ชะมวง
ชะมวง ชื่อสามัญ Cowa[5],[10]
ชะมวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Garcinia cowa Roxb. ex Choisy[3] จัดอยู่ในวงศ์มังคุด (CLUSIACEAE หรือ GUTTIFERAE)[1],[4]
สมุนไพรชะมวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ส้มป้อง มะป่อง (คนเมือง), หมากโมก (อุดรธานี), มวงส้ม (นครศรีธรรมราช), กะมวง มวง ส้มมวง (ภาคใต้), กานิ (มลายู-นราธิวาส), ตระมูง (เขมร), ยอดมวง, ส้มม่วง, ส้มโมง, ส้มป่อง เป็นต้น[1],[2],[3],[4],[5],[10]
ลักษณะของชะมวง
- ต้นชะมวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นทรงพุ่มรูปกรวยคว่ำทรงสูง มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร บ้างว่าสูงประมาณ 15-30 เมตร ลำต้นเกลี้ยงและแตกกิ่งใบตอนบนของลำต้น กิ่งย่อยผิวเรียบ เปลือกลำต้นเป็นสีดำน้ำตาลมีลักษณะขรุขระ แตกเป็นสะเก็ด ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีชมพูถึงแดง มีน้ำยางสีเหลืองขุ่นไหลเยิ้มออกมาจากเปลือกต้น ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ดและการตอนกิ่ง พบทั่วไปตามป่าชื้นที่ระดับต่ำ เป็นไม้ที่ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี[1],[2],[4],[10],[11] มีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นตามที่ลุ่มต่ำทั่วไป และจะพบได้มากทางภาคใต้ ภาคตะวันออก และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ที่ระดับความสูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 800 เมตรขึ้นไป (บ้างว่า 600 เมตรขึ้นไป)[3],[5]
- ใบชะมวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปรีแกมใบหอกหรือแกมขอบขนาน โคนใบสอบแหลม ปลายใบป้านหรือแหลมเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-13 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีเขียวอ่อนหรือเขียวอมสีม่วงแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้ม (สีน้ำเงินเข้ม) บริเวณปลายกิ่งมักแตกเป็น 1-3 ยอด หลังใบเรียบลื่นเป็นมัน ท้องใบเรียบ เนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างหนาและเปราะ เส้นใบเห็นได้ไม่ชัด แต่ด้านหลังใบจะเห็นเส้นกลาง ส่วนก้านใบเป็นสีแดงมีความยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร[1],[2],[11]
- ดอกชะมวง ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น ออกดอกตามซอกใบและตามกิ่ง ดอกตัวผู้จะออกตามกิ่งเป็นกระจุก มีดอกย่อยประมาณ 3-8 ดอก ดอกมีเกสรตัวผู้จำนวนมากเรียงกันเป็นรูปสีเหลี่ยม ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีกลิ่นหอม มีกลีบดอกแข็งหนา 4 กลีบ และกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน ปลายกลีบกลม ดอกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียจะออกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายกิ่ง ดอกมีเกสรตัวผู้เทียมเรียงอยู่รอบรังไข่ มีก้านเกสรติดกันเป็นกลุ่ม ที่ปลายก้านมีต่อม 1 ต่อม ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน[1],[4],[11]
- ผลชะมวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมแป้น ผิวผลเรียบเป็นมัน มีขนาดประมาณ 2.5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงส้มหม่น และตามผลมีร่องตื้น ๆ ประมาณ 5-8 ร่อง ด้านบนปลายบุ๋ม และมีชั้นกลีบเลี้ยงประมาณ 4-8 แฉกติดอยู่ เนื้อหนา สีเหลือง ภายในผลมีเมล็ดขนาดใหญ่ประมาณ 4-6 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปรีหนา เรียงตัวกันเป็นวงรอบผล ผลสุกมีรสเปรี้ยวใช้รับประทานได้ แต่มียางมากและทำให้ติดฟันได้ โดยจะติดผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[5],[11]
สรรพคุณของชะมวง
- ช่วยฟอกโลหิต (ผลอ่อน, ใบ)[1],[2] แก้โลหิต (ใบ)[4],[11]
- ช่วยรักษาธาตุพิการ (ผล,ใบ,ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[11]
- ราก ใบ และผลอ่อนมีรสเปรี้ยว เป็นยาแก้ไข้ แก้ไข้ตัวร้อน (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)[1],[2],[4],[5],[11]
- ช่วยถอนพิษไข้ (ราก)[2],[4]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ราก)[2],[4]
- ช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ผล, ใบ)[4],[11]
- ช่วยแก้อาการไอ (ผล, ใบ)[2],[4],[11] บ้างก็ว่าเนื้อไม้ช่วยแก้อาการไอได้เช่นกัน (เนื้อไม้)[12]
- ช่วยแก้เสมหะ กัดเสมหะ กัดฟอกเสมหะ (ผลอ่อน, ใบ, ดอก, ราก)[1],[2],[3],[4],[5],[11],[12] เสมหะเป็นพิษ (ราก)[4] ช่วยขับเสมหะ (เนื้อไม้)[12]
- ใช้เป็นยาระบายท้อง (ผลอ่อน, ใบ, ดอก)[1],[2],[3],[4],[5],[11] ส่วนตำยาพื้นบ้านอีสานจะใช้รากชะมวง ผสมกับรากกำแพงเจ็ดชั้น รากตูมกาขาว และรากปอด่อน นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาระบาย (ราก)[11] บ้างก็ว่าเนื้อไม้มีสรรพคุณเป็นยาระบายเช่นกัน (เนื้อไม้)[12]
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ดอก)[12]
- รากช่วยแก้บิด (ราก)[2],[4],[1] หรือจะใช้ผลนำมาหั่นเป็นแว่นตากแห้ง ใช้ดินเป็นยาแก้บิดก็ได้เช่นกัน (ผล)[11]
- ใบชะมวงใช้ผสมกับยาชนิดอื่น ๆ ใช้ปรุงเป็นยาขับเลือดเสีย (ใบ)[5],[11]
- ช่วยขับโลหิตระดูของสตรี (ใบ)[12]
- ช่วยแก้ดีพิการ (ดอก)[12]
- แก่นใช้ฝนหรือแช่กับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการเหน็บชา (แก่น)[11]
- เมื่อไม่นานมานี้ (ก.พ. 56) ได้มีการค้นพบสารชนิดใหม่จากใบชะมวง และได้มีการตั้งชื่อว่า “ชะมวงโอน” (Chamuangone) ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็งได้ดี (ทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอดและเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคทางเดินอาหาร (เชื้อ Helicobacter pylori) ช่วยยับยั้งเชื้อโพรโทซัว Leishmania major (เป็นโรคระบาดที่เคยพบในภาคใต้) ได้เป็นอย่างดี[15]
องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ลดไขมันของใบชะมวง
- สารสกัดเอทานอนจากใบชะมวง มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ Caco-2 ได้ร้อยละ 14.6 ช่วยยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Pancreatic lipase ด้วยค่า IC50 196.60 มคก./มล. และยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG CoA reductase ได้ร้อยละ 97.06 เมื่อนำสารสกัดเอทานอลจากใบมาแยกเป็นส่วนสกัดย่อยด้วยวิธีการ Partition จะได้เป็นสารสกัดเฮกเซน สารสกัดไดคลอโรมีเทน สารสกัดบิวทานอล และสารสกัดน้ำ ซึ่งจากผลการทดสอบฤทธิ์ลดไขมันในหลอดทดลองพบว่า ที่ความเข้มข้น 100 มคก./มล. สารสกัดเฮกเซนและสารสกัดไดคลอโรมีเทนสามารถยับยั้งการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่เซลล์ Caco-2ได้ร้อยละ 36.74 และ 32.80 ตามลำดับ สารสกัดเฮกเซนและสารสกัดไดคลอโรมีเทนมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ pancreatic lipaseด้วยค่า IC5067.45 และ 352.80 มคก./มล. ตามลำดับ ที่ความเข้มข้น 10 มคก./มล. สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ HMG CoA reductase ร้อยละ 114.34 และ 80.55 ตามลำดับ และเมื่อศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของสารสกัดไดคลอโรมีเทนจากใบชะมวงด้วยวิธีทางโครมาโทกราฟีและทำการพิสูจน์โครงสร้างทางเคมีของสารบริสุทธิ์ที่แยกได้ได้วิธี NMR spectrometry และเปรียบเทียบข้อมูลสเปกตรัมกับสารที่เคยมีรายงานในอดีต พบว่า สารสกัดไดคลอโรมีเทนจากใบชะมวงมีสารกลุ่ม flavonoid C-glycoside 2 ชนิด คือ orientin และ vitexin และยังพบ ß-sitosterol เป็นองค์ประกอบอีกด้วย[14]
ประโยชน์ชะมวง
- ผลชะมวงสุกสีเหลืองใช้รับประทานเป็นผลไม้ได้ โดยจะมีรสเปรี้ยวอมหวาน[3] หรือจะนำผลมาหั่นเป็นแว่นตากแดดใส่ปลาร้าเพื่อเพิ่มรสชาติก็ได้[8]
- ยอดอ่อนหรือใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักจิ้มน้ำพริก รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ป่นแจ่ว หรือนำไปใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มส้ม ต้มส้มปลาไหล ต้มส้มปลาแห้ง ทำแกงชะมวง ต้มซี่โครงหมูใบชะมวง ใช้แกงกับหมู หมูชะมวง หรือนำมาใส่ในแกงอ่อม เป็นต้น[3],[7],[9]
- ผลและใบอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยจะมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะดัน (การรับประทานมาก ๆ จะเป็นยาระบายท้องเหมือนดอกขี้เหล็ก)[3]
- ผลและใบแก่เมื่อนำมาหมักจะให้กรด ซึ่งนำมาใช้สำหรับการฟอกหนังวัวหรือหนังควายที่ใช้แกะสลักรูปหนังตะลุงได้เป็นอย่างดี[6],[13]
- ต้นชะมวงสามารถใช้ปลูกเป็นไม้ประดับและไม้ให้ร่มเงาได้ดี[16]
- ลำต้นหรือเนื้อไม้ชะมวงสามารถนำมาแปรรูปใช้ในงานก่อสร้างต่าง ๆ หรือใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ เช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ฯลฯ[9],[13]
- เปลือกต้นและยางของต้นชะมวงจะให้สีเหลืองที่เหมาะสำหรับการนำมาใช้สกัดทำสีย้อมผ้า[2],[6]
- น้ำยางสีเหลืองจากต้นชะมวง สมัยก่อนนำมาใช้ผสมในน้ำมันชักเงา[13]
- ยอดอ่อนชะมวงเมื่อนำไปหมักกับจุลินทรีย์จะทำให้เกิดรสเปรี้ยว ใช้เป็นยาปราบศัตรูพืชได้ เช่น เพลี้ย[9]
คุณค่าทางโภชนาการของใบชะมวง ต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 51 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 1.9 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 9.6 กรัม
- เส้นใยอาหาร 3.2 กรัม
- ไขมัน 0.6 กรัม
- เถ้า 0.6 กรัม
- น้ำ 84.1 กรัม
- วิตามินเอ 7,333 หน่วยสากล
- วิตามินบี 1 0.7 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 0.2 มิลลิกรัม
- วิตามินซี 29 มิลลิกรัม
- ธาตุแคลเซียม 27 มิลลิกรัม
- ธาตุเหล็ก 1.1 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม
แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย (รายงานไว้เมื่อปี พ.ศ.2535)[7],[10]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “ชะมวง (Cha Muang)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้าที่ 101.
- การสำรวจความหลากหลายของพืชสมุนไพร จากตลาดพื้นเมืองทางภาคตะวันตกของประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pirun.kps.ku.ac.th/~b4816187/. [13 ม.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “ชะมวง”. อ้างอิงใน: หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย (วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [13 ม.ค. 2014].
- สมุนไพรไทย-ภูมิปัญญาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร. “สมุนไพรไทยชะมวง”. (วชิราภรณ์ ทัพผา). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: student.nu.ac.th/46313433/Thaiherb/. [13 ม.ค. 2014].
- พืชและสัตว์ท้องถิ่นภูพาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th/animal/pupan. [13 ม.ค. 2014].
- ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “ชะมวง”. (อนงค์นาฏ ศรีบุญแก้ว). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th. [13 ม.ค. 2014].
- บ้านทองเลี้ยงฟ้า จังหวัดอุดรธานี. “การปลูกชะมวงไร้สารพิษ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.pkms9.com/TLP02.html. [13 ม.ค. 2014].
- พรรณไม้สวนรุกขชาติห้างฉัตร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: lampang.dnp.go.th/Departments/Techical_Group/Hangchat_Arboretum/knowledge/plant/ชะมวง.pdf. [13 ม.ค. 2014].
- โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th. [13 ม.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: 203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable. [13 ม.ค. 2014].
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [13 ม.ค. 2014].
- งานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โรงเรียนวารินชำราบ สพม. เขต 29. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ict2.warin.ac.th/botany. [13 ม.ค. 2014].
- อุตสาหกรรมรวมใจภักดิ์ ปลูกต้นไม้ฟื้นผืนดิน. “ต้นชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.treeforthai.com. [13 ม.ค. 2014].
- ศูนย์ข้อมูลการแพทย์ทางเลือก. “องค์ประกอบทางเคมีและฤทธิ์ลดไขมันของใบชะมวง”. (ดวงเพ็ญ ปัทมดิลก), สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: thaicamdb.info. [13 ม.ค. 2014].
- กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 28 กุมภาพันธ์. “เภสัช ม.อ. ค้นพบใบชะมวงต้านมะเร็ง”. (รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยูปการนันท์ ผู้อำนวยการสถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.bangkokbiznews.com. [13 ม.ค. 2014].
- โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงครองราชย์ ปีที่ 50 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชะมวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.goldenjubilee-king50.com. [7 ม.ค. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, Prof KMS)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)