ชะเอมเทศเป็นหนึ่งในสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในโลกที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ มาอย่างช้านาน โดยการใช้ชะเอมเทศในทางการแพทย์นั้นมีมาตั้งแต่สมัยอียิปต์โบราณ โดยเฉพาะการใช้ประโยชน์ในส่วนของรากชะเอมเทศ (Licorice root) ที่ถูกนำไปทำเป็นเครื่องดื่มรสหวานสำหรับฟาโรห์ ใช้ในยาจีนแผนโบราณ ใช้ในตะวันออกกลาง และกรีกเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดท้อง ลดการอักเสบ รักษาโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจส่วนบน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประวัติบันทึกการใช้ประโยชน์ของชะเอมเทศในด้านต่าง ๆ อยู่มากมาย แต่การใช้ประโยชน์บางอย่างเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนและมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รับรอง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาพูดถึงกันตั้งแต่ประโยชน์การใช้แบบดั้งเดิม ประโยชน์การใช้ในยุคปัจจุบัน ผลข้างเคียง ปริมาณการใช้ที่เหมาะสม คำแนะนำหรือข้อควรรู้ ผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศที่มีในบ้านเรา
ชะเอมเทศ
ชะเอมเทศ ชื่อสามัญ Licorice, Chinese licorice, Russian licorice, Spanish licorice
ชะเอมเทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Glycyrrhiza glabra L., Glycyrrhiza uralensis Fisch., Glycyrrhiza inflata Bat. ฯลฯ จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรชะเอมเทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำเช่า กำเช้า (จีน-แต้จิ๋ว), กันเฉ่า (จีนกลาง), ชะเอมจีน เป็นต้น
ลักษณะของต้นชะเอมเทศ
- ต้นชะเอมเทศ จัดเป็นไม้พุ่มที่มีอายุนาน มีลำต้นสูงประมาณ 1-2 เมตร มีรากขนาดใหญ่จำนวนมาก ลำต้นมีขนสั้น ๆ ปลายมีต่อมเหนียว
- ใบชะเอมเทศ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับกัน มีใบย่อยประมาณ 9-17 ใบ มีสีเขียวอมเหลือง ส่วนก้านใบย่อยจะสั้นมาก แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปกลมรีหรือรูปไข่แกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ฐานใบกลมมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาว 2-5.5 เซนติเมตร และมีขนสั้น ๆ ทั้งสองด้านของใบ
- ดอกชะเอมเทศ ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบ ยาว 5-12 เซนติเมตร มีดอกย่อยจำนวนมากติดกันหนาแน่น กลีบดอกเป็นสีม่วงอ่อนถึงขาว ส่วนก้านดอกสั้นมาก
- ผลชะเอมเทศ หรือ ฝักชะเอมเทศ ผลมีลักษณะเป็นฝักแบนรูปเคียว ผิวภายนอกมีลักษณะเรียบ ภายในมีเมล็ด 2-8 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรูปกลมแบนหรือเป็นรูปไต สีดำเป็นมัน
- รากชะเอมเทศ รากมีลักษณะแตกต่างกันไปตามสายพันธุ์ แต่โดยทั่วไปจะมีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 15-40 ซม. และอาจยาวได้ถึง 1 เมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของรากประมาณ 0.6-3 ซม. ส่วนเปลือกหุ้มรากเป็นสีน้ำตาลอมแดงหรือสีน้ำตาลแก่ เนื้อหยาบ มีรอยย่นตามยาว มีเส้นใยมาก ส่วนเนื้อรากมีสีเหลืองอ่อน ผิวเรียบ มีรสหวานชุ่มออกขมเล็กน้อย และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ
รากชะเอมเทศและสารสำคัญ
ชะเอมเทศ มีชื่ออังกฤษว่า “Licorice” (ลิโคไลซ์) เป็นสมุนไพรที่ได้มาจากส่วนของรากและเหง้าใต้ดิน (รวมเรียกว่าราก) ของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Glycyrrhiza glabra L., Glycyrrhiza uralensis Fisch., Glycyrrhiza inflata Bat. และอื่น ๆ อีกหลายชนิด ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย
โดยปกติรากชะเอมเทศจะเก็บเกี่ยวกันในช่วงฤดูใบไม้ร่วง ขุดตัดโคนต้นและริดเอารากฝากออก ตัดเป็นท่อนยาวพอสมควร นำมาตากจนเกือบแห้ง แล้วมัดรวมเป็นมัดเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปอบให้แห้งสนิท โดยชะเอมเทศที่มีคุณภาพดีนั้น เปลือกด้านนอกจะต้องบางและละเอียดแน่น มีสีน้ำตาลแดง เนื้อในสีเหลืองอมขาว มีแป้งมาก และมีรสหวาน สามารถแบ่งระดับคุณภาพในเชิงพาณิชย์ได้เป็น 5 ระดับ ตั้งแต่เกรด A (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 1.9 เซนติเมตร) ไปจนถึงเกรด E (ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 0.6 เซนติเมตร)
ส่วนสารประกอบในรากชะเอมเทศนั้นก็มีมากกว่า 300 ชนิด แต่สารที่ออกฤทธิ์ที่สำคัญที่สุดของรากชะเอมเทศนั้นคือสาร “กลีเซอไรซิน” (Glycyrrhizin) (หรือ Glycyrrhizic acid หรือ Glycyrrhizinic acid) ซึ่งเป็นสารที่ให้ความหวานที่มากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า ในทางเภสัชนั้นจัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส เชื้อรา และเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ส่วนสารออกฤทธิ์ที่สำคัญอื่น ๆ เช่น Glabridin, Licochalcone A, Licoricidin, Licorisoflavan A ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ปริมาณสารสำคัญของชะเอมเทศแต่ละสายพันธุ์และในแต่ละพื้นที่ปลูกนั้นก็มีไม่เท่ากัน อย่างชะเอมเทศชนิด Glycyrrhiza uralensis Fisch. จะมีปริมาณของสาร Glycyrrhizin มากกว่าชนิด Glycyrrhiza glabra L. หรือ Glycyrrhiza uralensis ที่ปลูกในประเทศจีนมณฑลซินเกียงจะมีสาร Glycyrrhizin มากกว่ามณฑลอื่น ๆ เป็นต้น [1]
ประโยชน์ของชะเอมเทศ
- ต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากรากชะเอมเทศมีสารสำคัญอย่าง กลีเซอไรซิน (Glycyrrhizin) และสารเคมีอื่น ๆ อีกหลายร้อยชนิด เช่น ไฟโตเอสโตรเจนและฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ [2]
- ต้านการอักเสบ การศึกษาพบว่าชะเอมเทศมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ [3],[4] โดยมีฤทธิ์เหมือนคอร์ติโคสเตียรอยด์ที่ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงมีผลช่วยลดหรือรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดจากการอักเสบได้หลายอย่าง เช่น การอักเสบของร่างกาย อาการแพ้ และโรคผิวหนังต่าง ๆ [5]
- ต้านไวรัสและต้านจุลชีพบางชนิด เช่น Candida albicans [6],[7]
- ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย การศึกษาพบว่าสารสกัดเอทานอลจากรากชะเอมเทศสามารถยับยั้งเชื้อ Staphylococcus aureus ที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อที่บาดแผล ฝี และหนอง จึงสามารถนำไปใช้พัฒนาเป็นยายับยั้งเชื้อก่อโรคดังกล่าวได้ [8]
- ฤทธิ์ต้านเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อรากลุ่ม Candida ที่เป็นสาเหตุหลักของการติดเชื้อในช่องปาก ช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะ และการติดเชื้อในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยมีการทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อรากลุ่ม Candida ในหลอดทดลองโดยใช้สารสกัด 80% เมทานอลจากรากและเหง้าของชะเอมเทศ ผลการทดสอบพบว่าสารสกัดดังกล่าวสามารถยับยั้งเชื้อ Candida tropicalis ได้ดีที่สุด รองลงมาคือ Candida glabrata, Candida parapsilosis และ Candida albicans ตามลำดับ [9]
- บรรเทาอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน เนื่องจากสารสกัดจากรากชะเอมเทศมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านจุลชีพ
- การศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสารสกัด Glycyrrhizin จากรากชะเอมเทศช่วยบรรเทาอาการหอบหืดได้ [10] โดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐานอย่างยา Salbutamol ที่พบว่าช่วยเสริมฤทธิ์กันในการรักษาโรคหอบหืด [11]
- การศึกษาอื่นพบว่า สารสกัด Glycyrrhizin อาจมีผลช่วยในการปรับปรุงประสิทธิภาพของยาขยายหลอดลมที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) [12] และในการศึกษาอื่นยังพบว่า Glycyrrhizic acid อาจช่วยปกป้องเซลล์เยื่อบุผิวในหลอดลมหรือทางเดินที่นำไปสู่ปอดจากกระบวนการตายของเซลล์ ภาวะเครียดออกซิเดชั่น และการอักเสบได้ [13] ซึ่งผลลัพธ์เหล่านี้อาจช่วยชะลอการลุกลามของโรคในระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ เมื่อใช้ร่วมกับการรักษามาตรฐาน
- การศึกษาในมนุษย์รวมการศึกษา 29 เรื่องที่มีผู้เข่าร่วมจำนวน 3,001 คน พบว่าการใช้ยาสมุนไพร (ซึ่งรวมถึงรากชะเอมเทศ) ร่วมกับการรักษาด้วยยาตามปกติ ทำให้ผลลัพธ์ในการรักษาโรคหอบหืดดีขึ้นมากกว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียว ทั้งในแง่ของการควบคุมโรค ปรับปรุงการทำงานของปอด ลดการใช้ยา Salbutamol และลดอาการกำเริบเฉียบพลันของโรคใน 1 ปี [14] อย่างไรก็ตาม การศึกษาในมนุษย์ยังมีจำกัดและต้องศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิภาพของชะเอมเทศในการรักษาโรคหอบหืดต่อไป
- วัณโรคปอด บางข้อมูลระบุว่าผู้ป่วยวัณโรคที่ได้รับยารักษามาตรฐานแล้วยังได้ผลไม่ดี เมื่อให้สารสกัดชะเอมเทศร่วมด้วยจะช่วยให้ผลการรักษาดีขึ้น [5]
- รักษาโรคในช่องปากและฟันทั่วไป เช่น ฟันผุ โรคปริทันต์ เชื้อราในช่องปาก โรคแผลร้อนในกำเริบ [15] แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เจล หมากฝรั่ง
- ป้องกันฟันผุ เนื่องจากรากชะเอมเทศมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ โดยมีการศึกษาในเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 66 ราย เป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยให้เด็กรับประทานลูกอมที่มีสารสกัดจากรากชะเอมเทศ 15 มิลลิกรัม (ลูกอมปราศจากน้ำตาล) วันละ 2 ครั้ง พบว่าช่วยลดจำนวนของเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus mutans ที่เป็นสาเหตุหลักทำให้ฟันผุลงได้อย่างมาก [16] สอดคล้องกับการศึกษาในหลอกทดลองที่พบว่าสารสกัดจากรากชะเอมเทศมีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุทำให้ฟันผุ [17] อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาถึงขนาดและรูปแบบของการใช้ที่เหมาะสมต่อไป
- กระตุ้นการหลั่งน้ำลาย เนื่องจากชะเอมเทศมีรสหวานมันจึงมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งน้ำลายได้ โดยรวมจึงมีผลช่วยป้องกันฟันผุ เพราะน้ำลายทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์ ควบคุมความเป็นกรดด่างที่เหมาะสมในช่องปาก (ป้องกันกัดกร่อนฟัน) นอกจากนี้น้ำลายยังมีบทบาทต้านจุลชีพในช่องปาก ทำหน้าที่เป็นสารหล่อลื่นฟัน ป้องกันการละลายและเสริมการสะสมของแร่ธาตุบนผิวฟัน [18]
- ลดกลิ่นปาก สารสกัดจากชะเอมเทศอาจช่วยทำให้ลมหายใจสดชื่นหรือลดกลิ่นปากได้ โดยช่วยลดระดับของสารที่ก่อให้เกิดกลิ่นปากที่เรียกว่า VSCs (Volatile sulfur compounds) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของปัญหากลิ่นปาก [19]
- รักษาโรคปริทันต์ (Periodontal disease) เช่น โรคเหงือกอักเสบ และโรคปริทันต์อักเสบ โดยชะเอมเทศได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถยับยั้งเชื้อก่อโรคปริทันต์ชนิด Porphyromonas gingivalis ได้โดยตรง [15]
- โรคแผลร้อนใน (Recurrent aphthous ulcer) ซึ่งพบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของสารสกัดชะเอมเทศเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดและช่วยเร่งการรักษาแผลให้หายเร็วขึ้นได้ [20] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าการใช้แผ่นแปะละลายในปากที่มีสารสกัดจากชะเอมเทศ (Oral patch concerning glycyrrhiza) เป็นระยะเวลา 8 วัน สามารถลดขนาดและความรุนแรงของแผลลงได้อย่างมาก [21]
- เชื้อราในช่องปาก (Oral Thrush) การศึกษาพบว่าสาร Licochalcone A และ Glabridin ซึ่งเป็นไอโซฟลาโวนอยด์จากชะเอมเทศนั้นมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา Candida albicans ที่เป็นสาเหตุของโรคเชื้อราในช่องปาก [22]
- ลดอาการไอและขับเสมหะ การศึกษาพบว่าชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านการระคายเคือง ขับเสมหะ และช่วยลดความถี่ในการไอได้อย่างมีนัยสำคัญ [23] เนื่องจากชะเอมเทศนั้นสามารถช่วยลดอาการอักเสบของเยื่อเมือกบริเวณหลอดลม ลดการระคายเคือง และมีฤทธิ์ระงับอาการไอทั้งแบบเฉพาะที่และแบบที่ไปกดที่ศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง [24]
- คออักเสบ ชาสมุนไพรหลายชนิดซึ่งรวมถึงชาจากรากชะเอมเทศมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย S. pyogenes ซึ่งเป็นสาเหตุของคออักเสบ [25]
- อาการเจ็บคอ จากการทบทวนการศึกษาที่เชื่อถือได้พบว่าการใช้ชะเอมเทศแบบทาเฉพาะที่ก่อนเข้ารับการผ่าตัด สามารถช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของอาการเจ็บคอหลังการผ่าตัด (Postoperative sore throat หรือ POST เป็นอาการเจ็บจากการใช้ท่อช่วยหายใจสอดเข้าไปในลำคอระหว่างการผ่าตัดหลังจากผู้ป่วยรับยาสลบ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่ไม่รุนแรงแต่พบได้บ่อย) [26] สอดคล้องกับอีกการศึกษาที่พบว่าการใช้น้ำยาบ้วนปากชะเอมเทศในขนาดต่าง ๆ กลั้วคอนาน 1 นาทีก่อนรับยาสลบ 5 นาที สามารถช่วยลดอุบัติการณ์และความรุนแรงของอาการเจ็บหลังการผ่าตัดได้อย่างมีนัยสำคัญ [27]
- อาจดีที่ระบบประสาทและสมอง โดยอาจใช้เป็นทางเลือกในการป้องกันปัญหาด้านความจำ กระตุ้นทักษะด้านความรู้ความเข้าใจเมื่ออายุมากขึ้นได้ เพราะมีงานวิจัยที่พบว่าสาร Carbenoxolone ในชะเอมเทศอาจมีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ในสมองที่เกี่ยวข้องกับการสร้างฮอร์โมนความเครียดจนความสามารถในการทำงานของสมองเสื่อมลงได้ (ทดลองในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานเพศชายอายุ 55-70 ปี) ซึ่งสอดคล้องกับอีกงานวิจัยที่ทำในผู้ชายสูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน พบว่าชะเอมเทศอาจช่วยกระตุ้นความจำด้านคำศัพท์และการใช้ภาษาให้ดีขึ้น [28] อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็กในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม จึงต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
- การศึกษาในหนูทดลองพบว่า Glycyrrhizinic acid สามารถช่วยรักษาการอักเสบของระบบประสาท (Neuroinflammation) และความบกพร่องของสมรรถนะทางสมอง (Cognitive Impairment) ในหนูทดลองได้ [29]
- บางแหล่งข้อมูลยังระบุว่าชะเอมเทศอาจมีประโยชน์ต่อโรคอัลไซเมอร์และโรคซึมเศร้า
- อาจช่วยให้นอนหลับ การศึกษาในหนูทดลองพบว่า ชะเอมเทศอาจช่วยกระตุ้นให้นอนหลับและเพิ่มระยะเวลาการนอนหลับได้ แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาต่อไป [30]
- เยื่อตาอักเสบ การรักษาผู้ป่วยเยื่อตาอักเสบเป็นผื่นแดง 60 ราย มีการใช้สารสกัดชะเอมเทศในรูปแบบสารละลายต่าง ๆ หยอดตาทุก 1-2 ชั่วโมง วันละ 3-4 ครั้ง พบว่าผู้ป่วยจำนวน 56 ราย หายเป็นปกติหลังการรักษา 2-7 วัน แต่มีผู้ป่วย 2 รายที่หยุดยาเร็วเกินไปและทำให้อาการกลับมาอีก นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่มีอาการเยื่อตาเป็นผื่นแดงอักเสบ เมื่อใช้ยานี้เป็นเวลา 2-14 วัน อาการปวด แดงจัด และผื่นแดง ค่อย ๆ ลดลงและหายเป็นปกติ [5]
- อาหารไม่ย่อย การศึกษาในผู้ใหญ่ที่มีอาการอาหารไม่ย่อย 50 ราย เป็นเวลา 30 วัน พบว่าการรับประทานแคปซูลชะเอมเทศขนาด 75 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก [31]
- โรคกรดไหลย้อน (GERD) การศึกษาในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนจำนวน 58 ราย เป็นเวลา 8 สัปดาห์ พบว่าการให้ Glycyrrhetinic acid ในขนาดต่ำร่วมกับวิธีการรักษามาตรฐาน ช่วยให้อาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ [32] สอดคล้องกับการศึกษาอื่นที่พบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรรากชะเอมเทศทุกวันอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพในการลดอาการกรดไหลย้อนในช่วง 2 ปีได้มากกว่าการใช้ยาลดกรดที่ใช้กันทั่วไป [33]
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งมักเกิดจากเชื้อ H. pylori โดยจากการศึกษาในหนูทดลองพบว่า การให้สารสกัดชะเอมเทศในขนาด 200 มก./กก. ของน้ำหนัก สามารถช่วยป้องกันแผลเหล่านี้ได้ดีกว่ายา Omeprazole ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อป้องกันหรือรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก [34] สอดคล้องกับอีกการศึกษาในมนุษย์ที่ศึกษาในผู้ใหญ่จำนวน 120 ราย เป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วพบว่าการใช้สารสกัดจากชะเอมเทศร่วมกับวิธีการรักษามาตรฐาน (ยาปฏิชีวนะ) ตามปกติสามารถช่วยลดเชื้อ H. pylori ที่เป็นสาเหตุของการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกร่วมกับวิธีรักษามาตรฐาน (83% ต่อ 63% ซึ่งมีความแตกต่างกันเพียง 20% เท่านั้น) [35]
- สารสกัดจากรากชะเอมเทศสามารถยับยั้งการเกาะติดของเชื้อ H. pylori ที่เนื้อเยื่อกระเพาะอาหารของคนได้อย่างมีนัยสำคัญ (ประมาณ 40%) สารสกัดนี้จึงมีศักยภาพในการนำมาใช้พัฒนายาที่ปกป้องเยื่อเมือกที่กระเพาะอาหารต่อการเกาะติดของเชื้อชนิดนี้ได้ (เชื้อ H. pylori สัมพันธ์กับการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง และอาจทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะอาหารและลำไส้) [36]
- สารสำคัญหลักในชะเอมเทศนอกจากจะมีฤทธิ์ลดการอักเสบแล้ว ยังเพิ่มอัตราการหลั่งเมือกของเยื่อเมือกกระเพาะอาหาร โดยมีรายงานว่าชะเอมเทศสามารถช่วยเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารในคนปกติและคนที่มีกรดน้อย แต่กลับทำให้การหลั่งกรดของคนที่มีกรดมากลดลงชั่วคราว [37]
- แก้ลำไส้บีบตัวผิดปกติ ซ้อนกันเป็นก้อน มีรายงานการใช้สารสกัดชะเอมเทศรักษาผู้ป่วยลำไส้บีบตัวผิดปกติจำนวน 254 ราย โดยผู้ใหญ่ให้รับประทานครั้งละ 10-15 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง พบว่าการรักษาได้ผลดีจำนวน 241 ราย โดยใช้ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 3-6 วัน [5]
- เพิ่มประสิทธิภาพการลดน้ำหนัก การศึกษาบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากรากชะเอมเทศสามารถช่วยลดดัชนีมวลกาย (BMI) และเพิ่มการลดน้ำหนักได้ [38] อย่างไรก็ตาม การศึกษาอื่น ๆ กลับไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (BMI ไม่เปลี่ยนแปลง) เช่น การศึกษาหนึ่งที่ทำในอาสาสมัครที่เป็นโรคอ้วน [39]
- การศึกษาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี พบว่าชะเอมเทศสามารถลดไขมันได้โดยยับยั้ง 11β-Hydroxysteroid dehydrogenase type 1 ที่ระดับเซลล์ไขมัน (แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของค่า BMI เนื่องจากอาสาสมัครบริโภคแคลอรีเท่ากันในระหว่างทำการศึกษา) [40] สอดคล้องกับการศึกษาอื่น ๆ ที่พบว่าช่วยลดมวลไขมันในร่างกายและไขมันในช่องท้องในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน [41] และการศึกษาในหนูทดลองที่พบว่าชะเอมเทศมีผลลดไขมันในช่องท้องและมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด [42]
- อาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็ง เนื่องจากสารประกอบจากพืชหลายชนิดมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบ ซึ่งสารสกัดจากรากชะเอมเทศก็เป็นหนึ่งในนั้นและมีการศึกษาถึงผลในการป้องกันมะเร็งบางชนิด [43] โดยอาจช่วยป้องกันความเสียหายต่อ DNA และกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งตาย [44]
- การศึกษาพบว่าชะเอมเทศสามารถช่วยชะลอหรือป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งผิวหนัง [45], มะเร็งเต้านม [46],[47], มะเร็งลำไส้ใหญ่ [48],[49] และมะเร็งต่อมลูกหมาก [50] แต่เนื่องจากการศึกษาวิจัยยังจำกัดอยู่ในเฉพาะในหลอดทดลองและในสัตว์ จึงยังไม่ทราบถึงผลในการชะลอหรือป้องกันมะเร็งในมนุษย์
- การใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอ มีการศึกษาทดลองเปรียบเทียบระหว่างการใช้ฟิล์มกาว Triamcinolone acetonide (เป็นวิธีการรักษามาตรฐาน) กับฟิล์มกาว Licorice พบว่าทั้งสองต่างก็มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาภาวะเยื่อบุช่องปากอักเสบของผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยรังสี แต่ในกลุ่มที่ใช้ฟิล์มกาว Licorice นั้นมีแนวโน้มที่จะมีอาการรู้สึกไม่สบายในช่องปากลดลงมากกว่ากลุ่มที่ใช้ฟิล์มกาว Triamcinolone acetonide [51]
- โรคเบาหวาน การศึกษาในหนูทดลองเป็นระยะเวลา 60 วัน พบว่าหนูที่บริโภคสารสกัดจากรากชะเอมเทศทุกวันมีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลง การทำงานของไตดีขึ้น และน้ำหนักตัวของหนูทดลองลดลงอย่างมีนัยสำคัญ [52] อย่างไรก็ตาม ประโยชน์นี้ยังไม่ได้รับการยืนยันผลในมนุษย์
- รักษาความดันโลหิตต่ำ การศึกษาพบว่าการรับประทานชะเอมเทศสามารถช่วยรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากโรคเบาหวานจากระบบประสาทอัตโนมัติ (Diabetic autonomic neuropathy) [53]
- รักษาภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalaemia) การเสริม Glycyrrhetinic acid (Glycyrrhizin) สามารถช่วยลดความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือดได้ จึงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ภาวะโพแทสเซียมสูงนั้นเป็นอันตรายร้ายแรง [54] การศึกษาในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ให้ได้รับสารสกัดน้ำจากรากชะเอมเทศที่มีสาร Glycyrrhizin ในขนาด 108, 217, 380 และ 814 มิลลิกรัม เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ พบว่า เฉพาะอาสาสมัครกลุ่มที่ 4 (814 มก.) มีระดับความเข้มข้นของโพแทสเซียมในเลือดลดลงจาก 4.3 เป็น 3.5 mmol/l ร่วมกับมีระดับความดันโลหิตสูง และเกิดภาวะการบวมส่วนปลาย (Peripheral edema) ส่วนในกลุ่ม 1-2 ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ [55]
- อาจดีต่อสุขภาพตับ มีการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ Glycyrrhizic acid ในการรักษาโรคตับมานานแล้ว เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านไวรัส ต้านมะเร็ง ยับยั้งการตายของเซลล์ตับ [56] การศึกษาหนึ่งชี้ให้เห็นว่าชะเอมเทศมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ จึงมีส่วนช่วยในการปกป้องตับหรือบรรเทาอาการจากภาวะไขมันพอกตับจากแอลกอฮอล์ [57] และที่ไม่ได้เกิดจากแอลแอลกอฮอล์ [58] และอาจมีผลในการรักษาโรคตับอื่น ๆ เช่น ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด (Neonatal jaundice) [59]
- ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) ในประเทศญี่ปุ่นมีการศึกษาการให้สาร Glycyrrhizin ทางหลอดเลือดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคตับอักเสบบีเรื้อรัง แล้วพบว่าสารนี้ช่วยปรับปรุงการทำงานของตับ [60]
- ไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) การศึกษาในหลอดทดลองชิ้นหนึ่งพบว่าการเพิ่มการใช้สาร Glycyrrhizin ร่วมกับการรักษามาตรฐาน สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสได้อย่างมาก [61] อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ในเรื่องนี้ยังไม่ได้รับการยืนยันในมนุษย์ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) การศึกษาในหนูทดลองพบว่า สารสกัดจากชะเอมเทศอาจมีประโยชน์ในการป้องกันการอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง รวมถึงโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ [62] แต่ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
- ลดอาการวัยทอง การศึกษาพบว่ารากชะเอมเทศมีสารไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogen) ที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง (Estrogen) แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะช่วยบรรเทาอาการวัยทองได้ดีเพียงใด [63] แต่มีการศึกษาหนึ่งในหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบจำนวน 90 ราย แล้วนักวิจัยพบว่ากลุ่มที่รับประทานรากชะเอมเทศวันละ 330 มิลลิกรัม มีความถี่และความรุนแรงของอาการร้อนวูบวาบลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (แป้ง) แต่เมื่อหยุดการใช้รากชะเอมเทศ อาการก็กลับมาอีก [64] อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวกับประสิทธิภาพในด้านนี้ยังมีจำกัดและจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
- บรรเทาอาการปวดประจำเดือน มีการศึกษาเปรียบเทียบการใช้สารสกัดชะเอมเทศกับยาไอบูโพรเฟนเพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือนของผู้หญิง ผลการศึกษาพบว่าชะเอมเทศสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้เนื่องจากมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ [65]
- ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้หญิง การศึกษาพบว่าชะเอมเทศสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในผู้หญิง โดยการบล็อก 7-hydroxysteroid dehydrogenase และ 17-20 lyase จึงอาจใช้เป็นการรักษาเสริมเพื่อรักษาภาวะขนดก (Hirsutism) และภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS) [66]
- ปากมดลูกอักเสบเน่าเปื่อย มีรายการใช้สารละลายด่างดับทับทิมล้างช่องคลอดของผู้ป่วยแล้วใช้สำลีเช็ดให้แห้ง จากนั้นใช้สารสกัดชะเอมเทศทาปากมดลูก พบว่าได้ผลได้ดีในผู้ป่วยที่ปากมดลูกอักเสบปานกลาง โดยปกติจะใช้เวลาในการรักษา 2-3 รอบ แต่ละรอบทายา 5 ครั้ง ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ [5]
- เบาจืด (อาการปัสสาวะออกมากผิดปกติ) การศึกษาการใช้ผงชะเอมเทศ 5 กรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเบาจืดที่เป็นมานาน 4-9 ปี จำนวน 2 ราย พบว่าได้ผลในการรักษาอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัสสาวะลดลงเหลือวันละ 2,000-4,000 พันมิลลิลิตร จากวันละ 8,000 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตาม ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป [5]
- ปรับผิวให้ขาวขึ้น สาร Liquiritin, Licochalcone A และ Glabridin ในชะเอมเทศสามารถช่วยปรับผิวให้ดูขาวกระจ่างใสขึ้นได้ จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารเหล่านี้ออกวางจำหน่ายมากมายทั้งในรูปแบบครีมหรือเจลทา โดยงานวิจัยบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าสารดังกล่าวมีผลต่อเม็ดสีเมลานินในร่างกายที่อาจเกี่ยวข้องกับการปรับสีผิวให้ขาวขึ้น (ส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในห้องทดลอง จำเป็นต้องศึกษาถึงประสิทธิภาพในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป) เช่น [28]
- งานวิจัยที่พบว่าสาร Liquiritin ช่วยกระจายเม็ดสีเมลานิน ซึ่งอาจช่วยปรับสภาพผิวให้ขาวขึ้นได้
- งานวิจัยที่พบว่าสาร Licochalcone A ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนสที่เป็นตัวเพิ่มปริมาณเม็ดสีเมลานินมากเกินไป
- งานวิจัยที่พบว่าสาร Glabridin อาจมีฤทธิ์ป้องกันผิวคล้ำจากรังสี UVB และอาจช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซิเนส
- การศึกษาทดลองใช้สารสกัดจากชะเอมเทศเพื่อรักษาฝ้าแล้วพบว่าได้ผลดีและก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยมาก
- สิว (Acne) แม้จะมีการใช้เจลทาลิโคไลซ์เพื่อรักษาสิว แต่การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมันในเรื่องนี้ยังมีจำกัด โดยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่พบว่าสารสกัดจากชะเอมเทศมีฤทธิ์ต้านเชื้อ P. acnes [67]
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic dermatitis) การศึกษาพบว่า การใช้เจลลิโคไลซ์ 1 และ 2% (Licorice topical gel) มีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง โดยแบบเจล 2% มีประสิทธิภาพมากกว่า 1% ในการลดอาการผื่นแดง บวม และอาการคัน [68]
- ผิวหนังบริเวณแขน ขา แตกเป็นขุย มีการศึกษาการใช้สารสกัดชะเอมเทศรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังแตกมากจำนวน 17 ราย โดยใช้ทาบริเวณที่เป็นแล้วพบว่าได้ผลที่เป็นน่าพอใจ (เตรียมโดยใช้ชะเอมเทศ 30 กรัม หั่นเป็นแผ่นบาง ๆ แช่ใน 75% เอทานอล จำนวน 100 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 24 ชั่วโมง แล้วกรองสารสกัดที่ได้นำมาผสมกับกลีเซอรีนและน้ำจนครบ 100 มิลลิลิตร) [5]
- ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน มีน้ำเหลือง หรือเป็นแผลมีหนองเรื้อรัง การศึกษาพบว่าการใช้สารสกัดชะเอมเทศด้วยน้ำความเข้มข้น 2% ทาบริเวณที่เป็นทุก 2 ชั่วโมง (แต่ละครั้งทายานาน 15-20 นาที) เป็นเวลา 1-4 วัน แล้วผมว่าอาการบวมแดงหายไป น้ำเหลืองหยุดไหล แผลที่เน่าเปื่อยมีขนาดเล็กลง และให้ใช้ครีมซิงค์ออกไซด์หรือคาลาไมน์ทาต่ออีกหลายก็หายเป็นปกติ [5]
- แก้เส้นเลือดดำขอด การเสริมสารสกัดชะเอมเทศวันละ 12-20 มิลลิลิตร หรือรับประทานชะเอมเทศ 50 กรัม ต้มน้ำแบ่งกินก่อนอาหาร 3 ครั้ง พบว่าได้ผลดีในการรักษาผู้ป่วยเส้นเลือดดำขอดจำนวน 8 ราย อาการปวดบวมเป็นเส้นหายไป เนื่องจากสารสำคัญในชะเอมเทศสามารถช่วยบรรเทาอาการปวด อักเสบ และเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ร่างกาย ระงับการเกิดกลุ่มก้อนเนื้อ อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรักษา ผู้ป่วยบางรายมีอาการบวมน้ำเล็กน้อย ความดันโลหิตสูงขึ้น แต่เมื่อลดขนาดยาลงอาการดังกล่าวก็หายไป [5]
- นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการรับประทานสารสกัดชะเอมเทศวันละ 15 มิลลิลิตร (แบ่งทาน 3 ครั้ง) สามารถรักษาอาการเส้นเลือดดำอุดตันและอักเสบ หลังทานยา 3 สัปดาห์ พบว่าอาการส่วนใหญ่หายไป ผิวหนังสีแดงสดใสขึ้น อุ่นขึ้น ข้อเท้าและข้อต่อต่าง ๆ เคลื่อนไหวได้เป็นปกติ [5]
- ฤทธิ์แก้พิษ มีรายงานว่าสารสกัดจากชะเอมเทศมีฤทธิ์แก้พิษของสตริกนิน, แอมโมเนียมคลอไรด์, ซัลไพริน, ลดความเป็นพิษของฮิสตามีน คลอรอลไฮเดรต โคเคน แอซิโนเบนซอล และปรอทไบคลอไรด์, แก้พิษเล็กน้อยหรือปานกลางต่อคาเฟอีน นิโคติน แอซิติลโคลีน บาร์บิทูเรท, แก้พิษปลาปักเป้าและงูพิษ, แก้พิษของเชื้อโรคคอตีบและบาดทะยัก, ป้องกันการทำลายตับของคาร์บอนเตตระคลอไรด์ เอทิลีนเตตระคลอไรด์ ยารักษาวัณโรค และแอลกอฮอล์ในสัตว์ทดลอง ฯลฯ [5]
- ฤทธิ์อื่น ๆ เช่น ฤทธิ์บรรเทาปวดในหนูทดลอง, ฤทธิ์เพิ่มแรงของกล้ามเนื้อในหนูทดลอง, ฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งในไขกระดูกในหนูทดลอง, ฤทธิ์ยับยั้งการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะของกระต่ายทดลอง, ฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและอาการชัก, ฤทธิ์ยับยั้งผลการกระตุ้นการเจริญเติบโตของมดลูกสัตว์ทดลองแม้ว่าจะตัดต่อมหมวกไตหรือรังไข่ออกแล้วฤทธิ์ก็ยังอยู่, ฤทธิ์ที่ส่งผลดีต่ออาการดีซ่านในสัตว์ทดลอง, ฤทธิ์รักษาอาการบวมอักเสบในหนูทดลอง, เพิ่มฤทธิ์การขับปัสสาวะของทีโอฟิลลีน (Theophylline) ฯลฯ
- ใช้เป็นสารให้ความหวานและดับกระหาย โดยเป็นสารให้ความหวานที่นิยมในน้ำอัดลม ผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมขบเคี้ยว ลูกอม ใช้กลบรสขมของยา ปรุงแต่งรสยาสมุนไพรหลายชนิด หรือใช้ปรุงแต่งรสอาหารและเครื่องดื่มบางชนิด เนื่องจากสาร Glycyrrhizin เป็นสารที่ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50-100 เท่า [1],[5]
- การบริโภคเครื่องดื่มจากธรรมชาตินั้นเป็นที่นิยมในประเทศร้อนจัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนถือศีลอดรอมฎอน ที่มีความเชื่อดั้งเดิมว่าชะเอมเทศเป็นสารธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพที่ไม่มีผลข้างเคียง [1]
- น่าแปลกที่ในผลิตภัณฑ์ลูกอมชะเอมเทศหลายยี่ห้อมักไม่ได้ปรุงรสด้วยรากชะเอมเทศ แต่มักใช้น้ำมันโป๊ยกั๊กที่มีรสชาติคล้ายกันแทน
- ชะเอมเทศผงสามารถนำมาผสมทำเป็นยาเม็ดกลมได้ ทำให้เนื้อยาข้นเหนียวพอเหมาะที่จะทำเป็นเม็ด หรือใช้ป้องกันเม็ดยาติดกันได้ [5]
- ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น ใช้เป็นตัวปรับความชื้นในบุหรี่, ใช้ผสมในเบียร์ทำให้เบียร์ใสเป็นประกายและแต่งรสและกลิ่นด้วย, กากที่เหลือจากการสกัดชะเอมเทศที่นำมาใช้เป็นยาและแต่งรสหวานยังสามารถนำมาสกัดต่อด้วยสารละลายโซดาเจือจาง นำมาใช้ผสมในน้ำยาดับเพลิงเพื่อทำให้เกิดฟองที่คงทน หรือผสมในยาฆ่าแมลงเพื่อทำให้ยาฆ่าแมลงแผ่กระจายและติดใบไม้ดีขึ้นหรือติดตัวแมลงได้ดีขึ้น, กากที่เหลืออาจนำมาย่อยด้วยกรดจะได้น้ำตาล ซึ่งสามารถนำไปหมักเพื่อผลิตเอทานอลหรือใช้เลี้ยงยีสต์, กากที่เหลือยังใช้เพาะเห็ดหรือทำแผ่นฉนวนกล่องไม้หรือผลิตภัณฑ์เส้นใยต่าง ๆ ได้ [5]
สรรพคุณของชะเอมเทศ (ดั้งเดิม)
ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมในบ้านเรานั้นมีปรากฏการใช้สมุนไพรชะเอมเทศเพื่อประโยชน์ดังนี้
- ส่วนของรากและเหง้าชะเอมเทศ มีรสหวานขมชุ่ม ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้อาการคอแห้ง น้ำลายเหนียว ช่วยขับเสมหะ แก้อาการไอ (อาจใช้ผสมในยาบรรเทาอาการไอและขับเสมหะต่าง ๆ รวมถึงยาอม ยาจิบ หรือผสมในยาที่รับประทานยาก เพื่อกลบรสยาหรือแต่งรสหวาน) นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ขับลม แก้พิษ แก้ไข้ แก้กำเดา แก้อาการคัน แก้เบื่ออาหาร แก้ปวดท้อง ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร แก้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดีหรืออาหารเป็นพิษ รักษาแผลเรื้อรัง แก้อาการอ่อนเพลียจากการตรากตรำทำงานหนัก อาการอ่อนเพลียเรื้อรังและอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ช่วยสงบประสาท ช่วยให้จิตใจสดชื่น ใช้บำรุงปอด บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น บำรุงกล้ามเนื้อให้เจริญเติบโตได้ดี บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร ขับเลือดเน่าเสียในท้อง รักษากำเดาให้เป็นปกติ ลดไข้ ต้านมาลาเรีย ระบายความร้อน ช่วยขับพิษ แก้เสมหะเป็นพิษ แก้อาการใจสั่น รักษาโรคตับอักเสบ ไวรัสตับอักเสบ แก้อาการปวดและอาการอักเสบต่าง ๆ รักษาพิษจากยาหรือพิษจากพืชชนิดต่าง ๆ [2],[37],[69],[70]
- รากสดใช้บรรเทาอาการเจ็บคอ รักษาแผลเรื้อรัง ช่วยให้ระบบการย่อยอาหารดีขึ้น แก้พิษยา หรืออาหารเป็นพิษ (บ้างใช้ร่วมกับสมุนไพรอื่นเพื่อแก้อาการคอบวม อักเสบ [69]) ส่วนเปลือกรากมีรสหวานร้อนมีสรรพคุณเป็นยาระบายท้องเด็กอ่อน [37]
- รากใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาเลือดงาม ในบัญชียาจากสมุนไพรไทยที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิม ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีระบุว่าการใช้รากชะเอมเทศร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ในตำรับ “ยาเลือดงาม” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้ระดูขาว
- ในบ้านเรานิยมใช้ชะเอมเทศเพื่อช่วยให้ชุ่มคอ ลดกลิ่นปาก บรรเทาอาการไอ แก้เจ็บคอ และดับกระหาย [2]
- ชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่นักกีฬาหรือผู้ใช้แรงงานบางกลุ่มนิยม โดยมักถูกนำไปใช้เป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรับยาบำรุงกำลังไปจนถึงตำรับยาทั่วไป เนื่องจากชะเอมเทศเป็นสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบย่อยอาหาร ช่วยในระบบการเผาผลาญภายในร่างกาย ช่วยในเรื่องการดูดซึมสารอาหาร และช่วยในการสร้างเม็ดเลือดอีกด้วย [2]
- เนื่องจากชะเอมเทศมีสรรพคุณช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับลำคอและกล่องเสียง จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มนักร้อง นักพูด หรือผู้ที่ต้องใช้เสียงเป็นประจำ เนื่องจากชะเอมเทศสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างสารหล่อลื่นในบริเวณลำคอเหนือกล่องเสียงได้ [2]
- สำหรับผู้ที่มีอาการไอไม่หยุด เนื่องจากเป็นภูมิแพ้และมีอาการกระหายน้ำอย่างรุนแรง ให้ใช้รากชะเอมเทศแห้ง 4 กรัม, โสมคนแห้ง 3 กรัม, ขิงแห้ง 5 กรัม และพุทราแดงจีนแห้ง 5 กรัม (หาซื้อได้ตามร้านขายยาจีน) นำมาห่อให้ผ้าขาวบางแล้วมัดไว้ให้แน่นต้มน้ำจนเดือด แล้วนำมาดื่มเมื่อมีอาการไอหรือใช้ดื่มต่างน้ำจิบบ่อย ๆ จะช่วยลดอาการไอได้
- บางตำราจะใช้ชะเอมเทศนำมาผัดกับน้ำผึ้งรับประทาน เพื่อแก้เส้นเอ็นและชีพจรตึงแข็ง (ชีพจรเต้นไม่สม่ำเสมอ) ช่วยให้การเต้นของชีพจรมีแรง เต้นหยุดอย่างมีจังหวะ และกลับคืนสภาพปกติ (ช่วยเสริมชี่ รักษาชี่ของหัวใจพร่อง) [69]
- ในประเทศจีนมีการใช้สมุนไพรชะเอมเทศเพื่อขจัดสารพิษที่สะสมอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในเลือดและตับ ด้วยการรับประทานทุกวันในปริมาณน้อย ๆ และชะเอมเทศยังได้รับการบันทึกว่ามีประสิทธิภาพในการแก้อาการเหนื่อยล้าและความอ่อนล้า [71]
- ในประเทศอินโดนีเซีย ใช้ชะเอมเทศเคี้ยวแก้ปากเจ็บและแก้ทารกปากและลิ้นเป็นฝ้าขาว [5]
- ส่วนของต้นชะเอมเทศ : ให้รสหวาน มีสรรพคุณช่วยขับลมลงสู่เบื้องต่ำ [70]
- ส่วนของเปลือกต้นชะเอมเทศ : มีสรรพคุณเป็นยาบำรุง [70]
- ส่วนของใบชะเอมเทศ : ให้รสหวานเอียน มีสรรพคุณแก้ดีพิการ และทำให้เสมหะแห้ง [70]
- ส่วนของดอกชะเอมเทศ : ให้รสหวานเย็น มีสรรพคุณแก้พิษฝีดาษ แก้อาการคัน [70]
- ส่วนของฝักชะเอมเทศ : ให้รสหวาน มีสรรพคุณแก้อาการคอแห้ง ช่วยทำให้ชุ่มอก และช่วยบำรุงกำลังได้ดี [70]
ขนาดและรูปแบบผลิตภัณฑ์ของรากชะเอมเทศ
ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สารสกัดจากรากชะเอมเทศมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบแคปซูล ผง ทิงเจอร์ เครื่องดื่ม ลูกอม เม็ดเคี้ยว แบบชาชงดื่ม และแบบเจลทาเฉพาะที่ (ส่วนรากสามารถหาซื้อได้ทั้งแบบสดและแบบแห้ง)
สำหรับขนาดที่ใช้ยังไม่มีคำแนะนำการใช้ยามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำเบื้องต้นว่าถ้าเป็นรากชะเอมแห้งให้ใช้ไม่เกินวันละ 5-15 กรัม (เทียบเท่าสาร Glycyrrhizin 200-800 มิลลิกรัม) และไม่ควรใช้ติดต่อกันนานเกิน 6 สัปดาห์ แต่ทางองค์การอนามัย (WHO) นั้นแนะนำให้จำกัดการบริโภคสาร Glycyrrhizin อยู่ที่ไม่เกินวันละ 100 มิลลิกรัม [79]
ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ระบุปริมาณของสาร Glycyrrhizin เอาไว้ จะเป็นเรื่องยากที่จะระบุปริมาณการใช้ที่ปลอดภัย จึงควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อมาใช้ทุกครั้ง หรืออีกทางเลือกหนึ่งคุณอาจมองหาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบผงหรือแคปซูลชะเอมเทศที่เป็น deglycyrrhizinated licorice (DGL) หรือ “DGL Licorice supplements” หากต้องการใช้ในขนาดที่สูงและใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาหารเสริมในรูปนี้จะปราศจากสาร Glycyrrhizin ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดผลข้างเคียงส่วนใหญ่ จึงอาจมีประโยชน์ในผู้ใช้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือมีระดับโพแทสเซียมต่ำ (การศึกษาขนาดเล็กพบว่าผลิตภัณฑ์นี้ช่วยลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้ [33]) แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์ DGL จะให้ผลดีต่อสุขภาพเหมือนกันหรือไม่ เพราะสาร Glycyrrhizin ก็ยังมีประโยชน์ของมันอยู่มากมาย
รีวิวผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศ
หากนึกถึงชะเอมเทศ เราอาจจะนึกถึงรากชะเอมเทศแห้งฝานเป็นชิ้น ๆ ที่บรรจุขายในถุงซิปสำหรับ ใช้ปรุงยาร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ หรือนำมาต้มเพื่อเพิ่มความหวานให้อาหาร ขนม หรือเครื่องดื่ม ใช่ไหมครับ? แต่สำหรับชะเอมเทศในรูปของผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อย่างเดียวเลยที่ผมนึกออกก็คือ “โบตัน” แผ่นอมสีน้ำตาลในซองสีเขียวเหลืองที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยหรือเคยเห็นผ่านตากันมาบ้างแล้ว
แต่เราอาจจะไม่ทราบกันว่าผลิตภัณฑ์โบตันนั้นมีส่วนประกอบหลักเป็น “ชะเอมเทศแท้ ๆ” ที่มีงานวิจัยจากจุฬาฯ และผลการวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการ (Lab Report) รับรองแล้วว่าวัตถุดิบชะเอมเทศจากธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์โบตันมีสารสำคัญอย่าง Glycyrrhizic acid รวมถึงสารในกลุ่ม Flavonoids ที่มีฤทธิ์ในทางเภสัชวิทยาหลายด้าน นอกจากนี้ยังได้รับการพิสูจน์ด้วยว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบและต้านอนุมูลอิสระในเซลล์เพาะเลี้ยง (น่าแปลกใจอยู่ไม่น้อยนะครับที่สมุนไพรมากสรรพคุณเช่นนี้ แทบจะไม่มีจำหน่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหรือมีในยี่ห้ออื่นๆ เลย ยกเว้นโบตัน)
“โบตัน ตรากิเลน” เป็นสินค้าที่มาพร้อมกับสโลแกน “ชุ่มคอ ไม่เหมือนใคร” หนึ่งใน ตำนานแบรนด์ที่เก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองไทยมายาวนานกว่า 80 ปี
โดยผลิตภัณฑ์โบตันที่วางจำหน่ายในปัจจุบันนั้นหลัก ๆ จะมีอยู่ด้วยกัน 3 อย่าง คือ
- โบตันรุ่นคลาสสิค (Botan Herbal Mouth Freshener) เป็นตัวออริจินัลที่ขายมาตั้งแต่ยุคเริ่มแรกที่เป็นแผ่นสีน้ำตาล (แบบดั้งเดิม) ในปัจจุบันมีจำหน่ายใน 2 รูปแบบ คือ แบบซอง (หักกินเอง) และแบบตลับพกสะดวก (หักมาแล้ว) จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้คือทำมาจากสมุนไพรที่มีส่วนผสมหลักจากชะเอมเทศแท้สูงมากถึง 70% ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล มีประโยชน์ คือ ช่วยให้ชุ่มคอ ระงับกลิ่นปาก ทำให้ลมหายใจหอมสดชื่น ด้วยคุณประโยชน์ของชะเอมธรรมชาติ โบตันแตกต่างจากสินค้าอื่น ๆ ตรงที่ทำจากชะเอมเทศแท้ ๆ จากธรรมชาติ นำมาบดให้ละเอียดผสมกับส่วนประกอบอื่น ๆ ผ่านกระบวนการผลิต แล้วนำมาอัดรีดเป็นแผ่นบรรจุลงซอง
- ข้อดี : สรรพคุณมาเต็มเพราะมีส่วนผสมของชะเอมเทศสูงถึง 71.6% เรียกได้ว่าอัดแน่นจากสมุนไพรแท้แบบเต็ม ๆ ซอง อมแล้วรู้สึกสดชื่นชุ่มคอไม่เหมือนใคร ไม่หวาน ราคาถูก และพกพาสะดวก
- ข้อเสีย : เมื่ออมจนใกล้หมดจะรู้สึกว่าเป็นเม็ดแข็งเล็ก ๆ และในแบบซองกระดาษอาจไม่สะดวกใช้มากเท่าไหร่ (ไม่เหมือนแบบบรรจุในตลับที่หักมาให้แล้ว)
- โบตันมิ้นท์บอล (Botan Mint-Ball) จุดเด่นคือเป็นเม็ดอม 3 ชั้น ไม่เหมือนใคร หอมนาน เย็นนาน และยังชุ่มคออีกด้วย ผลิตออกมาเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่เป็นหลัก มีหลายรสให้เลือก รสชาติดี เน้นอมเพื่อดับกลิ่นปาก ให้ลมหายใจหอมสดชื่น และช่วยให้ชุ่มคอ ครบในเม็ดเดียว
- ข้อดี : เป็นเม็ดอม 3 ชั้น (ชั้นนอกหอมสดชื่นเต็ม ๆ จากมิ้นท์, ชั้นกลางเย็นนานด้วยเมนทอล และชั้นในสุดเป็นชะเอมเทศที่เป็นสูตรเหมือนกับโบตันคลาสสิคที่ช่วยให้ชุ่มคอ) ส่วนตัวใช้แล้วชอบรสชาติมากที่สุด อมแล้วชุ่มคอ ดับกลิ่นปากได้ดี แถมยังเป็น Sugar free สามารถอมเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องน้ำตาล ไม่กลัวฟันผุ และรู้สึกว่าลมหายใจหอมสดชื่นมากกว่าและยาวนานกว่ายาอมโบตันรุ่นคลาสสิค
- ข้อเสีย : มีส่วนผสมของชะเอมเทศเป็นเม็ดเล็กอยู่ด้านในสุด ต้องอมจนจะหมดเม็ดถึงเจอ และมีราคาแพงมากกว่าโบตันคลาสสิคเล็กน้อย
- ยาสีฟันสมุนไพรโบตัน เฮอร์เบิลเฟรช (Botan Herbal Fresh Toothpaste) ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของสารสกัดชะเอมที่เป็นจุดเด่นของโบตัน และนอกจากนี้ยังมีส่วนผสมสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติในการดูแลช่องปากและฟัน ได้แก่ สารสกัดชะเอมเทศ ข่อย ใบฝรั่ง ชาขาว และกานพลู สารพัดตัวช่วยลดการสะสมของคราบแบคทีเรียในช่องปาก สาเหตุหนึ่งของกลิ่นปากและปัญหาสุขภาพเหงือก ช่วยทำให้ปากสะอาด ลมหายใจหอมสดชื่น และยังมีฟลูออไรด์ที่ช่วยป้องกันฟันผุ มีโพแทสเซียมไนเตรตตัวช่วยลดการเสียวฟันเมื่อใช้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
- ข้อดี : บรรจุภัณฑ์ดูสวยงามสะดุดตาในสไตล์โมเดิร์นวินเทจ ใช้แล้วไม่แสบปาก ไม่เสียวฟัน หลังใช้รู้สึกลมหายใจหอมสดชื่นยาวนาน รู้สึกช่องปากมีสุขภาพดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นเพราะสูตรผสมผสานระหว่างสมุนไพรดูแลช่องปากและฟันหลายชนิด ผลิตภัณฑ์นี้จึงเป็นการต่อยอดจากจุดแข็งของยาอมโบตันที่ช่วยเพิ่มความชุ่มคอ หอมสดชื่น ได้เป็นอย่างดี
- ข้อเสีย : ราคาอาจจะแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาสีฟันสมุนไพรยี่ห้ออื่น ๆ
จุดเด่นที่ทำให้ “โบตัน (Botan)” เป็นแบรนด์ที่ได้รับความนิยมจากลูกค้ามาอย่างต่อเนื่องนั้น มาจากคุณภาพของวัตถุดิบที่เลือกใช้ ซึ่งต้องเป็นสมุนไพรแท้จากธรรมชาติและเป็นวัตถุดิบชั้นดีเท่านั้น โดยเฉพาะโบตันคลาสสิคที่ผลิตจากชะเอมเทศแท้ ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล และใช้กรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมเพื่อคงเสน่ห์ของโบตัน เพื่อให้ได้รสชาติจากสมุนไพรธรรมชาติแท้ ๆ ชุ่มคอ…ไม่เหมือนใคร อันเป็นเอกลักษณ์มาจนถึงทุกวันนี้
งานวิจัยจากจุฬา (วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2565) [อ้างอิง] :
- การตรวจพิสูจน์ทางเคมีของวัตถุดิบชะเอมเทศที่ใช้ในการผลิตโบตันคลาสสิค (ด้วยวิธี HPTLC) ผู้วิจัยพบว่าวัตถุดิบดังกล่าวมีสาร Glycyrrhizic acid (Glycyrrhizin) ซึ่งสารนี้เป็นสารสำคัญที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อไวรัส ต้านเนื้องอก ปกป้องตับ [80]
- การวิเคราะห์ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ของสมุนไพร ผู้วิจัยพบว่าชะเอมเทศที่นำมาผลิตโบตัน เป็นวัตถุดิบที่มีส่วนประกอบของสารในกลุ่ม Flavonoids (สารฟลาโวนอยด์มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา หลายด้าน เช่น การลดการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ฆ่าเชื้อไวรัส เป็นต้น [81])
- ประเมินฤทธิ์ต้านการอักเสบในเซลล์เพาะเลี้ยง โดยใช้ Lipopolysaccharide (LPS) เป็นตัวกระตุ้นให้เซลล์เกิดการอักเสบ และการอักเสบจะถูกประเมินด้วยระดับของ Nitric oxide (NO) ที่ถูกหลั่งออกมา ผู้วิจัยพบว่าสารสกัดชะเอมเทศดังกล่าวช่วยทำให้ระดับของ NO ลดลง ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่าชะเอมเทศที่ใช้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
- ประเมินฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระในเซลล์เพาะเลี้ยง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอนุมูลอิสระนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นกระบวนการอักเสบ [82] ผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระและพบว่าเซลล์ที่ถูกกระตุ้นให้เกิดการอักเสบด้วย LPS สามารถถูกยับยั้งได้ด้วยสารสกัดจากชะเอมเทศ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสรุปได้ว่าชะเอมเทศที่ใช้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ
ผลข้างเคียงและข้อควรระวัง
โดยทั่วไปการใช้รากชะเอมเทศนั้นมีความปลอดภัยสูงมากเมื่อนำมาใช้ประกอบอาหาร แต่ก็ไม่แนะนำให้บริโภคติดต่อกันนานเกินกว่า 4 เดือน (รวมถึงการใช้ชะเอมเอมเทศเพื่อทาผิวด้วย ก็ควรใช้ในระยะสั้นเท่านั้น)
ส่วนการใช้ชะเอมเทศในรูปแบบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมก็มีไว้สำหรับการใช้ระยะสั้นเท่านั้น เพราะการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้ แม้จะใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่โดยทั่วไปแล้วการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะเอมเทศรวมถึงชาชะเอมเทศในระยะสั้น ๆ กับบุคคลทั่วไปก็ยังถือว่ามีความปลอดภัยสูง เพราะในประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชะเอมเทศจะต้องเป็นสารสกัดที่มาจากรากด้วยกรรมวิธีบดผง สกัดด้วยน้ำ หรือสกัดด้วยเอทานอลเท่านั้น และปริมาณต้องน้อยกว่า 1.5 กรัม/วัน เพื่อความปลอดภัย (แต่ผู้บริโภคควรอ่านฉลากอย่างละเอียดและปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ)
สำหรับผลิตภัณฑ์ยี่ห้อที่ไม่เป็นที่คุ้นเคยที่มักจะยังไม่มีการประเมินถึงประสิทธิภาพ ความบริสุทธิ์ของสารสำคัญ และความถูกต้องของปริมาณส่วนผสมในฉลาก (ทำให้ไม่ทราบขนาดของสารสำคัญที่แน่ชัด) ควรหลีกเลี่ยงในการใช้ เพราะหากใช้ในปริมาณมากเกินไปหรือใช้เป็นเวลานานก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้
อย่างไรก็ตาม บุคคลที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างเหล่านี้อาจต้องระวังหรือหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศทุกชนิด
- ผู้ที่ใช้เป็นเวลานานและ/หรือใช้ในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการสะสมของสาร Glycyrrhizin ในร่างกายและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยระดับ Glycyrrhizin ที่สูงขึ้นจะทำฮอร์โมน Cortisol (ฮอร์โมนความเครียด) สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งอาจทำให้ระดับของเหลวและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายเกิดความไม่สมดุลอย่างรุนแรง เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูงขึ้น ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น และแม้ว่าพิษจากการใช้ชะเอมเทศจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่ในกรณีที่รุนแรงมากก็อาจส่งผลให้ไตวาย หัวใจล้มเหลว หรือเกิดภาวะปอดบวมน้ำได้ ดังนั้น ในผู้ที่เป็นโรคไต ผู้ที่ความดันโลหิตสูง ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือผู้มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศที่มีสาร Glycyrrhizin [72],[73],[74] (อาจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศที่ปราศจากสาร Glycyrrhizin แทน)
- กรณีศึกษา เช่น เด็กอายุ 10 ขวบรายหนึ่ง ที่กินชะเอมเทศจำนวนมากติดต่อกันเป็นเวลา 4 เดือน แล้วเกิดอาการความดันโลหิตสูงและมีอาการชัก [75] ส่วนอีกกรณีที่เกี่ยวข้องคือ ผู้หญิงรายหนึ่งดื่มชาสมุนไพรชะเอมเทศวันละ 8 ถ้วย มาโรงพยาบาลด้วยอาการความดันโลหิตสูงและระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ [76] ซึ่งเมื่อหยุดบริโภคอาการของทั้งคู่ก็หายเป็นปกติ
- หญิงตั้งครรภ์ การรับประทานผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศหรือผลิตภัณฑ์ที่มีสาร Glycyrrhizin อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดหรือแท้งบุตร [77] และอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการทางสมองของทารกในครรภ์ โดยมีการศึกษาที่พบว่า เด็กที่เกิดจากคุณแม่ตั้งครรภ์ที่รับประทานผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศที่มีสาร Glycyrrhizin จำนวนมากในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ในภายหลังจะมีแนวโน้มที่จะมีความบกพร่องทางสมอง [78] ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชะเอมเทศทุกประเภท รวมถึงจำกัดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชะเอมเทศด้วย
- หญิงให้นมบุตรและเด็ก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากชะเอมเทศด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังขาดการวิจัยในเรื่องความปลอดภัย
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เพราะการบริโภคชะเอมเทศจะยิ่งทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นไปอีกจนเป็นอันตรายได้
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากชะเอมเทศอาจทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำอย่างผิดปกติ และส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติและหัวใจล้มเหลวได้
- ผู้ป่วยโรคไต การบริโภคชะเอมเทศในปริมาณมาก ๆ อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่แย่ลง
- ผู้ที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากชะเอมเทศจะทำให้ระดับโพแทสเซียมลดลงต่ำมากกว่าเดิมจนเป็นอันตรายได้
- ผู้ที่มีภาวะไวต่อฮอร์โมน เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก เนื้องอกมดลูก ฯลฯ เพราะชะเอมเทศอาจเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายจนทำให้อาการต่าง ๆ ของโรคที่เป็นอยู่แย่ลง
- ผู้มีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวมาก เพราะชะเอมเทศทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง จึงอาจส่งผลให้อาการกล้ามเนื้อตึงตัวนั้นแย่ลง
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ก่อนเข้ารับการผ่าตัดควรงดการบริโภคชะเอมเทศอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะอาจมีผลต่อการควบคุมความดันโลหิตในระหว่างและหลังการผ่าตัดได้
- ผู้ใช้ยาบางชนิด ผลิตภัณฑ์จากรากชะเอมเทศอาจทำปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิต, ยาลดระดับโพแทสเซียมในเลือด, ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ, ยาลดคอเลสเตอรอล (รวมถึงสแตติน), ยาป้องกันลิ่มเลือด (Blood thinners เช่น วาร์ฟาริน), ยาขับปัสสาวะ (มีผลทำให้โพแทสเซียมถูกขับออกมากขึ้น/ลดประสิทธิผลการรักษาโรคความดันโลหิต), ยาคุมกำเนิดที่ใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน และยาต้านการอักอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ผู้ที่รับประทานยาเหล่านี้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว หรือใช้ผลิตภัณฑ์ DGL (ผลิตภัณฑ์ชะเอมเทศที่ปราศจากสาร Glycyrrhizin) เว้นแต่แพทย์ผู้ดูแลจะสั่งเป็นอย่างอื่น
การใช้ผลิตภัณฑ์จากรากชะเอมเทศเป็นเวลานานและในปริมาณมากอาจทำให้ของเหลวและระดับอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ในเด็ก หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร ผู้มีความดันโลหิตสูง ผู้มีภาวะโพแทสเซียมต่ำ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์จากรากชะเอมเทศ
งานวิจัยและเอกสารอ้างอิง
- Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medical Sciences. Chinese Materia Medica, Volume 1. Beijing: Ren-Min-Wei-Sheng, 1979 : 355-366.
- หนังสือตำราเครื่องยาไทย (วุฒิ วุฒิธรรมเวช), หนังสือสวน 20 ปีสมุนไพร (สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ).
- PubMed. “The anti-inflammatory activity of licorice, a widely used Chinese herb”. (2017)
- PubMed. “Glycyrrhizin inhibits LPS-induced inflammatory mediator production in endometrial epithelial cells”. (2017)
- Jiangsu New Medical College. A Dictionary of Chinese Materia Medica, Volume I. Hong Kong: Shangwu, 1979: 567-573.
- PubMed. “The antiviral and antimicrobial activities of licorice, a widely-used Chinese herb”. (2015)
- PubMed. “Leaves Antimicrobial Activity of Glycyrrhiza glabra L.”. (2010)
- Naresuan University Journal. “ฤทธิ์ต้านแบคทีเรียของสารสกัดชะเอมเทศต่อเชื้อ STAPHYLOCOCCUS AUREUS ที่เจริญแบบอิสระและแบบไบโอฟิล์ม”. (2014)
- ScienceDirect. “In vitro anti-Candida activity of Glycyrrhiza glabra L.”. (2016)
- PubMed. “Glycyrrhizin and Long-Term Histopathologic Changes in a Murine Model of Asthma”. (2011)
- PubMed. “The synergistic anti-asthmatic effects of glycyrrhizin and salbutamol”. (2010)
- Biological and Pharmaceutical Bulletin. “Protective Effects of Glycyrrhizin against β2-Adrenergic Receptor Agonist-Induced Receptor Internalization and Cell Apoptosis”. (2011)
- American Chemical Society. “Antioxidative and Antiinflammatory Activities of Asiatic Acid, Glycyrrhizic Acid, and Oleanolic Acid in Human Bronchial Epithelial Cells”. (2015)
- PubMed. “Herbal medicine for adults with asthma: A systematic review”. (2016)
- PubMed. “Beneficial effects of specific natural substances on oral health”. (2017)
- PubMed. “Clinical reduction of S. mutans in pre-school children using a novel liquorice root extract lollipop: a pilot study”. (2010)
- PubMed. “Effect of Aqueous and Alcoholic Licorice (Glycyrrhiza Glabra) Root Extract Against Streptococcus Mutans and Lactobacillus Acidophilus in Comparison to Chlorhexidine: An In Vitro Study”. (2014)
- PubMed. “Licorice and its potential beneficial effects in common oro-dental diseases”. (2011)
- PubMed. “Reduction of bacterial volatile sulfur compound production by licoricidin and licorisoflavan A from licorice”. (2012)
- PubMed. “Deglycyrrhizinated liquorice in aphthous ulcers”. (1989)
- PubMed. “A controlled trial of a dissolving oral patch concerning glycyrrhiza (licorice) herbal extract for the treatment of aphthous ulcers”. (2008)
- PubMed. “Effect of licorice compounds licochalcone A, glabridin and glycyrrhizic acid on growth and virulence properties of Candida albicans”. (2011)
- PubMed. “Antitussive and expectorant activities of licorice and its major compounds”. (2018)
- Huang KC. The Pharmacology of Chinese Herbs. Second edition. Florida: CRC Press,1999:364-369.
- PubMed. “Herbal Tea for the Management of Pharyngitis: Inhibition of Streptococcus pyogenes Growth and Biofilm Formation by Herbal Infusions”. (2019)
- PubMed. “Topical application of licorice for prevention of postoperative sore throat in adults: A systematic review and meta-analysis”. (2019)
- European Journal of Anaesthesiology. “The efficacy of different doses of liquorice gargling for attenuating postoperative sore throat and cough after tracheal intubation”. (2016)
- พบแพทย์. “ชะเอมเทศ สมุนไพรบำรุงผิว รักษาโรค”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pobpad.com. [27 ม.ค. 2023].
- PubMed. “Suppressive effect of glycyrrhizic acid against lipopolysaccharide-induced neuroinflammation and cognitive impairment in C57 mice via toll-like receptor 4 signaling pathway”. (2019)
- PubMed. “Hypnotic effects and GABAergic mechanism of licorice (Glycyrrhiza glabra) ethanol extract and its major flavonoid constituent glabrol”. (2012)
- PubMed. “An Extract of Glycyrrhiza glabra (GutGard) Alleviates Symptoms of Functional Dyspepsia: A Randomized, Double-Blind, Placebo-Controlled Study”. (2011)
- PubMed. “Outcomes in patients with nonerosive reflux disease treated with a proton pump inhibitor and alginic acid ± glycyrrhetinic acid and anthocyanosides”. (2013)
- Journal of the Australian Traditional-Medicine Society. “Prevention of symptoms of gastric irritation (GERD) using two herbal formulas: An observational study”. (2017)
- PubMed. “Antiulcer properties of Glycyrrhiza glabra L. extract on experimental models of gastric ulcer in mice”. (2015)
- PubMed. “To evaluate of the effect of adding licorice to the standard treatment regimen of Helicobacter pylori”. (2016)
- PubMed. “Aqueous extracts and polysaccharides from liquorice roots (Glycyrrhiza glabra L.) inhibit adhesion of Helicobacter pylori to human gastric mucosa”. (2009)
- Institute of Materia Medica, Chinese Academy of Medical Sciences. Chinese Materia Medica, Volume 1. Beijing: Ren-Min-Wei-Sheng, 1979 : 355-366.
- PubMed. “Metabolic changes after licorice consumption: A systematic review with meta-analysis and trial sequential analysis of clinical trials”. (2018)
- PubMed. “The Effect of Dried Glycyrrhiza Glabra L. Extract on Obesity Management with Regard to PPAR-γ2 (Pro12Ala) Gene Polymorphism in Obese Subjects Following an Energy Restricted Diet”. (2017)
- PubMed. “Effect of licorice on the reduction of body fat mass in healthy subjects”. (2003)
- PubMed. “Licorice flavonoid oil reduces total body fat and visceral fat in overweight subjects: A randomized, double-blind, placebo-controlled study”. (2009)
- PubMed. “Licorice flavonoids suppress abdominal fat accumulation and increase in blood glucose level in obese diabetic KK-A(y) mice”. (2004)
- PubMed. “Chemopreventive Effects of Licorice and Its Components”. (2015)
- PubMed. “Licorice and cancer”. (2001)
- PubMed. “Isoangustone A, a novel licorice compound, inhibits cell proliferation by targeting PI3K, MKK4, and MKK7 in human melanoma”. (2013)
- PubMed. “Activation of rapid signaling pathways and the subsequent transcriptional regulation for the proliferation of breast cancer MCF-7 cells by the treatment with an extract of Glycyrrhiza glabra root”. (2007)
- PubMed. “Dietary Compound Isoliquiritigenin, an Antioxidant from Licorice, Suppresses Triple-Negative Breast Tumor Growth via Apoptotic Death Program Activation in Cell and Xenograft Animal Models”. (2020)
- PubMed. “Effects of the licorice extract against tumor growth and cisplatin-induced toxicity in a mouse xenograft model of colon cancer”. (2007)
- PubMed. “Isoliquiritigenin, a flavonoid from licorice, blocks M2 macrophage polarization in colitis-associated tumorigenesis through downregulating PGE2 and IL-6”. (2014)
- PubMed. “Glycyrrhizin induces apoptosis in prostate cancer cell lines DU-145 and LNCaP”. (2008)
- PubMed. “Comparison of triamcinolone acetonide mucoadhesive film with licorice mucoadhesive film on radiotherapy-induced oral mucositis: A randomized double-blinded clinical trial”. (2017)
- PubMed. “Effect of licorice extract on the complications of diabetes nephropathy in rats”. (2011)
- PubMed. “Licorice ameliorates postural hypotension caused by diabetic autonomic neuropathy”. (1994)
- PubMed. “Glycyrrhetinic acid food supplementation lowers serum potassium concentration in chronic hemodialysis patients”. (2009)
- ScienceDirect. “Effects of prolonged ingestion of graded doses of licorice by healthy volunteers”. (1994)
- PubMed. “Glycyrrhizic Acid in the Treatment of Liver Diseases: Literature Review”. (2014)
- PubMed. “Hepatoprotective effect of licorice, the root of Glycyrrhiza uralensis Fischer, in alcohol-induced fatty liver disease”. (2016)
- PubMed. “The efficacy of licorice root extract in decreasing transaminase activities in non-alcoholic fatty liver disease: a randomized controlled clinical trial”. (2012)
- PubMed. “Traditional Chinese medicine and treatment of neonatal jaundice”. (1996)
- PubMed. “Effects of glycyrrhizin on hepatitis B surface antigen: a biochemical and morphological study”. (1994)
- PubMed. “Antiviral activity of glycyrrhizin against hepatitis C virus in vitro”. (2013)
- PubMed. “Anti-Inflammatory Effects of Licorice and Roasted Licorice Extracts on TPA-Induced Acute Inflammation and Collagen-Induced Arthritis in Mice”. (2010)
- PLOS ONE. “Evaluation of Estrogenic Activity of Licorice Species in Comparison with Hops Used in Botanicals for Menopausal Symptoms”. (2013)
- PubMed. “Effects of Licorice on Relief and Recurrence of Menopausal Hot Flashes”. (2012)
- PubMed. “The effect of Glycyrrhiza glabra L. on Primary Dysmenorrhea compared with Ibuprofen: A Randomized, Triple-Blind Controlled Trial”. (2019)
- PubMed. “Licorice reduces serum testosterone in healthy women”. (2004)
- PubMed. “Anti-acne effects of Oriental herb extracts: a novel screening method to select anti-acne agents”. (2003)
- PubMed. “The treatment of atopic dermatitis with licorice gel”. (2003)
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “กำเช่า”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [27 พ.ย. 2013].
- สมุนไพรดอตคอม. “ชะเอมเทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.samunpri.com. [27 พ.ย. 2013].
- ScienceDirect. “14 – Glycyrrhiza glabra (Licorice): Ethnobotany and Health Benefits”. (2017)
- PubMed. “Hypertension induced by liquorice tea”. (2015)
- PubMed. “The association between consistent licorice ingestion, hypertension and hypokalaemia: a systematic review and meta-analysis”. (2017)
- PubMed. “Bioactive Candy: Effects of Licorice on the Cardiovascular System”. (2019)
- PubMed. “Posterior reversible encephalopathy syndrome associated with licorice consumption: a case report in a 10-year-old boy”. (2015)
- ScienceDirect. “Abstract #107: Too Much of a Good Thing – A Rare Case of Licorice Toxicity Caused by Common Herbal Tea Drink”. (2016)
- PubMed. “Preterm birth and licorice consumption during pregnancy”. (2002)
- American Journal of Epidemiology,. “Maternal Licorice Consumption and Detrimental Cognitive and Psychiatric Outcomes in Children”. (2009)
- Scientific Committee on Food. “OPINION OF THE SCIENTIFIC COMMITTEE ON FOOD ON GLYCYRRHIZINIC ACID AND ITS AMMONIUM SALT”. (2003)
- Future Pharmacol. “Exploring the Pharmacological Potential of Glycyrrhizic Acid: From Therapeutic Applications to Trends in Nanomedicine”. (2022)
- PubMed. “Chemistry and biological activities of flavonoids: an overview”. (2013)
- PubMed. “Oxidative Stress and Inflammation: What Polyphenols Can Do for Us?”. (2016)
ตรวจสอบทางการแพทย์ล่าสุดเมื่อ 20 ก.พ. 2023