ขลู่ สรรพคุณและประโยชน์ของขลู่ ต้นขลู่ ใบขลู่ 38 ข้อ !

ขลู่ สรรพคุณและประโยชน์ของขลู่ ต้นขลู่ ใบขลู่ 38 ข้อ !

ขลู่

ขลู่ ชื่อสามัญ Indian marsh fleabane[1],[2],[3],[6]

ขลู่ ชื่อวิทยาศาสตร์ Pluchea indica (L.) Less. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Baccharis indica L., Conyza foliolosa Wall. ex DC., Conyza corymbosa Roxb., Conyza indica (L.) Blume ex DC.[5]) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1],[2],[3],[6]

สมุนไพรขลู่ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ขี้ป้าน (แม่ฮ่องสอน), หนาดวัว หนาดงัว หนวดงั่ว หนวดงิ้ว (อุดรธานี), ขลู่ (ภาคกลาง), เพี้ยฟาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ขลู คลู (ภาคใต้), หลวนซี (จีนกลาง), หล่วงไซ (แต้จิ๋ว) เป็นต้น[1],[2],[5]

ลักษณะของต้นขลู่

  • ต้นขลู่ จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ขึ้นเป็นกอ ๆ แตกกิ่งก้านสาขามาก ลำต้นความสูงประมาณ 0.5-2 เมตร ลำต้นกลม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลแดงหรือเขียว ที่ลำต้นและกิ่งก้านมีขนละเอียดขึ้นปกคลุม โดยเป็นพรรณไม้ที่ชอบดินเค็มมีน้ำขังตามหนองน้ำ มักขึ้นตามที่ลุ่มชื้นแฉะ ตามริมห้วยหนอง หรือตามหาดทราย ด้านหลังป่าชายเลน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด และวิธีการปักชำ ด้วยการตัดลำต้นชำลงดิน แล้วรดน้ำให้ชุ่ม สามารถปลูกขึ้นได้ง่ายและไม่ต้องการการดูแลรักษาแต่อย่างใด[1],[2],[5],[10]

ต้นขลู่

รูปต้นขลู่

รูปขลู่

  • ใบขลู่ ใบเป็นใบเดี่ยวออกตรงข้ามกัน ใบมีขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่กลับหรือรูปรี ปลายใบแหลมหรือมีติ่งสั้น ๆ ปลายใบมีขนาดใหญ่กว่าโคนใบ โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟันและแหลม โดยรอบมีขนขาว ๆ ขึ้นปกคลุม ใบมีความกว้างประมาณ 1.5-5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-9 เซนติเมตร เนื้อใบมีลักษณะบางคล้ายกระดาษ ใบค่อนข้างแข็งและเปราะ หลังใบและท้องใบเรียบเป็นมัน ค่อนข้างเกลี้ยง และไม่มีก้านใบหรือมีก้านใบสั้นมาก[1],[2],[5]

รูปใบขลู่

ใบขลู่

  • ดอกขลู่ ออกดอกเป็นช่อฝอยสีขาวนวลหรือสีม่วง โดยจะออกตามปลายยอดหรือตามง่ามใบ ดอกมีลักษณะกลมหลายช่อมารวมกัน ดอกมีลักษณะเป็นฝอยสีขาวนวลหรือสีขาวอมม่วง กลีบของดอกแบ่งออกเป็นวงนอกและวงใน โดยกลีบดอกวงนอกจะสั้นกว่ากลีบดอกวงใน ดอกวงนอกกลีบดอกจะยาวประมาณ 3-3.5 มิลลิเมตร ส่วนดอกวงในกลีบดอกจะมีลักษณะเป็นรูปท่อยาวประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ปลายจักเป็นซี่ฟันประมาณ 5-6 ซี่ ภายในมีทั้งดอกเพศผู้และดอกเพศเมียสีขาวอมม่วงขนาดเล็กอยู่เป็นจำนวนมาก ปลายกลีบดอกหยักเป็นซี่ฟัน 5-6 หยัก ส่วนอับเรณูตรงโคนจะมีลักษณะเป็นรูปหัวลูกศรสั้น ๆ และท่อเกสรเพศเมียจะมีแฉก 2 แฉกสั้น ๆ ก้านช่อดอกมีความยาวประมาณ 5-6 มิลลิเมตร ส่วนดอกย่อยไม่มีก้านดอก ริ้วประดับมีลักษณะแข็งและเป็นสีเขียว เรียงกันประมาณ 6-7 วง วงด้านนอกนั้นจะมีลักษณะเป็นรูปไข่ ส่วนวงด้านในจะมีลักษณะคล้ายรูปหอกแคบและตรงปลายจะแหลม[1],[5]

ช่อดอกขลู่

ดอกขลู่

  • ผลขลู่ ผลเป็นผลแห้งไม่แตก มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอกขนาดเล็ก ยาวประมาณ 0.7 มิลลิเมตร ผลมีสันหรือเหลี่ยม 10 สัน มีรยางค์ไม่มาก สีขาว ยาวประมาณ 4 มิลลิเมตร แผ่กว้าง ส่วนเมล็ดขลู่จะมีลักษณะเป็นฝอยเล็ก ๆ เมื่อแก่จะปลิวไปตามลม[1],[5]

ผลขลู่

สรรพคุณของขลู่

  1. ใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (ใบสดแก่[5],[6], เปลือก ใบ เมล็ด[6])
  2. ใบนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยบำรุงประสาท (ใบ)[1],[5],[6]
  3. ทั้งต้นนำมาต้มกินเป็นยารักษาโรคเบาหวาน (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[5] ส่วนใบก็ใช้ชงดื่มเป็นน้ำชาก็มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคเบาหวานได้เช่นกัน (ใบ)[4],[5]
  4. ใบใช้ชงดื่มแทนน้ำเป็นชา มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต (ใบ)[4]
  5. ใบสดแก่และรากใช้เป็นยาแก้กระษัย (ราก, ใบสดแก่, ทั้งต้น[5], เปลือก ใบ เมล็ด[6])
  6. ช่วยรักษาโรคตานขโมย (ทั้งต้น)[2],[5]
  7. ช่วยแก้ตานซางในเด็ก เข้าใจว่าใช้ใบชงดื่มแทนน้ำชา (ใบ)[4]
  8. ทั้งต้นใช้เป็นยารักษาโรควัณโรคที่ต่อมน้ำเหลือง (ทั้งต้น)[1],[5],[6]
  9. ขลู่ใช้ปรุงเป็นยาต้มรับประทานแก้โรคเลือด (ไม่ระบุส่วนที่ใช้)[7]
  10. ช่วยรักษาเลือดลม (ใบและต้นอ่อน, ทั้งต้น)[1],[5]
  1. ช่วยรักษาไข้ (ใบและราก[1],[2],[5],[6], ใบสดแก่[5])
  2. ช่วยขับเหงื่อ (ใบและราก[1],[5],[6], ใบสดแก่[5]) บ้างว่าช่วยล้างพิษได้ด้วย[8]
  3. ช่วยรักษาริดสีดวงจมูก ด้วยการขูดเอาแต่ผิวของต้นนำมาขูดขนออกให้สะอาด ทำเป็นเส้นตากแห้ง แล้วมวนเป็นยาสูบรักษาริดสีดวงจมูก (ผิวต้นหรือเปลือกต้น[1],[5],[6], ทั้งต้น[6], เปลือกต้น ใบ เมล็ด[6])
  4. เปลือกต้นนำมาสับเป็นชิ้น ๆ ใช้มวนบุหรี่สูบช่วยแก้โพรงจมูกอักเสบหรือไซนัสได้ (เปลือกต้น)[5]
  5. ทั้งต้นสดหรือต้นแห้งใช้เป็นยาช่วยย่อย (ทั้งต้น)[6]
  6. น้ำคั้นจากใบช่วยรักษาโรคบิด (ใบ[1],[5], ใบและราก[6])
  7. ดอกมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่ว (ดอก)[2],[5],[6] ทั้งต้นมีรสฝาดเค็ม มีสรรพคุณแก้นิ่วได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[4] ส่วนใบและรากมีรสหอมฝาดเมาเค็ม มีสรรพคุณขับนิ่วได้เช่นกัน (ใบ,ราก)[5]
  8. ทั้งต้นใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาก่อนอาหารครั้งละ 75 มิลลิลิตร (ประมาณ 1 ถ้วยชา) วันละ 3 ครั้ง จะช่วยขับปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้ รักษาอาการขัดเบา (ทั้งต้น)[1],[2],[3],[4],[5],[6] ส่วนใบก็เป็นยาขับปัสสาวะด้วยเช่นกัน (ใบ)[5] ซึ่งจากการทดลองในสัตว์และคนปกติ พบว่ายาชงที่ได้จากต้นขลู่จะมีฤทธิ์เป็นยาขับปัสสาวะได้ดีกว่ายาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) และยังมีข้อดีก็คือ มีการสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน[3]
  9. ทั้งต้นมีรสหอมฝาดเมาเค็ม ช่วยแก้นิ่วในไต (ทั้งต้น)[2],[5],[6]
  10. ทั้งต้นช่วยรักษาริดสีดวงทวาร หรือจะใช้เปลือกต้นด้วยการขูดเอาขนออกให้สะอาดแล้วลอกเอาแต่เปลือก นำมาต้มรมริดสีดวงทวารหนัก หรือจะใช้ใบสดเอามาตำบีบคั้นเอาแต่น้ำแล้วนำมาทาตรงหัวของริดสีดวงทวาร จะช่วยทำให้หัวริดสีดวงทวารหดหายไปได้ (ทั้งต้น น้ำคั้นจากใบ[1],[2],[3],[4],[5],[6], เปลือก ใบ เมล็ด[6])
  11. ช่วยแก้มุตกิดระดูขาวของสตรี ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชา (ใบ[1],[5],[6], ทั้งต้น[2],[5])
  12. ใบใช้ต้มกับน้ำอาบเป็นยาบีบมดลูก (ใบ)[1],[5]
  13. ใบใช้ชงดื่มเป็นชา ช่วยลดอาการบวมน้ำได้ (ใบ)[4]
  14. ใบและรากใช้เป็นยาฝาดสมาน (ใบและราก)[1],[5],[6]
  15. ใบสดแก่ใช้เป็นสมานทั้งภายนอกและภายใน (ใบสดแก่)[5]
  16. ใบและรากสดใช้ตำพอกแก้แผลอักเสบ (ใบและราก[1],[2],[5],[6], ใบ[6])
  17. ใบและรากใช้ทำเป็นขี้ผึ้งสำหรับทารักษาแผลเรื้อรัง แต่ไม่แน่ใจว่าต้องผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ อีกหรือไม่ (ใบและราก)[1],[5]
  18. ทั้งต้นนำมาต้มกับน้ำอาบช่วยแก้ผื่นคันและรักษาโรคผิวหนัง (ทั้งต้น)[2],[3],[5] ส่วนใบก็นำมาต้มกับน้ำอาบแก้ผื่นคันได้เช่นกัน (ใบ)[5]
  19. ใบและต้นอ่อนช่วยรักษาประดง (โรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคัน) (ใบและต้นอ่อน)[1],[5] หรือจะใช้ทั้งต้นก็ช่วยรักษาประดงได้เช่นกัน (ทั้งต้น)[5]
  20. ใบและต้นอ่อนนำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาหิด และขี้เรื้อน (ใบและต้นอ่อน)[1],[5]
  21. ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย ด้วยการใช้ใบนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นชา (ใบ)[1],[5],[6]
  22. ใบและต้นอ่อนใช้ตำผสมกับแอลกอฮอล์ นำมาใช้ทาหลังบริเวณเหนือไตจะช่วยบรรเทาอาการปวดเอวได้ (ใบและต้นอ่อน)[1],[5]
  23. ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อ อาการปวดในโรคไขข้ออักเสบ (ใบและต้นอ่อน)[1],[2],[5]
  24. ใบและรากใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ นำมาต้มกับน้ำอาบจะช่วยรักษาอาการเส้นตึง (ใบและราก)[1],[5]
  25. ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยได้มีการทดลองใบขลู่ (จำนวนตามต้องการหรือพอประมาณ) นำมาต้มให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเอดส์ในระยะเริ่มแรกหรือเพิ่งตรวจพบกิน จะช่วยดูแลสุขภาพได้ในระดับหนึ่ง (ใบ)[8]

ขนาดและวิธีใช้ : ยาแห้งให้ใช้ประมาณ 15-20 กรัม หากเป็นต้นสดให้ใช้ประมาณ 30-40 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้ร่วมกับตัวยาหรือสมุนไพรอื่น ๆ ในตำรับยา[4]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของขลู่

  • จากการทดลองในสัตว์ โดยใช้ต้นขลู่แห้ง 10 กรัม เติมด้วย 200 cc. ต้มให้เดือนแล้วรินเอาน้ำออก แล้วนำไปให้หนูขาวทดลองกิน พบว่ายาต้มที่ได้จากต้นขลู่จะมีฤทธิ์ทำให้ขับปัสสาวะได้มากขึ้น เมื่อเทียบกับยาขับปัสสาวะแผนปัจจุบัน (Hydrochlorothiazide) ปรากฏว่า สามารถขับปัสสาวะได้ดีกว่าและสูญเสียเกลือแร่ในร่างกายน้อยกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน[4]
  • จากการศึกษาทดลองทางพิษวิทยาพบว่า ในน้ำยาขลู่ไม่มีความเป็นพิษเฉียบพลันต่อหนูขาวที่นำมาทดลอง[4]
  • ในใบขลู่พบมีสาร 3-(2,3-diacetoxy-2-methyl butyryl) cuauhtemone[6] ใบขลู่ประกอบไปด้วยสารประเภทเกลือแร่ เช่น โซเดียมคลอไรด์ สารโพแทสเซียม และยังประกอบไปด้วย catechin, stigmasterol (+ beta-sitosterol), stigmasterol glucoside (+ beta-sitosterol glucoside)[9]
  • Sen T. และคณะ (1991) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดจากรากขลู่ พบว่าสารสกัดจากรากสามารถช่วยต้านการอักเสบได้ โดยสามารถช่วยยับยั้งอาการบวมของอุ้งเท้าหนูที่เกิดจากการฉีด carragenin, histamine, serotonin, hyaluronidase และ sodium urate ซึ่งสารสกัดดังกล่าวจะไปยับยั้งกระบวนการที่โปรตีนลอดออกจากหลอดเลือดและการเคลื่อนที่ของเม็ดเลือดขาวไปยังบริเวณที่อักเสบ[9]
  • Sen T. และคณะ (1993) ได้ทำการศึกษากลไกของการต้านการอักเสบและการต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารของสารสกัดจากรากขลู่ ที่คาดว่ามีกลไกเกี่ยวข้องกับ 5-lipoxygenase pathway ซึ่งเป็นกระบวนการสังเคราะห์โพรสตาแกลนดิน ( prostaglandin) และผลจากการศึกษาก็พบว่าสารสกัดจากรากขลู่สามารถช่วยต้านการอักเสบที่เกิดจาก arachidonic acid, platelet activation factor และสารประกอบ 48/80 ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดการบวมที่อุ้งเท้าของสัตว์ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังสามารถช่วยยับยั้งสารประกอบ 48/80 เหนี่ยวนำให้เกิดการหลั่งสารฮิสตามีน (Histamine) จาก Mast cell ได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับผลต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหารนั้นพบว่า สารสกัดจากรากสามารถช่วยป้องกันการเกิดแผลจากเหล้าและยา indomethacin ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยสามารถช่วยลดปริมาณและความเป็นกรดของกระเพาะอาหารลงได้อย่างมีนัยสำคัญ[9]
  • Sen T. และคณะ (1993) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การปกป้องตับของสารสกัดจากขลู่ ในหนูทดลองที่ตับบาดเจ็บเฉียบพลัน (เกิดจากการเหนี่ยวนำสารคาร์บอนเตตระคลอไรด์ : CCl4) โดยพบว่าสามารถช่วยลดระดับของเอนไซม์ aspartate amino tranferase (AST), alanine amino tranferase (ALT), lactate dehydrogenase (LDH), serum alkaline phosphatase (ALP) และ bilirubin ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังพบว่าสารสกัดจากขลู่สามารถช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้รับสาร pentobarbitone ได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังช่วยลด plasma prothrombin time ได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับ CCl4[9]
  • Sen T. และคณะ (1996) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากขลู่ในการยับยั้งปัจจัยกระตุ้นเกล็ดเลือดและยับยั้งการเกิดกระเพาะอาหารเสียหาย ซึ่งจากการทดลองพบว่าสารสกัดจากขลู่สามารถช่วยยับยั้งการอักเสบและลดอุบัติการณ์การเกิดกับทางเดินอาหารส่วนล่างเสียหายได้อย่างมีนัยสำคัญ[9]
  • Thongpraditchote S. และคณะ (1996) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์ของสารสกัดจากรากขลู่ต่อระบบประสาทของหนูทดลอง โดยพบว่าหนูที่ได้รับ (โดยการกิน) PI-E ในขนาด 50-100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จะมีการทำงานของระบบประสาทควบคุมการเคลื่อนที่จะทำงานเพิ่มขึ้น และช่วยลดระยะเวลาการนอนหลับของหนูที่ได้ pentobarbital ให้สั้นลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดที่ได้รับ นอกจากนี้ยังพบว่าฤทธิ์ของ PI-E ที่ให้ในหนูที่ได้รับ pentobarbital จะลดลงเมื่อได้รับ flumazenil ทางหลอดเลือดดำ (1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม) อย่างมีนัยสำคัญ และ PI-E ในขนาด 50 – 100 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ diazepam ในขนาด 0.5-5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สามารถลดพฤติกรรมความก้าวร้าวได้ตามขนาดที่ได้รับ โดยกลไกการออกฤทธิ์ของ PI-E จะเกี่ยวข้องกับระบบ GABA system ในสมอง แต่อย่างไรก็ตาม PI-E จะไม่มีฤทธิ์ระงับการชักที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของ pentyleneterazole[9]
  • Muangman V และคณะ (1998) ได้ทำการศึกษาการให้สารสกัดผงแห้งจากขลู่ (สารสกัด 3.6 กรัม บรรจุในแคปซูล 12 แคปซูล) เพียงครั้งเดียว แก่อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 15 คน และอีกกลุ่มคือผู้ป่วยที่ได้จากการสุ่มอีกจำนวน 30 คน (โดยอาจจะเป็นนิ่วที่ไตด้วยหรือไม่เป็นก็ได้) ที่ได้รับยาขับปัสสาวะ (Hydrochlorothiazide 50 มิลลิกรัม) เพื่อใช้เป็นกลุ่มควบคุมและเปรียบเทียบ และวัดปริมาณของปัสสาวะที่ 6 ชั่วโมง ผลการทดลองพบว่าอาสาสมัครที่สุขภาพดีจำนวน 53% และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการสุ่ม 23% มีการตอบสนองต่อฤทธิ์การขับปัสสาวะของขลู่ ส่วนจำนวนผู้ที่มีการตอบสนองต่อยาขับปัสสาวะ HCT ในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีคิดเป็น 87% และในผู้ป่วยคิดเป็น 67% ซึ่งจากการทดลองสามารถสรุปได้ว่า จำนวนผู้ตอบสนองต่อสารสกัดจากขลู่นั้นมีน้อยกว่ากลุ่มที่รับยาขับปัสสาวะ HCT[9]
  • Sen T. และคณะ (2002) ได้ทำการศึกษาฤทธิ์การต้านอนุมูลอิสระของสารสกัดจากรากขลู่ในหลอดทดลองและในสัตว์ โดยใช้คาร์บอนเตตระคลอไรด์เหนี่ยวนำให้เกิดกระบวนการสลายไขมัน และการเปลี่ยนแปลง arachidonic acid จากเอนไซม์ lipoxygenase ซึ่งผลการศึกษาพบว่าสารสกัดจากรากสามารถช่วยลดการอักเสบและการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังพบด้วยว่าสารดังกล่าวสามารถช่วยกำจัดอนุมูลอิสระได้มากกว่า B755c และ phenidone ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ได้อย่างมีนัยสำคัญ[9]
  • Biswas R. และคณะ (2005) ได้ทำการสกัดและประเมินสารประกอบที่พบในขลู่และความแรงในการต้านเชื้อจุลชีพ พบว่าความเข้มข้นต่ำสุดที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ของสารสกัดต่อเชื้อ Staphylococcus aureus ML 11, Staphylococcus aureus ML 358, Staphylococcus aureus NCTC 6571, Staphylococcus aureus 8530, Salmonella trphi 59, Salmonella typhimurium NCTC 74, Shigella boydii 8 NCTC 254/66, Shigella dysenteriae 7 NCTC 519/66, Vibrio cholerae 214, Vibrio cholerae 14033, Bacillus lichenniformis, Escherichia coli ATCC 25938, Klebsiella pneumoniae 725, Klebsiella pneumoniae 10031 และเชื้อ Pseudomonas aeruginosa 71 คือขนาด 1500 , 2000, > 2000, 1000, 1500, 1500, 1500, 1500, 1000, 1500, > 2000, 1500, > 2000, 2000 และ 2000 นาโนกรัม/มิลลิลิตร[9]

ประโยชน์ของขลู่

  • ยอดอ่อนมีรสมัน ใช้รับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริก ลาบ หรือเครื่องเคียงขนมจีน ส่วนใบอ่อนนำไปลวกใช้รับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริก หรือใส่ในแกงคั่ว ส่วนดอกนำไปยำร่วมกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ[5],[10]
  • ใบเมื่อนำมาผึ่งให้แห้งจะมีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นน้ำผึ้ง นำมาใช้ต้มกับน้ำดื่มหรือชงแทนชาจะช่วยลดน้ำหนักได้ (ใบ)[1],[2],[5],[6]
  • ใบสดแก่นำมาตำผสมกับเกลือใช้กินรักษากลิ่นปากและช่วยระงับกลิ่นตัว (ใบ)[1],[5]

คุณค่าทางโภชนาการของยอดและใบอ่อนขลู่ ต่อ 100 กรัม

  • พลังงาน 42 แคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 9.4 กรัม
  • โปรตีน 1.8 กรัม
  • ไขมัน 0.5 กรัม
  • น้ำ 86.0 กรัม
  • วิตามินเอ 3,983 หน่วยสากล
  • วิตามินบี 1 0.02 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 30 มิลลิกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 256 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 5.6 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 49 มิลลิกรัม

แหล่งที่มา : กองโภชนาการ กรมอนามัย. ตารางแสดงคุณค่าอาหารไทยในส่วนที่กินได้ 100 กรัม.[10]

เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  “ขลู่”.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  หน้า 93-94.
  2. หนังสือสมุนไพรไทย เล่ม 1.  “ขลู่ (Khlu)”.  (ดร.นิจศิริ เรืองรังษี, ธวัชชัย มังคละคุปต์).  หน้า 59.
  3. หนังสือสมุนไพรสวนสิรีรุกขชาติ.  “ขลู่ Indian Marsh Fleabane”.  (คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  หน้า 168.
  4. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  “ขลู่”.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  หน้า 120.
  5. ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.  “ขลู่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.phargarden.com.  [12 ก.พ. 2014].
  6. สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “ขลู่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.rspg.or.th.  [12 ก.พ. 2014].
  7. โรงเรียนละหานทรายรัชดาภิเษก.  “ขลู่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.lrp.ac.th.  [12 ก.พ. 2014].
  8. ขลู่สมุนไพรดีริมทาง”.  (จำรัส เซ็นนิล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.jamrat.net.  [12 ก.พ. 2014].
  9. ระบบฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน, สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน).  “ขลู่”.  อ้างอิงใน: หนังสือยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน (มาโนช วามานนท์, เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ),  หนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย (สมพร ภูติยานันต์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: www.bedo.or.th.  [12 ก.พ. 2014].
  10. ผักพื้นบ้านในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร.  “ขลู่”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก: ftp://smc.ssk.ac.th/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/.  [12 ก.พ. 2014].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by mingiweng, Nelindah, Lauren Gutierrez, plj.johnny/潘立傑)

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด