จุกโรหินี
จุกโรหินี ชื่อวิทยาศาสตร์ Dischidia major (Vahl) Merr.[1] (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Dischidia rafflesiana Wall.[2]) จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรจุกโรหินี มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวฟ่าง (คนเมือง), บวบลม (นครราชสีมา, อุบลราชธานี), พุงปลา (จันทบุรี, ตราด), กล้วยมุสัง (พังงา), จุรูหินี (ชุมพร), กล้วยไม้ (ภาคเหนือ), โกฐพุงปลา จุกโรหินี พุงปลาช่อน (ภาคกลาง), เถาพุงปลา (ระยอง, ภาคตะวันออก), โกฎฐ์พุงปลา (ไทย), นมตำไร (เขมร) เป็นต้น[1],[3],[4]
ลักษณะของจุกโรหินี
- ต้นจุกโรหินี จัดเป็นไม้ล้มลุกที่มีลำต้นเลื้อยทอดไปตามต้นไม้ เถากลมสีเขียว ตามข้อเถามีรากงอกออก มีไว้สำหรับใช้ยึดเกาะ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด สามารถพบได้ตามป่าดงดิบทั่วไป ป่าชายเลน ป่าแพะ และป่าเบญจพรรณ[1],[2],[4]
- ใบจุกโรหินี ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ หรือออกเป็นใบเดี่ยว ใบมี 2 แบบ ลักษณะแตกต่างกันมาก ซึ่งจะอยู่บนต้นเดียวกัน คือ แบบแรกมีลักษณะรูปร่างคล้ายถุงปากแคบ แบนเป็นเหลี่ยม ๆ ผิวด้านนอกเกลี้ยงเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ส่วนด้านในเป็นสีม่วง มีขนาดกว้างประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ส่วนแบบที่สองเป็นแบบใบธรรมดา ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม ปลายใบมน มีติ่งแหลมสั้น ๆ เนื้อใบหนาและอวบน้ำ ใบมีขนาดยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร[1],[4]
- ดอกจุกโรหินี ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ขนาดเล็ก ช่อละประมาณ 6-8 ดอก โดยจะออกตามง่ามใบตรงข้ามกับใบ ดอกเป็นดอกขนาดเล็ก มีกลีบดอก 5 กลีบ โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ๆ และป่องเบี้ยวไปอีกข้างหนึ่ง ส่วนตรงปลายเป็นรูปกรวย ที่ปลายปากดอกแต้มไปด้วยสีม่วงและมีขนอยู่ด้านนอก ส่วนกลีบเลี้ยงดอกหรือกลีบรองดอกมี 5 กลีบ ลักษณะของกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีหรือรูปไข่ ตามขอบกลีบดอกจะมีขน กลีบดอกกลมและยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร โคนดอกเชื่อมติดกันเล็กน้อย[1],[2],[4]
- ผลจุกโรหินี ออกผลเป็นฝัก ฝักเป็นสีเหลืองแกมสีส้ม ผิวของฝักมีลักษณะขรุขระ ฝักมีความยาวประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร[1],[4]
สรรพคุณของจุกโรหินี
- ผลนำมาต้มกับน้ำดื่ม จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ผล)[2]
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงกำลัง (ราก)[5]
- รากใช้เป็นยาแก้ไข้เพื่อโลหิต แก้ลมปลายไข้ (ราก)[2]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ ช่วยลดความร้อนในร่างกาย (ราก)[7]
- รากจุกโรหินีนำมาเคี้ยวกับพลูจะช่วยแก้อาการไอ (ราก)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้หอบหืด (ราก)[5]
- ช่วยแก้อาการอาเจียน (ใบ, ราก)[1],[2],[4]
- ช่วยแก้เสมหะผิดปกติ เสมหะพิการ (ใบ, ราก)[1],[2],[4]
- ผลนำมาดึงไส้ออก ใส่น้ำ นำไปเผาไฟให้อุ่น ใช้เป็นยาหยอดหู หรือจะนำผลมาเผาไฟเอาน้ำใช้หยอดหูน้ำหนวก (ผล)[2]
- ผลนำมาผสมกับมดแดงฮ้าง ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ลมพันไส้ (ผล)[2]
- เถานำมาต้มกับน้ำดื่มจะช่วยขับลม แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อได้ (เถา)[2]
- ผลนำมาผสมกับฝอยลม ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร หรือจะนำผลมาเผาไฟเอาน้ำ ใช้ขับลม (ผล)[2]
- ทั้งต้นมีรสฝาดและสุขุม ใช้ต้มดื่มเป็นยาแก้อาการปวดท้องอันเนื่องมาจากโรคกระเพาะอาหารอักเสบ (ทั้งต้น)[2],[5]
- ใบหรือรากใช้เป็นยาแก้อาการท้องเดิน ท้องร่วง ท้องเสีย (ใบ, ราก)[1],[2],[4],[5]
- ช่วยแก้บิด แก้ปวดเบ่ง มูกเลือด (ใบ, ราก)[1],[2],[4]
- ทั้งต้นใช้เข้ายาแก้โรคตับพิการ (ทั้งต้น)[2]
- ใบที่เปลี่ยนรูป เอาข้าวมายัดใส่แล้วนำไปเผาไฟจนข้าวสุก แล้วข้าวจะกลายเป็นสีม่วง นำมารับประทานเพื่อช่วยป้องกันอาการเจ็บม้ามในขณะออกกำลังกายได้ (ใบ)[3]
- ใบมีรสฝาด ใช้ภายนอกเป็นยาฝาดสมาน สมานแผล หรือจะใช้รากปรุงเป็นยาฝาดสมาน หรือใช้ภายนอกนำมาทาแผลเพื่อเป็นยาสมานแผลก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก)[1],[2],[4]
ประโยชน์ของจุกโรหินี
- ใบอ่อนใช้รับประทานได้ โดยใช้รับประทานร่วมกับขนมจีน[6]
- ผลนำมาผสมกับข้าวเย็นเหนือ ใช้เลิกบุหรี่[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จุกโรหินี (Chuk Rohini)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 96.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “บวบลม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [1 มี.ค. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน). “จุกโรหินี”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [1 มี.ค. 2014].
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “โกฐพุงปลา”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 80-82.
- ไทยเกษตรศาสตร์. “จุกโรหินี”. อ้างอิงใน: วัลลิ์รุกขบุปผชาติ ตามรอยพระบาทบรมราชกุมารี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [1 มี.ค. 2014].
- ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร. “โกฐพุงปลา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/. [1 มี.ค. 2014].
- พฤกษาน่าสน มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร.
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by epiforums, Jardin Boricua, wildsingapore)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)