ซาลบูทามอล
ซาลบูทามอล / ซาลบิวทามอล / ซาลบูตามอล / ซัลบูทามอล (Salbutamol) หรือ อัลบูเทอรอล (Albuterol) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า เวนโทลิน (Ventolin), เวนเทอรอล ไซรัพ (Venterol syrup) เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์กระตุ้น Adrenergic receptor ที่บริเวณกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลม ทำให้หลอดลมขยายตัวโดยไม่มีผลต่อกล้ามเนื้อหัวใจ ใช้เพื่อบรรเทาอาการของโรคหอบหืด (Asthma) ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และภาวะอื่น ๆ ที่มีหลอดลมหดเกร็ง/ตีบตัวร่วมด้วย ยาประเภทนี้มักใช้โดยวิธีการสูดดมหรือฉีดพ่นละออง แต่ก็มีแบบที่เป็นยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม และยาฉีดด้วยเช่นกัน โดยยาแบบสูดดมจะออกฤทธิ์ภายใน 15 นาที และคงฤทธิ์อยู่ได้นานประมาณ 2-6 ชั่วโมง[5],[6]
องค์การอนามัยโลกได้จัดให้ยาซาลบูทามอลเป็นยาจำเป็นสำหรับระบบสาธารณสุขขั้นมูลฐาน ซึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย เนื่องจากยานี้มีข้อควรระวัง ข้อห้ามในการใช้ และผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้นได้หลังจากการใช้ยา ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาซาลบูทามอลจึงควรใช้ยาภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
ตัวอย่างยาซาลบูทามอล
ยาซาลบูทามอล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น เอโรทามอล 100 (Aerotamol 100), แอนโทลิน ไซรัป (Antolin syrup), แอนโทมอล (Antomol), แอนโทมอล ไซรัป (Antomol syrup), แอสมาซอล (Asmasal), แอสมาซอล ไซรัป (Asmasal syrup), แอสมาทอล (Asmatol), แอสมอล (Asmol), แอสมอล ไซรัป (Asmol syrup), แอสทาลิน ซีเอฟซี-ฟรี (Asthalin CFC-Free), แอสทามอล (Asthamol), แอสมา แท็บ (Asthma tab), แอสโมลิน (Asthmolin), แอสโมลิน ไซรัป (Asthmolin syrup), เบนโนทีน แท็บเล็ต (Bennotine tablet), โบโคมา แท็บเล็ต (Bocoma tablets), บรอนโชดิล แท็บเล็ต (Bronchodil tablets), บรอโชลิน ไซรัป (Broncholin syrup), บรอนโชซอล (Bronchosol), บรอนโชซอล ไซรัป (Bronchosol syrup), บูรา-แอส (Bura-as), บูทามอล (Butamol tablet), บูโท-แอสมา (Buto-Asma), บูเวนทอล อิสซีเฮเลอร์ (Buventol Easyhaler), ซินทามอล (Cintamol), ซินทามอล ไซรัป (Cintamol syrup), ดูราซอล-ซีอาร์ 4 มิลลิกรัม (Durasal-CR 4 mg.), ดูราซอล-ซีอาร์ 8 มิลลิกรัม (Durasal-CR 8 mg.), เอ็กโคแพน (Excopan), ฟาบู (Fabu), ฮอว์กทามอล (Hawktamol), เอ็น-โทลิน (N-tolin), นาโทลิน ไซรัป (Natolin syrup), นาโซ แท็บเล็ต (Naso tablets), โรทามอล (Rotamol), ซาโบริน (Saborin), ซาบูมอล (Sabumol), ซาบูเทค (Sabute), ซาลบู (Salbu), ซาลบูลิน ไซรัป (Salbulin syrup), ซาลบูเซียน แท็บเล็ต (Salbusian tablets), ซาลบูเซียน ชนิดน้ำเชื่อม (Salbusian syrup), ซาลบูแทค (Salbutac), ซาลบูแทนท์ (Salbutant), ซาลบูแทนท์ ไซรัป (Salbutant syrup), ซาลบูทามอล จีพีโอ (Salbutamol GPO), ซาลบูทามอล อินฮาลาชั่น ซีเอฟซี-ฟรี (Salbutamol Inhalation CFC-Free), ซาลบูทามอล เมดิฟาร์มา (Salbutamol Medicpharma), ซาลบูทามอล โอสถ (Salbutamol Osoth), ซาลบูทามอล ยูโทเปียน (Salbutamol Utopian), ซาลดา ไซรัป (Salda syrup), ซาลดอล (Saldol), ซาลมาพลอน 2 (Salmaplon 2), ซาลมาพลอน 4 (Salmaplon 4), ซาลโมดอน (Salmodon), ซาลมอล แอตแลนติก (Salmol Atlantic), ซาลมอล ไซรัป (Salmol Syrup), ซาลทาลิน (Satalin), ซาลเวนท์ (Salvent), ซาลเวนท์ 2 มิลลิกรัม ไซรัป (Salvent 2 mg syrup), โซเลีย (Solia), สตาร์เวนท์ (Starvent), ทานาลิน (Tanalin), วาสมอล ไซรัป (Vasmol syrup), เวนบูเมด (Venbumed), เวนบูมอล (Venbumol), เวนไลน์ แท็บเล็ต (Venline tablets), เวนเมด (Venmed), เวนทาเมด (Ventamed), เวนเทอรอล (Venterol), เวนเทอรอล ไซรัพ (Venterol syrup), เวนเทอรอล แท็บเล็ต 2 มิลลิกรัม (Venterol tablets 2 mg.), เวนโลทิน (Ventolin), เวนโทลิน ไซรัป (Ventolin syrup), เวนโทมอล (Ventomol), ไวโอลิน (Violin), ไวโอลิน ไซรัป (Violin syrup), วอลแม็กซ์ 4 มิลลิกรัม (Volmax 4 mg.), วอลแม็กซ์ 8 มิลลิกรัม (Volmax 8 mg.), วอนทิน (Vontin), ซาลบู เนบลู (Zalbu Nebule), ซีบู-2 (Zebu-2), ซีบู-4 (Zebu-4) ฯลฯ
รูปแบบยาซาลบูทามอล
- ยาเม็ด ขนาด 2 หรือ 4 มิลลิกรัม และขนาด 8 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นชนิดที่ออกฤทธิ์นาน
- ยาน้ำเชื่อม ขนาด 2 มิลลิกรัม/ช้อนชา (5 มิลลิลิตร)
- ยาพ่นสูด (Inhaler) ขนาด 0.1 มิลลิกรัม/หน (puff)
- ยาพ่นชนิดเนปบูล (Nebules ; เป็นยาพ่นแบบฝอยละอองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดซึมของตัวยา) ขนาด 2.5 มิลลิกรัม
- ยาฉีด ขนาด 0.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
สรรพคุณของยาซาลบูทามอล
- ยานี้เป็นยาขยายหลอดลม ใช้เพื่อช่วยป้องกันและรักษาอาการหายใจมีเสียงหวีดเนื่องจากหายใจขัด หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ซึ่งเกิดจากโรคปอดที่มีหลอดลมหดเกร็ง/ตีบตัวและมีการอุดกั้นทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด (Asthma), ภาวะปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งรวมถึงโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) และถุงลมปอดโป่งพอง (Emphysema), หลอดลมอักเสบเฉียบพลัน (Acute bronchitis) ที่มีภาวะหลอดลมตีบตัวร่วมด้วย และภาวะหลอดลมหดเกร็งเนื่องจากการออกกำลังกาย[1],[6]
- ใช้ป้องกันภาวะหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) เนื่องจากการออกกำลังกาย[2],[6]
- ยานี้อาจใช้เพื่อช่วยรักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia) ได้[5]
- ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4]
กลไกการออกฤทธิ์ของยาซาลบูทามอล
ยาซาลบูทามอลจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยที่ตัวยาจะไปกระตุ้นตัวรับในระดับเซลล์ของผนังหลอดลมที่เรียกว่า เบต้า-2 รีเซปเตอร์ (Beta-2 receptor) ทำให้หลอดลมคลายตัวและเกิดฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณดังกล่าว
หลังจากการรับประทานยาและเมื่อยานี้เข้าสู่กระแสเลือดแล้ว ตัวยาจะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-6 ชั่วโมง ในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือดครึ่งหนึ่งโดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ก่อนใช้ยาซาลบูทามอล
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาซาลบูทามอล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาซาลบูทามอล (Salbutamol) หรือส่วนประกอบใด ๆ ในยานี้ และประวัติการแพ้ยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
- โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายหรือที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาซาลบูทามอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ (ในบางกรณีจะไม่สามารถใช้ยาที่มีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาร่วมกันได้เลย แต่บางกรณีก็อาจจำเป็นต้องใช้ยา 2 ชนิดนั้นร่วมกัน ถึงแม้ว่าจะมีปฏิกิริยาต่อกันระหว่างยาเกิดขึ้นได้ก็ตาม ซึ่งในกรณีนี้แพทย์จะปรับขนาดยา หรือเพิ่มความระมัดระวังในการให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างเหมาะสมมากขึ้น) เช่น
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยารักษาโรคหัวใจ เช่น ไดจอกซิน (Digoxin) อาจทำให้ความเข้มข้นของยาไดจอกซินในกระแสเลือดลดต่ำลงจนสั่งผลต่อการรักษา จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ยาขับปัสสาวะ อาจทำให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ หากไม่มีความจำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยาเหล่านี้
- การใช้ยาซาลบูทามอลร่วมกับยาโค-ไตรม็อกซาโซล (Co-trimoxazole) อาจทำให้การดูดซึมของยาโค-ไตรม็อกซาโซลเพิ่มมากขึ้น และเกิดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะได้รับผลข้างเคียงเพิ่มขึ้นจากเดิม หากมีความจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน แพทย์อาจปรับขนาดการรับประทานยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การมีหรือเคยมีโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ การเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคปอด ภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ลมชัก และโรคฟีโอโครโมไซโตมา (Pheochromocytoma) ซึ่งเป็นเนื้องอกของต่อมหมวกไตชนิดหนึ่ง
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้
ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาซาลบูทามอล
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติการแพ้ซาลบูทามอล (Salbutamol)
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตกเลือด และผู้ที่มีการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ห้ามใช้ยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพแล้ว
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี[6]
- การใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ ควรเริ่มต้นที่ปริมาณต่ำไว้ก่อน คือ ครั้งละ 2 มิลลิกรัม[3],[6]
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจเต้นผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน และโรคลมชัก
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ (จัดอยู่ในประเภท C ให้ใช้เฉพาะในกรณีที่จำเป็น)
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับหญิงให้นมบุตร เนื่องจากยานี้สามารถขับออกมาทางน้ำนมของมารดาได้ แต่ยังไม่ทราบปริมาณที่แน่นอน การใช้ยาซาลบูทามอลกับหญิงให้นมบุตรจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ (แต่เท่าที่มีรายงานยังไม่พบว่าเกิดผลเสียต่อทารกในรายที่ได้รับยาพ่นสูดดม[6])
วิธีใช้ยาซาลบูทามอล
- ยารับประทาน ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม (อาจเพิ่มได้ถึงครั้งละ 8 มิลลิกรัม) วันละ 3-4 ครั้ง แต่หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน ให้รับประทานในขนาด 8 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น ส่วนในเด็กอายุ 1 เดือน ถึง 2 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 0.1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 3-4 ครั้ง ในเด็กอายุ 2-6 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 1-2 มิลลิกรัม (½-1 ช้อนชา) วันละ 3-4 ครั้ง ในเด็กอายุมากกว่า 6 ปี ถึง 12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) วันละ 3-4 ครั้ง และในเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ให้รับประทานยาครั้งละ 2-4 มิลลิกรัม (1-2 ช้อนชา) วันละ 3-4 ครั้ง ส่วนในผู้สูงอายุให้รับประทานยาในขนาดเริ่มต้น 2 มิลลิกรัม วันละ 3-4 ครั้ง[1],[3]
- ยาพ่นสูด (Inhaler) ในผู้ใหญ่ให้สูดครั้งละ 1-2 หน (100-200 ไมโครกรัม) เวลาที่มีอาการ หรือทุก 4-6 ชั่วโมง[1] ส่วนในเด็กทุกอายุและผู้สูงอายุ ขนาดการใช้ยารูปแบบนี้จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์[3]
- ยาพ่นชนิดฝอยละออง (Nebules) ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 18 เดือนขึ้นไป ให้ใช้ในขนาด 2.5-5 มิลลิกรัม และอาจพ่นซ้ำได้ถึงวันละ 4 ครั้ง โดยใช้อัตรา 1-2 มิลลิกรัม/ชั่วโมง ส่วนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 เดือน ขนาดการใช้ยารูปแบบนี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์[3]
- ยาฉีด ในผู้ใหญ่ ให้ฉีดยาครั้งละ 0.25 มิลลิกรัม (0.5 มิลลิลิตร) ส่วนในเด็กให้ฉีดยาครั้งละ 0.01 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 0.25 มิลลิกรัม) โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ถ้าฉีดครั้งแรกไม่ได้ผล ให้ซ้ำได้อีก 1-2 ครั้ง ทุก 20 นาที[1] (ยาฉีดมักใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง[6])
- สำหรับการใช้ป้องกันภาวะหลอดลมหดเกร็ง (Bronchospasm) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยาพ่นสูด สูดครั้งละ 2 หน (180 หรือ 216 ไมโครกรัม) ส่วนในเด็กอายุมากกว่า 4 ปี ให้ใช้ยาพ่นสูด (HFA) สูดครั้งละ 2 หน (216 ไมโครกรัม) และในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป ให้ใช้ยาพ่นสูด (non-HFA) สูดครั้งละ 2 หน (180 ไมโครกรัม) โดยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ให้สูดก่อนออกกำลังกายประมาณ 15 นาที[2]
คำแนะนำในการใช้ยาซาลบูทามอล
- ยานี้ในรูปแบบรับประทาน ควรรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง หรือรับประทานหลังอาหาร 2 ชั่วโมง และห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยา (โดยเฉพาะยาเม็ดชนิดที่ออกฤทธิ์นาน) แต่หากรับประทานยาแล้วเกิดอาการรู้สึกไม่สบายท้อง อาจรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารหรือนมเพื่อลดอาการดังกล่าว
- สำหรับยาน้ำเชื่อม ให้เขย่าขวดก่อนการรับประทานยา และควรใช้ช้อนตวงยาที่ให้มาโดยเฉพาะในการตวงยารับประทาน
- โดยทั่วไปยานี้ในรูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และยาพ่นสูด จะให้รับประทานหรือพ่นวันละ 3-4 ครั้ง (ส่วนยาเม็ดชนิดที่ออกฤทธิ์นาน โดยทั่วไปจะให้รับประทานวันละ 1-2 ครั้ง) หรือใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้ในฉลากยาหรือตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่มากกว่าหรือบ่อยกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[4]
- ยาชนิดรับประทานและยาพ่นสูดอาจทำให้มีอาการใจสั่น มือสั่น แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเอง หลังจากใช้ยาติดต่อกันไปประมาณ 1 สัปดาห์[1]
- แม้ยาพ่นสูดจะมีผลข้างเคียงน้อย แต่ก็ควรใช้สูดเฉพาะเมื่อมีอาการ และซ้ำได้เมื่อมีอาการกำเริบ แต่ไม่ควรเกินวันละ 4 ครั้ง และไม่ควรใช้เป็นประจำ เพราะอาจทำให้ร่างกายทนต่อยา เพิ่มความไวต่อสิ่งเร้า อาการแย่ลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น[1]
- ยานี้สามารถใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร แต่เพื่อความปลอดภัยควรงดใช้หรือใช้ในปริมาณน้อยโดยความดูแลของแพทย์[5]
การเก็บรักษายาซาลบูทามอล
- ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเสมอ
- ควรเก็บยาซาลบูทามอลชนิดรับประทานที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาให้พ้นแสงแดด ไม่ให้อยู่ในที่ร้อนมากกว่า 30 องศาเซลเซียส เช่น ในรถยนต์ บริเวณใกล้หน้าต่าง (บางข้อมูลแนะนำให้เก็บยาชนิดรับประทานในช่วงอุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส[2]) และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น เช่น ในห้องน้ำ[4]
- สำหรับยาพ่นสูดหรือยาพ่นแบบฝอยละออง และยาน้ำเชื่อม ควรเก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 2-25 องศาเซลเซียส (ห้ามแช่แข็งยา)
- ให้ทิ้งยาที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพ
เมื่อลืมรับประทานยาซาลบูทามอล
โดยทั่วไปเมื่อลืมรับประทานหรือพ่นยาซาลบูทามอล ให้รับประทานยาหรือพ่นยาในทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการรับประทานยาหรือพ่นยาในมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยาหรือพ่นยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า หรือมากกว่าปกติ
ผลข้างเคียงของยาซาลบูทามอล
อาจทำให้มีอาการมือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว ชีพจรผิดปกติ รู้สึกกระวนกระวาย ปวดศีรษะเล็กน้อย เวียนศีรษะ เป็นตะคริว ผื่นคัน ลมพิษ (แพ้ยา) และความดันโลหิตต่ำ[1],[3],[4]
- ผลข้างเคียงที่หากเกิดขึ้นและเป็นต่อเนื่องหรือรบกวนชีวิตประจำวัน ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ ได้แก่ อาการกระวนกระวาย นอนหลับยาก ปวดศีรษะเล็กน้อย เลือดกำเดาไหล คลื่นไส้[4]
- ผลข้างเคียงรุนแรงที่ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทันที ได้แก่ เจ็บแน่นหน้าอกและหัวใจเต้นเร็ว แรง ผิดปกติ หายใจติดขัดมากขึ้น หายใจมีเสียงหวีดเนื่องจากหายใจขัดที่มีอาการเพิ่มมากขึ้นหรืออาการไม่หายไป มีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีอาการชาตามปลายมือปลายเท้า มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ดวงตา ริมฝีปาก ลิ้น คอ มือ เท้า ข้อเท้า หรือขาช่วงล่าง เสียงแหบ จุกปาก จุกคอ ความดันโลหิตสูงขึ้น เกิดอาการวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม อาเจียน ผื่นคัน ผื่นลมพิษ[4],[6]
- การรับประทานยานี้เกินขนาด จะทำให้เกิดอาการมือสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว และความดันโลหิตสูง เกิดการกระตุ้นสมอง (ทำให้กระสับกระส่ายนอนไม่หลับ) ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ (กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ) และระดับน้ำตาลในเลือดสูง หากเกิดอาการดังกล่าว ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1. “ซาลบูทามอล”. (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ). หน้า 272.
- Drugs.com. “Albuterol Dosage”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com. [12 พ.ย. 2016].
- หาหมอดอทคอม. “ซาลบูทามอล (Salbutamol) เวนโทลิน (Ventolin)”. (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : haamor.com. [12 พ.ย. 2016].
- ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.). “SALBUTAMOL SULPHATE”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net. [12 พ.ย. 2016].
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “ซัลบูทามอล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org. [12 พ.ย. 2016].
- Siamhealth. “ยาขยายหลอดลม Salbutamol”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net. [12 พ.ย. 2016].
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)