ฉัตรพระอินทร์ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นฉัตรพระอินทร์ 19 ข้อ !

ฉัตรพระอินทร์

ฉัตรพระอินทร์ ชื่อสามัญ Lion ‘s ear, Hallow stalk[2]

ฉัตรพระอินทร์ ชื่อวิทยาศาสตร์ Leonotis nepetifolia (L.) R.Br. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Leonotis nepetifolia var. nepetifolia, Leonurus nepetifolius (L.) Mill., Phlomis nepetifolia L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)[1]

สมุนไพรฉัตรพระอินทร์ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เสกกษัตริย์ (ชัยภูมิ), นางอั้วโคก (นครราชสีมา), จ่อฟ้า (ตาก), เทียนป่า (ปราจีนบุรี), หญ้าเหลี่ยม (สุราษฎร์ธานี) เป็นต้น[1]

ลักษณะของฉัตรพระอินทร์

  • ต้นฉัตรพระอินทร์ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มล้มลุก ลำต้นสูงชะลูด มีอายุเพียงฤดูเดียว ไม่ค่อยแตกกิ่งก้าน แต่จะแตกกิ่งแขนงมากบริเวณใกล้ปลายยอด ลำต้นตั้งตรง มีความสูงได้ประมาณ 1-2.5 เมตร ลักษณะของลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยม ระหว่างเหลี่ยมเป็นร่อง มีสีเขียวและเป็นร่องลึก ตามลำต้นมีขนละเอียดสั้น ๆ ขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด ชอบดินร่วน ความชื้นและแสงแดดปานกลาง เป็นพืชพื้นเมืองของทวีปแอฟริกา ในประเทศไทยมักพบขึ้นบริเวณที่มีความชุ่มชื้น ดินร่วนซุย ตามป่าละเมาะ และที่ว่างทิ้งร้างริมทางทั่วไป[1],[2]

ต้นฉัตรพระอินทร์

รูปฉัตรพระอินทร์

  • ใบฉัตรพระอินทร์ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนานหรือรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนเว้า ส่วนขอบใบหยักมนแกมฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4.5-6 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านแข็งและหนาม และมีขนละเอียด เส้นใบด้านล่างเห็นชัดกว่าด้านบน ก้านใบมีลักษณะเรียวเล็ก ยาวได้ประมาณ 3-5 เซนติเมตร ใบที่ออกตามข้อส่วนยอดของลำต้นและข้อที่ออกดอกมักมีขนาดเล็ก แคบ และสั้นกว่า และมักหลุดร่วงได้ง่าย[1],[2]

ใบฉัตรพระอินทร์

  • ดอกฉัตรพระอินทร์ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อผสม เรียงตัวอัดกันแน่นเป็นช่อรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร ออกเป็นกระจุกตามข้อ 2-8 ข้อ เป็นวงรอบลำต้นเป็นชั้นคล้ายฉัตร ดอกย่อยจะมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีส้มสดหรือสีแดงอมส้ม โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ปลายกลีบมีขนยาว ปลายแยกออกเป็น 2 ปาก แบ่งเป็นปากล่างและปากบน ซึ่งปากล่างจะแห้งเหี่ยวก่อนที่ดอกจะบาน โดยปากบนจะมีลักษณะตั้งตรงมี 2 หยัก ยาวได้ประมาณ 0.8-1 เซนติเมตร เป็นกระพุ้งมีขนยาว ส่วนปากด้านล่างมีหยักเล็ก ๆ 3 หยัก แฉกตรงกลางจะมีขนาดใหญ่กว่าแฉกด้านข้าง ส่วนใบประดับย่อยนั้นมีจำนวนมาก ลักษณะเป็นรูปแถบ ปลายแหลมคล้ายหนาม ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีขน ดอกย่อยไม่มีก้าน กลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียว ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นแฉกแหลม 8 แฉก โคนหลอดด้านนอกมีขนสั้น ตอนปลายมีขนเรียว ส่วนด้านในเกลี้ยง มีเส้นตามยาว 10 เส้น เห็นได้ชัดเจน ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน อยู่กึ่งกลางหลอดกลีบดอก ก้านเกสรเกลี้ยง อับเรณูติดกัน ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะสั้น ปลายแยกออกเป็น 2 แฉก จะเริ่มออกดอกเมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว[1],[2]

ดอกฉัตรพระอินทร์

รูปดอกฉัตรพระอินทร์

  • ผลฉัตรพระอินทร์ ผลเป็นผลแห้ง ประกอบด้วย 4 ผลย่อย ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ มีสีดำหม่น[1]

ผลฉัตรพระอินทร์

สรรพคุณของฉัตรพระอินทร์

  • ต้นใช้ต้มกับน้ำเป็นยาลดไข้ ขับเหงื่อ ขับระดู และเป็นยาระบาย (ต้น)[1],[2]
  • รากใช้ตำพอกทรวงอก เป็นยาแก้อาการเต้านมคัด (ราก)[1]
  • ใบมีรสขม ใช้เป็นยาบำรุง ยาแก้ไข้ แก้โรคปวดบวมตามข้อ และใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ (ใบ)[1],[2]
  • ดอกมีรสขมเย็น นำมาเผาแล้วใช้ขี้เถ้าทาแก้คัน แก้กลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ รวมถึงแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก และแผลพุพองเนื่องจากถูกของร้อน (ดอก)[1],[2]
  • เมล็ดมีรสขม มีฤทธิ์อ่อน ๆ ในการบำบัดไข้จับสั่นหรือโรคมาลาเรีย (Malaria) (เมล็ด)[1],[2]
  • ทั้งต้นมีรสขม ใช้เป็นยาแก้ไข้ป่า เป็นยาระบาย ยาขับประจำเดือนของสตรี แก้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และใช้ผสมกับต้นสบู่ดำ ต้มกับน้ำ แช่เท้า แก้ปวดขา (ทั้งต้น)[1],[2]

ประโยชน์ของฉัตรพระอินทร์

  • ช่อผลนิยมนำมาใช้ปักแจกันประดับเพื่อความสวยงาม[2]
  • ในสมัยก่อนคนต่างจังหวัดนิยมปลูกต้นฉัตรพระอินทร์ไว้เป็นไม้ประดับ เพราะมีดอกเรียงเป็นชั้นดูสวยงามและแปลกตา
เอกสารอ้างอิง
  1. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ฉัตรพระอินทร์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.phargarden.com.  [13 ก.ย. 2015].
  2. วัชพืช, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ฉัตรพระอินทร์”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/use/crop_2.htm.  [12 ก.ย. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by PROFELIPE GARETH, Forest and Kim Starr, Dean, Drriss & Marrionn, Lalithamba, kyoshiok)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด