ช้างงาเดียว สรรพคุณและประโยชน์ของต้นช้างงาเดียว 7 ข้อ !

ช้างงาเดียว

ช้างงาเดียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Luvunga scandens (Roxb.) Buch.-Ham. ex Wight & Arn.  (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Limonia scandens Roxb. , Luvunga nitida Pierre) จัดอยู่ในวงศ์ส้ม (RUTACEAE)

สมุนไพรช้างงาเดียว มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ช้างงาเดียว (จันทบุรี), หนามคาใบ (ประจวบคีรีขันธ์), หนามเกียวไก่ หนามคือไก่ (ภาคเหนือ) เป็นต้น[1],[2]

ส่วนหนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทยของ ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม ได้ระบุว่า ช้างงาเดียวมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paramignys scandens Craib. และมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หนามคาใบ หนามควาก ช้างงาเดียว (เชียงใหม่), ช้างงาเดียว (จันทบุรี), หนามคาใบ หนามเดือยไก่ (ประจวบคีรีขันธ์), เดือยไก่ (สตูล) เป็นต้น[1],[2]

หมายเหตุ : ผู้เขียนเข้าใจว่าพรรณไม้ทั้งสองชนิดนี้เป็นชนิดเดียวกัน เพียงแต่ว่าเป็นคนละสายพันธุ์ ส่วนในด้านสรรพคุณทางยา เข้าใจว่าน่าจะคล้ายคลึงกันและสามารถนำมาใช้แทนกันได้ (ตามภาพประกอบเป็นช้างงาเดียวชนิด Luvunga scandens (Roxb.) Buch.-Ham. ex Wight & Arn.)

ลักษณะของช้างงาเดียว

  • ต้นช้างงาเดียว จัดเป็นไม้รอเลื้อยที่มีลำต้นขนาดเล็ก สามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 25-30 เมตร พรรณไม้ชนิดนี้มักพบขึ้นเองตามป่าดิบ ป่าเบญจพรรณ และตามป่าบนเขาสระบาป โดยจะพบได้มากที่จังหวัดจันทบุรี[1],[2]

ต้นช้างงาเดียว

  • ใบช้างงาเดียว ใบเป็นใบเดี่ยว เมื่อต้นยังอ่อน แผ่นใบจะมีลักษณะเรียวยาวขอบขนาน คล้ายกับใบคัดเค้า แผ่นใบเป็นสีเขียวเข้ม ปลายใบแหลม มีขนาดกว้างประมาณ 2 เซนติเมตร และยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เมื่อต้นโตขึ้นใบจะมีลักษณะเป็น 3 ใบย่อย ออกจากจุดเดียวกันและมีขนาดเท่ากัน โดยจะมีขนาดกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีหนามโค้งงอกออกตรงข้ามกับใบ มีขนาดประมาณ 5 เซนติเมตร ลักษณะดูคล้ายกับงาช้าง[1],[2]

หนามคาใบ

  • ดอกช้างงาเดียว ออกดอกเป็นช่อขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ ดอกเป็นสีขาว[2]

ดอกช้างงาเดียว

  • ผลช้างงาเดียว ผลมีลักษณะกลม มีเมล็ดเดี่ยว[2]

สรรพคุณของช้างงาเดียว

  1. รากช้างงาเดียว มีรสขื่นปร่า ใช้เป็นยารักษากษัย (ราก)[1]
  2. ช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)[4]
  3. รากใช้เป็นยารักษาพิษฝีภายใน (ราก)[1]
  4. ใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (ราก)[1]
  5. ช่วยรักษาโรคไตพิการ (ราก)[1]
  6. รากใช้เป็นยาป้องกันโรคหลังการคลอดบุตรของสตรี (ราก)[3]
  7. ช่วยคลายกล้ามเนื้อเรียบของลำไส้และมดลูก (ไม่ระบุส่วนที่ใช้ แต่เข้าใจว่าคือส่วนของราก)[4]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ช้างงาเดียว”.  หน้า 264.
  2. สวนพฤกษศาสตร์คลองไผ่, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ช้างงาเดียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/kp_bot_garden/kpb.htm. [12 ก.ย. 2014].
  3. พืชสมุนไพรโตนงาช้าง.  “ช้างงาเดียว”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : paro6.dnp.go.th/web_km/พืชสมุนไพรโตนงาช้าง/. [12 ก.ย. 2014].
  4. ภูมิปัญญาอภิวัฒน์.  “สมุนไพรในสวนอภัยภูเบศร์”.  (สมหวัง วิทยาปัญญานนท์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.budmgt.com.  [12 ก.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.plantphoto.cn

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด