าเต่งตึง ด้วยการใช้ยอดตำลึงครึ่งถ้วยและน้ำผึ้งแท้ครึ่งถ้วย นำมาผสมกันแล้วปั่นในโถให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหน้า ทิ้งไว้ประมาณ 20 นาทีแล้วล้างออก (ยอดตำลึง)
  3. ใช้เป็นยารักษาตาไก่ (ไก่ที่ถูกยุงกัดจนตาบวม เป็นพยาธิ มีหนองขาวและแข็งภายในของเปลือกตา) อย่างแรกให้พลิกเอาหนองขาวแข็งออกจากตาไก่ก่อน แล้วใช้เถาตำลึงแก่ ๆ (ขนาดเท่านิ้วก้อย) มาตัดเป็นท่อน ๆ (ตัดข้อทิ้ง) แล้วใช้ปากเป่าด้านหนึ่งจนเกิดฟอง หลังจากนั้นให้เอามือเปิดเปลือกตาไก่ออกแล้วเอาฟองที่ได้หยอดตาไก่วันละครั้งจนหายดี (เถา)
  4. ประโยชน์ตำลึงประโยชน์ของผักตำลึง นิยมใช้ยอดและใบกินเป็นผักสด อาจจะลวกหรือต้มจิ้มกินกับน้ำพริก และใช้ในการประกอบอาหารได้หลายอย่าง เมนูตำลึง เช่น แกงจืด ต้มเลือดหมู แกงเลียง ก๋วยเตี๋ยว ผัดไฟแดง ไข่เจียว เป็นต้น (ยอด, ใบ)
  5. ผลอ่อนของตำลึงนำมากินกับน้ำพริก หรือจะนำมาดองกิน ส่วนผลสุกมีรสอมหวาน กินได้เช่นกัน (ผล)

คำแนะนำ : ตำลึงมีฤทธิ์เป็นยาเย็น เมื่อทาน้ำตำลึงที่ผิวหนังแล้วไม่รู้สึกเย็นแปลว่าไม่ถูกโรค ให้หยุดใช้ทันที การทาน้ำตำลึงไม่ควรถูแรงจนเกินไปในบริเวณที่เป็นผิวบอบบาง เพราะจะทำให้เกิดอาการอักเสบเพิ่มมากขึ้น

แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), www.gotoknow.org, เว็บไซต์วิชาการดอตคอม, www.prc.ac.th, สารานุกรมสมุนไพร รวมหลักเภสัชกรรมไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), นิตยาสารหมอชาวบ้าน (รศ.ดร.สุธาทิพ ภมรประวัติ), จากสารศิลปยาไทย (ฉบับที่ 68)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด