ขอบชะนาง
ขอบชะนาง ชื่อวิทยาศาสตร์ Gonostegia pentandra (Roxb.) Miq. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pouzolzia pentandra (Roxb.) Benn.) จัดอยู่ในวงศ์กะลังตังช้าง (URTICACEAEหรือ CECROPIACEAE)[1],[2]
สมุนไพรขอบชะนาง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า หญ้ามูกมาย (สระบุรี), ขอบชะนางขาว หนอนตายอยากขาว หนอนขาว ขอบชะนางแดง หนอนตายอยากแดง หนอนแดง (ภาคกลาง), หญ้าหนอนตาย (ภาคเหนือ), ตาสียาเก้อ ตอสีเพาะเกล (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เปลือกมืนดิน เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของขอบชะนาง
- ต้นขอบชะนาง มีเขตการกระจายพันธุ์อยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ[5] มีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด ได้แก่ ขอบชะนางแดงและขอบชะนางขาว โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกจำพวกหญ้า และเลื้อยแผ่ไปตามดินแต่ยอดจะตั้งขึ้น ลำต้นมีขนาดใหญ่กว่าก้านไม้ขีดเพียงเล็กน้อย โดยเป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นตามเรือกสวนริมร่อง และขึ้นตามพื้นที่ร่มเย็นที่มีอิฐปูนเก่า ๆ หรือตามที่ผุพัง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้ผล[1] ลำต้นอยู่เหนือดิน ตั้งตรงเองได้ ลำต้นเรียบมีความสูงได้ประมาณ 2-3 ฟุต[5]
- ใบขอบชะนาง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน โดยใบของขอบชะนางแดงจะมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร ส่วนขอบชะนางขาวจะมีลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างมนและกลมหรือเป็นรูปไข่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร เส้นใบของทั้งสองชนิดสามารถมองเห็นได้เด่นชัด เป็นเส้น 3 เส้น ใบจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 2 กระเบียดนิ้ว ยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่ง ถึง 1 นิ้วฟุต สีของใบและต้นของขอบชะนางจะเป็นสีม่วงอมสีแดง เฉพาะแผ่นใบนั้นสีจะเด่นชัด คือ หลังใบจะเป็นสีเขียวเข้มอมสีแดง และท้องใบจะเป็นสีแดงคล้ำ แต่ถ้าเป็นขอบชะนางขาวสีของใบจะเป็นสีเขียวอ่อน ๆ และทั้งสองชนิดจะมีขนเล็กน้อยอยู่ทั้งบนแผ่นใบและตามลำต้น[1],[2]
- ดอกขอบชะนาง ออกดอกเป็นช่อกระจุกตามระหว่างซอกใบและตามกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก เป็นแบบแยกเพศ อยู่บนต้นเดียวกัน เป็นดอกเพศผู้กับดอกเพศเมีย โดยดอกของขอบชะนางแดงจะเป็นสีแดง ส่วนดอกของขอบชะนางขาวจะเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีนวล[1],[2]
- ผลขอบชะนาง ผลเป็นผลแห้งไม่แตกแบบ achene[1] ผลเป็นสีน้ำตาลออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีขนาดประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เมื่อแห้งแล้วจะร่วงหล่นลงบนดินหรือปลิวไปตามลม ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะกลมรีสีน้ำตาลและมีขนาดเล็กมาก[5]
สรรพคุณของขอบชะนาง
- ช่วยแก้อาการเบื่ออาหาร (ใช้ผลแห้ง โดยใช้สูตรเดียวกับการรักษาอาการปวดท้อง)[1]
- ช่วยแก้อาการอาเจียนเป็นฟอง (ใช้ผลแห้ง โดยใช้สูตรเดียวกับการรักษาอาการปวดท้อง)[1]
- ยอดอ่อนที่แตกใหม่ นำมากลั่นด้วยไอน้ำ ใช้รักษาอาการปวดหูได้ (ยอดอ่อน)[1]
- ผลแห้งนำมาบดเป็นผง แล้วใช้ทายาง ๆ บริเวณจมูกหรือนำมาใช้อุดฟัน จะช่วยแก้อาการปวดฟันได้ (ผล)[1]
- เปลือกต้นนำมาต้มผสมกับเกลือเค็ม ใช้อมรักษาโรครำมะนาด (โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะรอบ ๆ ฟัน หรือโรคเหงือกอักเสบ) (เปลือกต้น)[1]
- เหง้าอ่อนใช้ปรุงเป็นอาหาร ใช้รับประทานช่วยบรรเทาอาการปวดมวนท้องได้ดี และยังช่วยขับลมในลำไส้ได้อีกด้วย (เหง้าอ่อน)[1]
- ใช้เป็นยาระบาย ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 แก้ว แล้วผสมกับมะขามเปียกและเกลือใช้รับประทานได้ (เหง้าสด)[1]
- ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ด้วยการใช้ผลของชะนางแห้งที่เอาเปลือกออก และพริกหาง ใส่เปลือกอบเชย แปะชุก ตังกุย แล้วนำมาคั่วและบดให้เป็นหยาบ ๆ โสม แล้วตัดส่วนหัวออก ให้ใช้อย่างละ 15 กรัม หู่จี้ แล้วคั่วให้แตกบดแบบพอหยาบ ๆ เปลือกส้ม 1 กรัม นำมาแช่กับน้ำและเอาใยสีขาวออก ชวงเจีย คั่วพอให้หอม 1 กรัม แล้วนำทั้งหมดมาบดรวมกันผสมกับน้ำผึ้ง แล้วปั้นเป็นยาเม็ดขนาดเท่าเมล็ดถั่ว ใช้รับประทานร่วมกับน้ำขิงครั้งละ 30 เม็ดเมื่อเริ่มมีอาการ (ผลแห้ง)[1]
- ทั้งต้นนำมาปิ้งกับไฟแล้วชงกับน้ำเดือด ใช้เป็นยาขับพยาธิในเด็ก (ทั้งต้น)[1] ส่วนใบก็ใช้เป็นยาขับพยาธิได้เช่นกัน (ใบ)[5]
- ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ (ทั้งต้น)[1],[2]
- ใช้เป็นยารักษาโรคหนองใน (ต้นของขอบชะนางทั้งสอง)[1],[5]
- เปลือกต้นนำมาหุงกับน้ำมันใช้ทาริดสีดวง (เปลือกต้น)[1]
- ขอบชะนางทั้ง 2 ชนิดนำมาปรุงเป็นยาขับโลหิตประจำเดือนของสตรี[1] ตำรายาไทยใช้ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับประจำเดือนของสตรี (ทั้งต้น)[2]
- ใช้เป็นยาขับระดูขาวของสตรี (ต้นของขอบชะนางทั้งสอง)[1],[5]
- ช่วยขับน้ำคาวปลาหลังการคลอดบุตรของสตรี ด้วยการใช้เหง้าสดนำมาตำแล้วคั้นเอาแต่น้ำ 1 แก้วแล้วผสมกับมะขามเปียกและเกลือใช้รับประทานได้ (เหง้าสด)[1]
- ใบนำมาใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอดของสตรี (ใบ)[1]
- ต้นมีสรรพคุณช่วยแก้น้ำเหลืองเสีย (ต้น)[5]
- ใบใช้เป็นยาทารักษากลาก (ใบ)[1]
- ใช้รักษาเกลื้อน ด้วยการนำเหง้าสดมาหั่นเป็นแผ่นแล้วจุ่มลงในเหล้าขาว ใช้ทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนเช้า, เย็น หรือจะใช้เหง้าแห้งนำมาบดเป็นผงแล้วผสมกับน้ำมันมะพร้าวใช้ทาก็ได้ ส่วนดอกสดก็สามารถนำมาใช้ทารักษาโรคเกลื้อนได้เช่นกัน (เหง้า, ดอกสด)[1]
- ใบนำมาตำใช้พอกรักษาฝีและแก้อาการปวดอักเสบ (ใบ)[2]
- เปลือกต้นใช้เป็นยารักษาพยาธิผิวหนัง (เปลือกต้น)[1]
- ช่วยแก้พิษต่าง ๆ (ขอบชะนางทั้งสอง)[4]
- ใบใช้เป็นยารักษาอาการปวดเมื่อยตามข้อได้ (ใบ)[1]
- เปลือกต้นใช้เป็นยาดับพิษในกระดูกและในเส้นเอ็น (เปลือกต้น)[1]
- น้ำจากใบสดช่วยขับน้ำนมของสตรี (ใบ)[3]
- ข้อมูลจากศูนย์สมุนไพรทักษิณระบุว่าขอบชะนางทั้งสองมีสารที่ช่วยแก้โรคมะเร็งได้ (ขอบชะนางทั้งสอง)[4]
- ใบใช้รักษามะเร็งเพลิง รักษามะเร็งลาม (ใบ)[5]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขอบชะนาง
- ในเมล็ดของขอบชะนางพบว่ามีสาร l’-acetoxychavicol acetate และสาร l’-acetoxyeugenol acetate ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการรักษาแผลเรื้อรังที่กระเพาะอาหารและลำไส้[1]
- สารที่สกัดด้วยปิโตรเลียมอีเทอร์จากเหง้าขอบชะนางจะมีฤทธิ์ที่สามารถช่วยขับเสมหะในกระต่ายได้ค่อนข้างดี และยังทำให้มีเมือกในหลอดลมเพิ่มมากขึ้น และส่วนที่ระเหยจะไปช่วยในการกระตุ้นต่อมขับน้ำเมือกที่หลอดลม และส่วนที่ไม่ระเหยนั้นจะซึมผ่านเยื่อที่กระเพาะอาหาร มีผลทำให้ขับเสมหะ โดยน้ำระเหยของขอบชะนางนี้จะมีฤทธิ์ระคายเคืองต่อผิวหนังและเยื่อเมือก การรับประทานเข้าไปจะมีฤทธิ์ในการขับลมและลดการบีบตัวของลำไส้ที่บีบตัวแรงผิดปกติ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้ทำเป็นยาพ่นที่มีฤทธิ์ในการฆ่าแมลงวันได้เป็นอย่างดี[1]
ประโยชน์ของขอบชะนาง
- ต้นสด ดอก และใบใช้เป็นยาฆ่าแมลง ฆ่าหนอน ช่วยรักษาวัวควายที่เป็นแผลจนถึงแผลเน่าขนาดใหญ่ ด้วยการตำใบสดพร้อมเติมปูนขาวลงไป แล้วนำไปยัดใส่แผลที่มีหนอน จะทำให้หนอนตายและยังช่วยในการรักษาแผลได้อีกด้วย (ต้นสด)[1],[2]
- ทั้งต้นมีรสเบื่อเมา นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เอามาวางไว้ที่ปากไหปลาร้าที่มีหนอน อีกไม่นานหนอนก็จะตาย (ต้นและดอกใบ)[1],[5]
- รากนำมาตำให้ละเอียดแช่กับน้ำฟอกล้างผมเป็นยาฆ่าเหา[5]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. “ขอบชะนาง”. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). หน้า 95-97.
- หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ. “ขอบชะนาง”. (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล). หน้า 171.
- ไทยเกษตรศาสตร์. “ประโยชน์ของชอบชะนาง”. อ้างอิงใน: ศาสตราจารย์ ดร.พเยาว์ เหมือนวงษ์ญาติ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.thaikasetsart.com. [11 ก.พ. 2014].
- ศูนย์สมุนไพรทักษิณ, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. “รายชื่อสมุนไพรแบ่งตาม สรรพคุณเภสัช”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: herbal.pharmacy.psu.ac.th. [11 ก.พ. 2014].
- ฐานข้อมูลพันธุ์ไม้, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์. “หญ้าหนอนตายหยาก”. อ้างอิงใน: หนังสือสมุนไพร..ไม้พื้นบ้าน (นันทวัน บุญยะประภัศร). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: www.sbg.uru.ac.th/page/database.php. [11 ก.พ. 2014].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by worachak), เว็บไซต์ saiyathai.com
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)