ตะขบป่า สรรพคุณและประโยชน์ของต้นตะขบป่า 36 ข้อ !

ตะขบป่า

ตะขบป่า ชื่อสามัญ Ramontchi, Governor’s plum, Batoko plum, Indian plum, East Indian plum, Flacourtia, Madagascar plum[2],[3]

ตะขบป่า ชื่อวิทยาศาสตร์ Flacourtia indica (Burm.f.) Merr.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์สนุ่น (SALICACEAE)

สมุนไพรตะขบป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หมักเบ็น (นครราชสีมา), เบนโคก (อุบลราชธานี), ตานเสี้ยน มะแกว๋นนก มะแกว๋นป่า (ภาคเหนือ), มะเกว๋น (เมี่ยน, คนเมือง), ตะเพซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), บีหล่อเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), ตุ๊ดตึ๊น (ขมุ), ลำเกว๋น (ลั้วะ), มะขบ เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของตะขบป่า

  • ต้นตะขบป่า จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงได้ประมาณ 2-15 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง ปลายกิ่งโค้งลง ตามลำต้นและกิ่งใหญ่จะมีหนามแหลม กิ่งอ่อนจะมีหนามแหลมตามซอกใบ หนามยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ส่วนกิ่งแก่ ๆ มักจะไม่มีหนาม เปลือกต้นเป็นสีเหลืองอมเทาแตกเป็นร่องลึก มีช่องอากาศรูปรีกระจายแบบห่าง ๆ พบขึ้นตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่ง ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าชายหาด ตลอดจนตามริมแม่น้ำ ชอบพื้นที่กลางแจ้ง ทนแล้งและน้ำท่วมขังได้ดี[1],[2]

ต้นตะขบป่า

เปลือกต้นตะขบป่า

  • ใบตะขบป่า ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ขนาดของใบค่อนข้างเล็ก มักเรียงชิดกันเป็นกระจุกที่ปลายกิ่ง มีรูปร่าง ขนาด เนื้อใบ และขนที่ขึ้นปกคลุมแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่แล้วแผ่นใบจะเป็นรูปไข่กลับ ปลายใบกลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบค่อนข้างเรียบหรือจัก (มักจักใกล้ปลายใบ) ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง ผิวใบเกลี้ยงถึงมีขนสั้นหนานุ่มทั้งสองด้าน ใบอ่อนและเส้นกลางใบเป็นสีแดงอมส้ม เส้นแขนงใบมีประมาณ 4-6 คู่ เส้นใบย่อยสานกันเป็นร่างแห พอเห็นได้ราง ๆ ก้านใบเป็นสีเขียวหรือแดงและมีขนยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร[1]

ใบตะขบป่า

  • ดอกตะขบป่า ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบและปลายกิ่ง มีจร ดอกย่อยมีจำนวนน้อย ดอกมีขนาดเล็กเป็นสีขาว เป็นดอกแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ที่โคนช่อมีใบประดับ บางทีมีหนาม ก้านดอกมีขน ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่ ปลายมน ยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ที่ขอบกลีบมีขนแน่น ส่วนด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยง ดอกเพศผู้ จานฐานดอกจะแยกเป็นแฉกเล็กน้อยหรือหยักมน มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านเกสรยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร มีขนเฉพาะที่โคน ส่วนดอกเพศเมีย จานฐานดอกจะเรียบ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รังไข่กลม ปลายสอบแคบ มี 1 ช่อง ก้านเกสรเพศเมียมีประมาณ 5-6 อัน ยาวได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร แต่ละก้านปลายจะแยกออกเป็น 2 แฉก และม้วนออก ส่วนกลีบเลี้ยงมีประมาณ 5-6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายมน มีขนาดกว้างประมาณ 1 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ผิวด้านในและขอบมีขนขึ้นหนาแน่น ส่วนด้านนอกเกลี้ยง[1]

ดอกตะขบป่า

  • ผลตะขบป่า ผลจะออกเดี่ยว ๆ หรือออกเป็นพวงเล็ก ๆ ตามกิ่ง ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเปลี่ยนเป็นสีแดงคล้ำ ลักษณะชุ่มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 5-8 เมล็ด มีก้านเกสรเพศเมียติดอยู่ที่ปลายผล ผลจะสุกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม[1]

ผลตะขบป่า

ลูกตะขบป่า

เมล็ดตะขบป่า

สรรพคุณของตะขบป่า

  1. ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาบำรุงร่างกาย (ใบ)[1]
  2. ผลใช้กินเป็นยาแก้อ่อนเพลีย (ผล)[1]
  3. แก่นหรือรากใช้กินเป็นยาแก้ตานขโมย (แก่น, ราก)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้อหิวาตกโรค (น้ำยางจากต้น)[1]
  5. น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ (ใบ)[1]
  6. หนามมีรสฝาดขื่น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้พิษ ไข้กาฬ ลดความร้อน แก้พิษฝีต่าง ๆ (หนาม)[4]
  7. น้ำยางจากต้นและใบสด ใช้กินเป็นยาลดไข้สำหรับเด็ก แก้อาการไอ (น้ำยางจากต้นและใบสด)[1]
  1. น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาขับเสมหะ (ใบ)[1]
  2. แก่นมีรสฝาดขื่น ใช้ต้มน้ำดื่มเป็นยาขับเหงื่อ (แก่น)[1]
  3. เปลือกต้นมีสรรพคุณเป็นยาแก้เสียงแห้ง นำเปลือกมาแช่หรือชงเป็นยากลั้วคอแก้เจ็บคอ (เปลือกต้น)[1]
  4. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ผล)[1]
  5. น้ำต้มจากใบแห้งใช้กินเป็นยาแก้หืดหอบ หลอดลมอักเสบ (ใบ)[1]
  6. รากมีรสหวานฝาดร้อน ใช้กินเป็นยาแก้โรคปอดบวม (ราก)[1]
  7. น้ำยางจากต้นและใบสดใช้เป็นยาแก้โรคปอดอักเสบ (น้ำยางจากต้นและใบสด)[1]
  8. ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาขับลม (ใบ)[1]
  9. ใช้เป็นยาแก้บิดและท้องเสีย (น้ำยางจากต้นและใบสด)[1]
  10. แก่นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง บิดมูกเลือด (แก่น)[1] หรือใช้ใบแห้งนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ท้องร่วง (ใบ)[1]
  11. เปลือกต้นนำมาตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้ปวดท้อง (เปลือกต้น)[1]
  12. ตำรายาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานีจะใช้แก่นตะขบป่า นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ผิดสำแดง (แก่น)[1]
  13. ผลมีสรรพคุณเป็นยาระบาย (ผล)[1]
  14. น้ำยางจากต้นและใบสดมีสรรพคุณในการช่วยย่อยอาหาร (น้ำยางจากต้นและใบสด)[1]
  15. ใช้เป็นยาขับพยาธิไส้เดือน (แก่น, ราก)[1]
  16. ใบนำมาย่างไฟจนแห้งใช้ชงกินหลังการคลอดบุตรของสตรี (ใบ)[1]
  17. ตำรายาพื้นบ้านอีสานจะใช้แก่นหรือรากตะขบป่า 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำพอท่วมยา ใช้ดื่มวันละ 3-5 ครั้ง เป็นยาแก้โรคไตพิการ (แก่น, ราก)[1]
  18. รากใช้กินเป็นยาแก้ไตอักเสบ (ราก)[1]
  19. ผลมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการของโรคดีซ่าน ม้ามโต (ผล)[1]
  20. น้ำต้มใบแห้งใช้กินเป็นยาฝาดสมาน (ใบ)[1]
  21. ลำต้นใช้ผสมกับหัวเอื้องหมายนา ผักแว่นทั้งต้น และหอยขมเป็น ๆ 3-4 ตัว นำมาแช่น้ำให้เด็กอาบเป็นยาแก้อีสุกอีใส อีดำอีแดง (ลำต้น)[1]
  22. แก่นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคผิวหนัง ประดง ผื่นคัน (แก่น, ราก, ทั้งต้น)[1]
  23. เปลือกต้นนำตำรวมกับน้ำมัน ใช้ทาถูนวด แก้คัน (เปลือกต้น)[1]
  24. แก่นตะขบป่าใช้เข้ายากับแก่นมะสัง หนามแท่ง และเบนน้ำ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย แก้คัน (แก่น)[1] ส่วนชาวกะเหรี่ยงแดงจะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (ราก)[2]
  25. เมล็ดใช้ตำพอกแก้ปวดข้อ (เมล็ด)[1]
  26. รากมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำนม (ราก)[1]

ประโยชน์ของตะขบป่า

  1. ผลสุกมีรสหวานอมฝาด ใช้รับประทานได้ มีวิตามินซีสูง[1]
  2. เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน ใช้เป็นโครงสร้างต่าง ๆ ของบ้าน เช่น เสาบ้าน ฯลฯ หรือใช้ทำด้ามเครื่องมือกสิกรรม[2],[3]
  3. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับหรือไม้ให้ร่มเงา[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ตะขบป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [21 ธ.ค. 2014].
  2. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ตะขบป่า, มะเกว๋น”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 5 (ลีนา ผู้พัฒนพงศ์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [21 ธ.ค. 2014].
  3. ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้.  “ตะขบป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th.  [21 ธ.ค. 2014].
  4. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “ตะขบป่า”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/.  [21 ธ.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Russell Cumming, Dinesh Valke), www.bloggang.com (by Insignia_Museum)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด