ตังกุย สรรพคุณและประโยชน์ของโสมตังกุย 18 ข้อ ! (โกฐเชียง)

ตังกุย สรรพคุณและประโยชน์ของโสมตังกุย 18 ข้อ ! (โกฐเชียง)

โสมตังกุย

ตังกุย ชื่อสามัญ Dong quai[4] Chinese Angelica[4], Female ginseng[5]

ตังกุย ชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica sinensis (Oliv.) Diels (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Angelica polymorpha var. sinensis Oliv., Angelica sinensis var. sinensis) จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)[1],[3]

สมุนไพรตังกุย หรือ โสมตังกุย (ชื่อจีนตัวย่อ : 当归, ชื่อจีนตัวเต็ม : 當歸) มีชื่อเรียกเป็นภาษาไทยว่า “โกฐเชียง” (จีนกลางและจีนแต้จิ๋ว เรียก “ตังกุย“)[1],[4],[8]

ลักษณะของตังกุย

  • ต้นตังกุย จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีความสูงได้ประมาณ 40-100 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง มีร่องเล็กน้อย เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง ส่วนของเหง้าหรือรากที่อยู่ใต้ดินนั้นมีขนาดใหญ่ ลักษณะอวบหนาเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก ผิวเปลือกรากภายนอกเป็นสีน้ำตาล เนื้อในนิ่ม[1],[8] ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในบริเวณส่วนของโลกที่อยู่ในระหว่างเขตหนาวกับเขตร้อน ชอบดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ อุ้มน้ำได้ดี และมีความชื้นสูง ต้องการที่ร่มรำไร ชอบอากาศเย็นชื้น โดยเฉพาะในบริเวณที่อยู่ใกล้ทางน้ำไหล ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000-9,000 เมตร มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 ปี พืชชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคกลางของประเทศจีน มักขึ้นตามป่าดิบเขา ในปัจจุบันนิยมปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม และในประเทศจีน โดยเฉพาะในป่าดิบตามภูเขาสูงของมณฑลเสฉวน ไต้หวัน ส่านซี กุ้ยโจว เหอเป่ย และมณฑลยูนนาน[3],[8]

ต้นตังกุย

  • ใบตังกุย ใบเป็นใบเดี่ยว หยักลึกแบบขนนก 2-3 ชั้น ลักษณะเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 25 เซนติเมตร และยาวประมาณ 30 เซนติเมตร แฉกใบมีก้านเห็นได้ชัดเจน มักแยกเป็นแฉกย่อย 2-3 แฉก ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยไม่สม่ำเสมอ มีก้านใบยาวประมาณ 5-20 เซนติเมตร โคนแผ่เป็นครีบแคบ ๆ สีเขียวอมม่วง[8]

ใบตังกุย

  • ดอกตังกุย ออกดอกเป็นช่อบริเวณยอดของลำต้นหรือตามง่ามใบ ช่อดอกมีลักษณะเป็นช่อแบบซี่ร่มเชิงประกอบ มีช่อย่อยขนาดไม่เท่ากันประมาณ 10-30 ช่อย่อย ก้านช่อดอกนั้นยาวประมาณ 8-10 เซนติเมตร ใบประดับมีไม่เกิน 2 ใบ ดอกเป็นสีขาวหรือเป็นสีแดงอมม่วง ในแต่ละก้านจะมีดอกย่อยประมาณ 13-15 ดอก ส่วนกลีบดอกนั้นมี 5 กลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม[8]

ต้นโสมตังกุย

ดอกตังกุย

  • ผลตังกุย ผลเป็นแบบผลแห้งแยก มีขนาดกว้างประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร สันด้านล่างหนาแคบ ด้านข้างมีปีกบาง ขนาดกว้างเท่ากับความกว้างของผล และมีท่อน้ำมันตามร่อง ติดผลในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน[8]

ผลตังกุย

  • รางตังกุย รากสดมีลักษณะอวบเป็นรูปทรงกระบอก แยกเป็นรากแขนงหลายราก โดยรากนั้นจะแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนหัว ส่วนราก และส่วนรากแขนง ส่วนของรากแห้งเป็นรูปแกมทรงกระบอก ปลายแยกออกเป็นแขนง 3-5 แขนง หรือมากกว่านั้น โดยมีความยาวประมาณ 15-25 เซนติเมตร ผิวด้านนอกนั้นเป็นสีน้ำตาลอมเหลืองถึงสีน้ำตาล รากมีรอยย่นเป็นแนวตามยาว รอยช่องอากาศตามแนวขวาง ผิวไม่เรียบ และมีรอยควั่นเป็นวง ๆ มีขนาดประมาณ 6-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร และมีรอยแผลเป็นของใบปรากฏอยู่ตอนบน ซึ่งโกฐเชียงในตำรายาไทยนั้นจะหมายถึง ส่วนของรากแขนง โดยรากแขนงแห้งนั้นจะเป็นสีน้ำตาลแกมเทาจาง ๆ มีลักษณะเป็นเส้นยาว มีรอยควั่นเป็นวง ๆ รากแขนงนั้นมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 เซนติเมตร และยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร ตอนบนหนา ส่วนตอนล่างเรียวเล็ก ส่วนมากจะบิด เนื้อจะเหนียว รอยหักสั้นและนิ่ม รอยหักของเหง้าแสดงว่ามีผิวหนามากเกือบถึงครึ่งเหง้า มีต่อมน้ำยางสีน้ำตาลหรือสีเหลืองแกมแดงออกเป็นแนวรัศมีจากกลางเหง้า ส่วนที่เป็นเนื้อสีเหลืองนั้นจะมีรูพรุน แกนเป็นสีขาว มีกลิ่นหอมแรงเฉพาะ ฉุน มีรสหวานอมขม และเผ็ดเล็กน้อย[3]

รูปโสมตังกุย

โสมตังกุย

ตังกุย

หมายเหตุ : ตังกุย หรือ โกฐเชียง จะมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด เช่น ของจีน (Angelica sinensis (Oliv.) Diels), ของญี่ปุ่น เรียก ตังกุยญี่ปุ่น หรือ โกฐเชียงญี่ปุ่น (Angelica acutiloba (Siebold & Zucc.) Kitag.) มีสรรพคุณทางยาอ่อนกว่าของจีน คนญี่ปุ่นนิยมบริโภคต้นสด, ของอินเดีย (Angelica glauca Edgew.) ที่ชาวอินเดียนิยมใช้เป็นยาบำรุงกำลังของสตรีที่เรียกว่า “โจรากา” (Choraka), ของยุโรป (Levisticum officinale W.D.J.Koch) ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาใช้แทนกันได้ เพียงแต่ตังกุยของทางยุโรปนั้นจะมีสารสำคัญบางตัวน้อยกว่าตังกุยของมณฑลเสฉวน ประเทศจีน[1],[8]

สรรพคุณของตังกุย

  1. เหง้าตังกุยมีรสเผ็ดหวาน เป็นยาร้อนเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ตับ และม้าม ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต ฟอกเลือด รักษาโรคโลหิตจาง ปริมาณเลือดมีน้อย สีเลือดจางอ่อน เนื่องจากตังกุยนั้นอุดมไปด้วยวิตามินบี 12 ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเลือด จึงช่วยรักษาภาวะเลือดพร่อง สีหน้าซีดขาวหรือซีดเหลือง เล็บและริมฝีปากซีด สีลิ้นซีด ช่วยเพิ่มความเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวลและทำให้ผิวพรรณดี นอกจากนี้ยังช่วยกระจายโลหิต กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกายให้ดีขึ้น ทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก และช่วยสลายเลือดคั่ง[1],[2],[3],[4],[5] โดยรากแก้วจะช่วยบำรุงเลือดดี ส่วนรากฝอยจะมีฤทธิ์สลายเลือดคั่ง จึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับอาการ[4]
  2. ตังกุยเป็นสมุนไพรที่ช่วยบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการปวดเมื่อย บำรุงสมอง ตับ ต่อมน้ำเหลือง และช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจได้ (ใช้ได้ดีทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย โดยเฉพาะการมุ่งหวังเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย)[5],[7]
  3. ตังกุยหรือโกฐเชียงมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ใจสั่น นอนไม่หลับ หลงลืมง่าย มือเท้าเย็นและชา[1],[4]
  1. ใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ไอ[2],[3],[8]
  2. ช่วยแก้อาการสะอึก แก้หอบหืด แก้เสียดแทงสองราวข้าง[3],[7],[8]
  3. ใช้เป็นยาขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ[2],[3]
  4. ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้ลำไส้ ช่วยในการขับถ่าย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูก ถ่ายแข็ง เนื่องจากเลือดพร่องจนทำให้ลำไส้ขาดความชุ่มชื้น[4]
  5. ใช้เป็นยาแก้ท้องผูก แก้บิด ถ่ายเป็นเลือด ตกมูกเลือด[1],[3]
  6. ใช้รักษาอาการปวดท้อง ปวดข้อ อาการปวดหลังการผ่าตัด[3] อาการปวดท้องในภาวะเย็นพร่อง ปวดท้องแบบชอบความร้อน ขี้หนาว[4]
  7. ใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือน ลดอาการปวดท้องประจำเดือนซึ่งเกิดจากการหดตัวของมดลูก ใช้รักษาอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) ช่วยควบคุมรอบเดือนให้เป็นปกติ แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนมาช้า และช่วยให้ผู้หญิงมีรอบเดือนกลับเป็นปกติหลังจากหยุดรับประทานยาคุมกำเนิด รักษาภาวะเลือดพร่องและเลือดคั่ง ประจำเดือนเป็นลิ่มเลือด รักษาความผิดปกติของประจำเดือน ช่วยบรรเทาอาการร้อนวูบวาบในหญิงวัยทอง รวมไปถึงอาการช่องคลอดแห้งและภาวะซึมเศร้า ช่วยเสริมฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิง (และฮอร์โมนเพศชาย) ทำให้ร่างกายใช้ฮอร์โมนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตังกุยจึงเป็นทางเลือกจากธรรมชาติของการให้ฮอร์โมนเพศหญิงทดแทน อีกทั้งตังกุยยังมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกได้เป็นอย่างดี (เพิ่มการบีบตัวของมดลูก) จึงนิยมนำมาใช้เป็นยาช่วยในการขับน้ำคาวปลา และช่วยทำให้มดลูกเข้าอู่ได้ดีและเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยแก้ซีสต์ในมดลูกหรือรังไข่ แก้สตรีตกเลือด และมีอาการอ่อนเพลียได้อีกด้วย[1],[3],[4],[5],[6] ส่วนตำรับยาแก้ประจำเดือนมาไม่ปกติของจีนนั้นจะใช้ตังกุยหรือโกฐเชียง 10 กรัม, เส็กตี่ 10 กรัม, โกฐหัวบัว 7 กรัม, แปะเจียก 7 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ถ้ามีอาการปวดประจำเดือนให้เพิ่มหัวแห้วหมู 7 กรัม และโกฐจุฬาลำพาอีก 5 กรัม รวมกันต้มกับน้ำรับประทาน[1]
  8. สตรีจีนนิยมใช้โกฐเชียงเป็นยากระตุ้นอวัยวะเพศหรือกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ เพื่อให้ปรนนิบัติสามีได้ดีและเพื่อให้มีลูกดก[3]
  9. ใช้เป็นยารักษาตับอักเสบเรื้อรัง[3]
  10. ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บจากการชกต่อย จนเกิดรอยฟกช้ำ หรืออาการปวดจากฝีหนอง ขาเบาหวานเน่าเปื่อย[1],[4]
  11. ชาวจีนจะนิยมใช้โกฐเชียงหรือตังกุยมาก โดยรากส่วนบน จีนจะเรียก “ตังกุยเท้า” ซึ่งนำมาใช้เป็นยาบำรุงกำลัง ส่วนรากแขนงจะเรียกว่า “ตังกุยบ๊วย” ซึ่งแพทย์แผนจีนจะใช้กับโรคสตรี เช่น ปวดเอว ปวดประจำเดือน ขับระดูของสตรี ปรับประจำเดือนให้เป็นปกติ แก้ประจำเดือนผิดปกติ ภาวะขาดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบ อาการท้องผูกของสตรีมีครรภ์ แก้รกตีขึ้น แก้ไข้บนกระดานไฟ ปรับการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ เป็นยาบำรุงโลหิต นอกจากนี้ยังใช้รักษาเกี่ยวกับอาการเลือดออกทุกชนิด ใช้ในภาวะขาดน้ำ ความผิดปกติของเส้นประสาท[3],[8]
  12. ในบัญชียาจากสมุนไพร ตามประกาศของคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา (ฉบับที่ 5) มีปรากฏการใช้โกฐเชียงหรือตังกุยในยารักษาอาการโรคในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย คือ ยารักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิตหรือยาแก้ลม มีปรากฏในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง, ในยารักษากลุ่มอาการทางระบบอาหาร ที่มีปรากฏในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งเป็นตำรับยาบรรเทาอาการท้องอืดเฟ้อ อาการอุจจาระธาตุพิการ ช่วยแก้ท้องเสียชนิดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ[3]
  13. โกฐเชียงหรือตังกุยเป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ในตำรับยาแผนโบราณของไทยหลายตำรับ โดยได้มีการนำมาใช้ในเครื่องยาไทยที่เรียกว่า “พิกัดโกฐ” ซึ่งมีสรรพคุณโดยรวมคือเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ร่วมกับมีเสมหะ แก้หืดไอ แก้หอบ แก้ลมในกองธาตุ ช่วยขับลม แก้สะอึก เป็นยาชูกำลัง บำรุงโลหิต และบำรุงกระดูก โกฐเชียงนั้นจะจัดอยู่ใน “พิกัดโกฐทั้ง 5“, “พิกัดโกฐทั้ง 7“, “พิกัดโกฐทั้ง 9” และ “พิกัดโกฐพิเศษ[3],[7]
  14. นอกจากนี้โกฐเชียงยังมีปรากฏในตำรับยาพระโอสถพระนารายณ์ ในตำรับ “ยาทรงนัตถุ์” ที่ประกอบไปด้วยสมุนไพร 15 ชนิด รวมทั้งโกฐเชียงด้วย โดยเป็นการนำตัวยาทั้งหมดมาบดให้เป็นผงละเอียดรวมกัน ใช้สำหรับนัตถุ์ ใช้ดม แก้อาการปวดศีรษะ วิงเวียน แก้สลบ แก้ริดสีดวงจมูก คอ และตา[3]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ครั้งละ 6-15 กรัม โดยนำมาต้มกับน้ำรับประทาน ใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หรือใช้เป็นอาหาร ตุ๋นกับเนื้อสัตว์ หรือต้มกับข้าวทำเป็นโจ๊กก็ได้ เช่น ตังกุยกับขิงสดตุ๋นกับเนื้อแกะ (เป็นสูตรของปรมาจารย์แพทย์จีนจางจ้งจิ่ง มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือด อุ่นกระเพาะอาหาร ขับความเย็น แก้ปวด รักษาภาวะอ่อนเพลีย อาการปวดท้อง สตรีหลังคลอดที่มีอาการปวดท้องจากเลือดพร่องและเย็น ซึ่งมีลักษณะปวดเกร็ง ชอบกด ชอบความร้อน)[1],[4] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ถ้าเป็นยาผงหรือสารสกัดของเหลวให้ใช้ในขนาดวันละ 4.5-9 กรัม หรือ 6-12 กรัม[3]

ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ในสตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีระบบขับถ่ายไม่ดี ท้องเสียบ่อย ร้อนใน หรือเคยอาเจียนเป็นเลือด และไม่ควรรับประทานหากมีประจำเดือนมามาก นอกจากจะได้รับคำแนะนำให้รับประทานจากแพทย์แผนตะวันออกที่มีความรู้ในด้านโภชนาการ[5],[6]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตังกุย

  • สารที่พบในตังกุย ได้แก่ น้ำมันระเหยที่มีประมาณ 0.2-0.4% ซึ่งมีสารสำคัญ คือ N-Butylidene Phthalide, N-Velerophenone-O-Earboxylic acid, Carrvacrol นอกจากนี้ยังพบสาร Ligustilide, Vitamin A, Vitamin B12, Vitamin E อีกทั้งยังพบน้ำตาล กลูโคส เป็นต้น[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารที่พบมีน้ำมันระเหยง่ายอยู่ประมาณ 0.4-0.7% สารหลักคือ alkylphthalides ในน้ำมันระเหยง่ายมี safrole, isosalfrole, carvacrol เป็นต้น นอกจากน้ำมันระเหยง่ายแล้วยังมีสารอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น ligustilide, ferulic acid, n-valerophenone-o-carboxylic acid นอกจากนี้ยังพบสารกลุ่มเทอร์ปีนอยด์ ฟีนิลโพรพานอยด์ คูมาริน โพลีอะเซทิลีน[3]
  • ตังกุยหรือโกฐเชียงนั้นมีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และมดลูก มีฤทธิ์ปกป้องตับ ปกป้องสมองและไขสันหลัง ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เพิ่มการไหลเวียนของเลือด มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านเนื้องอก ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ต้านความเป็นพิษต่อตับ และต้านการอักเสบ ช่วยลดความกังวล รักษาโรคหอบหืด กระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก ป้องกันการถูกทำลายโดยรังสี และมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน[3],[5],[7],[8] นอกจากที่กล่าวมายังมีรายงานการวิจัยถึงคุณสมบัติของตังกุยที่น่าสนใจไว้อีกมากมาย เช่น สารสกัดจากตังกุยสามารถต้านการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดได้ จึงใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง เช่น แก้อาการคัน ใช้เป็นยาแก้ปวด แก้หอบหืด ต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือดหรือต้านการเกิดลิ่มในหลอดเลือด มีฤทธิ์ขยายเส้นเลือด ป้องกันโรคไขมันอุดตันในเส้นเลือด โดยลดการดูดซึมของคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น[5],[8]
  • ตังกุยมีฤทธิ์ในการกระตุ้นและระงับการทำงานมดลูกไม่ว่าจะในสัตว์หรือคน โดยส่วนที่เป็นน้ำมันระเหยนั้นจะมีฤทธิ์ระงับการทำงานของมดลูก และส่วนที่ละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ (ซึ่งเป็นสารไม่ระเหย) จะมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของมดลูกให้บิดตัวเป็นจังหวะ[1]
  • มีรายงานการทดลองที่พบว่าสารสกัดจากโสมตังกุยนั้นมีคุณสมบัติทำให้กล้ามเนื้อของมดลูกคลายตัวได้ แต่สำหรับในเชิงเภสัชวิทยาจะเกิดผลใน 2 กรณี คือ เมื่ออยู่ในภาวะตั้งครรภ์ สารสกัดจากรากตังกุยจะมีผลลดการบีบตัวของมดลูก และมีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณมดลูกมากขึ้นโดยการขยายหลอดเลือด ผลที่ได้ก็คือช่วยลดโอกาสในการแท้งบุตรได้ และอีกกรณีก็คือ สำหรับสตรีทั่วไป ตังกุยนั้นจะมีผลต่อระบบประจำเดือน คือช่วยแก้ปวดประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ฯลฯ สำหรับการรักษาอาการหลังหมดประจำเดือน ก็มีการทดลองใช้ตังกุยร่วมกับตัวยาอื่น ๆ อีก 5 ชนิด ก็พบว่าส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น คือ อาการร้อนวูบ มึนงง ตาพร่า และอาการไม่สบายในช่องท้องจะลดลงไปประมาณ 70%[5]
  • จากการทดสอบผลต้านการอักเสบและลดบวม พบว่าสารจากตังกุยสามารถขัดขวางการเกิด 5-hydroxytryptamine (5-HT) และลดการส่งผ่านสารทางผนังเซลล์หัวใจและผนังหลอดเลือดได้ โดยการทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งมีผลต่อการเต้นของหัวใจ ทำให้ความดันล่างสูงขึ้น[5]
  • สัตว์ที่ได้รับสารสกัดจากรากตังกุยจะมีขนาดและน้ำหนักของตับและม้ามที่เพิ่มขึ้น จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาวชนิด Macrophage ในการทำลายสิ่งแปลกปลอมในร่างกายได้ดีขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของตับ จึงส่งผลถึงการสร้างระบบภูมิต้านทานของร่างกายที่ดีขึ้นด้วย[5]
  • สารสกัดจากตังกุยมีฤทธิ์ยับยั้งการรวมตัวของเกล็ดเลือดและการปล่อยสาร Serotonin ในหนูขาว หรือเมื่อฉีดสารสกัดเข้าหลอดเลือดดำของสุนัข ในขนาดเทียบเท่าผงยา 10 กรัมต่อกิโลกรัม ก็พบว่ามีฤทธิ์กระตุ้นการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ และมดลูก นอกจากนี้ยังพบว่าสาร polysaccharides มีฤทธิ์กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดได้ด้วย[5]
  • เมื่อให้สารสกัดตังกุยครั้งละ 5 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันนาน 1 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือน ช่วยขับประจำเดือน มีฤทธิ์กระตุ้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูก ลดความหนืดของเลือดในสตรี และพบว่าเมื่อฉีดสารสกัดน้ำเข้าหลอดเลือดดำในผู้ป่วยจำนวน 40 ราย ในขนาด 240 มิลลิลิตรต่อคนต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 30 วัน ก็ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ[5]
  • จากการใช้ตังกุยเพื่อแก้อาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือน หรือแก้มดลูกเติบโตไม่สมบูรณ์ โดยใช้ตังกุย 20 กรัม, ดอกคำฝอย 10 กรัม โดยแยกกันแช่ยาทั้งสองในแอลกอฮอล์ 50% อย่างละ 50 ซีซี แล้วแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน จึงกรองเอาแต่แอลกอฮอล์ออกมาเทรวมกัน คนให้เข้ากันและเติมแอลกอฮอล์ 50% ลงไปอีก 100 ซีซี ดื่มยาวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ครั้งละ 3 ซีซี ระหว่างมีประจำเดือนให้หยุดยา จากการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวจำนวน 54 ราย พบว่าได้ผลถึง 47 ราย และมีเพียง 7 รายเท่านั้นที่ไม่ได้ผล[1]

ประโยชน์ของตังกุย

  • ใบและลำต้นของตังกุยสามารถนำมาผัดหรือทำเป็นต้มจืดได้[7]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “โกฐเชียง”.  หน้า 106.
  2. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “โกฐเชียง Lovage”.  หน้า 217.
  3. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “โกฐเชียง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com.  [10 มิ.ย. 2015].
  4. คณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ.  (อาจารย์โสรัจ นิโรธสมาบัติ แพทย์แผนจีน).  “ตังกุย สุดยอดสมุนไพรบำรุงเลือด”.
  5. กรีนคลินิก.  (พญ.สุภาณี ศุกระฤกษ์ อายุรแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง).  “ตังกุย”, “ตังกุย (Dong quai)“.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.greenclinic.in.th.  [10 มิ.ย. 2015].
  6. หนังสือวิตามินไบเบิล.  (ดร.เอิร์ล มินเดลล์).  “ตังกุย (Dong quai)”.  หน้า 246.
  7. ศูนย์เครือข่ายข้อมูลอาหารครบวงจร.  “Dong quai / ตังกุย”.  (ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.foodnetworksolution.com.  [10 มิ.ย. 2015].
  8. บทที่ 3 ศักยภาพการปลูกพืชสมุนไพรจีนในประเทศไทย.  (สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร).  “โกฐเชียง”.  หน้า 47-50.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mattinata09, Đức Trọng Nghiêm), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด