“ชา” เป็นเครื่องดื่มที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันการผลิต “ชาเขียว” ในรูปแบบของการเป็นเครื่องดื่มสำเร็จรูปก็มีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลาย ทำให้สะดวกต่อการบริโภค และด้วยรสชาติที่อร่อย ทำให้รู้สึกสดชื่น รวมไปถึงการโฆษณาของผลิตภัณฑ์ชาเขียว หรือมีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพคุณของการดื่มชาเขียวที่มีต่อร่างกายมากมาย เหล่านี้จึงเป็นแรงจูงใจทำให้กระแสการบริโภคชาเขียวเพิ่มขึ้น จนอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม หรือบริโภคในปริมาณที่สูงเกินไปโดยไม่ทราบถึงผลกระทบต่อร่างกาย ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับชาเขียว ว่าจะต้องเลือกบริโภคอย่างไรถึงจะได้ประโยชน์อย่างสูงสุด และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ชาเขียว
ชาเขียว (Green tea) คือ ชาที่ได้มาจากต้นชา ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis ซึ่งชาชนิดนี้จะไม่ผ่านขั้นตอนการหมักเลย เตรียมได้โดยการนำใบชาสดมาผ่านความร้อนเพื่อทำให้ใบชาแห้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งวิธีการก็คือเมื่อเก็บใบชามาแล้วก็นำมาทำให้แห้งอย่างรวดเร็วในหม้อทองแดงโดยใช้ความร้อนไม่สูงเกินไปและใช้มือคลึงเบา ๆ ก่อนแห้ง หรืออบไอน้ำในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วนำไปอบแห้งเพื่อยับยั้งการทำงานเอนไซม์ (ความร้อนจะช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ทำให้ไม่เกิดการสลายตัว) จึงได้ใบชาที่แห้งแต่ยังสดอยู่ และมีสีที่ค่อนข้างเขียว จึงเรียกกันว่า “ชาเขียว” และการที่ใบชาที่ได้นั้นไม่ผ่านขั้นตอนการหมัก จึงทำให้ใบชามีสารประกอบฟีนอล (Phenolic compound) หลงเหลืออยู่มากกว่าในอู่หลงและชาดำ (สองชนิดนี้คือชาที่ผ่านการหมัก) จึงทำให้ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระมากกว่าชาทั้งสอง โดยชาเขียวจะมีสาร EGCG ประมาณ 35-50% ส่วนชาอู่หลงมีประมาณ 8-20% และชาดำจะมี EGCG อยู่เพียง 10%
ชาเขียวที่มีคุณภาพจะได้จากใบชาคู่ที่หนึ่งและใบชาคู่ที่สองที่เก็บจากยอด (ชาวจีนเรียกว่า “บู๋อี๋”) ส่วนใบชาคู่ที่สามและสี่จากยอดจะให้ชาชั้นสอง (ชาวจีนเรียกว่า “อันเคย”) ส่วนใบชาคู่ที่ห้าและหกจากปลายยอดจะเป็นชาชั้นเลว (ชาวจีนเรียกว่า “ล่ำก๋อง”) สำหรับสี กลิ่น และรสชาติของชานั้นจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสารคาเทชินที่มีอยู่ในชา โดยฤดูการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว จะมีผลต่อระดับของสารคาเทชิน ซึ่งในใบชาฤดูใบไม้ผลิจะมีสารคาเทชินประมาณ 12-13% ในขณะที่ชาในฤดูร้อนจะมีสารคาเทชินประมาณ 13-14% (ใบชาอ่อนจะมีสารคาเทชินมากกว่าใบชาแก่)
สารสำคัญที่พบได้ในชาเขียว จะประกอบไปด้วย กรดอะมิโน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี สารในกลุ่ม xanthine alkaloids คือ กาเฟอีน (caffeine) และธิโอฟิลลีน (theophylline) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง และสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ที่เรียกว่า คาเทชิน (catechins) โดยเราสามารถแยกสารคาเทชินออกได้เป็น 5 ชนิด คือ gallocatechin (GC), epicatechin (EC), epigallocatechin (EGC), epicatechin gallate (ECG), และ epigallocatechin gallate (EGCG) โดยคาเทชินที่พบได้มากและมีฤทธิ์ทรงพลังที่สุดในชาเขียว คือ สารอีพิกัลโลคาเทชินกัลเลต (epigallocatechin gallate – EGCG) ซึ่งมีความสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ลักษณะของสีน้ำชา ถ้าชงชาจากใบชาจะให้น้ำชาออกสีเหลืองอ่อนไปจนถึงสีเขียวอ่อน (ถ้าเป็นชาเขียวผง หรือชามัตฉะ จะให้น้ำชาสีเขียวสด) ส่วนกลิ่นของน้ำชานั้น ถ้าเป็นชาเขียวของจีนจะให้กลิ่นเขียวสดชื่น มีกลิ่นคล้ายกลิ่นถั่วปนอยู่ แต่ถ้าเป็นชาเขียวของญี่ปุ่นจะให้กลิ่นเขียวสดค่อนข้างมาก มีกลิ่นของสาหร่าย และอาจมีกลิ่นคล้ายกับโชยุปนอยู่ด้วย
สรรพคุณของชาเขียว
- ชาเขียวถูกนำมาใช้ในการรักษาตั้งแต่โรคปวดศีรษะไปจนถึงโรคซึมเศร้า ซึ่งในประเทศจีนมีการใช้ชาเขียวเป็นยามามากกว่า 4,000 ปีแล้ว
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร
- แก้เมาเหล้า ทำให้สร่างเมา
- ช่วยแก้หวัด แก้ร้อนใน ช่วยขับเหงื่อ ขับสารพิษตกค้าง
- ช่วยให้ผ่อนคลายอารมณ์ สงบประสาท ระบายความร้อนจากศีรษะและเบ้าตา ทำให้สดชื่น ตาสว่าง ไม่ง่วงนอน และช่วยทำให้หายใจสดชื่น
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ ระบายความร้อนออกจากปอด และช่วยขับเสมหะ
- ช่วยแก้บิด ท้องร่วง ท้องเสีย
- ช่วยเพิ่มแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ จึงสามารถช่วยล้างสารพิษและกำจัดพิษในลำไส้ได้
- ช่วยป้องกันตับจากพิษและโรคอื่น ๆ
- ช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด
- ชาเขียวมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ต้านเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้ ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส ต้านเชื้อ Botulinus และเชื้อ Staphylococcus
- ช่วยขับปัสสาวะ ป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีและในไต
- ช่วยในการห้ามเลือดหรือทำให้เลือดไหลช้าลง
- ใช้เป็นยาพอกรักษาแผลอักเสบ แผลพุพอง ไฟไหม้ ฝีหนอง ช่วยบรรเทาอาการผดผื่นคัน ผิวร้อนแห้ง แมลงสัตว์กัดต่อย และยังใช้เป็นยากันยุงได้อีกด้วย
- ชาเขียวสามารถช่วยป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาติก (Rheumatic arthritis) ซึ่งมีอาการอักเสบบวมแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ ที่มักเกิดกับสตรีวัยกลางคน
นายมานพ เลิศสุทธิรักษ์ นายกสมาคมแพทย์แผนจีน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาเขียวว่า การนำชาเขียวมาใช้ควบคู่กับพืชสมุนไพรชนิดอื่น ๆ จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้ คือ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับขึ้นฉ่าย จะช่วยลดความดันโลหิต
- ใช้ชาเขียวร่วมกับไส้หมาก จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ใช้ชาเขียวร่วมกับหนวดข้าวโพด จะช่วยลดความดันโลหิต ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด และช่วยลดอาการบวมน้ำ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับตะไคร้ จะช่วยขับไขมันในเส้นเลือด
- ใช้ชาเขียวร่วมกับเม็ดเก๋ากี้ จะช่วยลดความอ้วน แก้ตาฟาง
- ใช้ชาเขียวร่วมกับใบหม่อน จะช่วยป้องกันโรคหวัด ลดไขมันในเส้นเลือดได้ดี
- ใช้ชาเขียวร่วมกับหัวต้นหอม จะช่วยแก้ไข้หวัดและช่วยขับเหงื่อ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับดอกเก๊กฮวยสีเหลือง จะช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะ ตาลาย
- ใช้ชาเขียวร่วมกับเนื้อลำไยแห้ง จะช่วยบำรุงสมอง และเสริมสร้างความจำ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับโสมอเมริกา ทำให้สดชื่น แก้คอแห้ง และช่วยบำรุงหัวใจ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับบ๊วยเค็ม จะช่วยบรรเทาอาการคอแห้ง แสบคอ เสียงแหบ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับขิงสด จะช่วยรักษาอาการอาหารเป็นพิษและจุกลม
- ใช้ชาเขียวร่วมกับลูกเดือย จะช่วยลดอาการบวมน้ำ ตกขาว มดลูกอักเสบ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับน้ำตาลกลูโคส จะช่วยบรรเทาอาการตับอักเสบ
- ใช้ชาเขียวร่วมกับเม็ดบัว จะช่วยบรรเทาอาการฝันเปียก และยับยั้งการหลั่งเร็วของสุภาพบุรุษ
ประโยชน์ของชาเขียว
- สาร epigallocatechin gallate (EGCG) ที่พบได้มากในชาเขียว มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยในการขับสารพิษในร่างกาย สามารถกวาดล้างอนุมูลอิสระที่เป็นตัวกัดกร่อน DNA ในกระแสเลือดลงได้ จึงส่งผลในการช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์และอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย จนมีสุภาษิตจีนโบราณที่กล่าวไว้ว่า “ขาดอาหารสามวันยังดีเสียกว่า ขาดชาเพียงวันเดียว” และชาเขียวยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้อยู่ในภาวะเครียดจากการทำงานสูง และผู้ที่อยู่ในโปรแกรมการกำจัดไขมันหรือลดน้ำหนักดังจะได้กล่าวในข้อถัดไป
- มีการพิสูจน์แล้วว่าสารต้านอนุมูลอิสระในชาเขียวสามารถช่วยชะลอความแก่ชราและช่วยคงความอ่อนเยาว์ไว้ได้
- แม้ว่าในอาหารอื่น ๆ จะมีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินบี เบต้าแคโรทีน แต่เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระของโพลีฟีนอลในชาเขียวจะเหนือกว่า
- การดื่มชาเขียวนอกจากจะดื่มเพื่อแก้กระหายแล้ว ในชาเขียวยังมีกาเฟอีน (Caffeine) และธิโอฟิลลีน (Theophylline) ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ที่ช่วยแก้อาการง่วงนอนและทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่า กาเฟอีนยังช่วยกระตุ้นสมอง เพิ่มสมาธิ เพิ่มอัตราการเผาผลาญในร่างกาย เพิ่มความดันโลหิต ช่วยทำให้ระบบหมุนเวียนโลหิตทำงานดีขึ้น และยังมีสารจำพวก alcohol และ aldehyde ที่มีกลิ่นหอมทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
- มีงานวิจัยมากมายที่สนับสนุนได้ว่าการดื่มชาเขียวจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมันได้ จึงส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย และยังมีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การดื่มชาเขียวสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมได้ และยังช่วยลดระดับไขมันเลว (LDL) เพิ่มไขมันดี (HDL) ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ดังนั้นการดื่มชาเขียวจึงสามารถช่วยลดความอ้วนได้ โดยมีรายงานการทดลองที่แสดงให้เห็นว่าอาสาสมัครชาวญี่ปุ่นที่ดื่มชาเขียววันละ 9 ถ้วย สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้เฉลี่ย 8 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร The American Journal of Clinical Nutrition ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1999 นักวิจัยได้พบว่า ผู้ที่ดื่มกาเฟอีนและชาเขียว จะมีอัตราการเผาผลาญแคลอรีมากกว่าคนที่ได้รับกาเฟอีนเพียงอย่างเดียว ในขณะที่อีกงานวิจัยหนึ่งได้พบว่า คนที่มีระดับคอเลสเตอรอลค่อนข้างสูง เมื่อเสริมด้วยชาสกัดจากชาเขียวและชาดำ เป็นเวลานาน 3 เดือน จะมีระดับคอเลสเตอรอลที่ลดลงถึง 16% แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ผลการวิจัยโดยใช้แต่สารสกัดจากชาเขียว ไม่พบว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าการเติมชาดำเข้าไปจะทำให้ผลวิจัยประสบความสำเร็จ
- ชาเขียวกับการลดน้ำหนัก การดื่มชาเขียววันละ 2 ถ้วย สามารถช่วยลดการเกิดไขมันส่วนเกินและทำให้รู้สึกอิ่มได้ ซึ่งจากการทดลองในหนูทดลอง โดยให้หนูบริโภคอาหารตามปกติและเสริมด้วยสารสกัดจากเชียว พบว่าการสะสมของไขมันในหนูทดลองลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่เมื่อให้อาหารเสริมชาเขียวต่อไปนาน ๆ ปริมาณของไขมันกลับไม่ลดลงต่ำจนผิดปกติ ส่วนการศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง โดยการให้รับประทานชาเขียวสกัดวันละ 1,500 มิลลิกรัม ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีน้ำหนักตัวลดลงโดยรวมประมาณ 4.6% หรือประมาณ 3.5 กิโลกรัม และรอบเอวลดลงโดยรวม 4.48% หรือประมาณ 1.6 นิ้ว จากการศึกษานี้ยังได้สรุปถึงกลไกการทำงานของชาเขียวสกัดในการลดน้ำหนักไว้ว่า เขียวสามารถช่วยยับยั้งเอนไซม์ไลเปสจากกระเพาะอาหารและตับอ่อน ทำให้การย่อยไขมันลดลง ส่งผลให้ไขมันดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อยลง จึงช่วยลดการสะสมของไขมันใหม่ได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นระบบการเผาผลาญในร่างกาย โดยการยับยั้งเอนไซม์ที่จะไปทำลาย Norepinephrine จึงทำให้ Norepinephrine อยู่ในร่างกายและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น ส่งผลทำให้การเผาผลาญไขมันในร่างกายมีเพิ่มมากขึ้น
- สาร EGCG สามารถช่วยกำจัดไขมันคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด จึงส่งผลช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงจากการอุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้
- ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด จึงช่วยในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานได้ เพราะสาร catechins ในชาเขียวมีประสิทธิภาพในการจำกัดการทำงานของ amylase enzyme ทำให้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่ร่างกายได้ ส่งผลทำให้น้ำตาลในเลือดไม่สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการทดสอบในหนูทดลองที่พบว่า catechins สามารถช่วยลดระดับกลูโคสและระดับอินซูลินในเลือดได้ และเมื่อทำการวิจัยกับอาสาสมัครโดยให้ catechins ในขนาด 300 มิลลิกรัม แล้วตามด้วยการบริโภคแป้งข้าว 50 กรัม พบว่าระดับของกลูโคสและระดับของอินซูลินในเลือดไม่สูงขึ้นตามที่ควรจะเป็น
- การดื่มชาเขียวมีผลช่วยลดอัตราความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งต่าง ๆ ได้ โดยผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำจะมีอัตราการเป็นมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับอ่อนต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่ม โดยมีสาร EGCG เป็นสารต้านพิษ และช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อส่วนดี (แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันได้ว่าชาเขียวสามารถรักษาโรคมะเร็งได้) ซึ่งในปี 1994 วารสารของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่าการดื่มชาเขียวสามารถช่วยลดอัตราเสี่ยงของโรคมะเร็งหลอดอาหารในหมู่ชาวจีนทั้งหญิงและชายได้เกือบถึง 60% ส่วนนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยปูร์ดู ได้สรุปว่า สารประกอบในชาเขียวสามารถช่วยยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ส่วนนิตยสาร Herbs for Health ได้อ้างตัวอย่างรายงานจากญี่ปุ่นว่าคนที่ดื่มชาเขียว 10 แก้วต่อวัน จะปลอดโรคมะเร็งนานกว่าคนที่ดื่มชาเขียวน้อยกว่า 3 แก้วต่อวัน ถึง 3 ปี (ในชาเขียว 3 แก้ว มีโพลีฟีนอลประมาณ 240-320 มิลลิกรัม) ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่สถาบันวิจัยมะเร็ง Saitama ที่สรุปว่า การเกิดโรคมะเร็งเต้านมหรือการขยายตัวของโรคนั้นจะน้อยลง หากในประวัติผู้หญิงคนนั้นมีการดื่มชาเขียว 5 ถ้วย หรือมากกว่านั้นต่อวัน และจากรายงานการแพทย์ของญี่ปุ่นในปี ค.ศ.1982 และ 1987 ได้พบว่าในแถบจังหวัดมิซูโอกะ ซึ่งเป็นถิ่นที่มีการดื่มชาเขียวกันมาก มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ส่วนรายงานจากทีมวิทยาศาสตร์จากศูนย์กลางการวิจัยโรคมะเร็ง ในบริติช โคลัมเบีย ได้สรุปว่าสารคาเทชินในชาเขียวสามารถยับยั้งการสร้างไรโตรซามีนซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังมีการทดลองในหนูทดลองเพื่อศึกษาประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ โดยให้หนูทดลองบริโภคสารละลายโพลีฟีนอลแต่ละชนิด และฉีดสารก่อมะเร็งเอ็นเอ็นเคเข้าไป ผลปรากฏว่าสารโพลีฟีนอล EGCG ที่พบมากในชาเขียวสามารถลดอัตราการก่อตัวเป็นมะเร็งได้ดีที่สุด โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า catechins มีบทบาทช่วยลดภาวะเป็นพิษของสารก่อมะเร็งบางชนิด แทรกแซงกระบวนเกาะยึดตัวของสารก่อมะเร็งต่อ DNA ของเซลล์ปกติ มีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ทรงพลัง ช่วยเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระและเอนไซม์อื่น ๆ และช่วยจำกัดการลุกลามของเซลล์เนื้องอก
- การวิจัยเมื่อปี 1997 ของมหาวิทยาลัยแคนซัส ได้สรุปว่า EGCG นั้นมีฤทธิ์แรงเท่ากับ Resveratrol ถึงเกือบ 2 เท่า ซึ่งเป็นการอธิบายว่า ทำไมชาวญี่ปุ่นจึงมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจค่อนข้างต่ำ แม้ว่ามากกว่า 75% ของชาวญี่ปุ่นจะสูบบุหรี่ก็ตาม แล้วทำไมชาวฝรั่งเศสจึงมีอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าชาวอเมริกัน ทั้ง ๆ ที่บริโภคอาหารที่มีไขมันสูงเช่นกัน สาเหตุก็เป็นเพราะชาวฝรั่งเศสชอบดื่มไวน์แดง ซึ่งมีสาร Resveratrol ที่เป็นโพลีฟีนอล ที่ช่วยลดอันตรายจากการสูบบุหรี่และรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงนั่นเอง
- ชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านและยับยั้งการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ จากข้อมูลในปัจจุบันได้แนะนำว่าการบริโภคอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ เพราะสารต้านอนุมูลอิสระจะไปยับยั้งขบวนการออกซิเดชั่นของไขมัน อันจะนำไปสู่การลดการเกิดของหลอดเลือดแข็งตัว (antherosclerosis) และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ในที่สุด
- สาร EGCG สามารถช่วยยับยั้งการก่อตัวแบบผิดปกติของก้อนเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการหัวใจวายและลมชักได้ และจากผลการวิจัยอื่น ๆ ยังพบอีกว่าชาเขียวนั้นมีสรรพคุณเทียบเท่ากับยาแอสไพรินในการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคหัวใจวายและหลอดเลือดสมอง
- สารไทอะนีน (Theanine) เป็นกรดอะมิโนที่ทำให้ชาเขียวมีรสกลมกล่อม สามารถช่วยควบคุมการทำงานของสมองและลดความดันโลหิตได้
- นอกจากชาเขียวจะมีสาร EGCG แล้ว ชาเขียวยังมีสารอื่น ๆ ที่สำคัญอีกมากมาย เช่น วิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อร่างกาย สารคลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ที่มีประโยชน์ต่อขบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง และช่วยในการจับสารพิษตกค้างออกจากร่างกาย
- มหาวิทยาลัย Cleveland’s Western Reserve ได้สรุปว่า การดื่มชาเขียว 4 แก้วหรือมากกว่านั้น จะช่วยป้องกันโรคปวดข้อหรือลดอาการปวดในกรณีของคนที่ป่วยอยู่แล้ว
- เมื่อไม่นานมานี้ได้มีการศึกษาที่พบว่า สารประกอบหลัก (EGCG) ที่พบในชาเขียวมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีได้ ซึ่งได้ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์และโรคภูมิแพ้ โดยผลการทดลองได้แสดงให้เห็นว่า ชาเขียวเข้มข้นสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเอชไอวีจับตัวกับเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่มีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา (T cells) ซึ่งเป็นด่านแรกที่ทำให้มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีได้ ถ้ามีผลการศึกษาเพิ่มเติมยืนยันการวิจัยดังกล่าว ก็อาจจะนำสารในชาเขียวมาใช้ทดลองในการผลิตยาเพื่อป้องกันการลุกลามของเชื้อเอชไอวีต่อไป
- จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยในฮ่องกง ได้พบว่าสารคาเทชินสามารถส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกได้ถึง 79% โดยไม่มีอันตรายใด ๆ ต่อกระดูก ดังนั้นการดื่มชาเขียวอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพของกระดูก ช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุนหรือโรคทางกระดูกอื่น ๆ ได้
- ชาเขียวยังช่วยป้องกันฟันผุได้ด้วย เพราะชาเขียวมีความสามารถในการทำลายแบคทีเรีย สามารถป้องกันอาหารเป็นพิษ และยังช่วยฆ่าแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดคราบพลัคในช่องปากได้อีกด้วย ซึ่งจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า สาร catechins สามารถช่วยยับยั้งกระบวนการผลิตกลูแคนของเชื้อ Streptococcus mutans ในช่องปากได้อย่างมีประสิทธิภาพ (เชื้อชนิดนี้เป็นสาเหตุของการเกิดฟันผุ) จึงอาจกล่าวได้ว่าการดื่มชาเขียวหลังมื้ออาหารจะสามารถป้องกันโรคฟันผุได้เป็นอย่างดี
- ชาเขียวสามารถช่วยลดกลิ่นปากและแบคทีเรียในช่องปากได้ โดยช่วยทำให้ลมหายใจหอมสดชื่นและป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเพส สหรัฐอเมริกา พบว่าสารสกัดจากชาเขียวมีสรรพคุณช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ
- มีงานวิจัยที่ระบุว่า ถุงชา (tea bag) สามารถช่วยบำบัดโรค “sick-house syndrome” หรือ มลภาวะภายในอาคารเป็นพิษ (Indoor Air Pollution) ซึ่งเป็นอาการป่วยที่มีสาเหตุมาจากการแพ้อากาศภายในอาคารหรือที่อยู่อาศัย เช่น สารเคมีจากสีทาบ้าน เฟอร์นิเจอร์ที่มีสาร formaldehyde ซึ่งผสมอยู่ในสารเคมีเพื่อการตกแต่งบ้าน ซึ่งจากการทดลองพบว่าใบชาเขียวหรือดำ ทั้งใหม่และแบบที่ชงแล้ว สามารถช่วยดูดสารนี้ไว้แล้วไม่ปลดปล่อยสารกลับเข้าสู่บรรยากาศหลังจากดูดไว้แล้ว วิธีการก็คือให้ทิ้งใบชาไว้ที่อับ เช่น ในตู้เก็บถ้วยชาม ใบชาจะลดปริมาณของสาร formaldehyde ที่มีอยู่ในอากาศได้ชาเขียวยังช่วยรักษาผิวที่ถูกแสงแดดทำลายได้ด้วย นี่จึงเป็นเหตุว่าทำไมครีมหลายชนิดจึงมีชาเขียวเป็นส่วนประกอบ
- ชาเขียวกับความงาม สูตรน้ำแร่ชาเขียว ชั้นตอนแรกให้นำน้ำแร่มาต้มให้เดือด แล้วใส่ผงชาเขียวหรือใบชาเขียวลงไป แล้วทิ้งไว้ให้เย็น (ถ้าใช้ใบชาควรกรองเอาแต่น้ำ) เสร็จแล้วเทน้ำใส่ขวดสเปรย์ ใช้เป็นสเปรย์น้ำแร่ชาเขียว โดยนำมาใช้ฉีดหน้าได้ทุกเวลาที่ต้องการ โดยจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นและความเปล่งปลั่งให้กับผิวหน้าของคุณได้เป็นอย่างดี ส่วนอีกสูตรคือ สูตรถนอมผิวรอบดวงตาด้วยชาเขียว ขั้นตอนแรกให้ต้มชาเขียวกับน้ำเดือด แล้วนำไปแช่ในตู้เย็นให้เย็นจัด แล้วใช้สำลีชุบชาเขียวให้เปียกชุ่ม แล้วนำมาวางบริเวณเปลือกตาทิ้งไว้ประมาณ 30 นาที วิธีนี้จะช่วยลดริ้วรอยจากความอ่อนล้าของผิวรอบดวงตา และยังช่วยลดอาการบวมของเปลือกตาและถุงใต้ตาได้ด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ผิวนุ่มนวลและดูสดชื่น
- ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับชาเขียวก็มีวางจำหน่ายในหลากหลายรูปแบบ โดยผู้ผลิตได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากชาเขียวหลั่งไหลออกมาสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ถนอมผิว เครื่องสำอางต่าง ๆ สบู่ เกลืออาบน้ำ น้ำยาดับกลิ่นตัว ครีมบำรุงผิว โลชั่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ฯลฯ
- ชาเขียวยังนิยมนำมาใช้เพื่อปรุงแต่งกลิ่น สี และรสชาติของอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค โดยจัดเป็นสารให้กลิ่นรสจากธรรมชาติที่ได้รับความนิยมมากชนิดหนึ่ง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของชาเขียวในรูปของอาหาร ได้แก่ เค้ก ขนมปัง ขนมขบเคี้ยว ช็อกโกแลต ลูกอม หมากฝรั่ง ฯลฯ และยังถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันและน้ำมัน เพื่อป้องกันไม่ให้เหม็นหืนเร็ว จนมีการศึกษาวิจัยถึงความเป็นไปได้ที่จะนำสารสกัดจากชาเขียวมาใช้เป็นสารกันบูดสำหรับอาหารสด รวมไปถึงการนำชาเขียวมาผสมกับเส้นใยผ้า สำหรับเสื้อผ้า ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น และยังมีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมในแผ่นใยกรองอากาศสำหรับเครื่องปรับอากาศ ซึ่งก็นับว่าเป็นการเพิ่มช่องทางพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้
วิธีการชงชาเขียว
การชงชาเขียว ถ้าหากชงไม่ดีหรือชงนานเกินไป สารโพลีฟีนอลจะเป็นตัวทำลายรสชาติของชาจนทำให้ชามีรสชาติเหมือนหญ้าได้ ดังนั้นจึงไม่ควรชงชาเขียวนาน ๆ การชงชาเขียวให้มีรสชาติที่ดีนั้นมีเคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือ ให้ใช้ชา 1 ถุง (ประมาณ 2-4 กรัม) ต่อถ้วย นำมาชงในน้ำเดือด ทิ้งไว้ประมาณ 3 นาที จากนั้นให้เทน้ำร้อนลงบนถุงชา และทิ้งไว้อีก 3 นาที แล้วค่อยนำถุงชาออก และปล่อยให้ชาเย็นลงอีกประมาณ 3 นาที
การดื่มชาเขียว
- การบริโภคชาเขียวที่ถูกต้อง คือ การบริโภคชาเขียวในรูปแบบการชงชาดื่มเอง เพราะนอกจากจะได้รับรสชาติและกลิ่นหอมแท้จากชาเขียวแล้วยังได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าแบบเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูป ซึ่งจะมีส่วนผสมของน้ำตาลและปริมาณของชาเขียวที่เจือจาง โดยชาเขียวร้อน 1 ถ้วย จะมี EGCG ประมาณ 100-200 มิลลิกรัม ในขณะที่เครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จจะมีปริมาณของใบชาที่น้อยมากอยู่แล้ว จึงทำให้มีสารสำคัญน้อยลงตามไปด้วย ถ้าจะดื่มเพื่อให้ประโยชน์จากสาร EGCG ก็อาจจะต้องดื่มหลายขวดต่อวัน ซึ่งแทนที่เราจะได้รับประโยชน์ก็อาจจะทำให้เสียสุขภาพเนื่องจากร่างกายได้รับน้ำตาลที่สูงเกินไปแทน ดังนั้นจึงไม่ควรดื่มชาเขียวสำเร็จรูปบ่อยจนเกินไป แต่ให้ดื่มเพื่อดับกระหายเพียง 1-2 ครั้งต่อวัน และไม่ควรดื่มติดต่อกันทุกวันก็พอ
- โดยหลักการแล้วเราจะได้รับสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจากชาเขียวมากที่สุด คือ การดื่มชาเขียวร้อน ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ซึ่งจากงานวิจัยได้ระบุว่า การต้มชาเขียวในน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 70-78 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 2-4 นาที จะตรวจพบสารต้านอนุมูลอิสระที่ยังคงอยู่ในปริมาณสูงที่สุด
- ในแต่ละวันไม่ควรดื่มชาเขียวเกิน 10-12 ถ้วย เพราะชาเขียวมีกาเฟอีน การดื่มในปริมาณมากจะส่งผลให้นอนไม่หลับได้ (ส่วนชาเขียวแบบปราศจากกาเฟอีนก็มีวางจำหน่ายอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างหาซื้อได้ยาก) ส่วนการดื่มในปริมาณที่เหมาะสมจากการชงใบชา คือ ประมาณ 1-2 ช้อนชาในน้ำร้อน วันละ 3 ถ้วย โดยให้ดื่มระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย ส่วนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียนั้นได้ระบุเรื่องคุณสมบัติของการป้องกันมะเร็งของชาเขียวไว้ โดยพบว่าคนเราสามารถได้รับปริมาณโพลีฟีนอล (Polyphenols) ในปริมาณที่ต้องการได้โดยการดื่มชาเขียวเพียง 2 ถ้วยต่อวัน ส่วนหนังสือวิตามินไบเบิลได้ระบุว่า เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพจากการดื่มชาเขียวอย่างครบถ้วน คุณจะต้องดื่มชาเขียวประมาณวันละ 5-10 ถ้วย (ชาเขียวสกัดหนึ่งเม็ดจะมีค่าเท่ากับชาเขียวหนึ่งถ้วยครึ่ง) แต่บริษัทผู้ค้าชาเขียวชนิดแคปซูลกลับระบุว่า หากต้องการให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุดในแต่ละวัน จะต้องดื่มชาเขียวถึงวันละ 10 ถ้วยเลยทีเดียว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ นพ.บรรจบ ชุณหสวัสดิกุล ผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ธรรมชาติบำบัด ที่กล่าวว่า การรับประทานชาเขียวให้ได้สารต้านอนุมูลอิสสระ จะต้องชงชาเขียวเข้มข้นแบบญี่ปุ่นและต้องดื่มชาเขียวอย่างน้อยวันละ 20 แก้ว เป็นประจำทุกวัน จึงจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งได้ ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นอาจทำได้ยาก และยิ่งเป็นชาเขียวสำเร็จรูปที่เป็นชาเขียวแบบเจือจาง (แต่โฆษณาแบบเต็ม ๆ) ทั้งยังปรุงรสแต่งกลิ่นและรสด้วยน้ำตาล การดื่มมาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ แต่ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไรก็ตาม การดื่มชาเขียวแบบชงเพียง 3-5 ถ้วยต่อวัน ก็ดูจะปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับร่างกายที่สุด
- องค์การอนามัยโลกได้แนะนำว่าควรดื่มชาในระหว่างอาหารเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด หลังจากดื่มชาไปแล้วประมาณ 30-50 นาที antioxidant activity ในเลือดจะพุ่งพรวดขึ้นไปที่ประมาณ 41-48% และจะคงอยู่เช่นนั้นนานประมาณ 80 นาที ซึ่งการที่เลือดมี antioxidant activity สูงขึ้นย่อมทำให้อนุมูลอิสระในร่างกายถูกขจัดไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็หมายถึงการมีสุขภาพที่ดีขึ้นนั่นเอง
- ไม่ควรดื่มน้ำชาร่วมไปกับการรับประทานอาหาร เพราะแร่ธาตุจากผักใบเขียวหรือจากผลไม้จะถูกสารสำคัญจากชาดักจับไว้หมด ไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- สำหรับผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญในใบชาเขียวจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย
- การดื่มชาร้อน ๆ จะทำให้สารสำคัญที่มีประโยชน์ คือ “คาเทชิน” จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด จนเหลือแต่รสชาติและความหอม แต่ถ้าต้องการให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากการดื่มชาแบบร้อน ๆ ก็ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เพราะความเข้มข้นของใบชาที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณของสารคาเทชินเพิ่มขึ้นไปด้วย แม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อถูกความร้อนก็ตาม แต่ก็ยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลือพอที่จะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง ส่วนข้อมูลจาก นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ ได้ระบุว่า การดื่มชาร้อนนั้นมีผลการวิจัยที่ระบุว่า สารต้านอนุมูลอิสระในชาจะหายไปประมาณ 20% หากโดนความร้อนนาน ๆ และให้เคล็ดลับการชงชาเขียวเพื่อให้สารต้านอนุมูลอิสระยังคงอยู่ ด้วยการบีบน้ำมะนาวลงไปในระหว่างการชงชา
- ชาเขียวหากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในชาเขียวได้ (แบบชงเอง) แต่อย่างไรก็ตามหากเป็นเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูป ขบวนการผลิตก็ต้องผ่านการต้มหรือทำให้ร้อน และต้องผ่านขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนนำมาบรรจุลงในขวด จึงทำให้ปริมาณของสารสำคัญถูกทำลายไปด้วย
- การดื่มน้ำชา ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นนมสด นมข้น หรือนมผง เพราะโปรตีนจากนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และไปทำลายประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งวิธีการดื่มชาเขียวที่ดีที่สุดก็คือการดื่มแต่น้ำชาล้วน ๆ ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรเพิ่มเติม
- ในปัจจุบันเพื่อความสะดวกในการทานชาเขียว จึงมีผลิตภัณฑ์ชาเขียวสกัดให้เลือกสรรกันมากมาย สำหรับเทคนิคในการเลือกซื้อ ควรพิจารณาเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของชาเขียวที่สูงเพียงพอต่อการดูแลสุขภาพ เพราะชาเขียวบางยี่ห้อจะมีสารสำคัญอยู่น้อยมาก แต่กลับอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ที่สำคัญควรผลิตจากโรงงานที่รับมาตรฐาน เชื่อถือได้ ซึ่งในขนาดที่แนะนำให้รับประทานเพื่อการดูแลสุขภาพของสารสกัดจากชาเขียวคือวันละประมาณ 750-1,500 มิลลิกรัม ส่วนในด้านความปลอดภัยนั้น สารสกัดจากชาเขียว ได้รับการรับรองความปลอดภัยจากสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาแล้ว (GRAS)
ข้อควรระวังในการดื่มชาเขียว
- สำหรับผู้ที่ไม่ควรบริโภคชาเขียวหรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนการบริโภค ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคไต เป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับ ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติหรือมีการแข็งตัวของเลือดที่ผิดปกติ ผู้ป่วยที่กำลังรับประทานยาละลายลิ่มเลือด สตรีมีครรภ์ กระเพาะอาหารอักเสบ รวมไปถึงผู้ที่กังวลง่ายหรือมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท
- จากงานวิจัยหลายชิ้นได้ระบุว่า อุณหภูมิและเวลามีผลต่อการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระที่มีอยู่ในชาเขียว ซึ่งบางบทความที่เผยแพร่ในบ้านเรา ได้ระบุว่า “เป็นเรื่องน่าห่วงสำหรับคนไทยนิยมที่ดื่มชาเขียวแช่เย็นที่มีขายตามท้องตลอด ซึ่งในประเทศที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำอย่างญี่ปุ่นเขาจะไม่ทำกัน เพราะชาเขียวจะมีประโยชน์ต่อร่างกายในขณะที่ยังร้อนอยู่เท่านั้น ในทางกลับกันก็เป็นโทษต่อร่างกายหากดื่มชาเขียวแช่เย็น เพราะนอกจากจะไม่ช่วยในการต้านอนุมูลอิสระและขับสารพิษออกจากร่างกายแล้วยังก่อให้เกิดการเกาะตัวแน่นของสารพิษดังกล่าวอันเป็นสาเหตุของมะเร็ง นอกจากนี้ชาเขียวเย็นยังส่งผลให้ไขมันในร่างกายก่อตัวมากขึ้นตามผนังหลอดเลือด และไปอุดตันตามผนังลำไส้ ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่น หลอดเลือดหัวใจอุดตัน เส้นเลือดตีบ มะเร็งลำไส้ ฯลฯ เป็นต้น” แม้ว่าจะไม่มีงานวิจัยรองรับว่าการดื่มชาเขียวเย็นจะเป็นโทษต่อร่างกายมากมายขนาดนั้นก็ตาม แต่บางข้อมูลกลับระบุว่า การดื่มชาเขียวร้อนหรือเย็น (แบบชงเอง) ไม่น่าจะมีความแตกต่างกัน
- การบริโภคชาเขียวในปริมาณสูงและติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจส่งผลเสียต่อตับได้ เพราะมีรายงานการวิจัยในหนูเม้าส์ พบว่าสาร epigallocatechin gallate (EGCG) ส่งผลให้ตับถูกทำลายเล็กน้อยเมื่อบริโภคในขนาดสูง (2,500 มก./กก.) ติดต่อกัน 5 วัน และความเป็นพิษต่อตับจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบริโภคชาเขียวในขณะเป็นไข้ (แต่การบริโภคชาเขียวในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ นั้นยังถือว่ามีความปลอดภัยครับ) สำหรับผู้ที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับตับหรือมีอาการไข้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคชาเขียวในขนาดสูงและติดต่อกันเป็นเวลานาน
- ผลเสียของการดื่มชาเขียว คือ จะมีอาการนอนไม่หลับ (เนื่องมาจากกาเฟอีน) แต่อย่างไรก็ตาม ชาเขียวก็ยังมีปริมาณกาเฟอีนที่น้อยกว่ากาแฟ กล่าวคือ ชาเขียวประมาณ 6-8 ออนซ์จะมีกาเฟอีนประมาณ 30-60 มิลลิกรัม แต่ในขณะที่กาแฟ 8 ออนซ์จะมีปริมาณของกาเฟอีนมากกว่า 100 มิลลิกรัม
- ในชาเขียวมีสารแทนนิน (Tannin) ซึ่งมีฤทธิ์ฝาดสมานและเป็นสารที่ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย จึงมีความเป็นไปได้ว่าการดื่มชาเขียวในปริมาณมากเกินไป จะสามารถทำให้ท้องผูกได้
- ใบชามีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง (สูงกว่าในน้ำประปา) การที่ร่างกายได้รับสารนี้เข้าไปทุกวันจากการดื่มชา จะเกิดการสะสมและมีผลให้ไตวาย เกิดโรคมะเร็งลำไส้ เป็นโรคข้อ โรคกระดูกพรุน และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก สำหรับในผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องเป็นกังวล
- ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารออกซาเรต (Oxalate) ซึ่งเป็นสารที่มีผลทำลายไต แม้ว่าในใบชาจะมีสารชนิดนี้อยู่ไม่มากก็ตาม แต่สำหรับผู้ที่ดื่มชาในปริมาณมากและดื่มเป็นประจำ สารออกซาเลตก็จะสะสมในร่างกายได้
- โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานไว้เช่นกัน จึงมีคำแนะนำว่าไม่ให้เด็กดื่มชาเขียว เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้ โดยเฉพาะสารสำคัญ คือ แทนนิน จะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่าง ๆ จากอาหารที่เรารับประทานเข้าไป จึงส่งผลทำให้การดูดซึมสารอาหารในร่างกายลดลงด้วย
- สำหรับบางคนที่ดื่มชาเขียวก็อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน แต่ก็พบได้ไม่บ่อยนัก ซึ่งถ้าเกิดอาการแพ้ก็ควรหยุดบริโภคชาเขียวและไปพบแพทย์ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอาการแพ้อย่างรุนแรง เช่น หายใจติดขัด ริมฝีปาก ลิ้น และใบหน้าบวม หรือเป็นลมพิษ รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรติดคอ และอาจมีผลข้างเคียงเล็กน้อยอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน เช่น ปวดศีรษะ มีอาการเสียดคอและหน้าอก ท้องเสีย ท้องร่วง มีอาการท้องผูก เบื่ออาหาร มีอาการหงุดหงิดง่าย เป็นกังวล นอนไม่หลับ มีอาการตกใจ หัวใจเต้นผิดปกติ หรือมีผลข้างเคียงอื่น ๆ อีกนอกจากที่กล่าวมา ก็ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- ส่วนข้อมูลจากนายกสมาคมแพทย์แผนจีน ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าชาเขียวจะมีประโยชน์ต่อร่างกายมากมายก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วชาเขียวก็มีสารที่เป็นโทษต่อร่างกายด้วยเช่นกัน แต่ไม่ถึงกับเป็นอันตรายมากนัก ส่วนมากจะเกิดกับผู้ที่มีสภาพร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เมื่อดื่มแล้วทำให้มีอาการใจสั่น นอนไม่หลับ มีอาการระคายเคืองกระเพาะอาหาร ท้องผูก ฟันดำ และหากดื่มอย่างต่อเนื่องก็อาจเป็นการเสพติดได้
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือวิตามินไบเบิล. (ดร.เอิร์ล มินเดลล์). “สารสกัดจากชาเขียว (Green tea extract)”. หน้า 252-253.
- ศูนย์วิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข. “ชาเขียว…น้ำทิพย์แห่งชีวิต”. (นิสากร ปานประสงค์)., “ชาเขียว สารอาหารมหัศจรรย์”. (เยาวลักษณ์ พิพัฒน์จำเริญกุล). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : elib.fda.moph.go.th. [08 ส.ค. 2014].
- สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (ธิดารัตน์ จันทร์ดอน ). “ชาเขียว ( Green Tea )… ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์”. เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th. [08 ส.ค. 2014].
- ฝ่ายส่งเสริมเกษตรชลประทาน กรมชลประทาน. “ความมหัศจรรย์ของชาเขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : irrigation.rid.go.th. [08 ส.ค. 2014].
- คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. (รศ.ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล). “ดื่มชาอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : irrigation.rid.go.th. [08 ส.ค. 2014].
- สำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (พญ.สายพิณ โชติวิเชียร, วรชาติ ธนนิเวศน์กุล). “ชาเขียว…ไม่ว่าอะไรก็ต้องชาเขียวไว้ก่อน”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : nutrition.anamai.moph.go.th. [08 ส.ค. 2014].
- สมิทธิ โชติศรีลือชา นิสิตสาขาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. “ชาเขียว – Green Tea”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.student.chula.ac.th/~53373316/. [08 ส.ค. 2014].
- วิจัยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ องค์การเภสัชกรรม. (ดร.ประภัสสร สุรวัฒนาวรรณ). “ชาเขียว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.gpo.or.th. [08 ส.ค. 2014].
- เดลินิวส์ออนไลน์. “ชาเขียวเย็นดื่มไปไม่ได้ประโยชน์”. อ้างอิงใน : เว็บไซต์ www.livestrong.com. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dailynews.co.th. [08 ส.ค. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. (ภก.ขวัญชัย นันทะโย). “ไขข้อข้องใจ! ‘ชาเขียว’ยาดีครอบจักรวาล…จริงหรือ?”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [08 ส.ค. 2014].
- ผู้จัดการออนไลน์. “ชาเขียวมีประโยชน์”., “ชาเขียวมีประโยชน์ต้องชงดื่ม ไม่ใช่ดื่มจากขวด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.manager.co.th. [08 ส.ค. 2014].
- J Agric Food Chem. (Ko CH, Lau KM, Choy WY, Leung PC.). “Effects of tea catechins, epigallocatechin, gallocatechin, and gallocatechin gallate, on bone metabolism.”
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Roberto Maxwell, Kayleigh Karr, eatwellin, Eric Flexyourhead, Millie Ousley, Grace Chan, Food Librarian, angelamermaid, kanonyobo)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)