จันทน์กะพ้อ สรรพคุณและประโยชน์ของจันทน์กะพ้อ 9 ข้อ !

จันทน์กะพ้อ

จันทน์กะพ้อ ชื่อวิทยาศาสตร์ Vatica diospyroides Symington จัดอยู่ในวงศ์ DIPTEROCARPACEAE เช่นเดียวกับเคี่ยม ตะเคียนทอง และพะยอม[1]

สมุนไพรจันทน์กะพ้อ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เขี้ยวงูเขา (พังงา), จันทน์พอ จันทน์พ้อ (ภาคใต้) เป็นต้น[1],[2],[3]

ลักษณะของจันทน์กะพ้อ

  • ต้นจันทน์กะพ้อ จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปลา เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา หรือสีเทาคล้ำ และมักมียางใสซึมออกมาตามรอยแตก ส่วนเปลือกชั้นเป็นสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี มีร่มเงาจากไม้อื่น มีความชื้นในอากาศดี และลมไม่แรงมากนัก มีถิ่นกำเนิดในเอเชียเขตร้อน ในประเทศไทยมีเขตการกระจายพันธุ์ในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ และตามชายขอบของป่าพรุทางภาคใต้ บ้างว่าเกิดตามป่าเบญจพรรณ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 20-100 เมตร ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่ประเทศเวียดนามและมาเลเซีย[1],[2],[3],[4]

ต้นจันทน์กะพ้อจันทน์พ้อ
  • ใบจันทน์กะพ้อ มีใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหนา มีเส้นแขนงของใบประมาณ 15-18 คู่ ปลายเส้นโค้งจรดกับขอบใบ โคนใบเบี้ยว และจะหลุดร่วงไปตามอายุ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร[1],[2],[4]

ใบจันทน์กะพ้อ

  • ดอกจันทน์กะพ้อ ดอกสีเหลืองนวลขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมแรงมาก กลิ่นเป็นแบบหอมร้อน ๆ คล้ายกับแก้วกาหลงและน้ำมันจันทน์ ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกมีกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน 5 กลีบ เรียงเวียนกันเป็นรูปกังหัน กลีบดอกมีขนนุ่มเป็นสีน้ำตาล ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนปกคลุม เมื่อเริ่มปลูกจะใช้เวลาประมาณ 6-7 ปีถึงจะออกดอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมและดอกจะทยอยบานในเวลาใกล้เคียงกัน[1],[2],[3],[4]

ดอกจันทน์กะพ้อ

  • ผลจันทน์กะพ้อ ผลมีลักษณะกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผิวผลเป็นขุยสีน้ำตาล ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีกลีบประดับ 5 กลีบสั้นกว่าตัวผล โดยกลีบผลมีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมสั้นกว่าความยาวของผล ขอบกลีบพับจีบตามยาว มีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน[4] และผลจะแก่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม[1]

ผลจันทน์กะพ้อ

สรรพคุณของจันทน์กะพ้อ

  1. ดอกใช้ผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ (ดอก)[2],[3]
  2. ช่วยแก้สันนิบาต (เนื้อไม้)[4]
  3. เนื้อไม้มีสรรพคุณแก้ลมวิงเวียน (เนื้อไม้)[4]
  4. ช่วยขับลม (เนื้อไม้)[4]
  5. ช่วยแก้เสมหะ (เนื้อไม้)[4]

ประโยชน์ต้นจันทน์กะพ้อ

  • สมัยก่อนคนโบราณจะใช้ดอกกลั่นทำน้ำมันใส่ผมและมีการนำมาใช้ทำน้ำหอม[2]
  • ไม้จันทน์กะพ้อมีเนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง สามารถนำมาใช้ในงานก่อสร้างหรือใช้ทำด้ามเครื่องมือเครื่องใช้ได้[1]
  • เนื่องจากดอกของต้นจันทน์กะพ้อมีกลิ่นหอมแรง ออกดอกดก จึงนิยมใช้ปลูกเป็นไม้ประดับได้ โดยจะปลูกตามป่าอนุรักษ์ ตามสนามหน้าบ้าน หรือใช้จัดสวนหย่อมก็ได้ และควรปลูกทางด้านทิศตะวันออกที่มีไม้ใหญ่[1],[4]
  • คนโบราณนิยมนำดอกจันทน์กะพ้อมาเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้า เพื่อใช้อบให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอม (รองศาสตราจารย์ชนะ วันหนุน)
เอกสารอ้างอิง
  1. สวนพฤกษศาสตร์ ตามพระราชเสาวนีย์ฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.  “จันทน์กะพ้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dnp.go.th.  [18 ม.ค. 2014].
  2. ข้อมูลพรรณไม้ สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “จันทน์กะพ้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [18 ม.ค. 2014].
  3. สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.).  “จันทน์กะพ้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.tistr.or.th.  [18 ม.ค. 2014].
  4. สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม.  “จันทน์กะพ้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: 203.155.220.217/office/ppdd/publicpark/thai/2011/.  [18 ม.ค. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Kukiat Tanteeratarm), เว็บไซต์ gotoknow.org (ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด