ด่างทับทิม (Potassium Permanganate) ประโยชน์ด่างทับทิม 9 ข้อ !

ด่างทับทิม

ด่างทับทิม หรือ โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate – สูตรทางเคมี : KMnO4) คือ สารเคมีประเภท Inorganic (อนินทรีย์) ชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะเป็นผลึกหรือเกล็ดสีม่วง สามารถละลายน้ำได้ดี เมื่อละลายน้ำแล้วจะได้สารละลายสีม่วงหรือสีชมพูอมม่วง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและความเข้มข้น

โดยทางเคมีแล้วเราถือว่าด่างดับทิมเป็นเกลือชนิดหนึ่ง ซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน ๆ และมีคุณสมบัติเป็นสารออกซิเดชัน (Oxidation) อย่างแรง ปัจจุบันมีการนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือหรือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ

ประโยชน์ของด่างทับทิม

Potassium permanganate

  1. มีรายงานว่ามีการใช้ด่างทับทิมเพื่อรักษาโรคริดสีดวงทวาร โดยพบว่ามันสามารถช่วยลดหรือบรรเทาอาการอักเสบและอาการโป่งบวมของแผลริดสีดวงทวารได้ โดยอาศัยฤทธิ์ฝาดสมาน (Astringent) ของด่างทับทิม รวมไปถึงฤทธิ์ในการเป็น Local Anti-Infective อันเนื่องมาจากการเป็น Strong Oxidizing Agent (โดยปกติแล้วยาเหน็บริดสีดวงทวารจะมียาที่มีฤทธิ์ฝาดสมานผสมอยู่ ซึ่งสารนี้เองที่เป็นตัวช่วยลดอาการอักเสบและอาการโป่งบวมของแผลริดสีดวงได้)
  2. ด่างทับทิมสามารถนำมาใช้ในการล้างแผลเพื่อฆ่าเชื้อโรคได้
  3. ใช่ฆ่าเชื้อแผลที่เกิดจากอาการน้ำเหลืองเสีย (ทำให้แผลหายช้า หรือแม้หายแล้วก็ยังทิ้งรอย) โดยจะช่วยทำให้แผลหายดีขึ้น ด้วยการนำน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น (ไม่ต้องร้อนจัด) เทลงในกะละมัง หลังจากนั้นให้เทผงด่างทับทิมลงไปเพียงให้น้ำเป็นสีชมพู แล้วคนให้เข้ากัน หลังจากนั้นให้แช่แขนและขาหรือส่วนที่ต้องการลงไป หากะละมังใหญ่ไม่พอแช่ ก็ให้ใช้มือกวักน้ำแล้วลูบแผลเบา ๆ (ลูบนะครับไม่ใช่ถู) ประมาณ 20-30 นาที ซึ่งสามารถทำได้บ่อยตามที่ต้องการ แต่คนเถ้าคนแก่แนะนำว่า ให้ทำในตอนช่วงเย็น (18.00-20.00 น.) ก็จะช่วยเกี่ยวกับเรื่องสปาได้อีกด้วย
  4. ด่างทับทิมถูกนำมาใช้ในอุตสากรรมต่าง ๆ ในฐานะเป็นสารออกซิเดชั่น (Oxidation) เช่น อุตสาหกรรมการฟอกย้อมสิ่งทอ ฟอกขาวเส้นใยสิ่งทอ ย้อมสีไม้และผ้า เป็นต้น
  5. ส่วนการนำมาใช้ในครัวเรือนด่างทับทิมล้างผัก ด่างทับทิมสามารถนำใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียในผักผลไม้ได้เป็นอย่างดี โดยนิยมนำมาผสมกับน้ำ (ใช้ประมาณ 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร) และแช่ผักผลไม้ รวมไปถึงเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ล้างสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในผักผลไม้ได้อีกด้วย
  6. ด่างทับทิมสามารถนำมาใช้เพื่อฆ่าเชื้อในน้ำ ต้านเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย ตลอดจนสาหร่าย และใช้เป็นสารฟอกขาวได้ แต่ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที แล้วจึงนำน้ำไปใช้ต่อได้ (ไม่ใช่น้ำดื่มนะครับ) อย่างในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนในช่วงน้ำท่วมแล้วไม่มีน้ำสะอาดใช้ นอกจากนี้ด่างทับทิมที่มีความเข้มข้นประมาณ 1-4% ยังสามารถใช้กำจัดธาตุเหล็กและแมกนีเซียมที่เจือปนมาในน้ำ และยังสามารถกำจัดกลิ่นดินกลิ่นสาบของน้ำได้อีกด้วย
  7. นอกจากนี้ยังนิยมนำมาใช้ล้างทำความสะอาดตู้ปลา บ่อปลา อ่างปลา เพื่อฆ่าเชื้อโรค เชื้อรา และกำจัดแบคทีเรีย ด้วยการเปิดน้ำใส่ตู้แล้วใส่ด่างทับทิมลงไปแช่ทิ้งไว้ 1 คืน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่ง เพราะปลาบางชนิดจะไวต่อสิ่งแปลกปลอมเป็นอย่างมาก และอาจทำให้ปลาป่วยหรือมีอาการผิดปกติได้ อีกอย่างในการจัดตู้ปลาบางท่านจะนำของมาตกแต่งเพื่อความสวยงาม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้น้ำ ก้อนหิน ขอนไม้ ฯลฯ เพื่อความมั่นใจก่อนจะนำไปใส่ในตู้ปลา เราก็ควรนำมาแช่ในน้ำด่างทับทิมเสียก่อน
  1. ใช้ทำความสะอาดอาหารสดที่ใช้เลี้ยงปลา (เนื่องจากปลาบางชนิดจะกินอาหารสดเป็นอาหาร เช่น ไรน้ำ หนอนแดง ลูกน้ำ ไส้เดือนแดง ฯลฯ) ด้วยการนำอาหารสดเหล่านั้นไปแช่ในน้ำด่างทับทิมเข้มข้น 0.5-1 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ประมาณ 10-20 นาที เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่อาจติดมากับอาหาร แล้วจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาดอีกหลาย ๆ รอบ หรือเปิดน้ำจากก๊อกให้ไหลผ่านอาหาสดไปสักระยะหนึ่ง จนกว่าน้ำที่ไหลผ่านจะใสและไม่เป็นสีม่วง
  2. ส่วนประโยชน์อื่น ๆ ก็เช่น ใช้ควบคุมกลิ่น ใช้ในการวิเคราะห์เหล็ก ฆ่าเชื้อไข่พยาธิ เป็นต้น

วิธีใช้ด่างทับทิม

เนื่องจากบานคนอาจไม่มีเครื่องมือในวัด ตวง หรือชั่ง ดังนั้นจึงขอให้ใช้วิธีที่ง่ายที่สุด ด้วยวิธีการดูจากสี ซึ่งเป็นการประมาณการที่ใกล้เคียง ถ้าจะนำมาใช้ฆ่าเชื้อในน้ำ โดยค่อย ๆ ใส่ด่างทับทิมลงไปแล้วคนให้ละลายก่อน แล้วสังเกตดูสีว่าอยู่ในระดับไหน ซึ่งสีที่สามารถนำมาใช้ได้ในระดับปลอดภัยก็คือ สีชมพูอ่อน (ขวดที่ 5) หรือ สีม่วงอ่อน (ขวดที่ 3) (ส่วนขวดกลางหรือขวดที่ 3 จะเริ่มเข้มแล้ว และขวดที่ 1-2 จากซ้ายสุดจะเข้มมากเกินไป และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง)

โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต

หากเป็นสีชมพูอ่อนก็ประมาณได้ว่าน่าจะมีความเข้มข้นประมาณ 1 ต่อล้านส่วน แต่หากสารละลายเป็นสีม่วงก็จะประมาณได้ว่ามีความเข้มข้นประมาณ 1 ส่วนต่อ 76,000 ซึ่งจะเริ่มเป็นอันตรายต่อผิวหนังแล้ว ส่วนถ้าใช้ด่างทับทิมเพื่อฆ่าเชื้อในน้ำก็ต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 30 นาที จึงจะนำน้ำไปใช้ได้

แต่อย่างไรก็ตามการใช้ด่างทับทิมที่มีความเข้มข้นสูง ๆ ในการตัดใช้แต่ละครั้ง ให้นำมาชั่งโดยมีหน่วยน้ำหนักเป็นกรัม การชั่งตวงน้ำหนักให้ถูกต้องก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ และไม่แนะนำให้ตักวัดเป็นช้อนชา เพราะจะไม่แม่นยำและจะมีความเบี่ยงเบนมาก

โทษของด่างทับทิม

แม้ว่าด่างทับทิมจะมีประโยชน์ในด้านการฆ่าเชื้อต่าง ๆ ได้ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าด่างทับทิมนี้จะมีความปลอดภัยจนสามารถนำมารับประทานได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผมอยากให้ทุกท่านจำไว้เลยครับว่า “สารทุกชนิดมีพิษ ไม่มีสารใดเลยที่ไม่มีพิษ ปริมาณที่รับเข้าสู่ร่างกายต่างหากที่เป็นสิ่งที่แย่กว่าสารที่เข้าสู่ร่างกายนั้นว่าจะเป็นพิษหรือเป็นประโยชน์” นี่คือคำกล่าวของ “พาราเซลซัส” (Paracelsus) บิดาแห่งสาขาวิชาพิษวิทยากล่าวไว้ครับ

  • จากคำกล่าวดังกล่าวเป็นจริงตรงที่ว่า “ไม่มีสารใดที่ไม่มีพิษ” แสดงว่าด่างทับทิมก็เช่นกัน เพียงแต่การนำมาใช้จะต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเท่านั้นจึงจะปลอดภัย และการนำมาใช้จึงต้องใช้กันอย่างระมัดระวัง เพราะด่างทับทิมเป็นสารเคมีที่สามารถตกค้างและส่งผลร้ายต่อร่างกายของเราได้ครับ เช่น ในการนำมาล้างผักหรือผลไม้ก็ควรใช้ด่างทับทิมเพียง 4-5 เกล็ด ผสมกับน้ำประมาณ 4-5 ลิตร (นี่คือสัดส่วนที่เหมาะสม) แล้วจึงนำผักผลไม้มาแช่ในน้ำด่างทับทิมทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที เมื่อแช่เสร็จแล้วก็ให้นำผักผลไม้มาล้างด้วยน้ำสะอาดอีกหลาย ๆ รอบ พอล้างเสร็จก็ต้องทิ้งไว้อีกอย่างน้อย 30 นาที จึงสามารถนำไปรับประทานได้อย่างปลอดภัย
  • ด้วยคุณสมบัติของด่างทับทิมที่เป็นสารที่สามารถเกิดปฏิกิริยารุนแรงจนสามารถลุกไหม้ได้เมื่อถูกกับสารละลายบางชนิด จึงควรระมัดระวังในการเก็บร่วมกับสารอื่น และวางให้พ้นมือเด็ก
  • การใช้ด่างทับทิมต้องระวังไม่ให้สัมผัสกับผิวโดยตรง เพราะจะทำให้ผิวแห้งเป็นขุย หรือถ้าสารละลายมีความเข้มข้นมากก็จะทำให้เป็นผื่นแดง มีอาการปวด เป็นแผลไหม้ หรือเป็นจุดด่างสีน้ำตาล ดังนั้นจึงไม่ควรใช้มือหยิบ
  • ควรระมัดระวังไม่ให้ด่างทับทิมเข้าตาหรือปลิวเข้าตา เพราะด่างทับทิมเป็นผลึกเบา เวลาตักมาใช้ต้องดูทิศทางลมให้ดี เพราะอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายแล้วเข้าตาได้ หรือจะใส่แว่นกันลมหรือแว่นนักบินเวลาตักด้วยก็ดีครับ เพราะหากเข้าตาจะทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนและอาจจะทำให้ตาบอดได้ หากเข้าตาก็ให้รีบล้างออกด้วยสะอาดทันทีหลาย ๆ รอบครับ และรีบไปพบแพทย์ทันที
  • หากหายใจเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีอาการไอ และหายใจถี่ขึ้น จึงไม่ควรนำมาสูดดม
  • แต่หากกลืนด่างทับทิมเข้าไปไม่ว่าจะเป็นในสภาพของแข็งหรือของเหลวที่มีความเข้มข้นสูง จะทำให้กระเพาะเป็นแผลไหม้รุนแรง มีอาการบวมน้ำ ความดันโลหิตต่ำ และอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยพบว่าที่ความเข้มข้นเพียง 1% ก็สามารถทำให้ลำคอไหม้ มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และปวดท้องได้ ส่วนความเข้มข้นประมาณ 2-3% จะทำให้เป็นโรคโลหิตจาง คอบวม และหายใจไม่ออก
  • ผงด่างทับทิมอาจฟุ้งกระเด็นติดเสื้อผ้าได้ และทำให้เสื้อผ้าเสียหายแบบถาวะ เพราะซักไม่ออก
  • การสัมผัสด่างทับทิมโดยตรงจะทำให้ตามมือและซอกเล็บเป็นสีน้ำตาล ทำให้ล้างออกยากมากหรือต้องรอให้มันจางหายไปเอง แต่ก็ใช้ระยะเวลาหลายวันอยู่เหมือนกัน (หรือจะใช้น้ำมะนาวถูออกก็ได้ครับ)
  • ด่างทับทิมเป็นสารออกซิไดซ์อย่างแรง สามารถเกิดการระเบิดได้เมื่อเกิดการสั่นสะเทือนอย่างแรง หรือถูกความร้อน เปลวไฟ รวมไปถึงการเสียดสี และการสัมผัสกับสารออกซิไดซ์จะก่อให้เกิดการเผาไหม้อย่างรุนแรงได้ ส่วนภาชนะบรรจุที่ปิดผนึกสนิทก็อาจเกิดการระเบิดได้เมื่อถูกความร้อน (สารนี้ไม่ติดไฟ แต่เป็นสารออกซิไดซ์อย่างแรง เมื่อสัมผัสความร้อนที่เกิดจากการเกิดปฏิกิริยากับรีดิวซ์ หรือสารที่สามารถลุกติดไฟได้จะทำให้เกิดการติดไฟได้)
  • การจัดเก็บด่างทับทิม ควรเก็บใส่ไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เก็บภายในที่แห้งและเย็น มีการระบายอากาศดี หลีกลี่ยงการเก็บไว้บนพื้นไม้ แยกเก็บออกจากสารที่เข้ากันไม่ได้ เช่น สารอินทรีย์ สารติดไฟได้ หรือสารที่ออกซิไดซ์ได้ง่าย และควรแยกเก็บออกจากแหล่งความร้อนหรือแหล่งจุดติดไฟใด ๆ (ภาชนะบรรจุของสารนี้อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เมื่อเป็นถังเปล่าที่มีกากของเสียตกค้างอยู่)

ด่างทับทิม

ด่างทับทิม หาซื้อได้ที่ไหน?

ตามร้านขายยาทั่วไป ร้านเคมีภัณฑ์ หรือตามร้านขายอาหารปลา หรือแบ่งซื้อตามตลาดนัดหรือร้านขายของชำทั่วไปครับ ส่วนกระปุกตามรูปด้านล่างน่าจะกระปุกละประมาณ 15-20 บาทนะครับ

รูปด่างทับทิม

เอกสารอ้างอิง
  • อ.กิตติโชติ วรโชติกำจร
  • กรมประชาสัมพันธ์

ภาพประกอบ : www.koi360.com (by num_skyman), pantip.com (by phanet)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด