ข้าวเย็นเหนือ
ข้าวเย็นเหนือ ชื่อวิทยาศาสตร์ Smilax corbularia Kunth[1] (และยังมีข้าวเย็นเหนืออีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Smilax china L.) โดยจัดอยู่ในวงศ์ข้าวเย็นเหนือ (SMILACACEAE) เช่นเดียวกับข้าวเย็นใต้[1]
สมุนไพรข้าวเย็นเหนือ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ข้าวเย็นโคกแดง ค้อนกระแต หัวข้าวเย็นเหนือ หัวข้าวเย็นวอก ยาหัวข้อ (อุบลราชธานี), หัวยาข้าวเย็น หัวข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นวอก (ภาคเหนือ), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ภาคใต้), เสี้ยมโค่ฮก เสี้ยมโถ่ฮก[1],[2] (จีนแต้จิ๋ว), ควงเถียวป๋าเชี๋ย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2],[4]
จากหนังสือสารานุกรมสมุนไพรของอาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ได้ระบุว่า ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้มีสรรพคุณที่เหมือนกัน และนิยมนำมาใช้คู่กัน โดยจะเรียกว่า “ข้าวเย็นทั้งสอง“[5]
ลักษณะของข้าวเย็นเหนือ
- ต้นข้าวเย็นเหนือ มักพบขึ้นตามป่าดงดิบเขา ป่าดิบชื้น ป่าโปร่ง ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง พบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์ด้วยวิธีใช้หัวฝังดิน เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนชุ่มชื้น ระบายน้ำได้ดีและมีอินทรียวัตถุ และเป็นไม้ที่เลี้ยงยากและหาดูได้ยาก โดยจัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันต้นไม้อื่นหรือเลื้อยไปตามพื้นดิน อาจเลื้อยได้ยาวถึง 5 เมตร ลำต้นมีลักษณะกลมหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เถามีหนามแหลมโดยรอบกระจายอยู่ห่าง ๆ ที่โคนใบยอดอ่อนมีมือเป็นเส้น 2 เส้นไว้สำหรับจับยึด และมีหัวเป็นเหง้าอยู่ใต้ดินและมีรากแตกอยู่ใต้ดินมาก หัวมีลักษณะกลมยาวเป็นท่อน ๆ ท่อนละประมาณ 5-15 เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-5 เซนติเมตร รากที่เจาะลึกลงใต้ดินจะมีความยาวสูงสุดเกือบ 1 เมตร เนื้อไม้แข็ง ผิวแดงและขรุขระ ส่วนเนื้อในเหง้าเป็นสีเหลืองอ่อน เมื่อแก่เต็มที่จะเป็นสีแดงน้ำตาลอ่อน เนื้อละเอียด มีรสมัน (ถ้าเหง้าหรือหัวมีเนื้อสีขาวจะเรียกว่า “ข้าวเย็นใต้“)[1],[2],[3],[4]
- ใบข้าวเย็นเหนือ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรียาว รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปกลมรี ปลายใบแหลม โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2.5-7 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-18 เซนติเมตร หน้าใบเป็นสีเขียว ส่วนหลังใบมีขนสีขาวปกคลุม ใบมีเส้นใบหลักประมาณ 5-7 เส้น มีเส้นกลาง 3 เส้นที่เด่นชัดกว่าเส้นที่เหลือด้านข้าง เชื่อมกับเหนือโคนใบ 3-5 มิลลิเมตร แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ใบอ่อนจะค่อนข้างป้อม ก้านใบยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ส่วนมือจับยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร[1],[2],[3]
- ดอกข้าวเย็นเหนือ ออกดอกตามซอกใบที่โคนต้นหรือกลางต้น ลักษณะของช่อดอกเป็นแบบช่อซี่ร่ม มีประมาณ 1-3 ช่อดอก ดอกมีขนาดเล็ก ก้านช่อดอกสั้น ยาวประมาณ 1-1.7 เซนติเมตร ดอกเป็นแบบแยกเพศอยู่กันคนละต้น (บ้างว่าอยู่กันคนละช่อแต่อยู่บนต้นเดียวกัน) ดอกมีใบประดับย่อยลักษณะเป็นรูปไข่กว้าง ดอกเป็นสีเขียวปนขาว มีกลีบรวม 6 กลีบ ลักษณะเป็นรูปรีหรือเป็นรูปรีแกมรูปขอบขนาน กลีบวงในมักแคบกว่ากลีบวงนอก ช่อดอกเพศผู้มีดอกประมาณ 20-40 ดอกต่อหนึ่งช่อ มีเกสรเพศผู้จำนวน 6 ก้าน อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ส่วนช่อดอกเพศเมียมีดอกประมาณ 15-30 ดอกต่อหนึ่งช่อ รังไข่จะอยู่เหนือวงกลีบ ลักษณะเป็นรูปรี ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร มี 3 ช่อง ในแต่ละช่องมีออวุลประมาณ 1-2 เมล็ด มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 3 ก้าน ลักษณะเป็นรูปคล้ายเข็ม โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]
- ผลข้าวเย็นเหนือ ออกผลเป็นกระจุกชิดกันแน่นคล้ายทรงกลม ผลมีลักษณะกลม เป็นผลแบบมีเนื้อ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-0.6 เซนติเมตร เวลาสุกจะเป็นสีม่วงดำ ผิวของผลจะมีผงแป้งสีขาวปกคลุม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด โดยจะออกผลในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม[1],[2],[3]
สรรพคุณของข้าวเย็นเหนือ
- ตำรายาพื้นบ้านมุกดาหารและประเทศมาเลเซียจะใช้เหง้าเป็นยาบำรุง (หัว)[3]
- หัวนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาบำรุงเลือด (หัว)[3]
- หัวตากแห้งนำมาหั่นผสมในตำรับยาบำรุงกำลัง (หัว)[4]
- ใช้หัวในยาตำรับ นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง ด้วยการบดยาหัวให้ละเอียดผสมกับส้มโมง ต้มจนแห้งแล้วผสมกับน้ำผึ้งรับประทานวันละ 1 เม็ด (หัว)[3] หัวข้าวเย็นทั้งสองมีกลไกลการออกฤทธิ์ต้านมะเร็งเต้านม (หัว)[6]
- ตำรับยาแก้เบาหวานให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสอง ใบโพธิ์ และไม้สัก นำมาต้มในหม้อดินเป็นยาดื่ม ส่วนอีกตำรับยาหนึ่งให้ใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับต้นลูกใต้ใบ นำมาต้มกับน้ำดื่ม (หัว)[5]
- หัวหรือรากมีรสหวานจืด เป็นยาสุขุม ออกฤทธิ์ต่อตับ กระเพาะ ใช้เป็นยาขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (หัว)[2]
- ต้นมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เรื้อรังและแก้ไข้ตัวร้อน (ผล)[1],[3]
- ใบมีรสจืดเย็น เป็นยาแก้ไข้เหนือ ไข้สันนิบาต (ใบ)[1],[3]
- ตำรับยาแก้ไข้ทับระดูและระดูทับไข้ โดยมีอยู่ 2 ตำรับ ตำรับยาแรกใช้ยารวม 4 อย่าง ส่วนตำรับที่สองใช้ 6 อย่าง โดยใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองผสมกับตัวยาอื่น ๆ ในตำรับ นำมาต้มเอาแต่น้ำดื่ม (หัว)[5]
- หัวมีรสมันกร่อน หวานเล็กน้อย ใช้เป็นยาแก้ประดง (หัว)[1],[2],[3]
- ตำรับยาแก้ไอ ให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 5 บาทและหัวข้าวเย็นใต้ 5 บาท นำมาต้มในหม้อดินและเติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น (หัว)[5]
- ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (หัว)[2],[3]
- ช่วยแก้ตาแดง (หัว)[2]
- ช่วยขับลมชื้น ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง (ไม่ได้ระบุว่าใช้เจตมูลเพลิงแดงหรือเจตมูลเพลิงขาว), เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำดื่ม หรือจะนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)[2]
- รากใช้เป็นยาแก้พยาธิในท้อง (ราก)[1]
- หัวใช้เป็นยาแก้นิ่ว (หัว)[4]
- หัวและรากใช้เป็นยาแก้ปัสสาวะพิการ (หัว, ราก)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้กามโรค เข้าข้อออกดอก (ระยะของกามโรคที่เกิดมีเม็ดผื่นเป็นดอก ๆ ขึ้นตามตัว) (หัว)[1],[2],[3],[6]
- ใช้เป็นยาแก้โรคหนองในทั้งหญิงและชาย ด้วยการใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นอีก รวมทั้งสิ้น 14 อย่าง นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้โรคหนองในหรือโรคโกโนเรีย โดยจะหายภายใน 7 วัน (หัว)[5]
- ช่วยรักษาริดสีดวงทวาร (หัว)[4] ตามตำรับยาแก้ริดสีดวงทวารจะใช้ตัวอย่าง 12 อย่าง อันประกอบไปด้วย หัวข้าวเหนือเย็น หัวข้าวเย็นใต้ เหง้าสับปะรด แก่นจำปา เครือส้มกุ้ง จุกกระเทียม จุกหอมแดง จันทน์ขาว จันทน์แดง พริกไทยล่อน รากลำเจียก และสารส้ม นำมาต้มในหม้อดิน ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น ท่านว่าริดสีดวงทวารจะหายภายใน 7 วัน (หัว)[5]
- ผลมีรสขื่นจัด เป็นยาแก้ลมริดสีดวง (ผล)[1],[3]
- ตำรับยาแก้ระดูขาวของสตรีและโรคบุรุษ ให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 1 บาท, หัวข้าวเย็นใต้ 1 บาท, ต้นบานไม่รู้โรยดอกสีขาวทั้งต้นรวมราก 1 ต้น, ต้นตะไคร้ทั้งต้นรวมราก 20 บาท และเกลือทะเล นำมาต้มกับน้ำ 3 ส่วนให้เหลือเพียง 1 ส่วน แล้วนำมาใช้ดื่มก่อนอาหารครั้งละ 1 ถ้วยตะไล วันละสองครั้งเช้าและเย็น จะช่วยแก้ระดูขาวและโรคบุรุษได้ผลชะงัดดีนัก (หัว)[5]
- ใช้รักษาโรคเนื้องอกบริเวณปากมดลูก ให้นำข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 25 กรัม นำมาต้มด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมง หรือต้มให้เหลือน้ำประมาณ 100 ซีซี แล้วใช้แบ่งรับประทาน 4 ครั้ง ครั้งละ 25 ซีซี (หัว)[2]
- ช่วยขับน้ำชื้นในร่างกาย (หัว)[2]
- ช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (หัว, ราก)[1],[2],[3],[6]
- ใช้เป็นยาแก้พิษและแก้พิษจากสารปรอท (หัว)[2]
- ดอกใช้เป็นยาแก้พิษงูเห่า (ดอก)[1]
- ช่วยแก้มะเร็งคุดทะราด (หัว)[1],[2],[3]
- ใช้เป็นยาทารักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ นำมาบดเป็นผง ผสมกับน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันงา แล้วนำมาใช้ทาบริเวณแผล (หัว)[2]
- รากช่วยแก้พุพอง (ราก)[1]
- ช่วยรักษาฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง ทำให้แผลฝียุบแห้ง แก้เม็ดผื่นคัน (หัว)[1],[2],[3]
- ตำรับยาแก้ฝีทุกชนิดระบุให้ใช้หัวข้าวเย็นเหนือ 1 ส่วน, หัวข้าวเย็นใต้ 1 ส่วน, กระดูกควายเผือก 1 ส่วน, กำมะถันเหลือง 1 ส่วน, ขันทองพยาบาท 1 ส่วน และหัวต้นหนอนตายหยาก 1 ส่วน หนักอย่างละ 20 บาท และเหง้าสับปะรด 10 บาท, กระดูกม้า 4 บาท, ต้นพริกขี้หนูรวมราก 1 ต้น, ผิวไม้รวก 3 กำมือ (รวมเป็น 10 อย่าง) นำมาต้มในหม้อดินพอสมควร ใช้ดื่มหลังอาหารครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา ตำรับนี้นอกจากจะช่วยแก้ฝีทุกชนิดแล้ว ยังช่วยแก้โรคแผลกลาย รักษาแผลในหลอดลมและในลำไส้อย่างได้ผลชะงัด (หัว)[5]
- ใช้เป็นยาแก้โรคผิวหนัง ผดผื่นคัน กลากเกลื้อน ผิวหนังอักเสบ น้ำกัดเท้า (หัว)[2] หัวใต้ดินนำมาต้มกับน้ำให้เด็กอาบจะช่วยแก้อาการตุ่มแดง มีผื่นคัน และถ่ายเหลวได้ (หัว)[4]
- หัวช่วยฆ่าเชื้อหนอง (หัว)[7]
- หัวนิยมใช้เป็นยาแก้อักเสบในร่างกาย (หัว)[1],[2],[3]
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ด้วยการใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้อย่างละ 30 กรัม โกฐเขมา, โกฐหัวบัว, เจตมูลเพลิง, เถาวัลย์เปรียงอย่างละ 20 กรัม นำมาต้มรวมกันใช้เป็นน้ำรับประทาน หรือจะนำมาแช่กับเหล้า โดยใส่เหล้าให้ท่วมตัวยา ทิ้งไว้ 7 วัน แล้วนำมารับประทานก็ได้ (หัว)[2],[4] แก้อาการปวดหลังปวดเอว ปวดเมื่อยในผู้สูงอายุ (หัว)[4]
- ช่วยแก้อาการปวดข้ออันเนื่องมาจากลมชื้นหรือฝีหนองทั้งภายนอกและภายใน (หัว)[2]
- หัวมีสรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ ช่วยดับพิษในกระดูก (หัว)[1],[2],[3]
- หัวนำมาต้มกับน้ำรับประทานเพื่อลดอาการปวดสำหรับหญิงอยู่ไฟหลังการคลอดบุตร (หัว)[3]
หมายเหตุ : การใช้ตาม [2] ยาแห้ง ให้ใช้ครั้งละ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน[2] และนิยมใช้ข้าวเย็นเหนือร่วมกับข้าวเย็นใต้ โดยจะเรียกว่า “ข้าวเย็นทั้งสอง“
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของข้าวเย็นเหนือ
- สารที่พบ ได้แก่ Alkaloid, Amino acid, Diosgennin, Saponin, Saponins, Smilax, Smilacin, Parillin, Tanin, Tigogenin ส่วนในเมล็ดพบน้ำมันหอมระเหย 11.2%[2]
- จากการทดลองกับหนูขาวและกระต่าย ด้วยการนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 4 ให้หนูทดลองกิน พบว่าสามารถช่วยยับยั้งเชื้อรา และเชื้อ Staphylo coccus ได้[2]
- เมื่อนำน้ำยาที่ต้มได้จากข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 มาฉีดเข้าบริเวณช่องท้องของหนูขาวและกระต่ายทดลอง พบว่าสามารถช่วยห้ามเลือดที่ออกในบริเวณช่องท้องได้[2]
ประโยชน์ของข้าวเย็นเหนือ
- ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริกได้ (ไม่ยืนยัน)[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. “ข้าวเย็นเหนือ”. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). หน้า 78.
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. “ข้าวเย็นเหนือ”. (วิทยา บุญวรพัฒน์). หน้า 132.
- ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ข้าวเย็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com. [06 เม.ย. 2014].
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้อมูลของข้าวเย็นเหนือ”. อ้างอิงใน: หนังสือพืชอาหารและสมุนไพรท้องถิ่นบนพื้นที่สูง (อัปสร และคณะ). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: eherb.hrdi.or.th. [06 เม.ย. 2014].
- มติชนออนไลน์. “ข้าวเย็นเหนือ และ ข้าวเย็นใต้ ในตำรับยาแผนไทย” อ้างอิงใน: หนังสือตำรายาหลวงพ่อศุข. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.matichon.co.th. [06 เม.ย. 2014].
- มูลนิธิสุขภาพไทย. “หมอพื้นบ้าน 3 จ.ใต้ ใช้สมุนไพรรักษามะเร็ง 26 ตำรับ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaihof.org. [06 เม.ย. 2014].
- ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. “ข้าวเย็น”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaicrudedrug.com. [07 เม.ย. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by judymonkey17, 영철 이, 阿橋, 翁明毅), www.thaicrudedrug.com (by Sudarat Homhual)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)