คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

คีโตโคนาโซล

คีโตโคนาโซล / คีโทโคนาโซล (Ketoconazole) หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ไนโซรัลครีม (Nizoral cream), แชมพูไนโซรัล (Nizoral shampoo), นินาซอล (Ninazol), นอร่าครีม (Nora cream), แชมพูคีตาซอน (Ketazon), ฟังกาซอล (Fungazol tablet), สปอราซิลครีม (Sporaxyl cream) เป็นยาต้านเชื้อราที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้หลายชนิด ถูกสังเคราะห์ขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1976 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นยาป้องกันและรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนัง ส่วนรูปแบบของยาที่มีวางจำหน่ายตามร้านขายยาและสถานพยาบาลจะมีอยู่ด้วยกันหลายรูปแบบ เช่น ยาเม็ดสำหรับรับประทาน ยาครีมทาผิวหนัง ยาน้ำในรูปแบบของแชมพูสระผม เป็นต้น แต่เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

ตัวอย่างยาคีโตโคนาโซล

ยาคีโตโคนาโซล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอค-ฟา ครีม (AC-FA cream), บีโซรัล (Bezoral), บูตส์ คีโทโคนาโซล แชมพู (Boots ketoconazole shampoo), ชินตารัล แชมพู (Chintaral shampoo), ชินโตรัล แท็บเล็ต (Chintoral tablet), ชินโตรัล ครีม (Chintoral cream), โคนารัล (Conarol), โคนาโซล (Conazole), แดนดริล (Dandril), เดอร์เมด (Dermed), ดีซอร์ ครีม (Dezor cream), ดีซอร์ แชมพู (Dezor shampoo), ไดอาซอน (Diazon), ไดอาซอน ครีม (Diazon), ฟังกาซอล (Fungazol tablet), ฟังจิเดอร์ม-เค (Fungiderm-K), ฟังจิน็อกซ์ โซลูชั่น (Funginox solution), ฟังจิซิน (Fungizin), แคนเดกซ์ (Kandex), แคนเดกซ์ แชมพู (Kandex shampoo), คารา แชมพู (Kara shampoo ), คัตซิน (Katsin), คัตซิน ครีม (Katsin cream), คัตซิน แชมพู (Katsin shampoo), คาซินอล (Kazinal), คีนาซอล (Kenazol), คีโนรัล (Kenoral), คีโนรัล ครีม (Kenoral cream), คีโนรัล แชมพู (Kenoral shampoo), คีตาซอน (Ketazon), คีตาซอน ครีม 2% (Ketazon cream 2%), คีตาซอน แชมพู (Ketazon shampoo), คีโตซีน (Ketocine), คีโตโคนาโซล จีพีโอ (Ketoconazole GPO), คีโตโคนาโซล ที พี (Ketoconazole T P), คีโตแลน (Ketolan), คีโตเมด (Ketomed), คีโตนาโซล (Ketonazole), คีโตนาโซล ครีม (Ketonazole cream), คีโตแพก (Ketopac), คีโตรัล (Ketoral), คีโตรัล ครีม (Ketoral cream), คีโตซอล (Ketozal), คีโซล (Kezole), คีซอน (Kezon), โคแนซ (Konaz), โคนาซอล (Konazol), ลาร์รี (Larry), ไลควิเมด (Liquimed), มาโนคีโต (Manoketo), มาซารอล (Masarol), ไมโซโค (Mizoco), ไมโซรอน (Mizoron), มายเซลลา (Mycella), มายโค-แชมพู (Myco-shampoo), มายโครัล (Mycoral), นาโซล (Nazole), นินาซอล (Ninazol), ไนโซรัล ครีม (Nizoral cream), ไนโซรอล คูล ครีม (Nizoral cool cream), ไนโซรอล แชมพู (Nizoral shampoo), นอร่า (Nora), นอร่า ครีม (Nora cream), นอร่า แชมพู (Nora shampoo), พาซาเลน (Pasalen), ซีโตโซล (Seatozole), เอสพี-คีโต ครีม SP-Keto cream), เอสพี-คีโต แท็บเล็ต (SP-Keto tablet), สปอราซิล (Sporoxyl), สปอราซิล ครีม (Sporaxyl cream), วาโซรัล แท็บเล็ต (Vazoral tablet), วีนาซอน แท็บเล็ต (Venazon tablet) ฯลฯ

รูปแบบยาคีโตโคนาโซล

  • ยาเม็ด ขนาด 200 มิลลิกรัม
  • ยาครีมทาผิวหนัง
  • ยาน้ำในรูปแบบของแชมพูสระผม ชนิด 2%

ไนโซรัล
IMAGE SOURCE : www.weloveshopping.com, pantip.com (by lingnoy)

ยานินาซอล
IMAGE SOURCE : www.mims.com, Mlb-community.org

ฟังกาซอล
IMAGE SOURCE : angelha-to.com, www.mims.com

สปอราซิลครีม (Sporaxyl cream)
IMAGE SOURCE : bangkokdrug.com

คีโตโคนาโซล
IMAGE SOURCE : www.petmartpharmacy.com, www.pinterest.com (by dustbinbob), fishpond.com

สรรพคุณของยาคีโตโคนาโซล

  • สำหรับยาเม็ดรับประทานคีโตโคนาโซล
    1. ใช้รักษาโรคเชื้อรา เช่น กลาก (Tinea), เกลื้อน (Tinea versicolor), โรคเชื้อราแคนดิดา (Candidiasis)[1]
    2. ใช้รักษาการติดเชื้อราแคนดิดาในกระแสเลือด (Systemic candidiasis)[5]
    3. ใช้รักษาการติดเชื้อราแคนดิดาในช่องทางเดินปัสสาวะ (Candiduria)[5]
    4. ใช้รักษาโรคบลาสโตไมโคซิส (Blastomycosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Blastomyces dermatitidis[2]
    5. ใช้รักษาโรคโครโมไมโคซิส (Chromomycosis)[2]
    6. ใช้รักษาโรคค็อกสิดิออยโดไมโคซิส (Coccidioidomycosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Coccidioides immitis[2]
    7. ใช้รักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อราฮิสโตพลาสมา (Histoplasma)[2]
    8. ใช้รักษาโรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคซิส (Paracoccidioidomycosis) ซึ่งเกิดจากเชื้อรา Paracoccidioides brasiliensis ที่ทำให้เกิดโรคที่มีอาการใกล้เคียงกับโรคค็อกสิดิออยโดไมโคซิสมาก แต่อาการทางผิวหนังจะรุนแรงกว่า[2]
    9. ใช้รักษาเชื้อราในผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ในช่วงการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด[4] และใช้ป้องกันการติดเชื้อราในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง[5]
  • สำหรับยาครีมคีโตโคนาโซลทาผิวหนัง
    1. ใช้รักษาโรคเชื้อรา ได้แก่ กลากที่ผิวหนัง (Tinea) เช่น กลากตามลำตัว, กลากที่ซอกขาหนีบ (สังคัง), กลากที่มือ, กลากที่เท้า (ฮ่องกงฟุต) นอกจากนี้ยังใช้รักษาเกลื้อน (Tinea versicolor) และโรคเชื้อราแคนดิดา (Candidiasis) ที่ผิวหนังและเล็บได้ด้วย[1],[7]
    2. ใช้รักษาสิวผดที่เกิดจากเชื้อยีสต์หรือเชื้อรา Pityrosporum ovale
    3. ใช้รักษาอาการโรคผิวหนังที่เกิดจากต่อมไขมันอักเสบหรือโรคเซบเดิร์ม (Seborrhoeic dematitis) อันเนื่องมาจากเชื้อรา Pityrosporum ovale[7]
  • สำหรับยาน้ำในรูปแบบของแชมพูคีโตโคนาโซลสระผม
    1. ใช้รักษาโรคกลากที่ศีรษะ (ใช้ร่วมกับยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) หรือกริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin))[1] หรือใช้รักษากลากตามลำตัว กลากที่ซอกขาหนีบ และกลากที่เท้า[3]
    2. ใช้รักษาเกลื้อน (สำหรับผู้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง)
    3. ใช้รักษารังแคและอาการคันศีรษะ (เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งของโรคเซบเดิร์ม (Seborrhoeic dematitis))
    4. ยานี้อาจใช้เพื่อรักษาโรคหรืออาการอื่น ๆ ได้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร[3]

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคีโตโคนาโซล

ยาคีโตโคนาโซลจะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยการไปยับยั้งสารสังเคราะห์สารอาหารในเชื้อรา และลดการลำเลียงสารอาหารที่ผนังเซลล์ของเชื้อรา จนทำให้เชื้อราขาดสารอาหารและหยุดการเจริญเติบโตในที่สุด[4]

ก่อนใช้ยาคีโตโคนาโซล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคีโตโคนาโซล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole), ไอทราโคนาโซล (Itraconazole), ไมโคนาโซล (Miconazole) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งการแพ้สารอื่น ๆ เช่น อาหาร สารกันเสีย หรือสี และอาการจากการแพ้ยาหรือสารดังกล่าว เช่น รับประทานยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น[3],[4]
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ และยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาคีโตโคนาโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาคีโตโคนาโซลร่วมกับยารักษาอาการวิตกกังวล เช่น อัลปราโซแลม (Alprazolam) สามารถทำให้ระดับของยาคีโตโคนาโซลอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานมากขึ้น และอาจนำไปสู่ภาวะง่วงซึม อ่อนล้า[4]
    • การใช้ยาคีโตโคนาโซลร่วมกับยาลดกรด เช่น อะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (Aluminium hydroxide) สามารถทำให้การดูดซึมของยาคีโตโคนาโซลลดลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรักษาได้ (ยาคีโตโคนาโซลจะดูดซึมได้ดีในภาวะที่เป็นกรด)[4]
    • การใช้ยาคีโตโคนาโซลร่วมกับยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) เพราะจะทำให้ระดับของยาคีโตโคนาโซลมีระดับลดลง[5]
    • การรับประทานยาคีโตโคนาโซลร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะสามารถทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ และผื่นคันได้[4]
  • มีปัญหาติดสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่น ๆ, มีปัญหาตับบกพร่อง, โรคหอบหืด (Asthma), มีภาวะไม่สร้างกรด (Achlorhydria) หรือสร้างกรดในกระเพาะน้อย (Hypochlorhydria)[3]
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนมและเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้[3],[4]

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาคีโตโคนาโซล

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาคีโตโคนาโซล (Ketoconazole)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ[1]
  • ห้ามใช้ยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร เนื่องจากมีการทดสอบการใช้ยากับสัตว์ทดลองที่ตั้งครรภ์แล้วพบว่ายานี้ก่อให้เกิดความพิการของตัวอ่อนในครรภ์ได้ ซึ่งหากนำมาใช้กับหญิงตั้งครรภ์ก็อาจก่อให้เกิดความพิการต่อทารกหรืออาจทำให้ทารกเสียชีวิตได้ (สำหรับยาทาสามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากยาทานี้จะไม่ถูกดูดซึม)[4],[5]
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกับยาละลายลิ่มเลือด[5]

วิธีใช้ยาคีโตโคนาโซล

  • สำหรับยาเม็ดรับประทานคีโตโคนาโซล
    1. สำหรับรักษาเกลื้อน (Tinea versicolor) ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม (ในเด็กให้รับประทานยา ครั้งละ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม) เพียงวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 10-14 วัน ส่วนการป้องกันการเกิดโรคซ้ำให้รับประทานยาในขนาด 400 มิลลิกรัม (ในเด็กให้รับประทานยา 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม) เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 6 เดือน[1]
    2. สำหรับโรคเชื้อราแคนดิดาที่ผิวหนังและเล็บ ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม) เพียงวันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์[1]
      สำหรับเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 400 มิลลิกรัม เพียงวันละ 1 ครั้ง (อาจแบ่งรับประทานยาเป็นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 200 มิลลิกรัมก็ได้) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน[1],[5]
    3. สำหรับใช้รักษาโรคบลาสโตไมโคซิส (Blastomycosis), โรคโครโมไมโคซิส (Chromomycosis), โรคค็อกสิดิออยโดไมโคซิส (Coccidioidomycosis), โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) และโรคพาราค็อกสิดิออยโดไมโคซิส (Paracoccidioidomycosis) ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม (แต่หากการตอบสนองไม่ดีอาจเพิ่มเป็นครั้งละ 400 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กอายุ 2 ปีขึ้นไปให้รับประทานยาครั้งละ 3.3-6.6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เพียงวันละ 1 ครั้ง โดยให้รับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลา 6 เดือน[2]
    4. ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ในผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 200 มิลลิกรัม (หากการตอบสนองไม่ดีอาจเพิ่มขนาดยาเป็นวันละ 400-600 มิลลิกรัม) ส่วนในเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 15 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง, น้ำหนักตัว 15-30 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง และน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม ให้รับประทานยาครั้งละ 200 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยมีข้อกำหนดการใช้และระยะเวลาในการใช้ยา คือ สำหรับรักษา เชื้อราที่ผมและหนังศีรษะ ให้รับประทานยาติดต่อกัน 4-8 สัปดาห์, รักษาเกลื้อน ให้รับประทานยาติดต่อกัน 3-6 สัปดาห์, รักษาเชื้อราในช่องปาก (Thrush) ให้รับประทานยาติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์, เชื้อราในช่องคลอด ให้รับประทานยาติดต่อกัน 5 วัน, เชื้อราที่เล็บ ให้รับประทานยาติดต่อกัน 6-12 เดือน, รักษาการติดเชื้อแคนดิดาในกระแสเลือด (Systemic candidiasis) / ในช่องทางเดินปัสสาวะ (Candiduria) ให้รับประทานยาติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์, รักษาโรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis) ให้รับประทานยาติดต่อกัน 2-4 เดือน, รักษาโรคโครโมไมโคซิส (Chromomycosis) / โรคค็อกสิดิออยโดไมโคซิส (Coccidioidomycosis) ให้รับประทานยาติดต่อกันมากกว่า 6 เดือน[5]
  • สำหรับยาครีมคีโตโคนาโซลทาผิวหนัง
    1. สำหรับกลาก (Tinea) เช่น กลากตามลำตัว กลากที่ซอกขาหนีบ กลากที่มือ กลากที่เท้า, เกลื้อน (Tinea versicolor) และโรคเชื้อราแคนดิดาที่ผิวหนังและเล็บ ให้ทายาบริเวณที่เป็นโรคและบริเวณใกล้เคียง (ถูยาเบา ๆ เพื่อช่วยให้ยาดูดซึม) วันละ 2-3 ครั้ง นาน 3-4 สัปดาห์[1],[3]
    2. สำหรับสิวผดที่เกิดจากเชื้อราหรือเชื้อยีสต์ Pityrosporum ovale แพทย์อาจให้ยาคีโตโคนาโซลมาทา แต่ต้องเป็นการใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
    3. สำหรับผิวหนังที่เกิดจากต่อมไขมันอักเสบหรือโรคเซบเดิร์ม (Seborrhoeic dematitis) ให้ทายาบริเวณที่เป็นและบริเวณใกล้เคียงวันละ 1-2 ครั้งแล้วแต่ความรุนแรงของการอักเสบ ติดต่อกันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ และหลังจากที่แผลหายดีแล้ว ควรทายาต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างน้อย 2-3 วัน (ควรไปพบแพทย์ หากรักษาไป 4 สัปดาห์แล้วผลการรักษายังไม่ดีขึ้น)[7]
  • สำหรับยาน้ำในรูปแบบของแชมพูคีโตโคนาโซลสระผม
    1. สำหรับโรคกลากที่ศีรษะ ให้รับประทานยากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) ในขนาด 500-1,000 มิลลิกรัม (ส่วนในเด็กให้วันละ 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) วันละครั้งหรือแบ่งให้วันละ 2-4 ครั้ง นาน 4-6 สัปดาห์ หรือให้ยาไอทราโคนาโซล (Itraconazole) นาน 4 สัปดาห์ และให้ผู้ป่วยตัดผมให้สั้น พร้อมกับสระผมด้วยแชมพูคีโตโคนาโซล (Ketoconazole) สัปดาห์ละ 2 ครั้ง หรือทุก 3 วัน ส่วนผู้ที่เป็นพาหะโรคของโรคกลากที่ศีรษะ แม้จะไม่มีอาการก็ต้องรักษาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น โดยสระผมด้วยแชมพูยาดังกล่าวอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เป็นเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ถ้าหนังศีรษะยังคงเป็นขุยอยู่ ก็ต้องใช้ยาแบบรับประทานร่วมด้วย[1]
    2. สำหรับรักษาเกลื้อน (Tinea versicolor) ให้ทาแชมพูบริเวณที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วล้างออก โดยให้ทาวันละ 1 ครั้ง (เวลาที่สะดวก คือ ช่วงก่อนอาบน้ำ) ติดต่อกันเป็นเวลา 5 วัน ส่วนการใช้ป้องกันการเกิดโรคซ้ำ ให้ทายา 1 ครั้ง ทุก ๆ 2 สัปดาห์[1]
    3. สำหรับรักษารังแคและอาการคันศีรษะ ให้สระผมด้วยแชมพูคีโตโคนาโซลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ ส่วนการใช้เพื่อป้องกันไม่ให้รังแคและอาการคันศีรษะกลับมาเป็นอีก ให้ใช้แชมพูคีโตโคนาโซลทุก 1 หรือ 2 สัปดาห์

คำแนะนำในการใช้ยาคีโตโคนาโซล

  • สำหรับยาเม็ดรับประทานคีโตโคนาโซล
    • ควรรับประทานยานี้พร้อมกับอาหารเพื่อให้ยาดูดซึมได้ดีขึ้น[5] และเนื่องจากยาคีโตโคนาโซลจะต้องอาศัยกรดเพื่อช่วยให้ยาแตกตัวได้ดีและร่างกายดูดซึมได้ดีขึ้น ดังนั้นในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างกรดในกระเพาะ อาจต้องนำยาเม็ดคีโตโคนาโซลมาละลายในกรดเจือจาง แล้วดื่มโดยใช้หลอดดูด โดยระวังอย่าให้สารละลายยาในกรดดังกล่าวถูกฟัน จากนั้นจึงดื่มน้ำกลั้วปากตาม[3]
    • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในรูปแบบรับประทานเป็นยาอันดับแรกในการรักษาโรคเชื้อรา ด้วยเหตุว่ามีความเป็นพิษต่อตับ (ทำให้ตับอักเสบ) รบกวนการทำงานของต่อมหมวกไต ตลอดจนการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น[6]
    • การใช้ยานี้ให้ได้ผลจะต้องรับประทานยาตามขนาดกำหนด รับประทานยาในเวลาเดียวกันทุกวัน ไม่ควรลืมรับประทานยา และรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจนครบกำหนดตามที่แพทย์สั่ง ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ แม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม[3],[5]
    • หากจำเป็นต้องใช้ยานี้ในเด็กจะต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ[3]
    • หากจำเป็นต้องรับประทานยาคีโตโคนาโซลร่วมกับยาลดกรด ให้รับประทานยาลดกรดหลังจากรับประทานยาคีโตโคนาโซลไปแล้ว 2 ชั่วโมง[5]
    • หากจำเป็นต้องใช้ยาชนิดอื่นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะยาลดการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร เช่น ไซเมทิดีน (Cimetidine), รานิทิดีน (Ranitidine)[5]
    • หากเคยใช้ยากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) จะต้องหยุดใช้ยาอย่างน้อย 1 เดือน จึงจะเริ่มใช้ยาคีโตโคนาโซลได้[5]
    • ยานี้อาจทำให้เกิดภาวะตาสู้แสงไม่ได้ หากเกิดอาการดังกล่าวควรหลีกเลี่ยงแสงแดด และสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องอยู่กลางแดด[3],[5]
    • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนได้ หากเกิดอาการดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร[3]
    • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังจากรับประทานยามาแล้ว 1-2 สัปดาห์[3]
    • หากรับประทานยานี้ไปแล้ว 2 สัปดาห์ ให้ปรึกษาแพทย์ และควรมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับหลังจากใช้ยาคีโตโคนาโซลไปแล้ว 2 สัปดาห์[5]
    • ผู้ที่จำเป็นต้องรับประทานยาคีโตโคนาโซลเป็นเวลานาน หรือผู้ที่เป็นโรคตับจะต้องเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับเป็นระยะ และหากมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองหรือคลื่นไส้ควรปรึกษาแพทย์[1],[5]
    • เนื่องจากยานี้อาจทำให้ตับอักเสบได้ ผู้ใช้ยาจึงต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เช่น อาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้ม ตัวเหลืองตาเหลือง[5]
  • สำหรับยาครีมคีโตโคนาโซลทาผิวหนัง
    • เป็นยาใช้ภายนอกเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน
    • ให้ใช้ยานี้ตามวิธีใช้ที่ระบุไว้บนฉลากยาหรือตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ และใช้ยาอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัช
    • ไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนระยะเวลาที่กำหนดแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะการรักษาเชื้อราบางชนิดอาจจำเป็นต้องใช้เวลารักษาหลายเดือน
    • อาจปิดแผลบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยผ้าพันแผล แต่ไม่ควรใช้ปลาสเตอร์ปิดแผลที่ระบายอากาศไม่ได้ เช่น ปลาสเตอร์ที่ทำมาจากพลาสติก
    • หลังการอาบน้ำควรรีบเช็ดตัวให้แห้ง เพราะเชื้อรามักจะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น และควรหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อที่ทำจากใยสังเคราะห์ แล้วหันมาใช้ผ้าที่ทำจากฝ้ายแทน
    • ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์
    • ยานี้อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวหนังได้ ถ้าพบควรหยุดใช้ยา[1]

การเก็บรักษายาคีโตโคนาโซล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • สำหรับยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทาน ให้เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง (อุณหภูมิระหว่าง 15-30 องศาเซลเซียส) ส่วนยาชนิดทาผิวหนังและยาน้ำชนิดสระผมให้เก็บภายใต้อุณหภูมิที่ต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส (ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น)[3],[4]
  • ให้ทิ้งยาที่เสื่อมสภาพหรือหมดอายุแล้ว

เมื่อลืมใช้ยาคีโตโคนาโซล

หากลืมใช้ยาคีโตโคนาโซล ให้ใช้ยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าหรือมากกว่าปกติ

ผลข้างเคียงของยาคีโตโคนาโซล

  • ยาคีโตโคนาโซลชนิดรับประทานอาจมีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบได้ จึงไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 2 สัปดาห์ (ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคกลากที่มักต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน) ถ้าจำเป็นต้องรับประทานยาเป็นเวลานาน ควรมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจการทำงานของตับเป็นระยะ[1],[5] (มีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานยานี้แล้วทำให้เกิดพิษต่อตับรุนแรงเมื่อใช้ในขนาดสูงเป็นระยะเวลาสั้น ๆ หรือใช้ในขนาดต่ำเป็นระยะเวลานาน ๆ ซึ่งการเกิดพิษต่อตับอาจรุนแรงจนถึงขั้นต้องทำการปลูกถ่ายตับหรือทำให้เสียชีวิตได้) นอกจากนี้ตัวยายังไปรบกวนการทำงานของต่อมหมวกไต (ยับยั้งการสังเคราะห์ Adrenal steroids อาจทำให้เกิด Adrenal insufficiency) และการที่ยานี้มีฤทธิ์แรงในการยับยั้งเอนไซม์ CYP3A4 จึงเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้มากขึ้นอีกด้วย[6]
  • ผลข้างเคียงที่อาจพบได้น้อยของยาชนิดรับประทาน เช่น รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ (จากการเพิ่มความดันในศีรษะ) มึนงง วิงเวียน ง่วงนอนหรือซึม ตาสู้แสงไม่ได้[1],[3],[4],[5] ปวดท้อง ท้องเสีย บางรายอาจนอนไม่หลับ เป็นต้น[5] ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้และต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ เบื่ออาหาร ปัสสาวะเป็นสีเหลืองเข้มหรือสีน้ำตาล ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้อง เกิดผื่นแดงที่ผิวหนัง คัน มีตุ่มที่ผิวหนัง ผิวหนังลอก คัน[3]
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยาได้ แต่พบได้ค่อนข้างน้อย[1] โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการแพ้ยา ได้แก่ กลุ่มผู้หญิงอายุมากกว่า 52 ปี, ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคตับ และผู้ที่เคยได้รับการรักษาเชื้อราด้วยยากริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin)[5]
  • ถ้ารับประทานยาคีโตโคนาโซลในขนาดสูงกว่าปกติ (เกินวันละ 400 มิลลิกรัม) อาจทำให้เกิดอาการเจ็บนมหรือนมโตในผู้ชาย (Gynecomastia) ได้ ซึ่งอาการนี้จะหายไปได้เองหลังจากหยุดใช้ยา[1]
  • สำหรับยาครีมทาผิวหนัง ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป คือ ระคายเคืองผิวหนัง แสบร้อนผิวหนัง คัน ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้และต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ ลมพิษ ผื่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ใช้ยา[3]
  • สำหรับยาน้ำในรูปแบบของแชมพูสระผม ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป คือ ระคายเคืองผิวหนัง คัน หนังศีรษะแห้ง ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้และต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทันที คือ ผื่นคัน หายใจลำบาก กลืนลำบาก ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ใช้ยา[3]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 248-249, 307.
  2. Drugs.com.  “Ketoconazole”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.drugs.com.  [24 ต.ค. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “KETOCONAZOLE”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [24 ต.ค. 2016].
  4. หาหมอดอทคอม.  “คีโตโคนาโซล (Ketoconazole)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [24 ต.ค. 2016].
  5. Siamhealth.  “ยารักษาเชื้อรา Ketoconazole”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.siamhealth.net.  [24 ต.ค. 2016].
  6. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “Ketoconazole ชนิดรับประทาน…กับความเป็นพิษต่อตับที่ถึงตาย”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [24 ต.ค. 2016].
  7. ThaiRx.  “Nizoral cream ไนโซรัล ครีม”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : thairx.com.  [24 ต.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด