ข้าว
ข้าว ชื่อสามัญ Rice
ข้าว ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa L. จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ข้าวเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจำพวกธัญพืชที่สามารถกินเมล็ดได้ โดยจะแบ่งออกเป็น 2 สปีชีส์ใหญ่ ๆ คือ Oryza glaberrima (ปลูกเฉพาะในเขตร้อนของแอฟริกา) และ Oryza sativa (ปลูกกันทั่วโลก) สำหรับชนิด Oryza sativa ยังแบ่งแยกย่อยออกไปได้อีกคือ Javanica, Japonica (ปลูกมากในเขตอบอุ่น) และ indica (ปลูกมากในเขตร้อน)
สำหรับประเทศไทยข้าวที่ปลูกจะเป็นชนิด indica โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้พันธุ์ข้าวยังได้ถูกปรับปรุงและคัดสรรสายพันธุ์มาโดยตลอด จึงทำให้มีหลากหลายสายพันธุ์ทั่วโลกที่มีรสชาติและคุณประโยชน์ของข้าวที่แตกต่างกันออกไป โดยพันธุ์ข้าวไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลกก็คือ ข้าวหอมมะลิ โดยข้าวที่มีคุณค่าทางอาหารสูงก็คือ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี และข้าวเสริมวิตามิน
ข้าวที่แนะนำให้รับประทาน คือ ข้าวกล้องที่ยังมีจมูกข้าวและรำข้าวติดอยู่ เพราะจะทำให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารที่มีคุณค่า ส่วนข้าวขัดขาวที่ขายกันอยู่ทั่วไปนั้นไม่แนะนำให้รับประทานเท่าไหร่ เพราะจะให้แค่พลังงานเท่านั้นและยังได้น้ำตาลเป็นของแถมอีกด้วย หากรับประทานต่อเนื่องไปนาน ๆ ก็อาจจะทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบตัน โรคสมองเสื่อม รวมไปถึงโรคอัมพฤกษ์ได้ !
ข้าว จัดว่ามีประโยชน์และมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเราไม่ว่าใคร ๆ ก็จะรับประทานข้าวเป็นอาหารหลัก เพราะเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานและความอบอุ่น นอกจากนี้ยังใช้ทำเป็นขนมหวานต่าง ๆ ทำปุ๋ย ของใช้ ของเล่นต่าง ๆ เครื่องประดับ และใช้เป็นยารักษาโรคได้อีกด้วย
สรรพคุณของข้าว
- ช่วยบำรุงร่างกาย เพิ่มพลังงานให้กับร่างกาย ฟื้นฟูกำลัง ป้องกันอาการอ่อนเพลีย (วิตามินบี 2)
- ช่วยเสริมสร้างการเจริญโตของร่างกาย
- ข้าวกล้องมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความแก่ชรา (ข้าวกล้องงอก)
- ช่วยบำรุงผิวพรรณให้เปล่งปลั่งสดใส (วิตามินอี)
- ข้าวกล้องมีวิตามินบี 3 ซึ่งบำรุงสุขภาพผิวหนังและลิ้นได้
- ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบประสาท (โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้อง)
- ข้าวกล้องงอกช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ (วิตามินบี 2)
- ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง (ฟอสฟอรัส)
- ช่วยป้องกันและเสริมสร้างการสึกหรอของร่างกาย (โปรตีน)
- ลูทีนในข้าวช่วยบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคต้อกระจก จึงเหมาะอย่างมากสำหรับผู้ที่ทำงานในออฟฟิศหรือต้องใช้สายตาอย่างหนักในการนั่งหน้าคอมพ์นาน ๆ (ลูทีน, เบตาแคโรทีน)
- ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง (ธาตุเหล็ก, ธาตุทองแดง)
- ช่วยลดการจับตัวของลิ่มเลือด ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด (เบตาแคโรทีน, วิตามินอี)
- ช่วยเสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ส่งออกซิเจนในเลือดไปสู่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย (ธาตุเหล็ก)
- ประโยชน์ของข้าวหอมมะลิ ใยอาหารของข้าวหอมมะลิกล้องจะช่วยดูดซับของเสียและสารพิษต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ (ข้าวหอมมะลิกล้อง)
- เส้นใยอาหารของข้าวหอมนิลมีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ (ข้าวหอมนิล)
- ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำ (น้ำข้าว)
- ชช่วยรักษาอหิวาตกโรค (น้ำข้าว)
- ช่วยแก้อาเจียนเป็นเลือด (น้ำข้าว)
- ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน (ข้าวหอมมะลิกล้อง)
- ข้าวหอมมะลิแดงช่วยป้องกันโรคคอหอยพอก (ไอโอดีน)
- ช่วยแก้ตาแดง (น้ำข้าว)
- ช่วยแก้เลือดกำเดา (น้ำข้าว)
- ช่วยป้องกันโรคปากนกกระจอก (แผลที่มุมปาก) และริมฝีปากบวม (วิตามินบี 2)
- ช่วยเสริมการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ (โดยเฉพาะข้าวกล้อง)
- ช่วยแก้อาการอาหารไม่ย่อย (น้ำข้าว)
- การรับประทานข้าวกล้องจะได้กากอาหารมากเป็นพิเศษ ซึ่งจะช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูกและมะเร็งลำไส้ได้เป็นอย่างดี
- ช่วยรักษาโรคท้องร่วง (ข้าวผัวไม่ลืม)
- ข้าวประโยชน์ช่วยแก้พิษต่าง ๆ (น้ำข้าว)
- ช่วยลดการเกิดหรือลดอาการของการเป็นตะคริวได้ (แคลเซียม)
- ช่วยป้องกันโรคเหน็บชาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวนึ่งก่อนสี เพราะจะมีวิตามินบี 1 สูง
- ประโยชน์ข้าวกล้องงอกช่วยให้ผ่อนคลายและหลับสบายมากยิ่งขึ้น (ข้าวกล้องงอก)
- ข้าวกล้องช่วยลดอาการผิดปกติต่าง ๆ ของหญิงวัยทอง (ข้าวกล้องงอก)
- ช่วยรักษาอาการตกเลือดหลังคลอดได้ (ข้าวผัวไม่ลืม)
ประโยชน์ของข้าว
- เมล็ดข้าว สามารถนำมาทำเป็นเครื่องประดับได้
- รำข้าวสามารถนำมาใช้ทำเป็น น้ำมันรำข้าว ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ ทำลิปสติก ทำยาหม่อง ทำแวกซ์ หรือทำเป็นโลชันบำรุงผิว ฯลฯ
- ฟางข้าวสามารถใช้ทำเป็นปุ๋ย ปลูกเห็ด ทำเป็นของเล่น กระดาษ ทำเป็นแกลบหรือขี้เถ้า ผสมทำเครื่องปั้นดินเผา ถ่านกัมมันต์หรือถ่านดูดกลิ่น ใช้เป็นส่วนผสมของยาขัดรถ ฯลฯ
- ประโยชน์ข้าวนอกจากจะใช้บริโภคเป็นอาหารหลักแล้วยังใช้ทำเป็นของหวานชนิดต่าง ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ขนมไทย เช่น ลอดช่อง ขนมตาล ขนมกล้วย ฝอยทอง ทองหยิบ ทองหยอด ขนมหม้อแกง ปลากริมไข่เต่า ทำเป็นแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว ฯลฯ
คุณค่าทางโภชนาการของข้าวขาวดิบต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 365 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 80 กรัม
- น้ำตาล 0.12 กรัม
- เส้นใย 1.3 กรัม
- ไขมัน 0.66 กรัม
- โปรตีน 7.13 กรัม
- น้ำ 11.61 กรัม
- วิตามินบี 1 0.0701 มิลลิกรัม 6%
- วิตามินบี 2 0.0149 มิลลิกรัม 1%
- วิตามินบี 3 1.62 มิลลิกรัม 11%
- วิตามินบี 5 1.014 มิลลิกรัม 20%
- วิตามินบี 6 0.164 มิลลิกรัม 13%
- ธาตุแคลเซียม 28 มิลลิกรัม 3%
- ธาตุเหล็ก 0.80 มิลลิกรัม 6%
- ธาตุแมกนีเซียม 25 มิลลิกรัม 7%
- ธาตุแมงกานีส 1.088 มิลลิกรัม 52%
- ธาตุฟอสฟอรัส 115 มิลลิกรัม 16%
- ธาตุโพแทสเซียม 115 มิลลิกรัม 2%
- ธาตุสังกะสี 1.09 มิลลิกรัม 11%
% ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ (ข้อมูลจาก : USDA Nutrient database)
วิธีเลือกซื้อข้าวกล้อง
ข้าวกล้อง คือ ข้าวที่สีเพียงครั้งเดียว โดนกะเทาะเอาเปลือกนอกออกเท่านั้น จะไม่มีการขัดสีเอาเส้นใยที่อยู่รอบ ๆ เมล็ดออก โดยหลักการเลือกซื้อข้าวกล้องให้ได้ประโยชน์สูงสุดมีดังนี้
- เมล็ดข้าวจะต้องสมบูรณ์ ไม่แตกหักหรือแหว่งตรงปลายเมล็ด เพราะถ้าเมล็ดแหว่งหรือแตกหักก็แสดงว่าจมูกข้าวหายไปแล้ว ซึ่งตรงนี้แหละสำคัญมาก ๆ เพราะจมูกข้าวเป็นแหล่งรวมสารอาหารที่มากที่สุดในเมล็ดข้าว
- สีของเมล็ดต้องขาวขุ่น หรือมีสีน้ำตาลปนบ้างเล็กน้อยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ บางครั้งอาจจะมีสีเขียวอ่อน ๆ ติดอยู่ นั่นแสดงว่าเป็นข้าวที่เพิ่งเก็บเกี่ยวใหม่ ๆ เยื่อหุ้มจึงยังติดอยู่
- เมล็ดข้าวต้องแห้งสนิท ไม่มีความชื้น ไม่มีราขึ้น บรรจุอยู่ในถุงที่ปิดสนิท และมีแหล่งที่ผลิตชัดเจน
- การซื้อแต่ละครั้งควรซื้ออย่างพอเหมาะกับสมาชิกในครอบครัวที่รับประทานได้ 1-2 อาทิตย์ เพื่อความสดใหม่
วิธีการหุงข้าวกล้องให้ได้คุณค่ามากที่สุด
- เมื่อเปิดถุงใช้ ควรปิดให้สนิทเพื่อป้องกันหนูและแมลงสาบมาแพร่เชื้อ
- การหุงแต่ละครั้งควรหุงให้พอดีสำหรับการรับประทานในแต่ละมื้อ เพื่อป้องกันการสูญเสียวิตามิน
- เริ่มจากการซาวน้ำข้าวกล้องก่อนหุง ควรซาวไม่เกิน 1-2 ครั้ง เพราะการซาวน้ำหลายรอบจะทำให้สูญเสียวิตามินบางชนิดที่ละลายน้ำไปได้
- เมื่อหุงสุกแล้วให้ถอดปลั๊กทันทีและรับประทานทันทีได้ก็จะดีมาก เพราะวิตามินบางชนิดเมื่อถูกความร้อนนาน ๆ จะทำให้เสื่อมสลายไปได้โดยง่าย ยิ่งถ้าเสียบทิ้งไว้ทั้งวัน วิตามินหรือแร่ธาตุที่สำคัญก็จะไม่เหลืออยู่เลย
แหล่งอ้างอิง : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)