ข้าวเย็นใต้ สรรพคุณและประโยชน์ของหัวข้าวเย็นใต้ 33 ข้อ !

ข้าวเย็นใต้

ข้าวเย็นใต้ ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax glabra Roxb.[1] จัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE) เช่นเดียวกับข้าวเย็นเหนือ[2]

สมุนไพรข้าวเย็นใต้ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ยาหัว (เลย, นครพนม), หัวยาข้าวเย็น (เพชรบูรณ์), ยาหัวข้อ (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้ (ภาคใต้), ข้าวเย็นโคกขาว, ถู่ฝุหลิง (ภาษาจีน), RHIZOMA (ภาษาละติน) เป็นต้น[1],[2],[4],[8]

ลักษณะของข้าวเย็นใต้

  • ต้นข้าวเย็นใต้ จัดเป็นพรรณไม้เลื้อย เถาและลำต้นเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีเหง้าหรือหัวอยู่ใต้ดิน เหง้ามีลักษณะกลมหรือแบนหรือเป็นก้อน มีรูปร่างที่ไม่แน่นอน ผิวไม่เรียบ พบก้อนแข็งนูนขึ้น เสมือนแยกเป็นแขนงสั้น ๆ เหง้ามีความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-22 เซนติเมตร ผิวเป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือเป็นสีเทาน้ำตาล ตามผิวพบส่วนที่เป็นหลุมลึกและนูนขึ้น มีร่องที่เคยเป็นจุดงอกของรากฝอย อาจพบปมของรากฝอยที่พร้อมจะงอกในลักษณะกลมยื่นนูนมาจากบริเวณผิวเหง้า และยังพบรอยแยกแตกเป็นร่อง ๆ บนผิวเปลือก เนื้อเหง้าเป็นสีขาวอมเหลือง สมุนไพรชนิดนี้มีรสหวาน ชุ่มชื่นและสมดุล ออกฤทธิ์ต่อตับและกระเพาะอาหาร และไม่มีกลิ่น[1],[2]

รูปข้าวเย็นใต้ต้นข้าวเย็นใต้
  • ใบข้าวเย็นใต้ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ปลายใบแหลมและบาง โคนใบมน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-14 เนติเมตร ผิวใบมัน หน้าใบมีเส้นตามยาวประมาณ 3 เส้น มองเห็นได้ชัดเจน ส่วนหลังใบมีผงเหมือนแป้งสีขาว ก้านใบมีขนาดสั้น ยาวประมาณ 9-14 มิลลิเมตร[2]

ใบข้าวเย็นใต้

  • ดอกข้าวเย็นใต้ ออกดอกเป็นช่อตามง่ามใบ ในแต่ละช่อจะมีดอกประมาณ 10-20 ดอก ดอกมีขนาดเล็ก เป็นสีเหลืองอมเขียว กลีบดอกมี 6 กลีบ กลีบดอกยาวประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 4-15 มิลลิเมตร[2]
  • ผลข้าวเย็นใต้ ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผลเป็นสีเขียว เมื่อแก่จะกลายเป็นสีแดงดำ[2]

ผลข้าวเย็นใต้

สรรพคุณของข้าวเย็นใต้

  1. ตามตำรับยาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง (หัว)[6]
  2. หัวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (หัว)[6]
  3. ตำรับยาแก้เบาหวาน ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ ใบโพธิ์ และไม้สักนำมาต้มในหม้อดิน ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ และต้นลูกใต้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)[3]
  4. หัวข้าวเย็นใต้และหัวข้าวเย็นเหนือเป็นพืชสมุนไพรที่มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุว่ามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง มีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม จึงมักถูกนำไปใช้ในตำรับยารักษามะเร็งร่วมกับสมุนไพรอื่น ๆ อีกหลายตำรับ (หัว)[5] ใช้หัวผสมในยาตำรับ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง ด้วยการบดยาหัวให้ละเอียด นำมาผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้ง ใช้รับประทานวันละ 1 เม็ด (หัว)[6]
  5. ต้นมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เรื้อรัง แก้ไข้ตัวร้อน (ต้น)[7]
  1. ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เหนือ แก้ไข้สันนิบาต (ใบ)[7]
  2. ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการไข้อันเนื่องมาจากความเย็นชื้น (หัว)[1]
  3. ช่วยขับไล่ความเย็น (หัว)[1] ขับลมชื้นในร่างกาย ด้วยการใช้ข้าวเย็นทั้งสองอย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มกับน้ำดื่ม หรือจะนำมาแช่กับเหล้า ด้วยการใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)[2]
  4. หัวมีรสกร่อย เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะ ลำไส้ ตับ และไต ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (หัว)[2] ช่วยแก้น้ำมูกไหล (หัว)[1]
  5. ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้มีอยู่ 2 ตำรับ มีตัวยาในตำรับ 4 อย่างและ 6 อย่าง โดยใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ ผสมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับแล้วนำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (หัว)[3]
  6. หัวช่วยแก้ประดง (หัว)[4],[6]
  7. ใช้แก้อาการไอ ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ 5 บาทและหัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดิน เติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มเป็นยาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)[2]
  8. ช่วยแก้อาการร้อนใน กระหายน้ำ (หัว)[6]
  9. ช่วยแก้อาการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณลำคอ (หัว)[3]
  10. ช่วยขับปัสสาวะ (หัว)[2]
  11. ช่วยแก้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (หัว)[2] ช่วยแก้ปัสสาวะพิการ (หัว)[6]
  12. ผลมีรสขื่นจัด เป็นยาแก้ลมริดสีดวง (ผล)[7]
  13. ตำรับยาแก้ริดสีดวงทวาร ให้ใช้สมุนไพรหัวข้าวเหนือใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ แก่นจำปา เครือส้มกุ้ง จุกกระเทียม จุกหอมแดง จันทน์ขาว จันทน์แดง พริกไทยล่อน รากลำเจียก เหง้าสับปะรด และสารส้ม นำมาต้มในหม้อดิน ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ท่านว่าริดสีดวงทวารจะหายภายใน 7 วัน (หัว)[3]
  14. ช่วยรักษากามโรค โรคซิฟิลิส เข้าข้อออกดอก (หัว)[1],[2],[4],[6] ตำรับยาแก้โรคหนองในทั้งหญิงและชาย ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ หัวข้าวเย็นเหนือ ผสมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีกรวมทั้งสิ้น 14 อย่าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองในหรือโรคโกโนเรีย แล้วจะหายภายใน 7 วัน (หัว)[3] ตำรับยารักษาโรคบุรุษ ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ 1 บาท, หัวข้าวเย็นเหนือ 1 บาท, ต้นบานไม่รู้โรย (ดอกขาว) ทั้งต้นรวมราก 1 ต้น, ต้นตะไคร้ทั้งต้นรวมราก 20 บาท และเกลือทะเล นำมาต้มกับน้ำ 3 ส่วนจนเหลือ 1 ส่วน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยตะไล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จะช่วยรักษาโรคบุรุษได้ผลชะงัดนัก (หัว)[3]
  15. ช่วยแก้อาการตกขาว ระดูขาวของสตรี (หัว)[2] ตำรับยาแก้ระดูขาวของสตรีและโรคบุรุษ ให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ 1 บาท, หัวข้าวเย็นเหนือ 1 บาท, ต้นบานไม่รู้โรย (ดอกขาว) ทั้งต้นรวมราก 1 ต้น, ต้นตะไคร้ทั้งต้นรวมราก 20 บาท และเกลือทะเล นำมาต้มกับน้ำ 3 ส่วนจนเหลือ 1 ส่วน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยตะไล วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จะช่วยแก้ระดูขาวและโรคบุรุษได้ผลชะงัดดีนัก (หัว)[3]
  16. ใช้รักษาโรคเนื้องอกบริเวณปากมดลูก ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือ 25 กรัมและข้าวเย็นใต้ 25 กรัม นำมาต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือต้มให้เหลือน้ำประมาณ 100 ซีซี แล้วใช้แบ่งรับประทานครั้งละ 25 ซีซี จำนวน 4 ครั้ง (หัว)[2]
  17. หัวใต้ดินมีรสหวานเอียนเบื่อ ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (หัว)[2],[4],[6],[8]
  18. ช่วยระงับพิษ แก้อาการพิษจากปรอท (หัว)[1]
  19. ช่วยแก้อาการปวดบวม เป็นฝีหนองบวม ช่วยแก้ฝีแผลเน่าเปื่อย บวมพุพอง ทำให้แผลฝีหนองยุบ แก้เม็ดผื่นคัน (หัว)[1],[4],[6]
  20. ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด (หัว)[4],[6]
  21. ตำรับยาแก้ฝีทุกชนิด ระบุให้ใช้หัวข้าวเย็นใต้ 1 ส่วน, หัวข้าวเย็นเหนือ, กระดูกควายเผือก, กำมะถันเหลือง, ขันทองพยาบาท, หัวต้นหนอนตายหยาก หนักอย่างละ 20 บาท และเหง้าสับปะรดหนัก 10 บาท, กระดูกม้า 4 บาท, ต้นพริกขี้หนูรวมราก 1 ต้น, และผิวไม้รวก 3 กำมือ นำมาต้มในหม้อดินพอสมควร ใช้ดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา ตำรับนี้นอกจากจะช่วยแก้ฝีทุกชนิดแล้ว ยังช่วยแก้โรคแผลกลาย รักษาแผลในหลอดลมและในลำไส้อย่างได้ผลชะงัด (หัว)[3]
  22. ช่วยฆ่าเชื้อหนอง (หัว)[6],[8]
  23. ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ นำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำมันงา หรือน้ำมันมะพร้าว ใช้เป็นยาทาบริเวณแผล (หัว)[2]
  24. ช่วยแก้อาการอักเสบในร่างกาย (หัว)[6]
  25. ช่วยแก้อาการฟกช้ำเคล็ดขัดยอก (หัว)[2]
  26. ช่วยแก้อาการปวดหลัง ปวดเอว แก้อาการปวดข้อเข่า มีอาการหดเกร็งของแขนและขา ปวดข้อและเอ็น ดับพิษในกระดูก (หัว)[1],[2],[4],[6] แก้เส้นเอ็นพิการ (หัว)[4],[6]
  27. ช่วยทำให้ข้อเข่าทำงานได้อย่างเป็นปกติ (หัว)[1]
  28. หัวนำมาต้มกับน้ำรับประทานเป็นยาช่วยลดอาการปวดสำหรับหญิงอยู่ไฟหลังการคลอดบุตร (หัว)[6]

วิธีใช้สมุนไพรข้าวเย็นใต้

  • ให้ขุดเก็บเหง้าในฤดูร้อนและในฤดูใบไม้ร่วง แล้วนำมาตัดรากฝอยทิ้ง ล้างให้สะอาดแล้วทำให้แห้ง หรือนำมาฝานเป็นแผ่นบาง ๆ ในขณะหัวสด แล้วนำมาทำให้แห้ง[1]
  • การใช้ตาม [1],[2] ถ้าเป็นหัวแห้งใช้ในขนาด 15-60 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[1],[2]
  • หมอยาพื้นบ้านในจังหวัดสุโขทัยจะใช้หัวใต้ดินเป็นยาร่วมในยาต้มทุกชนิด[8]
  • ในหนังสือสารานุกรมสมุนไพรของอาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวชได้ระบุว่า ข้าวเย็นใต้และข้าวเย็นเหนือมีสรรพคุณที่เหมือนกัน และนิยมนำมาใช้คู่กัน โดยจะเรียกว่า “ข้าวเย็นทั้งสอง[3]

ข้าวเย็นใต้

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นใต้

  • สารที่พบ ได้แก่ Alkaloid, Amino acid, Diosgennin, Parillin, Saponin, Saponins, Smilax, Smilacin, Tanin, Tigogenin และในเมล็ดพบน้ำมันหอมระเหย 11.2%[2]
  • เมื่อนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 มาให้หนูทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อรา และเชื้อ Staphylo coccus ได้[2]
  • เมื่อนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 มาฉีดเข้าบริเวณช่องท้องของหนูขาวและกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถช่วยห้ามเลือดที่ออกในบริเวณช่องท้องได้[2]
  • น้ำต้มจากทั้งต้นมีฤทธิ์ต้านการเจริญของเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดเริมในหลอดทดลอง และรักษาโรคเรื้อนกวางในคนได้[8]
เอกสารอ้างอิง
  1. สมุนไพรในเภสัชตำรับของสาธารณรัฐประชาชนจีน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย.    “ข้าวเย็นใต้”.  (ทวีศักดิ์ สุนทรธนศาสตร์).  อ้างอิงใน: People’s Rebublic of China’s Pharmacopoeia 1985. Vol.1 p.11-12.
  2. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ข้าวเย็นใต้”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 130.
  3. มติชนออนไลน์.  “ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ในตำรับยาแผนไทย”  อ้างอิงใน: หนังสือตำรายาหลวงพ่อศุข.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th.  [07 เม.ย. 2014].
  4. การบำบัดและรักษามะเร็งทางเลือก อโรคยาศาล, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร.  “ข้าวเย็นใต้”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: pineapple-eyes.snru.ac.th/alo/.  [07 เม.ย. 2014].
  5. มูลนิธิสุขภาพไทย.  “หมอพื้นบ้าน 3 จ.ใต้ ใช้สมุนไพรรักษามะเร็ง 26 ตำรับ”  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org.  [06 เม.ย. 2014].
  6. ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ข้าวเย็น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [07 เม.ย. 2014].
  7. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ข้าวเย็น”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [07 เม.ย. 2014].
  8. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ยาหัว”.  หน้า 198.

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by 潘立傑 LiChieh Pan, pawan soni), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด