การทำงานสำหรับคนท้อง…งานไหนใช่งานไหนเสี่ยงมาดูกัน ??

การทำงานสำหรับคนท้อง…งานไหนใช่งานไหนเสี่ยงมาดูกัน ??

การทำงานของคนท้อง

ในสมัยก่อนผู้หญิงที่แต่งงานแล้วจะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเต็มที่ ส่วนสามีจะเป็นผู้ทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว แต่สำหรับสมัยนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านด้วยเพื่อแบ่งเบาภาระของครอบครัว คุณแม่หลายคนที่ตั้งครรภ์ครั้งแรกจึงมักมีคำถามในใจว่า ควรจะหยุดทำงานในระหว่างตั้งครรภ์ดีไหม ? จะเป็นอันตรายต่อครรภ์หรือไม่ถ้ายังทำงานต่อไป ? เรื่องนี้พูดยากครับ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว

แต่โดยทั่วไปแล้วการตั้งครรภ์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานประจำวันแต่อย่างใด ถ้าร่างกายของคุณแม่ยังคงแข็งแรงดีและไม่ทำงานหนักมากจนเกินไปก็อาจทำต่อไปได้จนถึงระยะคลอด แต่ในช่วงตั้งครรภ์ก็ต้องอย่าลืมว่าร่างกายของคุณแม่จะอ่อนเพลียได้ง่าย เหนื่อยไว และทำงานได้ไม่นานก็ต้องหยุดพักสักครู่แล้วจึงทำงานต่อไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพงานของคุณแม่แต่ละคนด้วยครับ อย่างถ้างานที่คุณแม่ทำอาจก่อให้เกิดอันตรายกับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์ ถ้าหลีกเลี่ยงได้หรือโยกย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่ปลอดภัยขึ้นจะเป็นการดีที่สุด เพราะชีวิตและความปลอดภัยของลูกและตัวคุณแม่ย่อมมีความสำคัญมากกว่าสิ่งใด

คำแนะนำในการทำงานของคนท้อง

เมื่อผู้หญิงตั้งท้องแล้ว ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา บางคนมีอาการแพ้ท้องมาก กินอะไรไม่ได้เลย บางครั้งก็หงุดหงิด ยิ่งงานที่ทำเกิดติดขัดมีปัญหาข้องใจด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้คุณแม่เหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลียมากขึ้นไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นการปรับตัวปรับงานตามคำแนะนำต่อไปนี้จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายมากยิ่งขึ้น เพราะคุณแม่ที่เคยทำงานนอกบ้านเป็นประจำอยู่แล้ว การทำงานระหว่างตั้งครรภ์ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความสามารถหรือยากจนเกินไป แถมการทำงานยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณแม่ได้อีกด้วย

  1. ถ้าคุณแม่ทำงานในเมืองที่มีการจราจรติดขัด ต้องยืน หรือนั่งรถเป็นเวลานาน ๆ จนหลังขดหลังแข็ง จะหลีกหนีไปไหนก็ไม่ได้ เพราะยังต้องทำงานเช้าไปเย็นกลับเหมือนกับคนทั่วไป ถ้าคุณแม่สามารถยืดหยุ่นเรื่องเวลาการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนโดยคุยกับที่ทำงานได้ ก็จะช่วยให้คุณแม่ไม่เครียดหรือเหน็ดเหนื่อยมากจนเกินไป
  2. คุณแม่ที่เป็นคนขยันทำงาน เมื่อท้องโตขึ้นอาจทำให้คุณแม่รู้สึกรำคาญบ้าง และความปวดเมื่อยอ่อนเพลียก็มักจะถามหา เมื่อทำงานเหนื่อยหรือเครียดจนเกินไป คุณแม่ก็อย่าลืมพักผ่อนและดูแลตัวเองบ้างนะครับ หรือถ้าคุณแม่ทำงานจนรู้สึกตัวว่าอ่อนเพลียหรือเหนื่อยเกินไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะกำลังทำงานใดหรือมีความสำคัญมากเพียงใด ก็ขอให้คุณแม่อย่าฝืนทำงานนั้นต่อไป จงหยุดพักงานไว้ก่อน และบอกกล่าวให้ผู้อื่นรู้เพื่อจะช่วยกันทำงานนั้นต่อไป เพราะสุขภาพของคุณแม่ในระหว่างการตั้งครรภ์นั้นมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดครับ
  3. คุณแม่ควรทำงานอย่างสบาย ๆ ไม่ต้องเร่งรีบ เคร่งเครียด หรือทำงานอย่างหักโหมจนเกินไป หากคุณแม่รู้สึกเมื่อย อ่อนเพลีย ก็ควรหยุดพักทำงานสักครู่ ก่อนจะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง หรืออาจจะหยุดพักบริหารร่างกายตามประสาคนท้องให้หายเมื่อย หายเครียดก็ได้เหมือนกันครับ
  4. การคำนึงถึงสุขภาพของลูกเป็นความรู้สึกที่คุณแม่ทุกคนเป็นกังวลมากที่สุด ถ้าสถานที่ทำงานของคุณแม่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับอันตรายต่าง ๆ เช่น สารรังสี สารเคมี การเดินทางลำบาก หรือลักษณะของงานมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติได้ง่ายในขณะตั้งครรภ์ คุณแม่ควรรีบปรึกษากับที่ทำงานถึงความเป็นไปได้ในการสลับปรับเปลี่ยนโยกย้ายงานของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายกับตัวเองและลูกน้อยในครรภ์
  5. ในเรื่องของการเดินทางไปทำงานนั้น การขับรถไปทำงานด้วยตัวเองนั้น เรื่องนี้ไม่เป็นข้อห้ามแต่อย่างใดครับ คุณแม่สามารถขับรถได้เองตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ไปจนถึงช่วงใกล้คลอด เพียงแต่ในระยะแรกของการตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง คุณแม่จะมีอาการอ่อนเพลียและเป็นลมได้ง่าย การขับรถเองอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ก็ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เมื่อคุณแม่ท้องแก่มากขึ้นท้องอาจโตมากจนไปค้ำพวงมาลัยรถยนต์ ถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือเบรกแรง ๆ ก็อาจทำให้ท้องไปกระแทกกับพวงมาลัยได้ ทางที่ดีคุณแม่ก็ควรจะหาคนใกล้ชิดมาขับให้แทนจะดีที่สุดครับ แต่ถ้าคุณแม่มีความจำเป็นต้องขับรถเอง คุณแม่ก็ควรปรับที่นั่งให้อยู่ในท่าที่นั่งได้สะดวก อย่ารัดเข็มขัดแน่นมาก ไม่ควรออกรถหรือหยุดรถกะทันหัน เพราะจะทำให้เข็มขัดนิรภัยรัดแน่นมากขึ้น และไม่ควรขับรถไปไหนไกล ๆ หรือขับรถนานเกิน 6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์ก็ไม่ควรครับ ไม่ว่าคุณแม่จะตั้งท้องกี่เดือนก็ตาม
  6. สำหรับชุดทำงานสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ คงจะไม่มีที่ทำงานที่ไหนห้ามไม่ให้คุณแม่สวมชุดคลุมท้องไปทำงานหรอกจริงไหมครับ ? เพียงแต่ว่าชุดที่คุณแม่สวมใส่นั้นควรจะเป็นชุดที่สุภาพเรียบร้อยสักหน่อย อาจจะเป็นชุดหลวมสักตัวแล้วมีเสื้อคลุมทับ หรือเลือกเป็นชุดกระโปรงที่สามารถปรับขนาดรอบเอวได้ อาจมีเชือกผูกด้านหลังเมื่อท้องยังเล็กจะได้ผูกไม่ให้ดูรุ่มร่ามจนเกินไป เมื่อท้องขยายขึ้นก็สามารถปรับขนาดได้ ถ้าทำงานในห้องแอร์ก็ควรจะเลือกเสื้อผ้าที่หนาขึ้นมาหน่อย ชุดทำงานของคุณแม่ทุกชุดควรเป็นชุดที่ทำให้คล่องตัว สามารถสวมใส่ไปได้ตลอดการตั้งครรภ์ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ไปจนถึงตอนคลอดและหลังคลอด เมื่อน้ำหนักกลับเข้าที่แล้ว คุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนไปใส่เสื้อตัวเดิมได้ (ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ ยังอาจไม่จำเป็นต้องใช้)
  7. รองเท้าที่สวมใส่ไปทำงานนั้นควรจะเป็นรองเท้าส้นเตี้ยที่ใส่แล้วรู้สึกนุ่มสบายเท้าและไม่รัดแน่นจนเกินไปครับ เพราะรองเท้าส้นสูงนอกจากจะทำให้คุณแม่ปวดขาแล้ว ยังอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุอย่างเช่นการหกล้มได้ง่ายจนเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ได้อีกด้วย
  8. ควรพกสมุดฝากครรภ์ติดตัวไว้เสมอ คุณแม่ควรพกสมุดฝากครรภ์ติดตัวไปด้วยทุกครั้งที่ออกไปทำงานหรือทำกิจกรรมนอกบ้าน เพราะคนท้องมักจะเกิดอาการผิดปกติ เช่น เป็นลม ได้ง่ายอยู่แล้ว หากเราพกสมุดนี้ติดตัวไว้ เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นแพทย์ที่รักษาจะได้ทราบถึงภาวะอาการที่เป็นอยู่ เพื่อจะได้วินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างถูกต้องรวดเร็วต่อไป
  9. คุณแม่ไม่ควรทำตัวเป็นจอมขยัน ควรรู้จักปล่อยวางเรื่องงานต่าง ๆ ภายในบ้านลงบ้าง โดยให้คุณพ่อช่วยทำงานบ้านแทนไปก่อน ส่วนงานบ้านที่ไม่ใช่งานเร่งด่วนอะไรก็ปล่อยทิ้งไว้ก่อนก็ได้ครับ และทุกคนในบ้านก็ควรเอาใจใส่ในการช่วยเหลือคุณแม่ด้วย ไม่ใช่ว่างานบ้านทุกอย่างจะต้องให้คุณแม่เป็นคนทำทั้งหมด
  10. เมื่อกลับมาจากที่ทำงาน แนะนำให้คุณแม่แช่เท้าในน้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการเมื่อยล้าต่าง ๆ เพราะเท้าต้องทำหน้าที่รับน้ำหนักตัวของคุณแม่มาตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ในช่วงเวลานอนก็ควรหาหมอนมารองเท้าเพื่อยกให้ขาสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการขาบวมได้เป็นอย่างดี
  11. เหนือสิ่งอื่นใด คนท้องต้องไม่เครียดครับ ควรพยายามมองโลกในแง่ดี ควบคุมอารมณ์ให้ได้ เพราะความเครียดจะส่งผลให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตช้า รวมถึงยังอาจทำให้ลูกมีปัญหาทางด้านพัฒนาการทางสมองและพฤติกรรมในอนาคตได้อีกด้วย

งานสำหรับคนท้อง

ข้อควรระวังในการทำงานของคนท้อง

  • ทำงานหนักหรือต้องใช้แรงงาน เช่น งานกรรมกร แบกหาม หาบเร่ ฯลฯ คุณแม่ก็ต้องตระหนักว่าตัวเองต้องการเวลาพักผ่อนมากกว่าระยะปกติที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ คุณแม่ไม่ควรทำงานหนักเกินไป ถ้าหากเลี่ยงได้ก็ควรเปลี่ยนไปทำงานที่เบาลง
  • ทำงานที่ต้องยืนนาน ๆ หรือเดินมากเกินไป เพราะการยืนนาน ๆ จะทำให้คุณแม่รู้สึกปวดขาได้ เนื่องจากร่างกายต้องรับน้ำหนักมากขึ้นจากการตั้งครรภ์ ส่วนการเดินมากเกินไปก็อาจจะทำให้คุณแม่ปวดท้องได้ การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น การเดินไปเดินมาสลับกับการนั่งพักจะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสบายมากขึ้น
  • ทำงานนั่งโต๊ะในที่ทำงาน หรือเป็นงานที่ต้องใช้สายตาและความคิด เช่น พิมพ์ดีด นักบัญชี นักออกแบบ ฯลฯ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่งานหนักแต่ก็ต้องนั่งทำงานตลอดเวลาหรือต้องใช้ความคิดมาก ๆ เช่น คุณแม่ที่นั่งทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ แม้จะไม่มีผลเสียต่อเจ้าตัวน้อย แต่ก็ทำให้เกิดความเครียดและมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะอาการปวดหลังจากการที่ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ ได้ คุณแม่ที่ทำงานในลักษณะดังกล่าวควรหาเวลาพักผ่อนคลายเพื่อยืดเส้นยืดสายหรือบริหารร่างกายบ้างเป็นระยะ ๆ (ควรหยุดพักประมาณ 15 นาทีเมื่อทำงานครบ 2 ชั่วโมง) และหาเก้าอี้มารองเพื่อยกเท้าให้สูงขึ้น เพื่อช่วยให้เลือดไหลเวียนกลับเข้าสู่หัวใจได้สะดวก ส่วนการนั่งให้ถูกท่าและหาหมอนมาพิงไว้ที่หลังก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังและความเมื่อยล้าได้เช่นกัน
  • ทำงานเป็นกะหรือเป็นเวร โดยเฉพาะเวรดึกควรจะหลีกเลี่ยงแล้วขอเปลี่ยนมาทำงานในกะกลางวันแทน เพื่อคุณแม่จะได้นอนหลับพักผ่อนได้ในเวลากลางคืน เนื่องจากในช่วงกลางคืนจะเป็นช่วงที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเจริญเติบโต (Growth Hormone) ซึ่งฮอร์โมนนี้จะช่วยทำให้ทารกในครรภ์เจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของคุณแม่ได้ การได้นอนหลับอย่างเต็มอิ่มในเวลากลางคืนจึงส่งผลดีต่อสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์มากกว่าการนอนกลางวัน ส่วนคุณแม่บางคนในขณะที่ยังไม่ได้ตั้งครรภ์เคยทำงานวันละสองกะหรือทำงานนอกเวลางานปกติหรือที่เรียกกันว่าทำโอที (Over Time) เพื่อเพิ่มรายได้ ผมขอแนะนำว่า ควรงดหรือลดเวลาในการทำงานลงเหลือสักวันละ 8-9 ชั่วโมงก็เกินพอแล้วครับ
  • งานที่เกี่ยวข้องกับการสารเคมีเป็นพิษ เอกซเรย์ หรือสารกัมมันตภาพรังสี ควรงดทำไปจนกว่าจะคลอด เพราะเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับรังสี สารเคมี หรืองานที่เสี่ยงต่ออันตรายใด ๆ ที่ตัวเองไม่แน่ใจ ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ อย่าปล่อยให้เนิ่นนานหรือผัดวันประกันพรุ่ง เพราะในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ การเจริญเติบโตของลูกน้อยนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง
  • อุปกรณ์สำนักงานบางอย่างที่คุณแม่ควรระวัง คือ เครื่องถ่ายเอกสาร เพราะจะมีรังสีเอกซเรย์แผ่ออกมาด้วย รวมทั้งผงถ่านคาร์บอนที่ฟุ้งกระจายอยู่ในห้อง ถ้าคุณแม่ต้องทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสารติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
  • สถานที่ทำงานมีมลพิษ มลพิษในที่ทำงาน ควันบุหรี่ และการถ่ายเทของอากาศที่ไม่ดีพอ สามารถทำให้คุณแม่มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และมีอาการเบื่ออาหารได้ สำหรับการหลีกเลี่ยงควันบุหรี่ คุณแม่อาจขอร้องให้เพื่อนร่วมงานงดสูบบุหรี่ในที่ทำงานได้ เพราะในปัจจุบันนี้มีกฎระเบียบที่ห้ามสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่าง ๆ และมีการกำหนดเขตปลอดบุหรี่ไว้ด้วย ส่วนงานที่มีมลพิษทางเสียงที่ดังมาก ๆ ก็ควรระวังไว้เช่นกันครับ
  • สภาพร่างกายเรื่องสำคัญ นอกจากลักษณะการทำงานแล้ว ยังขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่แต่ละคนด้วย เพราะบางคนเคยมีประวัติการแท้งบุตรง่ายมาก่อน หรือมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการแท้ง ก็อาจจะต้องพักผ่อนมากกว่าปกติหรือต้องหยุดทำงานไปเลย ถ้าคุณแม่ไม่แน่ใจก็ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวที่คุณแม่ไปฝากครรภ์จะดีที่สุดครับ (โดยปกติแล้วหมอจะห้ามไม่ให้คุณแม่ทำงานในกรณีที่เคยแท้งบุตรมาก่อน, เคยมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดมากกว่า 1 ครั้ง, มีภาวะความดันโลหิตสูง, มีภาวะเบาหวาน และคุณแม่ตั้งครรภ์แฝด เพราะโรคหรืออาการเหล่านี้ล้วนมีผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อย)
  • งานบ้านบางอย่างก็ต้องระวัง งานบ้านที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ การยกของหนัก, การเปลี่ยนกระบะทรายแมวหรือเก็บอึน้องหมา (เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อปรสิตและเชื้อโรค), การทำความสะอาดหน้าต่าง (เพราะมีโอกาสลื่นล้มได้ง่าย และอาจเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีรุนแรงที่ใช้สำหรับทำความสะอาดกระจก), การกวาดและถู (เพราะจะทำให้ปวดหลังและเอ็นร้อยหวายได้ แต่การกวาดและถูจะที่เป็นสิ่งที่พอทำได้หากพื้นที่ในบ้านไม่กว้างมากนัก), การทำความสะอาดผ้าม่านและพัดลมเพดาน (รวมถึงงานที่ต้องปีนหรือใช้การทรงตัวบนเก้าอี้หรือบันได เพราะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ), การล้างจาน (เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ควรสวมถุงมือ เพราะผิวของคุณแม่จะบอบบางในขณะตั้งครรภ์), การดูดฝุ่น (การดูดฝุ่นรอบบ้านอาจทำให้คุณแม่เหนื่อยมาก และไม่ควรเปลี่ยนถุงกรองฝุ่นด้วยตัวเองในขณะตั้งครรภ์), การใช้สารเคมีต่าง ๆ (อย่างเช่นยาฉีดยุง น้ำยาทำความสะอาดเตาอบ สารฟอกขาว ฯลฯ)

ความเครียดในการทำงานมีผลต่อลูกอย่างไร

ความเครียดในการทำงานจะส่งผลต่อการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจของลูกไม่มากก็น้อย ถ้าคุณแม่เครียดมาก ๆ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการไหลเวียนของโลหิต เป็นผลให้เกิดความดันโลหิตสูง เลือดก็จะไปเลี้ยงมดลูกไม่พอ จึงส่งผลให้ลูกน้อยในครรภ์ตัวเล็กกว่าที่ควร

ส่วนคุณแม่ที่มีเรื่องตื่นเต้น เสียใจอยู่บ่อย ๆ จะทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เดี๋ยวเร็วเดี๋ยวช้า ซึ่งอาจจะมีผลต่อพัฒนาการทางด้านจิตใจของลูกในอนาคตได้

ผ่อนคลายความเครียดในวันทำงานของคนท้อง

  • ยกเท้าให้สูงไว้ คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรทำตัวเป็นนักเดินทน ยืนทน คุณแม่ควรหาเวลานั่งพักเสียบ้าง แต่ไม่ควรนั่งแบบห้อยเท้า ถ้าเป็นไปได้ให้พยายามยกขาพาดไว้บนเก้าอี้เสมอ ซึ่งคุณแม่อาจหาเก้าอี้ตัวเตี้ย ๆ มาไว้สำหรับวางขาและระมัดระวังเวลาจะลุกขึ้นยืน อย่ารีบร้อนจนเกินไป
  • ฝึกนั่งยอง ๆ การนั่งท่ายอง ๆ บ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอเมื่อมีโอกาส จะช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณเชิงกรานและต้นขาของคุณแม่แข็งแรงขึ้น แถมยังช่วยให้คุณแม่ผ่านสมรภูมิการคลอดไปได้อย่างสบายขึ้นอีกด้วย
  • บริหารร่างกายเพื่อผ่อนคลาย ในขณะทำกิจวัตรประจำวัน คุณแม่สามารถบริหารร่างกายได้แทบจะตลอดเวลา เช่น การบริหารต้นคอ หัวไหล่ เชิงกราน จะช่วยให้ผ่อนคลายหายปวดเมื่อย ทั้งยังช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกอีกด้วย
  • ของว่างใกล้มือ อย่าลืมว่าคุณแม่ตั้งครรภ์จะต้องมีของกินจุบจิบไว้สำหรับรับประทานยามหิวฉับพลัน แต่ของว่างที่ว่านี้จะต้องเป็นของที่มีประโยชน์เท่านั้น คุณแม่อย่าได้เผลอกินเพลินจนทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว ของว่างเบา ๆ เช่น ผลไม้สด คุกกี้ ขนมปังกรอบสักแผ่น ฯลฯ เหล่านี้จะช่วยทำให้คุณแม่รู้สึกสดชื่นและอิ่มท้องได้บ้าง
  • หาเพื่อนพูดคุย คุณแม่สามารถทำงานได้อย่างมีความสุขในขณะตั้งครรภ์ อาจจะได้พบคนที่เคยมีประสบการณ์การตั้งครรภ์มาก่อนในที่ทำงานก็ได้ การชวนพูดคุย ถามไถ่ หรือบอกเล่าถึงความรู้สึกร่วมกัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายความเครียดในวันทำงานได้ดี ทั้งยังช่วยให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวและความคิดไม่หยุดนิ่งได้ด้วย

สิทธิในการทำงานที่พึงได้ของคนท้อง

โดยทั่วไปทุกคนต่างก็ต้องมีหน้าในการทำงานเป็นของตัวเองในทุก ๆ วัน คงไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานไหนยินยอมให้คุณแม่หยุดงานยาวในระหว่างการตั้งครรภ์ ยกเว้นในกรณีที่เจ็บป่วยจริง ๆ คุณแม่ส่วนมากจึงยังคงต้องไปทำงานตามปกติ แต่การลางานไปพบหมอเป็นครั้งคราวนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่คงไม่มีเจ้านายคนไหนบ่นว่า แต่คุณแม่ก็ควรแจ้งการลาทุกครั้ง อย่าได้ขาดหายไปโดยไม่บอกกล่าว และเมื่อจะต้องลาคลอดคุณแม่ก็อย่าลืมแจ้งกำหนดวันลาคลอดไว้ด้วยว่าจะเริ่มหยุดงานตั้งแต่เมื่อไหร่ และจะกลับมาทำงานได้อีกครั้งวันไหน

เมื่อพูดถึงผู้หญิงแล้วทำให้ผมนึกถึงภาระอันยิ่งใหญ่ที่ผู้ชายทำไม่ได้ นั่นก็คือการตั้งครรภ์และการคลอดลูกครับ ด้วยภาระหน้าที่ตามธรรมชาตินี้จึงส่งผลให้มีกฎหมายเข้าไปคุ้มครองคุณแม่ที่ทำงานให้ได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่กฎหมายให้ความคุ้มครองดังนี้

  • มาตรา 39 ห้ามมิให้นายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ทำงานในระหว่างเวลา 4 ทุ่ม ถึง 6 โมงเช้า, ห้ามทำงานล่วงเวลา (ส่วนลูกจ้างที่ทำงานในตำแหน่งผู้บริหาร งานวิชาการ งานธุรการ งานเกี่ยวกับการเงินหรือบัญชี สามารถทำงานล่วงเวลาในวันทำงานได้ แต่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน), ห้ามทำงานในวันหยุด หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ได้แก่ งานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ที่มีความสั่นสะเทือน, งานขับเคลื่อนหรือติดไปกับยานพาหนะ, งานยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักเกิน 15 กิโลกรัม, งานที่ทำในเรือ และงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมายครับ
  • สิทธิในการขอเปลี่ยนรูปแบบงาน ในกรณีที่ลูกจ้างซึ่งตั้งครรภ์มีใบรับรองแพทย์มาแสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้อีกต่อไป (เพราะอาจส่งผลต่อทารกและสุขภาพของเธอ) ลูกจ้างมีสิทธิขอให้นายจ้างเปลี่ยนงานในหน้าที่เดิมเป็นการชั่วคราวในช่วงก่อนหรือหลังคลอดได้ แล้วให้นายจ้างพิจารณาเปลี่ยนงานให้ในตำแหน่งที่เหมาะสม หากนายจ้างฝ่าฝืนจะมีโทษตามที่กฎหมายกำหนด
  • ไล่ลูกจ้างออกเพราะเหตุตั้งครรภ์ไม่ได้ (มาตรา 42) นายจ้างบางคนคิดว่าหญิงตั้งครรภ์จะทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิมก็เลยไล่ออกด้วยเหตุที่มาจากการตั้งครรภ์ แบบนี้กฎหมายไม่อนุญาตครับ นายจ้างจะมาอ้างด้วยเหตุผลร้อยแปดไม่ได้ หากฝ่าฝืนก็จะมีโทษทางอาญาครับ คือมีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (แต่กฎหมายไม่ได้ห้ามนายจ้างเลิกจ้างในเหตุผลอื่น หรือในกรณีที่ลูกจ้างทำผิดครับ เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ ขาดงานติดต่อกัน 3 วันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสีย ทำผิดซ้ำใบเตือน ฯลฯ กรณีแบบนี้นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ครับ)
  • นอกจากคุณแม่จะได้รับการคุ้มครองระหว่างการทำงานแล้ว ในมาตรา 41 กฎหมายยังคุ้มครองลูกจ้างมีสิทธิลาคลอดในแต่ละครรภ์ได้ไม่เกิน 3 เดือนด้วยครับ โดยลูกจ้างยังได้รับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลาไม่เกิน 45 วัน ส่วนค่าจ้างอีก 45 วันที่เหลือนั้นลูกจ้างสามารถไปขอประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคมได้อีกด้วย นอกจากนี้ในบางหน่วยงานก็ยังให้สิทธิพิเศษเพิ่มเติมในเรื่องการลาคลอดอีกครับ

ลาคลอดเมื่อไหร่ดี

ในช่วงเดือนหลัง ๆ ของการตั้งครรภ์ ร่างกายในส่วนต่าง ๆ ของคุณแม่จะต้องทำงานหนักขึ้น กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ และข้อต่อต่าง ๆ ก็ต้องทำงานหนักขึ้นด้วย การพักผ่อนให้สุขสบายอย่างเพียงพอและเตรียมตัวเตรียมใจสำหรับวันคลอดที่ใกล้จะมาถึงจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก คุณหมอส่วนใหญ่จึงมักจะแนะนำให้คุณแม่ลาพักงานเมื่อมีอายุครรภ์ได้ 32 สัปดาห์ เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน มีเวลาเตรียมตัว และจัดการเรื่องต่าง ๆ คุณแม่ไม่ควรกังวลหรือขยันทำงานมากจนเกินไป ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์ที่คุณแม่ไปฝากครรภ์ไว้จะดีที่สุดครับ (แต่สำหรับคุณแม่ทั่วไปมักจะใช้สิทธิลาคลอดในช่วง 1-2 สัปดาห์ก่อนถึงวันกำหนดคลอดครับ)

หลังคลอดจะกลับไปทำงานเมื่อไหร่ดี

เมื่อลูกน้อยออกมาลืมตาดูโลกแล้ว คุณแม่บางคนมักจะติดหนักเพราะไม่อยากจะจากลูกไปไหนแม้แต่เพียงเสี้ยววินาทีเดียว แต่ความเป็นห่วงเรื่องงานก็ยังมีความจำเป็นอยู่ คุณแม่จึงควรสอบถามเรื่องการลาคลอดกับที่ทำงานไว้ให้ชัดเจนตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่มักจะให้สิทธิลาคลอดโดยไม่หักเงินเดือนได้ 45 วัน และคุณแม่สามารถหยุดงานต่อไปได้อีก 45 วันโดยไม่ได้รับเงินเดือน แต่จะได้รับเงินทดแทนการเสียรายได้จำนวนเท่ากับเงินเดือน รวมถึงค่าคลอดบุตร 13,000 บาทจากกองทุนประกันสังคม

สำหรับคุณแม่ที่เป็นข้าราชการคงจะดีใจขึ้นมาอีกหน่อย เพราะสามารถลาคลอดได้ 60 วัน โดยได้รับเงินเดือนเต็มปกติทุกเดือน แถมยังสามารถลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูลูกได้อีก 30 วันอีกด้วย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “การตั้งครรภ์และการทำงาน”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์).  หน้า 102-103.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การทำงานระหว่างตั้งครรภ์”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ).  หน้า 108-109.

ภาพประกอบ : www.pbs.org, wnorthtexaslegalnews.com, www.babynature.co.za

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด