กำลังพญาเสือโคร่ง
กำลังพญาเสือโคร่ง ชื่อสามัญ Birch
กําลังพญาเสือโคร่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Betula alnoides Buch.-Ham. ex D.Don จัดอยู่ในวงศ์กำลังเสือโคร่ง (BETULACEAE)
กำลังพญาเสือโคร่ง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า กำลังเสือโคร่ง (เชียงใหม่), พญาเสือโคร่ง, นางพญาเสือโคร่ง (คนเมือง), ลำแค ลำแคร่ ลำคิแย (ลั้วะ), เส่กวอเว (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เป็นต้น
ลักษณะของกำลังพญาเสือโคร่ง
- ต้นกำลังพญาเสือโคร่ง มีถิ่นกำเนิดและพบได้มากทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 800-1,000 เมตร และเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดน่าน โดยจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นสูงขนาดใหญ่ มีความสูงราว 20-40 เมตร วัดรอบลำต้นได้ประมาณ 1-2 เมตร เปลือกต้นมีสีน้ำตาลเทาหรือเกือบดำ เปลือกมีต่อมระบายอากาศเป็นจุด ๆ เล็ก ๆ ขาว ๆ ลักษณะกลมหรือรีปะปนกันอยู่ เปลือกมีกลิ่นคล้ายกับการบูร เมื่อแก่จะลอกออกเป็นชั้น ๆ คล้ายกระดาษ ที่ยอดอ่อน ก้านใบ และช่อดอกจะมีขนสีเหลืองหรือสีน้ำตาลปกคลุมอยู่ ขนเหล่านี้จะลดลงเรื่อย ๆ จนเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยงเมื่อแก่ ส่วนของเนื้อไม้ กระพี้ และแก่นมีสีต่างกันเพียงเล็กน้อย เนื้อไม้มีสีน้ำตาลอ่อนออกเหลืองปนขาวหรือค่อนข้างขาว เนื้ออ่อนค่อนข้างละเอียด มีเสี้ยนตรง แข็งปานกลาง มีลวดลายที่สวยงาม และสามารถไสกบตบแต่งได้โดยง่าย ขัดเงาได้ดี ต้นกำลังพญาเสื้อโคร่งขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด
- ใบกำลังพญาเสือโคร่ง ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมรูปหอกหรือเป็นรูปหอก ขนาดใบกว้างประมาณ 1.5-6.5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6.55-13.5 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษหรืออาจจะหนา ด้านใต้ของใบมีตุ่ม ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อยสองถึงสามชั้น ซี่หยักแหลม ขอบซี่เรียวแหลม โคนใบป้านหรือเกือบเป็นเส้นตรง ปลายใบเรียวแหลม ใบมีเส้นกลางใบเป็นร่องตื้น ๆ ทางด้านหลังใบเส้นแขนง 7-10 คู่ ส่วนหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือแคบ ยาวประมาณ 3-8 มิลลิเมตร ส่วนก้านใบเป็นร่องลึกด้านบนยาว 0.5-2.5 เซนติเมตร
- ดอกกำลังพญาเสือโคร่ง ออกดอกเป็นชายาวคล้ายกับหางกระรอก ออกตามง่ามใบแห่งละ 2-5 ช่อ ดอกย่อยไม่มีก้าน ช่อดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่แยกกัน โดยช่อดอกเพศผู้ยาวประมาณ 5-8 เซนติเมตร มีกลีบรองดอกเป็นรูปกลมหรือรูปโล่ มีแกนอยู่ตรงกลาง ส่วนปลายค่อนข้างแหลม มีขนอยู่ที่ขอบ เกสรตัวผู้มีอยู่ 4-7 ก้านติดอยู่ที่แกนกลาง ส่วนช่อดอกเพศเมียมีความยาวประมาณ 3-9 เซนติเมตร กลีบรองดอกไม่มีก้าน มี 3 หยัก ยาวประมาณ 2-2.5 มิลลิเมตร ด้านนอกมีขน รังไข่แบน กรอบนอกเป็นรูปไข่หรือเกือบกลม มีขน ท่อรังไข่จะยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย มีความกว้างประมาณ 2.5-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2.5-4 มิลลิเมตร มีปีกบางและโปร่งแสง มักออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์
- ผลกำลังพญาเสือโคร่ง ลักษณะของผลแบนกว้างประมาณ 2-3 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 2-14 มิลลิเมตร มี 2 ข้าง ปีกบางและโปร่งแสง ผลแก่ร่วงง่าย มักออกผลในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์
สรรพคุณของกำลังพญาเสือโคร่ง
- เปลือกต้นใช้ทำเป็นยาดองเหล้าดื่มเป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย หรือจะใช้เปลือกต้นที่ตากแห้งแล้วใช้ผสมกับม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ลืม ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก แก่นฝาง ลำต้นฮ่อสะพายควาย และจะค่าน นำมาต้มเป็นยาดื่ม (เปลือกต้น)
- เปลือกใช้เป็นยาอายุวัฒนะ (เปลือกต้น)
- ช่วยทำให้เจริญอาหาร (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงเลือด (เปลือกต้น)
- เปลือกใช้ต้มเป็นยาบำรุงธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงกองธาตุให้เป็นปกติ (เปลือกต้น)
- ช่วยอาการปวดฟัน ป้องกันฟันผุ ด้วยการใช้เปลือกต้น นำมาถากออกเป็นแผ่นแล้วนำมาเผาไฟ แล้วนำผงที่ได้มาทาบริเวณที่ปวดฟันหรือฟันผุ (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นช่วยขับลมในลำไส้ (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาโรคริดสีดวงทวาร (เปลือกต้น)
- ช่วยชำระล้างไตให้สะอาดมากขึ้น (เปลือกต้น)
- ช่วยบำบัดอาการของผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับมดลูกของสตรีไม่สมบูรณ์ หรือมดลูกชอกช้ำหรืออักเสบอันเนื่องมาจากการถูกกระทบกระเทือน การแท้งบุตร หรือมดลูกไม่แข็งแรงให้หายเร็วเป็นปกติ (เปลือกต้น)
- ช่วยบำรุงเส้นเอ็นให้แข็งแรง (เปลือกต้น)
- รากใช้ต้มเป็นน้ำดื่มร่วมกับรากโด่ไม่รู้ล้ม ใช้ดื่มเป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย หรือจะใช้เปลือกต้นที่ตากแห้งแล้วใช้ผสมกับม้ากระทืบโรง โด่ไม่รู้ล้ม ตานเหลือง มะตันขอ ข้าวหลามดง หัวยาข้าวเย็น ไม้มะดูก แก่นฝาง ลำต้นฮ่อสะพายควาย และจะค่าน นำมาต้มเป็นยาดื่ม (ราก, เปลือกต้น)
- เปลือกต้นมีน้ำมันหอมระเหยชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นฉุนแรงคล้ายน้ำมันระกำ หากทิ้งไว้จนเปลือกแห้ง กลิ่นจะทำให้เส้นเอ็นแข็งแรง (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นมีกลิ่นหอม ใช้ดมแก้อาการหน้ามืดตาลายได้ (เปลือกต้น)
วิธีใช้เปลือกต้นต้มเป็นยา
- ให้ใช้เปลือกต้นที่ถากออกจากลำต้นพอประมาณตามความต้องการ แล้วนำใส่ในภาชนะ ต้มกับน้ำให้เดือดแล้วเคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ น้ำสมุนไพรที่ได้จะเป็นสีแดง แล้วใช้รับประทานในขณะอุ่น ๆ จะทำให้มีสรรพคุณทางยามากขึ้น (หากต้องการปรุงรสเพิ่มเติมให้หอมหวานก็ให้ใช้ชะเอมพอสมควรและน้ำตาลกรวดผสมลงไป)
- หากทำเป็นยาดองเหล้า สีที่ได้จะแดงเข้มมาก ถ้าต้องการจะปรุงรสก็ให้เติมน้ำผึ้งกับโสมตังกุยตามต้องการ ซึ่งสูตรดองเหล้านี้จะช่วยให้สรรพคุณทางยาแรงขึ้นเป็นทวีคูณ โดยทั้งสองสูตรสามารถนำมาทำได้ 3-4 ครั้งจนกว่าจะหมดสีของสมุนไพร
ประโยชน์ของกำลังพญาเสือโคร่ง
- เนื้อไม้สามารถนำไปใช้ทำเป็นกระดานพื้น ทำเครื่องเรือน ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ทำเป็นด้ามเครื่องมือ ฯลฯ
- นอกจากเปลือกจะใช้ทำเป็นยาแล้ว เปลือกยังมีกลิ่นหอม ใช้ทำเป็นการบูรและใช้ทำเป็นกระดาษได้
- เปลือกนำมาบดให้ละเอียดใช้ผสมกับแป้งทำเป็นขนมปังหรือเค้กได้ (ข้อมูลจากเกษตรอินทรีย์)
แหล่งอ้างอิง : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, ชื่อพรรณไม้แห่งประเทศไทย (เต็ม สมิตินันทน์), สถาบันวิจัยและพัฒนาที่สูง (องค์การมหาชน),
ภาพประกอบ : www.gotoknow.org (สุญฺญตา), www.flickr.com (by Tony Rodd)
เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย (Medthai)