ข้าวโพด สรรพคุณและประโยชน์ของข้าวโพดหวาน 44 ข้อ !

ข้าวโพด

ข้าวโพด ชื่อสามัญ Corn, Indian corn, Maize

ข้าวโพด ชื่อวิทยาศาสตร์ Zea mays Linn. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)[1],[2],[4]

ข้าวโพด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวแช่ (แม่ฮ่องสอน), ข้าวสาลี เข้าสาลี สาลี (ภาคเหนือ), โพด (ภาคใต้), บือเคส่ะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เข้าโพด (ไทย), เป๊ากื่อ (ม้ง), แผละลี (ลั้วะ), ข้าวแข่ (เงี้ยว, ฉาน, แม่ฮ่องสอน), เง็กบี้ เง็กจกซู่ (จีน), ยวี่หมี่ ยวี่สู่สู่ (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[3],[4]

ลักษณะของข้าวโพด

  • ต้นข้าวโพด จัดเป็นไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ในปัจจุบันมีการปลูกทั่วไปในเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วโลก ลำต้นนั้นมีลักษณะอวบกลมและตั้งตรงแข็งแรง มีความสูงของต้นประมาณ 1-4 เมตร ผิวต้นเรียบ เนื้อภายในฟ่ามคล้ายกับฟองน้ำ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด[1],[2],[4]

ต้นข้าวโพด

  • ใบข้าวโพด ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ใบมีลักษณะเรียวยาวเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบมนและมีขนอ่อน ๆ สีขาว เส้นกลางใบมองเห็นได้ชัดเจน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 30-100 เซนติเมตร ส่วนก้านใบเป็นกาบหุ้มลำต้น[1],[2],[3],[4]

ใบข้าวโพด

  • ดอกข้าวโพด ออกดอกเป็นช่อ ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะออกดอกเป็นช่อและออกที่ปลายยอด ส่วนดอกเพศเมียจะอยู่ต่ำถัดลงมา ออกระหว่างกาบของใบและลำต้น เรียงเป็น 2 แถว มีประมาณ 8-18 ดอก ดอกย่อยจะมีก้านเกสรเพศผู้จำนวน 9-10 ก้าน และมีอับเรณูสีเหลืองส้ม ยาวประมาณ 5 มิลลิเมตร ส่วนยอดเกสรเพศเมียเป็นเส้นบาง ๆ ยื่นออกมาเป็นจำนวนมาก คล้ายกับเส้นไหมจำนวนมาก (บ้างก็เรียกว่าหนวดข้าวโพด) โดยจะอยู่ระหว่างกาบใบและลำต้น และดอกเพศเมียเมื่อเจริญเติบโตแล้วก็จะออกเป็นฝักหรือเรียกว่าผล[1],[2],[3]

ดอกข้าวโพดเพศผู้

ดอกข้าวโพดตัวผู้

ดอกข้าวโพดเพศเมีย

  • ผลข้าวโพด ออกผลเป็นฝัก ผลถูกหุ้มไปด้วยกาบบาง ๆ หลายชั้น ฝักอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีนวล เรียกว่าเปลือกข้าวโพด ฝักมีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ในหนึ่งฝักจะมีเมล็ดอยู่รอบฝักเรียงเป็นระเบียบรอบแกนกลางของฝัก เมล็ดจะเกาะอยู่เป็นแถวประมาณ 8 แถว แต่ละแถวจะมีประมาณ 30 เมล็ดและมีสีต่าง ๆ กัน เช่น สีนวล เหลือง ขาว หรือสีม่วงดำ[1],[2]

ฝักข้าวโพด

ชนิดของข้าวโพด

เราสามารถจำแนกข้าวโพดตามพฤกษศาสตร์ โดยแยกตามลักษณะภายนอกของเมล็ดและลักษณะของแป้ง โดยแบ่งได้ 7 ชนิด ดังนี้

  1. ข้าวโพดไร่ชนิดหัวบุบ (Dent corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays indentata เมล็ดตอนบนจะมีรอยบุบสีขาว เนื่องจากตอนบนเป็นแป้งชนิดอ่อน ส่วนด้านข้างเป็นแป้งชนิดแข็ง เมื่อนำมาตากแห้งจึงเกิดการยุบตัว[6]
  2. ข้าวโพดไร่ชนิดหัวแข็ง (Flint corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays indurate เป็นชนิดที่มีลักษณะของเมล็ดค่อนข้างแข็งแรง กลม เรียบ หัวไม่บุบ ด้านนอกถูกห่อหุ้มไปด้วยแป้งชนิดแข็ง เมื่อนำมาตากแห้งจึงไม่หดตัวหรือยุบตัว โดยมีขนาดของฝักและจำนวนแถวของเมล็ดน้อยกว่าชนิดหัวบุบ[6]
  3. ข้าวโพดหวาน (Sweet corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays saccharata ชนิดนี้เป็นข้าวโพดที่ใช้ปลูกเพื่อรับประทานฝักสดโดยเฉพาะ เมล็ดมีลักษณะอ่อนใสและโปร่งแสง มีรสหวานอร่อย เนื่องจากมีน้ำตาลมาก เมื่อเมล็ดแก่จะเกิดการหดตัวและเหี่ยวย่น[6]
  4. ข้าวโพดคั่ว (Pop corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays everta เมล็ดมีขนาดค่อนข้างเล็ก มีแป้งแข็งอยู่ภายใน ภายนอกห่อหุ้มไปด้วยสารที่ค่อนข้างเหนียวและยืดตัวได้ ภายในเมล็ดมีความชื้นอยู่พอสมควร เมื่อถูกความร้อนจะทำให้เกิดแรงดันภายในเมล็ด เมื่อร้อนถึงขีดสุดก็จะระเบิดออกมา ซึ่งโดยทั่วไปอาจแบ่งตามรูปร่างของเมล็ดได้เป็น 2 จำพวก คือ พวกหัวแหลม หรือ rice pop corn และพวกเมล็ดกลม pearl pop corn โดยเมล็ดจะมีสีต่างกันออกไป เช่น ขาว เหลือง ส้ม ม่วง เป็นต้น ส่วนฝักก็มีขนาดต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ 5-10 เซนติเมตร[6]
  5. ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือ ข้าวโพดเทียน (Waxy corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays ceratina ลักษณะของเมล็ดมีความเหนียวคล้ายขี้ผึ้ง แป้งที่ได้จะมีลักษณะคล้ายกับแป้งมันสำปะหลัง ใช้ปลูกเพื่อทำเป็นแป้งที่มีคุณภาพคล้ายกับแป้งมัน นิยมใช้ปลูกเพื่อรับประทานฝักสดคล้ายกับข้าวโพดหวาน แม้รสจะไม่หวานเท่า แต่เมล็ดนิ่ม มีรสอร่อย รับประทานแล้วไม่ติดฟัน โดยเมล็ดจะมีสีต่าง ๆ กัน เช่น ขาว เหลือง ส้ม ม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน[6]
  6. ข้าวโพดแป้ง (Flour corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays amylacea เมล็ดจะประกอบไปด้วยแป้งชนิดอ่อนปริมาณมาก ลักษณะของเมล็ดคล้ายกับเมล็ดข้าวโพดไร่ชนิดหัวแข็ง แต่หัวจะไม่บุบหรืออาจบุบเล็กน้อย ชนิดนี้จะมีเมล็ดประมาณ 8-12 แถว ชาวอินเดียแดงใช้ทั้งฝักสดและฝักแก่เป็นอาหาร[6]
  7. ข้าวโพดป่า (Pod corn) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zea mays tunicate เมล็ดมีเปลือกหุ้มทุกเมล็ด และยังมีเปลือกฝักอีกชั้นหนึ่ง โดยเมล็ดจะมีลักษณะต่าง ๆ กัน คือ มีทั้งหัวบุบ หัวแข็ง ข้าวโพดแป้ง ข้าวโพดหวาน หรือข้าวโพดคั่ว ซึ่งข้าวโพดชนิดนี้ไม่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจเลย เพียงแต่ปลูกไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น[6]

สรรพคุณของข้าวโพด

  1. เมล็ดมีรสหวานมัน ช่วยบำรุงร่างกาย (เมล็ด)[1]
  2. หากความจำเสื่อมหรือลืมง่าย ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมียแห้งเอามาใส่ในกล้องยาสูบแล้วใช้จุดสูบ (เกสรเพศเมีย)[4]
  3. เมล็ดช่วยบำรุงปอดและหัวใจ (เมล็ด)[1],[2],[4]
  4. ยอดเกสรเพศเมียและฝอยข้าวโพดใช้เป็นยาแก้เบาหวาน ด้วยการใช้ยอดเกสรเพศเมียที่ตากแห้งแล้วประมาณ 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เกสรเพศเมีย, ฝอย)[2],[3],[4]
  5. ยอดเกสรเพศเมียหรือไหมข้าวโพดและฝอยข้าวโพดช่วยแก้โรคความดันโลหิตสูง ตามตำรับยาจะใช้ยอดเกสรเพศเมียที่แห้งแล้ว เปลือกกล้วยแห้ง และเปลือกแตงโมแห้งอย่างละเท่ากัน นำมาต้มกับน้ำดื่ม (เกสรเพศเมีย, ฝอย)[1],[2],[3],[4]
  1. ต้นและเมล็ดช่วยทำให้เจริญอาหาร (ต้น, เมล็ด)[2],[4]
  2. เกสรเพศเมียมีรสหวาน เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะลำไส้และทางเดินปัสสาวะ มีสรรพคุณขับความร้อนชื้น แก้อาการกระหายน้ำ (เกสรเพศเมีย)[2],[3]
  3. ช่วยแก้ไข้ทับระดู (ต้น)[2]
  4. ช่วยแก้โลหิตกำเดา (เกสรเพศเมีย)[2],[3],[4]
  5. หากตรากตรำทำงานหนัก มีอาการไอเป็นเลือดหรือตกเลือด ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมีย นำมาต้มกับเนื้อสัตว์รับประทาน (เกสรเพศเมีย)[4]
  6. ช่วยแก้อาการคลื่นไส้อาเจียน (ฝอย)[2] รากและเมล็ดช่วยแก้อาการเจียน (ราก, เมล็ด)[2] รากและเกสรเพศเมียช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นโลหิต ด้วยการใช้รากข้าวโพดแห้งประมาณ 60-120 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม (ราก, เกสรเพศเมีย)[1],[3],[4]
  7. ช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบ จมูกอักเสบเรื้อรัง (เกสรเพศเมีย)[1],[3],[4]
  8. สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ โดยมีอาการเจ็บแปลบที่หน้าอกเพียงจุดใดจุดหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นซีกซ้ายหรือขวาก็ได้ และจะเจ็บเพียงชั่วขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ ที่ปอดขยายตัวเต็มที่ เลยทำให้ส่วนที่อักเสบเกิดการเสียดสีกัน ถ้าเป็นเยื่อหุ้มปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสชนิดที่ไม่รุนแรงก็จะไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แต่สำหรับอาการที่เห็นทั่วไปจะมีเหงื่อเย็น ๆ ออกจนเปียกข้างลำตัว ให้ใช้เกสรเพศเมีย 1 กิโลกรัม นำมานึ่งแล้วใช้พอกบริเวณปอด จะช่วยทำให้มีอาการดีขึ้น หรือจะนำมาต้มกับน้ำดื่มก็ได้ผลเช่นกัน (เกสรเพศเมีย)[9]
  9. ช่วยแก้เต้านมเป็นฝี (เกสรเพศเมีย)[3],[4]
  10. ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร (เมล็ด)[2],[4]
  11. ช่วยรักษาอาการอาหารไม่ย่อย ด้วยการใช้ข้าวโพด 500 กรัมและเปลือกทับทิม 120 กรัม นำมาผิงไฟให้แห้ง แล้วบดให้เป็นผง นำมาผสมกับน้ำให้ได้ประมาณ 1,500 มิลลิลิตร แล้วใช้ดื่ม 10 มิลลิลิตรต่ออายุ 1 ปี จะช่วยรักษาอาการพิษได้ และในช่วงการรักษาให้ระวังคอยดูแลระดับน้ำและอุณหภูมิของร่างกายไม่ให้เกิดความผิดปกติด้วย (ไม่ระบุแน่ชัดว่าใช้ส่วนใดของข้าวโพด)[4]
  12. สำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดโรคมะเร็งที่กระเพาะอาหาร ให้ใช้เมล็ดข้าวโพดนำมาต้มใส่เกลือเล็กน้อยและไข่ขาว แล้วนำมารับประทานเป็นอาหารเสริม (เมล็ด)[3]
  13. ซังข้าวโพดมีรสจืดชุ่ม ใช้ซังแห้งประมาณ 10-12 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาเผาเป็นถ่านผสมกับน้ำดื่มเป็นยาแก้บิด แก้อาการท้องร่วง (ซัง)[1],[2],[4]
  14. ราก เกสรเพศเมีย ซัง และเมล็ดเป็นยาขับปัสสาวะ ตามตำรับยาจะใช้รากแห้งประมาณ 60-120 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะใช้ยอดเกสรเพศเมียหรือซังข้าวโพดเอามาต้มกับน้ำดื่มแทนน้ำชาก็ได้ (ราก, เกสรเพศเมีย, ฝอย, ซัง, เมล็ด)[1],[2],[3],[4] ใช้เกสรเพศเมียประมาณ 10-20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มทุกวันเป็นยาแก้โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังหรือเฉียบพลัน ช่วยแก้โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ รวมถึงนิ่วในอวัยวะอื่น ๆ ด้วย (เกสรเพศเมีย)[9] ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะกะปริดกะปรอย แก้นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (ลำต้น, ใบ, เกสรเพศเมีย)[3] ช่วยแก้ปัสสาวะขัด (ซัง)[2] ราก ต้น และใบมีรสออกหวาน ใช้เป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว ตามตำรับยาให้ใช้ต้นและใบสดหรือแห้งจำนวนพอสมควร นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้นิ่ว ขับนิ่ว ถ้าเป็นรากให้ใช้รากแห้งประมาณ 60-120 กรัมนำมาต้มกับดื่ม (ราก, ต้นและใบ, ฝอย)[1],[2],[4]
  15. เกสรเพศเมียหรือไหมข้าวโพดมีรสออกหวาน ช่วยขับนิ่วในถุงน้ำดี กระตุ้นให้น้ำดีขับเคลื่อน แก้ถุงน้ำดีอักเสบ มะเร็งในถุงน้ำดี และช่วยบำรุงน้ำดี (เกสรเพศเมีย)[1],[2],[4],[9]
  16. เกสรเพศเมียช่วยบำรุงตับ แก้ตับอักเสบ ตับอักเสบเป็นดีซ่าน แก้ดีซ่าน แก้ไตอักเสบ ซึ่งตามตำรับยาแก้ไตอักเสบจะใช้เกสรเพศเมีย 30 กรัม, หญ้าหนวดแมว 20 กรัม, หญ้าคา 20 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 25 กรัม, ข้าวเย็นใต้ 25 กรัม และโกฐน้ำเต้า 5 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือหากไตอักเสบหรือเริ่มเป็นนิ่วที่ไต ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมียพอประมาณ นำมาต้มจนข้นแล้วนำมากิน หรือหากเป็นโรคไตอักเสบเรื้อรัง ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมียแห้ง 50 กรัมนำมาต้มกับน้ำกิน โดยจะมีฤทธิ์ช่วยขับปัสสาวะ ทำให้ไตทำงานได้ดีขึ้นจากอาการบวมน้ำและปริมาณของอัลบูมิน (albumin) ในปัสสาวะนั้นลดลง โดยคนไข้ที่กินติดต่อกันนาน 6 เดือนยังไม่พบอาการเป็นพิษแต่อย่างใด ส่วนอีกตำรับยาที่ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับไต ให้ใช้ยอดเกสรเพศเมียแห้ง 60 กรัม นำมาต้มกับกินวันละ 2 ครั้ง แล้วให้กินโพแทสเซียมคลอไรด์ร่วมด้วย โดยทั่วไปเมื่อกินยานี้ไปแล้ว 3 วัน ปัสสาวะจะมากขึ้น ปริมาณของอัลบูมินและสารจำพวกไนโตรเจนที่ไม่ใช่โปรตีนในปัสสาวะนั้นจะลดลง และคนไข้บางรายจะมีปริมาณของอัลบูมินในโลหิตสูง ส่วนบางรายความดันโลหิตจะลดลงจนสู่ระดับปกติ (เกสรเพศเมีย)[1],[2],[3],[4],[9] ช่วยรักษาไต (ฝอย)[2]
  17. ใช้ซังแห้งประมาณ 10-12 กรัมนำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาเผาเป็นถ่านผสมกับน้ำกินเป็นยาบำรุงม้าม (ซัง)[1],[4]
  18. ช่วยแก้อาการบวมน้ำ ด้วยการใช้ซังแห้งประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือนำมาเผาให้เป็นถ่านแล้วผสมกับน้ำกิน หรือจะใช้ซังข้าวโพดแห้ง 60 กรัมผสมกับฮวงเฮียงก้วย 30 กรัม (ผลของ Liquidambar taiwaniana Hance.) นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนเกสรเพศเมียช่วยแก้อาการบวมน้ำ ขาบวม ซึ่งตามตำรับยาจะใช้เกสรเพศเมีย 30 กรัม, หญ้าหนวดแมว 20 กรัม, หญ้าคา 20 กรัม, ข้าวเย็นเหนือ 25 กรัม, ข้าวเย็นใต้ 25 กรัม และโกฐน้ำเต้า 5 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ส่วนอีกตำรับจะใช้เกสรเพศเมีย 50 กรัม ผสมกับเมล็ดเทียนเกล็ดหอย 15 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง (เกสรเพศเมีย, ซัง)[1],[2],[3],[4],[9]
  19. เมล็ดนำมาบดพอกแผลเพื่อทำให้เยื่ออ่อนนุ่มไม่ให้เกิดการระคายเคือง (เมล็ด)[1],[4]
  20. หากเกิดบาดแผล ให้ใช้เกสรเพศเมียสด ๆ นำมาตำให้ละเอียดแล้วใช้เป็นยาพอกแผล จะช่วยทำให้อาการดีขึ้น (เกสรเพศเมีย)[9]
  21. สำหรับเด็กที่เป็นแผลที่ผิวหนัง และมีเลือดออก ให้ใช้ซังข้าวโพดนำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วนำมาผสมกับน้ำมันเมล็ดป่านหรือน้ำมันพืช ใช้เป็นยาทา (ซัง)[4]
วิธีใช้และขนาดที่ใช้
  • การใช้ตาม [2] ถ้าเป็นยอดดอกข้าวโพดหรือยอดเกสรเพศเมีย ให้ใช้ 100 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น หากเป็นฝอยข้าวโพด ให้ใช้ 1 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่มเช้าและเย็น และถ้าเป็นเมล็ดข้าวโพดหรือน้ำมันข้าวโพดให้นำมาใช้ปรุงอาหาร[2]
  • การใช้ตาม [3] เกสรเพศเมียหรือหนวดข้าวโพด ให้ใช้หนวดข้าวโพดแห้ง 30-60 กรัมนำมาต้มกับน้ำกิน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับยา[3]
  • การใช้ตาม [4] ซังแห้งให้ใช้ประมาณ 10-12 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน หรือเอามาเผาเป็นถ่านผสมกับน้ำกิน หากใช้ภายนอกให้นำมาเผาให้เป็นเถ้า แล้วบดผสมกันใช้เป็นยาทา ส่วนยอดเกสรเพศเมียหรือไหมข้าวโพดหรือหนวดข้าวโพด ใช้แห้งประมาณ 30-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำกินหรือเอามาเผาให้เป็นเถ้าแล้วบดผสมกิน หรือใช้ภายนอกนำมาใช้สูบหรือรมควัน[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวโพด

  • สารสำคัญที่พบ ได้แก่ aconitic acid, aniline, allantoin, astragalin, β glucopyranoside, glucoside, quercetin, squalene, stigmastrol, tocopherol, rhamnetin, vanillin, zeamatin, zeanin, zeanoside A, zeanoside B, zeanoside C[2]
  • ในต้นอ่อนข้าวโพดจะมี α-carotene, β-carotene, neoxanthin, lutein, zeaxanthin และ violaxanthin[4]
  • ทั้งต้นข้าวโพดจะมี 2,4-dihydroxy-7-methoxy-l,4-benzoxazin-3-one จะอยู่ในพืชในรูปของ glycoside และมี 2,4-dihydroxy-6,7 -dimethoxy-2H-l,4-benzoxazin-3-one และ cyclic hydroxamic acids อีก 2 ชนิด และยังมี glutathione โดยจะมีมากในต้นที่ปลูกในเขตอบอุ่น ส่วนรากข้าวโพด จะมี 1,4-benzoxazin-3-one[4]
  • ลำต้นข้าวโพดมี carotenes ประมาณ 2% และมีน้ำตาลอยู่พอประมาณ และจากการทดลองพบว่าต้นสดจะมีน้ำตาลทราย (Sucrose) 6.4% และมี invert sugars 1.2%[4]
  • ในใบข้าวโพดมีโปรตีนประมาณ 13-14%, ใยอาหาร 1.3%, เถ้า 2.5%, ไนโตรเจน 7.6% ของน้ำหนักแห้ง สารสกัดจากใบอาจนำมาใช้ผสมในอาหารที่ขาด methionone และ lysine ได้ และใบข้าวโพดยังมีโปรตีนที่มีธาตุเหล็กที่เรียกว่า feredoxin ซึ่งมีอยู่ใน Chloroplasts ทำหน้าที่เป็น electron carrier ในการสังเคราะห์แสง และยังมีพวกเอสเตอร์ของ coumaric acid, caffeic acid และ ferulic acid[4]
  • ในข้าวโพดมีแป้ง 61.2%, ไขมัน 4.2-4.75%, Alkaloid 0.21%, Zeaxanthin (สีเหลืองของข้าวโพด), กลูโคส, น้ำตาล, วิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 6, วิตามินอี, แคลเซียม, และแมกนีเซียม เป็นต้น[3]
  • น้ำมันข้าวโพดประกอบไปด้วยกรดไขมัน คือ กรดไลโนเลอิก (Linoleic) 50%, กรดโอเลอิก (Oleic) 37% กรดปาล์มิติก (Palmitic) 10% และกรดสเตียริก (Stearic) 3%[4]
  • ในเกสรเพศเมียหรือที่เรียกว่าหนวดข้าวโพด มีน้ำมันประมาณ 2.5%, น้ำมันระเหย 0.12%, ลาเท็ค 2.8%, ยาง 2.7%, กลูโคสกลูโคลิน 1.15%, ซาโปนิน 3.18%, อัลคาลอยด์ 0.005% และยังมีวิตามิน K3 และ Maizenic acid เป็นต้น[3]
  • ในละอองเกสรเพศผู้จะมีสารสีเหลืองเป็น guercetin[4]
  • ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่พบ ได้แก่ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือด ต้านการตีบของหลอดเลือด ลดผลของ Alloxan ที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดเบาหวาน ช่วยขับปัสสาวะ ละลายนิ่วที่ไต บรรเทาโรคกระดูกอ่อน บรรเทาอาการปวด บำรุงประสาท เพิ่มตัวรับอินซูลินที่เม็ดเลือดแดง[2]
  • ในซังข้าวโพดพบสารกลูโคลินหลายชนิดที่ช่วยต่อต้านมะเร็งได้[3]
  • เมื่อปี ค.ศ.1988 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองในหนูทดลอง โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 4 กลุ่ม โดย กลุ่มที่ 1 ให้น้ำมันมะกอก 5% (ทดลองกับหนู 9 ตัว), กลุ่มที่ 2 ให้ข้าวโพด (ทดลองกับหนู 6 ตัว), ส่วนกลุ่มที่ 3 และ 4 ให้อาหารปลาและ perilla กลุ่มละ 3 ตัว โดยใช้เวลาทดลอง 2 สัปดาห์ แล้วนำมาวัดตรวจระดับไขมันในเลือด พบว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันมะกอกและข้าวโพดมีระดับ TC และ TF ที่ลดลงกว่าเดิม[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.1989 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองใช้น้ำมันข้าวโพดกับอาสาสมัครที่มีระดับไขมันในเลือดสูงจำนวน 4 คน (มีระดับคอเลสเตอรอล 241 mg./dl.) โดยให้น้ำมันข้าวโพดในขนาด 30 กรัม เป็นระยะเวลา 7 วัน ภายหลังการทดลองพบว่าระดับไขมันลดลงเหลือ 111 mg./dl.[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2005 ที่ประเทศจีน ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันของข้าวโพด โดยทำการทดลองในหนูจำนวน 70 ตัว โดยแบ่งออกเป็น 7 กลุ่ม ให้หนูกลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม ส่วนอีก 6 กลุ่มที่เหลือให้ข้าวโพดเป็นอาหารในขนาดต่าง ๆ 5% และมากกว่า 5% ของน้ำหนักตัวของหนู โดยใช้ระยะเวลาทดลอง 10 สัปดาห์ หลังการทดลองพบว่าหนูในกลุ่มที่ให้ข้าวโพดจะมีค่าคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลดลง P < 0.05[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศจีน ได้ทำการทดลองในหนูจำนวน 80 ตัว โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ให้กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มควบคุม ส่วนกลุ่มที่เหลือให้สารอาหารที่มีข้าวโพดในปริมาณ 3.5, 1.75, และ 0.88 gm./kg. โดยให้วันละ 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 35 วัน หลังจากการทดลองได้ทำการตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณไขมัน พบว่าระดับไขมันในเลือดลดลง[2]
  • เมื่อปี ค.ศ.2006 ที่ประเทศไทย ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันในเลือดจากข้าวโพด โดยทำการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 22 คนที่มีอายุเฉลี่ย 32-75 ปี (เป็นผู้ชาย 11 คน และผู้หญิง 11 คน) ซึ่งมีระดับไขมันในเลือดสูง total cholesterol ≥ 5.2 mmol/L serum total triglyceride (TG) ≥ 1.7 mmol/L LDL-C ≥ 3.4 mmol/L โดยให้อาหารแก่อาสาสมัครวันละ 15 gm. เช้าและเย็น เป็นระยะเวลา 20 สัปดาห์ (อาหารดังกล่าวประกอบไปด้วย ข้าวโพด ข้าวเจ้า โกโก้ ถั่ว โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และใยอาหาร) ภายหลังการทดลองพบว่ากลุ่มที่ให้สารอาหารดังกล่าวมีระดับไขมันในเลือดลดลง[2]
  • ฤทธิ์ต่อระบบการไหลเวียนของโลหิต เมื่อต้มน้ำที่สกัดจากยอดเกสรเพศเมียฉีดเข้าหลอดเลือดดำในสุนัขทดลองที่ถูกทำให้สงบ พบว่ามีผลทำให้ความดันโลหิตลดลง และเมื่อฉีดเข้าทางช่องท้องของหนูตัวเล็กที่ทำให้ความดันโลหิตสูง จะสามารถลดความดันโลหิตได้ถึง 17-18 มม. ปรอท และเมื่อหยุดฉีดยา ความดันเลือดก็จะเพิ่มกลับสู่ระดับปกติ[4]
  • ฤทธิ์ในการลดระดับน้ำตาลในเลือด สารสกัดจากน้ำที่แช่สกัดจากยอดเกสรเพศเมียสามารถลดความดันโลหิตและช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดของกระต่ายได้เป็นอย่างดี[4]
  • ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ได้ทำการทดลองในคนและในกระต่าย โดยใช้น้ำต้มที่สกัดจากยอดเกสรเพศเมีย พบว่าสามารถช่วยขับปัสสาวะและขับปริมาณของคลอไรด์ออกได้มากด้วยน้ำต้มที่เคี่ยวให้ข้นและตกตะกอนด้วยแอลกอฮอล์ ตะกอนที่ได้มีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้มากเช่นกัน ไม่ว่าจะนำมาฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ หรือนำมากิน โดยจะออกฤทธิ์ตามบริเวณนอกไตมากกว่าในไต และน้ำที่สกัดได้สามารถช่วยละลายก้อนนิ่วจำพวก carbonates ที่อยู่ในไตได้ แต่จะไม่สามารถละลายนิ่วจำพวก oxalates ได้[4]
  • ฤทธิ์ในการห้ามเลือดและขับถ่ายของเสียจากถุงน้ำดี สารที่สกัดจากยอดเกสรเพศเมียสามารถเร่งการขับของเสียและลดปริมาณของสารที่มีสีจากถุงน้ำดีได้ และใช้รักษาคนที่เป็นโรคถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรังเพราะท่อน้ำดีตีบตัน และยังทำให้โลหิตแข็งตัวได้เร็วขึ้น โดยการทำให้มีปริมาณเอนไซม์เป็นตัวช่วยในการแข็งตัวของโลหิตมากขึ้น และยังสามารถนำมาใช้เป็นยาห้ามเลือดและยาขับปัสสาวะในผู้ที่เป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้อีกด้วย[4]
  • จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยให้หนูขาวกินฝอยข้าวโพดในขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 21 วัน พบว่าจะมีผลต่อลักษณะเม็ดเลือดแดงและเอนไซม์ในเลือดเล็กน้อย[2]

ประโยชน์ของข้าวโพด

  1. คนไทยนิยมบริโภคข้าวโพดในรูปอาหารหวานหรืออาหารว่างในระหว่างมื้ออาหาร ด้วยการนำข้าวโพดหวานที่เมล็ดยังไม่แก่เต็มที่มาต้ม นึ่ง หรือปิ้งให้สุก หรืออาจใส่ในน้ำเกลือหรือเนยบ้างเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ เมนูอาหารที่ทำด้วยข้าวโพด ได้แก่ ขนมข้าวโพด ข้าวโพดเปียก ข้าวโพดนึ่งอบเนย ข้าวโพดอบเนย ข้าวโพดคั่วเค็ม ข้าวโพดคั่วหวาน ข้าวโพดน้ำกะทิ ข้าวโพดคลุกเสวย ข้าวโพดปิ้งทาเนย ไอศกรีมข้าวโพดกะทิสด กระทงทองข้าวโพด ข้าวโพดหรุ่ม ข้าวโพดทอด น้ำนมข้าวโพด ฯลฯ หรืออาจนำมาแปรรูปทำเป็นแป้งข้าวโพด นม เหล้า เบียร์ วิสกี้ น้ำตาลผง น้ำหวาน น้ำเชื่อม เนยเทียม มายองเนส เครื่องสำอาง สบู่ น้ำยาทำความสะอาด ฯลฯ[10]
  2. ฝักอ่อนข้าวโพด หรือ ฝักข้าวโพดอ่อนข้าวโพดอ่อน จะนิยมนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น แกงเลียงข้าวโพดอ่อน แกงป่า แกงแค ราดหน้า ต้มส้มข้าวโพดอ่อน ห่อหมกข้าวโพด วิหคสวรรค์ ผัดผักรวมมิตร ข้าวโพดฝักอ่อนผัด ข้าวโพดผักรวมมิตรเปรี้ยวหวาน ข้าวโพดอ่อนชุบแป้งทอด ข้าวโพดทอดมัน หรือจะนำมาลวกจิ้มกินกับน้ำพริก ส่วนในต่างประเทศจะนิยมบริโภคในรูปข้าวโพดฝักอ่อนบรรจุกระป๋อง[10] และข้าวโพดอ่อน 100 กรัม จะให้พลังงาน 33 กิโลแคลอรี, โปรตีน 2.3 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.3 กรัม, ไขมัน 0.3 กรัม, น้ำ 91.8 กรัม, วิตามินบี 1 0.13 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.4 มิลลิกรัม, วิตามินซี 23 มิลลิกรัม, เบตาแคโรทีน 12 ไมโครกรัม, แคลเซียม 4 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม เป็นต้น
  3. แป้งข้าวโพดแป้งข้าวโพด ที่ได้จากเมล็ดข้าวโพดแก่และแห้ง โดยแป้งข้าวโพดที่ได้จะแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ แป้งข้าวโพดชนิดหยาบ (Corn grit), แป้งข้าวโพดชนิดค่อนข้างละเอียด (Corn meal) และแป้งข้าวโพดชนิดละเอียด หรือที่เรียกว่า แป้งข้าวโพด (Corn flour) ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแป้งข้าวโพดก็มีหลายรูปแบบ เช่น ขนมปังข้าวโพด หรือเป็นอาหารเช้า หรือนำมาใช้เป็นแป้งชุบทอด ใช้เป็นน้ำซุปข้นราดบนอาหารหลายชนิด สำหรับในประเทศแป้งข้าวโพดไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เพราะมีราคาค่อนข้างแพง และสามารถใช้แป้งมันสำปะหลังซึ่งมีราคาถูกกว่าแทนได้ในการนำมาประกอบอาหารที่ต้องการความหนืดข้นและเหนียว แม้ว่าความหนืดจะไม่คงตัวเหมือนแป้งข้าวโพดก็ตาม[10]
  4. ข้าวโพดเมล็ดแห้ง จัดเป็นอาหารจำพวกแป้งเช่นเดียวกับข้าว คนในแถบทวีปแอฟริกาจะนิยมนำเมล็ดข้าวโพดมาแช่กับน้ำ และบดทั้งเมล็ดด้วยเครื่องบดหรือโม่หิน บีบน้ำออกแล้วนำมานึ่งกิน ส่วนคนในแถบทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้จะมีผลิตภัณฑ์ข้าวโพดที่นิยมกินเป็นอาหารหลักคือ ทอร์ทิลลา (Tortilla) โดยจะใช้เมล็ดข้าวโพดแก่นำมาแช่ในน้ำด่าง แล้วบีบเอาน้ำออก นำมารีดแล้วตัดเป็นแผ่นบาง ๆ ทิ้งให้หมาด แล้วนำมาทอดกินร่วมกับถั่วบดผสมเนื้อและใส่เครื่องเทศ[10]
  5. น้ำมันข้าวโพดน้ำมันข้าวโพด เป็นน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดข้าวโพดแก่และแห้ง โดยประกอบไปด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัว และมีกรดไขมันจำเป็น คือ กรดไลโนเลอิกอยู่มาก (ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด) ซึ่งน้ำมันข้าวโพดจัดเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดีและมีประโยชน์ เหมาะแก่การบริโภคมากชนิดหนึ่ง ในการนำมาใช้ประกอบอาหารหลายชนิด เช่น ทำขนม ทำน้ำมันสลัด หรือใช้ทอดอาหารต่าง ๆ[10] นอกจากนี้ยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมสบู่สี หรือใช้ทำเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมยางเทียม ทำน้ำมัน ใช้เป็นตัวทำละลายของสาร ergosterol เอามาเติมไฮโดรเจน น้ำมันจะแข็งขึ้น นำมาทำเป็นเนยเทียมที่ใช้สำหรับทำขนมเค้กตามต้องการ[4]
  6. น้ำเชื่อมข้าวโพด (Corn syrup) เป็นน้ำเชื่อมที่ได้จากการย่อยสลายแป้งข้าวโพด สามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและใช้ทำขนมหวานต่าง ๆ ได้ เนื่องจากมีคุณสมบัติในการคงรูปและไม่ตกผลึก[10]
  7. ส่วนการใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ฝักอ่อน ฝักสด ฝักแช่แข็ง เมล็ดแช่แข็ง เมล็ดข้าวโพดกระป๋อง ทำแป้งข้าวโพด ป๊อปคอร์น ข้าวโพดอบกรอบ น้ำมันข้าวโพด หรือยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้อีกต่อหนึ่ง เช่น ทำสบู่ น้ำหอม น้ำมันใส่ผม กระดาษ กระดาษแก้ว ยารักษาโรค ผ้าสังเคราะห์ กรด ทำสารเคมี วัตถุระเบิด สีย้อมผ้า หมึก กาว แบตเตอรี ฯลฯ ส่วนของฝักข้าวโพด ใบข้าวโพด และลำต้นข้าวโพดยังสามารถนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ได้อีกหลายชนิด เช่น ปุ๋ย กระดาษ กระดาษอัด วัตถุฉนวนไฟฟ้า ส่วนซังข้าวโพดแห้งนำมาใช้ทำจุกขวด กล้องยาสูบและทำเป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม[10],[11]
  8. ในเมล็ดข้าวโพดจะมีแป้งอยู่ประมาณ 66.8-74.2% มีโปรตีนประมาณ 10% และยังมีวิตามินบี 1, วิตามินบี 2, วิตามินบี 3, วิตามินบี 5, วิตามินบี 6, กรดโฟลิก, ไบโอติน, วิตามินอี, choline และยังมีวิตามินซี (มีปริมาณน้อย แต่จะมีมากในเมล็ดที่เริ่มงอกใหม่ ๆ) โดยแป้งที่ได้สามารถนำมาใช้ทำขนมได้ หรือนำมาใช้ทำกาวปิดซองจดหมาย ทำ dextrin, glucose หรือใช้ผลิตเป็นแอลกอฮอล์ก็ได้[4] นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัสที่มีส่วนช่วยในการสร้างเสริมกระดูกและฟัน ช่วยในการหลั่งน้ำนมให้เป็นไปตามปกติ ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ ช่วยรักษาสมดุลของกรดและด่างในร่างกาย การรับประทานเป็นประจำสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยป้องกันเส้นเลือดแข็งตัว ช่วยลดความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ช่วยบำรุงร่างกาย ปอดและหัวใจ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยในการย่อยอาหาร กระตุ้นให้กระเพาะและลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น แก้อาการบวมน้ำ รักษาโรคไต ช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง หรือจมูกอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
  9. นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลของสหรัฐฯ ได้รายงานในวารสารสมาคมเคมีแห่งอเมริกาว่าข้าวโพดที่ยิ่งปรุงสุกจะยิ่งมีกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยล้างพิษในร่างกาย (นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสารนี้จะช่วยดับพิษจากอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายกับร่างกาย) ซึ่งผิดกับผักและผลไม้ทั่วไปที่นำมาปรุงสุกแล้วจะเสียคุณค่าทางอาหารลงไป แต่ข้าวโพดนั้นยังสามารถเก็บพลังที่เป็นตัวล้างพิษให้คงไว้ได้แม้จะเสียวิตามินซีไปจากการปรุงสุกก็ตาม โดยพบว่าเมื่อต้มข้าวโพดด้วยอุณหภูมิ 115 องศาเซลเซียส ในระยะเวลาตั้งแต่ 10, 25 และ 50 นาที กลับพบว่ายิ่งต้มนานก็ยิ่งทำให้สารที่เป็นตัวล้างพิษนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 22, 44 และ 55% ตามลำดับ โดยสารดังกล่าวจะเป็นสารจำพวกพฤกษเคมีที่ไม่ค่อยมีอยู่ในผักและผลไม้มากนัก แต่กลับพบว่ามีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ในข้าวโพด[7]
  10. คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแครนตันข้าวโพดคั่ว ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ พบว่า ข้าวโพดคั่วมีสารต้านอนุมูลอิสระ (โพลีฟีนอลส์) มากกว่าผักและผลไม้อื่น ๆ ถึง 2 เท่า (สารต้านอนุมูลอิสระสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งและโรคหัวใจได้) เพราะตามปกติแล้วสารต้านอนุมูลอิสระหรือ “โพลีฟีนอลส์” ในผักและผลไม้ส่วนใหญ่จะถูกเจือจางไปมากถึง 90% เนื่องจากผักและผลไม้จะมีน้ำเป็นองค์ประกอบในปริมาณมาก จึงทำให้โพลีฟีนอลส์ไม่เข้มข้น แต่โพลีฟีนอลส์ในข้าวโพดคั่วนั้นจะมีความเข้มข้นมาก เพราะมีน้ำเป็นองค์ประกอบเพียง 4% ข้าวโพดคั่วจึงเป็นอาหารว่างที่มีประโยชน์เพียงอย่างเดียวที่ทำขึ้นจากธัญพืชโดยไม่ผ่านการแปรรูป จึงสามารถนำมาบริโภคแทนธัญพืชอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ต้องเป็นข้าวโพดคั่วแบบไม่มีเนยและน้ำตาลผสมอยู่ด้วยนะครับ[13]
  11. ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง เป็นอีกสายพันธุ์หนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมในการบริโภค โดยข้าวโพดพันธุ์นี้เป็นการพัฒนามาจากพันธุ์ข้าวโพดสีม่วงและพันธุ์ข้าวโพดข้าวเหนียวของบริษัทเอกชน ผลผลิตที่ได้จะทำให้ข้าวโพดมีฝักใหญ่ เมล็ดเป็นสีม่วงทั้งฝัก รสชาตินุ่มลิ้น หวานและเหนียว โดยมีคุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดต่อ 100 กรัม ประกอบไปด้วยคาร์โบไฮเดรต 8.2 กรัม, โปรตีน 11.1 กรัม, ไขมัน 4.9 กรัม, เส้นใยหยาบ 2.1 กรัม, เกลือแร่ 1.7 กรัม และยังมีวิตามินซี วิตามินเอที่อยู่ในรูปของเบตาแคโรทีน วิตามินอี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ รวมไปถึงลูทีนและซีแซนทีนที่เป็นสารคาโรทีนอยด์ ซึ่งช่วยป้องกันตาเสื่อมสภาพอีกด้วย ส่วนสีม่วงเข้มของเมล็ดข้าวโพดพันธุ์นี้จะมีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) อยู่มาก สารชนิดนี้ที่มีคุณสมบัติในการช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้เป็นอย่างดี ช่วยเสริมความคุ้มกันให้กับร่างกายในการต่อต้านเชื้อโรค เพิ่มการทำงานของเม็ดเลือดแดง ช่วยลดโอกาสของการเกิดโรคมะเร็งชนิดเนื้องอก ชะลอการเกิดไขมันอุดตันในหลอดเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาล ชะลอความแก่และความเสื่อมของดวงตา ช่วยสมานแผล ฯลฯ[6]
  12. ข้าวโพดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดีอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งการใช้ข้าวโพดในการเลี้ยงสัตว์อาจทำได้หลายอย่าง เช่น การใช้เมล็ด กากน้ำตาล กากแป้งที่เหลือจากการสกัดน้ำมัน ใช้ต้นแก่หลังการเก็บเกี่ยว หรือจะตัดต้นสดให้สัตว์กินโดยตรงหรือนำไปหมัก ซึ่งเป็นที่นิยมใช้เลี้ยงสัตว์กันมาก แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก[11]
  13. ในปัจจุบันได้มีผู้นำส่วนที่เหลือตกค้างจากการนำไปบริโภคหรือการนำไปแปรรูปอื่น ๆ (คือส่วนของใบและลำต้นข้าวโพดแห้ง) นำมาผลิตเป็นเอทานอล แทนที่จะผลิตจากเมล็ดข้าวโพดที่เราใช้รับประทาน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงเบนซินได้ถึง 85%[14]
  14. ซังข้าวโพดสีม่วงสายพันธุ์ดีของ ม.ขอนแก่น สามารถนำมาสกัดเป็นสีปรุงแต่งอาหารจากธรรมชาติที่ปราศจากสารพิษ โดยสีที่ได้คือสีแดงสด อีกทั้งยังเป็นสีที่มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าสีสังเคราะห์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด ซึ่งสีสังเคราะห์นั้นมีผลเสียต่อสุขภาพของผู้บิโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็ก เพราะจะทำให้เด็กมีสมาธิสั้น[15]
  15. เปลือกฝักข้าวโพดชั้นในที่เป็นเยื่ออ่อนนุ่มบาง ๆ สามารถนำมาใช้สำหรับมวนบุหรี่สูบ หรืออาจนำมาใช้ทำเป็นกระดาษก็ได้[4]
  16. ซังข้าวโพดจะมี adipic acid อยู่ซังข้าวโพด ซึ่งสามารถนำมาใช้สำหรับเป็นตัวผสมร่วมกับ ethylene glycol ใช้ในอุตสาหกรรมยาง ทำเป็นเสื่อน้ำมัน และยังนำมาใช้ในอุตสาหกรรม celluloid นอกจากนี้ยังนำมาใช้ทำเป็นกล้องยาสูบ ใช้ผสมทรายกับซีเมนต์ก่อสร้างโรงเลี้ยงสัตว์ (เนื่องจากซังข้าวโพดสามารถดูดน้ำได้ดีมาก เราจึงต้องผสมสารกันน้ำไว้ด้วย) และซังข้าวโพดยังเป็นแหล่งที่ให้ furfural และ xylose หรือจะนำมาใช้ทำเป็นเชื้อเพลิงก็ได้ เป็นต้น[4]
  17. แป้งข้าวโพดเปียกสามารถนำมาใช้เป็นอาหารที่ดีสำหรับผู้ที่ฟื้นจากการเป็นไข้ เพราะย่อยง่ายและเชื่อว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าขนมปังที่ทำจากแป้งสาลี และยังเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคตับและไตอีกด้วย[4]
  18. ต้นข้าวโพดสามารถช่วยในการย่อยสลายพีเอเอชที่ปนเปื้อนในดิน เช่น ฟีแนนทรีนและไพรีนได้ โดยย่อยสลายได้ถึง 90 % ที่ความเข้มข้นเริ่มต้น 100 mg/kg และต้นข้าวโพดยังทนทานต่อดินที่ปนเปื้อนน้ำมันเครื่อง จึงเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ฟื้นฟูดินที่มีการปนเปื้อนพีเอเอชและปิโตรเลียมได้[8]

คุณค่าทางโภชนาการของเมล็ดข้าวโพดหวาน ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 86 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม
  • แป้ง 5.7 กรัม
  • น้ำตาล 6.26 กรัม
  • ใยอาหาร 2 กรัม
  • ไขมัน 1.35 กรัม
  • โปรตีน 3.27 กรัม
  • ทริปโตเฟน 0.023 กรัม
  • ทรีโอนีน 0.129 กรัม
  • ไอโซลิวซีน 0.129 กรัม
  • ลิวซีน 0.348 กรัม
  • ไลซีน 0.137 กรัม
  • เมทไธโอนีน 0.067 กรัม
  • ซิสทีน 0.026 กรัม
  • ฟีนิลอะลานีน 0.150 กรัม
  • ไทโรซีน 0.123 กรัม
  • วาลีน 0.185 กรัม
  • อาร์จินีน 0.131 กรัม
  • ฮิสตามีน 0.089 กรัม
  • อะลานีน 0.295 กรัม
  • กรดแอสปาร์ติก 0.244 กรัม
  • กรดกลูตามิก 0.636 กรัม
  • ไกลซีน 0.127 กรัม
  • โพรลีน 0.292 กรัม
  • ซีรีน 0.153 กรัม
  • น้ำ 75.96 กรัม
  • วิตามินเอ 9 ไมโครกรัม 1%
  • ลูทีนและซีแซนทีน 644 ไมโครกรัม
  • วิตามินบี 1 0.155 มิลลิกรัม 13%
  • วิตามินบี 2 0.055 มิลลิกรัม 5%
  • วิตามินบี 3 1.77 มิลลิกรัม 12%
  • วิตามินบี 5 0.717 มิลลิกรัม 14%
  • วิตามินบี 6 0.093 มิลลิกรัม 7%
  • วิตามินบี 9 42 ไมโครกรัม 11%
  • วิตามินซี 6.8 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุเหล็ก 0.52 มิลลิกรัม 4%
  • ธาตุแมกนีเซียม 37 มิลลิกรัม 10%
  • ธาตุแมงกานีส 0.163 มิลลิกรัม 8%
  • ธาตุฟอสฟอรัส 89 มิลลิกรัม 13%
  • ธาตุโพแทสเซียม 270 มิลลิกรัม 6%
  • ธาตุสังกะสี 0.46 มิลลิกรัม 5%

% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)

คำแนะนำในการรับประทานข้าวโพด

  • ข้าวโพดที่เรานำมากินนั้น ถ้าเป็นข้าวโพดอ่อนจะมีแป้ง กาก และสารต้านอนุมูลอิสระ ส่วนข้าวโพดดิบ ๆ นั้นไม่ควรนำมารับประทาน เพราะข้าวโพดดิบจะมีแป้งที่ไม่ย่อย หากกินเข้าไปจะทำให้ท้องอืด เพราะแป้งดังกล่าวจะไปหมักอยู่ในท้อง[12]
  • ผู้สูงอายุที่มีปัญหา มีอาการท้องอืดบ่อย ๆ หรือว่าลำไส้ย่อยได้ยาก รวมถึงผู้ที่เพิ่งผ่าตัดช่องท้องใหม่ ๆ ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ท้องอืดได้ง่าย[12]
  • สำหรับบางรายที่กินข้าวโพดต้มสุกแล้วยังมีอาการท้องอืด อาจเป็นเพราะลำไส้ของผู้นั้น ไวต่อแป้งบางตัวในข้าวโพด ก็เลยทำให้มีอาการท้องอืดได้ ส่วนวิธีแก้ ก่อนนำไปต้มควรแช่น้ำค้างคืนไว้ หรือหากถ้ามีเวลาก็ให้ต้มให้นานที่สุดก็จะช่วยป้องกันอาการท้องอืดได้[12]
  • การรับประทานข้าวโพด ถ้าให้ดีควรรับประทานสลับกันไป เช่น วันนี้รับประทานข้าวโพดอ่อน วันต่อมาก็รับประทานข้าวโพดหวานต้ม ทั้งนี้การรับประทานมากหรือบ่อยจนเกินไป ก็จะทำให้ร่างกายได้แป้งและน้ำตาลในปริมาณมาก และทำให้อ้วนได้เช่นกัน[12]
  • ข้าวโพดเป็นอาหารที่เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้ต้องใช้สายตามากหรือนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์นาน ๆ เพราะจะช่วยสร้างเซลล์ประสาทที่จอตา ช่วยชะลอปัญหาจอประสาทตาเสื่อมหรือตาบอดจากจอตาเสื่อม และยังรวมไปถึงผู้ที่โดนแดด ควัน และฝุ่นละอองบ่อย ๆ หรือผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง หรือเป็นโรคอัลไซเมอร์ก็ควรรับประทานข้าวโพดเช่นกัน เพราะข้าวโพดมีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่มาก[12]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ข้าวโพด (Khao Pod)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 64.
  2. หนังสือสมุนไพรลดไขมันในเลือด 140 ชนิด.  “ข้าวโพด”.  (เภสัชกรหญิง จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก).  หน้า 62-64.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ข้าวโพด”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 128.
  4. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ข้าวโพด”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 114-120.
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน).  “ข้อมูลของข้าวโพด”.  อ้างอิงใน: หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [05 เม.ย. 2014].
  6. จดหมายข่าวผลิใบ ก้าวใหม่การวิจัยและพัฒนาการเกษตร, กรมวิชาการเกษตร.  “ธัญพืชมากประโยชน์…ข้าวโพดข้าวเหนียวสีม่วง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: it.doa.go.th/pibai/.  [05 เม.ย. 2014].
  7. ศูนย์พัฒนาและประกันคุณภาพการศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.  “ข้าวโพดสุกต้านโรคมะเร็ง”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: qa.msu.ac.th/msu_blog/.  [05 เม.ย. 2014].
  8. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.  “ข้าวโพด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: th.wikipedia.org/wiki/ข้าวโพด.  [05 เม.ย. 2014].
  9. เดลินิวส์ออนไลน์.  “เชื่อหรือไม่? ไหมข้าวโพดเป็นยาได้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.dailynews.co.th.  [05 เม.ย. 2014].
  10. กลุ่มงานเคหกิจเกษตร กองพัฒนาการบริหารงานเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร.  “อาหารจากข้าวโพด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.doae.go.th/library/html/detail/cornn/.  [05 เม.ย. 2014].
  11. โครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.  “ข้าวโพด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: kanchanapisek.or.th/kp6/.  [05 เม.ย. 2014].
  12. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอาทิตย์ ที่ 7 มีนาคม 2553.  “คุณประโยชน์ข้าวโพด”.  (นพ.กฤษดา ศิรามพุช).
  13. สปริงนิวส์.  “ทึ่ง! ข้าวโพดคั่วมีสารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าผักผลไม้”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: news.springnewstv.tv.  [05 เม.ย. 2014].
  14. เกษตรแสงอาทิตย์.  “เอทานอลจากต้นข้าวโพด”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.eco-agrotech.com.  [05 เม.ย. 2014].
  15. ข่าวสด.  “มข.วิจัยสีผสมอาหารจากซังข้าวโพด เน้นมีประโยชน์ปลอดภัยต่อเด็ก ช่วยเกษตรกร”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.khaosod.co.th.  [05 เม.ย. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by douneika, Robert Klips, Anna, ), nwdistrict.ifas.ufl.edu

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด