ชมพูพวง
ชมพูพวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Kleinhovia hospita L.[1] ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
สมุนไพรชมพูพวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปอฝรั่ง โพฝรั่ง หัสคุณเทศ (กรุงเทพฯ), ฉำฉา (ภาคกลาง), พาเขา (ภาคใต้) เป็นต้น[1]
ลักษณะของชมพูพวง
- ต้นชมพูพวง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้าง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาดำ แตกเป็นสะเก็ด[1]
- ใบชมพูพวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปหัวใจ ปลายใบเรียวแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบเรียบ ก้านใบยาว[1]
- ดอกชมพูพวง ออกดอกเป็นช่อ โดยจะออกตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีชมพูขนาดเล็ก กลีบดอกเป็นรูปขอบขนาน มีจำนวนมาก[1]
- ผลชมพูพวง ออกผลเป็นช่อ ไม่มีเนื้อผล ผลมีลักษณะพอง แบ่งออกเป็นพู 5 พู ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแห้งแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และแตกออกตามสันพู ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด[1]
สรรพคุณของชมพูพวง
- ใบมีรสหอมเผ็ดร้อน มีสรรพคุณช่วยกระจายเลือดลมให้เดินสะดวก (ใบ)[1]
- เปลือกต้นและใบมีรสหอมร้อน ใช้รมควันสูบแก้ริดสีดวงจมูก (เปลือกต้นและใบ)[1]
- ใบใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้หืดไอ (ใบ)[1]
- ต้นมีรสหอมร้อน มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไอ (ต้น)[1]
- ดอกมีรสหอมร้อน มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะให้ลงสู่เบื้องล่าง (ดอก)[1]
- ต้นใช้เป็นยาช่วยขับลมภายใน (ต้น)[1]
- รากมีรสหอมร้อน ใช้เป็นยาขับพยาธิ (ราก)[1]
- ผลมีรสเปรี้ยวร้อน ใช้เป็นยาถ่าย (ผล)[1]
- รากใช้เป็นยาขับเลือดและหนองให้ตก (ราก)[1]
- รากใช้เป็นยาพอกแผลริดสีดวงและคุดทะราด (ราก)[1]
- ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง (ราก)[1]
- ใบใช้ตำพอกประคบแก้ผื่นคัน (ใบ)[1]
- ใบใช้เป็นยาแก้ลมอัมพฤกษ์อัมพาต แก้ขัดยอกเสียดแทง (ใบ)[1]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). “ชมพูพวง (Chompohu Phuang)”. หน้า 100.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Jayesh Patil, 翁明毅)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)