จิกทะเล
จิกทะเล ชื่อสามัญ Fish Poison Tree, Putat, Sea Poison Tree
จิกทะเล ชื่อวิทยาศาสตร์ Barringtonia asiatica (L.) Kurz (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Agasta asiatica (L.) Miers, Agasta indica Miers, Barringtonia butonica J.R.Forst. & G.Forst., Barringtonia speciosa J.R.Forst. & G.Forst., Mammea asiatica L., Michelia asiatica (L.) Kuntze) จัดอยู่ในวงศ์จิก (LECYTHIDACEAE หรือ BARRINGTONIACEAE)[2],[3]
สมุนไพรจิกทะเล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จิกเล โดนเล (ภาคใต้), อามุง (มาเล-นราธิวาส) เป็นต้น[2]
ข้อควรรู้ ! : ต้นจิกทะเล เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสงคราม
ลักษณะของจิกทะเล
- ต้นจิกทะเล จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงได้ประมาณ 7-20 เมตร แตกกิ่งก้านสาขาออกที่เรือนยอดของลำต้น เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบแตกกิ่งต่ำ ซึ่งเป็นกิ่งที่มีขนาดใหญ่จะมีรอยแผลอยู่ทั่วไป ซึ่งเป็นรอยแผลที่เกิดจากใบที่ร่วงหล่นไป เปลือกต้นเป็นสีน้ำตาลตาลหรือเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาวและมีช่องระบายอากาศด้วย ส่วนเนื้อไม้เป็นสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน ๆ เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด หรือแพร่พันธุ์โดยที่ผลลอยไปตามน้ำ มีอัตราการเจริญเติบโตปานกลางถึงเร็ว ขึ้นได้ในดินทั่วไป ชอบความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน มีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบได้ตั้งแต่มาดากัสการ์ อินเดีย ศรีลังกา ไต้หวัน ญี่ปุ่น ภูมิภาคมาเลเซียรวมถึงฟิลิปปินส์ หมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงทางภาคเหนือของออสเตรเลีย และในหมู่เกาะโพลีนีเซีย ส่วนในประเทศไทยพบขึ้นมากตามป่าชายหาดของฝั่งทะเลและตามเกาะที่ยังไม่ถูกรบกวนทางภาคใต้[1],[2],[3]
- ใบจิกทะเล ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงเวียนสลับกันไปตามข้อต้น ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี รูปไข่กลับ หรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายใบมนเว้า โคนใบสอบเข้าหาก้านใบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 10-18 เซนติเมตร และยาวประมาณ 20-38 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียว เนื้อใบหนาเกลี้ยงเป็นมันวาวด้านบน เส้นแขนงใบมีข้างละ 12-14 เส้น นูนทั้งสองด้าน ก้านไม่มีหรือก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
- ดอกจิกทะเล ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะตามส่วนยอดของลำต้น ตั้งตรง ช่อหนึ่งจะมีดอกอยู่ประมาณ 7-8 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 2-15 เซนติเมตร แกนช่อหนา ดอกเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอม เกล็ดหุ้มยอดเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร มีใบประดับเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.8-1.5 เซนติเมตร ใบประดับย่อยมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ก้านดอกย่อยยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ฐานรองดอกเป็นรูปกรวยสั้น ๆ ยาวประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงติดกันตาดอก บานแยกออกเป็น 2 ส่วนไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปรี ติดทน ยาวได้ประมาณ 2.5-3.5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่ง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกเป็นสีขาวอมชมพูมี 4 กลีบ ติดที่โคนหลอดเกสรเพศผู้ กลีบเป็นรูปรี ปลายกลีบมน ขอบมักม้วนเข้า ยาวประมาณ 4.5-6.5 เซนติเมตร ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก สีแดง สีชมพู หรือสีม่วง เรียงเป็น 6 วง ยาวได้ประมาณ 9.5 เซนติเมตร วงในเป็นหมัน ยาวประมาณ 2-3.5 เซนติเมตร โคนก้านเกสรติดกันเป็นหลอด ยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร จานฐานดอกเป็นวง ขอบหยักมน สูงได้ประมาณ 1 มิลลิเมตร มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี 4 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลประมาณ 2-6 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียเป็นรูปแถบ ยาวได้ประมาณ 10-11 เซนติเมตร ยอดเกสรเป็นตุ่มมน ๆ ขนาดเล็ก เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกจะบานในช่วงเวลากลางคืน และจะโรยในช่วงเวลากลางวัน โดยจะออกดอกในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม[1],[2],[3]
- ผลจิกทะเล ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ลักษณะของผลเป็นรูปพีระมิดสี่เหลี่ยม ตรงโคนผลจะเว้า ผลเป็นสีเขียวและเป็นมัน ผลเมื่อโตจะมีขนาดกว้างประมาณ 8.5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8.5-11 เซนติเมตร ผนังผลเป็นเส้นใยมีกากเหนียวหุ้มหนาคล้ายฟองน้ำ ทำให้ลอยน้ำได้คล้ายผลมะพร้าว ส่วนผนังผลด้านในแข็ง ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 4-5 เซนติเมตร (เมล็ดจิกทะเลมี fixed oil ได้แก่ olein, palmitin, glycoside barringtonin 3.27%, baringronin, hydrocyanic acid, saponin)[1],[2],[3]
สรรพคุณของจิกทะเล
- ใบ ผล และเปลือก ใช้เป็นยารักษาบรรเทาอาการปวดศีรษะ (ใบ, เปลือก, ผล)[1],[2]
- เปลือกผลหรือเนื้อของผล เป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งที่ช่วยให้คนที่นอนไม่หลับนอนหลับได้ ถ้ารับประทานเข้าไปมาก ๆ จะทำให้นอนหลับสบาย (เปลือกผล, เนื้อผล)[1],[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิออกจากร่างกาย (เมล็ด)[1],[2]
ประโยชน์ของจิกทะเล
- ต้นจิกทะเลมีทรงพุ่มใบเป็นมันสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ใช้ปลูกเพื่อปรับภูมิทัศน์ ปลูกให้ร่มเงาได้ โดยนิยมนำมาปลูกในพื้นที่กว้าง เช่น สวนสาธารณะ ปลูกเป็นกลุ่ม ปลูกเป็นฉากหลัง ปลูกตามริมทะเล ทนน้ำท่วมได้ดี[2]
- เปลือกผลหรือเนื้อของผลใช้เป็นยาเบื่อปลาได้[1]
- บางท้องถิ่นจะนำผลแห้งของจิกทะเลมาจุดเป็นยาไล่ยุง
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “จิกเล”. หน้า 227-228.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “จิกทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [09 ม.ค. 2015].
- สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “จิกทะเล”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [09 ม.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by VanLap Hoàng, Ben Caledonia, Ahmad Fuad Morad, Jellyfish57, Shipher (士緯) Wu (吳), Rick and Lea Miller, Heleen van Duin, Russell Cumming, mmadrigal2008)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)