คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) สรรพคุณ วิธีใช้ ผลข้างเคียง ฯลฯ

คลอแรมเฟนิคอล

คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) หรือยาที่ในหลาย ๆ ประเทศรู้จักกันในชื่อ คลอนิโทรมัยซิน (Chlornitromycin) เป็นยาปฏิชีวนะที่ถูกนำมาใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

ในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วมักไม่ค่อยมีการนำยานี้มาใช้แล้ว เนื่องจากยานี้มีผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ตัวยาไปกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้เป็นโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ และเคยมีการฉีดยานี้เข้าทางหลอดเลือดดำของเด็กทารกแรกเกิดเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ แล้วก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่เรียกว่า เกรย์ซินโดรม (Gray syndrome) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ร่างกายไม่สามารถทำลายยานี้ได้ เป็นต้น แต่ในประเทศที่ยังไม่พัฒนา คลอแรมเฟนิคอลยังคงเป็นยาที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจากเป็นยาที่มีราคาที่ถูก และออกฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด

สำหรับในประเทศไทยเรามักพบเห็นการใช้ยานี้อยู่ในรูปแบบของยาหยอดตา ยาขี้ผึ้งป้ายตา ยาหยอดหู ยาครีม ซึ่งจัดอยู่ในหมวดหมู่ยาใช้ภายนอก (บางตำรับจัดเป็นยาภายนอกชนิดอันตราย) แต่สำหรับยารับประทานนั้นจะพบได้น้อย เนื่องจากในปัจจุบันมียาปฏิชีวนะตัวอื่นที่ดีกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลไม่ว่าจะในรูปแบบใด ๆ ก็ต้องอยู่ภายใต้คำสั่งของแพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้น ผู้ป่วยไม่ควรไปซื้อหายานี้มารับประทานด้วยตัวเอง

ตัวอย่างยาคลอแรมเฟนิคอล

ยาคลอแรมเฟนิคอล (ชื่อสามัญ) มีชื่อทางการค้า เช่น แอนทิบี-โอติก (Antibi-Otic), อาร์ชิเฟน เอีย (Archifen Ear), อาร์ชิเฟน อาย (Archifen Eye), ซีดี-ออพ (CD-Oph), คลอราซิล (Chloracil), คลอแรมโน (Chloramno), คลอแรม-พี (Chloram-P), คลอรอพ (Chloroph), คลอ-ไพราด (Chlor-Pyrad), โคเจทิน (Cogetine), เดอร์มาซอล (Dermasol), โดคัว (Doqua), เฟนิคอล (Fenicol), เลโวไมเซทิน (Levomycetin), เลวอพทิน ซิมเพล็กซ์ (Levoptin Simplex), เมด-คลอแรมพี (Med-Chloramp), ฟาร์มาเซทิน โอติก (Pharmacetin Otic), พิซาลิน (Pisalin), ซิลมายเซติน เอีย ดร็อปส (Silmycetin Ear Drops), ซิลมายเซติน อาย ดร็อปส (Silmycetin Eye Drops), ซินคลอลิม-เอสซี (Synchlolim-SC), ยูนิซัน ออยเมนท์ (Unison Ointment), ยูโท คลอแรมเฟนิคอล (Uto Chloramphenicol), วาจิซิน (Vagicin), เวนาเฟน ออฟทาลมิก (Vanafen Ophthalmic), เวนาเฟน โอโทโลจิก (Vanafen Otologic), เวนาเฟน เอส (Vanafen S) ฯลฯ

รูปแบบยาคลอแรมเฟนิคอล

  • ยาแคปซูล ขนาดความแรง 250 และ 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาน้ำเชื่อม ขนาดความแรง 125 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
  • ยาหยอดตา ขนาดความแรง 0.5%
  • ยาขี้ผึ้งป้ายตา ขนาดความแรง 1%
  • ยาหยอดหู ขนาดความแรง 1%
  • ยาขี้ผึ้งทาผิว ขนาดความแรง 1%
  • ยาครีมที่ผสมร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ขนาดความแรง 1%
  • ยาฉีด ขนาดความแรง 1 กรัม

คลอแรมเฟนิคอล
IMAGE SOURCE : made-in-china.com

คลอแรมเฟนิคอลอายดรอป
IMAGE SOURCE : tricucrgetam.moxo.sk, jacksonvillerealtygroup.com

สรรพคุณของยาคลอแรมเฟนิคอล

ยานี้สามารถใช้รักษาโรคติดเชื้อได้อย่างกว้างขวาง แต่เนื่องจากอาจทำให้เกิดโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ จึงไม่แนะนำให้ใช้รักษาโรคติดเชื้อทั่วไป โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด หรือปวดฟัน แต่แนะนำให้ใช้ยานี้เฉพาะกับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียบางชนิด เช่น โรคติดเชื้อที่สมอง ระบบเลือด ปอด และการติดเชื้อรุนแรงอื่น ๆ เป็นต้น

  • ใช้รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial meningitis)
  • ใช้รักษาฝีในสมอง (Brain abscess)
  • ใช้รักษาไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever)
  • ใช้รักษาโรคสครับไทฟัส (Scrub typhus)
  • ใช้รักษาโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากสัตว์กินหญ้า
  • ใช้รักษาโรคลำไส้อักเสบที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย (Gastroenteritis)
  • ใช้รักษาโรคเนื้อเยื่อเน่าตายจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า คลอสทริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ (Clostridium perfringens)
  • ใช้รักษาการติดเชื้อต่าง ๆ ของเปลือกตา เยื่อตาขาว ถุงน้ำตา เช่น หนังตาอักเสบ เยื่อตาอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ตากุ้งยิง ถุงน้ำตาอักเสบ แผลกระจกตา
  • ใช้รักษาโรคหูอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอแรมเฟนิคอล

ยาคลอแรมเฟนิคอลจะมีกลไกลการออกฤทธิ์โดยการเข้าไปยับยั้งการสังเคราะห์โปรตีนที่เป็นตัวตั้งต้นของสารพันธุกรรมที่เรียกว่า ไรโบโซม (Ribosome) นอกจากนี้ตัวยายังช่วยป้องกันการเชื่อมโยงของโปรตีนที่มีการสังเคราะห์ไว้แล้ว ทำให้เชื้อแบคทีเรียไม่สามารถเจริญเติบโตได้และตายลงในที่สุด

คลอแรมเฟนิคอลเป็นยาที่ละลายได้ดีในไขมัน จึงซึมเข้าสู่เนื้อเยื่อได้แทบทุกส่วนของร่างกายได้ดีมาก แม้แต่ในสมองซึ่งยาอื่น ๆ มักซึมเข้าไปไม่ถึง เมื่อยาคลอแรมเฟนิคอลเข้าสู่กระแสเลือดจะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีน 60% ก่อนที่จะถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีที่ตับ ร่างกายจะต้องใช้เวลาประมาณ 1.6-3.3 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ก่อนใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาคลอแรมเฟนิคอล สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบมีดังนี้

  • ประวัติการแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) และยาอื่น ๆ ทุกชนิด รวมทั้งอาการจากการแพ้ยา เช่น ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก เป็นต้น
  • โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมถึงอาหารเสริม วิตามิน และยาสมุนไพรต่าง ๆ ที่กำลังใช้อยู่หรือกำลังจะใช้ เพราะยาคลอแรมเฟนิคอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่น ๆ และ/หรืออาหารเสริมอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ก่อนได้ เช่น
    • การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลร่วมกับยารักษาโรคลมชัก เช่น ฟีโนบาร์บิทาล (Phenobarbital) หรือยาปฏิชีวนะ เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) พบว่ายาทั้ง 2 ชนิดนี้จะลดประสิทธิภาพของยาคลอแรมเฟนิคอลลงไป
    • การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด พบว่ายาคลอแรมเฟนิคอลจะไปลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
    • การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลร่วมกับวิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก พบว่ายาคลอแรมเฟนิคอลจะไปลดประสิทธิผลของวิตามินบี 12 และธาตุเหล็กให้ด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
  • หากเป็นหรือเคยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบเลือดหรือมีความผิดปกติของเม็ดเลือด โรคเกี่ยวกับปากและฟัน โรคตับ โรคไต โรคพร่องเอนไซม์ G6PD
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่ามีการตั้งครรภ์ หรือกำลังวางแผนในการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดสามารถผ่านทางรกหรือน้ำนม และเข้าสู่ทารกจนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อทารกได้

ข้อห้าม/ข้อควรระวังในการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไขกระดูกทำงานผิดปกติ หรือผู้ที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือด
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ (โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในระยะไตรมาสที่ 3) และหญิงที่ให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กทารกแรกเกิดถึงอายุ 1 ปี[4] เพราะอาจเป็นพิษ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่เรียกว่า เกรย์ซินโดรม (Gray syndrome) โดยทารกจะมีอาการผิวสีเทา ร่วมกับมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น อาเจียน ไม่ดูดนม ท้องอืด อุจจาระเขียว หายใจเร็ว หอบ ความดันโลหิตต่ำ เนื้อตัวอ่อนปวกเปียก ตัวเย็น ช็อก หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมง
  • ห้ามใช้ยาที่หมดอายุ
  • ควรระมัดระวังในการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับและโรคไต เนื่องจากยานี้จะถูกเผาผลาญที่ตับเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้มีโอกาสที่ยาจะคั่งค้างอยู่ในร่างกายจนเกินขนาดได้มากขึ้น (สำหรับเด็กทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด แม้จะไม่เป็นโรคตับ แต่ตับยังทำหน้าที่ได้ไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ก็อาจจะเกิดปัญหาได้เช่นกัน)
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด วิตามินบี 12 และธาตุเหล็ก ยารักษาโรคลมชัก ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย

วิธีใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล

  • สำหรับยาแคปซูล โดยทั่วไปยานี้ให้รับประทานวันละ 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยแบ่งให้ทุก 6 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น
    • สครับไทฟัส ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ให้รับประทานยาวันละ 50-100 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (สูงสุดได้ไม่เกินวันละ 4,000 มิลลิกรัม) โดยแบ่งให้วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 7 วัน
    • ไข้ไทฟอยด์ ในผู้ใหญ่ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ส่วนในเด็กให้รับประทานยาครั้งละ 50-75 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้รับประทานยาวันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อน ติดต่อกันเป็นเวลา 14 วัน
  • สำหรับยาหยอดตาและยาขี้ผึ้งป้ายตา (เฉพาะการติดเชื้อที่ตา เช่น หนังตาอักเสบ เยื่อตาอักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ ตากุ้งยิง ถุงน้ำตาอักเสบ แผลกระจกตา) ในผู้ใหญ่ให้ใช้ยาหยอดตา (ขนาดความแรง 0.5%) หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด ทุก 2-4 ชั่วโมง ในระยะ 24 ชั่วโมง ต่อไปให้หยอดตาวันละ 2-4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 2-3 วัน แต่หากมีอาการอักเสบรุนแรงมาก อาจเพิ่มความถี่ในการหยอดเป็นทุก 1-2 ชั่วโมง และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วให้ลดความถี่ในการหยอดลงตามคำแนะนำของแพทย์ และสำหรับยาป้ายตา ให้ใช้ป้ายตาวันละ 2-4 ครั้ง หรือป้ายยาเฉพาะก่อนนอน (การใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและดุลยพินิจของแพทย์)[1],[2]
  • สำหรับยาหยอดหูที่ติดเชื้อ (เฉพาะการติดเชื้อที่หู เช่น โรคหูอักเสบ) ในผู้ใหญ่ให้หยอดหูครั้งละ 2-3 หยด วันละ 2-3 ครั้ง ส่วนการใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุของเด็กและดุลยพินิจของแพทย์

คำแนะนำในการใช้ยาคลอแรมเฟนิคอล

  • ควรรับประทานยานี้ตอนท้องว่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนอาหาร หรือ 2 ชั่วโมงหลังอาหาร
  • ให้รับประทานยานี้ติดต่อกันจนจบช่วงการรักษาแม้ว่าอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม และห้ามใช้ยาในขนาดที่น้อยกว่าหรือมากกว่าที่ระบุไว้ หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกร
  • ยานี้เป็นยาอันตรายที่ไม่ควรใช้อย่างพร่ำเพรื่อ และห้ามใช้กับโรคติดเชื้อทั่วไป (โดยเฉพาะที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด หรือปวดฟัน) เพราะนอกจากจะไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยานี้ยังอาจไปกดการทำงานของไขกระดูกจนเป็นเหตุทำให้เสียชีวิตได้

การเก็บรักษายาคลอแรมเฟนิคอล

  • ควรเก็บยานี้ในภาชนะบรรจุเดิมที่บรรจุมา ปิดให้สนิท และเก็บยาให้พ้นมือเด็กเสมอ
  • สำหรับยาชนิดรับประทาน ควรเก็บยาภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 15-25 องศาเซลเซียส เก็บยาให้พ้นแสงแดด รวมถึงในรถยนต์ และไม่เก็บยาในบริเวณที่เปียกหรือชื้น (เช่น ในห้องน้ำ)
  • สำหรับยาหยอดตาและยาหยอดหู ควรเก็บยาในตู้เย็นภายใต้อุณหภูมิระหว่าง 2-8 องศาเซลเซียส (ห้ามเก็บยาไว้ในช่องแช่แข็ง)
  • ให้ทิ้งยาเมื่อยาหมดอายุ

เมื่อลืมรับประทานยาคลอแรมเฟนิคอล

หากลืมรับประทานยาคลอแรมเฟนิคอล ให้รับประทานยาในทันทีที่นึกขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับมื้อต่อไป ให้ข้ามไปรับประทานยามื้อต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ผลข้างเคียงของยาคลอแรมเฟนิคอล

  • ยานี้อาจไปกดการทำงานของไขกระดูก ทำให้เป็นโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ (พบได้ประมาณ 1 ใน 40,000 คน ถึง 1 ใน 25,000 คน)
  • ในรายที่เป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD อาจทำให้เกิดอาการโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงแตกได้
  • อาจพบอาการของเกรย์ซินโดรม (Gray syndrome) เมื่อใช้เป็นยารับประทานในเด็กเล็ก แต่ก็พบได้น้อยมาก
  • อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ ปากเปื่อย ปากเป็นแผล ท้องเดิน ระคายเคืองที่ฝีเย็บ รู้สึกสับสน ซึมเศร้า ปวดศีรษะ เส้นประสาทในตาอักเสบ ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจน เกิดเลือดออกในกระเพาะหรือลำไส้
  • อาจทำให้เกิดอาการแพ้ยา ซึ่งพบได้น้อยมาก
  • อาจทำให้ประสาทตาอักเสบ หากใช้ติดต่อกัน 3 เดือน ถึง 5 ปี
  • สำหรับยาหยอดตา ยาขี้ผึ้งป้ายตา อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (มีอาการคันตา ตาแดง ตาบวม) หรือระคายเคือง และอาจพบอาการผื่นคัน ผื่นบวม เป็นไข้ ส่วนยาหยอดหู อาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ หรืออาจทำให้มีอาการหูเป็นพิษ (Ototoxicity) เช่น บวม ขึ้นผื่น แสบระคายเคือง[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 1.  “คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 246.
  2. หาหมอดอทคอม.  “คลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)”.  (ภก.อภัย ราษฎรวิจิตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [29 ก.ย. 2016].
  3. ยากับคุณ (Ya & You), มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.).  “CHLORAMPHENICOL”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.yaandyou.net.  [29 ก.ย. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 93 คอลัมน์ : 108 ปัญหายา.  “คลอแรมเฟนิคอล”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [29 ก.ย. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด