ดาวกระจาย
ดาวกระจาย ชื่อสามัญ Spanish needle[1],[2]
ดาวกระจาย ชื่อวิทยาศาสตร์ Bidens bipinnata L. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรดาวกระจาย มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ดอกกระจาย (ไทย), แหลมนกไส้ หญ้าแหลมนกไส้ ปืนนกไส้ (ภาคเหนือ), ปังกุกโคหน่วย (จีน), กุ่ยเจินเฉ่า ผอผอเจิน (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]
หมายเหตุ : ดาวกระจายที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นพรรณไม้ล้มลุกที่มาจากต่างประเทศ (ชนิดนี้มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “หญ้าแหลมนกไส้”) ซึ่งดาวกระจายที่เราคุ้นเคย ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cosmos sulphureus Cav. และชื่อท้องถิ่นว่าคำแพและคำเมืองไหว
ลักษณะของต้นดาวกระจาย
- ต้นดาวกระจาย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรง มีความสูงของลำต้นได้ประมาณ 25-85 เซนติเมตร กลางลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นเป็นเหลี่ยมและมีขนเล็กน้อย ส่วนโคนต้นเป็นสีม่วงและไม่มีขนปกคลุม กิ่งก้านมีลักษณะเป็น 4 เหลี่ยม โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ในประเทศไทยสามารถพบขึ้นได้ตามที่รกร้างทั่วไปในชนบท[1],[2],[3]
- ใบดาวกระจาย ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ปลายใบคี่ ตรงส่วนของดอกช่อใบเป็นใบเดี่ยวและปลายใบจะแหลมกว่าใบอื่น ๆ ช่อใบมีใบย่อยประมาณ 3-5 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน 2-3 ซี่ ใบเป็นสีเขียว เนื้อใบนิ่ม หลังใบและท้องใบมีขนขึ้นประปราย[1],[2]
- ดอกดาวกระจาย ออกดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุก โดยจะออกตามซอกใบหรือที่ปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด มีริ้วประดับลักษณะเป็นรูปหอกเรียงกันเป็นวง มีวงนอกและวงใน เมื่อเวลาที่ดอกบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-10 มิลลิเมตร ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปรางน้ำ ส่วนดอกวงในนั้นเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปท่อ ปลายมี 5 แฉก มีก้านดอกยาวประมาณ 1.8-8.5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ผลดาวกระจาย ลักษณะของผลเป็นรูปทรงแคบ มีสันประมาณ 3-4 สัน ผลค่อนข้างแข็ง มีรยางค์เป็นหนามยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร[1]
สรรพคุณของดาวกระจาย
- ช่วยกระจายลม ฟอกโลหิต (ทั้งต้น)[3]
- ทั้งต้นดาวเรืองมีรสขม เป็นยาสุขุม ไม่มีพิษ โดยออกฤทธิ์ต่อกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตับ และไต ใช้เป็นยาดับพิษร้อนถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้ระบบทางเดินหายใจติดเชื้อ ลำคอปวดบวม (ทั้งต้น)[3]
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย ปวดกระเพาะ (ทั้งต้น)[1],[3] บ้างว่าใช้ใบและต้นนำมาต้มกับน้ำแล้วรินเอาแต่น้ำมาดื่มเป็นยาแก้อาการท้องร่วง (ใบและต้น)[2]
- ใช้แก้บิด ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาต้มผสมกับน้ำตาลเล็กน้อยแล้วใช้รับประทาน (ต้น)[3]
- ช่วยแก้ฝีในลำไส้ (ทั้งต้น)[3]
- ช่วยแก้ตับอักเสบเฉียบพลัน ไตอักเสบ (ทั้งต้น)[3]
- ทั้งต้นเป็นยาแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย แก้พิษงูกัด โดยการนำต้นสดมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนกากที่เหลือให้นำมาพอกบริเวณที่เป็น (ทั้งต้น, ใบ และต้น)[1],[2],[3]
- ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาบาดแผล (ทั้งต้น, ใบ และต้น)[1],[2]
- ใช้แก้อาการฟกช้ำ ด้วยการใช้ต้นสดประมาณ 30-70 กรัม นำมาตำให้แหลก ต้มกับน้ำผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ใช้รับประทานวันละ 1 ครั้ง (ต้น)[3]
ข้อควรระวัง ! : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดาวกระจาย
- ทั้งต้นดาวเรืองพบว่ามีสาร Alkaloid, Choline, Glycoside, Lavanol, Saponin, Tannin[3]
- ก้านและใบดาวเรืองพบว่ามีสารที่ให้รสขมหรือ Bittera และยังพบว่ามีน้ำมันระเหยอีกเล็กน้อย[3]
- สารสกัดที่ได้จากต้นสดของดาวกระจายรวมกับหนอนหม่อนแห้ง แล้วนำไปให้หนูที่มีอาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ (ใช้ 10 กรัม ต่อน้ำหนักตัวหนู 1 กิโลกรัม) กินติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน พบว่าสารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการยับยั้งอาการปวดข้อและข้ออักเสบได้ แต่ต้องใช้ทั้งสองชนิดรวมกัน หากแยกใช้ตัวใดตัวหนึ่งจะไม่เห็นผล[3]
- สารที่สกัดได้ด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Staphylo coccus ภายนอกได้อย่างมีประสิทธิภาพ[3]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ดาวกระจาย (Dao Kra Chai)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 112.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ดาวกระจาย”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 286-287.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ดาวกระจาย”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 220.
ภาพประกอบ : เว็บไซต์ phytoimages.siu.edu, actaplantarum.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)