ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ 9 วิธี !

ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) อาการ สาเหตุ การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ 9 วิธี !

ตับอ่อนอักเสบ

ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของเซลล์ของตับอ่อน (Pancreas) โดยมีทั้งการอักเสบชนิดเฉียบพลันที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่ส่วนใหญ่อาการจะเป็นอยู่ไม่นานและมักจะทุเลาดีขึ้นได้เอง และการอักเสบชนิดเรื้อรังซึ่งจะมีการทำลายเซลล์ของตับอ่อนจนไม่สามารถฟื้นตัวได้ โดยสาเหตุของโรคนี้หลัก ๆ แล้วจะมาจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี และจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด

โรคตับอ่อนอักเสบเป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่เป็นภาวะร้ายแรงที่มีอันตรายค่อนข้างสูง โดยจัดเป็นโรคของผู้ใหญ่ เพราะมักพบได้ในคนอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จนถึงผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์จัด

หมายเหตุ : ตับอ่อน (Pancreas) เป็นอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย มีลักษณะเป็นต่อมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทางด้านหลังของกระเพาะอาหารใกล้กับลำไส้เล็กส่วนดูโอดินัม ซึ่งเป็นลำไส้เล็กส่วนต้น โดยจัดเป็นอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่นเดียวกับตับ (Liver) แต่ตับอ่อนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของตับ (เป็นคนละอวัยวะกันและไม่ได้เกี่ยวข้องกัน) ตับอ่อนจะมีลักษณะและขนาดเหมือนกล้วยหอม ประกอบไปด้วยเซลล์หลัก 2 เซลล์ คือ เซลล์จากต่อมไร้ท่อ (Endocrine gland) และเซลล์จากต่อมมีท่อ (Exocrine gland) โดยต่อมไร้ท่อจะมีหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด (โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) และกลูคากอน (Glucagon) ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวาน) ส่วนต่อมมีท่อจะมีหน้าที่สร้างน้ำย่อยอาหาร (Pancreatic juice) ซึ่งจะช่วยย่อยอาหารในลำไส้เล็ก โดยเฉพาะการย่อยไขมัน

ชนิดของโรคตับอ่อนอักเสบ

การอักเสบของตับอ่อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (Acute pancreatitis) ได้แก่ โรคที่เกิดการอักเสบขึ้นกับเซลล์ของตับอ่อนอย่างเฉียบพลัน โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องขึ้นมาอย่างรุนแรงและทันทีทันใด (หรืออาจจะค่อย ๆ มีอาการภายใน 2-3 วัน) ทั้งนี้การอักเสบจะเป็นอยู่เพียงชั่วขณะ และเซลล์ของตับอ่อนจะฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้ (อาการของผู้ป่วยมักจะดีขึ้นและหายเป็นปกติได้ภายหลังการรักษาประมาณ 1-2 สัปดาห์) แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจพบว่ามีอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเกิดโรคแทรกซ้อน โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยจะพบได้ประมาณ 5-80 รายต่อประชากร 100,000 ราย ทั้งนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและเชื้อชาติ เช่น ในเยอรมนีจะพบได้ประมาณ 17 ราย ส่วนในฟินแลนด์จะพบได้ประมาณ 73 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย เป็นต้น
  2. โรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง (Chronic pancreatitis) ได้แก่ โรคที่เซลล์ตับอ่อนมีการอักเสบอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง โดยอาจจะเกิดขึ้นตามหลังการอักเสบเฉียบพลันที่รักษาไม่หายเพราะสาเหตุยังคงอยู่ เช่น ผู้ป่วยยังคงดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง (เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง) หรือเกิดจากการอักเสบเฉียบพลันซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ซึ่งในการอักเสบเรื้อรังนี้เซลล์ของตับอ่อนจะค่อย ๆ ถูกทำลายจนไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ และมักกลายเป็นพังผืดอย่างถาวรจนไม่สามารถสร้างน้ำย่อยและฮอร์โมนได้ (ร่างกายจึงขาดน้ำย่อยอาหารและฮอร์โมนต่าง ๆ โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลิน ผู้ป่วยจึงเกิดภาวะขาดอาหารและมักเกิดเป็นโรคเบาหวานขึ้นตามมา) หรือบางครั้งเซลล์ที่อักเสบและตายไปจะรวมตัวกันจนเกิดถุงน้ำเทียมขึ้นมาก็ได้ เรียกว่า “ถุงน้ำตับอ่อนที่เกิดจากตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง” (Pancreatic pseudocyst) โรคนี้เป็นโรคที่พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเช่นกัน และมักเป็นในคนวัยหนุ่มหรือกลางคน มาจากสาเหตุการดื่มแอลกอฮอล์จัด (มักจะเกิดขึ้นในคนที่อยู่ในวัย 30-40 ปี) โดยจะพบได้ประมาณ 26-200 รายต่อประชากร 100,000 ราย ทั้งนี้จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศและเชื้อชาติ เช่น ในฝรั่งเศสจะพบได้ประมาณ 26 ราย ส่วนในอินเดียตอนใต้จะพบได้ประมาณ 200 ราย ต่อประชากร 100,000 ราย เป็นต้น

ตับอ่อนอักเสบ
IMAGE SOURCE : Simmedic UKM, www.studyblue.com

กลไกการอักเสบของตับอ่อน

กลไกที่ทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบในปัจจุบันยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าการอักเสบของตับอ่อนน่าจะเกิดจากน้ำย่อยอาหารจากตับอ่อน โดยเฉพาะชนิดที่เรียกว่า “ทริปซิน” (Trypsin) ซึ่งเป็นน้ำย่อยโปรตีนที่ปกติแล้วจะไม่ทำงานเมื่ออยู่ในตับอ่อน แต่จะทำงานก็ต่อเมื่อเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็ก โดยเซลล์ของลำไส้เล็กตอนบนจะสร้างเอนไซม์ ชื่อ “เอนเทอโรไคเนส” (Enterokinase) ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำย่อยตับอ่อนทำงาน แต่เมื่อเซลล์ของตับอ่อนเกิดการอักเสบจากสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็จะส่งผลทำให้เกิดสารเคมีผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นมา ซึ่งจะไปกระตุ้นให้น้ำย่อยของตับอ่อนโดยเฉพาะทริปซินทำงาน น้ำย่อยเหล่านี้จึงย่อยสลายเซลล์ของตับอ่อนและก่อให้เกิดเป็นโรคตับอ่อนอักเสบขึ้นมา

นอกจากนี้ กลไกการอักเสบยังอาจเกิดจากมีการทำลายหรือก่อให้เกิดการอักเสบโดยตรงต่อเซลล์ของตับอ่อนจากสาเหตุต่าง ๆ ได้ด้วย เช่น จากการดื่มแอลกอฮอล์จัด หรือการอักเสบของเนื้อเยื่อตับอ่อนจากโรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease) เป็นต้น

สาเหตุของโรคตับอ่อนอักเสบ

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า โรคตับอ่อนอักเสบทั้งการอักเสบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรังนั้นมีความเกี่ยวพันกัน เพราะการอักเสบเรื้อรังจะเกิดต่อเนื่องมาจากการอักเสบเฉียบพลัน ดังนั้นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจึงเหมือนกัน ซึ่งสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ๆ (รวมกันประมาณ 80%) ของโรคตับอ่อนอักเสบทั้งหมดจะมีอยู่ด้วยกัน 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ จากโรคนิ่วในถุงน้ำดีและจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด

  1. โรคนิ่วในถุงน้ำดี (Gallstones) เกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีที่หลุดเข้าไปในท่อน้ำดี (โรคนิ่วในท่อน้ำดี) ซึ่งท่อน้ำดีนี้จะเปิดเข้าลำไส้เล็กในตำแหน่งเดียวกันกับท่อตับอ่อน นิ่วในท่อน้ำดีจึงก่อให้เกิดการอุดตันและการอักเสบของท่อตับอ่อน แล้วกลายเป็นสาเหตุของตับอ่อนอักเสบในที่สุด
  2. การดื่มแอลกอฮอล์จัด เกิดจากพิษของแอลกอฮอล์ที่เข้าไปทำลายเซลล์ของตับอ่อนโดยตรง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นตามหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 2-12 ชั่วโมง (แต่บางคนอาจนาน 1-3 วันได้ และบางคนที่ไวต่อแอลกอฮอล์เป็นพิเศษจะเกิดขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยได้)
  3. สาเหตุอื่น ๆ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยกว่า คือ พบได้รวมกันประมาณ 20% ของการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบทั้งหมด ได้แก่
    • การสูบบุหรี่ โดยเกิดจากสารพิษจากบุหรี่ที่เข้าไปทำลายเซลล์ของตับอ่อน
    • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline), ยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides), ยาขับปัสสาวะไทอะไซด์ (Thiazide) และฟูโรซีไมด์ (Furosemide), ยาสเตียรอยด์ (Steroids), ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs), ยากดภูมิคุ้มกันอะซาไธโอพรีน (Azathioprine), ยาเคมีบำบัดเมอร์แคปโตพิวรีน (Mercaptopurine), ยารักษาวัณโรคบางชนิด, ยากรดวาลโปรอิก (Valproic acid), ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) เป็นต้น
    • โรคเรื้อรังบางชนิดที่ก่อให้เกิดสารเคมีเป็นพิษขึ้นในร่างกาย เช่น โรคไตเรื้อรัง
    • ภาวะไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) ในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
    • ภาวะมีแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercal­cemia) เช่น จากการรับประทานวิตามินดีและแคลเซียมเสริมในปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง
    • ภาวะขาดพาราไทรอยด์ (Hypoparathyroidsm)
    • การติดเชื้อแบคทีเรียของตับอ่อน
    • การติดเชื้อไวรัสของตับอ่อน เช่น เชื้อไวรัสมัมพ์ (Mumps virus) ที่ทำให้เกิดโรคคางทูม, เชื้อไวรัสรูเบลลา (Rubella virus) ที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน, เชื้อไวรัสเฮปาไตติส (Hepatitis virus) ที่ทำให้เกิดโรคไวรัสตับอักเสบ, เชื้อไวรัสเอ็บสไตน์-บาร์ (Epstein-Barr virus), เชื้อไวรัสไซโตเมกะโล (Cytomegalovirus)
    • โรคภูมิต้านตนเอง (Autoimmune disease)
    • โรคมะเร็งท่อน้ำดี โรคมะเร็งถุงน้ำดี หรือโรคมะเร็งตับอ่อน (สาเหตุจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุที่พบได้น้อย)
    • ภาวะหรือความผิดปกติทางพันธุกรรมบางอย่างที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดมีตับอ่อนอักเสบ (เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยมาก มักเกิดขึ้นในคนหนุ่มที่มีอายุน้อยกว่า 30 ปี ซึ่งอาจเป็นมานานหลายปีก่อนที่แพทย์จะวินิจฉัยได้)
    • การได้รับบาดเจ็บที่ตับอ่อนโดยตรง เช่น จากอุบัติเหตุหรือการได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้อง จากการผ่าตัดในช่องท้อง จากขั้นตอนการผ่าตัดทางเดินน้ำดีและต่อมน้ำเหลืองในช่องท้อง (เป็นเหตุทำให้เกิดตับอ่อนอักเสบหลังการผ่าตัด)
    • บางครั้งอาจไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด

สาเหตุตับอ่อนอักเสบเกิดจากอะไร
IMAGE SOURCE : www.mayoclinic.org

อาการของโรคตับอ่อนอักเสบ

อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • ปวดท้องเฉียบพลันตรงช่องท้องตรงกลางส่วนบน (บริเวณใต้ลิ้นปี่) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง (อาการเมื่อเริ่มปวดจนถึงปวดอย่างรุนแรง อาจใช้เวลาประมาณ 10 นาทีจนถึงหลายชั่วโมง) โดยจะปวดแบบตื้อ ๆ ตลอดเวลาต่อเนื่องกันเป็นวัน ๆ หรือหลายวันติดต่อกัน และมักปวดร้าวไปที่หลัง (พบได้ประมาณ 50% ของผู้ป่วย) เพราะตับอ่อนเป็นอวัยวะที่อยู่ลึกในช่องท้องส่วนที่อยู่ติดทางด้านหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ หรือเคลื่อนไหวหรือเวลานอนหงาย (แต่จะรู้สึกสบายขึ้นเวลานั่งโก้งโค้ง) อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายที่มีโรคเรื้อรังที่มีผลต่อการอักเสบของประสาท อาจมีตับอ่อนอักเสบโดยที่มีอาการปวดไม่มากก็ได้ เช่น ในผู้ป่วยโรคเบาหวานหรือโรคไตเรื้อรัง
  • อาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง
  • มักมีไข้ (ซึ่งมีได้ทั้งไข้สูงและไข้ต่ำ) คลื่นไส้ อาเจียน (ประมาณ 70-90% ของผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ลักษณะของอาเจียนจะเป็นน้ำย่อย แต่อาจจะมีน้ำดีปนด้วย)
  • กดหน้าท้องจะเจ็บ (มักจะไม่มีอาการท้องแข็ง)
  • หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว
  • ถ้าเป็นการอักเสบชนิดรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการของภาวะขาดน้ำ (กระหายน้ำ ผิวแห้ง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว และอาจมีภาวะช็อก) และ/หรือมีอาการอ่อนเพลียมาก มีจ้ำเขียวขึ้นที่หน้าท้องหรือรอบ ๆ สะดือ มือเท้าเกร็ง (จากภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ) และ/หรือมีอาการจากการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ร่วมด้วย เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดอักเสบ หรือไตวายเฉียบพลัน

อาการของโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง ได้แก่

  • ผู้ป่วยจะมีอาการเช่นเดียวกับตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันเมื่อเกิดตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันทับซ้อน
  • มีอาการปวดท้องเป็นอาการหลักในลักษณะเช่นเดียวกับการอักเสบเฉียบพลัน (ปวดท้องตรงใต้ลิ้นปี่ หรือชายโครงด้านซ้าย และปวดร้าวไปที่บั้นเอวด้านซ้าย) แต่จะมีความรุนแรงน้อยกว่าและปวดท้องอย่างเรื้อรัง (อาการปวดจะทิ้งช่วงห่างกันเป็นเดือนหรือเป็นปี และจะพบได้บ่อยขึ้นเรื่อย ๆ จนปวดตลอดเวลา) และนอกจากจะปวดมากขึ้นหลังเมื่อรับประทานอาหารและดื่มน้ำแล้ว (โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมัน) ยังปวดมากขึ้นเมื่อดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย
  • ท้องเสียเรื้อรัง อุจจาระของผู้ป่วยจะมีลักษณะเป็นไขมันจากไขมันย่อยไม่ได้ เมื่อเป็นมากในขณะที่ถ่ายอุจจาระไขมันจะลอยขึ้นมาให้เห็นในโถส้วมและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก มีลมในท้อง น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่องทั้ง ๆ ที่ผู้ป่วยยังรับประทานอาหารได้ปกติ และไม่มีอาการเบื่ออาหารแม้แต่น้อย เนื่องจากอาหารดูดซึมไม่ได้เพราะขาดน้ำย่อยอาหาร ทำให้เป็นโรคขาดอาหาร มีอาการอ่อนเพลีย และถ่ายอุจจาระเป็นไขมัน (Oily stool) ดังกล่าว
  • ถ้าเป็นมากจนตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ อาจทำให้มีอาการของโรคเบาหวานร่วมด้วย
  • บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง (มีภาวะดีซ่าน) จากการอักเสบเรื้อรังและก่อให้เกิดการดึงรั้งปากท่อน้ำดีที่อยู่ติดกับปากท่อของตับอ่อน ส่งผลให้เกิดการอุดกั้นทางเดินน้ำดีจากตับ น้ำดีจึงท้นเข้าหลอดเลือดแล้วก่อให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม และน้ำดีไหลลงลำไส้ไม่ได้ (ส่งผลให้อุจจาระมีสีซีด ซึ่งเป็นสีจากน้ำดี)
  • ผู้ป่วยเรื้อรังบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ หรือบางรายอาการปวดท้องอาจหายไปแม้ว่าโรคจะเลวลงก็ตาม

อาการตับอ่อนอักเสบ
IMAGE SOURCE : lineshjose.com

ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับอ่อนอักเสบ

อาจทำให้เกิดฝีตับอ่อน (Pancreatic abscess), ถุงน้ำเทียม (Pseudocyst) ในช่องท้อง, ภาวะไตวาย (Renal failure), ภาวะช็อก, ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema), ภาวะขาดอาหาร, โรคเบาหวาน (โดยเฉพาะในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานมาก่อน มักจะมีแนวโน้มเกิดโรคเบาหวานได้ง่ายขึ้น) และในกรณีที่เป็นโรคตับอ่อนอักเสบรุนแรงจะมีการตายของเซลล์ของตับอ่อนซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย เกิดภาวะโลหิตเป็นพิษซึ่งเป็นอันตรายถึงกับเสียชีวิต

การวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบ

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรังได้ด้วยวิธีคล้าย ๆ กัน คือ

  • การซักประวัติต่าง ๆ ได้แก่ ประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยและการรักษาทั้งในอดีตและปัจจุบันของผู้ป่วย ประวัติการสูบบุหรี่ และโดยเฉพาะประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ (ผู้ป่วยบางรายอาจมีประวัติการดื่มแอลกอฮอล์จัดหรือกินเลี้ยงมาก่อนสัก 12-24 ชั่วโมง)
  • การตรวจร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยอาจมีไข้, หน้าท้องกดเจ็บ (มักไม่มีอาการท้องแข็ง), ท้องอืด (เมื่อใช้เครื่องฟังตรวจท้องจะพบเสียงโครกครากของลำไส้ลดลง), อาการดีซ่าน, ภาวะขาดน้ำและภาวะช็อก (กระสับกระส่าย เหงื่อออก ตัวเย็น ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ)
  • การเจาะเลือดตรวจหาระดับเอนไซม์อะไมเลส (Amylase) และไลเปส (Lipase) ซึ่งในภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันมักพบว่า Amylase จะเริ่มมีค่าสูงขึ้นภายใน 6-12 ชั่วโมง เมื่อเริ่มมีตับอ่อนอักเสบ และจะอยู่ในเลือดได้ประมาณ 3-5 วัน (แต่ในบางกรณีก็อาจพบว่า Amylase มีค่าสูงโดยไม่มีตับอ่อนอักเสบ เช่น ภาวะต่อมน้ำลายอักเสบ หรือมีตับอ่อนอักเสบโดยที่ระดับของ Amylase ในเลือดยังปกติก็ได้ เช่น ภาวะ Hypertriglyceridemia) ส่วนค่าของ Lipase จะพบว่ามีระดับเพิ่มสูงขึ้นในเลือดตั้งแต่วันแรกของการมีตับอ่อนอักเสบ และค่าจะกลับสู่ปกติใน 8-14 วัน (แต่ค่า Lipase ก็อาจจะสูงกว่าปกติได้โดยไม่มีภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เช่น ภาวะไตวาย)
  • การตรวจภาพตับอ่อนด้วยอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) ซึ่งมักทำให้ 24 ชั่วโมงแรก เพื่อหาสาเหตุว่าตับอ่อนอักเสบเกิดจากนิ่วในถุงน้ำดีหรือไม่ แต่การตรวจนี้จะได้ประโยชน์น้อยถ้าใช้ในการวินิจฉัยตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เนื่องจากตับอ่อนจะถูกลมในลำไส้ปิดบังจนทำให้เห็นลักษณะของตับอ่อนได้ไม่ชัดเจน และ/หรือ
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) มักนิยมใช้ในกรณีที่เป็นการตรวจเพื่อดูความรุนแรงของภาวะตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (การตรวจในกรณีนี้ผู้ป่วยจะต้องมีอาการตับอ่อนอักเสบเกินกว่า 48-72 ชั่วโมงขึ้นไป), เพื่อตัดสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องออกไป (เช่น ลำไส้ขาดเลือด กระเพาะอาหารทะลุ เป็นต้น), เพื่อดูภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ถุงน้ำเทียม (Pseudocyst) ฯลฯ
  • การตรวจด้วยวิธีเฉพาะอื่น ๆ เพิ่มเติม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อนที่เรียกว่า “อีอาร์ซีพี” (Endoscopic retrograde cholangiopancreatography – ERCP) ว่ามีนิ่วอุดตันหรือไม่ เป็นต้น
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการทั่วไป เช่น การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (CBC), การตรวจการทำงานของตับ (Liver function test), การตรวจระดับแคลเซียมในเลือด, การตรวจน้ำตาลในเลือด (Blood sugar), การตรวจไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

ตับอ่อนอักเสบอันตรายไหม
IMAGE SOURCE : radiologypics.com

วิธีรักษาโรคตับอ่อนอักเสบ

การรักษาโรคตับอ่อนอักเสบทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง คือ การรักษาประคับประคองตามอาการและการรักษาที่สาเหตุ

  1. การรักษาประคับประคองตามอาการ เป็นการรักษาอันดับแรกที่สำคัญมาก เพราะผู้ป่วยมักจะรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย แพทย์จึงมักต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลและให้การรักษาดังนี้
    • ให้งดการรับประทานอาหารและน้ำเพื่อลดการทำงานของตับอ่อนจนกว่าอาการอักเสบจะทุเลาลง
    • ให้น้ำเกลือและสารอาหารทางหลอดเลือดดำให้เพียงพอ (เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช็อก) และให้เกลือแร่ต่าง ๆ อยู่ในระดับสมดุลจนกว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารทางปากได้ (ในบางครั้งเมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องใส่สายจากจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหารเพื่อดูดน้ำย่อยของกระเพาะอาหารออกให้หมด เพื่อลดการตึงตัวของท้องและลดอาการคลื่นไส้อาเจียน)
    • การให้ยาแก้ปวดตามระดับอาการปวดของผู้ป่วย (บรรเทาอาการปวดท้อง) โดยทั่วไปแพทย์จะเริ่มให้ยาแก้ปวดเบา ๆ ก่อน เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) ถ้าเอาไม่อยู่ก็จะขยับไปใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาอิโทริคอกซิบ (Etoricoxib) ที่มีชื่อการค้าว่า อาร์โคเซีย (Arcoxia) แต่ถ้ายังเอาไม่อยู่ก็ไปใช้ยาแรงขึ้นอย่างทรามาดอล (Tramadol) และถ้ายังเอาไม่อยู่อีก (ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องมาก) แพทย์อาจให้ยาที่เข้าพวกฝิ่น เช่น ยาฉีดแก้ปวดเพนตาโซซีน (Pentazocine) ที่มีชื่อทางการค้าว่า Sosegon®
    • การให้ยาบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียน
    • การแก้ไขภาวะกรด (Metabolic acidosis) โดยให้โซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium bicar­bonate)
    • การให้เลือดถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีด
    • เมื่อรักษาจนปลอดภัยดีแล้ว แพทย์จะค่อยตรวจหาสาเหตุและรักษาตามสาเหตุต่อไป
  2. การรักษาที่สาเหตุและภาวะแทรกซ้อน เช่น
    • การรักษานิ่วในถุงน้ำดีหรือนิ่วในท่อน้ำดีด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามแต่ขนาดของก้อนนิ่ว ตำแหน่ง อาการ สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องหรือผ่าตัดเพื่อเอานิ่วออก
    • การให้เลิกดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด รวมถึงให้เลิกสูบบุหรี่ด้วย
    • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
    • การผ่าตัดตับอ่อน ถ้าตับอ่อนอักเสบมากจนเกิดการเน่าตายของเนื้อเยื่อตับอ่อน
    • การรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคตับอ่อนอักเสบ เช่น การรักษาภาวะไตวาย ถุงน้ำเทียม (Pseudocyst)
  3. สำหรับในผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะให้การรักษาดังนี้
    • แพทย์อาจจำเป็นต้องรับตัวผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายผ่านจมูกลงสู่กระเพาะอาหาร ซึ่งอาจให้ติดต่อกันนานหลายอาทิตย์ถ้าผู้ป่วยอยู่ในภาวะขาดอาหาร
    • ให้รับประทานยาแก้ปวดเป็นประจำ โดยจะมีตารางการรับประทานยาคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง เช่น ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง
    • ในผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาคลายเครียด
    • ให้รับประทานยาหรือฉีดวิตามินเสริมต่าง ๆ โดยเฉพาะชนิดที่ละลายในไขมันได้ เพราะร่างกายจะดูดซึมไขมันได้น้อย ผู้ป่วยจึงมักจะขาดวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
    • ให้รับประทานยาเพื่อช่วยในการย่อยอาหาร (เมื่อผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้ว) ดื่มน้ำให้มาก เน้นรับประทานอาหารที่มีโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตสูง จัดตารางการรับประทานอาหารที่มีขนาดไม่มากและรับประทานให้บ่อยกว่าปกติ
    • จำกัดการรับประทานอาหารไขมัน เพราะเมื่อตับอ่อนไม่ดีก็จะไม่มีน้ำย่อยมาย่อยไขมัน ถ้าเป็นมากจะถึงขั้นถ่ายออกมาเป็นไขมัน (ในกรณีที่ร่างกายขาดอาหารไขมัน ให้กินไขมันที่เป็น Medium chain triglycerides ซึ่งดูดซึมที่ลำไส้เล็กได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยน้ำย่อยจากตับ เช่น พรีเจสติมิล (Pregestimil) หรือสารอาหารชื่อ โปรชัวร์ (Prosure) หรือถ้าไม่มีก็รับประทานน้ำมันมะพร้าวและน้ำมันปาล์มก็ใช้ได้เหมือนกัน)
    • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีน เช่น กาแฟ เนื่องจากกาเฟอีนเป็นสารที่กระตุ้นกระเพาะอาหาร
    • ให้การดูแลรักษาโรคและอาการที่เกิดจากผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคเบาหวาน อาการตัวเหลือง ตาเหลือง (ภาวะดีซ่าน)
    • ในบางครั้งการรักษาอาจต้องผ่าตัดตับอ่อน
    • ส่วนตัวผู้ป่วยเองก็ต้องระวังเรื่องการรับประทานยาต่าง ๆ ให้มาก เพราะยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อเซลล์ของตับอ่อนดังที่กล่าวไปแล้ว
  4. การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคตับอ่อนอักเสบ ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
    • เมื่อมีอาการของโรคตับอ่อนอักเสบดังที่กล่าวไปในหัวข้ออาการ ต้องรีบไปพบแพทย์เสมอ อาจภายใน 24 ชั่วโมง หรือฉุกเฉิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ
    • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาลอย่างเคร่งครัด
    • รับประทานยาต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน โดยเฉพาะยาแก้ปวดและยาช่วยย่อยอาหารต่าง ๆ
    • เลิกดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด
    • จำกัดการรับประทานอาหารไขมัน (อาหารที่มีไขมันมากควรหลีกเลี่ยง)
    • ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ อย่าได้ขาด เพราะหากกลายเป็นเรื้อรังหรือมีเบาหวานแทรกซ้อนจะได้รักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
    • รีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการเลวลง หรือเมื่อกังวลในอาการที่เป็นอยู่
    • เมื่อหายดีแล้ว ห้ามดื่มแอลกอฮอล์อีกต่อไป เพราะอาจทำให้อาการกำเริบได้อีก และควรงดอาหารที่มีไขมันมาก ๆ

อาหารสําหรับผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบ
IMAGE SOURCE : www.steadyhealth.com

วิธีป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบ

การป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบ คือ การลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญคือ

  1. ลดหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง “นิ่วในถุงน้ำดี”)
  2. งดการดื่มแอลกอฮอล์หรือจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ (ถ้าจะดื่มควรดื่มไม่เกิน 2 หน่วยสำหรับทั้งหญิงและชาย โดยปริมาณ 1 หน่วย คือ 30 ซีซีของวิสกี้ หรือเบียร์ 1 กระป๋องหรือขวดเล็ก หรือ 1 แก้วไวน์)
  3. ไม่สูบบุหรี่
  4. ไม่ใช้ยาต่าง ๆ อย่างพร่ำเพรื่อ แต่ให้ใช้ยาเฉพาะเมื่อจำเป็น และควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เสมอก่อนที่จะซื้อยาใด ๆ มารับประทานเอง
  5. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี โดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อช่วยลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคตับอ่อนอักเสบ

  • โรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันโดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง สามารถรักษาให้หายได้ประมาณ 80% ภายในประมาณ 1-2 สัปดาห์ แต่อีกประมาณ 20% จัดเป็นโรคที่รุนแรง (มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ผู้ป่วยจะมีอาการรุนแรงจนต้องนอนในห้อง ICU) และทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ประมาณ 30% ซึ่งโอกาสจะเกิดโรครุนแรงจะมีสูงกว่าถ้ามีสาเหตุมาจากโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือนิ่วในท่อน้ำดี (มากกว่าที่มีสาเหตุมาจากการดื่มแอลกอฮอล์จัด)
  • ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลันสามารถเกิดเป็นซ้ำได้ ถ้ายังไม่สามารถรักษาหรือควบคุมที่สาเหตุได้
  • ตับอ่อนอักเสบในกลุ่มที่มีอาการรุนแรงมักเกิดจาก เมื่อเซลล์ของตับอ่อนอักเสบจะก่อให้เกิดสารเคมีหลายชนิดเข้าสู่กระแสเลือดและไปก่อให้เกิดการอักเสบในหลาย ๆ อวัยวะ ที่พบได้บ่อย ๆ คือ กล้ามเนื้อหัวใจ ปอด และไต ก่อภาวะหายใจล้มเหลวและภาวะหัวใจล้มเหลว และไตวายเฉียบพลัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • ในโรคตับอ่อนอักเสบเรื้อรังนั้น ในทางการแพทย์จัดเป็นโรคที่รุนแรงและรักษาไม่หาย แต่สามารถบรรเทาอาการได้โดยที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ไปตลอดชีวิต เพราะผู้ป่วยมักมีผลข้างเคียงหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา เช่น อาการปวดท้องเรื้อรัง ท้องเสียเรื้อรัง ภาวะขาดอาหาร โรคเบาหวาน จนส่งผลถึงคุณภาพชีวิตและเป็นเหตุทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 519-521.
  2. ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Approach to patient with acute pancreatitis”.  (นพ.นรินทร์ อจละนันท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : med.mahidol.ac.th.  [18 ก.พ. 2017].
  3. หาหมอดอทคอม.  “ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [19 ก.พ. 2017].
  4. Siamhealth.  “ตับอ่อนอักเสบ Pancreatitis”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [19 ก.พ. 2017].
  5. นพ.มานิตย์ วัชร์ชัยนันท์.  “Pancreatitis”. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : vatchainan2.blogspot.com.  [20 ก.พ. 2017].
  6. ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ.  “ตับอ่อนอักเสบ”.  (นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.bangkokhealth.com.  [18 ก.พ. 2017].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด