ดอกกระดาษ
ดอกกระดาษ ชื่อสามัญ Straw flower, Everlasting[2]
ดอกกระดาษ ชื่อวิทยาศาสตร์ Helichrysum bracteatum (Venten.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2]
สมุนไพรดอกกระดาษ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า บานไม่รู้โรย (ภาคกลาง), ดอกกระดาด ดอกบานไม่รู้โรยฝรั่ง (ไทย) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของดอกกระดาษ
- ต้นดอกกระดาษ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก มีอายุปีเดียว ลำต้นมีลักษณะตั้งตรงและค่อนข้างเป็นทรงกระบอก มีสัน สูงได้ประมาณ 0.5-1.2 เมตร ตามลำต้นเมื่ออ่อนจะมีขนนุ่มขึ้นทั่วไป ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ชอบแสงแดดจัด ดินร่วนซุย สามารถขึ้นได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เป็นพรรณไม้กลางแจ้งและเป็นไม้พื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย[1]
- ใบดอกกระดาษ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ไม่มีก้านใบ ลักษณะของใบเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบ ส่วนขอบใบเรียบไม่มีจัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 นิ้ว และยาวประมาณ 3-10 นิ้ว แผ่นใบเป็นสีเขียว[1]
- ดอกดอกกระดาษ ออกดอกเดี่ยว ๆ หรือออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้น ลักษณะของดอกเป็นรูปทรงกลม กลีบดอกเป็นสีเหลืองสีส้มเรียงซ้อนกัน มีริ้วประดับสีขาว เหลือง ส้ม แดง ชมพู และน้ำตาลแดง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1-2.5 นิ้ว ก้านดอกแข็ง ตามโคนก้านดอกจะมีใบขนาดเล็กประมาณ 1-3 ใบ[1]
- ผลดอกกระดาษ ผลเป็นผลแห้ง ผิวผลเกลี้ยง ที่ปลายผลมีพู่คล้ายขนนก ผลเป็นสีขาวรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร[1]
รูปดอกกระดาษ
สรรพคุณของดอกกระดาษ
- ต้นนำมาต้มกับน้ำ แล้วดื่มแต่น้ำ เป็นยาแก้ขัดเบาและแก้นิ่ว (ต้น)[1]
- ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองในหรือระดูขาว ตกขาว (ต้น)[1]
ประโยชน์ของดอกกระดาษ
- นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามที่สูงทางภาคเหนือ เป็นไม้ดอกที่ปลูกได้ง่าย ต้องการการดูแลรักษาน้อย ชอบอากาศเย็น นับจากวันเพาะเมล็ดจนถึงวันออกดอกชุดแรกใช้เวลาเพียง 3 เดือน และสามารถเก็บเกี่ยวดอกได้ติดต่อกันนานร่วม 2 เดือน[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ดอกกระดาด”. หน้า 282.
- คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ดอกกระดาษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : natres.psu.ac.th. [24 ธ.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Carmen, Silas Price, David Feix Landscape Design, Todd Boland, Ricardo Vega Déniz, Eliane G. de Paiva, HEN-Magonza, xerantheum, Roger Butterfield, FarOutFlora, Universität Göttingen, Pat Celta)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)