ความใสของปัสสาวะ (Clarity) ช่วยบอกอะไรได้บ้าง ?

ความใสของปัสสาวะ (Clarity) ช่วยบอกอะไรได้บ้าง ?

ความใสของปัสสาวะ

ความใสของปัสสาวะ หรือความขุ่นใสของปัสสาวะ (Clarity) คือ ค่าที่บอกถึงความใสของปัสสาวะว่าอยู่ในระดับ ซึ่งเป็นการตรวจอย่างหนึ่งของการตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) ในส่วนของการตรวจดูลักษณะทางกายภาพทั่วไป (Visual examination) ที่มักตรวจดูร่วมกับสีของปัสสาวะ (Color) เพราะสีและความใสอาจช่วยบ่งบอกถึงความผิดปกติบางอย่างได้ แต่อย่างไรก็ตาม ความใสของปัสสาวะที่นอกจากจะเกิดจากความผิดปกติหรือโรคบางอย่างได้แล้ว ยังอาจเกิดจากอาหารที่กิน ปริมาณน้ำที่ดื่ม หรือยาที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ด้วย

ระดับความใสของปัสสาวะ

การตรวจดูความในของปัสสาวะนั้นจะเป็นการตรวจดูว่าปัสสาวะมีความใสหรือขุ่นมากน้อยเพียงใด โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ

  1. ปัสสาวะใส (Clear) ไม่เห็นตะกอนในปัสสาวะ
  2. ปัสสาวะขุ่นเล็กน้อย (Slightly cloudy หรือ Mildly cloudy)
  3. ปัสสาวะขุ่น (Cloudy)
  4. ปัสสาวะขุ่นมากหรือขุ่นข้น (Turbid หรือ Turbidity)

ปัสสาวะใส

ปัสสาวะที่มีความใสเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ (Clear) คือ ปัสสาวะที่ปกติ แต่ปัสสาวะที่ปกตินี้อาจจะมีความขุ่นได้บ้างเล็กน้อยในกรณีที่มีการปนเปื้อนสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ เศษเซลล์เยื่อบุ ผลึกที่พบได้ทั่วไปในปัสสาวะ ไปจนถึงสิ่งปนเปื้อน เช่น โลชั่นทาผิว และแป้ง

นอกจากนี้ ปัสสาวะที่ตั้งทิ้งไว้ก็อาจขุ่นเองได้เช่นกัน เพราะปัสสาวะเป็นอาหารที่ดีสำหรับแบคทีเรีย แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้ปัสสาวะขุ่นได้ และสาเหตุความขุ่นอีกอย่างหนึ่งก็คือ แบคทีเรียจะเปลี่ยนยูเรียในปัสสาวะให้เป็นแอมโมเนีย แอมโมเนียจะทำให้ปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นด่าง และด่างจะช่วยตกตะกอนของสารบางอย่าง เช่น ฟอสเฟต ยูเรต และทำให้ปัสสาวะขุ่นได้เช่นเดียวกัน

บางครั้งความขุ่นของปัสสาวะก็ยังเกิดจากการรับประทานอาหารและการใช้ยาได้ด้วย เช่น ยาซัลฟาที่กินแล้วไม่ได้ดื่มน้ำมาก ๆ ก็อาจจะตกตะกอนเป็นผงหรือผลึก ทำให้ปัสสาวะขุ่น

ปัสสาวะขุ่น

ปัสสาวะที่ขุ่นเมื่อถ่ายเสร็จใหม่ ๆ คือ ปัสสาวะที่ผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • ร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างมาก
  • มีเม็ดเลือดแดงอยู่ในปัสสาวะหรือปัสสาวะเป็นเลือด
  • มีเม็ดเลือดขาวอยู่ในปัสสาวะจากการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นหนองจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • นิ่วในไต นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะอาจถูกปะปนด้วยตัวอสุจิ แบคทีเรีย ยีสต์ หรือพยาธิ (เช่น Bilharzia)
  • มีโมเลกุลสารเคมีต่าง ๆ รั่วออกมาในปัสสาวะ เช่น โปรตีนไข่ขาว (Proteinuria) สารคีโตน
  • ปัสสาวะอาจมีผลึกของสารบางชนิด เช่น ผลึกฟอสเฟต, ผลึกยูเรตจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูง หรือมีสารออกซาเลตในปัสสาวะสูงเกินไป
  • ปัสสาวะปนเปื้อนกับอุจจาระในกรณีที่มีรูทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่
  • ภาวะช่องคลอดอักเสบ
  • ต่อมลูกหมากอักเสบ (Prostatitis)
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน
  • ปัสสาวะมีลักษณะขาวขุ่นคล้ายน้ำนม (Chyluria) เป็นปัสสาวะที่มีน้ำเหลืองหรือไขมันปน เช่นในโรคเท้าช้าง จากการผ่าตัดไตเพียงบางส่วน (Partial nephrectomy) หรือจากการจี้ไตด้วยไฟฟ้าหรือคลื่นเสียง (Ablative) เพื่อการรักษาโรคบางชนิด เช่น เนื้องอก หรืออุบัติเหตุของไต

ความขุ่นใสของปัสสาวะ
IMAGE SOURCE : slideplayer.com (by Henry Mitchell)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด