ก้ามปูหลุด
ก้ามปูหลุด ชื่อสามัญ Inch plant, Wandering jew[4]
ก้ามปูหลุด ชื่อวิทยาศาสตร์ Tradescantia zebrina var. zebrina (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Tradescantia pendula (Schnizl.) D.R.Hunt, Zebrina pendula Schnizl.)[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า เป็นชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tradescantia zebrina Bosse[3] โดยจัดอยู่ในวงศ์ผักปลาบ (COMMELINACEAE)[1],[3]
สมุนไพรก้ามปูหลุด มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปีกแมลงสาบ (ทั่วไป), ก้ามปู ก้ามปูหลุด (กรุงเทพฯ), จุยเต็กเช่า (จีนแต้จิ๋ว), เตี้ยวจู๋เหมย (จีนกลาง) เป็นต้น[1],[2]
ลักษณะของก้ามปูหลุด
- ต้นก้ามปูหลุด หรือ ต้นปีกแมลงสาบ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุก แตกแขนงมาก ลำต้นทอดเลื้อยคลุมดินและชูยอดขึ้นสูงประมาณ 10-30 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะอวบเป็นสีเขียวหรือเขียวประม่วงจนถึงม่วงลายเขียว มีข้อและปล้องชัด[1],[3] เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก ในปัจจุบันแพร่กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่ว รวมทั้งประเทศไทยด้วย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดหรือการแยกลำต้น โตเร็ว ชอบดินร่วน ความชื้นมาก และแสงแดดปานกลาง[2],[4]
- ใบก้ามปูหลุด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ หรือรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลมเรียว โคนใบมนเบี้ยว ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวอ่อนสลับสีเทาควันบุหรี่ลายทาง ส่วนท้องใบเป็นสีม่วงอมแดง ไม่มีก้านใบ กาบใบสั้นเป็นปลอกหุ้มรอบข้อสูงประมาณ 1 เซนติเมตร ที่กาบใบมีลายเส้นสีม่วงเป็นแนวตามความยาวและมีขนขึ้นเล็กน้อย[1],[3]
- ดอกก้ามปูหลุด ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ โดยจะออกเป็นกระจุกที่ปลายยอด มีใบประดับใหญ่ 2 ใบ ซึ่งจะมีขนาดไม่เท่ากันประกบหุ้มช่อดอกอ่อนเอาไว้ ดอกมีสีขาวอมชมพูเล็กน้อย กลีบรองดอกเป็นสีขาว บาง โคนเชื่อมติดกันเป็นท่อ ยาวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นกลีบรูปไข่ 3 กลีบ มีขนาดกว้างประมาณ 4-5 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6-8 มิลลิเมตร กลีบด้านบนเป็นสีม่วง ด้านล่างเป็นสีขาว กลางดอกมีเกสรเพศผู้ 6 อัน ก้านชูอับเรณูเป็นสีขาว มีขนยาวสีม่วง อับเรณูสีนวล รังไข่เล็ก ส่วนก้านเกสรเพศเมียเรียว ยอดเกสรเพศเมียมี 3 แฉก ดอกจะทยอยบานโผล่เหนือใบประดับ เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ก้านดอกสั้นมาก[1],[2],[3]
- ผลก้ามปูหลุด ผลมีลักษณะเป็นรูปยาวรี ขนาดเล็ก ผลเมื่อแก่จะแตกอ้าออกไปตามความยาวของผลระหว่างช่อง ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 2-3 เมล็ด[1],[2],[3]
สรรพคุณของก้ามปูหลุด
- ทั้งต้นมีรสขมหวานเล็กน้อย เป็นยาเย็น มีพิษเล็กน้อย ออกฤทธิ์ต่อปอดและลำไส้ ใช้เป็นยาทำให้เลือดเย็น ช่วยขับพิษร้อน ถอนพิษไข้ (ทั้งต้น)[1]
- ช่วยแก้อาการไอเป็นเลือด ตำรับยาแก้ไอเป็นเลือดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับปอดหมู รับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า ให้ใช้ต้นสด 60-90 กรัม นำมาต้มกับปอดหมูหนัก 120 กรัม โดยผสมน้ำต้มให้เหลือ 1 ชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
- ทั้งต้นใช้เป็นยาแก้เจ็บคอ คอบวม คออักเสบ (ทั้งต้น)[1]
- ลำต้นและใบใช้ต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้กระหายน้ำ (ลำต้นและใบ)[2]
- ใช้เป็นยาแก้บิด แก้บิดเรื้อรัง อันเนื่องมาจากการติดเชื้อ ตำรับยาแก้บิดจะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำข้าว ใช้รับประทานวันละ 3 ครั้ง (ทั้งต้น)[1] ส่วนตำรับยาแก้บิดเรื้อรังจะใช้กาบหุ้มดอกสดหนัก 150 กรัม และข้าวสารคั่วจนเกรียม (เริ่มไหม้) 30 กรัม นำมาต้มกับน้ำ ใช้แบ่งดื่มเป็น 3 ครั้ง (กาบหุ้มดอกสด)[3]
- ใช้เป็นยาขับฝีในท้อง (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ รักษานิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ ตำรับยาแก้นิ่วหรือทางเดินปัสสาวะอักเสบ จะใช้ต้นสด 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำ 3 ถ้วย จนเหลือ 1 ถ้วย ใช้รับประทานวันละ 2 ครั้ง (ทั้งต้น)[1]
- ใช้เป็นยาแก้ตกขาวของสตรี (ทั้งต้น)[1] ตำรับยาแก้สตรีตกขาวมาก จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม, น้ำตาลกรวด 30 กรัม, และต่าฉ่าย (Mytilum crassitesta Lischke) อีก 30 กรัม นำมาผสมน้ำต้มให้เหลือครึ่งชาม ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
- ตำรับยาแก้โรคหนองใน จะใช้ต้นสดประมาณ 60-120 กรัม นำมาใส่น้ำแล้วต้มให้เหลือ 1 ถ้วย ใช้ดื่มหลังอาหารวันละ 2 ครั้ง (ต้นสด)[3]
- ใช้เป็นยาแก้ไตอักเสบ บวมน้ำ (ทั้งต้น)[1]
- ใบใช้ต้มกินน้ำเป็นยาช่วยลดอาการบวม (ใบ)[2]
- ลำต้นใช้เป็นยารักษาแผลไฟไหม้[2] ให้ใช้ทั้งต้นสดนำมาล้างให้สะอาดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าขาวเพียงเล็กน้อย ใช้ทั้งเนื้อและน้ำพอกบริเวณที่ถูกไฟไหม้วันละ 2 เวลา เช้าและเย็น จะช่วยไม่ให้ปวดแสบปวดร้อนและค่อย ๆ ทุเลาลงจนหายไป (ต้นสด)[4]
- ใช้เป็นยาแก้พิษงูกัด ใช้พอกฝี ดูดพิษฝี แก้ฝีอักเสบ (ทั้งต้น)[1],[2],[3]
- ตำรายาแผนจีน ไต้หวัน จะใช้ใบนำมาตำให้พอละเอียด แล้วนำไปพอกแก้อาการบวมตามข้อได้ดีมาก (ใบ)[4]
ขนาดและวิธีใช้ : ก่อนนำมาใช้ ให้เก็บต้นสดนำมาล้างให้สะอาด หรือตากแห้งเก็บเอาไว้ใช้[3] ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 50-100 กรัม นำมาต้มกับน้ำรับประทาน หรือใช้ตำแล้วคั้นเอาน้ำรับประทาน ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 15-35 กรัม[1]
ข้อควรระวัง : ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอและสตรีมีครรภ์ ห้ามรับประทานสมุนไพรชนิดนี้[1],[3]
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้ามปูหลุด
- สารที่พบในก้ามปูหลุด ได้แก่ Calcium oxalate, Hydrocolloid, Gum[1],[3]
- น้ำต้มที่ได้จากก้ามปูหลุด หรือที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ สามารถกระตุ้นลำไส้ที่แยกออกจากตัวของหนูตะเภาได้ แต่จะไม่มีผลต่อมดลูกและหัวใจ[1]
ประโยชน์ของก้ามปูหลุด
- ต้นก้ามปูหลุด เป็นพรรณไม้ที่นิยมนำมาปลูกไว้เป็นไม้ประดับทั่วไป เนื่องจากใบมีสีสันสวยงาม[2],[4]
เอกสารอ้างอิง
- หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย. (วิทยา บุญวรพัฒน์). “ก้ามปูหลุด”. หน้า 70.
- หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5. (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม). “ก้ามปูหลุด”. หน้า 59-60.
- สรรพคุณสมุนไพร 200 ชนิด, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี. “ปีกแมลงสาบ หรือ ก้ามปูหลุด”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/herbs/. [18 เม.ย. 2014].
- ไทยรัฐออนไลน์. “ก้ามปูหลุด รักษาแผลไหม้ลดบวม”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.thairath.co.th. [18 มิ.ย. 2015].
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Brandon Falls, Leonora Enking, 潘立傑 LiChieh Pan, titanium22, stephen_pix)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)