ชะมดต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชะมดต้น 39 ข้อ !

ชะมดต้น สรรพคุณและประโยชน์ของต้นชะมดต้น 39 ข้อ !

ชะมดต้น

ชะมดต้น ชื่อสามัญ Abelmosk, Ambrette seeds, Annual hibiscus, Bamia moschata, Galu gasturi, Muskdana, Musk mallow, Musk okra, Musk seeds, Ornamental okra, Rose mallow seeds, Tropical jewel hibiscus, Yorka okra[1],[6]

ชะมดต้น ชื่อวิทยาศาสตร์ Abelmoschus moschatus Medik. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Abelmoschus moschatus var. betulifolius (Mast.) Hochr., Hibiscus abelmoschus L., Hibiscus abelmoschus var. betulifolius Mast., Hibiscus chinensis Roxb.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)[1],[3]

สมุนไพรชะมดต้น มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ชะมัดต้น, ฝ้ายผี (ภาคกลาง), เทียนชะมด (ทั่วไป), จั๊บเจี๊ยว (ไทยบางแห่ง), หวงขุย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของชะมดต้น

  • ต้นชะมดต้น จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขนาดเล็กหรือไม้พุ่ม มีอายุได้ประมาณ 1-2 ปี ลำต้นมีความสูงได้ประมาณ 1-2 เมตร ทั้งต้นมีขนสีขาวขึ้นปกคลุม พรรณไม้ชนิดนี้ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นบริเวณที่รกร้างและที่ลุ่มทั่วไป มีการนำมาปลูกทั่วไปในประเทศที่มีอากาศร้อน เป็นพรรณไม้พื้นเมืองในแถบเอเชีย มักปลูกกันในเมืองร้อน เช่น จีน อินเดีย พม่า หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบกระจายทุกภาค โดยมักขึ้นตามที่โล่งหรือริมลำธาร ตามป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และชายป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงประมาณ 200-1,000 เมตร[1],[2],[3]

ต้นชะมดต้น

  • ใบชะมดต้น ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะเป็นหยักหรือเป็นแฉกประมาณ 3-5 แฉก ใบบริเวณยอดต้นมีแฉกเล็กและเรียวกว่าใบที่อยู่บริเวณโคนต้นและกลางต้น ลักษณะของใบเป็นรูปดาวหรือรูปฝ่ามือ ปลายใบแหลม โคนใบเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบจักเป็นฟันเลื่อยไม่เป็นระเบียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 6-15 เซนติเมตร ผิวใบสากและมีขนกระจายทั้งสองด้าน หูใบเป็นเส้นด้าย ยาวประมาณ 7-15 มิลลิเมตร[1],[2],[3]

ใบชะมดต้น

  • ดอกชะมดต้น ออกเป็นดอกเดี่ยวบริเวณซอกใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ริ้วประดับมี 6-12 อัน ลักษณะเป็นรูปเส้นด้ายหรือรูปใบหอก ยาวประมาณ 8-13 มิลลิเมตร โค้งเข้า ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปใบหงาย ยาวได้ประมาณ 2-3 เซนติเมตร แยกจรดโคนด้านเดียว ปลายกลีบมี 5 แฉกตื้น ๆ ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม ส่วนกลีบดอกเป็นสีเหลืองนวลและมีสีม่วงเข้มหรือสีม่วงแดงตรงกลางทั้งด้านในและด้านนอก กลีบเป็นรูปไข่กลีบ ดอกเมื่อบานจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 7-12 เซนติเมตร เส้าเกสรเกลี้ยงยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร รังไข่มีขนขึ้นหนาแน่น ก้านเกสรเพศเมียแยกออกเป็น 5 แฉก มีขนขึ้นหนาแน่น ยอดเกสรเป็นรูปจาน แคปซูลรูปไข่แกมขอบขนาน ยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลม มีขนหยาบขึ้นหนาแน่น ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม[3]

ดอกชะมดต้น

  • ผลชะมดต้น ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวเป็นเฟือง 5 เฟือง คล้ายผลมะเฟือง และมีขนแข็งคมคายสีเหลืองขึ้นปกคลุมทั้งฝัก ผลเป็นแบบผลแห้งแตก รูปรีปลายผลแหลม เปลือกผลบาง ผลมีขนาดกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร ขนาดยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวแก่ เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีดำ ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาล ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต มีปุ่มเล็ก ๆ เป็นร่างแหกระจาย มีกลิ่นหอมแรงเหมือนชะมดเชียง[1],[2],[3],[4]

ฝ้ายผี

ผลชะมดต้น

หมายเหตุ : เมล็ดของชะมดต้นทางแพทย์แผนไทยจะเรียกว่า “เทียนชะมด[6]

เมล็ดชะมดต้น

เทียนชะมด

สรรพคุณของชะมดต้น

  1. เมล็ดมีรสขมเย็น มีสรรพคุณเป็นยาช่วยเจริญอาหาร (เมล็ด)[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงธาตุ (เมล็ด)[6]
  3. ใช้อาการปวดศีรษะ ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 5-10 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำดื่ม (เมล็ด)[2]
  4. น้ำมันหอมระเหยจากเมล็ดมีสรรพคุณเป็นยาระงับประสาท ช่วยคลายความเครียด ลดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า หรืออาการต่าง ๆ ที่มีสาเหตุมาจากความเครียด (น้ำมันหอมระเหย)[9]
  5. รากใช้เป็นยาขับพิษร้อนถอนพิษไข้ มีไข้ไม่ยอมลด ไอร้อน ไอเรื้อรัง (ราก)[2]
  1. ใช้รักษาอาการกระหาย (เมล็ด)[1]
  2. เมล็ดใช้เป็นยาขับลม (เมล็ด, น้ำมันหอมระเหย)[4],[5],[9]
  3. ดอกและรากใช้เป็นยาแก้บิดของเชื้ออะมีบา แก้อาการท้องผูก (ดอกและราก)[2]
  4. ช่วยในการย่อยอาหาร (น้ำมันหอมระเหย)[9]
  5. เมล็ดใช้เป็นยาขับลม ช่วยรักษาอาการอักเสบของกระเพาะอาหาร (เมล็ด)[1]
  6. ใช้แก้อาการปวดกระเพาะ ด้วยการใช้เมล็ดประมาณ 5-10 กรัม นำมาบดให้เป็นผงชงกับน้ำดื่ม (เมล็ด)[2]
  7. ใบใช้เป็นยาฆ่าพยาธิ ส่วนดอกใช้เป็นยารักษาโรคพยาธิและขับไส้เดือน (ใบ, ดอก)[1]
  8. ดอกและรากใช้เป็นยารักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ดอกและราก)[2]
  9. รากใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน ส่วนเมล็ดใช้เป็นยารักษาโรคกามโรคหรือโรคหนองใน (ราก, เมล็ด)[1]
  10. ใช้รากและใบพอประมาณนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษากามโรค (รากและใบ)[1]
  11. ช่วยกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ (aphrodisiac) (น้ำมันหอมระเหย)[9]
  12. ดอกใช้เป็นยาแก้น้ำกามเคลื่อนในขณะหลับ (ดอก)[5]
  13. ช่วยกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต (น้ำมันหอมระเหย)[9]
  14. ใช้รักษาแผลพุพอง แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้รากนำมาบดให้เป็นผงพอประมาณ แล้วนำมาพอกหรือโรยบริเวณที่เป็นแผล (ราก, ดอกและราก)[1],[2]
  15. เมล็ดนำมาบดรวมกับแป้งผสมกันในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 ใช้รักษาผดผื่นคัน (Prickly heat) (เมล็ด)[1]
  16. ใบใช้เป็นยารักษากลากเกลื้อน (ใบ)[1],[4],[5]
  17. ต้นใช้เป็นยารักษาเกลื้อนช้าง เกลื้อนใหญ่ เรื้อนน้ำเต้า เรื้อนกวาง (ต้น)[1]
  18. ผลสดใช้ตำพอกรักษาฝีและเร่งหนองนั้นให้แตกเร็ว (ผลสด)[1]
  19. ใบใช้เป็นยาทาภายนอกแก้ฝีบวม ฝีหัวช้าง (ใบ)[2]
  20. รากใช้เป็นยาแก้พิษฝีหนอง (ราก)[2]
  21. ใช้เมล็ดประมาณ 1 กำมือ นำมาบดให้ละเอียด ใส่น้ำนมคนผสมให้พอแฉะ ใช้เป็นยาทาบริเวณที่เป็นหิดวันละ 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหาย (เมล็ด)[1],[6]
  22. เมล็ดใช้รักษาการขาดสีผิวของผิวหนังหรือผิวหนังด่างเผือก (เมล็ด)[1]
  23. รากใช้เป็นยารักษารังแค ช่วยฆ่าเชื้อตามขุมขนและรากผม (ราก)[1]
  24. รากใช้เป็นยาแก้อาการปวดบวม (ราก)[2]
  25. ใช้รากและใบพอประมาณนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยารักษาโรคปวดข้อ (รากและใบ)[1]
  26. ช่วยลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ คล้ายกล้ามเนื้อ (antispasmodic) (น้ำมันหอมระเหย)[9]
  27. รากมีสรรพคุณช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังการคลอดบุตร (ราก)[2]
  28. ชาวกะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเชื่อว่าผลแก่ไม่ควรเก็บมาใช้ เพราะจะทำให้คน ๆ นั้น ทำอะไรไม่รู้เนื้อรู้ตัวคล้ายคนสติไม่ดี (ผลแก่)[4]
    นอกจากนี้ยังมีข้อมูลอื่น ๆ ที่ระบุว่า รากใช้เป็นยาแก้วัณโรค ทั้งต้นใช้เข้ายารักษาฝีภายใน ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาแก้เสมหะและดีพิการ แก้ลมให้คลื่นเหียน และแก้อาการเกร็ง[8]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [2] ดอก ราก หรือต้นแห้ง ให้ใช้ 10-15 กรัม ส่วนใบสดให้ใช้ภายนอกกะตามความเหมาะสม หรือใช้ตำพอกแผล[2]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของชะมดต้น

  • ในผลชะมดต้นพบสารน้ำมันและน้ำมันระเหย เช่น Linoleic acid และยังพบสาร Myricetin, Methionine sulfoxide, a-Cephalin ส่วนเมล็ดและต้นพบ Phosphatidylserine, Plasmalogen ส่วนดอกและเมล็ดพบสารกลิ่นหอม Ambrettolid เป็นต้น[2]
  • องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหย ประกอบไปด้วย ambrettolide, ambrdttolic acid, decyl acetate, dodecyl acetate, alpha-macrocyclic lactone, farnesol, 5-dodecnyl acetate, 5-tetradecenyl acetate[9]
  • ใบชะมดต้นมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อ Staphelo coccus ในบริเวณผิวหนังที่เป็นฝีมีหนอง[2]
  • เมล็ดใช้รักษาอาการปวดหัวใจและยังมีฤทธิ์ดับพิษงูด้วย[2]
  • กลิ่นของชะมดต้น (Ambrettolid) ไม่มีผลต่อการกระตุ้นหัวใจ[2]
  • เมื่อให้สาร myricetin จากส่วนที่อยู่เหนือดินของชะมดต้น ในขนาด 0.3, 0.5 และ 1 มก./กก. กับหนูอ้วนที่มีภาวะไขมัน ระดับน้ำตาล และอินซูลินในเลือดสูง โดยการฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ พบว่า myricetin ขนาด 1 มก./กก. มีผลลดระดับน้ำตาลและเพิ่มอินซูลินในเลือดได้ และเมื่อฉีดวันละ 3 ครั้ง เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ (ขนาด 1 มก./กก.) เปรียบเทียบกับการป้อนยา metformin ซึ่งเป็น insulin sensitizer ในขนาด 320 มก./กก. วันละ 3 ครั้ง พบว่าสาร myricetin มีผลลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นเดียวกับยา metformin นอกจากนี้ยังมีผลทำให้ค่า glucose-insulin index ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะดื้อต่ออินซูลินลดลง กระตุ้นการทำงานของ Akt (serine/threonine kinase protein B) เพิ่มการแสดงออกของ glucose transporter subtype 4 เพิ่มโปรตีนและขบวนการ phosphorelation ของ insulin receptor substrate-1 ในเซลล์กล้ามเนื้อหนู และเพิ่มการทำงานของเอนไซม์ phosphatidylinositol 3-kinase ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความไวต่ออินซูอิน ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ทำให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น ดังนั้นสาร myricetin จึงมีประโยชน์ที่จะนำมาใช้พัฒนาเป็นยาต้านเบาหวานได้[7]

ประโยชน์ของชะมดต้น

  1. ใบใช้รับประทานเป็นผัก[6]
  2. มีการนำมาปลูกกันบ้างเพื่อเอาใยของเปลือกมาใช้ทำเชือกและกระสอบ[1]
  3. เมล็ดนำมาบดให้เป็นผงใช้โรยตู้เสื้อผ้าเพื่อป้องกันแมลง[6]
  4. รากมีสารเหนียวใช้เป็นกาวในการทำกระดาษ[4]
  5. เมล็ดเมื่อนำมาเคี้ยวจะได้กลิ่นเหมือนชะมดเช็ด สามารถนำมาใช้แต่งกลิ่นกาแฟได้[6]
  6. เมล็ดให้น้ำมันที่ทำให้มีกลิ่นหอม จึงนำมาใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องหอม[1] ใช้ทำน้ำหอม[6] และใช้แต่งกลิ่นอาหารได้[4],[9]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ชะมดต้น”.  หน้า 196.
  2. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ชะมดต้น”.  หน้า 248-249.
  3. สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “ชะมดต้น”.  [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/.  [07 ม.ค. 2015].
  4. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ชะมดต้น, ฝ้ายผี”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือสมุนไพรไทยตอนที่ 6 (ก่องกานดา ชยามฤต).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [07 ม.ค. 2015].
  5. อุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ชะมดต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th/siri/.  [07 ม.ค. 2015].
  6. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ชะมดต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikipedia.org.  [07 ม.ค. 2015].
  7. หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “ผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินในหนูอ้วนของสาร myricetin จากชะมดต้น”.  เข้าถึงได้จาก : www.medplant.mahidol.ac.th/pubhealth/.  [07 ม.ค. 2015].
  8. ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ชะมดต้น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.thaibiodiversity.org.  [07 ม.ค. 2015].
  9. ตำราวิชาการ สุคนธบำบัด (ดร.จงกชพร พินิจอักษร, ภญ.วัจนา สุจีรพงศ์สิน).  “ชะมดต้น”.  หน้า 128.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vuon Hoa 06, 翁明毅, Russell Cumming)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด