ตากุ้งยิง อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคตากุ้งยิง 10 วิธี !!

ตากุ้งยิง

กุ้งยิง (Sty, Stye, Hordeolum) คือ ตุ่มฝีเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นที่ขอบเปลือกตา ซึ่งมีขนาดประมาณ 0.2-1 เซนติเมตร พบเกิดได้กับเปลือกตาทั้งสองข้าง โอกาสในการเกิดแต่ละข้างมีใกล้เคียงกัน สามารถเกิดได้ทั้งกับเปลือกตาบนและเปลือกตาล่าง แต่มักพบว่าเกิดกับเปลือกตาบนมากกว่า เพราะเปลือกตาด้านบนจะมีจำนวนต่อมต่าง ๆ มากกว่าเปลือกตาล่าง

โรคตากุ้งยิง เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย จะชายหรือหญิงก็มีโอกาสเกิดใกล้เคียงกัน แต่จะพบได้มากในเด็กที่มีอายุประมาณ 4-10 ปี[1] (ส่วนอีกข้อมูลระบุว่ามักพบได้ในวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่มากกว่าวัยเด็ก ส่วนวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย เพราะสารจากต่อมต่าง ๆ ในวัยผู้ใหญ่มักจะมีความเข้มข้นกว่าในวัยเด็กจากอิทธิพลของฮอร์โมน จึงก่อให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมต่าง ๆ ได้ง่ายกว่า[2])

โดยตากุ้งยิงจะแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

  • ตากุ้งยิงชนิดหัวผุด หรือ ตากุ้งยิงภายนอก (External hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมเหงื่อ (Gland of Moll) บริเวณผิวหนังตรงโคนขนตา จะมีลักษณะเป็นหัวฝีผุดให้เห็นชัดเจนบริเวณขอบตา มักจะมีขนาดไม่ใหญ่และหัวฝีจะชี้ออกด้านนอก
    ตากุ้งยิงเกิดจากอะไร
  • ตากุ้งยิงชนิดหัวหลบใน หรือ ตากุ้งยิงภายใน (Internal hordeolum) เป็นการอักเสบของต่อมไขมัน (Meibomian gland) บริเวณเยื่อบุเปลือกตา ที่เป็นเยื่อเมือกอ่อนสีชมพู ซึ่งจะมองเห็นได้เวลาปลิ้นเปลือกตา โดยหัวฝีนั้นจะหลบซ่อนอยู่ด้านในของเปลือกตา มักมีขนาดใหญ่กว่าชนิดแรกและหัวฝีจะชี้เข้าด้านใน แต่ในบางครั้งต่อมไขมันบริเวณเยื่อเปลือกตาอาจเกิดการอุดตันของรูเปิดเล็ก ๆ ทำให้มีเนื้อเยื่อรวมตัวกันอยู่ภายในต่อม จนกลายเป็นตุ่มนูนแข็งขนาดพอ ๆ กับกุ้งยิงได้ เรียกว่า ตาเป็นซิสต์ (Chalazion) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร หรือบางครั้งอาจมีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปจนทำให้เกิดการอักเสบ คล้ายกับการเป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบในได้ และเมื่อหายอักเสบแล้ว ตุ่มซิสต์ก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม
    รักษาตากุ้งยิง

สาเหตุของตากุ้งยิง

ส่วนใหญ่แล้วตากุ้งยิงเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย คือ เชื้อสแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus) เป็นส่วนใหญ่ โดยการอักเสบมักเริ่มจากท่อทางออกของสารต่าง ๆ จากต่อมต่าง ๆ ดังกล่าวบริเวณหนังตาเกิดการอุดตัน จึงส่งผลให้มีเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในต่อมเป็นจำนวนมาก เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงก่อให้เกิดการอักเสบของต่อมดังกล่าวตามมา แล้วตามมาด้วยการบวมเป็นก้อนนูน มีหนองสะสม ก่อให้เห็นเป็นตุ่มฝี (สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน แล้วผู้ป่วยเผลอไปใช้มือที่ไม่สะอาดขยี้ตา จนทำให้ต่อมที่เปลือกตาอุดตันและเกิดการอักเสบตามมา)

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมที่ทำให้เป็นตากุ้งยิงได้ง่าย เช่น

  1. ไม่รักษาความสะอาด เช่น ปล่อยให้มือ ใบหน้า ผิวหนัง หรือเสื้อผ้าสกปรก (มักพบโรคนี้ในคนที่ชอบขยี้ตา ผู้ที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดของใบหน้า ใช้เครื่องสำอางที่ใบหน้าและดวงตา สวมใส่คอนแทคเลนส์ร่วมกับผู้อื่น ใส่หรือถอดคอนแทคเลนส์ด้วยมือที่ไม่สะอาด หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สกปรก)
  2. ผู้ที่มีโรคผิวหนังบริเวณใบหน้า หรือมีใบหน้ามัน จึงทำให้เกิดการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณใบหน้ารวมทั้งหนังตาได้สูงกว่าปกติ
  3. มีความผิดปกติเกี่ยวกับสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเข สายตาเอียง รวมถึงมีการอักเสบบริเวณหนังตาอยู่บ่อย ๆ
  4. มีสุขภาพทั่วไปไม่ดีนัก เช่น เป็นโรคเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ ขาดอาหาร อดนอน ฟันผุ
  5. มีภาวะที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เช่น เป็นโรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคพิษสุราเรื้อรัง กินยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน ๆ ผู้ที่มีหนังตาอักเสบเรื้อรัง (ตากุ้งยิงมักพบในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ ส่วนในวัยผู้สูงอายุจะพบได้น้อย ถ้าพบกุ้งยิงในวัยผู้สูงอายุอาจจำเป็นต้องตรวจเช็กร่างกาย ซึ่งอาจพบโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง หรือโรคต่าง ๆ ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง)

โรคตากุ้งยิง

อาการของตากุ้งยิง

  • อาการของตากุ้งยิงส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการเคืองตาหรือคันตาคล้ายมีผงอยู่ในตาในบริเวณใกล้เคียงจะเกิดตุ่มฝี อาจมีน้ำตาไหล ทำให้ผู้ป่วยต้องขยี้ตาเสมอ ต่อมาอีก 1-2 วันจะเริ่มบวมแดง เจ็บเล็กน้อย ถ้าไม่ได้รับการรักษา บริเวณที่ปวดนั้นจะขึ้นเป็นตุ่มแข็ง เมื่อแตะถูกจะเจ็บ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกว่ามีอาการปวดที่บริเวณเปลือกตา ในลักษณะปวดแบบตุบ ๆ เฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง เมื่อก้มศีรษะต่ำกว่าระดับเอว จะทำให้มีอาการปวดมากขึ้น ต่อมาตุ่มฝีจะค่อย ๆ นุ่มลง มีหนองนูนเป่ง เห็นเป็นหัวขาว ๆ เหลือง ๆ หลังจากนั้นหนองจะแตกและยุบไป นอกจากนี้ในบางครั้งผู้ป่วยอาจมีขี้ตาออกมากผิดปกติหรือมีขี้ตาไหล เปลือกตาบวม ปวดตา หรือตาแดง
  • โดยมากกุ้งยิงมักจะขึ้นเพียงตุ่มเดียว อาจจะเป็นที่เปลือกตาบนหรือล่างก็ได้ น้อยคนนักที่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน 2-3 ตุ่ม
  • ถ้ากุ้งยิงขึ้นบริเวณหางตามักจะมีอาการรุนแรง อาจทำให้หนังตาบวมแดงจนตาปิด
  • ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4-5 วันต่อมา ตุ่มฝีมักจะแตกเอง แล้วหัวฝีจะยุบลงและหายปวด ถ้าหนองระบายออกได้หมดก็จะยุบหายไปภายใน 1 สัปดาห์ (ในบางรายที่ตุ่มฝีแตกและมีหนองไหลออกมา หากเชื้อรุนแรงหรือภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำ อาจก่อให้เกิดการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบก้อนและแผ่กว้างออกไป ซึ่งในระยะนี้จะก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดมากขึ้น และเด็กบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย)
  • ในผู้ป่วยที่เคยเป็นตากุ้งยิงมาแล้วครั้งหนึ่ง อาจจะมีอาการกำเริบแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยอาจจะเป็นตรงจุดเดิม หรือย้ายที่ หรือสลับข้างไปมาก็ได้

การวินิจฉัยตากุ้งยิง

  • แพทย์จะตรวจพบตุ่มฝีขนาดเล็กตรงบริเวณขอบตา โดยตรงกลางจะมีลักษณะเป็นสีขาว ๆ เหลือง ๆ รอบ ๆ นูนแดง ร่วมกับมีอาการเจ็บเวลากด และอาจมีอาการอักเสบรอบ ๆ ตาอาจจะแดง มีขี้ตาชัดเจน (ถ้าตาเป็นซิสต์ (Chalazion) จะเป็นเพียงก้อนนูน ไม่เจ็บตา ตาไม่แดง เพียงแต่ผู้ป่วยจะรู้สึกรำคาญหรือระคายเหมือนมีก้อนกลิ้งไปมาในตา)
  • ในรายที่เป็นกุ้งยิงชนิดหัวหลบใน จะตรวจพบตุ่มนูนอยู่ใต้เปลือกตา เมื่อกดถูกจะเจ็บ เมื่อปลิ้นเปลือกตาออก จะเห็นหัวฝีซ่อนอยู่ภายใน
  • ในบางรายอาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณหน้าหูโตและเจ็บ

วิธีรักษาตากุ้งยิง

เมื่อเริ่มมีอาการในระยะแรก ๆ คือยังไม่เห็นเป็นตุ่มนูนชัดเจน เพียงแต่มีอาการอักเสบแดงโดยรอบ ๆ หรือในกรณีที่เพิ่งเริ่มขึ้นเป็นตุ่มฝีใหม่ ๆ ซึ่งเป็นตุ่มแข็ง ยังไม่กลัดหนอง การรักษาและการดูแลตนเองในเบื้องต้น สามารถทำได้ดังนี้

  1. การดูแลตนเองที่ควรปฏิบัติในเบื้องต้น ได้แก่ การงดใช้เครื่องสำอางบริเวณดวงตาทุกชนิด, งดใส่คอนแทคเลนส์, ห้ามบีบหรือเค้นเพื่อเอาหนองออกเอง เพราะอาจจะทำให้เกิดการอักเสบมากขึ้น (หากหนองแตกเองให้ล้างบริเวณหนองด้วยน้ำต้มสุก), ไม่ขับรถเองในช่วงเป็นกุ้งยิง เพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้, ผู้ป่วยที่เป็นตากุ้งยิงยังสามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องใช้สายตามาก ควรหมั่นพักสายตาเป็นระยะ ๆ
  2. เมื่อพบว่าเป็นตากุ้งยิงในระยะแรก ควรเช็ดขอบตารอบ ๆ บริเวณที่เป็นให้สะอาดด้วยน้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (เช็ดจากหัวตาไปหางตา โดยในขณะทำให้หลับตาไว้) และดูแลรักษาความสะอาดบริเวณใบหน้าอยู่เสมอ
  3. ประคบตาด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ โดยใช้ผ้าสะอาดห่อหุ้มปลายด้ามช้อน แล้วชุบน้ำอุ่นจัด ๆ กดตรงบริเวณหัวฝี และนวดเบา ๆ โดยให้ทำเช่นนี้วันละ 4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 20-30 นาที (การประคบอุ่นจะช่วยทำให้มีเลือดมาเลี้ยงบริเวณที่เป็นมากขึ้น มาช่วยกันต่อสู้กับเชื้อโรค และช่วยทำให้ไขมันที่อุดตันต่อมเปิดออก ทำให้หนองไหลออกมาได้เอง และอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น)
  4. หลังจากประคบตาทุกครั้ง ให้ใช้ยาป้ายตาหรือยาหยอดตาปฏิชีวนะ เช่น ยาป้ายตาเทอรามัยซิน หรือยาหยอดตาอิริโทรมัยซิน (ในกรณีที่จะซื้อยามาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ) ถ้าอาการเจ็บไม่ลดลง ก้อนไม่ยุบ หรือมีเลือดออกจากแผล ควรไปพบแพทย์เพื่อพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม หรือผ่าเอาหนองออก
  5. ถ้ามีอาการปวด ให้กินยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4 ชั่วโมงเมื่อมีอาการ
  6. ถ้ามีอาการหนังตาบวมแดง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่หน้า หูโตร่วมด้วย ให้กินยาไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) วันละ 4 ครั้งก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน เป็นเวลา 5-7 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง
  7. โดยทั่วไป แม้ไม่ได้ใช้ยา ในบางรายอาจหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น เกิดเป็นก้อนนูนชัดเจน และใช้ยาปฏิชีวนะตามคำแนะนำของเภสัชกรแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาโดยการผ่าเอาหนองออก (แต่ทางที่ดีสุดก็คือ เมื่อเริ่มมีอาการควรรีบไปพบแพทย์ในทันที ไม่ควรรักษาด้วยตัวเอง)
  8. หากมีอาการดังต่อไปนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปแพทย์ในทันที ได้แก่ อาการแย่ลงหรือไม่ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์, ก้อนมีขนาดใหญ่มากและเจ็บตา, ก้อนที่เปลือกตาพบว่ามีเลือดออก, พบตุ่มน้ำเกิดขึ้นที่เปลือกตา, เปลือกตามีแผลตกสะเก็ด, เปลือกตาแดงหรือตาแดงทั่วไปหมด, สายตาผิดปกติ, มีอาการแพ้แสงแดด และกุ้งยิงกลับมาเป็นซ้ำอีกภายหลังจากรักษาจนหายดีแล้ว

ถ้าตุ่มฝีเป่งเห็นหัวหนองชัดเจนแล้ว แพทย์จะสะกิดหรือผ่าเพื่อระบายเอาหนองออก และให้กินยาปฏิชีวนะต่อไปจนกว่าจะหายอักเสบ (เช่น ไดคล็อกซาซิลลิน (Dicloxacillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin)) ส่วนวิธีการผ่ากุ้งยิงออกนั้น แพทย์จะทำโดยการให้ยาชาชนิดหยอด 2-3 ครั้ง ตามด้วยการฉีดยาชาบริเวณที่เป็นก้อนประมาณ 0.5 ซีซี แล้วกรีดด้วยมีดปลายแหลมยาวประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งหนองจะทะลักออกมา และก้อนจะยุบไปภายใน 2-3 วัน และสำหรับวิธีการดูแลตัวเองหลังการผ่าเอาหนองออก ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวดังนี้

  1. ห้ามขยี้ตาโดยเด็ดขาด
  2. ปิดตาไว้ให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออกและช่วยลดอาการบวมอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง (หลังจากนี้ก็เปิดตาเองได้และล้างหน้าได้ตามปกติ)
  3. เมื่อเปิดตาแล้วให้เริ่มใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ถ้ามีอาการให้รับประทานยาแก้ปวดครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง
  4. ในวันรุ่งขึ้นให้ใช้สำลีชุบน้ำสะอาด บีบให้พอหมาด ใช้เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ ดวงตา และให้ประคบด้วยน้ำอุ่น เพราะจะช่วยลดอาการปวดบวมหรืออาการช้ำได้ โดยการใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาด แล้วปิดลงบนเปลือกตาข้างที่เป็นกุ้งยิงครั้งละ 15 นาที (ในขณะที่ประคบให้หลับตาไว้)
  5. หากเกิดรอยเขียวคล้ำบริเวณที่ทำการผ่าเอาหนองออก ให้ประคบด้วยน้ำแข็ง

ในกรณีที่ตากุ้งยิงแบบเป็น ๆ หาย ๆ อาจชวนสงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะซ้อนเร้นอื่น ๆ อยู่ เช่น เบาหวาน สายตาผิดปกติ เป็นต้น แนะนำว่าควรไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดและหมั่นเช็ดขอบตาให้สะอาด

วิธีรักษาตากุ้งยิง

หมายเหตุ : ในกรณีที่ตุ่มฝีแตกหรือหายอักเสบแล้ว แต่ผู้ป่วยยังคงมีตุ่มแข็งอยู่ต่อไป โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด อาจเกิดจากตาเป็นซิสต์ (Chalazion) ซึ่งส่วนใหญ่จะพบที่เปลือกตาด้านบน เวลาหลับตาจะสังเกตได้ว่าบริเวณนั้นนูนกว่าปกติ และถ้าคลำดูก็จะรู้สึกเคลื่อนไปมาได้เล็กน้อย แต่โรคนี้ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด เพราะอาจจะเป็นอยู่ประมาณ 2-3 เดือนแล้วมักจะยุบหายไปเอง แต่ถ้าไม่หายก็อาจจะต้องให้แพทย์ผ่าหรือขูดออก หรือแพทย์บางท่านอาจใช้วิธีฉีดยาสเตียรอยด์เข้าไปรอบ ๆ ก้อน

ภาวะแทรกซ้อนจากตากุ้งยิง

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ผู้ที่เป็นตากุ้งยิง ถ้าร่างกายยังคงแข็งแรงและรักษาความสะอาดของใบหน้าและหนังตาอยู่เสมอ โรคอาจหายได้เอง หรือใช้ยาปฏิชีวนะก็จะหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์เป็นส่วนใหญ่ โดยมากมักจะไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแต่อย่างใด ยกเว้นในกรณีต่อไปนี้

  • ในผู้ป่วยบางรายที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือเชื้อโรคมีจำนวนมาก หรือไม่รักษาความสะอาดให้ดี อาจทำให้หนังตาอักเสบร่วมด้วย อาจลึกลงไปถึงเบ้าตา (เนื้อเยื่อรอบลูกตา) จนก่อให้เกิดการอักเสบลามไปเป็นการอักเสบบริเวณเบ้าตา ซึ่งบางคนเป็นรุนแรงจนกระทั่งเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด หรือเชื้อโรคอาจลุกลามไปยังด้านหลังลูกตา ลามไปถึงสมอง ซึ่งถ้าถึงในระยะนี้ การอักเสบจะรุนแรงมาก จำเป็นต้องอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดต่อไป
  • ในรายที่กุ้งยิงเป็นตุ่มหนองชัดเจนและไม่ได้รับการผ่าเอาหนองออก หนองอาจแตกเองได้ ซึ่งจะทำให้เกิดแผลบริเวณขอบหนังตา และเกิดเป็นแผลเป็นในเวลาต่อมา แต่ถ้าให้แพทย์ผ่าออกให้ โอกาสที่จะเกิดแผลเป็นจะมีน้อยมาก เพราะมีหลักวิธีการผ่าที่เลี่ยงมิให้เกิดเป็นแผลเป็นได้
  • ในบางครั้งผู้ที่เคยมีอาการตากุ้งยิง อาจจะเป็นซ้ำได้อีก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการที่ตุ่มฝีหรือหนองแตกเองและยังคงมีเชื้อแบคทีเรียหลงเหลืออยู่ จนทำให้เกิดการอักเสบของต่อมไขมันที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เพราะต่อมไขมันบริเวณเปลือกตาทั้งบนและล่างนั้นจะมีอยู่ประมาณ 50-60 ต่อม หากเกิดการอักเสบอีกก็จะทำให้เกิดอาการตากุ้งยิงซ้ำ ๆ ได้
  • ในรายที่เป็นตากุ้งยิงซ้ำ ๆ และถูกผ่าเอาหนองออกบ่อย ๆ จะก่อให้เกิดการทำลายต่อมต่าง ๆ ไปมาก เมื่ออายุมากขึ้น อาจทำให้มีอาการตาแห้งได้ง่าย
  • โดยทั่วไปแล้วอาการของตากุ้งยิงจะไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ ไม่ทำให้สายตามัวลง ยกเว้นในรายที่มีก้อนใหญ่จนไปกดกระจกตา ทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง จึงทำให้สายตามัวลงได้บ้าง
  • สำหรับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจพบได้เป็นส่วนน้อย คือ ในบางรายถ้าเป็นแล้วไม่รักษา อาจทำให้เกิดเป็นก้อนแข็ง เกิดแผลที่แก้วตา หรือเกิดความผิดปกติของหนังตา, ขนตางอกผิดปกติหรืออาจจะเกิดรู

วิธีป้องกันตากุ้งยิง

  1. รักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะสุขอนามัยบริเวณใบหน้า ขนตา ขอบตา มือ และควรระวังอย่าให้เส้นผมแยงตา รวมถึงรักษาความสะอาดของเส้นผมด้วยการสระผมอยู่บ่อย ๆ
  2. หากมีแนวโน้มจะติดเชื้อได้ง่าย ควรล้างเปลือกตาวันละ 1 ครั้ง เพื่อรักษาความสะอาดของรูขุมขน หรือประคบอุ่นที่เปลือกตาทุก ๆ 2 วัน เพื่อเป็นการป้องกันการอุดตันของต่อมไขมันบริเวณเปลือกตา
  3. หากใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา ควรเช็ดทำความสะอาดอย่างเคร่งครัดก่อนนอนทุกครั้ง และไม่ใช้เครื่องสำอางร่วมกับผู้อื่น
  4. เลิกนิสัยชอบขยี้ตา ไม่ใช้มือขยี้ตาบ่อย ๆ หรือใช้ผ้าเช็ดหน้าที่ไม่สะอาดเช็ดตา
  5. หลีกเลี่ยงการถูกฝุ่น ถูกลม แสงแดดจ้า ๆ และควันบุหรี่ หากจำเป็นก็ควรใช้แว่นกันแดดหรือหมวกช่วยด้วย เนื่องจากการหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีฝุ่นละอองที่สกปรกจะช่วยทำให้มีเชื้อโรคมาสัมผัสที่บริเวณดวงตาได้น้อยลง
  6. ใช้สายตาให้พอดีกับความสามารถ อย่าฝืนใช้สายตามากหรือนานจนเกินไป เพราะจะทำให้ปวดกระบอกตา ตาเมื่อยล้า และแสบเคืองตาได้ ซึ่งจะเป็นผลทำให้ภูมิคุ้มกันลดน้อยลง โอกาสไวต่อเชื้อก็มีมากขึ้น
  1. ควรรักษาสุภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่อดหลับอดนอน เพราะร่างกายที่แข็งแรงจะเป็นด่านป้องกันการติดเชื้อได้ดี ทำให้มีโอกาสเกิดตากุ้งยิงได้น้อย
  2. ควรดูแลร่างกายให้ได้รับวิตามินเออย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีสารเบต้าแคโรทีนสูง ๆ เช่น ไข่แดง เครื่องใน เนย และผักผลไม้สีเหลือง ส้ม แดง หรือสีเขียวเข้ม หรืออาจจะทานวิตามินเสริมที่มีวิตามินเอหรือวิตามินซีเพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่วมด้วยก็ได้
  3. ควบคุมโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ไซนัสอักเสบ ฟันผุ ฯลฯ หากควบคุมโรคได้ดีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้ดียิ่งขึ้น
  4. ผู้มีประวัติเป็นตากุ้งยิงบ่อย ๆ ควรงดการใช้เครื่องสำอางบริเวณขอบตา หมั่นทำความสะอาดบริเวณโคนขนตา (ด้วยการใช้สำลีชุบน้ำสะอาด เช็ดขอบตาจากหัวตาไปหางตา) และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวมา นอกจากนั้นควรไปพบแพทย์เสมอเพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัด
  5. ควรเริ่มรักษาตากุ้งยิงทันทีเมื่อเริ่มขึ้นเป็นตุ่มใหม่ ๆ ด้วยการประคบด้วยน้ำอุ่นจัด ๆ และใช้ยาปฏิชีวนะชนิดป้ายหรือหยอดตา เพราะถ้าปล่อยไว้นานจนกลัดหนอง การรักษาด้วยวิธีดังกล่าวจะไม่ได้ผล อาจต้องใช้วิธีสะกิดหรือผ่าเพื่อระบายเอาหนองออก
  6. หากมีโรคประจำตัวหรือเป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ติดเชื้อเอชไอวี โรคเลือด หรือกำลังได้รับยาเคมีบำบัด ฯลฯ) ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงทีเมื่อสงสัยว่าเป็นตากุ้งยิง ผู้ป่วยไม่ควรลองรักษาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามรวดเร็วยิ่งขึ้น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กุ้งยิง (Sty/Stye/Hordeolum)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 940-941.
  2. หาหมอดอทคอม.  “กุ้งยิง (Sty)”.  (พญ.สกาวรัตน์ คุณาวิศรุต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [09 มี.ค. 2016].
  3. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ตากุ้งยิง”.  (รศ.นพ.จตุพล ศรีสมบูรณ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [09 มี.ค. 2016].

ภาพประกอบ : www.healthtap.com, wikipedia.org (by Jacek Halicki), diseasespictures.com, www.melliseyecare.co.uk, eyestyetreatment.org

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด