ต้นตะเคียน
ตะเคียนทอง ชื่อสามัญ Iron wood, Malabar iron wood, Takian, Thingan, Sace, Takian
ตะเคียนทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)[1],[3],[5]
สมุนไพรตะเคียนทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), จะเคียน (ภาคเหนือ), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ไพร (ละว้า เชียงใหม่), กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่), จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี), จืองา (มลายู-นราธิวาส) (บางข้อมูลระบุมีชื่ออื่นว่า กากี้, เคียน) เป็นต้น[1],[3],[5]
ลักษณะของต้นตะเคียน
- ต้นตะเคียนทอง จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง มีความสูงของต้นประมาณ 20-40 เมตร วัดรอบได้ถึงหรือกว่า 300 เซนติเมตร ลักษณะของเรือนยอดเป็นทรงพุ่มทึบ กลม หรือเป็นรูปเจดีย์แบบต่ำ ๆ เปลือกต้นหนาเป็นสีน้ำตาลดำ แตกเป็นสะเก็ด กะพื้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน ส่วนแก่นไม้ตะเคียนเป็นสีน้ำตาลแดง ลักษณะของไม้ตะเคียน เนื้อไม้เป็นสีเหลืองหม่นหรือสีน้ำตาลอมสีเหลือง มักมีเส้นสีขาวหรือเทาขาวผ่านเสมอ ซึ่งเป็นท่อน้ำมันหรือยาง เนื้อไม้มีความละเอียดปานกลาง เสี้ยนมักสน ไม้แข็ง เหนียว ทนทาน และเด้งตัวได้มาก นิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการผลิตกล้าจากเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีที่ระดับความสูงประมาณ 130-300 เมตร และเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์และรายน้ำได้ดี มีเขตการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติทางตอนใต้และทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชียในแถบประเทศไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย โดยเป็นไม้ในป่าดงดิบที่มักขึ้นเป็นหมู่กระจัดกระจายอยู่ตามที่ราบ หรือในที่ค่อนข้างราบใกล้ฝั่งแม่น้ำ[1] ตามป่าดิบใกล้ลำธาร ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร[1],[2],[3],[6]
- ใบตะเคียนทอง ใบเป็นใบเดี่ยว ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปดาบ ปลายใบเรียว ส่วนโคนใบมนป้านและเบี้ยว ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร แผ่นใบบางแต่ค่อนข้างเหนียว หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบมีตุ่มหูดหรือตุ่มดอมเมเซียเกลี้ยง ๆ อยู่ตามง่ามแขนงของใบ ใบมีเส้นแขนงใบประมาณ 9-13 คู่ ปลายโค้งแต่ไม่จรดกัน เชื่อมใบย่อยเชื่อมกันเป็นขั้นบันได ส่วนหูใบมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม[1],[3],[8]
- ดอกตะเคียนทอง ออกดอกเป็นช่อยาวแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งและตามง่ามใบ มีดอกย่อยอยู่ช่อละประมาณ 40-50 ดอก ช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองแกมสีน้ำตาลขนาดเล็ก มีกลิ่นหอมและมีขนนุ่ม ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่กลีบดอกจะบิดเป็นกงจักร มีขนาดของดอกประมาณ 0.3-1 เซนติเมตร กลีบดอก 3-5 มิลลิเมตร ปลายกลีบดอกหยัก ส่วนล่างกลีบบิดและเชื่อมติดกัน ดอกมีเกสรตัวผู้ 15 อัน อับเรณูมียอดแหลม ส่วนเกสรตัวเมียมีรังไข่เหนือวงกลีบ ลักษณะเรียวเล็ก มีความยาวเท่ากับรังไข่ เมื่อหลุดจะร่วงทั้งชั้นรวมทั้งเกสรตัวผู้ติดไปด้วย และดอกยังมีกลีบเลี้ยงขนาดเล็ก 5 กลีบ โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม แต่จะไม่ออกดอกทุกปี และช่วงที่ดอกออกมากจะมีประมาณ 3-5 ครั้งต่อปี[1],[8]
- ผลตะเคียนทอง ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลเป็นสีเขียวอ่อน เมื่อสุกจะเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลมีลักษณะกลมหรือเป็นรูปไข่เกลี้ยง ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.6 เซนติเมตร (มีขนาดไม่เกิน 1 เซนติเมตร) ปลายมนเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม มีปีกยาว 1 คู่ ลักษณะเป็นรูปใบพาย ยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร ปลายปีกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร และค่อย ๆ เรียวสอบมาทางด้านโคนปีก เส้นปีกตามยาวประมาณ 9-11 เส้น และยังมีปีกสั้นอีก 3 ปีกซ้อนกัน มีความยาวไม่เกินความยาวของตัวผลหรือยาวน้อยกว่า 0.5 เซนติเมตร ปีกจะซ้อนกันอยู่ แต่จะหุ้มส่วนกลางผลไม่มิด โดยในหนึ่งผลจะมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะค่อนข้างกลมสีน้ำตาล โดยปลีกเหล่านี้จะมีหน้าที่ห่อหุ้มผลและสามารถพาผลให้ปลิวไปตามลมได้ไกลออกไปจากต้นแม่ และจะเป็นผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[3],[8]
สรรพคุณของตะเคียนทอง
- แก่นมีรสขมอมหวาน ช่วยแก้โลหิตและกำเดา (แก่น)[3],[4],[7],[8]
- ช่วยคุมธาตุ (เนื้อไม้)[10] ปิดธาตุ (แก่น,ยาง)[10]
- ช่วยแก้ไข้สัมประชวรหรือไข้ที่เกิดมาจากหลายสาเหตุ และมักมีอาการแสดงที่ตา เช่น แดง เหลือง หรือขุ่นคล้ำ เป็นต้น (แก่น)[4],[7],[8]
- แก่นไม้ตะเคียนใช้ผสมกับยารักษาทางเลือดลม กษัย (แก่น)[1],[5]
- ช่วยแก้อาการลงแดง (เปลือกต้น)[8],[9]
- ช่วยขับเสมหะ (แก่น)[3],[4],[7],[8]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับเกลือ ใช้อมช่วยป้องกันฟันหลุดเนื่องจากกินยาเข้าปรอท (เปลือกต้น)[1],[5]
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน แก้เหงือกบวม (แก่น)[10]
- ช่วยแก้อาการเหงือกอักเสบ (เปลือกต้น)[8],[9]
- ช่วยฆ่าเชื้อโรคในปาก (เปลือกต้น)[8],[9]
- ช่วยแก้บิดมูกเลือด (เปลือกต้น)[8],[9]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (แก่น, เนื้อไม้)[10]
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ยาง)[10]
- ช่วยห้ามเลือด (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
- ใช้เป็นยาสมานแผล (เปลือกต้น)[8],[9]
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างรักษาบาดแผลเรื้อรัง (เปลือกต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการอักเสบ (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[5],[8],[9]
- ยางใช้ผสมกับน้ำใช้ทารักษาบาดแผล หรือจะทำเป็นยางแห้งบดเป็นผงใช้รักษาบาดแผล (ยาง)[1],[4],[7],[8] บ้างว่าใช้รักษาไฟไหม้และน้ำร้อนลวก (ยาง)[10]
- เปลือกเนื้อไม้มีฤทธิ์เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้ฆ่าเชื้อโรค (เปลือกต้น, เนื้อไม้)[8],[9]
- ยางจากไม้ตะเคียนเมื่อนำมาบดเป็นผง สามารถใช้เป็นยารักษาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น ใช้ทำยาหม่องเพื่อช่วยบรรเทารักษาบาดแผลหรือบริเวณที่มีอาการฟกช้ำตามร่างกาย (ยาง)[6]
- ช่วยรักษาคุดทะราด (แก่น)[3],[4],[7],[8]
- ดอกใช้เข้าในตำรับยาเกสรร้อยแปด ใช้ผสมเป็นยาทิพย์เกสร (ดอก)[1],[5]
- ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของตะเคียนทอง มีข้อมูลระบุว่ามีฤทธิ์แก้แพ้ ต้านเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์[10]
ประโยชน์ตะเคียนทอง
- ไม้ตะเคียน จัดเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศ เพราะเนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกดี เลื่อย ไสกบ ตกแต่งและชักเงาได้ดีมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน หน้าต่าง วงกบประตู ทำพื้นกระดาน ฝ้าหลังคา รั้วไม้ หีบใส่ของ ด้ามเครื่องมือกสิกรรมต่าง ๆ พานท้ายและรางปืน หรือใช้ทำสะพาน ต่อเรือ ทำเรือมาด เรือขุด เรือแคนู เสาโป๊ะ กระโดงเรือ ทำรถลาก ทำหมอนรองรางรถไฟ ตัวถังรถ กังหัน เกวียน หูกทอผ้า ทำไม้ฟืน ฯลฯ ไม้ชนิดนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในงานไม้ได้ทุกอย่างที่ต้องการความแข็งแรงทนทาน เหนียวและเด้ง[1],[2],[3]
- เปลือกต้นให้น้ำฝาดชนิด Catechol และ Pyrogallol[1]
- ชันจากไม้ตะเคียนใช้ทำน้ำมันชักเงาตบแต่งเครื่องใช้ในร่ม ใช้ผสมกับน้ำมันทาไม้ยาแนวเรือ หรือใช้ผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อใช้ในงานต่าง ๆ เช่น ใช้สำหรับทาเคลือบเรือเพื่อช่วยรักษาเนื้อไม้และป้องกันเพรียงทำลาย เป็นต้น[1],[5],[6],[8]
- ใบตะเคียนมีสารแทนนินอยู่ประมาณ 10% โดยน้ำหนักแห้ง ส่วนในเปลือกต้นก็มีสารประกอบนี้อยู่ด้วยเช่นกัน โดยคุณสมบัติของแทนนินที่ได้จากไม้ตะเคียนทองนี้ เมื่อนำมาใช้ฟอกหนังจะช่วยทำให้แผ่นหนังแข็งขึ้นกว่าเดิม จึงเหมาะกับการนำมาใช้เฉพาะงานได้เป็นอย่างดี[6]
- ใช้ปลูกตามป่าหรือตามสวนสมุนไพรเพื่อเป็นไม้บังลม เพื่อให้ร่มเงา และช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติ เพราะไม้เป็นไม้ไม่ผลัดใบพร้อมกัน จึงเป็นไม้ที่ช่วยรักษาความเขียวได้ตลอดปี ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เป็นอย่างดี[4],[5],[6]
เอกสารอ้างอิง
- สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th. [19 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [19 ม.ค. 2014].
- สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตะเคียน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [19 ม.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [19 ม.ค. 2014].
- สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/. [19 ม.ค. 2014].
- ส่วนปลูกป่าภาคเอกชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.forest.go.th. [19 ม.ค. 2014].
- อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pharmacy.mahidol.ac.th. [19 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [19 ม.ค. 2014].
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะเคียนทอง (Ta Khian Tong)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 122.
- “ตะเคียนทอง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [19 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Terentang, Teo Siyang, alantankenghoe, Chatchai Powthongchin, Vuon Hoa 03), เว็บไซต์ baanmaha.com (by หนุ่มลาวสาวขะแมร์), เว็บไซต์ phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)