ฉัตรทอง
ฉัตรทอง ชื่อสามัญ Hollyhock[1],[2]
ฉัตรทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Alcea rosea L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Althaea rosea (L.) Cav.) จัดอยู่ในวงศ์ชบา (MALVACEAE)
สมุนไพรฉัตรทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ซูขุย (จีนกลาง), จวกขุ่ยฮวย (จีน-แต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของต้นฉัตรทอง
- ต้นฉัตรทอง จัดเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก มีลำต้นตั้งตรงและมีความสูงของต้นประมาณ 2.5 เมตร ลำต้นเป็นสีเขียวและตามลำต้นมีขนอ่อนขึ้นปกคลุมอยู่ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย จัดเป็นไม้กลางแจ้งที่ชอบแสงแดดจัดตลอดทั้งวัน[1]
- ใบฉัตรทอง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับกันไปตามลำต้น แผ่นใบเป็นสีเขียว ลักษณะของแผ่นใบเป็นแฉกคล้ายรูปดาว ใบหนึ่งจะมีแฉกประมาณ 3-7 แฉก แต่โคนใบจะมีลักษณะเว้าเป็นรูปหัวใจ ส่วนขอบใบหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ก้านใบมีลักษณะกลมยาวเป็นสีเขียว มีความยาวประมาณ 4-8 เซนติเมตร[1],[2]
- ดอกฉัตรทอง ออกดอกเดี่ยวตามง่ามใบ ลักษณะของดอกเป็นรูปถ้วย ดอกมีกลีบดอก 5 กลีบเรียงซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบดอกเป็นสีชมพู สีแดง และสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมเข้าหากันเป็นหลอด ส่วนปลายดอกบานออก ส่วนเกสรกลางดอกเป็นสีเหลือง ดอกมีกลีบเลี้ยงสีเขียวลักษณะเป็นรูปถ้วยเช่นกัน โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน แต่ส่วนปลายกลีบนั้นจะแยกออกเป็นกลีบ 5 กลีบ (บ้างว่ามีกลีบเลี้ยงประมาณ 7-8 กลีบ) มีก้านดอกยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร[1],[2]
- ผลฉัตรทอง ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลมและแบน ผลเมื่อโตจะมีจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต ผิวของเมล็ดมีรอยเส้นขวาง[1],[2]
สรรพคุณของฉัตรทอง
- รากและดอกใช้เป็นยาจับพิษร้อนในร่างกาย ทำให้เลือดเย็น (ราก, ดอก)[2]
- รากและเมล็ดเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (ราก, เมล็ด)[1]
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิตให้ดีขึ้น (ดอก)[1
- ช่วยแก้โลหิตกำเดา (ราก, ดอก)[2]
- ช่วยทำให้ชุ่มชื่น (ดอก)[1]
- รากสามารถนำมาใช้เป็นยารักษาและป้องกันโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือเยื่อภายในร่างกายอักเสบได้ (ราก)[2]
- หากมีไข้หรือเป็นไข้จับสั่น ก็ให้ใช้ดอกสดที่ผึ่งแห้งแล้ว นำมาบดเป็นผงผสมกับน้ำรับประทานเป็นยาแก้ไข้ ส่วนรากและเมล็ดในตำราได้ระบุไว้ว่ามีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ ลดไข้เช่นเดียวกับดอก (ดอก, ราก, เมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด (ราก, ดอก)[2]
- ช่วยรักษาโรคหัด ด้วยการใช้ดอกที่บานเต็มที่แล้ว (สดหรือแห้งก็ได้) นำมาต้มกินหรือบดเป็นผงกิน (ดอก)[1]
- ช่วยรักษาอาการอาเจียนเป็นเลือดหรือตกเลือด ด้วยการนำรากสดประมาณ 30 กรัมนำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้รากสดประมาณ 60 กรัม นำมาคั้นเอาแต่น้ำผสมกับเหล้ารับประทานเป็นยาก็ได้ หรือหากมีอาการตกเลือดก็สามารถใช้ดอกนำมาต้มรับประทานเป็นยาได้เช่นกัน (ดอก, ราก)[1],[2]
- ช่วยรักษาโรคหลอดลมอักเสบ (ราก, ดอก)[2]
- ใช้รักษาเด็กที่ปากเป็นแผลอักเสบ ด้วยการใช้ยอดอ่อนผสมกับน้ำผึ้ง นำมาทาเช้าเย็น โดยการนำไปปิ้งกับไฟให้แห้งแล้วให้เป็นผงเสียก่อน (ยอดอ่อน)[1]
- ช่วยแก้บิด ขับถ่ายเป็นเลือด ด้วยการใช้ยอดอ่อนนำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่ต้องนำมาปิ้งกับไฟให้พอเหลืองเสียก่อน และให้ใช้ประมาณ 6-18 กรัม หรือจะใช้ดอกนำมาต้มรับประทานก็ได้ (ยอดอ่อน, ดอก)[1],[2]
- หากมีอาการท้องผูก ก็ให้ใช้ดอกสดประมาณ 30 กรัม นำมาผสมกับชะมดเชียง 1.5 กรัม กับน้ำอีกครึ่งแก้วใช้ต้มรับประทาน บ้างก็ว่าให้ใช้รากสด ๆ ผสมกับเมล็ดของตังเกี้ยงไฉ่ (อย่างละ 30 กรัม) นำมาต้มกับน้ำรับประทาน ส่วนเมล็ดก็แก้ท้องผูกเช่นกัน โดยนำมาเมล็ดมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน แต่จะต้องใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว (ดอก, เมล็ด, ราก)[1],[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาช่วยหล่อลื่นลำไส้ ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มรับประทานหรือบดเป็นผงรับประทาน ส่วนดอกตามตำราก็ระบุว่ามีสรรพคุณช่วยหล่อลื่นเช่นกัน (เมล็ด, ดอก)[1],[2]
- ใช้รักษาแผลในลำไส้ ด้วยการใช้รากแห้งประมาณ 3 กรัม นำมาต้มกับน้ำใช้รับประทานเป็นยา (ราก)[1
- ช่วยแก้ลำไส้อักเสบ รักษาฝีในลำไส้ หรือฝีในท้อง ด้วยการใช้รากฉัตรทอง 20 กรัม โกฐน้ำเต้า 6 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน แต่หากมีอาการเลือดออกด้วยก็ให้เพิ่มโกฐสอ 20 กรัม แปะเจียก 20 กรัม และสารส้มสตุ 19 กรัม ต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน หรือจะนำมารวมกันแล้วบดให้เป็นผง ทำเป็นยาเม็ดลูกกลอนรับประทานก็ได้เช่นกัน (ราก)[2]
- ช่วยรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ด้วยการนำเมล็ดแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำอุ่นรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยใช้รับประทานครั้งละ 6 กรัม (ตำรับนี้สามารถใช้แก้ปัสสาวะขัดและอุจจาระขัดได้ด้วย) ส่วนเด็กที่มีอาการท้องผูกก็รับประทานได้ แต่ต้องใช้ประมาณ 3-10 กรัม (เมล็ด)[1],[2]
- รากใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะขัดและอุจจาระติดขัด (เข้าใจว่าใช้รากสดประมาณ 30-60 กรัม) หรือจะใช้ดอกสดประมาณ 35 กรัม นำมาต้มกับน้ำครึ่งแก้วแล้วใส่ชะมดเชียง 2 กรัม เป็นยารับประทาน ส่วนเมล็ดก็มีสรรพคุณขับปัสสาวะเช่นกัน แต่ต้องเป็นเมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (ดอก, เมล็ด, ราก)[1],[2]
- รากและดอกใช้แก้ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ปัสสาวะแสบร้อน (ราก, ดอก)[2]
- ช่วยแก้อาการปัสสาวะมากผิดปกติ ด้วยการใช้รากสดนำมาล้างให้สะอาด แล้วทุบให้แตกใส่น้ำต้มให้เดือดจนเข้มข้น แล้วรินน้ำรับประทาน (ราก)[1]
- หากปัสสาวะเป็นเลือด ให้ใช้เถาจากยอดอ่อนของต้นฉัตรทองนำมาผสมกับเหล้าใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง แต่ต้องรับประทานทีละน้อย ๆ หรือจะใช้รากสดนำมาต้มกับดื่มก็ได้ ส่วนดอกและเมล็ดตามตำราก็ระบุว่าแก้ปัสสาวะเป็นเลือดได้เช่นกัน (เถาจากยอดอ่อน, ดอก, เมล็ด, ราก)[1],[2]
- ใช้รักษาโรคหนองใน ด้วยการใช้ยอดอ่อนหรือใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา จะใช้ใบสดหรือใบแห้งก็ได้ หรือจะนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผงกินก็ได้เช่นกัน โดยจะใช้อยู่ที่ประมาณ 6-20 กรัม หรือจะใช้รากสดประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือทำเป็นเม็ด หรือบดเป็นผงกินก็ได้ ส่วนเมล็ดก็สามารถนำมาทำเป็นยาแก้โรคหนองในได้เช่นกัน (ใบ, เมล็ด, ราก)[1],[2]
- หากสตรีมีอาการตกขาว ให้นำดอกสดประมาณ 150 กรัม นำมาผึ่งให้แห้งในที่ร่ม แล้วนำไปบดเป็นผงผสมกับน้ำผึ้งรับประทาน แต่ก่อนรับประทานจะต้องดื่มเหล้าก่อน 1 ถ้วยชา หรือจะใช้รากสด ๆ ประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินก็ได้เช่นกัน (ดอก, ราก)[1] ส่วนอีกวิธีให้ใช้รากฉัตรทอง 35 กรัมและดอกอีก 10 กรัม นำมาตุ๋นกับเนื้อหมูรับประทาน ก็สามารถใช้แก้มุตกิดระดูขาวได้เช่นกัน (ราก, ดอก)[2]
- ช่วยรักษาปากมดลูกอักเสบ (ราก, ดอก)[2]
- ช่วยรักษาอาการบวมน้ำ ด้วยการนำเมล็ดแก่ที่ตากแห้งแล้วนำมาบดเป็นผง ใช้ผสมกับน้ำอุ่นรับประทานวันละ 2 ครั้ง โดยใช้รับประทานครั้งละ 6 กรัม ส่วนเด็กที่มีอาการท้องผูกก็รับประทานได้ แต่ต้องใช้ประมาณ 3-10 กรัม (เมล็ด)[1],[2] ส่วนรากและดอกก็ช่วยแก้บวมน้ำได้เช่นกัน (ราก, ดอก)[2]
- ใช้รักษาแผลไฟไหม้ แผลโดนน้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ดอกสดที่ตำละเอียดแล้วนำมาผสมกับน้ำมันพืช ใช้เป็นยาพอกบริเวณนั้น (ดอก)[1]
- รากและเมล็ดใช้ตำพอกรักษาแผลเรื้อรังได้ (ราก, เมล็ด)[1]
- ใช้รักษาแผลหิด ด้วยการใช้เมล็ดจากผลแก่ที่ตากแห้งแล้ว นำมาต้มหรือบดเป็นผงรับประทาน (เมล็ด)[1]
- ช่วยรักษาแผลบวมอักเสบ ด้วยการใช้รากสดนำมาตำแล้วพอก หรือถ้าเป็นแผลบวมจะใช้ดอกมาตำหรือบดให้เป็นผงใช้พอกหรือทาบริเวณที่เป็นแผลก็ได้ (ดอก, ราก)[1]
- ช่วยรักษาแผลฝีหนอง ด้วยการใช้ยอดอ่อนหรือใบนำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา จะใช้ใบสดหรือใบแห้งก็ได้ หรือจะนำมาเผาให้เป็นเถ้าแล้วนำมาบดเป็นผงรับประทานก็ได้เช่นกัน โดยจะใช้อยู่ที่ประมาณ 6-20 กรัม (ใบ)[1] ส่วนรากและดอกก็ช่วยขับฝีหนอง (ราก, ดอก)[2]
- รากใช้เป็นยาดูดหนอง ด้วยการใช้รากสด ๆ นำมาตำแล้วพอกบริเวณที่เป็น (ราก)[1]
- รากและเมล็ดช่วยในการคลอดบุตรของสตรี (ราก, เมล็ด)[1]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของฉัตรของ
- รากของต้นฉัตรทองจะมีสารเมือกอยู่มาก หากต้นมีอายุ 1 ปี สารเมือกนี้จะประกอบไปด้วย Methylpentosans 10.59%, Mucus, Pentose 7.78%, Pentosans 6.68%, Uronic acid 20.04% โดยสารเมือกนี้จะใช้เป็นยาหล่อลื่น ยาช่วยลดอาการระคายเคือง และใช้เป็นยาพอกแก้ผิวหนังอักเสบ[1],[2]
- ในเมล็ดฉัตรทองพบสาร Myrtillin-a, น้ำมันและน้ำมันหอมระเหย ในน้ำมัน 11.9% ประกอบไปด้วย Oleic acid 34.88%[1],[2]
- ดอกฉัตรทองจะมีผลึกเป็นสารสีเหลือง และมีจุดหลอมเหลวอยู่ที่ 261 องศาเซลเซียส ซึ่งสารนี้อาจเป็น Dibenzoyl carbinol จะเป็นสารผสมของ Kaempferol และดอกที่เป็นสีขาวจะแยกได้ Dihydrokaempferol[1],[2]
- ดอกมีสารสีแดงที่ใช้เป็นตัวบ่งบอกความเป็นกรดด่างได้[1]
คำเตือน : สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[2]
ประโยชน์ของฉัตรทอง
- หากใบหน้ามีรอยเหี่ยวย่นหรือเป็นฝ้า ก็ให้ใช้ดอกสดนำมาบดให้ละเอียดผสมกับรังผึ้งสด ใช้ทาหน้าก่อนนอนทุกคืน[1]
- ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามรั้วตามสวนทั่วไป
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ฉัตรทอง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 233-236.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ฉัตรทอง”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 190.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by akiiy, Mauricio Mercadante, njflickrspace, mercedesmelis, mercedesmelis, ¨Weston¨)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)