13 วิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ (ข้อดี-ข้อเสีย & ประสิทธิภาพ) !!

วิธีคุมกําเนิดแบบธรรมชาติ

การคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ (Natural birth control หรือ Natural family planning) เป็นวิธีการป้องกันการตั้งครรภ์แบบธรรมชาติ โดยอาศัยหลักทางสรีรวิทยาของการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิง การตกไข่ และการมีประจำเดือน มาช่วยในการกำหนดวันปลอดภัยที่จะมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยไม่ได้ใช้อุปกรณ์หรือยาฮอร์โมนในการคุมกำเนิดแต่อย่างใด ซึ่งการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติก็มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 13 วิธี ดังนี้

1.) การงดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence) เป็นวิธีที่ได้ผลในการคุมกำเนิดแบบ 100% ประหยัด และมีความปลอดภัยที่สุด แต่ทำได้ยาก เพราะเป็นการฝืนความรู้สึกตามธรรมชาติ ขัดต่อความต้องการทางเพศและอาจเกิดปัญหาทางด้านอารมณ์และจิตใจ จึงไม่เป็นที่นิยม

2.) การหลั่งนอกช่องคลอด (Coitus interruptus หรือ Withdrawal method) เป็นวิธีการคุมกำเนิดอย่างหนึ่งที่เมื่อฝ่ายชายร่วมเพศไปในระยะแรกจะเป็นไปอย่างปกติ จนกระทั่งฝ่ายชายรู้สึกใกล้จะหลั่งน้ำอสุจิ ฝ่ายชายก็จะถอนอวัยวะเพศออกจากช่องคลอดก่อนที่จะถึงจุดสุดยอด และหลั่งน้ำอสุจิออกมาภายนอกช่องคลอดของฝ่ายหญิงแทน โดยไม่ให้น้ำอสุจิเปื้อนบริเวณปากช่องคลอด เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ตัวอสุจิผ่านเข้าไปในช่องคลอดและในปากมดลูก เป็นวิธีที่มีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก เพราะในระหว่างที่มีเพศสัมพันธ์ อาจมีเชื้ออสุจิออกมากับน้ำเมือกของฝ่ายชายบ้างแล้วบางส่วน หรืออาจเป็นเพราะฝ่ายชายถอนอวัยวะเพศไม่ทันเมื่อถึงจุดสุดยอด จึงทำให้มีอสุจิส่วนหนึ่งเข้าไปในช่องคลอดได้ อีกทั้งอสุจิที่เปื้อนอยู่บริเวณปากช่องคลอดยังสามารถแหวกว่ายผ่านเมือกที่มีมาก (ในขณะที่ฝ่ายหญิงมีอารมณ์ทางเพศ) เข้าไปในช่องคลอดได้อีกด้วย

ข้อดีของการหลั่งนอก

  • เป็นวิธีที่ใช้ได้เสมอ ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ อาศัยแต่เพียงความอดทนและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งถ้าควบคุมการหลั่งน้ำอสุจิได้ด้วยแล้ว โดยรอให้ฝ่ายหญิงถึงจุดสุดยอดก่อนก็จะส่งผลดีต่อทั้งคู่
  • เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สะดวก ประหยัด ไม่ต้องเสียเงิน และไม่ต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์ใด ๆ
  • ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด และแผ่นแปะคุมกำเนิด
  • ไม่มีผลต่อประจำเดือน ประจำเดือนมาตามปกติ และเมื่อหยุดคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ภาวะการเจริญพันธุ์ก็จะกลับมาทันที

ข้อเสียของการหลั่งนอก

  • วิธีนี้เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงในการตั้งครรภ์สูง สามีบางคนอาจสงสัยว่าทำไมภรรยาถึงตั้งครรภ์ได้ทั้ง ๆ ที่หลั่งนอกทุกครั้ง ก็อย่างที่บอกนั่นแหละครับว่ามันมีโอกาสผิดพลาดได้ง่ายมาก !!
  • ทำให้คู่สมรสมีความสุขจากการร่วมเพศได้ไม่เต็มที่ ส่วนฝ่ายหญิงก็มีโอกาสถึงจุดสุดยอดน้อยลง เพราะฝ่ายสามีต้องฝืนใจเอาอวัยวะเพศออกขณะที่จะถึงจุดสุดยอดทั้งที่ไม่อยากทำ
  • ในบางคู่ (โดยเฉพาะมือใหม่) มักเกิดอาการตื่นเต้นจนทำให้หลั่งเร็วหรือไม่สามารถควบคุมการหลั่งได้ ความเสี่ยงก็จะสูงมากขึ้นตามไปด้วย
  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเฉพาะโรคเอดส์ เริม หนองใน ซิฟิลิส ฯลฯ

3.) การกลั้นไม่หลั่งน้ำอสุจิ (Coitus reservatus) เป็นกรณีที่ฝ่ายชายควบคุมตนเองไม่ให้หลั่งน้ำอสุจิออกมา เมื่อใกล้จะถึงจุดสุดยอดฝ่ายชายจะต้องค่อย ๆ บังคับตนเองให้ลดความตื่นเต้นทางเพศลง และค่อย ๆ ผ่อนคลายจนหมดไป ซึ่งวิธีการนี้ก็มีโอกาสพลาดทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ง่ายพอ ๆ กับวิธีการหลั่งนอก เพราะอาจมีเชื้ออสุจิปะปนมากับน้ำหล่อลื่นของเพศชายในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้

4.) การนับหน้า 7 หลัง 7 เป็นวิธีการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ใช้ได้เฉพาะกับสตรีที่มีรอบเดือนปกติ (รอบเดือน หมายถึง จำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือน ไม่ใช่รอบเดือนตามปฏิทิน) มาตรงเวลาสม่ำเสมอทุกเดือน คือ ประมาณ 26-32 วัน ซึ่งโดยปกติแล้วสตรีทั่วไปจะมีรอบเดือนประมาณ 28 วัน แต่บางคนก็มีรอบเดือนที่สั้นกว่าหรือยาวกว่านี้ แต่โดยปกติแล้วจะบวกลบไม่เกิน 2 วัน คือ ไม่สั้นกว่า 26 วัน และไม่ยาวกว่า 32 วัน โดยระยะปลอดภัยที่ว่านี้ก็คือ ระยะในช่วง 7 วันก่อนที่ประจำเดือนจะมารอบหน้า และระยะ 7 วันหลังจากที่ประจำเดือนมาวันแรก (ให้เริ่มนับวันแรกตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมา)

ตัวอย่าง : สตรีรายหนึ่งมีรอบเดือนมาสม่ำเสมอเท่ากันทุกรอบเดือน โดยมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน สมมติว่าประจำเดือนของนางสาว ก. ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1 มกราคม 2558 ดังนั้น ช่วงระยะปลอดภัย “หลัง 7” จะต้องเริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือน คือ วันที่ 1 มกราคมไล่ไปจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 มกราคม 2558 ส่วนช่วงระยะปลอดภัย “หน้า 7” นั้น สตรีรายนี้มีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือน คือ 28 วัน ก็ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมไปจนครบ 28 วัน ซึ่งจะตรงกับวันที่ 27 มกราคม ก็ให้เอาวันที่ 27 มกราคมเป็นวัน “กำหนดหน้า 7” ฉะนั้นหน้า 7 จะต้องนับตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมย้อนกลับมาจนครบ 7 วัน คือ วันที่ 27, 26, 25, 24, 23, 22, 21 มกราคม 2558 ซึ่งจะเป็นช่วงปลอดภัย ที่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติครับ จากนี้ก็รอให้ประจำเดือนมาก่อน แล้วจึงเริ่มการนับ “หลัง 7” ใหม่อีกรอบครับ

5.) การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method หรือ Knaus-Ogino method) จะอาศัยหลักทางชีววิทยาที่ว่า “ทุก ๆ 28 วัน สตรีจะมีการตกไข่ในวันที่ 14 ของรอบเดือน (เริ่มนับเป็นวันแรกตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมา) ก่อนที่จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ไม่เกิน 2 วัน ดังนั้นโอกาสตกไข่จึงอยู่ในช่วงวันที่ 12-16 ของรอบเดือน เมื่อไข่ตกแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 1 วัน โอกาสการตั้งครรภ์จึงมีเพิ่มขึ้นจนถึงวันที่ 17 ของรอบเดือน ส่วนเชื้ออสุจิจะมีชีวิตรอผสมอยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนไข่ตก ดังนั้นช่วงที่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้อีกก็คือวันที่ 10 และ 11 ของรอบเดือน พอรวมแล้วก็จะได้วันปลอดภัยคือวันที่ 10-17 ของรอบเดือน

การคุมกำเนิดวิธีธรรมชาติ

จากสูตรนี้ถ้ามีรอบเดือนมาสม่ำเสมอก็คงคำนวณได้ไม่ยาก แต่ในกรณีที่รอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอนั้น การหาช่วงเวลาปลอดภัยจะต้องทำโดยการจดบันทึก “ความยาวของรอบเดือน” ไว้ทุก ๆ เดือนเป็นเวลาอย่างน้อย 8-12 เดือน (12 เดือนจะชัวร์สุด) แล้วมาดูว่ารอบเดือนครั้งไหนมีจำนวนวันที่สั้นที่สุดและยาวที่สุด แล้วจึงนำมาคำนวณด้วยสูตรด้านล่างเพื่อหาระยะไม่ปลอดภัย (สูตรนี้จะแม่นยำมากกว่าสูตรหน้า 7 หลัง 7 ครับ) ดังนี้

  • วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่สั้นที่สุดของรอบเดือน – 18
  • วันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = จำนวนวันที่ยาวที่สุดของรอบเดือน – 11

ยกตัวอย่าง : สตรีรายหนึ่งได้จดจำนวนวันในแต่ละรอบประจำเดือนไว้จำนวน 11 เดือน คือ 26, 24, 25, 28, 26, 27, 29, 30, 26, 28, 29 จะเห็นได้ว่ารอบประจำเดือนที่สั้นที่สุดคือ 24 วัน และยาวสุดคือ 30 วัน เมื่อนำมาคำนวณจะได้วันแรกของระยะไม่ปลอดภัย = 24-18 = 6 ส่วนวันสุดท้ายของระยะไม่ปลอดภัย = 30-11 = 19 ดังนั้น ระยะไม่ปลอดภัยที่สตรีรายนี้ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 6 จนถึงวันที่ 19 ของรอบเดือนหน้า (ไม่ใช่เดือนตามปฏิทิน) สำหรับวัยรุ่นที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ (ซึ่งเป็นวัยที่มีการตกไข่บ่อยกว่าวัยอื่น) สตรีหลังแท้งบุตร หรือคุณแม่คลอดบุตรใหม่ ที่ประจำเดือนจะยังมาไม่ค่อยสม่ำเสมอ รังไข่ยังทำงานไม่ปกติ ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้ครับ เพราะมีโอกาสผิดพลาดได้สูงมาก

6.) การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์

(The standard days method – SDM) เป็นการกำหนดช่วงวันอันตรายไปเลยว่าในวันที่ 8-19 ของรอบเดือน เป็นวันที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ โดยเป็นการคำนวณค่าเฉลี่ยของรอบประจำเดือนเฉพาะในสตรีที่มีรอบเดือนประมาณ 26-32 วัน (ช่วงปลอดภัยแรกจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประจำเดือนมาวันแรก คือ วันที่ 1-7 และอีกช่วงปลอดภัยคือตั้งแต่วันที่ 20-32) หากต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ก็ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงวันที่ 8-19 ของรอบเดือน

การคุมกำเนิดโดยวิธีธรรมชาติ

7.) การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus หรือ Ovulation method) จะอาศัยหลักที่ว่า “มูกปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลงของลักษณะความเหนียวข้นและความยืดหยุ่นไปตามอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจนในแต่ละรอบเดือน” วิธีการสังเกตนี้เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย สตรีสามารถสังเกตลักษณะของมูกในช่องคลอดได้ด้วยตนเอง แต่ก็ต้องถามตัวเองก่อนว่ากล้าสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดหรือไม่ เพราะการตรวจมูกที่ปากมดลูกจะต้องทำทุกวัน โดยการสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอด แล้วสังเกตดูการหล่อลื่นของมูกที่ติดนิ้วออกมา แต่สำหรับมือใหม่ก็นับว่าค่อนข้างยาก เพราะการเปลี่ยนแปลงของมูกในแต่ละคนอาจแตกต่างกัน และหลาย ๆ คนไม่สามารถที่จะแยกแยะหรือสังเกตความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ยิ่งถ้ามีอาการอักเสบในช่องคลอดหรือมีการร่วมเพศด้วยแล้ว มูกที่ปากมดลูกก็อาจเปลี่ยนจนทำให้ตรวจได้ยากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในทางการแพทย์การเปลี่ยนแปลงของมูกที่ปากมดลูกจะมีอยู่ด้วยกัน 5-6 ระยะ แต่เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายอาจจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะปลอดภัยก่อนไข่ตก : เป็นช่วงหลังประจำเดือนหยุดใหม่ ๆ ในช่วงแรกจะไม่มีมูก ต่อมาจะมีมูกสีขาวขุ่น ๆ หรือสีเหลืองจำนวนไม่มากนัก
  • ระยะตกไข่ : ช่วงนี้จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้มากที่สุด ระยะนี้มูกที่ปากมดลูกจะมีมาก โดยจะมีลักษณะใสและลื่น (คล้าย ๆ กับไข่ขาวดิบ และสามารถดึงยืดเป็นเส้นได้ยาวเกินกว่า 6 เซนติเมตร) จึงทำให้ตัวอสุจิจะผ่านมูกนี้เข้าไปในโพรงมดลูกได้สะดวก หากมีการร่วมเพศในช่วงนี้ก็จะเสี่ยงทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูง จึงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ช่วงนี้หากต้องการคุมกำเนิด
  • ระยะปลอดภัยหลังการตกไข่ : เป็นระยะที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับระยะก่อนตกไข่ เพราะใกล้จะมีประจำเดือนครั้งต่อไป ในระยะนี้มูกจะมีจำนวนน้อยลง มูกจะมีลักษณะขุ่นข้นขึ้นและดึงยืดไม่ได้มากนัก

คุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

ข้อดีของการตรวจมูกที่ปากมดลูก : มีความปลอดภัยมากและไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้ยาใด ๆ อีกทั้งยังไม่ขัดต่อหลักการของบางศาสนาที่เคร่งครัดในเรื่องการคุมกำเนิด เมื่อเลิกคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้แล้วก็ไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ตามมา และสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ

ข้อเสียของการตรวจมูกที่ปากมดลูก : ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังน้อย มีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ เพราะต้องคอยสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดเพื่อสังเกตมูกทุกวัน ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกเบื่อหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของคู่สมรสได้ เช่น บางครั้งต้องการจะมีแต่ไม่ตรงกับระยะที่ไม่ปลอดภัย พอถึงระยะปลอดภัยแต่กลับไม่รู้สึกว่ามีความต้องการ เป็นต้น

8.) การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature – BBT) เป็นการใช้ความรู้ด้านสรีรวิทยาที่ว่า อุณหภูมิในร่างกายจะลดลง 12-24 ชั่วโมงก่อนที่จะมีการตกไข่ และหลังจากนั้นก็จะสูงขึ้นประมาณครึ่งองศาฯ เมื่อมีการตกไข่ (0.5 degree Celsius/C) ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) การจะคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ ฝ่ายหญิงจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิของตนเองทุกเช้าหลังจากนอนหลับสนิทติดต่อกันอย่างน้อย 5 ชั่วโมง ด้วยการใช้ปรอทวัดไข้ธรรมดาหลังจากตื่นนอน (เวลาในการวัดหลังตื่นนอนควรจะใกล้เคียงกันทุกครั้งในแต่ละวัน) สามารถวัดได้ทั้งทางรักแร้ ทางปาก ทางทวารหนัก และทางช่องคลอด ซึ่งในการวัดปรอทแต่ละครั้งจะต้องนานประมาณ 5 นาที และที่สำคัญจะต้องทำการวัดปรอทก่อนที่จะทำกิจกรรมใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นการลุก เดิน หรือแม้แต่การพูดจา รวมไปถึงการสะบัดปรอท จึงควรสะบัดปรอทให้พร้อมตั้งแต่ก่อนเข้านอน และควรวางปรอทไว้ใกล้ ๆ ตัว และพร้อมที่จะหยิบใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องลุกจากที่นอน แล้วจึงทำการจดบันทึกเอาไว้ เพื่อดูแนวโน้มและจะได้ประมาณวันตกไข่ได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ควรวัดติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 เดือน

การคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

เมื่อวัดปรอทเสร็จแล้วก็ทำความสะอาดปรอทวัดไข้ให้เรียบร้อย รวมถึงการสะบัดปรอทให้พร้อมใช้สำหรับวันรุ่งขึ้นด้วย เมื่อดูจากค่าอุณหภูมิที่บันทึกเอาไว้ เราก็สามารถเลือกวันที่จะมีเพศสัมพันธ์เพื่อลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้

ตัวอย่าง : จากกราฟอุณหภูมิร่างกายด้านล่าง จะเห็นว่าวันที่ 1-13 เป็นช่วงก่อนตกไข่ อุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ในระดับต่ำ พอถึงวันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงตกไข่ อุณหภูมิร่างกายจะลดลงมาต่ำสุด และจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในวันถัดไป ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นช่วงที่มีการตกไข่ไปแล้ว เมื่อถึงวันที่ 29 ที่เริ่มมีประจำเดือน อุณหภูมิก็จะค่อย ๆ ลดต่ำลงอีกครั้ง

คุมกําเนิดแบบธรรมชาติ

9.) การสังเกตอาการอื่น ๆ ประกอบการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method) จะเป็นการใช้หลาย ๆ วิธีข้างต้น เช่น การนับวันปลอดภัย การวัดอุณหภูมิ และการสังเกตมูกที่ปากมดลูก ร่วมกับการสังเกตอาการปวดหน่วงท้องน้อยที่คาดว่าจะเกิดการตกไข่ อาการเจ็บคัดตึงเต้านม และการมีเลือดออกทางช่องคลอดเล็กน้อยเมื่อมีการตกไข่ (เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศ) ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงมากขึ้น

วิธีคุมกําเนิดแบบธรรมชาติ

10.) การใช้ชุดตรวจการตกไข่ (Ovulation indicator testing kits) ในปัจจุบันมีชุดตรวจคาดคะเนการตกไข่ที่ใช้สำหรับสตรีที่ต้องการจะตั้งครรภ์ และต้องการที่จะกำหนดช่วงเวลาการมีเพศสัมพันธ์ให้ตรงกับวันตกไข่หรือใกล้ช่วงตกไข่มากที่สุด โดยในหลักการแล้วจะเป็นการตรวจหาฮอร์โมนกระตุ้นการตกไข่ (Luteiniz ing hormone – LH) ในปัสสาวะ ซึ่งจะตรวจพบได้ใน 8-12 ชั่วโมงหลังจากมีการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมน LH (LH surge) ในสตรีทั่วไปจะมีฮอร์โมน LH เป็นตัวกระตุ้นให้มีการตกไข่ ปริมาณของฮอร์โมน LH จะเพิ่มสูงขึ้นมากใน 20-48 ชั่วโมงก่อนการตกไข่ เราจึงสามารถใช้ชุดตรวจนี้ในการคุมกำเนิดได้โดยการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในระยะที่มีการตรวจพบฮอร์โมน LH ในปัสสาวะ

11.) การให้นมลูกหลังคลอดบุตรภายใน 6 เดือนแรก (Lactational amenorrhea) เป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ใช้มานานและแพร่หลายมากของชาวบ้านในชนบท เพราะเป็นที่ทราบกันว่าถ้าหากให้ลูกดูดนมหลาย ๆ เดือนหรือดูดนมเป็นปี โอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง เนื่องจากเมื่อทารกดูดนมแม่ ฮอร์โมนโปรแล็กติน (Prolactin) จะหลั่งออกมาจากต่อมใต้สมอง และจะระงับการทำงานของฮอร์โมนตัวอื่น ๆ จึงทำให้ไม่มีไข่ตก แต่ใช่ว่าคุณแม่ทุกคนจะใช้วิธีนี้แล้วได้ผลกันหมด ที่ไม่ได้ผลก็มีบ้างครับ แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้นครับ โดยประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดจะขึ้นอยู่กับความถี่ของการดูดนมและระยะเวลาหลังการคลอด ถ้าทารกดูดนมถี่ ๆ ทุก 3-4 ชั่วโมงก็จะยิ่งได้ผลดี ซึ่งโดยทั่วไปแล้ววิธีนี้จะใช้ได้ผลในระยะ 6 เดือนแรกหลังคลอดเท่านั้น แต่หลังจากผ่าน 6 เดือนแรกไปแล้ว แม้ว่าลูกจะยังดูดนมอยู่ก็มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ เนื่องจากฮอร์โมนโปรแล็กตินจะลดน้อยลงในช่วงหลังจากนี้

ข้อดีของการคุมกำเนิดโดยให้นมบุตร : เป็นวิธีที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ไม่ต้องใช้เครื่องมือใด ๆ และคุณพ่อยังสามารถถึงจุดสุดยอดได้โดยไม่ต้องป้องกันใด ๆ และยังเป็นวิธีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจของลูกที่ได้ดูดนมแม่อีกด้วย

ข้อเสียของการคุมกำเนิดโดยให้นมบุตร : เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลในระยะสั้น ๆ หรือประมาณไม่เกิน 6 เดือน สำหรับคุณแม่บางคนที่ให้ลูกดูดนมในเฉพาะตอนกลางคืน ส่วนกลางวันใช้นมผงช่วย หรือบางคนที่ต้องทำงานนอกบ้านหลังจากพัก 2-3 เดือนไปแล้วและหยุดให้นมลูก ก็จะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้สูง และบางคนก็อาจตั้งครรภ์ได้ แม้จะยังให้ลูกดูดนมอยู่และยังไม่เลย 6 เดือนก็ตาม พอมีการตกไข่ครั้งแรกก็จะมีการผสมและตั้งครรภ์เลยก่อนที่จะมีประจำเดือน ทำให้คุณแม่ไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ใหม่แล้วกี่เดือน จึงคำนวณวันคลอดได้ไม่แน่นอน ทำให้ต้องคาดคะเนหรือตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์

12.) การสวนล้างช่องคลอด (Douching) เป็นสุดยอดวิธีเก่าแก่ของคนสมัยก่อนที่ใช้กันมาอย่างยาวนานและแพร่หลาย โดยเฉพาะผู้หญิงพิเศษจะใช้วิธีนี้กันมาก ด้วยการสวนล้างช่องคลอดทันทีเมื่อร่วมเพศเสร็จ วิธีการก็คือการนั่งยอง ๆ แล้วใช้ลูกยางหรือขวดพลาสติกบีบน้ำยาเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งน้ำยาที่ใช้ก็อาจเป็นด่างทับทิม เดทตอล น้ำยาฆ่าอสุจิ หรือน้ำยาสวนล้างช่องคลอดอื่น ๆ แต่จากการศึกษาในสมัยใหม่นั้นพบว่า “ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยวิธีสวนล้างช่องคลอดมีความไม่แน่นอนสูง” เพราะภายหลังจากการร่วมเพศเพียง 90 วินาที (หนึ่งนาทีครึ่ง) ก็จะมีอสุจิส่วนหนึ่งว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว ยิ่งถ้าหลังจากร่วมเพศแล้วไม่ได้สวนล้างทันที ก็ยิ่งได้ผลในการป้องกันน้อยลงมาก

ข้อดีของการสวนล้างช่องคลอด : หากไม่มีการป้องกันการตั้งครรภ์ในขณะร่วมเพศ การใช้วิธีนี้ก็ยังดีกว่าการไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีใด ๆ เลย

ข้อเสียของการสวนล้างช่องคลอด : อาจเกิดปัญหาได้เล็กน้อย อย่างเช่น น้ำยาที่ใช้สวนล้างอาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง มีอาการคัน หรือเกิดการแพ้น้ำยาในผนังช่องคลอดและปากช่องคลอดได้ หรือหากใช้น้ำยาเข้มข้นเกินไป หรือเลือกใช้ด่างทับทิมที่เป็นเกล็ด ก็ยิ่งอาจทำให้เกิดอันตรายต่อช่องคลอดจนเกิดเป็นแผลอักเสบได้

13.) การถ่ายปัสสาวะ (Urination)  เป็นวิธีที่ไม่ได้ผลเช่นเดียวกับการสวนล้างช่องคลอด ในการถ่ายปัสสาวะหลังการมีเพศสัมพันธ์เพราะเมื่อฝ่ายชายหลั่งน้ำอสุจิเข้าไปในช่องคลอด เชื้ออสุจิบางส่วนจะเข้าไปในโพรงมดลูกได้แล้ว วิธีดังกล่าวจึงไม่สามารถป้องกันน้ำอสุจิไม่ให้เข้าไปในโพรงมดลูกได้

ผู้ที่เหมาะจะคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

  • มีรอบเดือนมาสม่ำเสมอ
  • ไม่ต้องการมีผลข้างเคียงของยาฮอร์โมนคุมกำเนิดต่างๆ
  • มีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถรับประทานหรือฉีดยาฮอร์โมนคุมกำเนิดได้
  • ไม่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • คู่ที่ฝ่ายชายให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ผู้ไม่เหมาะจะคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

  • สตรีที่มีรอบเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • มีเลือดออกกะปริดกะปรอยทางช่องคลอด
  • มีภารกิจ รัดตัว ยุ่งเหยิง ไม่มีเวลาในการควบคุมดูแลตนเอง
  • มีภาวะเครียด จะมีผลทำให้รอบประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ
  • คู่ที่ฝ่ายชายไม่ร่วมมือ
  • สตรีที่มีข้อห้ามทางศาสนาเกี่ยวกับการคุมกำเนิดโดยใช้อุปกรณ์ก็สามารถใช้วิธีได้

ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดโดยธรรมชาติจะไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมน เพราะต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ความสม่ำเสมอของรอบประจำเดือน ความมีวินัยในตนเอง รวมถึงการเป็นคนช่างสังเกต หากมีการนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและถูกต้อง จะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดโดยรวมประมาณ 90% แต่หากปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง โอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวก็มีสูงขึ้นมากตามไปด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการคุมกำเนิดที่เลือกใช้ ส่วนด้านล่างนี้คือตารางเปรียบเทียบการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติแต่ละวิธีและการคุมกำเนิดซึ่งเป็นที่นิยมทั่วไปครับ

วิธีคุมกำเนิด|การใช้แบบทั่วไป|การใช้อย่างถูกต้อง
การงดมีเพศสัมพันธ์ (Abstinence)|0|0
ยาฝังคุมกำเนิด|0.05 (1 ใน 2,000 คน)|0.05
ทำหมันชาย|0.15 (1 ใน 666 คน)|0.1
ห่วงอนามัยเคลือบฮอร์โมน|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนรวม)|0.2 (1 ใน 500 คน)|0.2
ทำหมันหญิง (แบบทั่วไป)|0.5 (1 ใน 200 คน)|0.5
ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง|0.8 (1 ใน 125 คน)|0.6
การให้นมบุตรหลังในระยะ 6 เดือนแรก (Lactational amenorrhea)|2 (1 ใน 50 คน)|0.3
การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย (Basal body temperature)|3.1 (1 ใน 33 คน)|0.3
ยาฉีดคุมกำเนิด (ฮอร์โมนเดี่ยว)|6 (1 ใน 17 คน)|0.2
แผ่นแปะคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
วงแหวนคุมกำเนิด (NuvaRing)|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
ยาเม็ดคุมกำเนิด|9 (1 ใน 11 คน)|0.3
การนับวันปลอดภัย (Calendar rhythm method)|ไม่มีข้อมูล|9
ถุงยางอนามัยชาย|18 (1 ใน 5 คน)|2
การหลั่งนอก (Coitus interruptus)|22 (1 ใน 4 คน)|4
การสังเกตอาการอื่นร่วมกับการตรวจวัดอุณหภูมิ (Sympto-thermal method)|24 (1 ใน 4 คน)|0.4
การตรวจมูกที่ปากมดลูก (Cervical mucus)|24 (1 ใน 4 คน)|3
การกำหนดระยะเวลาเจริญพันธุ์ (Standard days method)|24 (1 ใน 4 คน)|5
ยาฆ่าเชื้ออสุจิ (Spermicidal)|28 (1 ใน 3 คน)|18
การหลั่งใน (ไม่มีการป้องกัน)|85 (6 ใน 7 คน)|85
หมายเหตุ : ตัวเลขที่แสดงเป็นจำนวนการตั้งครรภ์ต่อปี (first year of use) ของสตรีที่คุมกำเนิดด้วยวิธีดังกล่าวจำนวน 100 คน โดยกำหนดให้ สีฟ้า = ความเสี่ยงต่ำมาก / สีเขียว = ความเสี่ยงต่ำ / สีเหลือง = ความเสี่ยงปานกลาง / สีส้ม = ความเสี่ยงสูง / สีแดง = ความเสี่ยงสูงมาก (ข้อมูลจาก : www.contraceptivetechnology.org, Comparison of birth control methods – Wikipedia)

ข้อดีของการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

  1. เป็นวิธีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายหรือไม่เสียค่าใช้จ่าย
  2. ไม่ต้องเสียเวลาไปพบแพทย์เพื่อรับบริการ ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเอง เพราะไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์ทางการแพทย์
  3. ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนเหมือนการคุมกำเนิดแบบอื่น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน น้ำหนักเพิ่ม บวม เป็นต้น
  4. ภาวะการเจริญพันธุ์สามารถกลับมาได้ทันทีที่หยุดการคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ

ข้อเสียของการคุมกำเนิดแบบธรรมชาติ

  1. ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดยังไม่ดีนัก เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์สูง
  2. ผู้ใช้ต้องมีวินัยในการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย
  3. ไม่สะดวก บางวิธีต้องเสียเวลาในการจดบันทึก และอาจต้องได้รับความร่วมมือจากฝ่ายชายในการคุมกำเนิดด้วย
  4. ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามความต้องการ ทำให้เกิดความเครียดหรือความกดดัน เนื่องจากความต้องการทางเพศอาจไม่ตรงกับวันที่และระยะที่ปลอดภัย
  5. หากสตรีมีประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ จะทำให้การคำนวณระยะปลอดภัยไม่แม่นยำ ทำให้เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์
  6. ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การคุมกำเนิด เรื่องสำคัญ”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 418-465.
  2. หาหมอดอทคอม.  “การคุมกำเนิดด้วยวิธีธรรมชาติ Natural birth control”.  (รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [26 ต.ค. 2015].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด