ตะลุมพุก
ตะลุมพุก ชื่อวิทยาศาสตร์ Tamilnadia uliginosa (Retz.) Tirveng. & Sastre[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์Catunaregam uliginosa (Retz.) Sivar., Gardenia pomifera Wall., Gardenia uliginosa Retz., Posoqueria uliginosa (Retz.) Roxb., Randia uliginosa (Retz.) Poir., Solena uliginosa (Retz.) D.Dietr., Xeromphis uliginosa (Retz.) Maheshw.) จัดอยู่ในวงศ์เข็ม (RUBIACEAE)[1],[2],[4]
สุมนไพรตะลุมพุก มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนามแท่ง (ตาก), มะคัง (อุตรดิตถ์), ลุมพุก (ลพบุรี, นครสวรรค์, นครราชสีมา, กาญจนบุรี), มอกน้ำข้าว มะข้าว (ภาคเหนือ), ลุมปุ๊ก[2] ลุบปุ๊ก[1] (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กระลำพุก มะคังขาว (ภาคกลาง, ภาคตะวันตกเฉียงใต้, ราชบุรี, สุโขทัย), มุยขาว, โรคขาว เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นตะลุมพุก
- ต้นตะลุมพุก มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา และเวียดนาม[3] โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร ตามลำต้นและปลายกิ่งก้านมีหนามแหลมยาวที่จะพัฒนาเป็นกิ่งเล็ก โดยหนามจะออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ เป็นปมขรุขระทั่วไป กิ่งอ่อนเป็นเหลี่ยมมน เปลือกลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีเนื้อไม้เป็นสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน เนื้อมีความละเอียดและสม่ำเสมอมาก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือใช้วิธีการตอนกิ่ง มักพบขึ้นตามริมน้ำ ในป่าเบญจพรรณและตามป่าเต็งรัง[1],[2],[5] ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-800 เมตร[4] เป็นพันธุ์ป่าที่มีความทนทานต่อภาพแวดล้อม ไม่มีโรคและแมลงมารบกวน มีรูปทรงของต้นไม่แน่นอน ลำต้นไม่ตรง แต่สามารถดัดหรือตัดแต่งได้ไม่ยากนัก[3]
- ใบตะลุมพุก ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบเรียบ โคนใบสอบแหลม ส่วนขอบใบเรียบ มีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อน ผิวใบเรียบ หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบ เนื้อใบบางและฉีกขาดได้ง่าย แผ่นใบมีขนประปรายปกคลุมอยู่ด้านล่าง มีก้านใบยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร และมีหูใบขนาดเล็กอยู่ระหว่างก้านใบ[2]
- ดอกตะลุมพุก ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตามซอกใบใกล้กับปลายยอด มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปทรงกลมใหญ่ มี 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบดอกมน กลีบดอกค่อนข้างหนา ส่วนหลอดกลีบยาวกว่ากลีบดอก ส่วนเกสรเพศผู้มี 5 ก้าน อับเรณูเป็นสีเหลือง ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 ก้าน ก้านเกสรเป็นสีขาว ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็นแฉก 2 แฉก ปลายเกสรเพศเมียเป็นรูปถ้วย ยอดเกสรเพศเมียมีน้ำเมือกค่อนข้างมาก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีขาวมี 5 กลีบ โคนเชื่อมกัน ส่วนปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก[2]
- ผลตะลุมพุก ผลเป็นผลสด ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ กลมรี มีขนาดยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร เนื้อแน่น แข็ง ผิวผลเรียบ ผลสดเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส่วนปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ ภายในผลมีเมล็ดเป็นรูปทรงกลมจำนวนมาก เมล็ดมักฝ่อ[2] โดยจะติดผลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[3]
สรรพคุณของตะลุมพุก
- แก่นตะลุมพุกใช้ผสมกับแก่นตะลุมพุกแดง (มะคังแดง) น้ำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงร่างกาย (แก่น)[1],[2]
- รากและแก่นต้มกับน้ำดื่ม ช่วยบำรุงเลือด (ราก, แก่น)[2]
- ผลและรากมีรสฝาดสุขุม ช่วยแก้ท้องเสีย แก้บิดมูกเลือด (ผล, ราก)[1],[2],[4]
- ผลช่วยแก้อติสาร (อาการของการเจ็บไข้ที่เข้าขีดตายหรือโรคลงแดง) (ผล[1], [2])
- รากและแก่นนำมาต้มกับน้ำดื่ม เข้ายาแก้ปวดเมื่อย (ราก, แก่น)[2]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของต้นตะลุมพุก
- สารเคมีที่พบ ได้แก่ olean-12-en-28-oic acid, (-L-arabinopyranosyl(1-3)-)-(-D-galactopyranosyl (1-6))-(-D-galactopyranosyl (1-3))-3-(-hydroxy : methyl ester; olean-12-en-28-oic acid, (-arabinopyranosyl (1-3))-( -D-galactopyranosyl(1-4))-(-D-glucuronopynosyl (1-3)) -3-(-hydroxy: ; olean-12-en-28-oic acid, 3-(-hydroxy; methylester))[6]
ประโยชน์ของตะลุมพุก
- คนโบราณจะใช้ผลของตะลุมพุกนำมาทุบให้แหลก แล้วนำไปใช้เป็นส่วนผสมของสีย้อมผ้าทำให้สีติดทนนาน อย่างเช่น จีวรพระ[5]
- เนื้อไม้ตะลุมพุกเป็นสีขาวปนสีน้ำตาลอ่อน มีความละเอียดและสม่ำเสมอ จึงนิยมนำมาใช้ในงานแกะสลักทั่วไป[1] หรือนำมาใช้ทำเป็นเครื่องใช้สอยหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือต่าง ๆ ทำกระสวย ใช้สำหรับงานกลึง ฯลฯ[4],[5]
- ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการปลูกต้นตะลุมพุกไว้เป็นไม้ประดับ เพราะสามารถดัดหรือตัดแต่งได้ไม่ยาก ขยายพันธุ์และปลูกเลี้ยงดูแลได้ง่าย ดอกสวยและมีกลิ่นหอม เป็นพันธุ์ไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี เมื่อเจริญเติบโตจะสามารถให้ร่มเงาได้ดีเนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีใบเป็นจำนวนมาก[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ตะลุมพุก (Talum Phuk)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 127.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ตะลุกพุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [10 มี.ค. 2014].
- ฝ่ายปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ตะลุมพุก”. (นพพล เกตุประสาท). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: clgc.rdi.ku.ac.th. [10 มี.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะลุมพุก”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เล่ม 2. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [10 มี.ค. 2014].
- แมกโนเลีย ไทยแลนด์. “ตะลุกพุก”. (ririka). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.magnoliathailand.com. [10 มี.ค. 2014].
- เว็บไซต์ท่องไทยแลนด์ดอทคอม. “ตะลุกพุก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thongthailand.com. [10 มี.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dinesh_valke, Nelindah), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)