108 ของใช้เด็กอ่อน & ของใช้เด็กแรกเกิด มีอะไรจำเป็นบ้าง ?

เตรียมของก่อนคลอด

ย่อมเป็นการดีที่คุณพ่อคุณแม่จะจัดเตรียมเสื้อผ้าหรือของใช้จำเป็นสำหรับลูกน้อยก่อนคลอดเผื่อไว้หลาย ๆ วัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อให้ครบถ้วนในคราวเดียว เพราะอาจจะเป็นการเร่งตัวเองให้เครียดได้โดยไม่รู้ตัว หรือถ้าซื้อมาไว้มากจนใช้ไม่หมดก็จะเป็นการเปลืองเงินเปล่า ๆ อย่างเช่นเสื้อผ้าเด็กอ่อนจะใช้ได้ไม่นานเพราะลูกน้อยนั้นโตเร็วมาก ให้หาซื้อมาแค่พอใช้ก็พอแล้ว ส่วนเตียงหรือเปลก็ควรเลือกซื้อที่มีขนาดใหญ่หน่อยเพื่อจะใช้ได้หลายปี และทุกครั้งที่เลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ใด ๆ ก็ตาม คุณแม่จะต้องนึกถึงความปลอดภัยของลูกมาเป็นอันดับแรก และต้องแน่ใจว่าเหมาะสมและตอบสนองต่อความต้องการของลูก หากคุณแม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเลี้ยงลูกมาก่อน การปรึกษากับผู้ที่มีลูกมาแล้วว่าควรซื้ออะไรหรือไม่ซื้ออะไร หรืออาจหยิบยืมจากญาติพี่น้องมาใช้ก็ยังได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้มากขึ้น

“พ่อแม่บางคนเชื่อว่าการเตรียมของให้ลูกก่อนคลอดเป็นลางไม่ดี เพราะอาจทำให้เสียลูก แต่ถึงอย่างไรการเตรียมของล่วงหน้าก็มีข้อดีคือช่วยลดความวุ่นวายที่เกิดขึ้นหลังคลอดได้ ซึ่งคุณแม่อาจเหนื่อยเกินกว่าที่จะออกไปซื้อข้าวของเครื่องใช้ด้วยตัวเอง”

การเตรียมของใช้สําหรับทารกแรกเกิด

  • การเลือกซื้อของใช้ต่าง ๆ คุณแม่จะต้องใจเย็น ๆ ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ ควรเดินดูเพื่อเปรียบเทียบราคาและคุณภาพ หากคุณแม่มีญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงที่เคยมีลูกมาแล้ว การบอกกล่าวให้หยิบยืมหรือยกให้ คุณแม่ก็ควรยิ้มรับอย่างยินดีและเต็มใจ
  • เครื่องใช้สำหรับลูกอาจไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่หมดทุกอย่าง เพราะลูกจะโตเร็วมาก การลงทุนซื้อของใช้บางอย่างจึงอาจไม่คุ้มค่า เช่น เปล หรือรถเข็น ถ้าสามารถหยิบยืมจากญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงได้ก็จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้มาก หรือหากจำเป็นต้องซื้อหาบางสิ่งจริง ๆ ก็ควรเลือกใช้ที่มีอายุการใช้งานนาน ๆ หรือสามารถนำมาดัดแปลงใช้ได้จนลูกโต
  • ในช่วงเดือนแรก ๆ คุณแม่กับลูกน้อยมักจะอยู่ที่บ้าน สิ่งจำเป็นที่ต้องใช้ในการเลี้ยงดูลูกน้อยจึงมีไม่กี่อย่าง เช่น เครื่องนอน ข้าวของเครื่องใช้อาบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่พอจะช่วยผ่อนแรงคุณแม่เมื่อพาลูกออกมาเดินเล่น
  • สิ่งของจำเป็นหลายอย่างที่สามารถใช้ได้นาน เช่น ขวดนม ผ้าอ้อม สำลี ทิชชู ฯลฯ คุณแม่สามารถเตรียมเผื่อไว้ได้ เพราะของเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องใช้อยู่แล้ว
  • สิ่งของเครื่องใช้สำหรับลูกควรเลือกที่มีลวดลายน่ารักสีสันสดใส เพราะจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้
  • อุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่มีเชือกผูก จะต้องผูกให้แน่น ถ้าเชือกยาวไปจนเกะกะก็ควรตัดทิ้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกกลืนเข้าไปจนสำลัก
  • รถเข็น ตะกร้าหิ้วเด็ก หรือเปล ต้องไม่มีเหลี่ยมมุมอันตราย ขอบที่แหลมคม หรือช่องใด ๆ ที่นิ้วของลูกจะเข้าไปติดค้างได้
  • ควรทยอยซื้อของเก็บไปเรื่อย ๆ ชวนคุณพ่อหรือเพื่อนฝูงไปด้วย เพื่อจะได้ช่วยกันเลือกและช่วยกันถือข้าวของ
  • อย่าวางลูกไว้บนโต๊ะทำงานหรือที่สูง เพราะเขาอาจพลิกตกลงมาได้
  • การทำความสะอาดก้นลูกที่ดีที่สุดคือการล้างด้วยน้ำ เพราะการใช้สำลีหรือกระดาษเช็ดก้นเช็ดอาจไม่สะอาด เกิดคราบสกปรกตกค้างอยู่บนผิวหนัง และทำให้เกิดผื่นแดงตามมาได้

ของใช้เด็กแรกเกิด

1.) หมวดห้องนอนสำหรับลูก คุณพ่อคุณแม่ควรคิดจัดเตรียมห้องลูกเอาไว้ให้เรียบร้อยก่อนคลอด เพราะช่วงหลังคลอดอาจไม่มีเวลาให้จัดเตรียม เพราะต้องมายุ่งอยู่กับการเลี้ยงดูลูกน้อย ถ้าเป็นไปได้ลูกน้อยควรมีห้องเป็นของตัวเองใกล้กับห้องของพ่อแม่ แต่ถ้าไม่มีห้องต่างหากก็ควรจัดเตรียมมุมหนึ่งให้เป็นที่ตั้งเตียง เก็บเสื้อผ้า และอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยมุมนั้นไม่ควรจะอยู่ในที่อับทึบ ในห้องควรให้มีการระบายอากาศได้ดีและมีบรรยากาศที่เงียบสงบ เพื่อลูกน้อยจะได้นอนหลับได้สนิทและนาน ซึ่งจะช่วยเป็นการฝึกนิสัยการนอนที่ดีต่อไป นอกจากนี้ควรจัดแต่งห้องนอนด้วยสีสันสดใส วัสดุอุปกรณ์มีลวดลายสวยงามน่ารัก และเครื่องใช้ของลูกควรจะเผื่อให้ใช้จนลูกไปโรงเรียน

  • ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย ห้องนอนที่ดีนอกจากจะต้องมีอากาศที่ปลอดโปร่ง สบาย และถ่ายเทได้ดีแล้ว ที่สำคัญจะต้องมีความปลอดภัยด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรจัดวางเตียงนอนให้ห่างจากหน้าต่างและพ้นจากสิ่งขวางทาง, เตียงของลูกจะต้องมีความหนาแน่นและแข็งแรง, สิ่งของเครื่องเรือนที่มีอยู่แล้วควรจัดตกแต่งให้เหมาะสมและคอยดูแลให้สะอาดสะอ้านอยู่เสมอ, ควรมีเก้าอี้ที่ลุกนั่งได้สะดวกสำหรับคุณแม่ให้นมลูกในตอนกลางคืน, ไม่ควรวางสิ่งใดให้เกะกะระหว่างเก้าอี้ของคุณแม่ เตียงนอนของลูก และที่เปลี่ยนผ้าอ้อม, ควรมีชั้นวางของให้คุณแม่หยิบของใช้ได้อย่างสะดวก, ด้านหนึ่งของตู้วางของให้กันส่วนหนึ่งไว้เป็นพื้นที่ว่าง และมีขอบสูงระดับเอว เวลาใช้งานจะได้ไม่ปวดหลัง, ควรวางเครื่องใช้ไฟฟ้าไว้ใกล้ที่เสียบปลั๊ก สายไฟจะได้ไม่เกะกะทางเดิน และเต้าเสียบควรมีฝาครอบปิดเมื่อไม่ได้ใช้งาน, ควรเก็บครีมทาผิวและแป้งเด็กไว้ใกล้ที่เปลี่ยนผ้าอ้อมและไกลจากมือลูก, ที่นอนของลูกไม่ควรนุ่มจนเกินไป, ควรมีฟองน้ำหนา ๆ กันเหลี่ยมมุมตู้ไว้ทุกจุด, หน้าต่างที่เปิดออกต้องมีล็อกกั้นไว้
  • แสงสว่าง ในยามดึก คุณพ่อคุณแม่อาจลุกขึ้นมาดูแลลูกน้อยหลายครั้ง ห้องนอนจึงควรมีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ไม่ทำให้เดินสะดุด อาจใช้โคมไฟหรือไฟที่สามารถปรับความสว่างได้ตามระดับที่ต้องการ โดยไม่ทำให้ลูกต้องสะดุ้งตื่น
  • หน้าต่างและผ้าม่าน ห้องนอนของลูกควรเป็นห้องที่มีหน้าต่าง ลมพัดถ่ายเทได้สะดวก และต้องมั่นใจว่าสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นสะอาดและปลอดกลิ่น เช่น ไม่อยู่บริเวณที่ทิ้งขยะ ไม่อยู่ใกล้กับห้องครัว ฯลฯ สำหรับบานหน้าต่างนั้นควรอยู่ในระดับที่ลูกเอื้อมไม่ถึง หากหน้าต่างอยู่ในระดับต่ำก็ควรทำลูกกรงกั้นให้เรียบร้อย สำหรับหน้าต่างแบบเปิดปิดควรมีที่ล็อกกั้นไว้ และควรมีผ้าม่านบังแสงแดดในตอนเช้าด้วย
  • พื้นห้องและผนังห้อง พื้นในห้องนอนของลูกควรเรียบและไม่ลื่น กวาดถูทำความสะอาดได้ง่าย (ไม่ต้องปูพรม หลีกเลี่ยงการใช้วัสดุปูพื้นที่เป็นขน เพราะเป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและความสกปรก) ถ้าเป็นไปได้พื้นห้องควรใช้วัสดุปูพื้นประเภทไวนิล เพราะมีความทนทานและสะดวกในการทำความสะอาด ส่วนผนังห้องถ้าใช้วอลล์เปเปอร์หรือกระดาษติดฝาผนังก็ควรจะเลือกชนิดที่เช็ดทำความสะอาดได้และสีไม่ตก สำหรับสีที่ใช้ทาผนังก็ควรเป็นสีที่ไม่มีสารพิษ (ให้ระวังสีที่มีส่วนผสมปนเปื้อนสารตะกั่ว)
  • เครื่องเรือนและการจัดเก็บ ในห้องควรมีตู้สูงระดับเอวเอาไว้สำหรับเก็บสิ่งของเครื่องใช้ และยังเป็นโต๊ะสำหรับเปลี่ยนผ้าอ้อมได้ด้วย แต่ตู้ที่ดัดแปลงเป็นโต๊ะนี้ควรทำมาจากวัสดุพื้นผิวเรียบ ถ้าเป็นไม้ก็ควรระวังอย่าให้มีรอยแตกหรือมีเสี้ยนไม้

ของใช้ทารก

2.) หมวดที่นอนของลูก ทารกในช่วง 2-3 เดือนแรกยังตัวเล็กอยู่มาก คุณแม่อาจให้ลูกนอนในเปลหรือตะกร้า หรือปูเบาะนอนบนพื้นสะอาด ๆ คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจให้ลูกน้อยไปนอนบนเตียงด้วย แต่ไม่ว่าจะให้ลูกนอนแบบไหน ที่นอนของลูกควรมีขนาดที่เหมาะสมพอดีกับเตียง ลูกนอนได้สบาย (แต่ไม่นิ่มจนเกินไป) และกันน้ำได้ คุณแม่ไม่ควรเลือกที่นอนเพราะความสวยงาม หรือที่นอนนุ่ม ๆ แต่ควรคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก อย่างเช่นที่นอนที่มีลูกไม้หรือริบบิ้นรุงรัง อาจทำให้เส้นด้ายพันนิ้วลูกได้ สำหรับหมอนนั้นทารกไม่จำเป็นต้องใช้เลยครับ รวมทั้งตุ๊กตาตัวเล็กตัวน้อยก็ไม่ควรนำมาใส่ไว้ในที่นอนหรือเตียง เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น ไปปิดกั้นการหายใจของลูกได้ และที่สำคัญที่นอนควรมีผ้านวมบุอยู่โดยรอบด้วยครับ เมื่อลูกพลิกคว่ำจะได้ไม่ชนกับลูกกรงของขอบเตียง

  • เตียงนอนเด็ก คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกซื้อเตียงใหม่หรือขอเตียงเก่าจากญาติมิตร แต่ต้องมั่นใจว่าเตียงที่ได้มานั้นมีความแข็งแรง มีตัวล็อกหนาแน่น ลูกกรงที่กั้นโดยรอบเตียงมีความสูงพอที่จะไม่ให้ลูกปีนข้ามได้เมื่อโตขึ้น ส่วนซี่กรงควรห่างกันไม่เกิน 6 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้หัวกลม ๆ ของลูกเข้าไปติดอยู่เพราะความซน และที่กั้นเตียงควรสูงจากที่นอนอย่างน้อย 26 นิ้ว
  • ที่นอนแบบโคสลีปเปอร์ (Co-Sleeper) มีลักษณะเป็นกล่องนอนสำหรับเด็กที่ปิดสามด้าน มีไว้สำหรับตั้งข้างเตียงนอนของคุณแม่ ด้านหนึ่งที่เปิดไว้จะหันมาทางคุณแม่ เพื่อให้คุณแม่สามารถเอื้อมไปสัมผัสลูกน้อยได้โดยไม่ต้องลุกขึ้นมา โดยเฉพาะตอนให้นมลูก แต่ที่นอนแบบนี้จะต้องตั้งติดกับเตียงให้แน่นหนา ไม่ให้เหลือช่องว่างที่เด็กจะติดเข้าไปได้ ซึ่งโคสลีปเปอร์อาจมีความปลอดภัยมากกว่าการให้ทารกนอนบนเตียงร่วมกับคุณแม่ แม้ว่าหลาย ๆ ครอบครัวจะเลือกแบบหลังก็ตาม
  • เบาะนอน หรือ ฟูกนอน ควรเป็นแบบที่ไม่นิ่มจนเกินไปครับ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อลูกได้ ในกรณีที่ลูกเกิดพลิกตัวนอนคว่ำหน้า (แม้ว่าจะจับนอนหงายในตอนแรก แต่เด็กอาจพลิกคว่ำได้เอง) จะทำให้หน้าจมลงไปและหายใจไม่ออกได้
  • ผ้ายางรองฉี่ 2 ผืน หากเป็นเด็กเล็กที่ยังควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ คุณแม่ควรปูผ้ายางหรือแผ่นรองกันซึมทับลงบนที่นอน เพื่อไม่ให้ปัสสาวะของลูกซึมเลอะที่นอน (ควรใช้ผ้าอ้อมปูทับผ้ายางเพื่อรองผิวที่บอบบางของหนูน้อยไม่ให้สัมผัสกับยางโดยตรง) แต่ห้ามนำถุงพลาสติกมาประยุกต์ใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายจากถุงพลาสติกไปครอบศีรษะหรือปิดทับจมูกและปากลูกได้
  • ผ้าปูที่นอน ควรเป็นผ้าฝ้าย นิ่มเบา และอุ่นสบาย เมื่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกหนาว ไม่ควรห่มผ้าให้ทันที แต่ควรยกลูกขึ้นมาอุ้มไว้แนบอกสักครู่ แล้วจึงค่อยวางลงนอนและห่มผ้าให้อุ่น
  • ผ้าห่มและผ้าคลุม ผ้าห่มของลูกควรมีขนาดใหญ่พอที่จะซุกปลายเก็บไว้ใต้เปลหรือฟูกได้ (ควรเตรียมไว้สัก 3-5 ผืน เอาไว้เผื่อซักเผื่อพันเป็นหมอนข้างไว้ดันตัวลูก) ผ้าห่มไม่ควรมีชายรุ่ยร่าย เพราะอาจพันนิ้วเล็ก ๆ ของลูกหรือลูกอมเข้าปากจนเกิดการสำลักได้ และควรเน้นเรื่องความสะอาด ทำความสะอาดได้ง่าย ผ้าที่ทำจากเส้นใยอะคริลิกหรือผ้าฝ้ายผสมพอลิเอสเตอร์จะทำความสะอาดได้ง่ายและไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ หากคุณแม่คนไหนจะประยุกต์ผ้าคลุมไหล่ไหมพรมผืนใหญ่มาใช้ ก็ควรจะสำรวจว่าไม่มีรูโหว่ที่ร่างกายของลูกจะติดเข้าไปหรือถูกผูกรัด ส่วนของเส้นใยที่หลุดลุ่ยจนพันรอบนิ้วมือนิ้วเท้าของลูกหรือลูกอมเข้าปากจนเกิดการสำลักได้ ในบางครั้งผ้าห่มอาจไม่จำเป็น ถ้าภายในห้องไม่ได้เปิดเครื่องปรับอากาศจนเย็นเกินไป (ไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส) แค่ให้ลูกใส่เสื้อที่อบอุ่นก็พอแล้ว หากเด็กบางคนชอบให้ห่อตัวแน่น ๆ เพราะรู้สึกปลอดภัยเหมือนอยู่ในท้องแม่ จึงค่อยห่อตัวให้ การห่อยังเหมาะกับเด็กที่ชอบเตะผ้าห่มกระจุยกระจายอีกด้วย
  • หมอนปรับท่านอนทารก (ราคาประมาณ 500 บาท) เป็นหมอนประคองตัวเด็กที่สามารถปรับแก้ท่าทาง สรีระของเด็ก และการนอนของลูกได้ แต่ผมเองมองว่าไม่จำเป็นต้องใช้ครับ สิ้นเปลืองเงินเปล่า ๆ แถมยังใช้ได้ไม่กี่เดือน แนะนำให้ลูกนอนตะแคง แล้วหาหมอนข้างเล็ก ๆ มาดันหลังเอาไว้ก็ได้ครับ แค่นี้หัวลูกก็ไม่แบนแล้วครับ แต่ถ้าลูกดิ้นเก่งมากและคุณแม่เป็นกังวลก็แล้วแต่จะพิจารณาครับ
  • เปลไกว ปกติแล้วทารกจะชอบการเคลื่อนไหว เวลาเอาทารกใส่เปลไกวจึงช่วยให้เขาสงบลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่วนการใช้เป้พยุงตัวนั้นแม้จะทำให้เด็กเคลื่อนไหวได้เหมือนกัน แต่การใช้เปลไกวจะดีกว่าตรงที่แม่จะได้มีเวลาพักบ้าง ซึ่งการใช้เปลไม่ได้ทำลูกติดนิสัยไปจนโตอย่างที่หลายคนกลัวกันอยู่ แต่การให้ลูกเพลิดเพลินกับเปลตลอดเวลาก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเช่นกัน เพราะลูกจะขาดโอกาสพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ
  • เก้าอี้นอนแบบโยกของเด็ก (เก้าอี้ปรับเอนทารก) เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยเบาแรงคุณแม่ได้เป็นอย่างดี เมื่อกำลังยุ่ง มือไม่ว่างจะอุ้มลูก คุณแม่อาจทำงานไปเล่นกับลูกไปได้ และยังยกย้ายเก้าอี้ไปไว้ใกล้ตัวคุณแม่ในยามที่ต้องเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้สะดวก บางครั้งที่ลูกร้อง เก้าอี้จะโยกไปมาทำให้ลูกเพลินและหลับไปเอง คุณแม่จึงไม่ต้องอุ้มกล่อม และการใช้เก้าอี้ปรับเอนควรรัดเข็มขัดเพื่อความปลอดภัยด้วยทุกครั้ง (ถ้ามีคาร์ซีทอาจใช้คาร์ซีทแทนก็ได้ แต่ควรเลือกคาร์ซีทที่มีฐานใหญ่ให้พอรองรับน้ำหนักไม่ให้ล้มง่ายเวลาลูกเคลื่อนไหว)
  • มุ้งครอบ ถ้าบ้านไม่ติดมุ้งลวดก็ถือว่าจำเป็นมากครับ หรือบ้านที่ติดมุ้งลวดแต่กลัวยุงหลุดมากัดลูก จะซื้อมาใช้ก็ได้ครับ เพราะราคาไม่กี่ร้อย แต่ควรเลือกซื้ออันใหญ่ ๆ หน่อยนะครับ

ของใช้เด็ก

3.) หมวดอุปกรณ์อาบน้ำและการทำความสะอาด คุณแม่คนไทยมักถนัดอาบน้ำลูกในอ่างที่วางกับพื้น แต่คุณแม่ก็สามารถอาบน้ำให้ลูกในอ่างล้างหน้าหรืออ่างที่วางไว้บนโต๊ะก็ได้ ไม่ต้องลุกนั่งให้ปวดเมื่อย แต่ควรเลือกเครื่องใช้อาบน้ำที่แข็งแรง ใช้ได้สะดวก และอาจจะมีของเล่นลอยน้ำสีสันสดใสด้วยก็ได้ จะช่วยให้การอาบน้ำของลูกเป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

  • อ่างอาบน้ำ ถ้าเป็นอ่างน้ำพลาสติกควรเลือกชนิดที่มีที่กั้นกันลื่นเพื่อความปลอดภัย คุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบที่เปิดน้ำออกได้ เพราะถึงเวลา ๆ จริงแล้วมันอาจไม่สะดวกแบบที่คิด การอาบน้ำให้ลูกแม้จะเป็นเรื่องไม่ง่ายของคุณแม่มือใหม่ แต่พอหัดไปเรื่อย ๆ ไม่นานคุณแม่จะมีความชำนาญเอง เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นกังวลหรือกลัวว่าลูกจะหลุดมือครับ
  • ตาข่ายรองอาบน้ำเด็ก & เก้าอี้อาบน้ำเด็ก ควรซื้ออย่างใดอย่างหนึ่ง มีราคาพอ ๆ กันครับประมาณ 150-200 กว่าบาทขึ้นไป ใช้สำหรับพยุงตัวลูกเวลาอาบน้ำ เพื่อความสะดวกและปลอดภัย ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่จะเลือกใช้แบบตาข่ายมากกว่าเก้าอี้ (เพราะแบบเก้าอี้จะเกะกะอ่าง)
  • สบู่ & แชมพู ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับเด็กหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นสบู่หรือครีมอาบน้ำเด็ก คุณแม่ควรเลือกซื้อแบบหัวปั๊มเพื่อความสะดวก หรือซื้อแบบที่ใช้อาบน้ำและสระผมได้ในขวดเดียวกัน และในการเลือกใช้ อันดับแรกควรดูว่าลูกแพ้หรือมีอาการระคายเคืองหรือไม่เวลาใช้ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หากเกิดการระคายเคืองคุณแม่อาจใช้เฉพาะน้ำเปล่าธรรมดาอาบน้ำให้ลูกได้ ส่วนแชมพูควรเลือกสูตรที่ไม่ทำให้แสบตา
  • ฟองน้ำธรรมชาติ ควรเลือกซื้อแบบที่เป็นธรรมชาติ แพงหน่อยแต่ใช้ได้นานครับ เอาไว้ใช้ชุบน้ำแล้วบีบ มันจะทำให้คุณแม่สามารถล้างตัวลูกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสระผม
  • หมวกกันแชมพู (หมวกกันน้ำเข้าตาเด็ก) ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร มีราคาไม่แพงครับ
  • เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำ การใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิน้ำไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่พ่อแม่มือใหม่อาจมีไว้ตรวจอุณหภูมิเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำร้อนเกินไปก็ได้ ควรตั้งอุณหภูมิทำน้ำอุ่นไว้ที่ประมาณ 48.8 องศาเซลเซียส หรือต่ำกว่านั้น แต่เพื่อป้องกันการผิดพลาดของอุปกรณ์ ควรทดสอบด้วยมือซ้ำอีกครั้ง น้ำที่ใช้อาบไม่ควรจะอุ่นเกินไป เพราะจะทำให้ลูกผิวแห้งแตกได้ง่าย และห้ามเปิดน้ำร้อนลงไปในขณะที่ลูกอยู่ในอ่าง
  • ผ้าขนหนู มีไว้ใช้สำหรับห่อตัวลูกหลังอาบน้ำ 1 ผืน และผ้าขนหนูเช็ดตัวลูก 2 ผืน (เผื่อใช้สลับกัน) และผ้าขนหนูผืนเล็กอีก 1-2 ผืน (ถ้าเป็นผ้าสาลูก็ใช้ดีไม่มีฝุ่น แต่จะแห้งเร็วไม่สู้ผ้านาโนเนื้อนิ่ม ๆ ที่เช็ดแล้วแห้งเลย)
  • สำลีก้าน (คอตตอนบัด) ที่ผ่านการฆ่าเชื้อ สะอาด และปลอดภัย ควรมีไว้หลาย ๆ แบบ สำลีก้านเล็กเอาไว้เช็ดรูจมูก สำลีก้านใหญ่เอาไว้เช็ดรูหู ส่วนสำลีก้านธรรมดาเอาไว้เช็ดสะดือลูกและอื่น ๆ
  • สำลีแผ่นแบบรีดข้าง เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดตาลูก
  • สำลีแบบก้อนหรือแบบแผ่น เอาไว้ใช้เช็ดก้นลูก ถ้าอยากประหยัดให้ซื้อแบบม้วนแล้วมาตัดเอาครับ มีขายตามร้านขายยาทั่วไป
  • กระดาษทิชชู ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดทั่วไป
  • กระดาษเช็ดก้นลูก หรือ กระดาษชำระแบบเปียก (Baby Wipes) เอาไว้ใช้สำหรับเช็ดทำความสะอาดก้นลูกตอนอยู่ข้างนอกครับ แต่ถ้าอยู่ในบ้านควรใช้วิธีล้างก้นด้วยน้ำสะอาดแทนจะดีกว่าครับ จะได้ไม่ทำให้ผิวลูกแห้งและเกิดการระคายเคือง
  • ผ้าก๊อซ เอาไว้ชุบน้ำอุ่น ใช้เช็ดปาก เช็ดเหงือก
  • น้ำเกลือ ใช้สำหรับสวนล้างจมูกลูก & ใช้กับสำลีเช็ดทำความสะอาดต่าง ๆ
  • กระติกน้ำร้อน เอาไว้ใช้สำหรับผสมน้ำอาบและใช้ร่วมกับสำลีเช็ดทำความสะอาดตา ฟัน หรือก้นของลูก
  • กะละมังซักผ้าอ้อม ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ 2 ใบ และขนาดเล็ก 2 ใบ (ขึ้นอยู่กับความกว้างของลานซักผ้าที่บ้านด้วย)
  • ถังขนาดกลาง 1 ใบ ความจุประมาณ 3-5 ลิตร สำหรับใช้แช่ผ้าที่มีรอยฉี่และผ้าเปื้อนอุจจาระ (ควรล้างให้หมดก่อนแช่) เพราะจะช่วยให้ซักได้ง่ายกว่าการปล่อยไว้ให้แห้ง
  • ราวตากผ้าอ้อม & ห่วงตากผ้าอ้อมใหญ่พร้อมที่หนีบ & ไม้แขวนเสื้อเด็ก
  • ถังขยะ คุณแม่ควรซื้อแบบเหยียบมีฝาปิดกันกลิ่น

ของใช้เด็กทารก

4.) หมวดเสื้อผ้า เสื้อผ้าสำหรับเด็กอ่อนมีให้คุณแม่เลือกได้มากมาย ทั้งมีสีสันสดใส รูปแบบน่ารัก เหมาะสมกับลูกน้อยและสภาพอากาศ แต่สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงถึงก็คือ ราคาจะต้องไม่แพงจนเกินไป (เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 2-3 เดือน ลูกก็จะใส่เสื้อผ้าตอนแรกคลอดไม่ได้แล้ว) และลูกใส่แล้วสบายและปลอดภัย

  • ผ้าห่อตัวหรือผ้าพันตัวผืนใหญ่ 1 ผืน ใช้ในวันออกจากโรงพยาบาลหรือพาไปหาหมอ แนะนำเป็นผ้าลำสี เพราะเด็กจะอุ่น ในช่วงแรกเดือนแรกหลังคลอดยังจำเป็นต้องใช้อยู่ครับ เพราะเด็กยังต้องการการปรับตัว
  • เสื้อผ้า 4-6 ตัว ควรเป็นผ้าฝ้ายคอกว้าง ถ้าเลือกเสื้อแบบผูกด้านหน้าจะผูกได้ง่ายกว่าเสื้อผูกด้านหลัง เพราะถ้าผูกด้านหลังจะต้องจับลูกพลิกตัว บางครั้งก็ต้องมีคนอุ้มแล้วผูกให้ (เสื้อผ้าไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ เพราะในช่วงแรกลูกจะโตเร็วมาก คุณแม่ควรซื้อเผื่อไว้ 2 ไซส์ คือ ไซส์ 60 สำหรับช่วงแรกเกิด ไซส์ 70 สำหรับช่วง 1-3 เดือน และเผื่อไซส์ 80 สำหรับช่วงอายุ 4 เดือนขึ้นไปไว้ด้วยครับ)
  • หมวกใบน้อย 2-3 ใบ เอาไว้ใช้สลับกัน สำหรับคลุมศีรษะลูกในวันที่แดดร้อนและอากาศหนาว
  • ถุงมือ 2-4 คู่ ใช้เพื่อป้องกันน้องเอาเล็บข่วนหน้า แต่ถ้าตัดเล็บให้สั้นก็ไม่จำเป็นต้องใส่ก็ได้ครับ
  • ถุงเท้าหรือรองเท้าผ้า 2-4 คู่ เลือกเอาแบบไม่ที่หลุดง่าย (รองเท้ายังไม่จำเป็นต้องใช้ครับ)
  • เสื้อไปเที่ยว 1-2 ชุด
  • ชุดกันหนาว 2 ชุด
  • ชุดผ้ายืด 6 ชุด
  • ผ้าสำลี 2-3 ผืน

เตรียมของใช้ทารก

คำแนะนำในการเลือกซื้อผ้าให้ลูกน้อย

  1. เนื่องจากลูกจะโตเร็วมากในช่วงขวบปีแรก ดังนั้นการหาซื้อเสื้อผ้าสำหรับทารกแรกเกิดคุณแม่สามารถซื้อผ้าขนาดเด็ก 3-6 เดือนมาเผื่อไว้ได้เลย (ยกเว้นว่าลูกจะคลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักตัวน้อย)
  2. คุณแม่ไม่ควรซื้อเสื้อผ้ามากจนเกินไป (แต่ก็ไม่ควรน้อยเกินไปจนขาด ควรเตรียมเสื้อผ้าของลูกเผื่อเอาไว้บ้าง) เพราะลูกจะโตเร็วมาก เสื้อผ้าบางชิ้นที่ซื้อมาอาจสวมใส่ได้ไม่กี่ครั้งหรืออาจไม่ได้ใช้เลย เสื้อผ้าที่คับไปก็ทำให้ลูกไม่สบายเนื้อสบายตัว เมื่อเลือกซื้อก็ควรเลือกซื้อเท่าที่ต้องใช้งานจริง ๆ
  3. ควรเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีราคาไม่แพงจนเกินไป (แต่ต้องมีคุณภาพ เนื้อผ้าที่ลูกใส่สบายคือ ผ้าฝ้าย 100%) เสื้อผ้าที่มีราคาถูกบางครั้งก็ไม่มีคุณภาพ ใช้ไปไม่นานเนื้อผ้าเริ่มหยาบกระด้างและหลุดลุ่ย และที่สำคัญคุณแม่ไม่จำเป็นต้องซื้อตามแฟชั่นให้ทันสมัยหรือเสื้อผ้าหรูหรา อย่าไปคำนึงถึงความสวยงาม แต่ไม่มีประโยชน์ใด ๆ กับลูก เพราะอย่าลืมว่าลูกชอบชุดที่สวมใส่แล้วรู้สึกสบาย และแม้ว่าเสื้อผ้าบางแบบจะน่ารักก็จริง แต่ก็หาโอกาสใส่ได้น้อย เพราะผ้าอาจหนาเกินไป หรือมีการตกแต่งมากที่คอหรือแขน ซึ่งอาจทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวได้ คุณแม่จึงควรคำนึงถึงจุดนี้เอาไว้ด้วยนะครับ
  4. เสื้อผ้าของลูกจะต้องสวมใส่สบาย คุณแม่จึงควรเลือกซื้อเสื้อผ้าหลวม ๆ เพื่อลูกจะได้เหยียดแขนยืดขาได้ตามสบาย ไม่ควรซื้อเสื้อให้พอดีตัวจนเกินไป เพราะเสื้ออาจคับหรือหด ซึ่งลูกคงไม่ชอบแน่ ๆ ถ้าเป็นเสื้อผ้าฝ้ายเนื้อนุ่มและสวมใส่สบายจะเหมาะกับลูกน้อยที่สุด เพราะผ้าใยสังเคราะห์จะไม่สามารถซับเหงื่อได้
  5. ในเรื่องความปลอดภัย แนะนำว่าผ้าทุกอย่างที่ให้ลูกใช้ ควรเป็นผ้าเนื้อแน่น เพื่อนิ้วเล็ก ๆ ของลูกจะได้ไม่เข้าไปติด หากใส่ชุดที่คลุมฝ่าเท้า ควรตรวจดูตะเข็บด้านในด้วยว่ามีเส้นด้ายหรือเส้นผมติดอยู่หรือไม่ เพราะอาจพันรอบนิ้วเท้าทำให้ลูกเจ็บปวดได้เช่นกัน ส่วนสายผูกโบควรผูกให้แน่นไม่หลุดจนเป็นสายพันรัดคอได้ อย่าซื้อเสื้อผ้าที่มีกระดุม หรือเสื้อผ้าที่มีวัสดุหรือป้ายหนาแข็ง รวมถึงเสื้อผ้าที่มีซิปก็ไม่เหมาะ เพราะอาจกดทับผิวเนื้ออันนุ่มละมุนของลูกเวลานอน และบางครั้งอาจเผลอรูดแล้วไปถูกผิวลูกได้ (หากซื้อมาแล้วควรตรวจดูความเรียบร้อยของซิป กระดุมติดแน่นดีหรือไม่ เพื่อป้องกันการหลุดหรือเด็กเอาใส่ปาก รวมถึงป้ายที่อาจระคายเคืองต่อผิวหนัง)
  6. การเตรียมเสื้อผ้าให้ลูกไม่จำเป็นต้องมีชุดสำหรับจุดประสงค์ที่หลากหลายเหมือนผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ชุดนอนก็สามารถเอามาใส่ตอนกลางวันได้ ชุดนอนแขนยาวขายาวจะเหมาะกับเด็กที่ไม่ชอบห่มผ้า ส่วนชุดขาสั้นจะเหมาะกับวันที่อากาศร้อน
  7. ครอบครัวที่มีพี่น้องอายุไล่เลี่ยกัน การส่งต่อเสื้อผ้าจะช่วยประหยัดได้มาก แต่คุณแม่ควรตรวจดูเสื้อผ้ามือสองเหล่านั้นด้วยว่ามีสภาพเรียบร้อย ไม่ชำรุดจนสร้างความรำคาญให้ลูกเวลาสวมใส่
  8. ควรซื้อเสื้อผ้าเตรียมไว้ให้เหมาะกับสภาพอากาศในช่วงที่ลูกคลอดและสวมใส่ได้สบาย สีไม่ตก
  9. ถ้าอากาศหนาว ควรสวมเสื้อผ้าให้ลูกอุ่นเพียงพอ แต่อย่าห่อตัวแน่นจนลูกอึดอัด
  10. เมื่อต้องเดินทางไปเมืองหนาวควรเตรียมหมวกเพื่อให้ความอบอุ่น เพราะเด็กอาจสูญเสียความร้อนทางศีรษะได้ง่าย คุณแม่ควรเลือกหมวกที่ไม่ใหญ่จนเลื่อนปิดหน้าลูก
  11. ในวันที่ต้องออกแดด ควรใส่หมวกปีกกว้างและมีสายรัดคาง เพื่อป้องกันไม่ให้แสงแดดทำอันตรายผิวบอบบางของลูก
  12. ที่คาดผมอาจดูน่ารักก็จริง แต่ถ้ารัดแน่นเกินไปก็อาจทำให้ลูกเจ็บศีรษะหรือเกิดอาการคันได้
  13. ลูกจะดิ้นเก่งมากในเวลานอน คุณแม่ควรเลือกเสื้อผ้าที่หลวมพอสบาย เพราะจะทำให้ลูกเคลื่อนไหวได้สะดวก ดิ้นสบาย และนอนหลับสนิท ชุดนอนควรใส่แล้วอุ่นสบาย ปิดคลุมร่างกายของลูกได้มิดชิด และเสื้อของลูกควรเป็นผ้าฝ้ายเนื้อนิ่ม คอกลมไม่มีปก
  14. ถ้าจำเป็นต้องพาลูกออกไปนอกบ้านในวันอากาศหนาว เสื้อกางเกงขายาวคงไม่พอ คุณแม่ต้องสวมถุงเท้าและหมวกให้ลูกด้วย ชุดเสื้อแขนยาวกับกางเกงขายาวจะเหมาะในวันที่อากาศเย็น แต่ในวันที่แดดร้อนควรสวมชุดผ้าฝ้ายเนื้อบาง แขนสั้น และขาสั้น ลูกจะได้สบายเนื้อตัว

5.) ผ้าอ้อม 2 โหล & ผ้าอ้อมสำเร็จรูปหรือแพมเพิร์ส 2 กล่อง ในช่วงเดือนแรกให้ใช้ผ้าอ้อมสาลูจะเหมาะที่สุดครับ เพราะน้องจะถ่ายบ่อยและผิวยังอ่อน (ผ้าสาลูกเมื่อยิ่งซักจะยิ่งนุ่ม คราบเปื้อนซักออกได้ง่าย และแห้งไว ส่วนผ้าฝ้ายและผ้าสำลีก็นุ่มเหมือนกันครับ แต่จะซักคราบออกได้ยากกว่า) ผ้าอ้อมแต่ละยี่ห้อก็แตกต่างกันไม่มากครับ ขอให้นุ่มและโปร่งไม่อับชื้นก็เป็นอันใช้ได้ ส่วนผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็ควรซื้อไว้บ้างเพื่อความสะดวกในการผลัดเปลี่ยนหรือเวลามีธุระต้องออกไปนอนนอกบ้าน แต่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มใช้ตั้งแต่เมื่อลูกมีอายุได้สองเดือนครับ หรือถ้าเป็นเด็กแรกเกิดก็จะใช้เฉพาะตอนกลางคืน ส่วนจะใช้ยี่ห้อไหนนั้นก็ต้องลองใช้ดูก่อนครับ เพราะเด็กบางคนแพ้ไม่แพ้ไม่เหมือนกัน บางคนก็ใช้ได้ทุกยี่ห้อ แต่เด็กบางคนก็ใช้ได้เพียงไม่กี่ยี่ห้อ

  • กางเกงผ้าอ้อมแบบซักได้ 4-6 ตัว & แผ่นรองซับปัสสาวะ & กระดาษออร์แกนิก คุณแม่หลายคนอาจคิดว่าการใช้กางเกงผ้าอ้อมชนิดซักได้แล้วนำมากลับมาใช้ใหม่เป็นเรื่องวุ่นวาย สู้ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแบบใช้แล้วทิ้งไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วนอกจากกางเกงผ้าอ้อมแบบซักได้จะช่วยให้คุณแม่ประหยัดได้แล้ว กางเกงแบบนี้ยังมีรูปแบบที่น่ารัก น่าใส่ ทำให้คุณแม่สนุกกับการแต่งตัวให้ลูกมากขึ้นอีกด้วย ควรซื้อขนาดที่ใหญ่กว่าลูก 1 ไซส์ และสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการสอดแผ่นรองซับปัสสาวะเข้าไปในกางเกงผ้าอ้อม ซึ่งแผ่นรองซับนี้ก็มีทั้งแบบที่ทำจากไมโครไฟเบอร์หรือนาโนที่กันน้ำและดูดซับได้ดี และแบบออร์แกนิกที่ช่วยต่อต้านแบคทีเรียและผื่นผ้าอ้อม นอกจากนี้ยังมี “กระดาษออร์แกนิก” ที่เอาไว้วางบนแผ่นรองซับอีกทีเพื่อไว้กรองกากอุจจาระไม่ให้ไหลเข้าไปในแผ่นรองซับ
  • ที่เปลี่ยนผ้าอ้อม (ของ IKEA ถ้าไม่มีที่เก็บของก็ประมาณ 1,500 บาท แต่ถ้ามีที่เก็บของหรือลิ้นชักด้วยก็เริ่มที่ 4,000-6,000 บาท) โต๊ะหรือตู้เก็บของเตี้ย ๆ (หรือพื้นราบตามแต่สะดวก) ที่มีอยู่แล้วในบ้านก็สามารถนำมาดัดแปลงเป็นที่เปลี่ยนให้ลูกได้ แต่ควรเตรียมอุปกรณ์ทุกอย่างให้พร้อม แล้วปูพลาสติกลวดลายน่ารักหรือแผ่นปูรองกันโต๊ะเปียกลื่นไว้ด้านบนก็ใช้ได้แล้ว ส่วนที่รัดกันเด็กพลิกตัวหล่นจากโต๊ะก็จำเป็นเช่นกัน อย่าชะล่าใจว่าลูกไม่มีทางจะหลุดจากที่รัด คุณแม่ควรจับลูกไว้ตลอดเวลาที่เปลี่ยนผ้าอ้อม แต่หากคุณแม่ต้องซื้อที่เปลี่ยนผ้าอ้อม ก็ควรเลือกเอาแบบที่มั่นคงแข็งแรง มีชั้น และลิ้นชักใหญ่ที่เก็บของได้มาก

ของใช้ทารกแรกเกิด

6.) หมวดอุปกรณ์การกิน

  • เสื้อชั้นในสำหรับให้นม 4 ตัว (ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพและขนาด เริ่มต้นที่ประมาณ 200-600 บาท) แล้วแต่ว่าจะใช้หรือไม่ใช้มากน้อยแค่ไหน กรณีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
  • ผ้าคลุมให้นมลูก (Nursing Cover) (ราคาประมาณ 500 บาท) สำหรับเพิ่มความสบายใจให้คุณแม่เวลาให้นมลูกตอนอยู่นอกบ้าน หรือต้องปั๊มนมในที่ทำงานหรือสถานที่ที่เป็นสาธารณะ
  • แผ่นซับน้ำนม (แบบใช้แล้วทิ้งราคาเฉลี่ยต่อชิ้นประมาณ 1.5-3 บาท) ใช้เพื่อไม่ให้น้ำนมไหลซึม หากมีกำลังทรัพย์เพียงพอ เพื่อความสะดวกคุณแม่ควรเลือกใช้แผ่นซับน้ำนมแบบใช้แล้วทิ้งจะดีกว่าแบบซักได้ครับ หรือจะใช้ทั้งสองแบบเลยก็ได้ แต่แบบซักคุณแม่ควรระวังเรื่องการหมักหมม เพราะจะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ และไม่ว่าจะเลือกแบบไหนก็ตาม คุณแม่ก็ควรจะมีแบบใช้แล้วทิ้งเผื่อไว้ด้วย เพราะเวลาออกไปข้างนอกคุณแม่จำเป็นต้องใช้ครับ
  • เครื่องปั๊มนม เป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับคุณแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เหมาะกับคุณแม่ที่ต้องทำงานและไม่มีเวลาให้นมลูกในตอนกลางวัน (ปั๊มเก็บไว้เป็นสต๊อก) ในปัจจุบันเครื่องปั๊มนมมีให้เลือกหลายชนิด มีทั้งแบบปั๊มมือ (ยี่ห้อ AVENT, PIGEON ราคาตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท), และแบบปั๊มด้วยไฟฟ้า (ยี่ห้อ Medela PIS, Medela Freestyle, Ameda Lecitin ราคาหลักหมื่นขึ้นไป) ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อแตกต่างกันทั้งเรื่องราคาและความรวดเร็วในการปั๊ม ถ้าเป็นแบบปั๊มมือจะเหนื่อยมาก คุณแม่หลาย ๆ คนจึงไม่นิยมใช้ สู้เก็บแรงไว้ดีกว่า แต่ถ้าเป็นแบบเครื่องจะช่วยได้มากและได้รีแล็กซ์ไปในตัวด้วย แม้ว่าราคาจะแพงกว่ามากแต่ก็คุ้ม ถ้าไม่ใช้แล้วก็ขายต่อได้ ราคาไม่ค่อยตกนัก หรือคุณแม่จะซื้อมือสองมาใช้ก็ไม่เสียครับ
  • ถุงเก็บน้ำนม & ปากกาเขียน CD เอาไว้เขียนถุงเก็บนม & ตะกร้าเอาไว้สำหรับเก็บนม (ถุงเก็บนมราคาเฉลี่ยถุงละประมาณ 2-3 บาท) ควรเลือกแบบมีซิปล็อกอย่างน้อย 2 ชั้น มีหลายยี่ห้อที่แนะนำครับราคาไม่แพง เช่น SUNMUM, Boots, Nanny, Toddler
  • เครื่องอุ่นนมและอาหาร (ราคาประมาณ 1,500-3,000 บาท) สำหรับคุณแม่ที่ต้องสต๊อกน้ำนม เครื่องอุ่นนมจะตั้งอุณหภูมิที่เหมาะสมได้ดีกว่าการเอาน้ำร้อนมาอุ่นนม โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นอะไรที่สะดวกนะครับ ซื้อมาได้ใช้แน่นอน ถ้ามีงบเหลือก็แนะนำครับ แต่ถ้าไม่มีอุ่นนมจะใช้วิธีแช่ในน้ำอุ่นเอาก็ได้ แต่ไม่ควรใช้น้ำร้อนหรือเวฟในไมโครเวฟเพราะจะทำให้คุณค่าของน้ำนมเสียไปครับ
  • ขวดนม (ขนาด 4 ออนซ์ 4 ขวด และขนาด 9 ออนซ์ 4 ขวด ราคาขึ้นอยู่กับขนาดและคุณภาพ เริ่มต้นที่ประมาณขวดละ 70-350 บาท แต่ถ้าเป็นขวดแก้วก็จะแพงขึ้นมาหน่อยครับ) คุณแม่ควรเลือกเป็นขวดพลาสติกที่ปลอดสารบีพีเอ (BPA Free) แต่ถ้าใช้ขวดแก้วก็ต้องระวังในเรื่องขวดนมแตก สำหรับขวดนมพลาสติกคุณแม่ควรเลือกขวดที่ผลิตจากพลาสติกชั้นดีและทนความร้อนได้สูงกว่า 120 องศา เวลานึ่งขวดเพื่อฆ่าเชื้อจะได้ไม่ละลายครับ และควรเลือกขวดที่มีรูปทรงถือง่าย มีฐานกว้างที่ปากขวด และล้างทำความสะอาดได้ง่าย ที่สำคัญจะต้องผ่านการรับรองมาตรฐานคณะกรรมการอาหารและยา และมีมาตรฐาน มอก. สำหรับยี่ห้อที่นิยมใช้กันมากก็คือ AVENT และ PIGEON ครับ เมื่อถึงเวลาให้นมอาจไม่จำเป็นต้องนำไปอุ่นเสมอไปครับ เพราะเด็กกินนมเย็นได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วเด็กจะชอบน้ำที่อุ่นเล็กน้อย เวลาเตรียมนมควรใช้น้ำร้อนเล็กน้อยชงให้นมละลาย เพราะน้ำร้อนจะช่วยทำลายเชื้อแบคทีเรียที่อาจปนเปื้อนในนมได้ จากนั้นให้เติมน้ำเย็นจนได้อุณหภูมิที่ต้องการ (ไม่แนะนำให้อุ่นนมด้วยไมโครเวฟ เพราะนมจะร้อนจัดในขณะที่ขวดยังไม่ร้อน ซึ่งอาจลวกปากลูกได้ และควรทดสอบอุณหภูมิโดยการหยดลงบนข้อมือด้านในก่อนเสมอ)
  • น้ำยาล้างขวดนม (ยี่ห้อ Baby mild ขนาด 600 มล. ราคาประมาณ 90-95 บาท) เพื่อใช้ทำความสะอาดขวดนม จุกนม และของใช้สำหรับทารก
  • แปรงล้างขวดนมและจุกนม (มีให้เลือกหลายแบบ ราคาเริ่มต้นที่ 100-400 บาท) ควรเลือกชนิดที่ทนความร้อนและเป็นแบบไนลอน เพราะมีขนแปรงนุ่ม ไม่ทำให้ขวดนมเป็นรอย และทนกว่าแบบฟองน้ำ

เตรียมของก่อนคลอด

  • เครื่องนึ่งขวดนม (มีให้เลือกหลายแบบ ราคาเริ่มต้นที่ 1,000-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับฟังก์ชั่นและขนาดความจุ) อีกหนึ่งอุปกรณ์จำเป็นครับ ใช้งานได้สะดวกและสามารถเก็บขวดนมไว้ในนั้นได้เลย แต่ละแบบก็ไม่แตกต่างกันมากครับ เลือกเอาตามใจชอบได้เลย หรือถ้าจะเอาให้คุ้มหน่อยก็เลือกไซส์ใหญ่
  • หมอนให้นม หรือ หมอนรองให้นม (มีหลายแบบ ราคาเริ่มต้นที่ 250-1,000 บาท) สามารถช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับคุณแม่ในเวลาให้นมลูกได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับคุณแม่ผ่าคลอดและคุณแม่มือใหม่ที่หัดให้นมลูก เพราะหมอจะช่วยรองรับน้ำหนักของลูกตอนที่คุณให้นม ทำให้ไม่เมื่อยและเจ็บแผล ยิ่งถ้าคุณแม่ที่หัวนมสั้นที่ต้องให้นมลูกท่าลูกฟุตบอล หมอนให้นมจะช่วยได้มากครับ ควรเลือกขนาดที่พอเหมาะ ใหญ่หน่อยก็ดีครับ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อแบบแพง ๆ เพราะไม่นานพอคุณแม่ชำนาญก็ไม่ต้องใช้แล้วครับ
  • กระเป๋าเก็บอุณหภูมิ (มีให้เลือกหลายแบบ ราคาประมาณ 1,000-3,000 บาท) เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ช่วยสร้างความสะดวกสบายให้คุณแม่ได้ครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ต้องปั๊มนมและต้องการเก็บรักษาความเย็นของนมแม่สำหรับคุณแม่ต้องปั๊มนมเก็บเมื่ออยู่นอกบ้านครับ แต่ถ้าคุณแม่จะประยุกต์ใช้กระติกน้ำแข็งก็ไม่เสียหายนะครับ ถูกกว่าแถมเย็นกว่าด้วย
  • กล่องโฟมเก็บขวดนม (ยี่ห้อ Gold baby เก็บขวดนม 2 ช่อง ราคาประมาณ 120 บาท) มีไว้สำหรับใส่ขวดนม ด้านในมีโฟมที่ช่วยเก็บอุณหภูมิร้อนเย็นได้ประมาณ 3-4 ชั่วโมง ง่ายต่อการพกพา เหมาะสำหรับคุณแม่ที่เดินทางบ่อย ๆ
  • กระปุกแบ่งนมผง หรือ ที่แบ่งนม 3 ช่อง หรือ กระเป๋าใส่ขวดนม (ยี่ห้อ Natur ราคาประมาณ 100-130 บาท) ใช้เพื่อความสะดวกในการเตรียมนมผงล่วงหน้าสำหรับเด็ก 3 มื้อ แม้จะไม่ค่อยจำเป็นเท่าไร แต่ถ้าเดินทางบ่อย ๆ จะซื้อไว้ใช้ก็ได้ครับ
  • ชุดป้อนยาทารก (ราคาประมาณ 120-150 บาท) แนะนำแบบที่เป็นจุกเหมือนขวดนม ใช้ได้ตั้งแต่วัยแรกเกิดครับ จะช่วยทำให้ป้อนยาลูกได้สะดวก มีปริมาณยาที่ถูกต้อง และป้องกันการหกเลอะเทอะในระหว่างการป้อนยาได้ ส่วนหลอดฉีดยา (Syinge) ก็สามารถนำมาใช้แทนได้ครับ แต่ลูกอาจจะสำลักหรือบ้วนยาออกมาและทำให้ได้รับยาในปริมาณน้อยกว่าโดสที่ควรจะเป็นได้ครับ
  • ชุดชามบดอาหาร & เครื่องบดอาหารแบบมือ (มีหลายแบบ ราคาตั้งแต่ไม่ถึง 100 ไปจนถึง 300-400 บาท) ไม่ค่อยจำเป็นครับ ใช้เครื่องปั่นเอาง่ายกว่า แต่ถ้าจะซื้อก็ควรเลือกเอาแบบที่บดได้ง่าย ๆ และไม่ปวดมือ หรือคุณแม่จะประยุกต์ใช้กระชอนสแตนเลสที่มีอยู่ในบ้านเอาก็ได้จะได้ไม่เปลืองเงิน
  • ผ้ากันน้ำลาย & ผ้ากันเปื้อน (ราคาประมาณ 30-130 บาทต่อผืน ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความน่ารัก) เด็กวัยแรกเกิดมักมีน้ำตาลไหลออกมาจากปากอยู่เสมอ ผ้ากันน้ำลายจึงเป็นสิ่งที่ควรมีไว้หลาย ๆ ผืน เพราะคงจะต้องเฉอะแฉะอยู่บ่อย ๆ จะได้มีไว้เปลี่ยนให้ลูกได้สบายตัวขึ้น คุณแม่เลือกผ้าที่ซับน้ำได้ดีและทำความสะอาดได้ง่าย อย่างเช่นผ้าฝ้ายหรือผ้าคอตตอน 100% ส่วนผ้ากันเปื้อนที่เป็นพลาสติกหรือไนลอน ค่อยซื้อตอนลูกอายุได้ 6 เดือนก็ยังไม่สายครับ เผื่อป้อนอาหารหรือนมจะได้ไม่เลอะเสื้อผ้า แถมยังซักล้างทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วยครับ

ของใช้สําหรับทารกแรกเกิด

  • จุกนมหลอก (ราคาขึ้นอยู่กับคุณภาพและความน่ารัก เริ่มตั้งแต่อันละไม่กี่สิบบาทไปจนถึง 150 บาท) ถ้าคุณแม่ต้องใช้ควรเตรียมเผื่อไว้สลับกันสัก 3-4 อัน เพื่อทำความสะอาด แต่เด็กในช่วงแรกเกิดถึง 1 เดือนยังไม่ควรให้ใช้ เพราะอาจทำให้เด็กเกิดความสับสนระหว่างหัวนมของคุณแม่กับจุกนมหลอกจนไม่ยอมกลับไปดูดนมแต่ที่ควรจะเป็น คุณแม่ควรเลือกจุกนมชนิดที่ทนความร้อนมากกว่า 120 องศา จุกนมจะมีอยู่ 3 ไซส์ คือ S, M และ L และเลือกใช้ให้เหมาะกับวัยของทารกและควรเปลี่ยนจุกนมตามระยะเวลาที่ผู้ผลิตแนะนำ เลือกวัสดุให้ตรงตามความต้องการ ถ้าเป็นจุกนมที่ทำจากยางพาราจะให้สัมผัสนิ่ม แต่จะมีอายุการใช้งานสั้น ส่วนจุกนมที่ทำจากซิลิโคนจะมีอายุการใช้งานนานกว่า แต่จะไม่นิ่มเท่ายางพาราครับ ในส่วนการทำความสะอาดขวดนมนั้น หากน้ำประปาอยู่ในระดับมาตรฐานปลอดภัยสำหรับการดื่มก็ไม่จำเป็นต้องต้มก่อน (การใช้จุกนมมาอัดด้วยสำลีหรือกระดาษเพื่อประยุกต์เป็นหัวนมหลอกนั้นเป็นอันตราย เพราะชิ้นส่วนที่ใช้อัดอาจหลุดเข้าไปในคอลูก ทำให้หายใจไม่ออกได้)

7.) หมวดยาสามัญประจำบ้านสำหรับเด็ก

  • มหาหิงค์ (ป้องกันท้องอืด) จะใช้ยี่ห้อไหนก็ได้ครับ แต่ควรเลือกแบบที่มีแอลกอฮอล์น้อย ๆ โดยใช้มหาหิงค์ชุบกับสำลีแล้วทาที่หน้าท้อง ฝ่ามือ และฝ่าเท้าของลูกหลังอาบน้ำเสร็จ เพื่อป้องกันอาการท้องอืด แถมยังช่วยบรรเทาอาการหวัดและอาการไอได้ด้วยครับ
  • ยาแก้ท้องอืด เช่น ไกรพ์วอเตอร์ (Gripe Water) หรือ Air-x ใช้สำหรับบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อของทารกแรกเกิด
  • ครีมทากันผื่นผ้าอ้อม (บีแพนเธน, วาสลีน ฯลฯ) สำหรับยี่ห้อ บีแพนเธน ขนาด 30 กรัม หลอดละประมาณ 160 บาท เป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องและดูแลผิวก้นหนู ๆ เสมือนเป็นเกราะป้องกันภายนอกจากสารระคายเคืองและความเปียกชื้นได้ยาวนาน ให้ใช้ทาบาง ๆ บริเวณก้นลูกหลังทำความสะอาดและซับให้แห้งแล้ว หรือทาทุกครั้งก่อนเปลี่ยนผ้าอ้อม เพื่อปกป้องและบำรุงผิว ส่วนวาสลีนก็สามารถใช้ป้องกันการระคายเคืองได้เช่นกันครับ โดยจะช่วยป้องกันไม่ให้ผิวของลูกน้อยเสียดสีกับผ้าอ้อมโดยตรง
  • ครีมทาแก้คันอักเสบบวม (ยี่ห้อ เบบี้มุฮิ ขนาด 15 กรัม หลอดละประมาณ 330 บาท, แซม-บัค ขนาด 18 กรัม ราคาประมาณ 20 บาท) เอาไว้ใช้สำหรับทาลดอาการคัน อาการอักเสบจากยุงกัด มดและแมลงอื่น ๆ รวมถึงอาการแสบคันจากแดดและฝุ่นละออง อ่อนโยนไม่ระคายเคืองต่อผิวลูก ใช้ได้ตั้งแต่น้องมีอายุ 1 เดือนขึ้นไป
  • ยากันยุง เช่น ยี่ห้อ Chicco (ใช้ได้สำหรับเด็กอายุ 3 เดือนขึ้นไป), จอห์นสัน เคลียร์โลชั่น สูตรป้องกันยุง (ใช้ได้สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป) ฯลฯ ส่วนแซม-บัค มีไว้ใช้สำหรับทารอยยุงกัด
  • ปรอทวัดไข้ ในปัจจุบันมีให้เลือกหลายชนิด โดยมีทั้งแบบดิจิทัลที่ใช้งานง่าย แม่นยำ และปลอดภัย ส่วนชนิดที่วัดทางหูจะมีราคาแพงกว่า แต่มีความแม่นยำน้อย ส่วนปรอทแก้วไม่ควรใช้ เพราะอาจเกิดอันตรายได้หากแตกหัก
  • เจลแปะลดไข้ โดยส่วนตัวมองว่าไม่จำเป็นเท่าไรครับ และแพทย์เองก็ไม่แนะนำให้ใช้ด้วย ถ้าลูกมีไข้ต่ำ ๆ (เกิน 37.5 องศาเซลเซียส) ให้คุณแม่สามารถเช็ดตัวให้ลูกโดยใช้ผ้าเปียกแทนจะดีกว่าครับ ซึ่งจะช่วยทำให้ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าลูกมีไข้เกิน 38 องศาเซลเซียส ให้รับประทานยาลดไข้ในขนาดที่หมอแนะนำ
  • ลูกยางแดง (อุปกรณ์ดูดน้ำมูก) ในกรณีที่เด็กมีปัญหาน้ำมูกคั่ง ทำให้ดูดนมหรือหายใจลำบาก คุณแม่สามารถใช้ลูกยางแดงหรืออุปกรณ์ดูดน้ำมูกที่ขายในแผนกขายของใช้สำหรับเด็กหรือตามร้านขายยาได้
  • ครีมทาหัวนมแตกของคุณแม่ ใช้สำหรับทาหัวนมเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการหัวนมเจ็บ แตก เป็นแผล โดยไม่จำเป็นต้องเช็ดออกเมื่อต้องให้นมลูก โดยส่วนตัวแล้วมองว่าไม่ค่อยจำเป็นเท่าไรครับ เพราะมีราคาแพง และคุณแม่สามารถป้องกันหัวนมแตกได้ด้วยการให้ลูกดูดนมถูกท่า หรือจะใช้น้ำนมของคุณแม่เองมาทาผึ่งไว้ให้แห้งแล้วค่อยใส่เสื้อในก็ช่วยป้องกันหัวนมแตกได้เช่นกันครับ
  • กระเป๋าน้ำร้อน มีทั้งแบบเติมน้ำร้อนและแบบไฟฟ้า มีไว้ใช้สำหรับประคบเต้านม ท้อง และหลังเพื่อคลายอาการเจ็บปวด

ของใช้เด็กอ่อน

8.) หมวดของใช้สำหรับการเดินทาง เมื่อพาเจ้าตัวเล็กออกนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่คงต้องเตรียมอุปกรณ์ของใช้กันให้พร้อม เพื่อความสะดวกสบายของครอบครัว อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องใช้สอยต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงการใช้งานว่าจำเป็นแค่ไหน ต้องใช้บ่อยเพียงไร และจะมีที่เก็บหรือไม่ และสิ่งที่คุณแม่ควรทราบอีกเรื่องก็คือ “การให้ลูกอยู่ในที่นั่งมากเกินไป อาจทำให้ลูกขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้ เวลาให้นมหรือป้อนอาหารคุณแม่ควรเปลี่ยนมาอุ้มบ้าง เพื่อให้ลูกรู้สึกอบอุ่น”

  • รถเข็นเด็ก เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่วยผ่อนแรงได้มาก แต่น่าจะเหมาะกับเด็กโตที่สามารถตั้งศีรษะเองได้แล้ว ไม่โงนเงนเวลาถูกเข็น คุณแม่ควรเลือกรถเข็นแบบที่ปรับได้ทั้งนั่งและนอน เข็นได้ง่าย มีความแข็งแรง น้ำหนักเบา มีเบรกในตัว มีขนาดและระดับความสูงกำลังดี (เพราะจะไม่ทำให้คุณแม่ปวดหลังเวลาเข็น) สามารถพับเก็บได้ และสามารถใช้ได้จนลูกโต เพื่อความสะดวกและเพื่อประหยัด คุณแม่จะได้ใช้อย่างคุ้มค่า ในปัจจุบันรถเข็นมีอยู่หลายแบบ ทั้งรถเข็นธรรมดา รถเข็นชนิดพับได้ และรถเข็นที่ดัดแปลงเป็นคาร์ซีทได้ การจะเลือกใช้แต่ละชนิดก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความต้องการใช้งาน หากออกไปจับจ่ายใช้สอยหรือทำธุระที่ต้องการความสะดวก การใช้รถเข็นจะสะดวกกว่า แต่ต้องคำนึงด้วยว่าคอลูกแข็งแรงพอหรือยัง หรือหากไม่อยากให้ลูกต้องตื่นขณะมาในรถก็ควรใช้รถเข็นที่ปรับเป็นคาร์ซีทได้ แต่รถเข็นแบบนี้จะมีน้ำหนักมาก ที่สำคัญที่สุด เวลาใช้รถเข็นจะต้องรัดเข็มขัดให้ลูกทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย
  • เก้าอี้นิรภัยในรถยนต์ หรือ คาร์ซีท (Car Seat) หากคุณแม่มีความจำเป็นต้องหอบเจ้าตัวเล็กไปไหนต่อไหนบ่อย ๆ หรือแม้แต่เวลาที่เดินทางไปกลับโรงพยาบาล คาร์ซีทก็เป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่ควรมีครับ เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้ว่าลูกน้อยจะนั่งรถไปไหนต่อไหนได้อย่างปลอดภัย ซึ่งตำแหน่งที่ปลอดภัยที่สุดคือ เบาะด้านหลังตรงกลาง ส่วนที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้าจะอันตรายมากครับ เพราะถุงลมที่พองออกตอนเกิดอุบัติเหตุจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งหรืออาจทำให้ทารกหรือเด็กเล็กเสียชีวิตได้ ถ้าเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรใช้ของใหม่ ไม่ควรประหยัดไปซื้อคาร์ซีทที่ใช้แล้ว หากต้องใช้คาร์ซีทมือสอง แม้ว่าภายนอกจะยังดูดีอยู่ก็ตาม แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของพลาสติกที่เสื่อมสภาพ ซึ่งจะส่งผลให้ความปลอดภัยลดลง แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนก็ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย คาร์ซีทที่เลือกควรมีฐานใหญ่ให้พอรองรับน้ำหนักไม่ให้ล้มง่ายเวลาลูกเคลื่อนไหว และควรหาขนาดที่มีความเหมาะสมกับน้ำหนักตัวของลูก เพราะเก้าอี้จะถูกออกแบบมาให้เหมาะเจาะกับขนาดของเด็กทั้งตัวเก้าอี้และสายรัดที่กระชับลำตัว (โดยทั่วไปคาร์ซีทจะอยู่ 2 แบบ แบบแรกคือคาร์ซีทที่หันไปด้านท้ายรถ ที่สามารถหิ้วเวลาที่ต้องพาลูกไปไหนมาไหนได้ด้วย (Carrier) และแบบที่สองจะเป็นแบบปรับให้หันมาด้านหน้ารถได้ ที่ใช้กับเด็กอายุ 1 ขวบขึ้นไปและมีน้ำหนักตัวมากกว่า 9 กิโลกรัม) คุณแม่ไม่ควรคิดว่าซื้อไว้เผื่อโต เพราะนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์แล้วยังเป็นอันตรายต่อลูกด้วยถ้าเกิดอุบัติฉุกเฉินขึ้นมา ส่วนการติดตั้งในครั้งแรกนั้นอาจยุ่งยากเล็กน้อย จึงควรเรียนรู้จากผู้ขายหรือผู้เชี่ยวชาญ
  • เป้อุ้มเด็ก เมื่อคุณแม่มีความจำเป็นต้องอุ้มลูกออกไปทำธุระนอกบ้าน เป้อุ้มเด็กจะช่วยให้คุณแม่มีความคล่องตัวกระฉับกระเฉงและมีมือว่างสำหรับการทำธุระไปด้วย แต่เวลาขึ้นเป้คุณแม่จะต้องสำรวจดูให้ดีก่อนว่ารัดสายแน่นดีแล้ว เมื่อใช้เป้อุ้มเด็ก ลูกจะมีความสุข เพราะได้แนบชิดกับอกคุณแม่ และยังได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่เต้นซึ่งลูกก็คุ้นเคยมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่อยู่แล้ว แต่เป้อุ้มเด็กควรมีสายคาดที่แข็งแรงมากพอที่จะรองรับน้ำหนักของลูกได้ และมีที่สำหรับพยุงคอ ในปัจจุบันเป้อุ้มเด็กหรือเป้สะพายก็มีทั้งแบบสะพายหน้าและแบบสะพายหลัง การสะพายเด็กไว้ในเป้สะพายหน้าแม่อาจต้องรับน้ำหนักมาก แต่ก็มีข้อดีคือทำให้เด็กมองเห็นแม่และได้ยินเสียงหัวใจของแม่ตลอดเวลา ลูกจึงสงบและมีความสุขมากกว่า ส่วนเป้สะพายหลังนั้นมีไว้สำหรับการเดินทางไกล ซึ่งจะเหมาะกับเด็กที่พยุงคอได้แล้วจนถึงอายุ 2-3 ขวบ
  • เปลกระเช้าหรือตะกร้าหิ้วเด็ก อาจให้ลูกน้อยนอนในเปลกระเช้าหรือตะกร้าหิ้วเด็กก่อนออกเดินทาง เพราะรถเข็นแบบปรับนอนได้แม้ว่าจะสบายสำหรับลูก แต่อาจลำบากเวลายกขึ้นลงบันไดและหาที่เก็บตอนอยู่นอกบ้าน

เตรียมของใช้ทารกแรกเกิด

9.) หมวดของใช้สำหรับส่งเสริมพัฒนาการ

  • ของเล่นโมบายล์ ของเล่นโมบายล์ที่มีสีสันสดใสและมีเสียงดนตรีที่ไพเราะ จะเหมาะสำหรับแขวนไว้เหนือเตียง หรืออาจห้อยเอาไว้ให้อยู่ในระดับสายตาลูก (8-10 นิ้ว) เพราะจะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสสายตาของลูกให้ทำงานได้ดี ทั้งนี้ถ้าลูกโตขึ้นและรู้จักเอื้อมมือคว้าก็ต้องย้ายไปแขวนไว้ที่อื่น เพราะโมบายล์อาจร่วงหล่นใส่ลูกน้อยได้
  • คอกสำหรับปล่อยให้เด็กเล่น (Playpen หรือ Play yard) บ้านที่มีพื้นที่เพียงพออาจเตรียมพื้นที่สำหรับให้เด็กเล่น มีที่กั้นเป็นคอกให้เด็กได้นั่งเล่น ให้หัดคลานในพื้นที่ที่ปลอดภัย มีผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า การจัดพื้นที่แบบนี้จะทำให้เด็กขาดโอกาสเรียนรู้ เพราะต้องอยู่แต่ในคอก แต่ในความเป็นจริงแล้วเด็กสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนอนแบเบาะอยู่บนเตียงหรือเริ่มคลาน ซึ่งการมีพื้นที่เฉพาะนี้จะทำให้พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูกเบาใจลงได้ แม้ว่าลูกไม่ได้อยู่ในสายตา แต่ก็ควรจะใช้ตอนที่ลูกยังเล็ก (สูงไม่เกิน 85 เซนติเมตร) หรือประมาณ 2 ขวบ เพราะหากเด็กสูงกว่านี้อาจปีนคอกออกมาได้ และเด็กบางคนอาจจะไม่ชอบ จึงจำเป็นต้องฝึกให้เกิดความเคยชิน ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะสมก็คือเมื่อลูกมีอายุประมาณ 3 เดือน ถ้าช้ากว่านี้เด็กอาจไม่ยอมอยู่ในคอก
  • แผ่นรองคลาน เช่น แบบเป็นแผ่นต่อจิ๊กซอว์ อักษร ก-ฮ หรือ A-Z ไม่ค่อยจำเป็นเท่าไรครับ เพราะการคลานไม่ได้ทำให้ลูกบาดเจ็บหรือถึงขนาดเข่าและศอกด้านได้อย่างที่คุณแม่หลาย ๆ คนกังวลหรอกครับ แต่ถ้ามีงบเหลือและจะซื้อไว้เผื่อป้องกันลูกหกล้มหรือหัวฟาดพื้นจะซื้อมาใช้ก็ไม่เสียหายครับ
  • รถหัดเดิน อันที่จริงแล้วรถหัดเดินสามารถช่วยให้เด็กเพลิดเพลินแค่ช่วงสั้น ๆ เท่านั้น แต่ไม่ช่วยกระตุ้นเรื่องพัฒนาการสักเท่าไร และหลายครั้งยังกลายเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุที่รุนแรงจากการพลิกคว่ำหรือลื่นไถล จึงไม่อยากแนะนำให้ใช้ แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตรถหัดเดินแบบใหม่ที่ไม่มีล้อ แต่ใช้การหมุน การกระโดด หรือแค่โยกไปมา และอาจมีของเล่นติดอยู่ให้เด็กเล่นได้ด้วย ถ้าเป็นแบบนี้คุณแม่ก็สามารถเลือกใช้ได้ครับ แต่จะมีราคาแพงมาก

ของใช้เด็กแรกเกิด

10.) หมวดของใช้จำเป็นอื่น ๆ & เบ็ดเตล็ดทั่วไป

  • ตะกร้า ควรมีตะกร้าใส่ผ้าอ้อมและใส่ของลูกประมาณ 2-3 ใบ
  • กระเป๋าใส่ของใช้เด็ก ควรเลือกกระเป๋าที่มีหลายช่องเพื่อใส่ของใช้เวลาออกไปนอนบ้าน เช่น ผ้าอ้อม ครีมทาก้น กระดาษเช็ดก้น ฯลฯ
  • กระปุกใส่สำลีและของใช้กระจุกกระจิก เช่น ที่ตัดเล็บ แซมบัค มหาหิงค์ ฯลฯ
  • ตู้เสื้อผ้าลูก
  • เข็มกลัดผ้าอ้อม (ชิ้นละประมาณ 10 บาท) จะเป็นเข็มกลัดซ่อนปลายตัวใหญ่ที่มีพลาสติกตัวล็อกที่ปลายไม่ให้เด้งออกง่ายเหมือนเข็มกลัดทั่วไป
  • น้ำยาซักผ้าเด็ก & น้ำยาปรับผ้านุ่มเด็ก
  • กรรไกรตัดเล็บเด็กอ่อน & ตะไบเล็บ คุณแม่สามารถเลือกใช้ได้ทั้งกรรไกรตัดเล็บและตะไบเล็บ แต่สิ่งที่ต้องระวังให้มากก็คือ อย่าตัดลึกจนเกินไป ควรตัดปลายให้โค้งและไม่คม เพื่อป้องกันไม่ให้ขูดผิวลูกน้อย
  • หวีแปรง ถ้าลูกใครผมน้อยไอเทมนี้ก็ผ่านไปครับ แต่ถ้าผมเยอะ ๆ จะใช้ได้ดีมาก แต่คุณแม่ควรเลือกแบบที่มีขนนุ่มหน่อย เพราะจะได้เหมาะกับหัวอ่อน ๆ ของลูกครับ
  • โลชั่นหรือน้ำมันทาตัวทารก ในส่วนของโลชั่นทาตัวมักใช้ในกรณีที่ผิวลูกแห้ง โดยควรเลือกแบบที่ไม่มีสีหรือกลิ่น ส่วนน้ำมันทาผิว ไม่ว่าจะใช้แบบผสมน้ำอาบหรือใช้ทาบริเวณก้น จริง ๆ แล้วไม่แนะนำครับ เว้นแต่ลูกจะผิวแห้งมากจริง ๆ และต้องสังเกตการแพ้ด้วย เพราะผิวของเด็กทารกนั้นค่อนข้างจะบอบบาง
  • แป้งที่ทำจากข้าวโพด ผู้ใหญ่มักเคยชินที่จะทาแป้งฝุ่นให้ลูก หากลูกสูดดมฝุ่นแป้งที่ฟุ้งกระจายเข้าไปมาก ๆ อาจเกิดการสะสมในปอดและเป็นอันตรายได้ บางครั้งแป้งฝุ่นยังกลับกลายเป็นตัวกระตุ้นอาการแพ้ของเด็กได้ด้วย หากจำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันผื่นผ้าอ้อม ควรเลือกใช้แป้งที่ทำจากข้าวโพด หรือใช้ขี้ผึ้งลาโนลินหรือปิโตรเลียมเจลแทน
  • อื่น ๆ เช่น ที่กันกระแทกมุมโต๊ะ, ที่กั้นประตู, ที่กั้นพัดลม (กันลูกเอานิ้วไปแหย่) ฯลฯ

หมายเหตุ : ของใช้จำเป็นหรือของใช้ที่ควรมีถ้าหากขาดตกตรงไหนรบกวนช่วยแจ้งมาทางข้อความด้วยนะครับ

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ.  “สิ่งที่ควรเตรียมเพื่อลูกน้อย”.  (รศ.พญ.สายฝน – นพ.วิชัย ชวาลไพบูลย์)”.  หน้า 182-187.
  2. หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด.  “การเตรียมสถานที่และของรับลูก”.  (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ)”.  หน้า 303.
  3. หนังสือคัมภีร์เลี้ยงลูก วัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย.  “ของที่ควรเตรียม / เช็กลิสต์คุณแม่”.  (นพ.เบนจามิน สป๊อก)”.  หน้า 26-34.

ภาพประกอบ : yooleku.co, www.kidsologie.net, www.ikea.com, www.weloveshopping.com, tarad.com, www.designrulz.com, www.lazada.co.th, th.aliexpress.com, www.huffingtonpost.co.uk

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด