จิกน้ํา
จิกน้ำ ชื่อสามัญ Indian oak, Freshwater mangrove
จิกน้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)
สมุนไพรจิกน้ำ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิ๊ก (กรุงเทพ), กระโดนสร้อย (พิษณุโลก), ลำไพ่ (อุตรดิตถ์), กระโดนทุ่ง กระโดนน้ำ (หนองคาย-ภาคอีสาน), ตอง ปุยสาย (ภาคเหนือ), ตอง จิกน้ำ (ภาคกลาง), จิก, จิกนา, จิกอินเดีย, จิกมุจลินท์, เป็นต้น
จิก เป็นชื่อของกลุ่มไม้ยืนต้นที่มีอยู่มากกว่า 10 ชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในสกุล Barringtonia ซึ่งจิกที่คนไทยรู้จักคุ้นเคยกันดีก็มีแค่ 2-3 ชนิด ได้แก่
- จิกน้ํา หรือ กระโดนสร้อย (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn. Subsp. spicata (Bl.) Payens)
- จิกสวน หรือ จิกบ้าน ( Barringtonia racemosa Roxb.)
- จิกนา หรือ กระโดนทุ่ง (Barringtonia acutangula (L.) Gaertn.)
แต่ละชนิดจะมีลักษณะโดยรวมคล้ายคลึงกัน แต่จะแตกต่างกันตรงลักษณะของดอก กลีบดอก กลีบเลี้ยงดอก ขนาดของดอก สีของดอก ลักษณะใบ เป็นต้น โดยบทความนี้เราจะพูดกันถึงเรื่อง “จิกน้ำ” ซึ่งสรรพคุณและประโยชน์ส่วนใหญ่ก็จะคล้าย ๆ กัน โดยต้นจิกชนิดอื่น ๆ ที่อาจพบได้บ้างก็ได้แก่
- จิก (Barringtonia coccinea Kostel)
- จิกใหญ่ (Barringtonia angusta Kurz)
- จิกเขา (Barringtonia fusifomis King)
- จิกดง (Barringtonia pauciflor King)
- จิกเล หรือ โดนเล (Barringtonia asiatica (L.) Kurz)
- จิกนม หรือ จิกนุ่ม (Barringtonia macorstachys Kurz)
- จิกนมยาน (Barringtonia macorcarpa Hassk.)
ลักษณะของจิกน้ำ
- ต้นจิกน้ำ เป็นไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือแผ่กว้าง มีลำต้นเป็นปุ่มปม เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องและเป็นสันแหลมตามยาว กิ่งก้านมักคดงอ ปลายกิ่งมักลู่ลง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและการตอนกิ่ง เป็นไม้ที่มีถิ่นกำเนิดทั่วไปในภูมิภาคเอเชียใต้และอัฟกานิสถาน ฟิลิปปินส์ ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลียในแถบรัฐควีนส์แลนด์ และสำหรับประเทศไทยบ้านเราก็จะพบต้นจิกน้ำได้ทั่วทุกภาคตามริมฝั่งน้ำ ริมคลอง ริมบึง ป่าพรุและป่าชายเลน
- ใบจิกน้ำ มีใบเป็นใบเดี่ยว ใบออกเวียนสลับถี่ที่บริเวณปลายกิ่ง ลักษณะของใบเป็นรูปหอกหรือรูปไข่หัวกลับ หรือรูปรี โคนใบแหลม ปลายใบแหลมหรือมน ขอบใบเป็นจักถี่ ๆ ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดงเข้มและมีขน ใบมีขนาดใหญ่เป็นมันสวย เมื่อเวลามีดอกจะทิ้งใบ เหลือเพียงแต่ใบอ่อนสีแดง
- ดอกจิกน้ำ ออกดอกเป็นช่อกระจายที่ปลายกิ่ง ดอกห้อยลงมาเป็นระย้า ยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร ดอกมีกลีบเลี้ยง 4 กลีบ ติดทนอยู่จนเป็นผล กลีบดอกสั้น ปลายแยกเป็น 4 กลีบ มีสีแดงหรือสีชมพู หลุดร่วงได้ง่าย เมื่อบานเต็มที่จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้อยู่เป็นฝอย ๆ สีชมพูหรือสีแดงจำนวนมาก เมื่อดอกบานพร้อมกันจะดูสวยงามมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงมีดอกจะทิ้งใบเหลือแต่ยอดอ่อนสีแดงจัด ก็ยิ่งทำให้ดูสวยงดงามเพิ่มขึ้นไปอีก และจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม
- ผลจิกน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปขอบขนานหรือทรงกลม มีสันเป็นเหลี่ยม 4 สัน เรียงตามความยาวของผล ในผลมีเมล็ดจิกน้ำ อยู่ 1 เมล็ด ลักษณะคล้ายรูปไข่
สรรพคุณของจิกน้ำ
- ใช้รักษาเยื่อนัยน์ตาอักเสบ (เมล็ด)
- น้ำคั้นจากเมล็ดใช้เป็นยาหยอดตาได้ (เมล็ด)
- เปลือกใช้เป็นยาลดไข้และใช้รักษาไข้มาลาเรีย (เปลือก)
- จิกน้ํามีสรรพคุณของผลช่วยแก้หวัด แก้ไอ (ผล)
- ช่วยแก้อาการไอในเด็ก (เมล็ด)
- ช่วยทำให้อาเจียน (เมล็ด,ราก)
- เมล็ด ใช้เป็นยาขับลม แก้อาการร้อนใน (เมล็ด)
- เมล็ดจิกน้ำ ใช้เข้ายาลมช่วยแก้อาการจุกเสียดแน่นท้องได้เป็นอย่างดี (เมล็ด)
- น้ำจากใบช่วยแก้อาการท้องเสีย (ใบ)
- ใบแก่ใช้ต้มกับน้ำดื่มช่วยแก้อาการท้องร่วง (ใบแก่)
- รากใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (ราก)
- ช่วยขับระดูขาวของสตรี (เนื้อไม้)
- เปลือกช่วยชะล้างบาดแผล (เปลือก)
- ใช้เป็นยาร้อนในการคลอดบุตร (เมล็ด)
ประโยชน์ของจิกน้ำ
- ดอกและยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือผักจิ้มกับแจ่ว ลาบ น้ำตก และขนมจีน ให้รสชาติมันปนฝาด ช่วยเพิ่มความอร่อยได้ดีมาก
- เปลือกและต้นของจิกน้ำมีสรรพคุณใช้เบื่อปลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิกเล จึงเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษว่า Poison fish tree ซึ่งชาวประมงนิยมนำมาใช้ในการเบื่อปลากันอย่างแพร่หลาย
- มักปลูกไว้เป็นไม้ประดับที่ริมน้ำริมตลิ่ง เนื่องจากมีช่อดอกที่สวยงามแปลกตา และมีความแข็งแรง ทนน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี
- ไม้จิกน้ำมีเนื้อสีขาวหรือสีอมแดงเรื่อ ๆ มีเสี้ยนตรง เป็นไม้ค่อนข้างอ่อนเหมาะใช้ในร่ม สามารถนำมาทำเป็นไม้อัด ไม้บาง กระดานกรุบ่อ ใช้ทำเรือเล็ก ๆ ทำเครื่องมือเกษตรและทำเครื่องเรือนได้ ฯลฯ
- นอกจากจะปลูกต้นจิกน้ำเพื่อความสวยงามไว้ริมตลิ่งแล้ว ต้นจิกน้ำก็ยังช่วยยึดหน้าดินริมตลิ่งได้อีกด้วย
แหล่งอ้างอิง : ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน), เว็บไซต์กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.), ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์
ภาพประกอบ : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, flickr.com (by lalithamba, SierraSunrise)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)