ชิงช้าชาลี
ชิงช้าชาลี ชื่อสามัญ Heart-leaved Moonseed[3], Gulancha Tinospora[5]
ชิงช้าชาลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora baenzigeri Forman[1],[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tinospora cordifolia (Willd.) Miers[5] จัดอยู่ในวงศ์บอระเพ็ด (MENISPERMACEAE)[1]
สมุนไพรชิงช้าชาลี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จุ่งจะลิงตัวแม่ (ภาคเหนือ)[1],[2], จุ่งจะริงตัวพ่อ (ภาคเหนือ), บรเพ็ชร บรเพ็ชร์ ชิงชาลี (ภาคกลาง), ตะซีคี, ตะคี[4], ตะซีคิ (กะเหรี่ยง ภาคเหนือ)[5] เป็นต้น
ลักษณะของชิงช้าชาลี
- ต้นชิงช้าชาลี จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยพาดพันต้นไม้อื่น ตามเถามีรูอากาศสีขาว เถามีลักษณะกลมและเหนียว ตามเถามีปุ่มปมเล็กน้อย เถาอ่อนเป็นสีเขียว ทุกส่วนมีรสขม โดยเฉพาะเถาแก่[1],[2],[3] ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการปักชำ มักพบขึ้นตามที่รกร้างทั่วไป[4]
- ใบชิงช้าชาลี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบาง หลังใบและท้องใบเรียบ ด้านหลังใบใกล้กับโคนใบมีปุ่มเล็ก ๆ 2 ปุ่มอยู่บนเส้นใบ ก้านใบยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกชิงช้าชาลี ออกดอกเป็นช่อ โดยช่อดอกจะออกตามเถาและตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีครีมมีขนาดเล็ก ไม่มีกลีบดอก ดอกมีเกสรเพศผู้ยาวพ้นออกจากดอก[1]
- ผลชิงช้าชาลี ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผิวผลเรียบเป็นมัน ผลสดเป็นสีเขียวเข้ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เนื้อผลฉ่ำน้ำเป็นสีขาวใส เมล็ดเดี่ยวสีดำหรือสีเทาค่อนข้างดำ ผิวเมล็ดขรุขระ[1],[2]
สรรพคุณของชิงช้าชาลี
- เถามีรสขมเย็น มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย (เถา)[1],[2],[4],[5]
- ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ แก้ธาตุไม่ปกติ ช่วยเจริญอาหาร (เถา)[1],[2],[3],[4],[5] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าให้ใช้รากและดอกเป็นยาแก้ธาตุพิการ (รากและดอก)[5]
- ใช้เป็นยาแก้มะเร็ง (เถา, ใบ)[1],[2],[4]
- น้ำต้มจากทั้งต้นมีสรรพคุณเป็นยาลดเบาหวานได้ (ทั้งต้น)[5]
- เถาใช้เป็นยาแก้ไข้ ไข้กาฬ ไข้เหนือ ไข้มาลาเรีย ไข้มาลาเรียที่จับเว้นระยะ (antiperiodic) ทำให้เลือดเย็น (สามารถนำมาใช้แทนเถาบอระเพ็ดได้) (เถา)[1],[2],[3],[4],[5],[6]
- เถาใช้เป็นยาแก้โลหิตอันเป็นพิษ แก้ร้อนใน ช่วยบรรเทาอาการกระหายน้ำ (เถา)[4],[6]
- รากอากาศมีรสเย็น ใช้เป็นยาแก้ไข้พิษร้อน (รากอากาศ)[1]
- รากอากาศมีสรรพคุณทำให้อาเจียนอย่างแรง (รากอากาศ)[1],[5]
- ดอกมีรสขมเมาใช้เป็นยาแก้แมลงเข้าหู (ดอก)[2]
- ใช้แก้อาการปวดฟัน แก้รำมะนาด (ดอก)[2]
- ดอกใช้เป็นยาขับพยาธิในท้อง ในหู ในฟัน (ดอก)[2],[4]
- รากและดอกใช้ปรุงเป็นยาขับลม แก้ท้องเฟ้อ (รากและดอก)[5]
- เถาใช้เป็นยาแก้โรคทางเดินปัสสาวะ (เถา)[1],[2],[5]
- ใบมีรสขมเมา มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงน้ำดี แก้ดีพิการ (ใบ)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาแก้ดีซ่าน (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[6]
- ใบใช้เป็นยาถอนพิษ ดับพิษทั้งปวง (ใบ)[1],[2],[4]
- ใบนำมาบดผสมกับน้ำผึ้งใช้ทารักษาแผล (ใบ)[1],[2],[5]
- ใบอ่อนใช้ผสมกับน้ำนมทาแก้ไฟลามทุ่ง (erysipelas) (ใบ)[1],[2]
- ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ พยาธิผิวหนัง (ใบ)[1],[2],[4]
- ใบสดใช้ตำพอกรักษาฝีทำให้เย็น (ใบ)[4]
- เถาใช้เป็นยาแก้พิษฝีดาษ แก้ฝีกาฬ อันบังเกิดเพื่อฝีดาษ (เถา)[1],[2],[4]
- ใช้เป็นยาแก้อักเสบ แก้พิษอักเสบ (เถา)[1],[2],[5]
- ใบสดใช้ตำพอกรักษาอาการปวด (ใบ)[1],[2],[4]
- ใช้แก้อาการเกร็ง (เถา)[1],[2],[5]
- รากและดอกใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อย (รากและดอก)[5]
ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [5] ให้นำต้น ใบ เถา 1 กำมือ มาต้มกับน้ำ 3 แก้ว เคี่ยวนานประมาณ 10-15 นาที แล้วนำมาแบ่งดื่มเช้าและเย็น หรือใช้รากประมาณ 90-120 กรัม นำมาทุบให้แหลก ใช้ต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชิงช้าชาลี
- เถาชิงช้าชาลีมี Glucoside รสขม ชื่อ giloin glucosides ที่ไม่ขม giloinin และ golo-sterol นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า พบแอลคาลอยด์อีก 3 ชนิด essential oil และ fatty acids ในพืชนี้ เมื่อไม่นานมานี้มีผู้พบสารรสขม columbin chasmanthin และ palmarin นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งพบสารรสขมอีก 3 ชนิด คือ tinosporan, tinosporic acid และ tinosporol ส่วนใบชิงช้าชาลีมีปริมาณของโปรตีนสูง มีแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณปานกลาง[5]
- จากการทดลองในสัตว์โดยใช้เถาชิงช้าชาลี พบว่าไม่มีฤทธิ์ลดไข้ แต่มีฤทธิ์แก้ปวดและลดการอักเสบ[3]
- ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต ต้านไวรัส ขับปัสสาวะ แก้ปวด ลดการอักเสบ[5]
- สารรสขมที่มีอยู่ในเถาชิงช้าชาลี ใช้เป็นยาแก้ไข้มาลาเรียที่จับเว้นระยะ แก้อาการเกร็ง แก้อาการอักเสบ แก้ไข้ และมีรายงานว่าเถาออกฤทธิ์เป็นยาระงับความเจ็บปวดได้ประมาณ 1/5 ของ Sodium salicylate ส่วนสิ่งสกัดด้วยน้ำของชิงช้าชาลีมี Phagocytic index สูง มีฤทธิ์ระงับการเจริญของ Mycobacterium tuberculosis นอกร่างกาย และสิ่งสกัดด้วยแอลกอฮอล์ของเถามีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Escherichia coli[5]
- จากการทดสอบความเป็นพิษโดยการฉีดสารสกัดทั้งต้นของพืชชนิดนี้ด้วยเอทานอลกับน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 เข้าช่องท้องของหนูถีบจักร พบว่าในขนาดสูงสุดที่สัตว์ทดลองทนได้คือ 250 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม[5]
- เมื่อปี ค.ศ.1985 ประเทศอินเดีย ได้ทดลองใช้สารสกัดจากต้นชิงช้าชาลีในสัตว์ทดลอง ผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองได้[5]
- เมื่อปี ค.ศ.1992 ประเทศอินเดีย ได้ทดลองใช้สารสกัดชิงช้าชาลีในกระต่าย ผลการทดลองพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้[5]
- เมื่อปี ค.ศ.2002 ที่นิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้ทดลองในหนู และได้พบว่าสารสกัดชนิดหนึ่งที่อยู่ในชิงช้าชาลีสามารลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูได้ แต่ในคนยังไม่เคยพบรายงานการทดลอง ระยะเวลาทดลองนาน 1 เดือน สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ 38.01%[5]
- เมื่อปี ค.ศ.2003 ประเทศอินเดีย ใน Annamalai University ได้ทดลองกับหนูที่เป็นเบาหวาน โดยใช้สารสกัดจากรากชิงช้าชาลีด้วยแอลกอฮอล์ ใช้ระยะเวลาในการทดลองนาน 6 อาทิตย์ ผลการทดลองพบว่าสามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดของหนูและลดน้ำหนักของหนูทดลองได้[5]
ประโยชน์ของชิงช้าชาลี
- ใบใช้เป็นอาหารสัตว์[5]
- ใช้ปลูกเป็นไม้เลื้อยประดับทั่วไป เจริญเติบโตเร็ว ไม่ต้องการดูแลรักษามาก
- เถาที่โตเต็มที่แล้วนำมาจัดโยงให้แน่นระหว่างเสาหรือต้นไม้ใหญ่ ทำเป็นชิงช้าสำหรับเด็ก ๆ ใช้แกว่งไกวเล่น
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ชิงช้าชาลี (Chingcha Chali)”. หน้า 106.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 110.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ชิงช้าชาลี Heart-leaved Moonseed”. หน้า 203.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 269-270.
- หนังสือสมุนไพรบำบัดเบาหวาน 150 ชนิด. (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก). “ชิงช้าชาลี”. หน้า 81-82.
- หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ชิงช้าชาลี”. เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/. [05 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Somjit2012, AnitaWPANewDelhi, Dinesh Valke, Sanjay Tiwari / Melissa Selby)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)