ข้าวสารดอกใหญ่
ข้าวสารดอกใหญ่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Raphistemma pulchellum (Roxb.) Wall. จัดอยู่ในวงศ์ตีนเป็ด (APOCYNACEAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยนมตำเลีย (ASCLEPIADOIDEAE หรือ ASCLEPIADACEAE)[1]
สมุนไพรข้าวสารดอกใหญ่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เคือคิก (สกลนคร), เข้าสาร (ราชบุรี), ไคร้เครือ (สระบุรี), ข้าวสารดอกใหญ่ (กรุงเทพฯ), เมือสาร (ชุมพร), เครื่อเขาหนัง (ภาคเหนือ), มะโอเครือ เคือเขาหนัง (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), ข้าวสาร (ภาคกลาง), เซงคุยมังอูมื่อ เซงคุยมังอูหมื่อ มังอุยเหมื่อเซงครึย (กะเหรี่ยง-ลำปาง), โอเคือ (ลาว), ข้าวสารเถา เป็นต้น[1],[3]
ลักษณะของข้าวสารดอกใหญ่
- ต้นข้าวสารดอกใหญ่ จัดเป็นพรรณไม้เถาเลื้อยมีน้ำยางสีขาว ลำต้นมีขนาดเล็กและเกลี้ยง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการแสงแดดปานกลางถึงค่อนข้างมาก ต้องการน้ำในระดับปานกลาง ดินที่ปลูกควรเป็นดินร่วนปนทรายที่อุดมไปด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ส่วนการให้ปุ๋ยให้ใช้ปุ๋ยจากธรรมชาติ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักใบไม้ ฯลฯ มักเกิดขึ้นตามป่าดิบเขาบริเวณชายป่าและตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป หรือในพื้นที่เปิดที่ระดับความสูงประมาณ 400-1,300 เมตร ส่วนในต่างประเทศพบขึ้นในอินเดีย เนปาล พม่า จีนตอนใต้ และมาเลเซีย[1],[2]
- ใบข้าวสารดอกใหญ่ ใบออกเป็นคู่ตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปหัวใจ ปลายใบแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-15 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-20 เซนติเมตร แผ่นใบบาง ด้านบนที่โคนเส้นกลางใบมีขนขึ้นเป็นกระจุก ก้านใบมีลักษณะเรียวและเล็ก มีขนาดยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร[1]
- ดอกข้าวสารดอกใหญ่ ดอกมีขนาดใหญ่และมีกลิ่นหอม ดอกเป็นสีขาวหรือสีครีม ออกดอกเป็นช่อแบบซี่ร่มตามซอกใบ ช่อหนึ่งนั้นจะมีดอกประมาณ 4-10 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 5-10 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกนั้นมีขนาดเล็กและยาวได้ประมาณ 2-5 เซนติเมตร เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร กลีบรองกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปคล้ายรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ปลายกลม ส่วนขอบกลีบบาง ตรงโคนจะเชื่อมติดกันมีความยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร กลีบดอกมี 5 กลีบ เป็นสีขาว โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มีความยาวประมาณ 12-18 มิลลิเมตร ปลายกลีบหนาและสั้นกว่าท่อดอกมาก ส่วนเส้าเกสรจะมีอยู่ 5 กลีบ และมีความยาวได้ประมาณ 10-12 มิลลิเมตร โดยจะอยู่ติดกับชั้นของเกสรเพศผู้ซึ่งเชื่อมติดกัน ออกดอกในช่วงฤดูหนาว[1],[2]
- ผลข้าวสารดอกใหญ่ ผลมีลักษณะเป็นฝักโค้ง ฝักจะมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ภายในฝักมีเมล็ดรูปไข่มีขนเป็นพู่ยาวได้ถึง 4 เซนติเมตร[1],[2]
สรรพคุณของข้าวสารดอกใหญ่
- รากใช้ปรุงเป็นยาหยอดรักษาตา แก้ตาแดง ตาแฉะ ตามัว (ราก)[3]
- เมล็ดข้าวสารดอกใหญ่จะมีสาร Cardiac glycoside ซึ่งเป็นพิษต่อหัวใจ แต่สามารถนำมาใช้รักษาอาการไข้ได้ (เมล็ด)[1],[2]
- เมล็ดใช้เป็นยาขับเหงื่อ (เมล็ด)[1]
ประโยชน์ของข้าวสารดอกใหญ่
- ดอกและผลใช้เป็นอาหารได้[1],[2]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ข้าวสารดอกใหญ่”. หน้า 125-126.
- ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “ข้าวสาร”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.qsbg.org. [15 มี.ค. 2015].
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ข้าวสารเถา”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [15 มี.ค. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Robert Lafond), www.biogang.net (Praphatsorn_mild ), www.gotoknow.org (by ยุวนุช)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)