จันทน์เทศ
จันทน์เทศ ชื่อสามัญ Nutmeg[1],[2]
จันทน์เทศ ชื่อวิทยาศาสตร์ Myristica fragrans Houtt. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Myristica officinalis L. f.[5], Myristica aromatica Lam.[11], Myristica moschata Thunb.[11]) จัดอยู่ในวงศ์จันทน์เทศ (MYRISTICACEAE)[1],[2]
สมุนไพรจันทน์เทศ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า จันทน์บ้าน (ภาคเหนือ, เงี้ยว-ภาคเหนือ), โย่วโต้วโค่ว โร่วโต้วโค่ว (จีนกลาง), เหน็กเต่าโข่ว (จีนแต้จิ๋ว) ปาลา (มาเลเซีย) เป็นต้น[1],[2],[3],[11],[17]
ลักษณะของจันทน์เทศ
- ต้นจันทน์เทศ มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะโมลุกกะ ประเทศอินโดนีเซีย[7] โดยจัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-18 เมตร เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทาอมดำ เนื้อไม้สีนวลหอมเพราะมีน้ำมันหอมระเหย โดยต้นจันทน์เทศสามารถขึ้นได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะกับการเจริญเติบโตคือดินร่วนปนทรายที่มีอินทรีย์วัตถุสูง โดยจะเจริญเติบโตได้ดีในเขตร้อนชื้นโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกและทางภาคใต้ของไทย สามารถขึ้นได้ในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 900 เมตร และนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ในปัจจุบันพบว่ามีการปลูกทั่วไปในเขตเมืองร้อน ในประเทศไทยจะพบได้มากทางภาคใต้[1],[3],[6],[8],[11]
- ใบจันทน์เทศ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรีหรือรูปไข่กลมรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร เนื้อใบแข็ง หลังใบเรียบเป็นมันและเป็นสีเขียวอมสีเหลืองอ่อน ส่วนท้องใบเรียบและเป็นสีเขียวอ่อน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 6-12 มิลลิเมตร[1],[2],[3]
- ดอกจันทน์เทศ ออกดอกเป็นช่อ ช่อละประมาณ 2-3 ดอก หรือออกเป็นดอกเดี่ยว โดยจะออกตามซอกใบ ดอกเป็นสีเหลืองอ่อน กลีบดอกเชื่อมติดกัน ดอกเป็นรูปคนโทคว่ำ ปลายกลีบแยกออกเป็น 4 แฉกแหลม ดอกเป็นแบบแยกเพศกันอยู่คนละต้น ช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร ดอกเป็นสีเหลืองอมขาว ลักษณะเป็นรูปไข่กลมรี ยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร[1],[2],[3] ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ดอกเพศผู้จะเกิดเป็นกลุ่ม ๆ ส่วนดอกเพศเมียจะเกิดเป็นดอกเดี่ยว และดอกเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าดอกเพศผู้ โดยต้นตัวเมียเท่านั้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ส่วนต้นเพศผู้จะปลูกไว้เพื่อผสมเกสรกับต้นตัวเมียเท่านั้น โดยมักจะปลูกต้นตัวผู้และต้นตัวเมียในอัตราส่วน 1 : 10 เท่านั้น[6]
- ผลจันทน์เทศ ผลเป็นผลสด ค่อนข้างฉ่ำน้ำ ลักษณะของผลเป็นรูปทรงค่อนข้างกลม รูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ ยาวประมาณ 3.5-5 เซนติเมตร เปลือกผลเรียบเป็นสีเหลืองนวล สีเหลืองอ่อน หรือสีแดงอ่อน เมื่อผลแก่แตกอ้าออกเป็น 2 ซีก ภายในผลมีเมล็ดลักษณะกลม ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร เมล็ดเป็นสีน้ำตาล เนื้อและเปลือกแข็ง มีจำนวน 1 เมล็ดต่อผล[1],[2],[3],[5]
- เมล็ดจันทน์เทศ โดยทั่วไปแล้วเราจะเรียกเมล็ดว่า “ลูกจันทน์” (Nutmeg) และเมล็ดจะมีเยื่อหุ้มหรือรกหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม มีกลิ่นหอม ซึ่งเราจะเรียกรกหุ้มเมล็ดว่า “ดอกจันทน์” (Mace) โดยมีลักษณะเป็นริ้วสีแดงจัด รูปร่างคล้ายร่างแห เป็นแผ่นบางมีหลายแฉกหุ้มเมล็ด โดยจะรัดติดแน่นอยู่กับเมล็ด เมื่อนำมาแกะแยกออกจากเมล็ด รกที่แยกออกมาสด ๆ จะมีสีแดงสด และเมื่อทำให้แห้งสีของรกจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนหรือเป็นสีเนื้อ ผิวเรียบและเปราะ มีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและมีความหนาประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม รสขมฝาดและเผ็ดร้อน[1],[2],[3],[5]
สรรพคุณของจันทน์เทศ
- ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) และลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสเผ็ดร้อนและมีกลิ่นหอม เป็นยาร้อนเล็กน้อย โดยออกฤทธิ์ต่อลำไส้และม้าม ใช้เป็นยาทำให้ธาตุและร่างกายอบอุ่น (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3]
- ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้ธาตุอ่อน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3],[5],[12]
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)[1], ลูกจันทน์ (เมล็ด)[2],[12]) ส่วนตำรับยาจีนระบุว่าให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม, เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม, ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง[3]
- ลูกจันทน์ (เมล็ด) มีรสหอมออกฝาด เป็นยาบำรุงโลหิต (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[1],[5],[10],[12],[16] ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณบำรุงโลหิตเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[2],[10],[12],[16]
- ช่วยกระจายเลือดลม (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีรสเผ็ดร้อน เป็นยาบำรุงกำลัง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[1],[5],[16] ส่วนอีกตำราหนึ่งก็ระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงกำลังเช่นกัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[2],[5],[12],[16]
- ช่วยบำรุงหัวใจ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร แก้อาการเบื่ออาหาร (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[4],[8],[16],[17] บ้างระบุว่ารกหุ้มเมล็ดก็ช่วยทำให้เจริญอาหารเช่นกัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ลูกจันทน์ช่วยทำให้นอนหลับได้และนอนหลับสบาย (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[22]
- ช่วยแก้อาการหอบหืด (เข้าใจว่าต้องใช้ผสมกับตัวยาอื่นด้วย) (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[20]
- ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยแก้ดีซ่าน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[16]
- แก่นจันทน์เทศเป็นยาลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้ดีเดือด ไข้ที่เกิดจากไวรัส (แก่น)[1],[2],[4],[12],[22] บ้างระบุว่าลูกจันทน์ (เมล็ด) หรือดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) ก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้เช่นกัน[8]
- ช่วยแก้อาการร้อนใน ช่วยทำให้ชุ่มคอ แก้อาการกระหายน้ำ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยแก้อาการกระสับกระส่าย ตาลอย (แก่น)[12],[22]
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลออก (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยขับเสมหะ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[12],[16]
- ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3],[17] แก้อาการคลื่นไส้อาเจียน อันเกิดจากธาตุไม่ปกติ โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) ประมาณ 3-5 อัน นำมาต้มกับน้ำพอประมาณ แล้วเคี่ยวจนเหลือ 1 ใน 3 ใช้ดื่มเป็นยา (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[5]
- ช่วยแก้อาการสะอึก (ผล, ลูกจันทน์ (เมล็ด))[13]
- ช่วยแก้ลม ขับลม โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)[1],[3],[4],[5],[8],[10],[12],[16], ลูกจันทน์ (เมล็ด)[2],[3],[4],[8],[12],[16], ผล[4], เนื้อผล[10], ราก[4])
- ช่วยแก้ลมจุกเสียดแน่นท้อง (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[10],[16],[17], ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)[12],[16])
- ช่วยในการย่อยอาหาร (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3]
- ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ โดยใช้ดอกจันทน์ (รก) นำมาบดให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำดื่มครั้งเดียว วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 2-3 วัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3],[4],[5],[7]
- ช่วยแก้อาการท้องเสียอันเนื่องมาจากธาตุเย็นพร่อง (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3],[7]
- ตามตำราการแพทย์แผนจีน ลูกจันทน์มีรสเผ็ดและอุ่น มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร ทำให้ชี่หมุนเวียนได้ดี ช่วยแก้อาการปวดกระเพาะอาหาร ช่วยระงับอาการท้องร่วง แก้อาการท้องร่วงเรื้อรัง อันเนื่องมาจากม้ามและไตพร่องและเย็นเกินไป และมีฤทธิ์ในการสมานลำไส้ (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[17]
- เปลือกเมล็ดมีรสฝาดมันหอม ช่วยแก้ท้องขึ้น แก้อาการปวดท้อง (เปลือกเมล็ด)[1]
- ช่วยแก้อาการท้องร่วง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)[1],[5],[8], ลูกจันทน์ (เมล็ด)[2],[5],[8],[12])
- ช่วยแก้บิด (เนื้อผล)[10] แก้บิดมูกเลือด (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[12]
- ใช้เป็นยาสมานลำไส้ กระเพาะและลำไส้ไม่มีแรง หรือขับถ่ายบ่อย ให้ใช้ลูกจันทน์ 1 ลูกและยูเฮีย 5 กรัมบดเป็นผง ใช้รับประทานครั้งละ 3 กรัม ถ้าเป็นเด็กให้รับประทานครั้งละ 1 กรัม (ลูกจันทน์ (เมล็ด))[3]
- ช่วยแก้อาการท้องมาน บวมน้ำ โดยในตำรับยาจีนระบุว่าให้ใช้จันทน์เทศที่เป็นยาแห้ง 10 กรัม, เนื้อหมากแห้ง 10 กรัม, ดอกคังวู้ 15 กรัม นำมาบดเป็นผง แล้วทำเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ใช้รับประทานครั้งละ 10-20 เม็ด วันละ 3 ครั้ง[3]
- ช่วยแก้อาการปวดมดลูก (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด)[1],[5],[16], ลูกจันทน์ (เมล็ด)[2],[5],[12],[16])
- ช่วยในการคุมกำเนิด (ผล, ลูกจันทน์ (เมล็ด))[13]
- แก่นช่วยบำรุงตับและปอด (แก่น)[1],[2],[4] บ้างระบุว่าเมล็ดและรกก็มีสรรพคุณบำรุงปอดและตับเช่นกัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยแก้ตับพิการ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[16]
- ช่วยบำรุงน้ำดี (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยรักษาม้ามหรือไตพิการ ด้วยการใช้ลูกจันทน์หรือดอกจันทน์, ขิงสด 8 กรัม, พุทราจีน 8 ผล, โป๋วกุ๊กจี 10 กรัม, อู่เว้ยจื่อ 10 กรัม, อู๋จูหวี 10 กรัม โดยนำทั้งหมดมารวมกันแล้วต้มกับน้ำเป็นยารับประทาน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[3]
- ช่วยสมานบาดแผลภายใน (เปลือกเมล็ด)[1]
- ช่วยแก้ผื่นคัน (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[8],[16]
- ช่วยบำรุงผิวหนัง บำรุงผิวหนังให้สวยงาม (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[10],[12] ช่วยบำรุงผิวเนื้อให้เจริญ (ลูกจันทน์ (เมล็ด), ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[5]
- น้ำมันระเหยง่ายใช้เป็นส่วนผสมของขี้ผึ้งที่นำมาใช้ทาระงับอาการปวด ใช้เป็นยาขับประจำเดือน ทำให้แท้ง และทำให้ประสาทหลอน ส่วนในประเทศอินโดนีเซียใช้เป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย แก้อาการปวดข้อ กระดูก[5]
- ตามตำราเภสัชกรรมล้านนา จะใช้จันทน์เทศเป็นส่วนประกอบในตำรับยามะเร็งครุดและยาเจ็บหัว[5]
- ผลจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีพิษจักร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลผักชีล้อม โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงโลหิต แก้ธาตุพิการ แก้พิษเลือด แก้ลม (ผล)[5]
- ผลจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดตรีคันธวาต” ซึ่งเป็นตำรับยาที่ประกอบไปด้วยตัวยา 3 ชนิด ได้แก่ ผลจันทน์เทศ กานพลู และผลเร่วใหญ่ โดยเป็นตำรับยาที่แก้ธาตุพิการ แก้ไข้อันเกิดแต่ดี แต่แก้อาการจุกเสียด (ผล)[5]
- ดอกจันทน์มีปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาหอมเทพจิตร” และตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ (รก) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืดตาลาย มีอาการใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน และช่วยแก้ลมจุกแน่นในท้อง (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[5]
- ดอกจันทน์ยังปรากฏอยู่ในตำรับ “ยาธาตุบรรจบ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีส่วนประกอบของดอกจันทน์ (รก) ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกในตำรับ โดยเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ (ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด))[5]
- แก่นจันทน์เทศจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจันทน์ทั้งห้า” (ประกอบไปด้วย แก่นจันทน์เทศ, แก่นจันทน์ขาว, แก่นจันทน์แดง (แก่นจันน์ผา), แก่นจันทน์ทนา, แก่นจันทน์ชะมด) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณแก้ไข้เพื่อโลหิตและดี แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ บำรุงหัวใจ บำรุงปอด บำรุงตับ และช่วยแก้พยาธิบาดแผล (แก่น)[15]
วิธีใช้สมุนไพรจันทน์เทศ
- การใช้รักษาอาการตาม[3] ถ้าเป็นยาแห้งให้ใช้ประมาณ 3-10 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา หากใช้เป็นยาขับลมให้ใช้ประมาณ 5 กรัม และหากใช้เป็นยาแก้ท้องเสียให้เพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ควรเกิน 10 กรัม (น่าจะ 6-8 กรัม)[3]
- การใช้รักษาอาการตาม[4] ให้ใช้ลูกจันทน์ (เมล็ด) และดอกจันทน์ (รก) ขนาด 0.5 กรัม หรือประมาณ 1-2 เมล็ด หรือใช้รกประมาณ 4 อันแล้วนำมาป่นให้เป็นผงละเอียด ใช้ชงกับน้ำครั้งเดียว รับประทานวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 2-3 วัน[4]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของจันทน์เทศ
- ลูกจันทน์ (เมล็ด) มีน้ำระเหยอยู่ประมาณ 8-15%, แป้ง 23%, ไขมัน 25-40% และพบสาร Camphene, D-pinene, Dipentene, Eugenol, Lipase, Myristicin และ Xylan[3]
- ดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีน้ำมันระเหยอยู่ประมาณ 6-11% และพบสาร Macilenic acid, Macilolic acid, และยังพบสารเดียวกันกับที่พบในลูกจันทน์อีก เช่น Myristin Olien เป็นต้น[3] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่าดอกจันทน์มีน้ำมันระเหยประมาณ 7-14% โดยมีองค์ประกอบทางเคมีคือ Alpha-pinene (18-26.5%), Beta-pinene (9.7-17.7%), Elemicin, Limonene (2.7-3.6%), Myrcene (2.2-3.7%), Myristicin, Sabinene (15.4-36.3%), Safrole[5]
- ส่วนที่เป็นพิษคือส่วนของเมล็ด โดยสารพิษที่พบ Myristicin (Methoxysafrol), Phenolic ether, Volatile oil[9]
- ผลจันทน์เทศ ให้ Myristica Oil ซึ่งเป็น Volatile Oil ประกอบไปด้วย Myristien และ Safrole ซึ่งใช้เป็นตัวแต่งกลิ่นและยาขับลม[4]
- สาร Myristin ที่พบในจันทน์ เมื่อนำมาสูดดมจะทำให้เกิดอาการมึนเมาคล้ายกับกัญชา โดยพบว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ไปกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ซึ่งทำให้เกิดอาการมึนเมาได้[3]
- น้ำมันระเหยจากลูกจันทน์ นอกจากจะมีกลิ่นหอมแล้ว ยังออกฤทธิ์ทำให้ประสาทส่วนกลางมึนชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัตว์ที่มีขนาดเล็ก เช่น แมว หากใช้น้ำมันระเหยในอัตราส่วน 1.9 กรัมต่อ 1 กิโลกรัม มาทดลองกับแมว จะทำให้ม่านตาดำขยาย มีอาการหายใจช้าลง เดินไม่ตรง และหมดสติ และถ้าหากใช้น้ำมันระเหยเกินจากอัตราส่วนข้างต้น จะพบว่าแมวจะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง[3]
- ในคนที่รับประทานผงของลูกจันทน์ครั้งละ 7.5 กรัม จะทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ พูดจาไม่รู้เรื่อง มีอาการมึนและหมดสติ และหากรับประทานมากเกินกว่าปริมาณที่กำหนดไว้จะทำให้เสียชีวิตได้[3]
- การบริโภค Myristicin ในอัตรา 4-5 กรัม จะทำให้คนแสดงอาการผิดปกติทางด้านระบบประสาท เกิดอารมณ์เคลิ้มฝัน หากบริโภคในขนาด 8 กรัม จะทำให้เสียชีวิตได้ และการรับประทานลูกลูกจันทน์ในขนาดที่มากกว่า 5 กรัม จะทำให้อาการมึนงง มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หัวใจเต้นผิดปกติ มีอาการชัก และอาจถึงตายได้ เพราะมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท การใช้เครื่องยาชนิดนี้จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ[5]
- มีการทดสอบที่ระบุว่า หากรับประทานลูกจันทน์เทศเกินกว่าในปริมาณที่กำหนดจะมีผลกระทบต่อไขมันในตับ ทำให้เกิดอาการเป็นพิษ เพราะมีสาร Myristicin อยู่ในน้ำมันระเหยของลูกจันทน์ ซึ่งหากคนรับประทานน้ำมันระเหยในปริมาณ 0.5-1 มม. จะเกิดอาการเป็นพิษต่อตับได้[3]
- มีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน (Hallucination) หรือความรู้สึกสัมผัสที่ผิดจากความเป็นจริง และยังมีฤทธิ์ในการต้านอาการท้องเสียซึ่งเกิดจากเชื้อ Escherichia coli ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านมะเร็ง ต้านอาการปวดและการอักเสบ ช่วยยับยั้งการสร้าง Prostaglandin[5],[9]
- จากการศึกษาฤทธิ์ของน้ำมันจันทน์เทศในการต้านการชักที่เกิดจากการเหนี่ยวนำโดนสารเคมีและไฟฟ้าในหนูเมาส์ ด้วยการฉีดน้ำมันจันทน์เทศเข้าทางช่องท้อง 5 นาที ก่อนการเหนี่ยวนำให้หนูเกิดอาการชัก พบว่าขนาด 50, 100 และ 200 มคล./กก. มีผลต้านการชักได้ โดยขนาด 200 มคล./กก. จะให้ผลดีที่สุด และจากการทดสอบความเป็นพิษพบว่าน้ำมันจันทน์เทศในขนาด 600 มคล./กก. ไม่เป็นพิษต่อระบบประสาทของหนู และในขนาด 1,265 มคล./กก. ทำให้หนูจำนวนเครื่องหนึ่งหลับ และในขนาด 2,150 มคล./กก. ทำให้หนูตายครึ่งหนึ่ง[23]
- จากการทดสอบความเป็นพิษ พบว่าเมล็ดไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง) ส่วนรากก็ไม่มีพิษเฉียบพลันในหนูถีบจักรเมื่อให้จนถึงขนาด 10 กรัม/กิโลกรัม (ให้ทางปากและฉีดเข้าใต้ผิวหนัง)[9]
- สาร Macelignan ที่แยกได้จากเหง้าของต้นจันทน์เทศ ความเข้มข้น 10 – 50 μM สามารถผลยับยั้งการสร้าง Melanin และยับยั้งเอนไซม์ Tyrosinase ได้ เมื่อทำการทดสอบในเซลล์ Melan-a melanocytes ของหนู โดยมีค่าความเข้มข้นที่ยับยั้งฤทธิ์ได้ร้อยละ 50 (IC50) เท่ากับ 13 และ 30 μM ตามลำดับ และให้ผลดีกว่าสารอาร์บูติน (Arbutin) นอกจากนี้ยังมีผลในการลดการแสดงออกของ Tyrosinase, Tyrosinase-related protein-1 (TRP-1), Tyrosinase-related protein-2 (TRP-2)[24]
- สารสกัดด้วยเอทานอลจากผลและเมล็ดจันทน์เทศมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญและการงอกของถั่วเขียวผิวดำ[18]
ประโยชน์ของจันทน์เทศ
- ลูกจันทน์ (เมล็ด) และดอกจันทน์ (รกหุ้มเมล็ด) มีรสและกลิ่นคล้ายกัน สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องเทศเพื่อช่วยแต่งกลิ่นอาหารได้ โดยเฉพาะดอกจันทน์จะมีเนื้อหนา ใช้เป็นได้ทั้งเครื่องเทศและเครื่องปรุง ให้ลิ่นรสที่นุ่มนวลกว่าแบบเมล็ด[2],[4],[15] ชาวอาหรับนิยมนำมาใส่อาหารประเภทเนื้อแพะหรือเนื้อแกะ ส่วนทางยุโรปจะใช้ใส่อาหารทั้งคาวและหวาน ส่วนชาวดัตซ์นำมาใส่ในแมสโปเตโต้ สตู กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี ฟรุตพุดดิ้ง ฯลฯ ชาวอิตาลีจะนำมาใส่ในอาหารจานผักรวม ไส้กรอก เนื้อลูกวัว และพาสต้า สำหรับอาหารทั่วไปของชนชาติในหลาย ๆ ชาติที่ใส่ทั้งลูกจันทน์และดอกจันทน์ก็ได้แก่ เค้กผลไม้ เค้กน้ำผึ้ง ฟรุตพันช์ ฟรุตเดสเสิร์ต พายเนื้อ ประเภทอาหารจานไข่และชีส ส่วนเมล็ดลูกจันทน์บดเป็นผง ก็จะนำมาใช้โรยหน้าเพื่อให้มีกลิ่นหอมกับขนมปัง บัตเตอร์ พุดดิง ช็อกโกแลตร้อน เป็นต้น[16] และทางภาคใต้ของบ้านเราจะใช้เนื้อผลสดกินเป็นของขบเคี้ยวร่วมกับน้ำปลาหวานหรือพริกเกลือ มีรสออกเผ็ดและฉุนจัดสำหรับผู้ไม่เคยกิน แต่เมื่อคุ้นเคยแล้วจะติดรส[19]
- น้ำมันลูกจันทน์ (Nutmeg oil or myristica oil) ที่ได้จากการกลั่นลูกจันทน์ด้วยไอน้ำ สามารถนำมาไปใช้แต่งกลิ่นผงซักฟอก ยาชะล้าง สบู่ น้ำหอม ครีมและโลชันบำรุงผิวได้[7] หรือเอาเมล็ดมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย นำมาใช้ทำเป็นยาดม ใช้ดมแก้อาการหวัด แก้อาการวิงเวียนหน้ามืดตาลาย[8],[16]
- ลูกจันทน์และดอกจันทน์ สามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหาร โดยนำไปผสมกับขนมปัง เนย แฮม ไส้กรอก เบคอน เนื้อตุ๋นต่าง ๆ แกงกะหรี่ แกงมัสมั่น น้ำพริกสำเร็จรูป หรือนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ เพื่อช่วยในการถนอมอาหาร ส่วนเนื้อผลของจันทน์เทศก็สามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลายรูปแบบ แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายหรือรู้จักกันมากนัก เพราะการเอาไปแปรรูปยังมีไม่มาก อีกทั้งรสชาติก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเนื้อผลจันทน์เทศจะพบได้มากในประเทศอินโดนีเซีย[14] และสำหรับในส่วนของเมล็ด ชาวบ้านจะนำเมล็ดที่แห้งแล้วมาขูดผิวออก ก่อนนำมาใช้ก็กะเทาะเอาเปลือกออก แล้วเอาเนื้อในเมล็ดมาทุบให้แตกกระจาย คั่วให้หอม แล้วป่นเป็นผงใส่แกงคั่ว ทั้งแบบคั่วไก่ คั่วหมู คั่วเนื้อ หรือใส่ในแกงกะหรี่ ข้าวหมกไก่ เป็นต้น[16]
- ลูกจันทน์เป็นผลไม้ที่มีรสชาติแปลก คือ มีรสหวาน ร้อน สามารถนำมาตากแห้งใช้ทำเป็นลูกจันกรอบ หรือนำมาเชื่อมกับน้ำตาลก็จะมีกลิ่นหอมหวานน่ารับประทาน ส่วนเนื้อหุ้มเมล็ดก็สามารถนำมาบริโภคได้เช่นกัน โดยนำมาทำเป็นจันทน์ฝอย จันทน์เทศเส้น จันทน์ดอง จันทน์เทศแช่อิ่ม จันทน์เทศหยี เนื้อจันทน์เทศตากแห้ง แยมจันทน์เทศ ฯลฯ[10],[14],[16]
- เนื้อผลแก่นิยมนำไปแปรรูปทำเป็นของขบเคี้ยว มีรสหอมสดชื่น หวานชุ่มคอ เผ็ดแบบเป็นธรรมชาติ และช่วยขับลม แก้บิด[8]
- เนื้อไม้มีกลิ่นหอม สามารถนำมาใช้ทำเครื่องร่ำ น้ำอบไทย หรือใช้ทำเครื่องหอมต่าง ๆ ได้[20] บ้างว่าใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ชั้นดี เพราะป้องกันมดปลวกได้ดีเยี่ยม
- ปัจจุบันได้มีการนำจันทน์เทศไปแปรรูปเป็นอาหารกระป๋อง ลูกอมลูกกวาด เครื่องหอมต่าง ๆ ทำเครื่องสำอาง สบู่ ยาสระผม สุรา ฯลฯ ซึ่งอเมริกามีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก[8],[14]
- น้ำมันลูกจันทน์และน้ำมันดอกจันทน์มีฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำและตัวอ่อนของแมลงได้[21]
ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรจันทน์เทศ
- ไม่ควรรับประทานลูกจันทน์เทศมากกว่า 5 กรัม เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ปากแห้ง มึนงง ทำให้ระบบการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติและอาจเสียชีวิตได้[20]
- การรับประทานเกินกว่าปริมาณที่กำหนด สารจากลูกจันทน์จะไปยับยั้งการสร้างน้ำย่อยของกระเพาะอาการ อีกทั้งยังไปยับยั้งการบีบตัวของกระเพาะและลำไส้อีกด้วย และหากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้หมดสติ ม่านตาดำขยายตัว โดยพิษของลูกจันทน์นี้มาจากสารที่ชื่อว่า Myristicin ซึ่งพบอยู่ในน้ำมันระเหยของลูกจันทน์[3]
- ลูกจันทน์เทศมีน้ำมันในปริมาณสูง จึงมีฤทธิ์ในการหล่อลื่นและกระตุ้นลำไส้มากจนเกินไป โดยทั่วไปแล้วจึงต้องนำมาแปรรูปโดยวิธีเฉพาะก่อนนำมาใช้ การคั่วจะช่วยขจัดน้ำมันบางส่วนออกไปได้และทำให้ฤทธิ์ดังกล่าวน้อยลง แต่จะมีฤทธิ์แรงขึ้นในการช่วยทำให้ลำไส้แข็งแรงและระงับอาการท้องเสีย จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปวดท้อง จุกเสียดแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ท้องร่วง อาเจียน[17]
- สตรีมีครรภ์ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[22]
- ผู้ป่วยที่มีอาการร้อนแกร่ง บิดท้องร่วง ห้ามใช้สมุนไพรชนิดนี้[17]
- สำหรับผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร มีอาการปวดฟันและท้องเสียอันเกิดจากความร้อน ไม่ควรใช้แก่นจันทน์เทศเป็นยา[20]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1. “จันทน์เทศ (Chan Tet)”. (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์). หน้า 90.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “จันทน์เทศ Nutmeg tree”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 148.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “จันทน์เทศ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 180.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [24 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ดอกจันทน์”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [24 ก.พ. 2014].
- สาขาพืชผัก, มหาวิทยาลัยแม่โจ้. “จันทร์เทศ”. อ้างอิงใน: กรมส่งเสริมการเกษตร. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.agric-prod.mju.ac.th/web-veg. [24 ก.พ. 2014].
- กรีนไฮเปอร์มาร์ท สารานุกรมผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากพืชในซุปเปอร์มาร์เก็ต, คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sc.mahidol.ac.th/wiki/. [24 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “จันทน์เทศ”. อ้างอิงใน: หนังสือพรรณไม้เกียรติประวัติของไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.qsbg.org. [24 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพืชพิษ, สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. “จันทน์เทศ”. อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือตำราสมุนไพรใกล้ตัว เล่ม 6 ว่าด้วยสมุนไพรที่เป็นพิษ (สมพร (ภ) หิรัญรามเดช), เอกสารข้อมูลการวิจัยสมุนไพรไทย (วันทนา งามวัฒน์, นาถฤดี สิทธิสมวงศ์ และสุทธิพงษ์ ปัญญาวงศ์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: webdb.dmsc.moph.go.th/poison/. [24 ก.พ. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “ลูกจัน/จันทน์เทศ”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [24 ก.พ. 2014].
- ฝ่ายเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว). กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th/pharma/. [24 ก.พ. 2014].
- ศูนย์รวมข้อมูลสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน). “จันทน์เทศ, Nutmeg Tree”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaibiodiversity.org. [24 ก.พ. 2014].
- กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. เอกสารวิชาการสมุนไพร. นนทบุรี: สถาบันวิจัยสมุนไพร, 2543.
- ระบบข้อมูลทางวิชาการ, กรมวิชาการเกษตร. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/vichakan/. [24 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “จันทน์แดง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [24 ก.พ. 2014].
- ครัว นิตยสารอาหารและวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 113. (อาจารย์นิดดา หงษ์วิวัฒน์).
- สถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. “เหน็กเต่าโข่ว”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: tcm.dtam.moph.go.th. [24 ก.พ. 2014].
- การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 49. “ผลของแอลลีโลพาธีของพืชสมุนไพร 6 ชนิดต่อการงอกและการเจริญเติบโตของถั่วเขียวผิวดำ”. (ศานิต สวัสดิกาญจน์).
- วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org. [24 ก.พ. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “พันธุ์ไม้หอมที่มีสรรพคุณทางยาสมุนไพร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [24 ก.พ. 2014].
- ไทยเกษตรศาสตร์. “จันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [24 ก.พ. 2014].
- บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร, งานศูนย์บริการวิชาการและฝึกอบรม ฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ, คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่. “จำปาและจันทร์เทศ”. (ดวงจันทร์ เกรียงสุวรรณ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: natres.psu.ac.th. [24 ก.พ. 2014].
- ย่อยข่าวงานวิจัย, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ฤทธิ์ต้านชักของน้ำมันจันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [24 ก.พ. 2014].
- ย่อยข่าวงานวิจัย, หน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. “ผลยับยั้งการสร้าง melanin ของสาร macelignan จากจันทน์เทศ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.medplant.mahidol.ac.th. [24 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad, planetphoton, vijayasankar, Donald Fleming, Hidden Botanicals, 阿橋花譜 KHQ Flowers, Teo Siyang) www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Himhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)