ข้าวสารหลวง
ข้าวสารหลวง ชื่อวิทยาศาสตร์ Maesa ramentacea (Roxb.) A. DC.[2] จัดอยู่ในวงศ์ PRIMULACEAE (MYRSINACEAE)[1]
สมุนไพรข้าวสารหลวง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ไคร้ยอย หลอดเขา (เชียงใหม่), กระดูกไก่ เม้าหมด (จันทบุรี), ขี้หนอน (ตราด), กะผ้าสะลาย เสียดนก (ชุมพร), ปัน (นครศรีธรรมราช), ลวย (ตรัง), ตุ๊ดเงย (ขมุ) เป็นต้น[1],[4]
ลักษณะของข้าวสารหลวง
- ต้นข้าวสารหลวง จัดเป็นพรรณไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง รูปทรงโปร่ง มีความสูงได้ประมาณ 5-10 เมตร แตกกิ่งแขนงแผ่เป็นพุ่ม กิ่งก้านโปร่งและห้อยลง เปลือกต้นด้านนอกมีรูอากาศหนาแน่น ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีครีมจนถึงสีชมพู ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดจะได้ผลดีที่สุด พบขึ้นทั่วไปในป่าที่ชุ่มชื้นและไร่ร้าง ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคกลาง ในต่างประเทศพบได้ในอินเดีย พม่า จีนตอนใต้ คาบสมุทรอินโดจีน และมาเลเซีย[1],[2],[5],[6]
- ใบข้าวสารหลวง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปรี หรือรูปไข่แกมขอบขนาน แกมใบหอก ปลายใบแหลมเรียว โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบหรือหยักเกือบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-14 เซนติเมตร เส้นแขนงใบมีประมาณ 6-9 คู่ โค้งจรดขอบใบ แผ่นใบหยักเป็นลอนหยาบ ๆ หลังใบมน ก้านใบยาวประมาณ 0.6-1.3 เซนติเมตร ใบเมื่อแก่จะเกลี้ยงไม่มีขน ท้องใบมีต่อมยาว ๆ สีเข้ม[1],[2],[3],[5],[6]
- ดอกข้าวสารหลวง ออกดอกเป็นช่อบริเวณซอกใบ ช่อดอกแตกแขนงมาก ยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร ดอกย่อยมีจำนวนมากและมีขนาดเล็กเป็นสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ รูประฆัง ปลายแยกออกเป็น 5 กลีบ ปลายกลีบมน โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน กลีบเลี้ยงเป็นรูปสามเหลี่ยมกว้าง สีเขียว ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรเพศผู้ยาวเท่ากับอับเรณู ส่วนก้านเกสรเพศเมียแยกเป็น 2 พู รังไข่ส่วนหนึ่งฝังอยู่ในฐานรองดอก ออกดอกในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม[1],[2],[5],[6]
- ผลข้าวสารหลวง ลักษณะของผลเป็นรูปทรงกลมและฉ่ำน้ำ สีเขียวอ่อนถึงสีน้ำตาลอ่อน ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ผลมีขนาดเล็กหรือประมาณ 0.2-0.6 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กหลายเมล็ด ผลจะแก่ในช่วงประมาณเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน[1],[2],[5],[6]
สรรพคุณของข้าวสารหลวง
- ชาวเขาเผ่าเย้าจะใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำ ใช้ล้างแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ทั้งต้น)[1],[3]
- รากใช้เป็นยารักษาบาดแผล โดยนำมาบดใช้โรยแผลจะช่วยทำให้แผลแห้ง (ราก)[2]
- ใบใช้ตำพอกปิดบาดแผล แก้อาการปวดบวม (ใบ)[2]
ประโยชน์ของข้าวสารหลวง
- ดอกและใบใช้รับประทานได้เหมือนผักสด[6]
- ชาวขมุจะใช้ลำต้นข้าวสารหลวงมาใช้ทำฟืนหรือใช้เป็นเชื้อเพลิง[4],[5]
- ต้นข้าวสารหลวงเป็นไม้ขนาดค่อนเล็ก มีทรงพุ่มเรือนยอดสวย ครั้นออกดอกจะมีดอกขาวโพลนหนาแน่น หากนำมาปลูกในพื้นที่จำกัด ขนาดกว้างยาวประมาณ 3 เมตร จะช่วยเพิ่มความสวยงามได้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ควรปลูกในที่ชุ่มชื้นหรือที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 200-500 เมตร[6]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคกลาง. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, กัญจนา ดีวิเศษ). “ข้าวสารหลวง”. หน้า 79.
- หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “ข้าวสารหลวง”. หน้า 97.
- หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา. (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). “ข้าวสารหลวง”. หน้า 146.
- โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน). “ข้าวสารหลวง”. อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th. [14 มี.ค. 2015].
- ระบบจัดการฐานความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ กรมป่าไม้. “ข้าวสารหลวง (Maesa ramentacea)”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : biodiversity.forest.go.th. [14 มี.ค. 2015].
- ทองไทยแลนด์. “ข้าวสารหลวง”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : thongthailand.igetweb.com. [14 มี.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Yeoh Yi Shuen, Cerlin Ng, Ahmad Fuad Morad)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)