ก้นจ้ำ สรรพคุณและประโยชน์ของต้นก้นจ้ำ 9 ข้อ !

ก้นจ้ำ

ก้นจ้ำ ชื่อสามัญ Spanish Needles[1]

ก้นจ้ำ ชื่อวิทยาศาสตร์ Bidens biternata (Lour.) Merr. & Scherff. จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)[1]

สมุนไพรก้นจ้ำ มีชื่อเรียกอื่นว่า ชื่อเจินเฉ่า จิงผานอิ๋งจ่านเฉ่า (จีนกลาง), บ่ะดี่ (ลั้วะ), หญ้าก้นจ้ำ ส่วนนครราชสีมาเรียก “ก้นจ้ำ[1],[3],[5]

ลักษณะของก้นจ้ำ

  • ต้นก้นจ้ำ จัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกอายุได้ปีเดียว ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่ง มีความสูงได้ประมาณ 0.3-1.5 เมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ตามลำต้นและกิ่งก้านสาขามีขนขึ้นประปราย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมร่วนซุย เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของทวีปอเมริกา มีเขตการกระจายพันธุ์ในเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก ในประเทศไทยพบกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมักขึ้นเป็นวัชพืชตามไร่และสวน ตามข้างถนน และที่แห้งแล้งทั่วไป[1],[4]

ต้นก้นจ้ำ

  • ใบก้นจ้ำ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงตรงข้าม มีใบย่อย 3-5 ใบ บางใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ก้านใบประกอบยาวประมาณ 9-15 เซนติเมตร ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบคล้ายลิ่มหรือสอบเข้าหากัน ส่วนขอบใบหยักย่อยคล้ายฟันปลา ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.3-3.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร แผ่นใบทั้งสองด้านเกลี้ยงหรือมีขนขึ้นประปราย ก้านใบยาวได้ประมาณ 1.5 เซนติเมตร[1],[4]

ใบก้นจ้ำ

  • ดอกก้นจ้ำ ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกแน่น ช่อเดียว ช่อแยกแขนง หรือช่อเชิงหลั่น แต่ละช่อจะมีวงใบประดับ 8-10 อัน ลักษณะเป็นรูปแถบปลายแหลม ยาวประมาณ 3-7 มิลลิเมตร ดอกวงนอกเป็นรูปลิ้น ไม่สมบูรณ์เพศ มีประมาณ 1-5 ดอก หรือไม่มี กลีบดอกเป็นสีเหลืองหรือสีขาว ปลายกลีบจัก 2-3 จัก ส่วนดอกวงในจะมีหลายดอก เป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ กลีบดอกเป็นสีเหลือง โคนติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็นจักแหลม 4-5 จัก มีขนาดกว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 6 มิลลิเมตร มีเกสรเพศผู้ 5 อัน มีรังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ออกดอกในช่วงประมาณเดือนตุลาคม[4]

รูปก้นจ้ำ

ดอกก้นจ้ำ

  • ผลก้นจ้ำ ผลมีลักษณะยาวแคบ สีน้ำตาลเข้ม มีความยาวประมาณ 0.5-2 เซนติเมตร ติดบนฐานดอกเป็นกระจุกหัวแหลม ท้ายแหลม มีสัน และมีร่องตามยาว ผลมีรยางค์แข็ง 2-4 อัน ติดอยู่ที่ปลาย ผิวนอกผลจะมีขนสั้นๆ เมื่อแก่แห้งจะไม่แตก เมล็ดมีขนาดเล็กออกเป็นเส้น ๆ มีสีดำ[1],[2],[3],[4]

ผลก้นจ้ำ

หมายเหตุ : ยังสามารถพบก้นจ้ำได้อีก 2 ชนิด คือ ชนิด Bidens pilosa L. หรือที่เรียกว่า “ปืนนกไส้” ใบจะใหญ่กว่าและเป็นใบประกอบ 3 ใบ และชนิด Bidens bipinnata L. หรือที่เราเรียกว่า “ดาวกระจาย[3]

สรรพคุณของก้นจ้ำ

  1. ใช้ใบสดนำมาตำให้ละเอียดแล้วคั้นเอาน้ำมาใช้ล้างตา เป็นยาแก้โรคตามัว (ใบ)[1],[3]
  2. ตำรายาแก้คออักเสบ เจ็บคอ จะใช้ใบก้นจ้ำสด ๆ ประมาณ 30-50 กรัม นำมาตำแล้วคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำผึ้งและเกลือเล็กน้อย ใช้รับประทาน (ใบ)[3]
  3. ทั้งต้นใช้ผสมกับสมุนไพรอื่น นำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้หวัดคัดจมูก หรือใช้อาบแก้ไข้ (ทั้งต้น)[2] บ้างใช้ก้นจ้ำแห้งประมาณ 10-15 กรัม เข้ากับตำรายาแก้หวัดทั่วไป ต้มรับประทานเป็นยาแก้หวัดตัวร้อน (ทั้งต้น)[3]
  1. ยาพื้นบ้านล้านนาจะใช้ทั้งต้นนำมาผสมต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอมีน้ำมูกข้น (ทั้งต้น)[2]
  2. ใช้เป็นยาแก้ลำไส้อักเสบ ปวดท้องน้อย ด้วยการใช้ทั้งต้นประมาณ 30-50 กรัม นำมาต้มเอาน้ำรับประทาน (ทั้งต้น)[3]
  3. ใบสดใช้ตำพอกรักษาแผลสด แผลน้ำร้อนลวก หรือแผลไฟไหม้ (ใบ)[1],[3]
  4. ใบสดนำมาคั้นหรือต้ม แล้วนำน้ำมาล้างผิวหนัง จะช่วยแก้ผดผื่นคันได้ (ใบ)[3]
  5. หากถูกงูกัดหรือแมลงสัตว์กัดต่อย ให้ใช้ใบสดประมาณ 50-100 กรัม นำมาตำแล้วเอาน้ำล้างหรือใช้พอกบริเวณที่เป็นแผล (ใบ)[3]

ขนาดและวิธีใช้ : การใช้ตาม [3] กรณีต้มกับน้ำรับประทาน ต้นสดให้ใช้ครั้งละ 50-100 กรัม ส่วนต้นแห้งให้ใช้ครั้งละ 10-30 กรัม กรณีใช้ภายนอกให้ใช้ได้ตามความต้องการ[3]

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของก้นจ้ำ

  • สารที่พบ ได้แก่ Anthraquinone Glycoside, Phytosterin-B[3]
  • สารที่สกัดจากน้ำต้มของก้นจ้ำหรือสกัดจากแอลกอฮอล์ พบว่า มีฤทธิ์ยับยั้งโรคที่ติดเชื้อในลำไส้ หรือนำต้นสดทั้งต้นมาคั้นเอาน้ำ พบว่าจะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อ Btaphylococcus ของลำไส้ใหญ่ได้ แต่จะไม่มีผลต่อเชื้อ Gram ในลำไส้ใหญ่[3]

ประโยชน์ของก้นจ้ำ

  • ชาวลั้วะจะใช้ยอดอ่อนนำมารับประทานกับน้ำพริก[5]
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  “ก้นจ้ำ”.  หน้า 2-3.
  2. หนังสือสมุนไพรพื้นบ้านล้านนา.  (ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล).  “ก้นจ้ำ”.  หน้า 46.
  3. หนังสือสารานุกรมสมุนไพรไทย-จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย.  (วิทยา บุญวรพัฒน์).  “ก้นจ้ำ”.  หน้า 18.
  4. ข้อมูลพรรณไม้, สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.  “กรดน้ำ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.rspg.or.th/plants_data/.  [10 ก.ค. 2015].
  5. โครงการเผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นบนพื้นที่สูง, สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์กรมหาชน).  “ก้นจ้ำ, หญ้าก้นจ้ำ”.  อ้างอิงใน : หนังสือชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), หนังสือพจนานุกรมสมุนไพรไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6.  (ดร.วิทย์ เที่ยงบูรณธรรม).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : eherb.hrdi.or.th.  [10 ก.ค. 2015].

ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Vijayasankar Raman), flowers.la.coocan.jp

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

เมดไทย
เมดไทย (Medthai) ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นอิสระเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ เราร่วมมือกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อให้มั่นใจว่าคุณจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและดีที่สุด