โรคซิฟิลิส
ซิฟิลิส (Syphilis) คือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรคหนึ่งที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาในระยะยาวอาจแสดงอาการในหลายระบบของร่างกายซึ่งร้ายแรงได้มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ โรคนี้มีระยะแฝงตัวของโรคที่ค่อนข้างยาวนาน และสามารถแพร่ไปให้คู่สมรสและทารกในครรภ์ได้
โรคซิฟิลิสเป็นโรคที่พบได้บ่อยรองจากหนองในแท้ (Gonorrhea) และหนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis) และสามารถพบเกิดได้ทั้งกับผู้หญิงและผู้ชาย
สาเหตุของโรคซิฟิลิส
- เชื้อที่เป็นสาเหตุ : เกิดจากเชื้อซิฟิลิส ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า “ทรีโพนีมาพัลลิดุม” (Treponema pallidum) มีลักษณะคล้ายเกลียวสว่าน (Spirochete bacteria) เชื้อชอบอยู่ในที่ที่มีความชื้นและตายได้ง่ายในที่ที่มีความแห้ง และถูกทำลายได้ง่ายด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ
- การติดต่อ : สามารถติดต่อได้จากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสในระยะที่ 1 และถ้าสัมผัสกับน้ำเหลืองที่ผิวหนังของผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสในระยะที่ 2 (ระยะออกดอก) ก็จะมีโอกาสที่จะรับเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้เชื้อยังสามารถติดจากแม่ไปสู่ลูกในขณะตั้งครรภ์โดยผ่านทางรกและในขณะคลอดได้ด้วย ส่วนโรคในระยะที่ 3 มักจะเป็นระยะที่ไม่มีการติดต่อ
- เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อเมือก เช่น ช่องคลอด ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก ช่องปาก เยื่อบุตา หรือเข้าผ่านทางรอยถลอกหรือบาดแผลเล็กน้อยที่ผิวหนัง เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายเชื้อจะเข้าสู่กระแสเลือดและไปจับตามอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดโรคตามอวัยวะและทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว
- เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสเป็นเชื้อที่อ่อนแอและตายได้ง่าย ดังนั้น เชื้อจึงไม่สามารถติดต่อกันได้ผ่านการสัมผัสมือหรือเสื้อผ้า การนั่งโถส้วม การจับลูกบิดประตู การใช้ช้อนส้อม การเล่นในอ่างอาบน้ำหรือสระว่ายน้ำร่วมกัน
- ระยะฟักตัวของโรค (ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งเกิดอาการ) : ประมาณ 10-90 วัน (โดยเฉลี่ยคือประมาณ 21 วัน)
อาการของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสมีอาการแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 หรือ ระยะเป็นแผล (Primary syphilis) หลังจากติดเชื้อได้ประมาณ 10-90 วัน ผู้ป่วยจะมีตุ่มเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร เกิดขึ้นตรงบริเวณที่เชื้อเข้า (อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศชาย อัณฑะ ช่องคลอด หัวหน่าว ทวารหนัก ริมฝีปาก ลิ้น ต่อมทอนซิล หัวนม หรือขาหนีบ ก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าตำแหน่งที่เชื้อเข้าคือตำแหน่งใด) จากนั้นจะเริ่มขยายออกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และจะแตกออกกลายเป็นแผลกว้างขึ้น มีลักษณะเป็นรูปกลมหรือรูปไข่ ขอบแผลเรียบยกนูนและแข็ง พื้นแผลมีสีแดงและดูสะอาด บริเวณก้นแผลแข็งมีลักษณะคล้ายกระดุม แผลจะไม่เจ็บไม่คัน ซึ่งเรียกว่า “แผลริมแข็ง” (Chancre) โดยแผลส่วนใหญ่มักจะมีเพียงแผลเดียว หรืออาจมี 2 แผลซึ่งชนชิดกันก็ได้
- ในอีกประมาณ 1 สัปดาห์หลังจากมีตุ่มขึ้น เชื้อจะเข้าไปอยู่ที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ส่งผลให้มีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตทั้ง 2 ข้าง กดไม่เจ็บ มีลักษณะแข็งแยกจากกัน และสีของผิวหนังบริเวณต่อมน้ำเหลืองไม่เปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
- แม้จะไม่ได้รับการรักษา แผลจะหายไปได้เองภายใน 3-10 สัปดาห์ แต่เชื้อยังคงอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งการเจาะเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL) จะพบเลือดบวกหลังจากมีแผลได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ระยะที่ 2 หรือ ระยะเข้าข้อออกดอก (Secondary syphilis) จะพบหลังจากระยะแรกประมาณ 4-8 สัปดาห์ (อาจเกิดหลังจากมีแผลเพียง 2-3 วัน หรือนานหลายเดือนก็ได้) เชื้อจะเข้าไปอยู่ตามต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างกาย (เช่น บริเวณหลังหู หลังขาหนีบ และขาพับ) และเข้าไปสู่กระแสเลือด รวมทั้งกระจายไปตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นทั้งตัวและที่ฝ่ามือฝ่าเท้าด้วย โดยผื่นจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนสีแดงหรือจุดน้ำตาลแดง อาจพบเนื้อตายจากผื่นเป็นหย่อม ๆ และพบเนื้อเน่าหลุดออกมา มีน้ำเหลือง และในน้ำเหลืองจะมีเชื้อซิฟิลิส แต่ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ซึ่งเรียกกันว่า “ระยะออกดอก” (ผื่นที่พบจะมีความแตกต่างจากผื่นของโรคอื่น ๆ ที่มักมีอาการคันและไม่มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือฝ่าเท้า แต่บางครั้งผื่นอาจมีลักษณะคล้ายโรคอื่น หรือมีลักษณะเป็นผื่นจาง ๆ ทำให้ไม่ทันได้สังเกต)
- นอกจากนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกไม่สบาย มีไข้ต่ำ ๆ เป็นครั้งคราว ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง เจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหลัง ปวดตามกระดูก ปวดตามข้อเนื่องจากข้ออักเสบ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ต่อมน้ำเหลืองโต เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ม่านตาอักเสบ ตับอักเสบ หน่วยไตอักเสบ โรคไตเนโฟรติก (Nephrotic syndrome) แผลที่เยื่อบุในช่องปากหรือที่บริเวณอวัยวะเพศมีลักษณะเป็นแผลตื้น ๆ มีเยื่อสีขาวปนเทาคลุม หูด (ที่เรียกว่า “Condyloma lata”) ขึ้นบริเวณที่อับชื้น (เช่น รอบ ๆ อวัยวะเพศ ทวารหนัก รักแร้ หรือขาหนีบ) เป็นต้น
- ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีผื่นขึ้นเลยก็ได้ แต่อาจมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น เช่น มีไข้ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามข้อ ผมร่วงทั่วศีรษะหรือร่วงเป็นหย่อม ๆ ฯลฯ
- ในระยะนี้ถ้าตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (VDRL) จะพบเลือดบวก
- ผู้ป่วยจะมีผื่นและอาการต่าง ๆ อยู่ประมาณ 2-6 สัปดาห์ (หรืออาจนานกว่านี้) แล้วจะหายไปได้เองแม้ว่าจะไม่ได้รับการรักษา แต่เชื้อจะยังคงแฝงตัวอยู่ตามอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายและจะไม่แสดงอาการได้นานเป็นปี ๆ ซึ่งอาจนานเป็น 5 ปี 10 ปี หรือบางรายอาจนานถึง 30 ปี (การตรวจเลือดยังคงให้ผลบวกอยู่) ซึ่งเราจะเรียกระยะนี้ว่า “ซิฟิลิสระยะแฝง” หรือ “ระยะสงบ” (Latent syphilis) และหลังจากนั้นก็จะเข้าสู่ระยะที่ 3
- ระยะที่ 3 หรือ ระยะทำลาย (Tertiary syphilis) เป็นระยะสุดท้ายของโรค เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาหรือรักษาไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อยามากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร จึงทำให้เข้าสู่ระยะร้ายแรง ซึ่งเชื้อจะเข้าสู่สมองและไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาต บ้านหมุน เดินเซ ชัก ความจำเสื่อม ตามัว ตาบอด หูตึง หูหนวก บุคลิกภาพเปลี่ยนไป อาจเสียสติ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
- ถ้าเชื้อเข้าสู่หัวใจก็จะทำให้หัวใจมีความผิดปกติ ทำให้เป็นโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic insufficiency) หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ (Aortitis) หรือหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง (Aortic aneurysm)
- ผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิสอาจไม่มีแผลให้เห็นในระยะที่ 1 หรือมีอาการเข้าข้อออกดอกในระยะที่ 2 แต่เชื้อจะเข้าไปแฝงตัวอยู่ในร่างกายและรอเข้าสู่ระยะที่ 3 เลยก็ได้
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อซิฟิลิส (อาจเป็นโดยไม่รู้ตัวหรือไม่มีอาการแสดงชัดเจน) แล้วไม่ได้รับการรักษา เชื้ออาจถ่ายทอดไปยังทารกในครรภ์โดยผ่านเข้าไปทางรกได้ ซึ่งจะทำให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือเสียชีวิตในช่วงแรกคลอดจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้ หรือไม่ก็อาจทำให้เกิดความพิการไปตลอดชีวิต ซึ่งเราจะเรียกซิฟิลิสที่เกิดในทารกในลักษณะนี้ว่า “ซิฟิลิสแต่กำเนิด” (Congenital syphilis) ซึ่งเด็กจะมีอาการแสดงภายใน 6 สัปดาห์หลังการคลอด โดยจะมีอาการเป็นหวัดคัดจมูก น้ำมูกเป็นหนองหรือช้ำเลือดช้ำหนอง มีผื่นขึ้น หนังลอกน่าเกลียด ซีด เหลือง บวม ตับโต ม้ามโต และถ้าไม่ได้รับการรักษาเด็กจะมีความพิการต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น กระจกตาอักเสบ (อาจกลายเป็นแผลกระจกตา สายตาพิการได้) ตาบอด ปากแหว่งเพดานโหว่ หน้าตาพิการ ฟันพิการ จมูกบี้หรือยุบ (พูดไม่ชัด) หูหนวก เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคซิฟิลิส
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากการตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอล (Venereal Disease Research Laboratory test – VDRL) เพื่อตรวจหาภูมิต่อเชื้อซิฟิลิส (จะพบเลือดบวก) การตรวจเชื้อจากน้ำเหลืองจากแผลหรือผื่นที่ปรากฏบนตัวผู้ป่วยไปส่องกล้องเพื่อหาตัวเชื้อโรค (Darkfield exam) หรือจากการตรวจพิเศษอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
การวินิจฉัยซิฟิลิสจะต้องอาศัยการตรวจวีดีอาร์แอลเป็นสำคัญ ซึ่งการตรวจจะดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ควรตรวจเลือดทุกรายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นซิฟิลิส หรือถ้าเป็นจะได้ให้การรักษาตั้งแต่ระยะแรกก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมา
วิธีรักษาโรคซิฟิลิส
เมื่อเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศโดยเฉพาะหลังการมีเพศสัมพันธ์ควรไปพบแพทย์เสมอ (อย่าพยายามรักษาโรคนี้ด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นวิธีใด ๆ) เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของแผลที่เกิดขึ้นและรับยารักษาชนิดและขนาดที่ตรงกับโรค และเมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคซิฟิลิส แพทย์จะให้การรักษาโรคซิฟิลิสด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง ทั้งนี้ระยะเวลาการรักษาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่เป็นด้วยและผู้ป่วยจะต้องไปฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง เพราะการขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญทำให้โรคไม่หายขาดและเกิดโรคในระยะที่ 3 ได้
- สำหรับซิฟิลิสในระยะที่ 1 และ 2 แพทย์จะฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) ให้ในขนาด 2.4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว (สำหรับระยะที่ 2 อาจฉีดซ้ำอีกครั้งในอีก 1 สัปดาห์ต่อมา) แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์อาจให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) ครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง หรือดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง นาน 15 วัน แต่ถ้ารับประทานยาเตตราไซคลีนไม่ได้ แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดเดียวกันแทน นาน 15 วัน
- สำหรับซิฟิลิสในระยะแฝง (เป็นมานานมากกว่า 2 ปี ตั้งแต่เริ่มเป็นแผลริมแข็ง) หรือแผลซิฟิลิสเรื้อรัง หรือซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular syphilis) แพทย์จะฉีดเบนซาทีนเพนิซิลลิน (Benzathine penicillin) ให้ครั้งละ 2.4 ล้านยูนิตเข้ากล้ามเนื้อ เป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยฉีดห่างกันทุก 1 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์จะให้รับประทานยาเตตราไซคลีน (Tetracycline), ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) ในขนาดดังกล่าวข้างต้นแทน นาน 30 วัน
- ในรายที่เป็นซิฟิลิสเข้าระบบประสาท (Neurosyphilis) แพทย์จะให้การรักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ให้ในขนาด 2-4 ล้านยูนิต เข้าหลอดเลือดดำ ทุก 4 ชั่วโมง นาน 14 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยแพ้ยานี้ แพทย์จะให้รับประทานยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) แทน โดยให้รับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง นาน 30 วัน
- สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคซิฟิลิส แพทย์จะให้การรักษาตามระยะของโรคเหมือนผู้ป่วยทั่วไป ถ้าผู้ป่วยแพ้ยาเพนิซิลลิน แพทย์จะให้รับประทานยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) แทน โดยให้รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง นาน 30 วัน
- สำหรับซิฟิลิสแต่กำเนิด แพทย์จะให้การรักษาโดยการฉีดเพนิซิลลินจี (Penicillin G) ให้ในขนาดวันละ 50,000 ยูนิต/กิโลกรัม โดยแบ่งให้วันละ 2 ครั้ง นาน 10 วัน
คำแนะนำสำหรับผู้เป็นโรคซิฟิลิส
- ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรคซิฟิลิส ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว และในขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าแผลจะหาย
- หากผู้ป่วยมีคู่สมรสจะต้องแจ้งให้คู่สมรสทราบด้วยเพื่อที่คู่สมรสจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน
- ผู้ที่ควรตรวจหาเชื้อซิฟิลิส ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ ชายรักร่วมเพศ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่มีคู่สมรสที่ผลเลือดการตรวจพบเชื้อเอชไอวี
- แผลซิฟิลิสจะทำให้สามารถถ่ายทอดเชื้อหรือรับเชื้อเอชไอวีได้ง่ายขึ้น ซึ่งถ้าไปสัมผัสกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีและมีแผลซิฟิลิสอยู่ด้วยไม่ว่าจะที่อวัยวะเพศชาย ช่องคลอด หรือทวารหนัก ก็จะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้มากถึง 2-5 เท่าเมื่อเทียบกับคนที่ไม่มีแผล
- การมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ซึ่งรวมถึงซิฟิลิส อาจเป็นตัวชี้ว่าผู้ป่วยอาจมีการติดเชื้อเอชไอวีได้ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นตัวบ่งบอกว่าผู้ป่วยมีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจติดเชื้อเอชไอวีได้)
- ผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการเท่านั้นที่จะช่วยยืนยันได้ว่าใครเป็นโรคซิฟิลิส เพราะบางรายแผลของโรคอาจซ่อนอยู่ในช่องคลอด ทวารหนัก ในช่องปาก จึงทำให้ไม่ทราบได้ชัดเจนว่าคู่นอนเป็นโรคนี้หรือไม่ หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย
- ผู้หญิงบางคนอาจติดเชื้อซิฟิลิสจากสามีที่ชอบเที่ยว โดยไม่มีอาการแสดงให้ทราบ และอาจติดต่อถึงทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ในการฝากครรภ์ จึงควรเจาะเลือดเพื่อตรวจหาวีดีอาร์แอลและควรตรวจหาเชื้อเอชไอวีไปด้วยพร้อม ๆ กัน ถ้าผลเลือดเป็นบวกแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเพื่อป้องกันมิให้แพร่เชื้อไปให้ทารกในครรภ์
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยซิฟิลิสในระยะ 3 เดือนแรก ควรได้รับการรักษาแบบซิฟิลิสระยะแรก
- ในรายที่ไม่มีอาการแสดงหรืออยู่ในระยะแฝงก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาเช่นกัน เพราะเชื้อซิฟิลิสจะยังคงแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้นานหลายปีและพร้อมที่จะลุกลามเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะร้ายแรงของโรคได้
- ผู้ป่วยทั้งที่มีอาการแสดงและไม่มีอาการแสดง ไม่ควรรักษาโรคนี้ด้วยตัวเองไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ เพราะการรักษาไม่ถูกวิธีจะทำให้โรคไม่หายขาดและเข้าสู่ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นระยะร้ายแรงของโรคได้
- สำหรับซิฟิลิสระยะที่ 1 และ 2 รวมทั้งระยะแฝงภายใน 2 ปีแรก หลังการรักษาควรตรวจเลือดหาวีดีอาร์แอลเดือนละครั้งใน 3 เดือนแรก ต่อไปให้ตรวจทุก 3 เดือน จนครบ 9 เดือน และต่อไปให้ตรวจทุก 6 เดือน จนครบ 1 ปี (รวมทั้งหมด 2 ปี) เพื่อให้แน่ใจว่าโรคหายขาดแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปผลเลือดจะเป็นปกติภายใน 2 ปี
- สำหรับซิฟิลิสระยะแฝงเกิน 2 ปี ซิฟิลิสเข้าระบบหัวใจและหลอดเลือด และซิฟิลิสที่เข้าระบบประสาท ควรตรวจวีดีอาร์แอลทุก 3 เดือน จนครบปีที่ 1 ต่อไปให้ตรวจทุก 6 เดือน จนครบปีที่ 2 และต่อไปให้ตรวจปีละ 1 ครั้ง จนตลอดชีวิตของผู้ป่วย
- การรักษาแม้จะช่วยป้องกันการทำลายของอวัยวะในร่างกายได้ แต่ก็ไม่สามารถรักษาอวัยวะที่ถูกทำลายไปแล้วได้
- เมื่อเป็นโรคซิฟิลิสครั้งหนึ่งแล้วไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นโรคนี้อีก แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและครบถ้วนก็ยังสามารถติดเชื้อใหม่ได้อีก
- เพื่อช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในระยะท้ายของโรค การรักษาควรหยึดหลักบำรุงสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง โดยการปฏิบัติดังนี้
- อาหารที่รับประทานจะต้องประกอบไปด้วยข้าว ผัก ผลไม้ ถั่วต่าง ๆ รวมทั้งนมและไข่
- ดื่มน้ำให้มาก ๆ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- งดการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และสิ่งกระตุ้นทั้งปวง ตลอดจนน้ำชา กาแฟ และอาหารเผ็ดร้อนต่าง ๆ
- อาบน้ำบ่อย ๆ และอาบน้ำอุ่นก่อนนอนสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง
วิธีป้องกันโรคซิฟิลิส
- วิธีที่ดีที่สุดคือการไม่มีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียว และทราบผลเลือดของคู่นอนด้วยว่าปกติ ไม่ติดเชื้อ
- คู่นอนควรจะต้องแจ้งถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมทั้งซิฟิลิส เพื่อจะได้ป้องกันการติดเชื้อ
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และใช้สารเสพติด เพราะจะทำให้ขาดสติและเพิ่มการมีเพศสัมพันธ์แบบเสี่ยงได้
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคซิฟิลิส
- หลีกเลี่ยงการเที่ยวหรือการสำส่อนทางเพศ และถ้าจะหลับนอนกับคนที่สงสัยว่าเป็นโรค ควรป้องกันการติดเชื้อโดยสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันได้เกือบ 100%
- แผลของอวัยวะเพศ เช่น ซิฟิลิส เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย ทั้งที่ถุงยางครอบถึงหรือไม่ถึงได้ การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคซิฟิสได้
- การใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารฆ่าเชื้ออสุจิ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Nonoxynol-9 นั้นไม่ได้ผลดีไปกว่าถุงยางที่ไม่มีสารชนิดนี้ในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จึงไม่แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารชนิดนี้เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งซิฟิลิสไม่สามารถป้องกันได้ด้วยการล้างอวัยวะเพศ การปัสสาวะ หรือสวนล้างช่องคลอดทันทีหลังการมีเพศสัมพันธ์
- ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศและร่างกายอยู่เสมอ รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดีโดยการปฏิบัติตามหลักสุขบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและช่วยลดโอกาสการติดเชื้อต่าง ๆ
- ไปพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการดังกล่าว อย่ารักษาด้วยตัวเอง หรือไปพบแพทย์เมื่อมีความกังวลในอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งรวมถึงซิฟิลิส
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2. “ซิฟิลิส (Syphilis)”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 1044-1046.
- Siamhealth. “ซิฟิลิส Syphilis”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [05 มี.ค. 2017].
- หาหมอดอทคอม. “ซิฟิลิส (Syphilis)”. (นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [06 มี.ค. 2017].
- ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย. “ซิฟิลิส Syphilis”. (โดยคณะอนุกรรมการภาคประชาชนและสังคม พ.ศ.2556-2558). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rtcog.or.th. [06 มี.ค. 2017].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)