ตะแบก
ตะแบก ชื่อวิทยาศาสตร์ Lagerstroemia calyculata Kurz จัดอยู่ในวงศ์ตะแบก (LYTHRACEAE)[2]
สมุนไพรตะแบก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า แลนไห้ (เชียงใหม่), ตะแบกขาวใหญ่ (ปราจีนบุรี), ตะแบกใหญ่ (ราชบุรี, นครราชสีมา), เปลือยดง (นครราชสีมา), ตะแบกหนัง (จันทบุรี), เปลือย (สุโขทัย, พิษณุโลก), ตะแบกแดง (ประจวบคีรีขันธ์), อ้าย (สุราษฎร์ธานี), ป๋วย เปื๋อย เปื๋อยขาว เปื๋อยตุ้ย เปื๋อยค่าง เปื๋อยน้ำ เปื๋อยลั้วะ เปื๋อยเปลือกหนา (ภาคเหนือ), เปือย (ลานช้าง), ตะแบก ตะแบกใหญ่ ตะแบกหนัง (ภาคกลาง), กะแบก (ไทย), ตะคู้ฮก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), บองอยาม (มาเลเซีย-ปัตตานี) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของตะแบก
- ต้นตะแบก จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นกึ่งผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงได้ประมาณ 15-35 เมตร เรือนยอดเป็นรูปเจดีย์ต่ำ ๆ แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น เปลือกลำต้นเกลี้ยงเป็นสีเทาอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเทา มีรอยขรุขระเป็นหลุมตื้น ๆ เกิดจากสะเก็ดแผ่นบาง ๆ ของเปลือกที่หลุดร่วงไป ดูคล้ายกับเปลือกต้นฝรั่ง แต่จะมีจุดด่างขาว ๆ อยู่ตามลำต้น ทางตอนบนของลำต้นจะค่อนข้างเรียบ ส่วนเปลือกชั้นในเป็นสีชมพูอมม่วง ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สลับกับชั้นลายเส้นสีขาว โคนต้นเป็นพูพอนชัดเจน ตรงส่วนที่เป็นพูพอนมักจะกลวงขึ้นไปประมาณ 3-5 เมตรจากผิวดิน ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลสาก ๆ ขึ้นหนาแน่น เนื้อไม้มีความแข็งประมาณ 628 กก. ความถ่วงจำเพาะประมาณ 0.68 ความแข็งแรงประมาณ 1,219 กก./ตร.ซม. ความเหนียวประมาณ 2.89-กก.-ม. ความดื้อประมาณ 112,700 กก.ตร.ซม. และมีความทนทานตามธรรมชาติ ตั้งแต่ 3-17 ปี เฉลี่ยประมาณ 9.4 ปี อาบน้ำยาไม้ได้ยากมาก (ชั้นที่ 5) ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด พบขึ้นในป่าราบ ป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณชื้นและแล้งทั่วไปทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-400 เมตร พบได้มากที่ป่ายุบศรีราชา (ต้นตะแบกที่ขึ้นในป่าดงดิบจะไม่ผลัดใบ)[1],[2]
- ใบตะแบก ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน บางทีออกเรียงเกือบตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก เห็นตาง่ามชัดเจน ใบมีขนาดเล็กกว่าใบอินทนิลน้ำ (ขนาด 2 ใน 3 ส่วน) ปลายใบทู่ โคนใบทู่หรือกลม ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว หลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลสาก ๆ ขึ้นหนาแน่น ตะแบกเป็นไม้กึ่งผลัดใบ ซึ่งจะผลัดใบหรือไม่ผลัดใบก็ได้ แต่ถ้าผลัดใบก็จะผลัดใบในช่วงประมาณเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม และจะแตกใบใหม่ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม[1],[2]
- ดอกตะแบก ออกดอกเป็นช่อแบบเป็นกลุ่มย่อย ออกเป็นช่อโต ๆ ตามปลายกิ่ง ตามส่วนต่าง ๆ จะมีขนสาก ๆ ขึ้นทั่วไป ดอกจะมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอก 6 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ โคนกลีบติดกับผนังด้านในของถ้วยกลีบเลี้ยง โคนกลีบดอกแคบ ส่วนปลายกลีบจะเป็นแผ่นกลม ๆ สีขาวหรือสีม่วงอมชมพูอ่อน ๆ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 6 แฉก (เรียกว่า “ถ้วยกลีบเลี้ยง”) มีขนสีสนิมขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ขนาดไล่เลี่ยกัน ออกดอกในช่วงฤดูร้อนระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เวลาดอกบานต้นทั้งต้นจะมีอยู่ 2 สี ดูสวยงามมาก[1],[2]
- ผลตะแบก เมื่อดอกร่วงจะติดผล ผลตะแบกจะเป็นผลแห้งที่เมื่อแก่แล้วจะแห้งแตกออกเป็น 6 แฉก ถ้วยกลีบเลี้ยงจะหุ้มโคนของผลเช่นเดียวกับอินทนิลน้ำและอินทนิลบก ผลมีขนาดเล็ก ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลแก่เป็นสีน้ำตาล แข็ง เมื่อแก่จะแตก ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก มีปีก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลตะแบกจะเริ่มแก่ในช่วงประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม เมล็ดจะร่วงหล่นเมื่อเปลือกผลแตกและอ้า[1],[2]
- ขอนดอก เป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลที่มีราลง เนื้อไม้จะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้มประขาว มองเห็นเป็นจุดสีขาวกระจายทั่วไป ภายในผุเป็นโพรงเล็ก ๆ และมีกลิ่นหอม รสจืด ขอนดอกอาจจะเป็นเนื้อไม้ที่ได้จากต้นตะแบกหรือต้นพิกุลก็ได้ที่มีอายุมาก ๆ ยอดหักเป็นโพรง มักมีเชื้อราเข้าไปเจริญในเนื้อไม้และไม้ยืนต้นตาย เนื้อไม้จึงเหมือนไม้ผุ[3]
สรรพคุณของตะแบก
- เปลือกมีสรรพคุณเป็นยาแก้ลงแดง (เปลือก)[1]
- เปลือกใช้ปรุงเป็นยาแก้บิด และมูกเลือด (เปลือก)[1]
- ขอนดอกมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ บำรุงทารกครรภ์ (ขอนดอก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ขอนดอก)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ไข้ร้อนเพื่อตรีโทษ แก้เหงื่อ แก้เสมหะ (ขอนดอก)[3]
- ในบัญชียาจากสมุนไพร มีปรากฏการใช้ขอนดอกในกลุ่มยารักษาอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต (แก้ลม) ซึ่งมีส่วนประกอบของขอนดอก ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ ได้แก่ ตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” ที่มีสรรพคุณเป็นยาแก้ลมกองละเอียด (อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น) และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ที่มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ แก้ลมปลายไข้ (อาการหลังจากการฟื้นไข้แล้วยังมีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน เบื่ออาหาร ท้องอืด อ่อนเพลีย) (ขอนดอก)[3]
- ตำราพระโอสถพระนารายณ์มีปรากฏการใช้ขอนดอกร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีก 15 ชนิด อย่างละเท่ากัน นำมาบดให้ละเอียด ทำเป็นแท่ง ใช้น้ำดอกไม้เป็นกระสายยา เมื่อจะใช้ก็ละลายน้ำซาวข้าวหรือน้ำดอกไม้ก็ได้ ใส่พิมเสนลงไปเล็กน้อย ใช้ชโลมตัวเป็นยาแก้ไข้ (ขอนดอก)[3]
ประโยชน์ของตะแบก
- ไม้ตะแบกเป็นไม้ที่มีคุณค่าชนิดหนึ่งของไทย เนื้อไม้มีลักษณะเป็นสีเทาถึงสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนไม้ตรงหรือเกือบตรง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง เป็นมัน แข็ง เหนียว แข็งแรง เลื่อยไสกบ ตกแต่งได้ง่าย ขัดชักเงาได้ดี จึงมีการนำมาใช้ประโยชน์กันมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก ๆ เช่น รอด ตอ กาน เครื่องบน ไม้ปาร์เกต์ ใช้ในงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เรือ แพ เกวียน แจว เครื่องมือกสิกรรม ฯลฯ ส่วนไม้ตะแบกชนิดลายจะนิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือน ด้ามหอก ด้ามมีด พานท้ายปืน คิวบิลเลียด ด้ามปากกา ด้ามร่ม ไม้ถือ กรอบรูปภาพ สันแปรง ไม้บุผนังที่สวยงาม มีลักษณะเหมือนไม้เสลา สามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้ดี[2]
- นอกจากนี้เนื้อไม้ยังสามารถนำมาใช้ทำเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี คือ ถ้านำมาถ่ายเป็นถ่านและฟืนจะให้ค่าความร้อนถึง 7,524 และ 4,556 แคลอรีต่อกรัม (คำนวณจากตัวอย่างแห้ง)[2]
- มีการนำต้นตะแบกมาปลูกเป็นไม้ประดับในรูปสวนป่าน้อย ปัจจุบันนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับทั่วกันอย่างแพร่หลาย[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ตะแบก”. หน้า 310-311.
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะแบกแดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/pattani_botany/. [20 ธ.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ขอนดอก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thaicrudedrug.com. [20 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.sppk.ac.th, www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)