จําปาดะ สรรพคุณและประโยชน์ของของจำปาดะ 18 ข้อ !

จําปาดะ สรรพคุณและประโยชน์ของของจำปาดะ 18 ข้อ !

จำปาดะ

จําปาดะ คืออะไร ? จำปาดะคือชื่อผลไม้ของไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในวงศ์ MORACEAE เช่นเดียวกับขนุนและสาเก หรือจะเรียกผลไม้ชนิดนี้ว่าขนุนถิ่นใต้ก็ได้ครับ (สังเกตว่าลักษณะของผลก็จะคล้าย ๆ กัน แต่ผลจำปาดะจะเล็กกว่า)

จําปาดะ ภาษาอังกฤษ Champedak (แต่ที่มาเลเซียจะเรียกว่า Bankong)

จําปาดะ ชื่อวิทยาศาสตร์ Artocarpus integer

ลักษณะของจำปาดะ

  • ต้นจำปาดะ มีถิ่นกำเนิดในคาบสมุทรมลายู อินโดนีเซีย และเกาะนิวกินี ในบ้านเราจะนิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ โดยจัดเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของอำเภอเกาะยอ จังหวัดสตูล และเป็นผลไม้ที่หารับประทานได้ยากมาก ๆ ซึ่งจะหาได้เฉพาะทางภาคใต้เท่านั้น อีกทั้งจำปาดะยังให้ผลเพียงปีละครั้งเท่านั้น (ประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม) โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นที่มีความสูงประมาณ 20 เมตร เปลือกลำต้นมีสีน้ำตาลปนเทา มียางสีขาวขุ่น โดยจะออกผลตามลำต้นและตามกิ่ง ลักษณะของใบจำปาดะ ใบคล้ายรูปไข่ มีเกสรเขียวเป็นมัน และมีขนเล็ก ๆ สีน้ำตาลอยู่บนใบ ใบยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2.5-12 เซนติเมตร ส่วนดอกจำปาดะ ลักษณะของดอก ดอกตัวผู้คล้ายทรงกระบอก มีขนาดประมาณ 3-3.5 เซนติเมตร ก้านยาวประมาณ 3-6 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวหรือสีเหลือง ส่วนดอกตัวเมียมีจะขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตร และเกสรตัวเมียจะมีขนาด 3-6 เซนติเมตร

ต้นจำปาดะ

  • ผลจำปาดะ ผลคล้ายรูปทรงกระบอก ขนาดตั้งแต่ 20-35 เซนติเมตร กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร ผลอ่อนจะมีสีน้ำตาลปนเหลือง ผลอ่อน เปลือกจะแข็ง มียางมาก ส่วนผลสุกจะเปลือกนิ่มและมียางน้อยลง เนื้อมีกลิ่นหอมแรงและมีรสชาติหวานจัด โดย 1 ผลจะมีน้ำหนักรวมอยู่ระหว่าง 600-3,500 กรัม แต่ส่วนของเนื้อที่รับประทานได้จะมีน้ำหนักประมาณ 100-1,200 กรัม

ขนุนกับจําปาดะต่างกันอย่างไร

  • ขนาดของผลจำปาดะจะเล็กกว่าขนุน
  • ลักษณะของเปลือก เปลือกนอกจำปาดะเมื่อสุกจะไม่สวยเหมือนขนุน
  • เปลือกจำปาดะจะบางและปอกง่ายกว่าขนุน และไม่มียวงมีใยเหนียวหนืดเป็นยางมาคั่นระหว่างเมล็ดเหมือนขนุน
  • เนื้อจำปาดะจะมีเนื้อนิ่มเละ ไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน
  • เนื้อจำปาดะจะเหนียวเคี้ยวไม่ค่อยขาด ไม่เหมือนขนุนที่เคี้ยวง่าย
  • รสชาติจำปาดะจะมีรสหวานจัด มีน้ำเยอะและหวานกว่าขนุน
  • กลิ่น จำปาดะกลิ่นจะแรงกว่าขนุน (รุ่นน้องทุเรียนเลยทีเดียว)

Tip วิธีการปอกจำปาดะ วิธีการก็ง่ายแสนง่าย แค่ใช้มีดกรีดจากขั้วลงมาจนสุดผล แล้วก็ใช้มือแบะออก เนื้อจำปาดะก็จะปลิ้นหลุดออกมาทั้งพวงเลย และให้จับที่ขั้วดึงทีเดียวให้เปลือกหลุดออก ก็จะได้ยวงจำปาดะติดกันออกมาเป็นพวงแล้ว

สรรพคุณของจำปาดะ

  1. ช่วยบำรุงร่างกาย (เนื้อผลสุก)
  2. จำปาดะมีวิตามินเอสูง จึงช่วยบำรุงและรักษาสายตาได้เป็นอย่างดี
  3. เปลือกไม้ของจำปาดะมีสรรพคุณที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและช่วยรักษาโรคมาลาเรียได้ (เปลือก)
  4. เส้นใยของจำปาดะสามารถช่วยขับไขมันและสารพิษออกไปจากร่างกายได้
  5. ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ (เนื้อผลสุก)
  6. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (เนื้อผลอ่อน)
  7. ช่วยฝาดสมาน (เนื้อผลอ่อน)
  8. เมล็ดจำปาดะช่วยขับน้ำนมในสตรีหลังคลอดและช่วยบำรุงร่างกายได้ (เมล็ด)
  9. ในมาเลเซียมีการใช้รากของจำปาดะเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรแบบดั้งเดิมที่ใช้สำหรับหญิงที่เพิ่งคลอดบุตร

ประโยชน์ของจำปาดะ

  1. ผลสุกนิยมรับประทานสดเป็นผลไม้ มีรสหวานจัด หอม ชุ่มปากชุ่มคอ (บางคนรับประทานแล้วหยุดไม่ได้เลยทีเดียว)
  2. สำหรับทางภาคใต้จะนิยมนำไปทำจําปาดะทอด โดยใช้เนื้อพร้อมเมล็ดไปคลุกกับแป้ง น้ำตาล ไข่ นม งา แล้วนำไปทอดน้ำมัน ขอบอกครับว่าอร่อยน่ารับประทานมาก แต่เสียดายหารับประทานยากมาก ๆ
  3. ใช้ทำเป็นขนมหวาน เช่น ข้าวต้มมัดไส้จำปาดะ เป็นสูตรเดียวกันกับข้าวต้มมัดทั่วไป แต่ต้องแกะเอาเมล็ดออก เอาเฉพาะเนื้อมาใช้แทนกล้วย รสชาติหวาน หอมมัน เข้มข้นมาก หรือใช้ทำเป็นข้าวตอกน้ำกะทิจำปาดะ แกงบวดจำปาดะ เป็นต้น
  4. เมล็ดใช้ทำเป็นอาหารคาว เช่น นำมาใส่แกงพุงปลา แกงคั่วกะทิ หรือจะรับประทานร่วมกับขนมจีนก็อร่อยนักแล
  5. ผลอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหาร
  6. เมล็ดสามารถนำไปต้มหรือนำไปเผาไฟรับประทานได้ (บางคนนิยมรับประทานเมล็ดมากกว่าเนื้อเสียอีก)
  7. ใบอ่อนจำปาดะใช้เป็นผักจิ้มหรือใช้รับประทานร่วมกับส้มตำได้
  8. แก่นของต้นจำปาดะนำไปต้มใช้ย้อมสีจีวรพระได้
  9. ลำต้นสามารถใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือใช้เป็นวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ทำการเกษตร ฯลฯ

จําปาดะทอด

คุณค่าทางโภชนาการของจำปาดะ (ผลสุก) ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 116 กิโลแคลอรี
  • โปรตีน 3.0 กรัม
  • ไขมัน 0.4 กรัม
  • คาร์โบไฮเดรต 28.6 กรัม
  • วิตามินเอ 200 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 15 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 20 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.5 มิลลิกรัม

ข้อมูลจาก : Directorate Nutrition Department of Health (1992)

แหล่งอ้างอิง : www.gotoknow.com, เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (คุณสุมิตรา จันทร์าเงา), วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ภาพประกอบ : คุณกันต์เอง (เว็บสนุกท่องเที่ยว)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด