ความสำคัญของการแต่งงาน
การแต่งงาน นับว่าเป็นความใฝ่ฝันของหลาย ๆ คนกันเลยทีเดียว โดยเฉพาะสาว ๆ ที่ต่างก็ใฝ่ฝันว่าครั้งหนึ่งเธอจะได้ใส่ชุดเจ้าสาวแสนสวย พร้อมได้โยนช่อดอกไม้ในวันแต่งงานของตน อีกทั้งยังฝันถึงชีวิตคู่ที่แสนจะมีความสุขของเธออีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ บางคนอาจจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย หรือบางคนก็แต่งงานเมื่ออายุมากแล้ว จึงทำให้เกิดคำถามที่เป็นข้อถกเถียงกันขึ้นมาอยู่บ่อยครั้ง ว่าการแต่งงานเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปนั้น ดีหรือไม่ แล้วจะส่งผลกระทบใด ๆ หรือเปล่า วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องดี ๆ ของการแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานช้าเกินไปหรือเร็วเกินไป และการแต่งงานนั้น มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไรกันแน่
ในอันดับแรก เราจะมาพูดถึงข้อดีและข้อเสียของการแต่งงานกันก่อน ซึ่งโดยปกติแล้วการแต่งงานนั้นหากจะบอกว่ามีข้อดีซะทีเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะบางครั้งมันก็มีข้อเสียซ่อนอยู่เช่นกัน ในความสุขของการมีชีวิตคู่ก็อาจมีความทุกข์จากการทะเลาะเบาะแว้งอยู่ด้วย และข้อดี-ข้อเสียของการแต่งงานนั้นเป็นอย่างไร เรามาดูกันเลย
ข้อดีของการแต่งงาน
- การแต่งงานเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของครอบครัว จะเห็นได้ชัดเลยว่าผู้ชายส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยอยากแต่งงานและมีบุตร แต่การแต่งงานจะเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในการสร้างครอบครัวที่มั่นคงและมีลูกไว้สืบทายาทต่อไป นอกจากนี้การแต่งงานยังเป็นการช่วยยกฐานะทางสังคมให้สูงขึ้นด้วย เพราะในบางสังคมคู่แต่งงานจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าคู่ที่ยังไม่ได้สมรส
- มีโอกาสจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น การมีชีวิตคู่ที่ดีจะช่วยให้ผู้ชายมีความรู้สึกมั่นคงมากขึ้น เพราะจากการวิจัยพบว่า ผู้ชายจะประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อแต่งงาน ยิ่งถ้ามีภรรยาที่เป็นคู่คิดที่ดีก็ทำให้ชีวิตดีขึ้นไปอีก เพราะไม่ต้องมาคอยเป็นกังวลกับเรื่องการหาคู่ จึงทำให้สบายอกสบายใจและทุ่มเทในการทำงานได้อย่างเต็มที่ อย่างในสังคมตะวันตกนั้นจะมองว่าการแต่งงานของผู้หญิงมีผลทำให้ภาพลักษณ์ในการทำงานดูน่าเชื่อถือมากขึ้น เพราะเป็นตัวบ่งบอกถึงความเป็นผู้ใหญ่ มีความมั่นคงทางจิตใจ จึงทำให้ได้รับความไว้วางใจในการทำงานมากกว่าคู่ที่ยังไม่ได้แต่งงาน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของนักสังคมวิทยา Steven L.Nock จาก University of Virginia ที่ระบุว่า ผู้ชายที่แต่งงานแล้วมักจะทำงานดีและมีรายได้ดี รวมทั้งมีอัตราการบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมหรือเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาบ่อยกว่าผู้ชายโสด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า การแต่งงานจะสามารถช่วยเปลี่ยนผู้ชายได้ เพราะมันทำให้พวกเขามีความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นนั่นเอง และงานวิจัยของ Nock ก็ยังยืนยันด้วยว่า การแต่งงานจะเป็นการยกระดับภาพลักษณ์และความเป็นผู้ชาย ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้พวกเขาใจกว้างและตระหนักถึงความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่นมากขึ้นอีกด้วย
- มีคนช่วยแชร์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ถึงแม้ว่าการแต่งงานจะเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากหากคุณทั้งคู่ต่างก็มีรายได้ด้วยกันทั้งสองคน จึงทำให้รายจ่ายส่วนนั้น กลายเป็นรายจ่ายที่น้อยนิดไปเลยทีเดียว เพราะบางครั้งหากลองคำนวณจากเงินรายได้รวมแล้ว มาหักลบกับค่าใช้จ่าย เงินที่เหลือใช้ก็อาจจะมีมากกว่าตอนคุณยังไม่แต่งงานก็ได้ แถมยังเป็นเรื่องง่ายขึ้นที่คุณทั้งสองจะสามารถซื้อของที่ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเพียงลำพัง เช่น บ้านหลังใหม่ รถคันใหม่ การไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่อยากไป ฯลฯ
- ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ แน่นอนว่าการมีคู่ชีวิตที่ดีจะช่วยให้คุณสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ เพราะเขาจะคอยเป็นกำลังใจให้คุณเวลาคุณท้อและเหนื่อยล้า เป็นเพื่อนคู่คิดและที่ปรึกษาเวลาที่คุณมีปัญหา ช่วยเกื้อหนุนกันเพื่อจะทำอะไรสักอย่าง ช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ของคุณให้น้อยลง ความตึงเครียดก็ลดลง และแบ่งปันทุกข์และสุขไปพร้อมกับคุณ
- ช่วยเพิ่มความสุขและคลายความเหงาได้ดี ก่อนที่จะแต่งงานมีครอบครัว หลายคนคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ต้องอยู่ท่ามกลางความเหงามากแค่ไหน แถมยังต้องใช้ชีวิตอย่างเดียวดาย ทำได้เพียงแอบอิจฉาคู่รักคนอื่น ๆ แต่เมื่อได้แต่งงานมีครอบครัว ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไป เขาคนนั้นเหมือนได้เข้ามาเติมเต็มชีวิตในส่วนที่ขาดหาย ทำให้ชีวิตมีสีสันมากขึ้น มีความสุขและความเหงาก็พลันมลายหายไปจนหมดสิ้น หลายคนจึงเลือกที่จะแสวงหาความสุขด้วยการแต่งงานมีครอบครัวที่ดี มั่นคงนั่นเอง
- การแต่งงานเป็นมากกว่าความปรารถนาทางเพศ ผู้ชายโสดส่วนใหญ่มักตื่นเต้นกับการมีเพศสัมพันธ์เพียงชั่วข้ามคืนและควงสาว ๆ ได้ไม่ซ้ำหน้า แต่สำหรับผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะมีความสัมพันธ์ได้แค่กับภรรยาของตนเอง ซึ่งผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะมีความต้องการเหล่านี้มากกว่าชายโสดทั่วไป และทำให้คู่รักรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่า เพราะจากงานวิจัยพบว่า ระดับความพอใจทางเพศของผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะมีมากกว่าชายโสดที่เปลี่ยนผู้หญิงบ่อย ๆ
- ยืดอายุความรักให้ยาวนาน ช่วยเสริมสร้างความรักและความผูกพัน เนื่องจากการแต่งงานมาพร้อมกับพันธสัญญามากมาย เช่น ใบสมรส การถูกยอมรับในสังคม ครอบครัวและเพื่อนฝูง ฯลฯ เมื่อเกิดทะเลาะกันจนถึงขั้นจะเลิกรา พันธสัญญาเหล่านี้ก็จะทำให้ต่างฝ่ายได้หันมาคิดทบทวนมากขึ้นและทำให้มีโอกาสหวนกลับมาพูดคุยด้วยความเข้าใจกันเหมือนเดิม จึงเป็นการยืดอายุความรักและสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยาวนานขึ้น มากกว่าคู่ที่ยังไม่ได้แต่งงานที่ค่อนข้างจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเลิกรากันได้ง่าย “เมื่อคุณรู้สึกหมดรักหรือเบื่อหน่าย สามีหรือภรรยาของคุณ หรือเมื่อเขาหรือเธอรู้สึกหมดรักหรือเบื่อหน่ายในตัวคุณแล้ว การแต่งงานจะเป็นสิ่งที่ผูกมัดให้คุณทั้งสองได้อยู่ร่วมกันจนกระทั่งตกหลุมรักกันอีกครั้ง” (Judith Viorst)
- ช่วยให้มองโลกในแง่บวกมากขึ้น โดยเฉพาะในคนที่ยังไม่มีเป้าหมายในชีวิต การได้ทำอะไรให้กับคนที่ตนเองรักหรือการได้เป็นที่รักหรือมีคนคอยห่วงใย คอยให้กำลังใจ เอาใจใส่ดูแลเวลาคุณมีความเครียด คอยเป็นเพื่อนคู่คิดและพร้อมแชร์ความทุกข์สุขและช่วยกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จึงทำให้เขาเหล่านั้นมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นและมองโลกในแง่บวก “เพราะคนที่มีดีคนละอย่าง ต่างได้นำส่วนที่ดีนั้นไปเติมเต็มให้อีกฝ่ายหนึ่งที่ขาดอยู่”
- ทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีอายุยืนยาวมากขึ้น ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อแล้วล่ะ ว่าการแต่งงานจะทำให้เรามีสุขภาพที่แข็งแรงมากขึ้นได้ เพราะอะไรน่ะเหรอ ก็เพราะเมื่อคุณมีคู่ชีวิตที่ดี คุณก็จะรู้สึกอยากดูแลตัวเองมากกว่าแต่ก่อน หมั่นออกกำลังกายและทานอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้น อีกทั้งความสุขยังเป็นตัวกระตุ้นให้สุขภาพดี แข็งแรงอีกด้วย เพราะผู้ชายที่อยู่โดยลำพังนั้น พวกเขาจะขาดความเอาใจใส่ในการดูแลตัวเอง ไม่รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่มากเกินไป ขาดความระมัดระวังในการขับรถ ทำงานที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และใช้ชีวิตสมบุกสมบันเกินไป โดยมีงานวิจัยที่ยืนยันว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยน้อยลง แถมยังไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพบ่อยกว่าปกติอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้มีระบบภูมิคุ้มกันทางร่างกายดีขึ้นและมีแนวโน้มเป็นโรคอื่น ๆ น้อยลง เช่น โรคความดันโลหิต ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว โรคอัลไซเมอร์ โรคหัวใจ ฯลฯ ในขณะที่คนโสดจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางการแพทย์ที่พบว่า การแต่งงานจะช่วยเพิ่มฮอร์โมนชนิดดีที่เป็นฮอร์โมนที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมัน ช่วยควบคุมน้ำหนัก เสริมสร้างสมองและภูมิต้านทาน ถ้ามีบาดแผลก็จะหายเร็วขึ้น ทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ยิ่งตอนที่ตกอยู่ในห้วงของความรักด้วยแล้ว ไม่ว่าจะคุณจะแต่งงานหรือไม่ก็ตามก็ ฮอร์โมนชนิดนี้ก็จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเลยทีเดียว
- ช่วยลดความดันโลหิตสูง จากงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ลงใน Journal Psychosomatic Medicine ระบุว่า เมื่อคุณอยู่กับคู่สมรส ความดันโลหิตจะมีแนวโน้มลดลง (ลดลงมากกว่าในขณะที่อยู่กับเพื่อน อยู่กับครอบครัว หรือแม้กระทั่งอยู่คนเดียว) ส่วนการศึกษาจาก The State University of New York โดยนักจิตวิทยาชื่อ Brook B. Gump ก็พบว่าการได้อยู่กับคู่สมรส แม้ว่าจะไม่ได้รักกันมากมายก็ตาม แต่ก็ยังส่งผลดีต่อภาวะความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับงานวิจัยที่วิเคราะห์โดย National Center for Health Statistic ที่พบว่าคู่สมรสที่หย่าร้างกันจะมีปัญหาเกี่ยวกับภาวะความเสี่ยงต่อความดันโลหิตสูง “ถ้าคุณอยากรักษาความดันโลหิตไม่ให้สูง ก็ให้พยายามรักษาสถานภาพการสมรสเอาไว้”
- ได้ชื่อว่าแต่งงานแล้วและไม่ได้อยู่บนคานทองอีกต่อไป “คานทองนิเวศน์” เป็นหมู่บ้านหรือแหล่งพักพิงของบรรดาคนโสด ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปพักหรืออาศัยอยู่ตลอดไป ถ้าเลือกได้ทุกคนก็คงอยากย้ายออกจากหมู่บ้านนี้จนเต็มทนแล้ว ถ้าคุณได้รับสิทธิ์นี้เมื่อคุณแต่งงาน ก็จะไม่มีใครสามารถแซวคุณได้แล้วล่ะว่าเมื่อไหร่จะลงจากคานเสียที
- มีข้ออ้างในการเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่าง ๆ แน่นอนว่าอาจไม่ใช่ทุกงานเลี้ยงที่คุณอยากไป ไม่ใช่ทุกงานประชุมที่คุณอยากร่วม แต่ถ้าคุณแต่งงานแล้วก็สามารถใช้คำว่า “สามี” หรือ “ภรรยา” มาเป็นข้ออ้างในการแยกตัวจากสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างมีเหตุมีผล เช่น มีนัดกับสามีไปทานข้าว, ภรรยาคอยอยู่เพื่อไปทำธุระด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าคำที่กล่าวมานี้มีน้ำหนักมากกว่าคำว่า “แฟน” เพราะส่วนใหญ่คงไม่ค่อยมีใครกล้าขัดคำที่ว่านี้หรอกจริงมั้ย ?
- แค่แต่งงานก็ไม่ผิด ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์, ท้องก่อนแต่ง, พ่อตาแม่ยายไม่ยอมรับ ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เมื่อคุณแต่งงาน เพราะฝ่ายหญิงก็ไม่มีใครว่า ฝ่ายชายก็ไม่มีใครตำหนิ
- ครอบครัวสบายใจ หลายคนอาจยึดติดคิดไปว่าการแต่งงานคือการตัดอิสรภาพออกจากชีวิต แต่ในความจริงแล้วเมื่อคุณแต่งงานครอบครัวของคุณจะไม่มายุ่งกับคุณอีกเลย เพราะเขาเห็นว่าคุณมีครอบครัวเป็นฝั่งเป็นฝาแล้วและเชื่อว่าคุณจะสามารถดูแลและจัดการกับปัญหาได้ด้วยตัวเอง แถมยังมีคนช่วยดูแลอีกต่างหาก !! คุณจึงไม่ต้องกังวลแล้วว่าถ้าคุณไปเที่ยวกลับจนดึกดื่นแล้วพ่อจะบ่น นอนตื่นสายแล้วแม่จะว่า เพราะไม่มีใครจับตามองคุณแล้ว (ยกเว้นภรรยาของคุณ)
- ส่งผลดีต่อสังคมหลายอย่าง เช่น เป็นการช่วยเพิ่มพลเมือง, เป็นดัชนีของความรุ่งเรืองของประเทศในด้านเศรษฐกิจ, เป็นการรวมพลังเพื่อช่วยให้สังคมเข้มแข็ง, ช่วยลดปัญหาการก่ออาชญากรรม เพราะต้องคิดหน้าคิดหลังก่อนจะทำความผิด
- ช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ เช่น ทำให้เป็นคนที่มีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยมากขึ้น จากการรับหน้าที่อันใหญ่หลวงในฐานะพ่อแม่ของลูกหรือของสามีต่อภรรยา, ทำให้รู้เป้าหมายในชีวิตชัดเจนขึ้น ไม่เลื่อนลอย เพราะคุณรู้ว่าต้องทำวันนี้เพื่อใคร, ทำให้เป็นคนที่คิดอะไรรอบคอบมากขึ้น คิดก่อนทำ ทำอะไรโดยใช้สติและใจเย็น, ทำให้รู้สึกเกิดความประหยัดเพื่อสร้างฐานะ, มีจิตใจที่มั่นคงและไม่เบื่อหน่ายต่อชีวิต, รู้จักการเสียสละและประนีประนอม, นิสัยเปลี่ยนไปจากการฝืนตัวเองเข้ากับคู่สมรสในระยะแรกจนเกิดความเคยชินเมื่อเวลาผ่านไป
สำหรับประโยชน์ของการแต่งงานในแง่ของกฎหมายมีดังนี้
- การจดทะเบียนสมรสจะเป็นหลักประกันได้ว่า ถ้ามีการจดทะเบียนสมรสเกิดขึ้นแล้ว คู่สมรสอีกฝ่ายจะไม่สามารถจดทะเบียนสมรสซ้อนได้อีก เพราะจะถือว่าเป็นโมฆะ แถมคู่สมรสฝ่ายที่ไปจดทะเบียนซ้อนยังมีความผิดฐานแจ้งความเท็จอีกด้วย
- เกิดทายาทโดยธรรม การแต่งงานและจดทะเบียนสมรสจะทำให้บุตรที่เกิดมาเป็นบุตรของบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นทายาทโดยธรรม (แต่ถ้าไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะถือว่าเป็นบุตรนอกสมรส กรณีนี้จะต้องไปจดทะเบียนรับรองอีก คุณพ่อจึงจะมีสิทธิ์ตามกฎหมาย)
- ในกรณีที่เป็นความผิดทางกฎหมายที่กระทำระหว่างสามีภรรยา เช่น ลักทรัพย์ ยักยอก ทำให้เสียทรัพย์ หรือบุกรุก สามีหรือภรรยานั้นก็จะไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย
- มีอำนาจในการดำเนินคดีอาญาแทน เช่น ภรรยาถูกทำร้ายจนไม่สามารถไปฟ้องร้องคดีเองได้ สามีก็สามารถร้องทุกข์แจ้งความต่อตำรวจหรือฟ้องศาลได้
- ในกรณีที่คู่สมรสเป็นผู้เยาว์ที่มีอายุ 17 ปีขึ้นไป เมื่อจดทะเบียนสมรสแล้วกฎหมายจะถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถทำกิจการหรือธุรกรรมต่าง ๆ ได้เอง โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และแม้จะหย่ากันก่อนอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ก็ยังถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะอยู่ดี
- ช่วยในด้านสิทธิประโยชน์ อย่างในบ้านเรานั้นถ้าคู่สมรสจดทะเบียนกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะมีสิทธิประโยชน์ด้วยกันหลายอย่าง เช่น สามารถใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้ (บุคคลธรรมดาได้ 30,000 บาท) รวมถึงค่าประกันสุขภาพ, คู่สมรสที่เป็นข้าราชการและบุตร สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ซื้อสินค้าในราคาพิเศษ ตลอดจนทำธุรกรรมซื้อบ้านและที่ดินในอัตราพิเศษ, สำหรับบางหน่วยงานหรือบางองค์กรนั้นจะให้สิทธิประโยชน์แก่คู่สมรสด้วย เช่น ถ้าคู่สมรสของคุณทำงานสายการบิน คุณก็สามารถใช้สิทธิ์ซื้อตั๋วในราคาที่ถูกลงหรือใช้ตั๋วฟรีก็ได้ หรือถ้าคุณทำงานในโรงพยาบาล คุณก็สามารถได้รับสิทธิ์ในการรักษาพยาบาลฟรี หรือได้ลดราคาเป็นพิเศษ รวมถึงถ้ามีลูกก็อาจมีการทำคลอดให้ฟรี, การกู้เงินจากธนาคารในสถานะสมรสจะมีโอกาสกู้ผ่านมากขึ้นหลายเท่าตัว จึงทำให้คุณมีทุนในการทำธุรกิจ มีบ้านเป็นของตัวเอง และมียวดยานพาหนะไว้ขับขี่ได้อย่างง่ายดาย เป็นต้น
ข้อเสียของการแต่งงาน
- ความวุ่นวายในการเตรียมพิธีแต่งงาน เช่น การเตรียมแหวนและสินสอด, การหาฤกษ์ยามวันแต่ง, การเลือกพิธีการทางศาสนาและการแต่งตามประเพณี, การถ่ายรูปก่อนแต่งงาน เตรียมพรีเซนเทชั่น, การเตรียมของชำร่วย, การจัดพิมพ์และส่งการ์ดเชิญ, การเช่าชุดและเครื่องประดับ, การเช่ารถ, การจัดเลี้ยงและจัดหาสถานที่, เค้กแต่งงาน, ช่อดอกไม้, เพลงในงานแต่ง, การหาวงดนตรี, การลางาน, การเดินทางไกล, บ้านพักตากอากาศสำหรับฮันนีมูน ฯลฯ
- ขาดอิสระ การแต่งงานเป็นการผูกมัดทั้งทางร่างกายและจิตใจ แน่นอนว่าเมื่อคุณจะไปไหนทั้งที หรือจะไปทำธุระ ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ คุณก็ต้องขออนุญาตคนรักของคุณก่อน ซึ่งบางครั้งก็อาจจะเกิดการทะเลาะกันได้ เพียงเพราะเรื่องแค่นี้ อีกทั้งเมื่อคุณแต่งงานไปแล้ว คุณจะไม่มีโอกาสได้เปิดใจให้ใครอีก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คุณไม่มีอิสระในตนเองอย่างเต็มที่เหมือนตอนเป็นโสดนั่นเอง
- มีความทุกข์ ในเมื่อหลายคนบอกว่าการแต่งงานจะทำให้มีความสุข แล้วทำไมจึงมีความทุกข์ นั่นก็เพราะว่าการใช้ชีวิตคู่หลังแต่งงานไม่ได้ราบรื่นเสมอไป บางครั้งก็อาจจะมีปัญหามากวนใจให้เกิดการทะเลาะ การไม่ไว้วางใจต่อกัน และการหึงหวง ซึ่งก็จะทำให้ความสุขจากชีวิตคู่กลายเป็นความทุกข์ได้
- ปัญหาการหย่าร้าง การแต่งงานในบางคู่อาจเป็นการเพิ่มภาระของอีกฝ่ายจนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งตามมาและทำให้เกิดการหย่าร้างได้ (จากการศึกษาของ National Center for Health Statistic พบว่า คู่สมรสวัยหนุ่มสาวจะมีโอกาสหย่าร้างกันมากกว่าคู่สมรสที่มีอายุมาก ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่า คู่สมรสจำนวน 43% จะหย่าร้างกันภายในเวลา 15 ปี และ 1 ใน 5 จะหย่าร้างกันภายในเวลาน้อยกว่า 5 ปี)
- ปัญหาอื่น ๆ เช่น ทำให้มีพลเมืองเพิ่มขึ้นมากเกินไป (ในเมืองใหญ่ ๆ การเพิ่มขึ้นของพลเมืองในประเทศอาจเป็นปัญหาต่อภาพรวมเศรษฐกิจได้), ในกรณีที่ต้องย้ายสถานที่ในการทำงานตามคู่สมรส อาจทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเลื่อนชั้นทางสังคมหรือในหน้าที่การงานได้, นักปราชญ์บางคนเชื่อว่าการแต่งงานจะทำให้ความเก่งลดลง อัจฉริยะบางคนอย่าง เพลโต นิวตัน ฯลฯ จึงยังไม่แต่งงาน (-_-“)
ข้อดีของการแต่งงานเร็ว
เมื่อรู้ข้อดี-ข้อเสียจากการแต่งงานกันไปแล้ว ทีนี้เราจะมาเข้าเรื่องกัน ว่าการแต่งงานเร็วเกินไปหรือช้าเกินไปนั้นจะมีข้อดีอย่างไรบ้าง
- มีเวลาในการสร้างฐานะร่วมกันมากขึ้น หลายคนอาจจะมองว่าการแต่งงานเร็วเกินไปนั้นไม่ใช่เรื่องดีและไม่เหมาะสมสักเท่าไร แต่รู้ไหมว่าการแต่งงานเร็วก็จะทำให้คุณได้มีโอกาสในการสร้างฐานะร่วมกันมากกว่าคนที่แต่งงานช้าซะอีก แถมในช่วงอายุน้อย ๆ พร้อมร่างกายที่แข็งแรง คุณจึงมีโอกาสในหน้าที่การงานสูง ซึ่งก็จะช่วยให้คุณสามารถสร้างฐานะได้ดีและสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวได้อีกด้วย
- วางแผนการมีลูกได้ดีกว่าการแต่งงานช้า จะทำให้คุณสามารถวางแผนการมีลูกได้ดี เพราะไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเหมือนคนที่แต่งงานช้า แถมไม่ต้องห่วงเรื่องสุขภาพเมื่อคิดจะมีลูกอีกด้วย นอกจากนี้การมีลูกตั้งแต่อายุยังไม่มาก ก็ทำให้วัยเกษียณของเรา มีลูก ๆ มาคอยดูแลอีกด้วยนะ
- จัดสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดี คู่รักที่แต่งงานก่อนวัย 30 ปี จะสามารถจัดความสมดุลระหว่างหน้าที่การงานกับชีวิตส่วนตัวได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ของการเป็นภรรยาหรือสามีที่ดี หรือหน้าที่ของการเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูก ๆ เพราะหน้าที่เหล่านี้จะทำให้คุณเป็นคนมีความรับผิดชอบและรู้จักแบ่งเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น
- คู่รักแต่งงานอายุน้อยจะมีความสุขมากกว่า The Knot Yet Project ทีมสำรวจได้พยายามหาสาเหตุที่ทำให้คนแต่งงานกันช้าลงในสหรัฐอเมริกาและได้พบว่า แม้ชายโสดจำนวน 35% และหญิงโสดจำนวน 33% จะมีความพึงพอใจในชีวิตก็ตาม แต่ในผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะมีความพึงพอใจในชีวิตมากกว่าโดยคิดเป็น 52% และในผู้หญิงคิดเป็น 47% และที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นก็คือ คู่แต่งงานที่มีอายุน้อย ๆ จะมีความสุขมากกว่าคู่แต่งงานที่มีอายุมากด้วย
- มีช่วงเวลาดี ๆ ด้วยกันอีกยาวนาน เมื่อแต่งงานมีครอบครัว ใคร ๆ ก็อยากจะมีชีวิตอยู่ร่วมกันนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ และแน่นอนว่าคนที่แต่งงานเร็วย่อมมีเวลาใช้ชีวิตด้วยกันนานกว่าคนที่แต่งงานช้าอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้จะต้องไม่มีเหตุอะไรมาทำให้คุณต้องพลัดพรากจากกันนะ ไม่ว่าจะเป็นการตายจากกันหรือการเลิกร้างต่อกันก็ตาม
- ได้ประสบการณ์ที่แตกต่าง จริงอยู่ที่ชีวิตโสดจะทำให้คุณรู้สึกสบายและมีอิสระ แต่ความรู้สึกอิสระที่มาพร้อมกับความสบายก็อาจทำให้ชีวิตคุณไม่มีเป้าหมายและติดอยู่กับชีวิตรูปแบบเดิม ๆ แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าเมื่อไหร่ที่คุณแต่งงาน นอกจากจะได้พบกับประสบการณ์ที่แตกต่างแล้ว การแต่งงานยังเป็นเหมือนแรงกระตุ้นให้คุณสามารถทำอะไรใหม่ ๆ มากขึ้นอีกด้วย
- มีโอกาสทำเรื่องมัน ๆ ได้มากกว่า เพราะด้วยศักยภาพของร่างกายและยังเป็นวัยรุ่นไฟแรง จึงทำให้มีกิจกรรมมัน ๆ ให้ทำร่วมกันเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวตะลุยตามต่างจังหวัด ไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ฯลฯ
- ได้สร้างเป้าหมายในชีวิต ในบางคู่ที่คบกันอาจจะยังสับสนหรือไม่มีเป้าหมายในชีวิต ก็เลยใช้ชีวิตทำงานและใช้เงินไปเรื่อย ๆ โดยไม่คำนึงถึงอนาคต แต่เมื่อไหร่ที่คุณทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้ว ก็จะเป็นเหมือนกับการสร้างเป้าหมายในชีวิตไปในตัว เพราะคุณต้องคิดถึงการสร้างฐานะ วางแผนมีลูก หรือมีที่พักอาศัย จึงเป็นการเพิ่มแรงกายแรงใจและเป็นแรงกระตุ้นให้คุณอยากทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น หรือทำสิ่งเดิมที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องของหน้าที่การงาน ความฝัน หรือเรื่องส่วนตัว
- ลดความเสี่ยงจากการหย่าร้าง บางคนอาจคิดว่าคู่แต่งงานที่มีอายุน้อยจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการหย่าร้างค่อนข้างสูง ซึ่งมันก็อาจเป็นเรื่องจริงหากพวกเขาแต่งงานกันก่อนอายุ 25 ปี แต่จากการสำรวจของ For Your Marriage (เว็บไซต์รวบรวมเรื่องชีวิตการแต่งงาน) พบว่าคู่รักที่แต่งงานเร็ว (ก่อนอายุ 30 ปี) จะมีโอกาสในการหย่าร้างน้อยมาก โดยเฉพาะคู่ที่มาจากครอบครัวที่สมบูรณ์และมีความคิดความอ่านเหมือน ๆ กัน (ถ้าทั้งคู่ได้ศึกษาดูใจกันและสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ก็จะมีระยะเวลาในการใช้ชีวิตร่วมกันที่ยาวนานกว่า ทำให้ทั้งคู่มีความผูกพันกันอย่างแน่นแฟ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงในการหย่าร้างให้น้อยลงได้)
- เพิ่มโอกาสในการมีลูก เพราะในวัยดังกล่าวจะมีเพศสัมพันธ์กันค่อนข้างบ่อยกว่าคู่แต่งงานที่มีอายุมาก จึงช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้นตามไปด้วย โดยสถาบันคินเซย์ของมหาวิทยาลัยอินเดียนาในสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า คู่ที่แต่งงานก่อนวัย 30 กว่า 85% มีเพศสัมพันธ์กันอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อเดือน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับคู่แต่งงานอายุมาก
- ช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เพราะการตั้งครรภ์ก่อนอายุ 30 จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติน้อยกว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตอนอายุมาก เพราะผลสำรวจจาก March of Dimes องค์กรช่วยเหลือแม่และเด็กในสหรัฐฯ ได้ระบุว่า ยิ่งคุณแม่มีอายุมากเท่าไร เด็กจะยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรมมากขึ้นเท่านั้น โดยพบว่าคุณแม่ที่มีลูกตอนอายุ 25 ปี ลูกจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นดาวน์ซินโดรมเพียง 1 ใน 1,250 คน แต่ในคุณแม่วัย 30 โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 คน และกลายเป็น 1 ใน 400 คน, 1 ใน 100 คน และ 1 ใน 30 คน เมื่อคุณแม่มีลูกตอนอายุ 35 ปี, 40 ปี และ 45 ปีตามลำดับ
- มีลูกคอยดูแลยามเกษียณพอดี ยิ่งคุณแต่งงานและมีลูกเร็วเท่าไรก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อชีวิตหลังเกษียณมากขึ้นเท่านั้น ด้วยวัยที่ห่างกันไม่มากจนเกินไประหว่างคุณกับลูก จึงทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ง่าย ซึ่งในอนาคตเขาเหล่านั้นจะคอยช่วยดูแลคุณหลังจากการเกษียณอายุ แถมคุณยังอาจเป็นคุณตาคุณยายที่เท่ที่สุดในสายตาหลาน ๆ อีกด้วย
ข้อดีของการแต่งงานช้า
ถึงแม้ว่าการแต่งงานช้าจะทำให้คุณทั้งคู่มีช่วงเวลาในการใช้ชีวิตร่วมกันน้อยกว่าคนที่แต่งงานเร็ว แต่ก็ใช่ว่าการแต่งงานช้าจะไม่มีข้อดีนะ เพราะการแต่งงานช้าก็มีผลดีเช่นกัน ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันเลย
- สร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตคู่มากขึ้น สำหรับบางคน เหตุผลที่แต่งงานช้านั้นอาจไม่ได้เป็นเพราะโสด ไม่มีคู่เสมอไป แต่อาจเป็นเพราะเขาทั้งคู่กำลังค่อย ๆ ดูใจกันอยู่ก็ได้ ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องดีมากเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะการได้ดูใจนาน ๆ จะทำให้เรารู้ว่าคนนี้ล่ะใช่เลย คนที่เรากำลังตามหาและเขาจะไม่ทำให้เราเสียใจอย่างแน่นอน ถึงจะแต่งงานช้าแต่ชัวร์ และยังสร้างความมั่นใจและความมั่นคงในครอบครัวได้ดีอีกด้วย
- ลดโอกาสในการทะเลาะ คนที่แต่งงานช้าหรือแต่งงานเมื่ออายุมากแล้ว จะมีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่มากกว่าวัยรุ่นหรือวัย 20 ต้น ๆ ซึ่งก็จะทำให้ทั้งคู่เกิดความเข้าใจกัน ใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความซื่อสัตย์ และความไว้วางใจ จึงลดโอกาสในการทะเลาะกันได้สูง ซึ่งก็จะนำพาชีวิตคู่ให้มีความสุขไปได้ด้วยดี
- ประสบการณ์มากกว่า คนที่แต่งงานช้าจะมีประสบการณ์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงลูก การทำหน้าที่ของตนเองในฐานะสามี-ภรรยาที่ดี หรือจะเป็นการควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้โกรธหรือขี้หึงมากเกินไป ทั้งนี้ก็ด้วยความที่เป็นผู้ใหญ่มากพอ ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก จึงทำให้คุณสามารถประคับประคองชีวิตคู่ไปได้ด้วยดีนั่นเอง
การแต่งงานล้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่นเดียวกับการเป็นโสดก็ย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นกัน แต่ทั้งนี้การแต่งงานเร็วหรือแต่งงานช้าจนเกินไปนั้นอาจทำให้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควร ซึ่งหากมองในทางกลับกัน ไม่ว่าคุณจะแต่งงานเร็วหรือช้า หากมองว่ามันเป็นสิ่งที่ดีและพยายามใช้ชีวิตคู่ของคุณให้ดีที่สุด การแต่งงานของคุณก็จะเต็มไปด้วยความสุขอย่างแน่นอน และที่สำคัญที่สุดสำหรับการแต่งงานนั้น ควรจะเกิดขึ้นจากความยินยอมพร้อมใจกันทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ว่าอีกคนอยากแต่งแต่อีกคนไม่อยากแต่ง ซึ่งแบบนี้คงไม่ใช่เรื่องดีต่อการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันในอนาคตอย่างแน่นอน
ภาพประกอบ : Bigstock, Ashton Photography
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)