ตะบูนขาว
ตะบูนขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Xylocarpus granatum J. Koenig จัดอยู่ในวงศ์กระท้อน (MELIACEAE)[1]
สมุนไพรตะบูนขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กระบูน กระบูนขาว ตะบูน ตะบูนขาว (ภาคกลาง, ภาคใต้), หยี่เหร่ (ภาคใต้), ตะบันขาว เป็นต้น[1],[2],[3],[4] โดยสามารถพบได้ตามชายฝั่งทะเลในเขตร้อนชื้น ตั้งแต่แอฟริกา เอเชีย ไปจนถึงออสเตรเลีย[2]
ลักษณะของตะบูนขาว
- ต้นกระบูนขาว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-15 เมตร เป็นไม้ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ได้เร็ว ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้าง มีรูปร่างไม่แน่นอน เพราะลำต้นมักคดงอ ส่วนที่โคนต้นมีลักษณะเป็นพูพอน เปลือกต้นมีสีเทาหรือสีเทาอมขาว หรือเป็นสีน้ำตาลแดง เปลือกแตกล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ คล้ายกับเปลือกต้นตะแบก เป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย มักขึ้นปะปนอยู่กับพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหลายชนิด เช่น หัวสุมดอกขาว ไม้พังกา ถั่วดำตาตุ่มทะเล และไม้โกงกางใบเล็ก[1],[3]
- ใบตะบูนขาว มีใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคู่เรียงสลับกัน มีใบย่อยเรียงตรงข้ามอยู่ 2 คู่ ลักษณะเป็นรูปไข่กลับ กว้างประมาณ 4.5-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร ปลายใบมน ส่วนโคนใบเรียวสอบ แผ่นใบมีลักษณะหนาและเปราะ ส่วนขอบใบโค้งลงและเป็นคลื่นเล็กน้อย ส่วนเส้นแขนงของใบมีอยู่ข้างละ 6-9 เส้น ก้านใบสั้นมีสีน้ำตาล ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร[1]
- ดอกตะบูนขาว ดอกมีสีขาวอมเหลือง ส่งกลิ่นหอมในช่วงบ่ายถึงค่ำ ดอกออกรวมเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามซอกใบ กลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยมสั้นมี 4 กลีบ กลีบดอก 4 กลีบ เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[1]
- ผลตะบูนขาว ผลแห้งแตก ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลม ผลแข็งมีสีน้ำตาล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร หนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม ส่วนก้านผลยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร โดยตะบูนขาวและตะบูนดำจะมีร่องตามยาวของผล 4 แนว หรือแบ่งเป็น 4 พูเท่า ๆ กัน แต่ละผลมีเมล็ดประมาณ 4-17 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปเหลี่ยมโค้งนูนปลายแบบประสานเข้าเป็นรูปทรงกลม หนึ่งด้านกว้างประมาณ 6-10 เซนติเมตร จะติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกุมภาพันธ์[1],[2]
สรรพคุณของตะบูนขาว
- ใช้เป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือก, เมล็ด)[2]
- ช่วยแก้อหิวาต์ (เปลือก, ผล)[1] แก้อหิวาตกโรค (ผล)[2]
- เปลือกและเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการไอ (เปลือก, เมล็ด)[2]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก, เมล็ด)[1],[2]
- ใช้เป็นยาแก้บิด (เปลือก, เมล็ด)[1]
- เปลือกและเมล็ดใช้ต้มเพื่อใช้ชะล้างแผล (เปลือก, เมล็ด)[1]
ประโยชน์ของตะบูนขาว
- เปลือกให้น้ำฝาด ใช้สำหรับย้อมผ้า[1],[2]
- เนื้อไม้มีสีขาว สามารถนำมาใช้ทำเฟอร์นิเจอร์สำหรับตกแต่งได้[2]
เอกสารอ้างอิง
- สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ตะบูนขาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th. [15 พ.ย. 2013].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ตะบูนขาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [15 พ.ย. 2013].
- ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. “ตะบูนขาว“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.nectec.or.th. [15 พ.ย. 2013].
- ทัศนศึกษาออนไลน์. “พืชและสัตว์ที่พบในป่าชายเลน“. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: fieldtrip.ipst.ac.th. [15 พ.ย. 2013].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by dfjtees, wan_hong, wildsingapore, Russell Cumming, Ms Haremones, Shantanu98, Tony Rodd)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)